โดย...ไพรัตน์ แย้มโกสุม
มีหนังสือเก่าเล่มหนึ่งชื่อ... “พุทธวจนะในธรรมบท” แปลโดย “อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก” พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2522 หยิบขึ้นมาอ่านทีไร ก็สว่างไสวด้วยสาระเมื่อนั้น
“ใจเป็นผู้นำทุกสิ่งทุกอย่าง ใจเป็นใหญ่
ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ
ถ้าคนเรามีใจชั่วเสียแล้ว
การพูดการกระทำก็พลอยชั่วไปด้วย
เพราะการพูดชั่วทำชั่วนั้น
ทุกข์ย่อมตามสนองเขา
เหมือนล้อหมุนตามรอยเท้าโค”
“ใจเป็นผู้นำทุกสิ่งทุกอย่าง ใจเป็นใหญ่
ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ
ถ้าคนเรามีใจบริสุทธิ์
การพูดการกระทำก็พลอยบริสุทธิ์ไปด้วย
เพราะการพูดการกระทำอันบริสุทธิ์นั้น
ความสุขย่อมตามสนองเขา
เหมือนเงาติดตามตน”
นั่นคือ...สิ่งที่ควรรู้ควรจำ จำเป็นต้องท่องจำ สมัยเป็นนักเรียน เพราะครูบังคับ ต่อมาสมัยเป็นครูต้องท่องจำอีก เพราะต้องไปสอนนักเรียน (จำได้ทำได้ก่อน ค่อยไปสอนคนอื่น)
รู้จำสาระ
เรื่องการท่องจำหรือไม่ท่องจำ ถกเถียงกันมาตลอด มันก็มีทั้งคุณและโทษ มีทั้งประโยชน์และไร้ประโยชน์นั่นแหละ ถ้าความรู้หรือสิ่งที่จะให้รู้นั้น มันมีสาระ ก็ควรให้ท่องจำจึงจะจำได้ เป็นหลักยึดของชีวิต ถ้ามันไร้สาระก็ไม่ต้องเสียเวลาไปท่องจำอะไร ลืมไปซะ รกสมองเปล่าๆ
อย่างที่ยก “พุทธวจนะในธรรมบท” ข้างต้น อย่างนี้มีสาระ มีประโยชน์จะได้สอนตัวเองเป็นกระจกเงา เอาไปเป็นของขวัญให้คนอื่น
“คนที่คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว เพราะใจหม่นหมอง ใจไม่บริสุทธิ์ คนที่คิดดีพูดดี ทำดี เพราะใจไม่หม่นหมอง ใจบริสุทธิ์”
ง่ายๆ สั้นๆ ก็จะรู้ทันตนและคนอื่นได้อย่างชัดแจ้งแทงทะลุ เป็นสาระที่ควรรู้ ควรท่อง ควรจำ
“ผู้ใดเห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ว่าเป็นสาระ
เห็นสิ่งที่เป็นสาระ ว่าไร้สาระ
เขามีความคิดผิดเสียแล้ว
ย่อมไม่ประสบสิ่งที่เป็นสาระ”
“ผู้ที่เข้าใจสิ่งที่เป็นสาระ ว่าเป็นสาระ
และสิ่งที่ไร้สาระ ว่าไร้สาระ
เขามีความคิดเห็นชอบเสียแล้ว
ย่อมประสบสิ่งที่เป็นสาระ”
ความคิดเห็นที่ออกมาในรูปแบบต่างๆ นานา จะมีสองประเภทคือ ไร้สาระ (เป็นส่วนมาก) กับมีสาระ (เป็นส่วนน้อย) แสดงให้เห็นว่า คนมีใจไม่บริสุทธิ์มีมากกว่าคนมีใจบริสุทธิ์
จึงเป็นธรรมดาที่บางคนชอบเสนอสิ่งไร้สาระ (เพราะเขาเห็นว่ามันเป็นสาระ) และบางคนชอบเสนอสิ่งที่เป็นสาระ (เพราะเขาเห็นว่ามันเป็นสาระ)
จึงเป็นหน้าที่ของผู้รับผู้เสพจะต้องพิจารณาเอง อันนี้คือสาระ อันนี้คือไร้สาระ อันนี้คือข้าว อันนี้คือขี้ จะกินอะไร
เรื่องสาระ (แก่นหรือส่วนสำคัญ) มีมากมาย คงจดจำไม่ไหว แต่ที่ควรรู้และควรจำคือ...
สิบสองคำ จำให้แม่น ทุกข์ไม่ทุกข์ อยู่ตรงนี้
1. อวิชชา
2. สังขาร
3. วิญญาณ
4. นามรูป
5. อายตนะ
6. ผัสสะ
7. เวทนา
8. ตัณหา
9. อุปาทาน
10. ภพ
11. ชาติ
12. ชรามรณะ
... (ปฏิจจสมุปบาท)
เหตุและผล ทำให้คนตื่นรู้
เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด
เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี
เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ
... (อิทัปปัจจยตา)
ต้องให้ท่องจำอย่างนี้ให้ขึ้นใจ จึงจะแก้ปัญหาหรือความทุกข์ต่างๆ ได้ ทุกข์มาก-สุขน้อย ทุกข์น้อย-สุขมาก ทุกข์หมดไป-สุขเต็มที่
เมื่อท่องได้แล้ว เรื่องอธิบายขยายความแต่ละคำ แต่ละประโยค เป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบ เช่น พระสงฆ์องค์เจ้า ครูบาอาจารย์ หรือนายกรัฐมนตรีก็ยิ่งดี ถ้าผู้รับผิดชอบไม่ทำหน้าที่ ไม่ทำงานให้เป็นสาระ นั่นคือหน้าที่ของนายกฯ ที่จะต้องจัดการง่ายๆ เปลี่ยนรัฐมนตรีใหม่ เอาคนมีกึ๋นมีใจบริสุทธิ์มาทำงานแทน มิใช่เอาประเภท “ใจเป็นหนอง หม่นหมองเป็นนิจ”
คนเราขณะมีชีวิตอยู่ ถ้ามีวิชชาตายแล้วก็ไม่เกิดอีก ถ้ามีอวิชชาตายแล้วก็เกิดอีก ดั่ง...ชรามรณะเป็นปัจจัยทำให้เกิดอวิชชา...อวิชชาเป็นปัจจัยทำให้เกิดสังขาร เป็นต้น หมุนไปเป็นวัฏจักรเวียนว่ายตายเกิดอยู่นั่นแหละ
ถ้าอวิชชาดับ สังขารก็ดับ...ชาติดับ ชรามรณะก็ดับ ชรามรณะดับ อวิชชาก็ดับ...
