“แม่ช่วยด้วย! หนูถูกจับมาขังไว้ในรถตู้” เด็กหญิงกุเรื่องหลอกแม่ผ่านไลน์ อ้างถูกรถตู้ลักพาตัว แท้จริงแล้วเที่ยวกับแฟนจนดึกดื่นไม่กล้ากลับเข้าบ้านจึงไลน์หลอกแม่ให้แตกตื่น หนำซ้ำกลายเป็นเรื่องราวที่ถูกแชร์ครึกโครมผ่านโลกออนไลน์ชั่วข้ามคืน สะท้อนให้เห็นว่าเด็กวัยรุ่นสมัยนี้ไม่รู้จัก ผิด ชอบ ชั่ว ดี เอาความคึกคะนองของตนเองมาล้อเล่นกับความรู้สึกพ่อแม่จนหัวใจแทบแตกสลาย!
‘ความห่วงใย’ ของพ่อแม่ที่ถูกทำลาย
หัวอกคนเป็นพ่อแม่แทบแหลกสลายเมื่อรู้ว่าลูกอยู่ในอันตราย แต่ตัวลูกเองกลับทำทุกอย่างเพื่อที่จะได้อยู่กับแฟนจนไม่นึกถึงความรู้สึกของพ่อแม่ เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญในจังหวัดปราจีนบุรี เมื่อเด็กผู้หญิงคนหนึ่งไลน์ไปบอกแม่ของเธอว่า ถูกลักพาตัวขึ้นรถตู้ไปขณะขับขี่รถจักรยานผ่านที่จอดรถหน้าที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลวังตะเคียน
โดยถูกชายร่างกายกำยำจับมาขังไว้ในรถตู้ อีกทั้งในรถยังมีเด็กคนอื่นๆ ถูกจับมาด้วยอีก 6 คน พร้อมกับถูกชายในรถซ้อมและตบตี โดยเหตุเกิดขึ้นท้องที่ สภ.วังตะเคียน อีกทั้งข้างรถยังเขียนว่า 'รถรับ-ส่งนักเรียน ม.ต้น' คล้ายกับว่าเป็นแก๊งรถตู้ลักพาตัวเด็ก ด้วยความกลัวว่าลูกจะเกิดอันตราย แม่เด็กจึงไปแจ้งตำรวจ และแจ้งชาวเน็ตในกลุ่ม ‘เรารักแปดริ้ว’ ให้ช่วยกันตามหาอีกทางหนึ่ง
คนในกลุ่มเรารักแปดริ้ว จึงช่วยกันแชร์ข่าวตามหาตัวเด็กกันจ้าละหวั่น สุดท้ายดูเหมือนความหวังดีของพวกเขาเสียเปล่า เพราะเด็กหญิงคนดังกล่าวได้ส่งข้อความไลน์มาหาแม่ของตนอีกครั้งว่า เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นการแต่งขึ้น เนื่องจากได้ออกมาเที่ยวกับแฟนหนุ่มจนดึก แล้วไม่กล้ากลับเข้าบ้าน จึงให้แฟนหนุ่มมารับกลับ แล้วไลน์หลอกแม่ว่าถูกลักพาตัว
เหตุการณ์ดังกล่าวถูกแชร์ขอความช่วยเหลือเด็กหญิงรายนี้ผ่านโลกออนไลน์กันอย่างครึกโครม ทว่า เมื่อเรื่องราวปรากฏขึ้นว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้น ผู้คนต่างโหมกระหน่ำถึงพฤติกรรมของเด็กรายนี้ว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควร และไม่นึกถึงหัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่เอาเสียเลย บ้างก็ว่าเด็กคนนี้เป็นเด็กเลี้ยงแกะหนีตามผู้ชาย และบางส่วนถึงกับกล่าวว่านี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ไม่อยากแชร์เรื่องเด็กวัยรุ่นหาย เพราะเกรงว่าจะเป็นเรื่องลวง
“นี่แหล่ะ คือสาเหตุหนึ่งที่จะไม่แชร์เรื่องวัยรุ่นหาย ถ้าจะแชร์ จะแชร์จากกระจกเงาเท่านั้น แชร์ทีไร หนีตามผู้ชายทุกที”
“เชื่อเถอะ เด็กบางคน มันกู่ไม่กลับแล้ว เจอมาทุกประเภท ไปโรงเรียนเช้าๆ พอแม่ออกไปทำงาน มันเดินพาผู้ชายกลับมาบ้าน เฮ้อออออ.. เตือนมัน มันก็ว่ายุ่งอีก แล้วแต่บุญแต่กรรมละกัน”
“น่าจับเข้าคุกนะคะน้อง คิดอะไรอยู่ แม่น้องคงเป็นห่วงใจแทบขาด คนที่หวังดีเขาก็ช่วยกันเต็มที่นะ ไม่สงสารเหรอ? ไม่รู้จริงๆ ว่าน้องจะโตขึ้นเป็นคนประเภทไหน”
“ไปว่าเด็กมันก็ไม่ถูกซะทีเดียวนะ ต้องดูให้ลึกลงไปถึงการใช้ชีวิตด้วย พ่อแม่เขาเลี้ยงยังไง ทำไมลูกถึงโกหก เพราะความกลัวโดนด่าใช่หรือไม่”
“ฝากถึงพ่อแม่ ที่มีลูกวัยนี้นะคะ ดูไว้เป็นเคสตัวอย่างด้วย เคยมีเคสแบบนี้ และก็ช่วยแชร์ เพราะเราก็เป็นแม่คน สุดท้ายจบเหมือนกับเคสนี้เลย เสียความรู้สึกมากๆ”
เสรีภาพของเด็กยุคไอที
