xs
xsm
sm
md
lg

“ลิขสิทธิ์เพลง” พื้นที่สีเทาของการคอร์รัปชัน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศิลปินถูกฟ้องเพราะร้องเพลงที่ตัวเองเคยแต่ง, นักร้อง-นักดนตรีเล่นคัฟเวอร์เพลงไม่ได้ ทั้งในระบบออนไลน์และเล่นสดเพราะติดลิขสิทธิ์, ผับ-บาร์-ผู้ประกอบการร้านกินดื่มเปิดเพลงจากค่ายต่างๆ ให้ลูกค้าฟังไม่ได้ ถ้าไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์, หลายร้านเลือกตัดปัญหาด้วยการงดเปิดเพลงของค่ายนั้นๆ เพราะหวั่นเกรงเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ที่มีทั้งจริงและปลอมปะปนกันไป ฯลฯ
 
ดูเหมือนว่าภาพรวมเรื่อง “ลิขสิทธิ์เพลง” ในประเทศเราจะไม่ต่างไปจากการค้าบนพื้นที่สีเทา หมุนวนไปตามกลไก “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” เท่าใดนัก แต่อย่าเพิ่งสิ้นหวังเพราะยังมีแสงสว่างอยู่ที่ปลายอุโมงค์ ขอเพียงทุกฝ่ายร่วมมือกัน!
 


 

ปลาใหญ่อ้วนพี ปลาเล็กหมดลมหายใจ?

(เสวนา “เห็ดyoung ครั้งที่ 6 - กฎหมายลิขสิทธิ์ที่คนดนตรีควรรู้ และไขข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการจัดเก็บและจัดสรรค่าลิขสิทธิ์เพลง”)
“ทุกวันนี้ พอเราไปตามร้าน เสนอให้เขาเอาเพลงค่ายเราเปิด ถามเขาว่าปกติคุณจ่ายให้ค่ายอื่นเท่าไหร่ เราให้ราคาค่าลิขสิทธิ์ถูกกว่าครึ่งหนึ่งเลย สมมติจ่ายค่ายหนึ่ง 3,000 เราบอกเราเก็บ 1,500 แต่ร้านเขาก็เงียบไปแล้วก็เลือกที่จะไม่เปิดเพลงค่ายเราถ้าต้องเสียตังค์ค่าลิขสิทธิ์ ทั้งๆ ที่เราให้ถูกกว่าครึ่งหนึ่ง แต่พอเรายอมส่งเพลงให้เปิดฟรี เขาก็เปิด ก็ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน เพราะร้านเขาเหมือนกับเลือกแล้วว่าเขาจะจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพลงให้ค่ายนี้เท่านั้นนะ ค่ายอื่นถ้าต้องจ่ายก็จะไม่ขอเปิด มันก็ลำบากเหมือนกันค่ะ
 
ก็ต้องยอมรับว่าเราเป็นค่ายเล็กๆ หรือแม้แต่ศิลปินเล็กๆ ถามว่าเขาจะอยู่ได้ยังไงถ้าไม่มีสื่อในมือที่จะโปรโมต ต่างจากค่ายใหญ่ที่เขามีสื่อในมือของตัวเอง เขาแข็งข้อได้ว่าถ้าไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์เพลงฉันก็ไม่ต้องเปิด ไม่อนุญาต เราเลยยังไม่รู้ว่าจะทำยังไงดี ก็เลยยังต้องยอมส่งเพลงให้เขาฟรี”

กิ๊บเม-เมธิตา เปี่ยมสุธานนท์ พีอาร์ค่ายเพลงอินดี้ “Smallroom” เปิดใจกับทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live หลังจบงานเสวนา “เห็ดyoung ครั้งที่ 6 - กฎหมายลิขสิทธิ์ที่คนดนตรีควรรู้ และไขข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการจัดเก็บและจัดสรรค่าลิขสิทธิ์เพลง” ซึ่งจัดโดยทีมงานเว็บไซต์ฟังใจ (www.fungjai.com)
 