เหตุเกิด-ผลเกิด
เหตุดับ-ผลดับ
เมื่อสิ่งนี้มี (เหตุเกิด) สิ่งนี้จึงมี (ผลเกิด)
เมื่อสิ่งนี้ดับ (เหตุดับ) สิ่งนี้จึงดับ (ผลดับ)
สมมติเรามีรัฐมนตรีชั่วชอบคอร์รัปชัน (เหตุเกิด) ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาก็พลอยคอร์รัปชันไปด้วย (ผลเกิด) การให้รัฐมนตรีชั่วมาปราบคอร์รัปชัน จึงเป็นไปไม่ได้ ทำนองเดียวกัน ถ้าเรามีรัฐมนตรีดี เกลียดคอร์รัปชัน (เหตุเกิด) ลูกน้องก็ไม่กล้าคอร์รัปชัน (ผลเกิด) การหารัฐมนตรีดี มือสะอาดมาปราบคอร์รัปชัน จึงสมเหตุสมผลเป็นไปได้
เนื่องจากรัฐมนตรีมีหลายกระทรวง จึงมีทั้งคนดีและคนชั่ว ทางที่ดีที่สุด ตัวนายกรัฐมนตรีเองต้องบริสุทธิ์ เห็นปัญหาคอร์รัปชันเป็นตัวอันตรายของชาติ จึงมีนโยบายปราบให้สิ้นซาก รัฐมนตรีคนใดคอร์รัปชัน ปลดและเอาติดคุกทันที ตัวอย่างที่พอเห็นได้ ก็สมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
เหตุอย่างไร-ผลอย่างนั้น
เหตุดี-ผลดี
เหตุชั่ว-ผลชั่ว
เป็นไปตามกฎแห่งกรรม และเป็นไปตามสำนวนไทยที่ว่า... “หัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก” ถ้าหัวหน้าไม่กระทำชั่ว ลูกน้องก็ไม่กล้าทำชั่ว เช่นกัน
รู้ละปัญหา
โลกนี้เต็มไปด้วยปัญหา คำว่า “รู้ละปัญหา” มิได้หมายความว่า เมื่อรู้ปัญหาแล้วให้ละให้เลิกปัญหา อย่าไปยุ่งกับปัญหา ปล่อยให้เป็นปัญหาต่อไป
รู้ละปัญหาในที่นี้หมายถึง การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของปัญหา ปัญหาจึงจะหมดไป
ศาสนาพุทธสอนเรื่องทุกข์และการดับทุกข์ ก็คือสอนเรื่องปัญหาต่างๆ และการดับปัญหาต่างๆ นั่นเอง
ทุกข์คือสภาพที่ทนได้ยาก สภาวะที่บีบคั้น ขัดแย้ง บกพร่อง ขาดแก่นสาร และความเที่ยงแท้ไม่ให้ความพึงพอใจแท้จริง
ทุกข์หรือปัญหา ควรกำหนดรู้ สมุทัย เหตุแห่งปัญหาควรละ นิโรธ ความดับปัญหา ควรทำให้แจ้ง มรรค ทางแก้ปัญหา วิธีแก้ปัญหา ควรเจริญ
รู้ละปัญหา คือรู้เหตุที่ทำให้เกิดปัญหา แล้วก็ละเลิกตรงเหตุนี้เสีย โดยอาศัยแนวทางสัมมาแปดอย่าง เริ่มจากความเห็นชอบไปจนสุดท้าย คือตั้งจิตมั่นชอบ หรือว่าย่อๆ ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญหานั่นเอง
มีบ้านอยู่สองหลัง แต่ละหลังก็มีโอ่งใหญ่หลังละหมื่นลูก วันหนึ่งฝนตกหนักทั้งวัน ปรากฏว่า บ้านหลังหนึ่งได้น้ำฝนเต็มโอ่ง อีกหลังหนึ่งไม่มีน้ำสักหยด น้ำฝนไหลทิ้งหมด บ้านหลังนี้เกิดปัญหาขึ้นแล้ว พิจารณาหาเหตุแห่งปัญหา โอ่งก็สภาพดี ไม่มีรูรั่วตรงไหน หาไปหามา ก็พบเหตุแห่งปัญหาจนได้ นั่นคือ...ไม่ได้เปิดฝาโอ่ง (ปัญหานี้ช่างเหมือนกับปัญหาท่วมแล้งของประเทศเราเสียจริงๆ)
ฝนตกวันต่อไป เปิดฝาโอ่งรับน้ำฝนได้น้ำเต็มโอ่งเหมือนบ้านหลังนั้น ปัญหาไม่มีน้ำในโอ่งก็หมดไป นี่คือ...รู้-ละ-ปัญหา
โลกคือมายา
คำว่า “โลก” มิใช่หมายเพียงเฉพาะ แผ่นดิน (Earth) หรือดาวเคราะห์ดวงหนึ่งในระบบสุริยะที่เราอาศัยอยู่เท่านั้น แต่หมายถึงโลกอื่นๆ ด้วยที่อยู่ทับซับซ้อนกับโลกใบนี้...