“เด็กขาดวิจารณญาณในการไตร่ตรองก็เลยเลียนแบบ นี่คือหลักทั่วไปที่ทำให้เด็กในยุคนี้มีปัญหา ในเรื่องจริยธรรม ความยับยั้งชั่งใจที่จะทำอะไร ว่าสิ่งที่ทำนั้นดีหรือไม่ดี จะขาดการไตร่ตรองในจุดนี้ นี่คือปัญหาพื้นฐานเลย” และนี่คือทัศนะของ “ดร.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร” อาจารย์ประจำภาควิชาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เขาวิเคราะห์พฤติกรรมของเด็กในยุคนี้ผ่านทางทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live
“อาจารย์คิดว่ามันเป็นปัญหาเรื่องของเด็กในยุคนี้ เด็กในยุคนี้เป็นเด็กยุคไอที เขามีเสรีภาพมากในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอะไรต่างๆ ตรงนี้ทำให้เด็กมีความรู้มีความเข้าใจในเรื่องต่างๆ อย่างรวดเร็วกว้างขวางขึ้นกว่ายุคที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน เด็กยุคนี้มันจะมีปัญหาเรื่องของการยั้งคิด หรือการไตร่ตรอง เพราะข้อมูลข่าวสารที่ได้มามันเร็ว แล้วก็บางทีมีการเผยแพร่ตัวอย่างหรือการกระทำอะไรต่างๆ ที่มันไม่ดี จริงๆ แล้วเด็กไม่ควรทำอย่างนั้น เพราะว่าพ่อ แม่ ก็เป็นห่วงเป็นใย ทำให้พ่อแม่เดือดร้อนถือเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี”
อีกทั้ง ในส่วนของเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นแล้วนั้น พ่อแม่ก็ควรกลับมาพิจารณา และย้อนดูตนเองด้วยว่าทำไมถึงปล่อยให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ตนเองหรือเปล่าที่เป็นสาเหตุของเรื่องราวทั้งหมด ที่อาจจะขาดการดูแลใส่ใจ และเมื่อพิจารณาแล้วก็ควรแก้ไขให้ถูกวิธีที่ไม่ใช่การทำโทษแต่เป็นการสร้างความเข้าใจ อาจารย์ประจำภาควิชาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม แนะวิธี
“เมื่อเขาทำไปแล้วก็คงต้องคุยกับเขา ทำความเข้าใจกับเขาว่า การกระทำอะไรที่มันถูกมันควร ที่ควรจะทำ อะไรที่ไม่ควรทำ มันก็เป็นเรื่องของครอบครัวเป็นเรื่องของพ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกด้วยความใส่ใจด้วยเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ปล่อยให้ลูกไปมีอิสระเสรีเกินขอบเขต
แล้วพ่อแม่ก็รู้ไม่เท่าทันเด็ก เด็กก็ไปทำอะไรต่ออะไรแล้วก็คงคิดไม่ถึงว่านั่นคือการหลอกนะครับ ต้องย้อนกลับมาดูที่ตัวเองด้วยว่าทำไมเราถึงไม่ทันลูก หรือทำไมถึงถูกลูกหลอก เป็นเพราะว่าเราเอง อาจจะขาดความใส่ใจด้วยหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นเรื่องที่พ่อแม่ ต้องย้อนกลับมาดูตัวเอง
แต่เมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้ว พ่อแม่ก็ควรที่จะแก้ไขให้ถูกวิธี ไม่ใช่เรื่องการทำโทษนะ คือการทำโทษบางทีมันก็ไม่ได้แก้ปัญหานะ ยิ่งทำโทษยิ่งเตลิดไปกันใหญ่ ก็ต้องสร้างความเข้าใจแล้วก็ น่าจะมีการคุยกันให้มากกว่านี้ ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกที่ควร นี่เป็นแนวทางที่น่าจะทำมากกว่า”
สถาบันครอบครัวต้องแข็งแรง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในกรณีนี้จะโทษฝ่ายเด็กหญิงอย่างเดียวก็คงไม่ได้ เนื่องจากเป็นปัญหาในเรื่องของแฟนเด็กด้วย แฟนของเด็กก็คงจะอยู่ในสถานการณ์เดียวกันก็คือไม่รู้ ผิด ชอบ ชั่ว ดี เอาแต่ความสนุกสนานเฉพาะหน้า เพราะฉะนั้น มันเป็นปัญหาทั่วไปของคนในยุคนี้ ซึ่งจะต้องกลับมาดูที่สถาบันครอบครัว ที่พ่อแม่ดูแลลูกตัวเองได้ดีหรือยัง
“สถาบันครอบครัว ยังคงมีความสำคัญควรจะเป็นหลักในการหล่อหลอมบุคคลในครอบครัว ถ้าหากสถาบันครอบครัวไม่แข็งแรง หรือไม่เข้มแข็งพอ การปล่อยให้ลูกไปอยู่กับสื่อ ไปอยู่กับเทคโนโลยีมากๆ ซึ่งมันไม่สามารถจะสกัดกั้นได้แล้วในยุคนี้ ถ้าปล่อยเขามากเกินไปโดยหวังว่าเขาจะคิดได้เอง คงไม่ได้