เธอพูดถึงผลกระทบผ่านสายตาของคนวงในวงการดนตรี จากช่วงหลังๆ ที่ค่ายเพลงลุกขึ้นมาจริงจังกับเรื่อง “ลิขสิทธิ์เพลง” มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนทำงานวงการนี้ต้องปรับตัวขนานใหญ่ แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการคัฟเวอร์เพลงก็ถูกมองเปลี่ยนไป “พอมีคนคัฟเวอร์เพลงที่เพิ่งปล่อยของค่ายไป เราจะดีใจมากเลย ทั้งพีอาร์ทั้งศิลปินจะส่งลิงก์เพลงให้กันดู รู้สึกดีใจที่มีคนชอบเพลงถึงขนาดเอาไปร้องต่อ แต่พอมีเรื่องลิขสิทธิ์เพลงเข้ามา มองในมุมการโปรโมตงานมันก็เป็นอุปสรรคเหมือนกันนะคะ”
 

(กิ๊บเม พีอาร์ค่าย Smallroom)

มันเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูไปแล้ว เหมือนทางค่ายต้องการจะประกาศว่านักร้องหรือศิลปินคนใดก็ตามที่เอาเพลงไปร้องโดยไม่มาขอลิขสิทธิ์ของฉัน ฉันจะฟ้องดะทั้งคดีแพ่งและอาญา มันทำให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานตกอยู่ในความหวาดกลัวไปเหมือนกันนะครับ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ศิลปินกลายเป็นเหมือนกับชาวนาที่ขายนาให้นายทุนไปแล้ว เรียกร้องอะไรก็ไม่ได้ ต้องไปเช่านาปลูกข้าวใหม่แทน”

พีระพงษ์ โกสัยสุก ทนายความผู้มีประสบการณ์ดูแลเกี่ยวกับคดีลิขสิทธิ์เพลง ช่วยแสดงทัศนะอย่างตรงไปตรงมา “ในส่วนของผู้ประกอบการก็เดือดร้อนไม่แพ้กัน มันกลายเป็นว่ากฎหมายลิขสิทธิ์เป็นเครื่องมือที่ค่ายเพลงหยิบเอามาใช้ข่มขู่ โดยเฉพาะพวกที่ไปเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ตามร้าน ไม่รู้ว่าคนไหนเจ้าหน้าที่ตัวจริง-ตัวปลอม พอร้านเปิดเพลงที่มีลิขสิทธิ์ขึ้นมาปุ๊บ คนที่นั่งอยู่ในร้านเขาจะแสดงตัวขึ้นมาเลยว่าละเมิดลิขสิทธิ์ พอมีมาจับกุมกันบ่อยๆ ทางร้านก็เสียหาย คนมานั่งกินก็เสียบรรยากาศ ไม่อยากมาร้านนั้นอีก ดังนั้น ถ้าจะออกกฎหมายอะไรมาปราบปรามกลุ่มแฝงตัวเหล่านี้ได้ก็จะดีมากเลย

ศิลปินเองก็เดือดร้อน บางคนเอาเพลงที่ตัวเองเคยแต่งไว้มาร้องก็ถูกฟ้อง ร้องแค่ครึ่งเพลงก็ไม่ได้เพราะลิขสิทธิ์เพลงมันเป็นของค่ายไปแล้ว แต่ถ้าเป็นกฎหมายในต่างประเทศจะเป็นระบบอีกแบบหนึ่ง เขาจะให้ผู้ที่ทำเพลงจะมีสิทธิ์ในเพลงของตัวเองเต็มที่ ใครที่เป็นผู้สร้างผลงาน นักประพันธ์เพลง ถ้าขายลิขสิทธิ์เพลงตัวเองให้ค่ายเพลงไป เขาก็จะได้สิทธิ์นั้นคืนภายใน 50 ปีหรือ 70 ปี และทายาทก็ได้รับสิทธิ์นั้นต่อ แต่ของเรา มันกลับกลายเป็นว่าศิลปินอยากร้องก็ต้องขอซื้อกลับ และซื้อกลับได้แค่ชั่วครู่ชั่วยาม ได้เป็นบางเพลง คิดเพลงละ 50,000 บาท ถ้าจะร้อง 4 เพลงก็ปาเข้าไป 200,000 บาทแล้ว มันทำให้เขาไม่มีโอกาสได้ร้องเพลงดังๆ ที่เขาสร้างสรรค์เอาไว้ เพลงที่คนรู้จักและชื่นชอบ