โลกหรือภพ อันเป็นที่อยู่ของสัตว์ ได้แก่...
1. กามภพ คือภพที่เป็นกามาวจรหรือภพของสัตว์ ผู้ยังเสวยกามคุณ คืออารมณ์ทางอินทรีย์ทั้ง 5 ได้แก่ อบาย 4 มนุษยโลก และกามาวจรสวรรค์ทั้ง 6
2. รูปภพ คือภพที่เป็นรูปาวจร หรือภพของสัตว์ผู้เข้าถึงฌาน ได้แก่ รูปพรหมทั้ง 16
3. อรูปภพ คือภพที่เป็นอรูปาวจร หรือภพของสัตว์ผู้เข้าถึงอรูปฌาน ได้แก่ อรูปพรหม 4 (ภพทั้งสามนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า...กามโลก รูปโลก อรูปโลก)
โลก คือประดาสภาวธรรม หรือหมู่สัตว์ กำหนดโดยขอบเขตบ้าง ไม่กำหนดบ้าง ได้แก่...
1. สังขารโลก-โลกคือสังขาร ได้แก่ สภาวธรรมทั้งปวง ที่มีการปรุงแต่งตามเหตุปัจจัย
2. สัตว์โลก-โลกคือหมู่สัตว์
3. โอกาสโลก-โลกอันกำหนดด้วยโอกาส, โลกอันมีในอวกาส, จักรวาล
โลกคือ หมู่สัตว์ หรือสัตวโลก
1. มนุษยโลก-โลกคือหมู่มนุษย์
2. เทวโลก-โลกคือหมู่เทพ, สวรรค์ชั้นกามาวจรทั้ง 6
3. พรหมโลก-โลกคือหมู่พรหม, สวรรค์ชั้นพรหม
นอกจากสามโลกที่กล่าวมา ยังมีอีกโลกหนึ่งที่น่าดู (ดูเป็นก็เห็นธรรม) คือ...อารมณ์ 6 เป็นสิ่งสำหรับให้จิตยึดหน่วง เป็นแดนต่อความรู้ฝ่ายภายนอกที่เรียกว่า...อายตนะภายนอกหกมี รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์
เมื่อรู้จักแดนต่อความรู้ฝ่ายภายนอกแล้ว ก็ควรรู้จักแดนต่อความรู้ฝ่ายภายในที่เรียกว่า...อายตนะภายในหก หรืออินทรีย์หก เพราะเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนแต่ละอย่าง (เช่น ตา เป็นเจ้าการในการเห็น) ได้แก่...ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ทั้งนอกและใน เขามีความสัมพันธ์กัน ถ้าดูเป็น พินิจเป็น ก็ไม่ทุกข์ ดูไม่เป็น พินิจไม่เป็น ก็ทุกข์ โลกนี้ มิตินี้ จึงมหัศจรรย์ยิ่งนัก
ขอแถมอีกโลกหนึ่ง คือโลกธรรม 8 คือธรรมดาของโลก, เรื่องของโลก, ความเป็นไปตามคติธรรมดาซึ่งหมุนเวียนมาหาสัตวโลก และสัตวโลกก็หมุนเวียนตามมันไป ได้แก่...
(1) ลาภ (2) เสื่อมลาภ (3) ยศ (4) เสื่อมยศ (5) นินทา (6) สรรเสริญ (7) สุข (8) ทุกข์
สรุปมีสองส่วน คือส่วนที่น่าปรารถนา (1, 3, 6, 7) กับส่วนที่ไม่น่าปรารถนา (2, 4, 5, 8)
โลกในมิตินี้ คนเป็นเยอะ หากไม่รู้ทันมัน ก็ต้องแบกต้องหามมันต่อไป ทุกข์โว้ย หนักโว้ย พอสติมา ปัญญาเกิด...เออ มันหนักก็วางมันลง แบกมันอยู่ทำไม ไอ้โง่ (ด่าตัวเอง)
คำว่า “มายา” แปลว่า มารยา, ลวง, การแสร้งทำ, เล่ห์กล
ลวง-ทำให้หลงว่าเป็นจริง ก็คือโกหก หรือพูดเท็จ นั่นเอง
มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ โกหก หลอกลวง เป็นศีลข้อ 4 ของศีล 5 ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว
พินิจพิจารณาดีๆ เราอยู่กับโลก แม้โลกเป็นมายา เป็นของหลอกลวง แล้วจะทำอย่างไร?