เพราะว่าในสิ่งที่เขาไปเรียนรู้จากภายนอกมันมีสิ่งที่เรียกว่าเป็นพิษอยู่ ถ้าเขาอยู่ในวัยที่เขาไม่สามารถที่จะแยกผิดแยกถูกได้ และพ่อแม่เองก็ไม่ได้ใส่ใจที่จะไปอบรมบ่มเพาะลูกในทางที่ดี เด็กมันก็เหมือนกับขาดภูมิคุ้มกัน เวลามีอะไรเข้ามาก็ตกเป็นเหยื่อได้ง่ายๆ”
จากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นเป็นตัวสะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่าการที่ลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อาจจะเป็นความก้าวร้าว ฉุนเฉียว หรือมีการปิดบังพ่อแม่เกิดขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากสถาบันครอบครัวในยุคปัจจุบันที่ค่อนข้างอ่อนแอลงมากเมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่พ่อ แม่ ลูก มีความใกล้ชิดกัน
สถาบันครอบครัวอ่อนแอลง เหตุผลอาจมาจากสังคมที่เปลี่ยนไป มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น อีกทั้ง พ่อแม่มีเวลาดูลูกน้อยลง ปล่อยให้ลูกอยู่กับเทคโนโลยีสมัยใหม่มากจนเกินไป ทำให้เกิดช่องว่างภายในครอบครัว สาเหตุเหล่านี้เองจึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วควรจะมองที่ครอบครัวก่อนเป็นอันดับ 1
นอกจากนี้ ยังเกิดคำถามต่างๆ มากมายตามมาว่าหากเจอปัญหาที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ จะลำบากหรือไม่ และจะเชื่อถือได้อย่างไรว่าไม่ได้เรื่องราวที่ถูกแต่งขึ้น อาจารย์ประจำภาควิชาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าควรจะไตร่ตรอง และคิดทบทวนเนื้อหาให้ดีก่อนว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่
“ในการแชร์กัน ก็เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่ง แชร์ข่าว แชร์ข้อมูล หากมันผิดมันก็ผิดไปเรื่อย คนที่รับรู้มีแนวโน้มกว่าคนที่แชร์มาสูงมากนะครับ ถ้าใครอยากปล่อยข่าวหรืออยากทำอะไรสักอย่าง ก็พยายามเขียนอะไรที่มันน่าเชื่อถือแล้วก็ส่งผ่านไปทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ตรงนี้มันไปได้เร็วมาก และกว้างขวางมาก ตรงนี้เป็นเรื่องที่จะต้องมีการกลั่นกรองหรือคิด
การรับข้อมูล คนที่รับไม่ใช่ว่าจะกลั่นกรองข้อมูล ถ้าคิดว่าข้อมูลนี้ไม่ถูกหรือไม่ใช่ก็ไม่ควรส่งต่อ ไม่อย่างนั้นเราจะกลายเป็นเครื่องมือของการแผ่ขยายข้อมูลที่ไม่ถูกต้องออกไป นี่คือปัญหาอีกอย่างหนึ่งของสังคมไทยในยุคข้อมูลข่าวสาร ในยุคเทคโนโลยี”
จากกรณีนี้เองเป็นตัวสะท้อนค่านิยมของเยาวชนให้กับสังคมไทยได้เป็นอย่างดี ว่าความคิดของเด็กสมัยนี้เข้าขั้นวิกฤตลงไปทุกที จากเดิมเด็กสาวที่มีความน่ารักสมวัยกลายมาเป็นแม่วัยเยาว์ที่มีเพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ ด้วยเหตุนี้เองเยาวชนไทยจึงควรได้รับการขัดเกลาที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
“สังคมไทยเราเดี๋ยวนี้ มันเป็นค่านิยม ของเยาวชนเรามันเปลี่ยนไปเยอะแล้ว เยาวชนเรามันมีสิ่งที่เรียกว่าเปิดมากขึ้น สังเกตได้จากแม่วัยเยาว์นะครับ มีเยอะมากเพิ่มขึ้นในจำนวนสัดส่วนที่สูงมากจนน่าตกใจ เด็กสมัยนี้มันมีค่านิยมในเรื่องของการรักนวลสงวนตัวที่เปลี่ยนไปเยอะ เปิดมากขึ้น รู้จักกันไม่นานก็มีเพศสัมพันธ์กันแล้ว นี่เป็นสิ่งสะท้อนที่เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมไทยในเวลานี้”
ข่าวโดยASTV ผู้จัดการLive
มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...
Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754