พูดตรงๆ ว่าทุกวันนี้มันเหมือนกลายเป็นวงจรอิทธิพลทางการเมืองในวงการเพลงไปแล้ว ใครที่มีเงินซื้อลิขสิทธิ์เพลง ซื้อนักร้องเข้าไปในสังกัดเพื่อสร้างความร่ำรวยให้แก่ตัวเอง ที่แสดงความคิดเห็นเอาไว้เพราะอยากให้คนทั่วไปได้รู้ว่า วงการเพลงเป็นแบบนี้ และเปอร์เซ็นต์ที่ได้จากค่าลิขสิทธิ์ในค่ายเพลง กว่าจะมาถึงตัวนักร้อง มันเหลือน้อยนิดแล้ว ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ เผลอๆ เหลือแค่ 1 เปอร์เซ็นต์แค่นั้นเอง ศิลปินก็เหมือนกับชาวนาที่ต้องยากจนต่อไป ความหวังคงต้องอยู่ที่ผู้มีอำนาจในการยื่นกฎหมายเข้าสภาปฏิรูป ไหนๆ ก็ปฏิรูปหลายๆ เรื่องแล้วในยุคนี้ ก็ปฏิรูปวงการเพลงไปด้วยเลยแล้วกัน!!


 

โมเดลลงตัว! “ลิขสิทธิ์” ไม่ใช่ผู้ร้าย

(บอล วง Scrubb โมเดลลิขสิทธิ์ดีๆ จากประสบการณ์ตรง)
ไม่เลวร้ายอย่างนั้นเสมอไป มันอยู่ที่การพูดคุยกัน บอล-ต่อพงศ์ จันทบุบผา มือกีตาร์วง Scrubb ผู้อำนวยการฝ่ายคัดสรรและพัฒนาศิลปิน ค่าย What The Duck ขอให้คำแนะนำจากประสบการณ์ตรง พร้อมหักล้างความคิดลบๆ เรื่องลิขสิทธิ์ว่ายังมีหนทางที่ทั้ง “ค่ายเพลง” และ “ศิลปิน” จะมีความสุขร่วมกันได้ เพียงแค่ต้องทำการบ้านและคุยกันให้เคลียร์ก่อนเซ็นสัญญา

“วง Scrubb ค่อนข้างโชคดีนิดหนึ่งตรงที่โมเดลตอนที่เราเข้าไปคุยสัญญากับค่าย Black Sheep ตอนนั้น ซึ่งอยู่ในเครือของ Sony Music เขาให้ความสำคัญกับเรื่องของสิทธิ์แก่ผู้ประพันธ์ ตกลงกันไว้ว่าเขาจะไม่เอาสิทธิ์ในฐานะ “ผู้ประพันธ์” ของเราไป แต่เขาก็จะได้ผลกำไรจากการ “เช่าซื้อ” ยกตัวอย่างโมเดลของเราทุกวันนี้คือ วงของเราจะได้เป็นเจ้าของสิทธิ์ใน “เนื้อร้องและทำนอง” ส่วนค่ายจะได้คือตัวมาสเตอร์เพลงนั้นๆ ไป

หมายความว่าถ้ามีคนที่มาติดต่อ อยากได้เพลงออริจินัลในอัลบั้มนั้นไปประกอบโฆษณา เขาต้องติดต่อทางค่าย เพราะชิ้นงานนั้นหรือตัวมาสเตอร์นั้นๆ เป็นลิขสิทธิ์ของค่ายเพลงโดยตรง แต่ถ้าเขาอยากจะเอาเนื้อร้อง-ทำนองของเพลงชุดนั้นมาทำใหม่ มารีมิกซ์เป็นเพลงเรกเก้-สกา เขาก็ต้องมาติดต่อเจ้าของลิขสิทธิ์เนื้อร้อง-ทำนองอย่างพวกผมโดยตรง เราต้องแยกลิขสิทธิ์งานเพลงออกมาเป็น 2 ประเภท อย่างแรก “สิทธิในการเป็นเจ้าของ” จะเป็นของค่ายเพลง ส่วน “สิทธิในการเป็นผู้ประพันธ์” จะเป็นของคนแต่งเนื้อร้องและทำนองครับ