ก็ทำอย่างพระพุทธเจ้า พระอริยเจ้าทั้งหลาย อยู่กับโลกแต่ไม่ติดโลก เหมือนบัวอยู่กับน้ำไม่ติดน้ำนั่นแล
เหนือหล้าว่างวาง
เหนือหล้า ก็คือเหนือโลก “เหนือโลก” หมายถึง ความรู้ความเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้ง จนไม่มีในโลกนี้หรือโลกอื่น ไม่มีความหมายเป็นโลกนี้ หรือเป็นโลกอื่นอีกต่อไป เพราะความเห็นโลกถูกต้องโดยประการทั้งปวง ว่าเป็นเพียงมายา ไม่มีโลกไหนที่น่าสนใจ หรือน่ายึดมั่นถือมั่น นี่เรียกว่าเหนือโลก
... (ธรรมถึงคน คนถึงธรรม โดย พุทธทาสภิกขุ)
เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับในโลกและเหนือโลก ควรรู้หลักธรรมสองอย่างเป็นเบื้องต้น คือโลกียธรรม และโลกุตตรธรรม
- โลกียธรรม คือธรรมอันเป็นวิสัยของโลก มีสัจจะดังนี้
1. โลกียธรรมทั้งหมดเป็นสิ่งผูกพันสัตว์ไว้กับภพหรือวัฏฏะ
2. โลกียธรรมเป็นสมบัติของสัตว์ที่ยังมีตัวตน ซึ่งจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งที่เป็นคู่ อันเป็นของมีอยู่ประจำโลก เช่น บุญ-บาป, สุข-ทุกข์, ได้-เสีย, แพ้-ชนะ ฯลฯ
3. โลกียธรรมเป็นบทเรียนแห่งชีวิต ส่งเสริมสัตว์ให้เลื่อนจากโลกียธรรมไปสู่โลกุตตรธรรม
โลกุตตรธรรม คือธรรมอันมิใช่วิสัยของโลก หรือเหนือโลก หรือยิ่งกว่าโลกนั่นเอง มีสัจจะดังนี้
1. เป็นความว่างนิรันดร แต่มิใช่อัตตา
2. อยู่เหนือความหมายแห่งความเป็นคู่ทุกชนิดที่มีอยู่ในโลก เช่น บวก-ลบ, ดี-ชั่ว, บุญ-บาป, สุข-ทุกข์, ได้-เสีย, แพ้-ชนะ, นรก-สวรรค์, ดีใจ-เสียใจ, หญิง-ชาย ฯลฯ
3. เป็นอสังขตธรรม ไม่มีปัจจัยปรุง หรือปรุงไม่ได้ ไม่หมุนเวียน ไม่มีการเกิดดับ
4. เป็นความสุขที่เหนือสุข แล้วถูกสมมติว่าเป็นโลกุตตรสุข
5. บรรลุถึงได้ทุกวรรณะ ทุกเพศ
6. เหนือโลก คือเหนือปัญหาที่มีอยู่ในโลกทุกชนิด ทั้งที่อัตภาพยังอยู่ในโลกนี้
... (ธรรมโฆษณ์อรรถานุกรม เล่ม 1 โดยกลุ่มปฏิบัติงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา)
โลกุตตรธรรม ก็คือความว่าง หรือสุญญตานั่นเอง สุญญตา แปลว่าว่าง ว่างจากอะไร ว่างจากตัวตน หรือของตน นอกนั้นมีได้หมด อะไรๆ ไม่ถือว่าเป็น ตัวฉัน และของฉัน ตัวกู และของกู เป็นต้น
... (ภาษาคน-ภาษาธรรม ภัยพุทธศาสนา เทคนิคแห่งความเป็นมนุษย์)
เรื่อสุญญตา ความว่าง จิตว่างนี้ ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ สอนตรงไปตรงมาสุดๆ ว่า...
“เมื่อใด จิตเห็นว่า พระพุทธเจ้าก็ไม่มี สัตวโลกก็ไม่มี เพราะความเป็นอัตตา หรือสุญญตา เมื่อนั้น จิตถึงความเป็นพุทธะเสียเองแล้ว ความทุกข์และกิเลสก็ไม่อาจจะมีด้วย นี่คือยอดสุดของอภิธรรม!”
ท่านอาจารย์พุทธทาส ยังกล่าวต่อไปอีกว่า... “ถ้าพิจารณาอย่างชั้นสูง ไปจนกระทั่งให้มันว่างไปหมด ไม่มีอะไร แล้วก็พูดอย่างแบบฟ้าแลบ แบบมาเหนือเมฆ เหมือนที่ “ฮวงโป” พูดว่า คนอย่างฮวงโปหรือนิกายของเขาใช้คำว่า “ว่าง” คำเดียว ไม่มีอะไร นอกจากความว่าง พุทธะคือความว่าง ธรรมะคือความว่าง สังฆะคือความว่าง ว่าเท่านี้ ก่อนอะไรๆ ก็คือความว่าง แม้แต่กิเลสก็ว่าง ที่แท้ก็คือแก่นพุทธศาสนาเป็นสติปัญญาชั้นสูงสุด... (ปัญหาเกี่ยวกับการทำงานด้วยจิตว่าง โดย พุทธทาสภิกขุ ในหนังสือ จิตว่าง)
ทำไม...รู้ว่าหนัก ก็ยังแบกอยู่ อยากวางเหมือนกัน ก็วางไม่ลง คำตอบ...เพราะจิตไม่ว่าง จึงวางไม่ลง จิตว่างเมื่อไร วางลงเมื่อนั้น
“รู้จำสาระ
รู้ละปัญหา
โลกคือมายา
เหนือหล้าว่างวาง”
โลกียะกับโลกุตตระ คือสองธรรมที่ทับซ้อนกันอยู่บนโลกใบนี้ ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดกับธรรมทั้งสอง อะไรควรมาก อะไรควรน้อย อะไรควรเกิด อะไรควรดับ ปัจจัตตัง เป็นเรื่องเฉพาะตัว ดูตน ดูคนอื่น ดูคนอื่น ดูตน ก็ผ่อนคลายดีมีหลายอารมณ์ เกิด-ดับ เกิด-ดับ
สุดท้ายก็อย่าลืมแผ่เมตตาให้กันและกัน เพราะเราต่างก็เป็นเพื่อนกัน ต่างก็เป็นเพียงธุลีเล็กๆ ในโลกใบนี้ด้วยกัน ไม่ได้ยิ่งใหญ่ไปกว่า “ดิน-น้ำ-ฟ้า” เราก็แค่วิ่งตามกระแสมายา ทั้งๆ ที่รู้ว่า สิ่งทั้งมวลล้วนว่างเปล่า คือสัจจะที่เป็นอมตะนิรันดร