“5+5” คือโมเดลที่ค่ายนี้ใช้ตกลงผลประโยชน์กัน ซึ่งหมายความว่าต้องแบ่งออกเป็น “5 ปีแรก” กับ “5 ปีหลัง” โดยในช่วง 5 ปีแรก ทางค่ายเพลงนั้นๆ มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการมาสเตอร์เพลง ส่วนช่วง 5 ปีหลัง เรียกว่าศิลปินและค่ายเพลงถือร่วมกัน โดยรวมแล้ว ลิขสิทธิ์เพลงจะถืออยู่กับค่ายประมาณ 10 ปี หลังจากนั้นลิขสิทธิ์ทุกอย่างจะคืนกลับมายังศิลปิน ยกเว้นตัวมาสเตอร์ของเพลงที่ยังเป็นของค่ายไปตลอด

“สำหรับศิลปิน สิ่งที่ดีที่สุดคือเราไม่ควรจะขายที่นา ถ้าเปรียบ “เนื้อเพลงและทำนอง” เป็น “ที่นา” คุณก็ไม่ควรทำตามข้อเสนอยกที่นาไปให้เขาตั้งแต่แรก คุณควรจะให้แค่ “ตัวเพลง” หรือแค่ตัว “ข้าวที่สำเร็จรูป” ไป ส่วนวัตถุดิบอุปกรณ์และพื้นที่ในการทำเกษตรกรรมของคุณ คุณไม่ควรยกให้เขาไปทั้งหมด เพราะถ้าเกิดยกให้เขาไปหมดแล้ว วันหนึ่งเขาอยากจะเอาไปทั้งหมด เราก็จะไปเรียกร้องอะไรคืนไม่ได้ ศิลปินก็ต้องไปหาพื้นที่ใหม่ ต้องไปไถแปลง ทำที่นาใหม่ ซึ่งจะทำได้ดีเท่าเดิมหรือเปล่าก็ไม่รู้

ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ในปัจจุบันที่รายได้ต่างๆ มันเริ่มเปลี่ยนไป โครงสร้างธุรกิจเพลงเริ่มเปลี่ยนไป สิ่งหนึ่งที่ศิลปินรุ่นใหม่ควรจะศึกษาไว้ก็คือ เรื่องสิทธิพื้นฐานในความเป็นเจ้าของในงานของเรา ถ้ามองว่าเพลงเหล่านี้อาจเอาไว้ต่อยอดในแบบของเราในอนาคตได้ ก็ต้องคุยกันและดูสัญญาให้ดีๆ กับทางค่ายว่าเราให้เขาได้มากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าเกิดเราเลือกที่จะให้เขาไปก่อนแล้ว และมาโวยวายในภายหลัง บางครั้งมันไม่เกิดประโยชน์อะไร
กรณีที่เป็นคดีความฟ้องร้องกัน ถ้าคนมองผิวเผิน อาจจะมองว่านายทุนทำไมใจร้ายจัง ทำไมทำกับชาวนาคนนี้ได้ แต่ในความเป็นจริง เราต้องกลับไปดูตั้งแต่วันแรกที่คุยกันว่า เราได้ตกลงขายที่นาให้นายทุนไปเรียบร้อยแล้วหรือยัง และสุดท้ายแล้ว ผมว่าค่ายเพลงก็ไม่ได้ใจร้ายเกินไปนะ หรือต่อให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ บางค่ายก็ไม่เกินการพูดคุยกันหรอกครับ


(นุสรา เจ้าหน้าที่สำนักลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา หนึ่งในวิทยากร)
แต่ถ้าวันหนึ่งมันเกินการพูดคุยกันจนถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลกันจริงๆ ก็พอจะมีแสงสว่างปลายอุโมงค์เล็กๆ สำหรับศิลปินที่ก้าวพลั้งพลาดไปแล้ว ขายขาดลิขสิทธิ์เพลงให้ค่ายเพลงไปแล้ว จะสามารถ “ขอโอนสิทธิ์คืน” กลับมาได้ในอนาคต ถ้ากฎหมายที่พยายามยื่นเสนอไปผ่านด่านสภาปฏิรูป และนี่คือความหวังที่ อ่อม-นุสรา กาญจนกูล เจ้าหน้าที่สำนักลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยเอาไว้ในงานเสวนา ฐานะวิทยากรงาน “เห็ดyoung ครั้งที่ 6 - กฎหมายลิขสิทธิ์ที่คนดนตรีควรรู้ และไขข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการจัดเก็บและจัดสรรค่าลิขสิทธิ์เพลง”

“ช่วงหลังๆ มีคนพูดถึงกฎหมายตัวนี้ของอเมริกามากขึ้นเรื่อยๆ กฎหมายในมาตราที่ 203 Termination of license of transfer or license of copyrights ที่พูดถึงเรื่องการโอนลิขสิทธิ์ทั้งหมดคืนศิลปิน บางกรณี กฎหมายอเมริกาบอกไว้เลยว่า เราสามารถขอโอนลิขสิทธิ์คืนมาได้ ยกตัวอย่าง ถ้าศิลปินทำเพลงขึ้นมาและโอนลิขสิทธิ์ทั้งหมดให้ทางค่ายเรียบร้อยแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปตามอายุกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งที่อเมริกาคุ้มครองเอาไว้ 70 ปี หมายความว่าหลังจากนั้น ศิลปินสามารถขอคืนลิขสิทธิ์ได้ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เขากำหนด ซึ่งกฎหมายตัวนี้มันทำให้ผู้สร้างสรรค์จำนวนหนึ่ง รวมทั้งทายาท สามารถที่จะขอคืนลิขสิทธิ์ผลงานตัวนั้นกลับมาได้

เหตุผลของการที่เขาต้องมีกฎหมายตัวนี้ขึ้นมา ทางอเมริกาเขามองว่า คนที่เป็นนักแต่งเพลง-ศิลปินส่วนใหญ่มีพลังในการสร้างสรรค์ มีจินตนาการ แต่ขาดความรู้ทางธุรกิจ ขาดความรู้ในการคาดการณ์ว่าอีกหน่อยเพลงของฉันจะดังหรือเปล่า ไม่รู้ว่าเทคโนโลยีหรือวิธีการในการใช้เผยแพร่งานเป็นยังไง ฉะนั้น ในวันที่ตกลงกัน ตอนยังไม่มีอินเทอร์เน็ต อำนาจต่อรองยังน้อยอยู่” ถ้าต่อไปประเทศเราผ่านกฎหมายตัวนี้ได้เมื่อไหร่ อาจช่วยให้ศิลปินไทยลืมตาอ้าปากและมีแรงงัดข้อกับค่ายเพลงได้มากกว่าทุกวันนี้


 

ลิขสิทธิ์ = เคารพสิทธิ์

(จิตราภา พยัคฆโส ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี ประเทศไทย)
“ต้องยอมรับว่า ลิขสิทธิ์กลายเป็นเรื่องลบไปแล้ว ในสายตาของประชาชนทั่วๆ ไป” เบน-จิตราภา พยัคฆโส ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด องค์กรที่มีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า “MCT” หนึ่งในวิทยากรงานเสวนาครั้งนี้ช่วยวิเคราะห์สภาพการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับปัญหาลิขสิทธิ์เพลง โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากมี “องค์กรเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์” มากกว่า 20 แห่งในไทย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐานและยังขาดการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีมิจฉาชีพแฝงตัวเข้าไปเก็บค่าลิขสิทธิ์ตามสถานประกอบการกันให้วุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่มีเพียงองค์กรเดียว ช่วยให้การทำงานไม่ซ้ำซ้อนกัน