มีหนังสือเก่าเล่มหนึ่งชื่อ... “พุทธวจนะในธรรมบท” แปลโดย “อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก” พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2522 หยิบขึ้นมาอ่านทีไร ก็สว่างไสวด้วยสาระเมื่อนั้น
“ใจเป็นผู้นำทุกสิ่งทุกอย่าง ใจเป็นใหญ่
ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ
ถ้าคนเรามีใจชั่วเสียแล้ว
การพูดการกระทำก็พลอยชั่วไปด้วย
เพราะการพูดชั่วทำชั่วนั้น
ทุกข์ย่อมตามสนองเขา
เหมือนล้อหมุนตามรอยเท้าโค”
“ใจเป็นผู้นำทุกสิ่งทุกอย่าง ใจเป็นใหญ่
ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ
ถ้าคนเรามีใจบริสุทธิ์
การพูดการกระทำก็พลอยบริสุทธิ์ไปด้วย
เพราะการพูดการกระทำอันบริสุทธิ์นั้น
ความสุขย่อมตามสนองเขา
เหมือนเงาติดตามตน”
นั่นคือ...สิ่งที่ควรรู้ควรจำ จำเป็นต้องท่องจำ สมัยเป็นนักเรียน เพราะครูบังคับ ต่อมาสมัยเป็นครูต้องท่องจำอีก เพราะต้องไปสอนนักเรียน (จำได้ทำได้ก่อน ค่อยไปสอนคนอื่น)
รู้จำสาระ
เรื่องการท่องจำหรือไม่ท่องจำ ถกเถียงกันมาตลอด มันก็มีทั้งคุณและโทษ มีทั้งประโยชน์และไร้ประโยชน์นั่นแหละ ถ้าความรู้หรือสิ่งที่จะให้รู้นั้น มันมีสาระ ก็ควรให้ท่องจำจึงจะจำได้ เป็นหลักยึดของชีวิต ถ้ามันไร้สาระก็ไม่ต้องเสียเวลาไปท่องจำอะไร ลืมไปซะ รกสมองเปล่าๆ
อย่างที่ยก “พุทธวจนะในธรรมบท” ข้างต้น อย่างนี้มีสาระ มีประโยชน์จะได้สอนตัวเองเป็นกระจกเงา เอาไปเป็นของขวัญให้คนอื่น
“คนที่คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว เพราะใจหม่นหมอง ใจไม่บริสุทธิ์ คนที่คิดดีพูดดี ทำดี เพราะใจไม่หม่นหมอง ใจบริสุทธิ์”
ง่ายๆ สั้นๆ ก็จะรู้ทันตนและคนอื่นได้อย่างชัดแจ้งแทงทะลุ เป็นสาระที่ควรรู้ ควรท่อง ควรจำ
“ผู้ใดเห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ว่าเป็นสาระ
เห็นสิ่งที่เป็นสาระ ว่าไร้สาระ
เขามีความคิดผิดเสียแล้ว
ย่อมไม่ประสบสิ่งที่เป็นสาระ”
“ผู้ที่เข้าใจสิ่งที่เป็นสาระ ว่าเป็นสาระ
และสิ่งที่ไร้สาระ ว่าไร้สาระ
เขามีความคิดเห็นชอบเสียแล้ว
ย่อมประสบสิ่งที่เป็นสาระ”
ความคิดเห็นที่ออกมาในรูปแบบต่างๆ นานา จะมีสองประเภทคือ ไร้สาระ (เป็นส่วนมาก) กับมีสาระ (เป็นส่วนน้อย) แสดงให้เห็นว่า คนมีใจไม่บริสุทธิ์มีมากกว่าคนมีใจบริสุทธิ์
จึงเป็นธรรมดาที่บางคนชอบเสนอสิ่งไร้สาระ (เพราะเขาเห็นว่ามันเป็นสาระ) และบางคนชอบเสนอสิ่งที่เป็นสาระ (เพราะเขาเห็นว่ามันเป็นสาระ)
จึงเป็นหน้าที่ของผู้รับผู้เสพจะต้องพิจารณาเอง อันนี้คือสาระ อันนี้คือไร้สาระ อันนี้คือข้าว อันนี้คือขี้ จะกินอะไร
เรื่องสาระ (แก่นหรือส่วนสำคัญ) มีมากมาย คงจดจำไม่ไหว แต่ที่ควรรู้และควรจำคือ...
สิบสองคำ จำให้แม่น ทุกข์ไม่ทุกข์ อยู่ตรงนี้
1. อวิชชา
2. สังขาร
3. วิญญาณ
4. นามรูป
5. อายตนะ
6. ผัสสะ
7. เวทนา
8. ตัณหา
9. อุปาทาน
10. ภพ
11. ชาติ
12. ชรามรณะ
... (ปฏิจจสมุปบาท)
เหตุและผล ทำให้คนตื่นรู้
เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด
เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี
เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ
... (อิทัปปัจจยตา)
ต้องให้ท่องจำอย่างนี้ให้ขึ้นใจ จึงจะแก้ปัญหาหรือความทุกข์ต่างๆ ได้ ทุกข์มาก-สุขน้อย ทุกข์น้อย-สุขมาก ทุกข์หมดไป-สุขเต็มที่
เมื่อท่องได้แล้ว เรื่องอธิบายขยายความแต่ละคำ แต่ละประโยค เป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบ เช่น พระสงฆ์องค์เจ้า ครูบาอาจารย์ หรือนายกรัฐมนตรีก็ยิ่งดี ถ้าผู้รับผิดชอบไม่ทำหน้าที่ ไม่ทำงานให้เป็นสาระ นั่นคือหน้าที่ของนายกฯ ที่จะต้องจัดการง่ายๆ เปลี่ยนรัฐมนตรีใหม่ เอาคนมีกึ๋นมีใจบริสุทธิ์มาทำงานแทน มิใช่เอาประเภท “ใจเป็นหนอง หม่นหมองเป็นนิจ”
คนเราขณะมีชีวิตอยู่ ถ้ามีวิชชาตายแล้วก็ไม่เกิดอีก ถ้ามีอวิชชาตายแล้วก็เกิดอีก ดั่ง...ชรามรณะเป็นปัจจัยทำให้เกิดอวิชชา...อวิชชาเป็นปัจจัยทำให้เกิดสังขาร เป็นต้น หมุนไปเป็นวัฏจักรเวียนว่ายตายเกิดอยู่นั่นแหละ
ถ้าอวิชชาดับ สังขารก็ดับ...ชาติดับ ชรามรณะก็ดับ ชรามรณะดับ อวิชชาก็ดับ...