“ที่ผ่านมามันไม่มีการควบคุมการจัดเก็บลิขสิทธิ์ตรงนี้เกิดขึ้น เลยทำให้คนที่อาจจะไม่ประสงค์ดีเข้ามาหาผลประโยชน์ ทำให้กระบวนการตรงนี้กลายเป็นเรื่องทางลบไปซะ ซึ่งเราต้องมาเปลี่ยนทัศนคติเรื่องนี้กันใหม่ คือถ้าเรารู้เท่าทันเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ว่ามีที่มาที่ไปยังไง จะตอบแทนไปสู่คนที่สร้างสรรค์ยังไง และวิธีของคนที่จะมาตรวจสอบที่ถูกต้องทำแบบไหน จะช่วยให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่าการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ก็คือการตอบแทนคืนไปสู่สังคม ไปสู่ผู้สร้างสรรค์อย่างแท้จริงถ้าเราจ่ายกับองค์กรที่ถูกต้อง

เราไม่ได้บอกว่าจะต้องเหลือองค์กร MCT องค์กรเดียวนะคะที่สามารถมาดูแลส่วนนี้ได้ แต่อยากให้เหลือองค์กรน้อยที่สุด อาจจะมีการจับมือรวมกลุ่มกันให้เหลือแค่ไม่กี่องค์กร และทำงานร่วมกันอย่างมีมาตรฐานจริงๆ คิดว่าวันนี้ไม่ว่าจะมีหรือไม่มี MCT มันก็น่าจะทำให้สิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นได้ในอนาคต ถ้าเราสามารถจับมือร่วมกันได้และรวมพลังกันเป็นองค์กรที่มีมาตรฐานขึ้นมาสัก 2-3 องค์กร และรับรองได้จริงว่าการจัดเก็บเหล่านี้มันไปถึงผู้สร้างสรรค์จริงๆ ปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่คงคลี่คลายไปได้มากขึ้น


(พาย ผู้จัดงานเสวนา CMO & Community Manager บริษัท ฟังใจ จำกัด)
อีกหนึ่งความเข้าใจผิดในประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์เพลงในขณะนี้ก็คือ การที่ผู้ประกอบการร้านอาหาร ผับ บาร์ เข้าใจไปว่าเปิดเพลงจากแผ่นผีหรือ MP3 ไม่ได้ ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ งั้นแก้ลำด้วยการเปิดผ่านยูทิวบ์แทนก็แล้วกัน ซึ่งถือเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปมากๆ เพราะแท้จริงแล้ว ไม่ว่าจะเปิดเพลงด้วยวิธีการใด แต่ถ้าเป็นการเผยแพร่ไปสู่คนหมู่มาก โดยไม่ได้ใช้เพลงนั้นๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในการฟังเป็นส่วนตัวแล้ว หากไม่ได้เสียค่าลิขสิทธิ์หรือขออนุญาตเอาไว้ก่อน ก็ถือเป็นความผิดตามกฎหมายอยู่ดี ส่วนที่ทำให้ประชาชนทั่วไปหาทางหนีทีไล่แบบผิดๆ ด้วยวิธีการเช่นนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผลการตัดสินจากคดีความบางคดี ซึ่งมีการฟ้องร้องสถานประกอบการที่เปิดเพลงผ่านยูทิวบ์แล้วได้รับการยกฟ้อง คนจึงเหมารวมไปว่าจะรอดได้ด้วยวิถีทางเดียวกัน

มิติในกระบวนการยุติธรรมมันยังมีความซับซ้อนทางคดีที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น ทางที่ดีที่สุด หากจะเปิดใช้เพลงของใครก็ควรเคารพใน "สิทธิ" ของกันและกัน นั่นแหละคือวิธีที่ พาย-ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี ผู้จัดงานเสวนา CMO & Community Manager บริษัท ฟังใจ จำกัด มองว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้ว