เหตุเกิด-ผลเกิด
เหตุดับ-ผลดับ
เมื่อสิ่งนี้มี (เหตุเกิด) สิ่งนี้จึงมี (ผลเกิด)
เมื่อสิ่งนี้ดับ (เหตุดับ) สิ่งนี้จึงดับ (ผลดับ)
สมมติเรามีรัฐมนตรีชั่วชอบคอร์รัปชัน (เหตุเกิด) ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาก็พลอยคอร์รัปชันไปด้วย (ผลเกิด) การให้รัฐมนตรีชั่วมาปราบคอร์รัปชัน จึงเป็นไปไม่ได้ ทำนองเดียวกัน ถ้าเรามีรัฐมนตรีดี เกลียดคอร์รัปชัน (เหตุเกิด) ลูกน้องก็ไม่กล้าคอร์รัปชัน (ผลเกิด) การหารัฐมนตรีดี มือสะอาดมาปราบคอร์รัปชัน จึงสมเหตุสมผลเป็นไปได้
เนื่องจากรัฐมนตรีมีหลายกระทรวง จึงมีทั้งคนดีและคนชั่ว ทางที่ดีที่สุด ตัวนายกรัฐมนตรีเองต้องบริสุทธิ์ เห็นปัญหาคอร์รัปชันเป็นตัวอันตรายของชาติ จึงมีนโยบายปราบให้สิ้นซาก รัฐมนตรีคนใดคอร์รัปชัน ปลดและเอาติดคุกทันที ตัวอย่างที่พอเห็นได้ ก็สมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
เหตุอย่างไร-ผลอย่างนั้น
เหตุดี-ผลดี
เหตุชั่ว-ผลชั่ว
เป็นไปตามกฎแห่งกรรม และเป็นไปตามสำนวนไทยที่ว่า... “หัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก” ถ้าหัวหน้าไม่กระทำชั่ว ลูกน้องก็ไม่กล้าทำชั่ว เช่นกัน
รู้ละปัญหา
โลกนี้เต็มไปด้วยปัญหา คำว่า “รู้ละปัญหา” มิได้หมายความว่า เมื่อรู้ปัญหาแล้วให้ละให้เลิกปัญหา อย่าไปยุ่งกับปัญหา ปล่อยให้เป็นปัญหาต่อไป
รู้ละปัญหาในที่นี้หมายถึง การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของปัญหา ปัญหาจึงจะหมดไป
ศาสนาพุทธสอนเรื่องทุกข์และการดับทุกข์ ก็คือสอนเรื่องปัญหาต่างๆ และการดับปัญหาต่างๆ นั่นเอง
ทุกข์คือสภาพที่ทนได้ยาก สภาวะที่บีบคั้น ขัดแย้ง บกพร่อง ขาดแก่นสาร และความเที่ยงแท้ไม่ให้ความพึงพอใจแท้จริง
ทุกข์หรือปัญหา ควรกำหนดรู้ สมุทัย เหตุแห่งปัญหาควรละ นิโรธ ความดับปัญหา ควรทำให้แจ้ง มรรค ทางแก้ปัญหา วิธีแก้ปัญหา ควรเจริญ
รู้ละปัญหา คือรู้เหตุที่ทำให้เกิดปัญหา แล้วก็ละเลิกตรงเหตุนี้เสีย โดยอาศัยแนวทางสัมมาแปดอย่าง เริ่มจากความเห็นชอบไปจนสุดท้าย คือตั้งจิตมั่นชอบ หรือว่าย่อๆ ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญหานั่นเอง
มีบ้านอยู่สองหลัง แต่ละหลังก็มีโอ่งใหญ่หลังละหมื่นลูก วันหนึ่งฝนตกหนักทั้งวัน ปรากฏว่า บ้านหลังหนึ่งได้น้ำฝนเต็มโอ่ง อีกหลังหนึ่งไม่มีน้ำสักหยด น้ำฝนไหลทิ้งหมด บ้านหลังนี้เกิดปัญหาขึ้นแล้ว พิจารณาหาเหตุแห่งปัญหา โอ่งก็สภาพดี ไม่มีรูรั่วตรงไหน หาไปหามา ก็พบเหตุแห่งปัญหาจนได้ นั่นคือ...ไม่ได้เปิดฝาโอ่ง (ปัญหานี้ช่างเหมือนกับปัญหาท่วมแล้งของประเทศเราเสียจริงๆ)
ฝนตกวันต่อไป เปิดฝาโอ่งรับน้ำฝนได้น้ำเต็มโอ่งเหมือนบ้านหลังนั้น ปัญหาไม่มีน้ำในโอ่งก็หมดไป นี่คือ...รู้-ละ-ปัญหา
โลกคือมายา
คำว่า “โลก” มิใช่หมายเพียงเฉพาะ แผ่นดิน (Earth) หรือดาวเคราะห์ดวงหนึ่งในระบบสุริยะที่เราอาศัยอยู่เท่านั้น แต่หมายถึงโลกอื่นๆ ด้วยที่อยู่ทับซับซ้อนกับโลกใบนี้...