"ทุกวันนี้ผมมองว่ากฎหมายลิขสิทธิ์หรือบทลงโทษทั้งหลายมันแก้ที่ปลายเหตุ เขาพยายามจะรัดกุมมากขึ้นเรื่อยๆ ให้คนกลัวที่จะทำผิด ให้คนจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ กำหนดเป็นกฎเกณฑ์ขึ้นมา แต่ถ้าจะแก้ให้ยั่งยืนจริงๆ ต้องกลับไปที่ต้นทางเลยคือ คนแต่งเพลงก็ต้องรู้สิทธิ์ของตัวเอง คนฟังเพลงก็ต้องเคารพสิทธิ์ของนักแต่งเพลง ถ้าเรามีความเคารพในสิทธิ์ของกันและกัน การละเมิดสิทธิ์ก็จะไม่มี แต่การจะปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น เราจะต้องทำตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเพลงเลยก็ได้ อย่างเช่นเรื่องการลอกการบ้านเพื่อน

เด็กไทยส่วนใหญ่รู้สึกว่าลอกการบ้านไม่ใช่เรื่องผิดอะไรมาก และคนที่ไม่ให้ลอกจะโดนตราหน้าว่าเห็นแก่ตัว เราต้องเปลี่ยนแปลงความคิดนี้ให้ได้ว่า เราต้องไม่ลอกการบ้านเพื่อนเพราะเรากำลังละเมิดสิทธิ์เพื่อน กำลังเอาเปรียบเพื่อน เพื่อนเองก็ต้องรักษาสิทธิ์ตัวเอง อย่ายินยอม ต้องปลูกฝังความรู้สึกเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ละเมิดกัน แค่นี้เอง มันเป็นวัฒนธรรมไทยและเอเชียทั่วไปเลยนะครับการลอกการบ้าน เพราะฝั่งยุโรปหรืออเมริกา เขาจะมีการปลูกฝังมาอย่างเข้มงวดและมีบทลงโทษที่รุนแรงมาตลอด ทำให้เขาไม่ลอกกัน ถ้าไม่ทำก็ไม่ทำเลย เขาจะเรียกว่า “Honor System” ระบบการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ที่สำคัญเลย เขามองว่าการลอกการบ้านก็คือการปลูกฝัง เรื่องคอร์รัปชั่นอย่างหนึ่ง มายอมเรื่องแบบนี้ตั้งแต่เด็ก มันเลยทำให้กลายเป็นปัญหาอื่นๆ อีกเยอะแยะในตอนโต”


สุดท้าย ถ้าข้อมูลทั้งหมดนี้ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ใครต่อใครเคารพในสิทธิของกันและกัน กิ๊บเม-เมธิตา เด็กสาววัย 25 พีอาร์จากค่าย Smallroom ก็ขอฝากความคิดเล็กๆ เอาไว้ให้คิด โดยเฉพาะพวกเว็บดาวน์โหลดเพลงเถื่อนที่ผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ดและมีคนตามเก็บตามสนับสนุน ขอให้เห็นใจ คิดใหม่ทำใหม่กันเสียที

ศิลปินก็เป็นคน ต้องกินข้าว วันแรกๆ ก็มีความฝันว่าอยากทำดนตรี ได้แต่งเพลงไปเรื่อยๆ ก็ดีใจแล้ว แต่เขาจะแต่งได้สักกี่เพลง ถ้าเขาไม่มีตังค์มาซื้อข้าวกิน ถ้าไม่ได้เงินจากสิ่งที่เขารักมาจุนเจือ เพราะศิลปินไทยหลายๆ คนเขาไม่ได้ทำงานเพลงอย่างเดียว จะทำงานอย่างอื่นด้วย แต่ถ้าเขาเห็นว่างานอื่นได้เงิน แต่งานที่เขารักได้เงิน สุดท้ายเขาก็มีเวลาในสิ่งที่รักน้อยลง และต้องไปทำงานอื่นเพื่อเอาเงินมาใช้ชีวิต เพราะประเทศนี้มันไม่สนับสนุนงานเพลงที่ถูกลิขสิทธิ์ และถ้าถึงวันหนึ่งที่เพลงใหม่หมดไป วันนั้นแหละคนไทยถึงจะสำนึกได้ว่าควรจะสนับสนุนให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานใหม่ขึ้นมาด้วยการอุดหนุนเขา

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live




รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น