โลกหรือภพ อันเป็นที่อยู่ของสัตว์ ได้แก่...
1. กามภพ คือภพที่เป็นกามาวจรหรือภพของสัตว์ ผู้ยังเสวยกามคุณ คืออารมณ์ทางอินทรีย์ทั้ง 5 ได้แก่ อบาย 4 มนุษยโลก และกามาวจรสวรรค์ทั้ง 6
2. รูปภพ คือภพที่เป็นรูปาวจร หรือภพของสัตว์ผู้เข้าถึงฌาน ได้แก่ รูปพรหมทั้ง 16
3. อรูปภพ คือภพที่เป็นอรูปาวจร หรือภพของสัตว์ผู้เข้าถึงอรูปฌาน ได้แก่ อรูปพรหม 4 (ภพทั้งสามนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า...กามโลก รูปโลก อรูปโลก)
โลก คือประดาสภาวธรรม หรือหมู่สัตว์ กำหนดโดยขอบเขตบ้าง ไม่กำหนดบ้าง ได้แก่...
1. สังขารโลก-โลกคือสังขาร ได้แก่ สภาวธรรมทั้งปวง ที่มีการปรุงแต่งตามเหตุปัจจัย
2. สัตว์โลก-โลกคือหมู่สัตว์
3. โอกาสโลก-โลกอันกำหนดด้วยโอกาส, โลกอันมีในอวกาส, จักรวาล
โลกคือ หมู่สัตว์ หรือสัตวโลก
1. มนุษยโลก-โลกคือหมู่มนุษย์
2. เทวโลก-โลกคือหมู่เทพ, สวรรค์ชั้นกามาวจรทั้ง 6
3. พรหมโลก-โลกคือหมู่พรหม, สวรรค์ชั้นพรหม
นอกจากสามโลกที่กล่าวมา ยังมีอีกโลกหนึ่งที่น่าดู (ดูเป็นก็เห็นธรรม) คือ...อารมณ์ 6 เป็นสิ่งสำหรับให้จิตยึดหน่วง เป็นแดนต่อความรู้ฝ่ายภายนอกที่เรียกว่า...อายตนะภายนอกหกมี รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์
เมื่อรู้จักแดนต่อความรู้ฝ่ายภายนอกแล้ว ก็ควรรู้จักแดนต่อความรู้ฝ่ายภายในที่เรียกว่า...อายตนะภายในหก หรืออินทรีย์หก เพราะเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนแต่ละอย่าง (เช่น ตา เป็นเจ้าการในการเห็น) ได้แก่...ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ทั้งนอกและใน เขามีความสัมพันธ์กัน ถ้าดูเป็น พินิจเป็น ก็ไม่ทุกข์ ดูไม่เป็น พินิจไม่เป็น ก็ทุกข์ โลกนี้ มิตินี้ จึงมหัศจรรย์ยิ่งนัก
ขอแถมอีกโลกหนึ่ง คือโลกธรรม 8 คือธรรมดาของโลก, เรื่องของโลก, ความเป็นไปตามคติธรรมดาซึ่งหมุนเวียนมาหาสัตวโลก และสัตวโลกก็หมุนเวียนตามมันไป ได้แก่...
(1) ลาภ (2) เสื่อมลาภ (3) ยศ (4) เสื่อมยศ (5) นินทา (6) สรรเสริญ (7) สุข (8) ทุกข์
สรุปมีสองส่วน คือส่วนที่น่าปรารถนา (1, 3, 6, 7) กับส่วนที่ไม่น่าปรารถนา (2, 4, 5, 8)
โลกในมิตินี้ คนเป็นเยอะ หากไม่รู้ทันมัน ก็ต้องแบกต้องหามมันต่อไป ทุกข์โว้ย หนักโว้ย พอสติมา ปัญญาเกิด...เออ มันหนักก็วางมันลง แบกมันอยู่ทำไม ไอ้โง่ (ด่าตัวเอง)
คำว่า “มายา” แปลว่า มารยา, ลวง, การแสร้งทำ, เล่ห์กล
ลวง-ทำให้หลงว่าเป็นจริง ก็คือโกหก หรือพูดเท็จ นั่นเอง
มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ โกหก หลอกลวง เป็นศีลข้อ 4 ของศีล 5 ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว
พินิจพิจารณาดีๆ เราอยู่กับโลก แม้โลกเป็นมายา เป็นของหลอกลวง แล้วจะทำอย่างไร?
ก็ทำอย่างพระพุทธเจ้า พระอริยเจ้าทั้งหลาย อยู่กับโลกแต่ไม่ติดโลก เหมือนบัวอยู่กับน้ำไม่ติดน้ำนั่นแล
เหนือหล้าว่างวาง
เหนือหล้า ก็คือเหนือโลก “เหนือโลก” หมายถึง ความรู้ความเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้ง จนไม่มีในโลกนี้หรือโลกอื่น ไม่มีความหมายเป็นโลกนี้ หรือเป็นโลกอื่นอีกต่อไป เพราะความเห็นโลกถูกต้องโดยประการทั้งปวง ว่าเป็นเพียงมายา ไม่มีโลกไหนที่น่าสนใจ หรือน่ายึดมั่นถือมั่น นี่เรียกว่าเหนือโลก
... (ธรรมถึงคน คนถึงธรรม โดย พุทธทาสภิกขุ)
เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับในโลกและเหนือโลก ควรรู้หลักธรรมสองอย่างเป็นเบื้องต้น คือโลกียธรรม และโลกุตตรธรรม
- โลกียธรรม คือธรรมอันเป็นวิสัยของโลก มีสัจจะดังนี้
1. โลกียธรรมทั้งหมดเป็นสิ่งผูกพันสัตว์ไว้กับภพหรือวัฏฏะ
2. โลกียธรรมเป็นสมบัติของสัตว์ที่ยังมีตัวตน ซึ่งจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งที่เป็นคู่ อันเป็นของมีอยู่ประจำโลก เช่น บุญ-บาป, สุข-ทุกข์, ได้-เสีย, แพ้-ชนะ ฯลฯ
3. โลกียธรรมเป็นบทเรียนแห่งชีวิต ส่งเสริมสัตว์ให้เลื่อนจากโลกียธรรมไปสู่โลกุตตรธรรม
โลกุตตรธรรม คือธรรมอันมิใช่วิสัยของโลก หรือเหนือโลก หรือยิ่งกว่าโลกนั่นเอง มีสัจจะดังนี้
1. เป็นความว่างนิรันดร แต่มิใช่อัตตา
2. อยู่เหนือความหมายแห่งความเป็นคู่ทุกชนิดที่มีอยู่ในโลก เช่น บวก-ลบ, ดี-ชั่ว, บุญ-บาป, สุข-ทุกข์, ได้-เสีย, แพ้-ชนะ, นรก-สวรรค์, ดีใจ-เสียใจ, หญิง-ชาย ฯลฯ
3. เป็นอสังขตธรรม ไม่มีปัจจัยปรุง หรือปรุงไม่ได้ ไม่หมุนเวียน ไม่มีการเกิดดับ
4. เป็นความสุขที่เหนือสุข แล้วถูกสมมติว่าเป็นโลกุตตรสุข
5. บรรลุถึงได้ทุกวรรณะ ทุกเพศ
6. เหนือโลก คือเหนือปัญหาที่มีอยู่ในโลกทุกชนิด ทั้งที่อัตภาพยังอยู่ในโลกนี้
... (ธรรมโฆษณ์อรรถานุกรม เล่ม 1 โดยกลุ่มปฏิบัติงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา)
โลกุตตรธรรม ก็คือความว่าง หรือสุญญตานั่นเอง สุญญตา แปลว่าว่าง ว่างจากอะไร ว่างจากตัวตน หรือของตน นอกนั้นมีได้หมด อะไรๆ ไม่ถือว่าเป็น ตัวฉัน และของฉัน ตัวกู และของกู เป็นต้น
... (ภาษาคน-ภาษาธรรม ภัยพุทธศาสนา เทคนิคแห่งความเป็นมนุษย์)
เรื่อสุญญตา ความว่าง จิตว่างนี้ ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ สอนตรงไปตรงมาสุดๆ ว่า...
“เมื่อใด จิตเห็นว่า พระพุทธเจ้าก็ไม่มี สัตวโลกก็ไม่มี เพราะความเป็นอัตตา หรือสุญญตา เมื่อนั้น จิตถึงความเป็นพุทธะเสียเองแล้ว ความทุกข์และกิเลสก็ไม่อาจจะมีด้วย นี่คือยอดสุดของอภิธรรม!”
ท่านอาจารย์พุทธทาส ยังกล่าวต่อไปอีกว่า... “ถ้าพิจารณาอย่างชั้นสูง ไปจนกระทั่งให้มันว่างไปหมด ไม่มีอะไร แล้วก็พูดอย่างแบบฟ้าแลบ แบบมาเหนือเมฆ เหมือนที่ “ฮวงโป” พูดว่า คนอย่างฮวงโปหรือนิกายของเขาใช้คำว่า “ว่าง” คำเดียว ไม่มีอะไร นอกจากความว่าง พุทธะคือความว่าง ธรรมะคือความว่าง สังฆะคือความว่าง ว่าเท่านี้ ก่อนอะไรๆ ก็คือความว่าง แม้แต่กิเลสก็ว่าง ที่แท้ก็คือแก่นพุทธศาสนาเป็นสติปัญญาชั้นสูงสุด... (ปัญหาเกี่ยวกับการทำงานด้วยจิตว่าง โดย พุทธทาสภิกขุ ในหนังสือ จิตว่าง)
ทำไม...รู้ว่าหนัก ก็ยังแบกอยู่ อยากวางเหมือนกัน ก็วางไม่ลง คำตอบ...เพราะจิตไม่ว่าง จึงวางไม่ลง จิตว่างเมื่อไร วางลงเมื่อนั้น
“รู้จำสาระ
รู้ละปัญหา
โลกคือมายา
เหนือหล้าว่างวาง”
โลกียะกับโลกุตตระ คือสองธรรมที่ทับซ้อนกันอยู่บนโลกใบนี้ ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดกับธรรมทั้งสอง อะไรควรมาก อะไรควรน้อย อะไรควรเกิด อะไรควรดับ ปัจจัตตัง เป็นเรื่องเฉพาะตัว ดูตน ดูคนอื่น ดูคนอื่น ดูตน ก็ผ่อนคลายดีมีหลายอารมณ์ เกิด-ดับ เกิด-ดับ
สุดท้ายก็อย่าลืมแผ่เมตตาให้กันและกัน เพราะเราต่างก็เป็นเพื่อนกัน ต่างก็เป็นเพียงธุลีเล็กๆ ในโลกใบนี้ด้วยกัน ไม่ได้ยิ่งใหญ่ไปกว่า “ดิน-น้ำ-ฟ้า” เราก็แค่วิ่งตามกระแสมายา ทั้งๆ ที่รู้ว่า สิ่งทั้งมวลล้วนว่างเปล่า คือสัจจะที่เป็นอมตะนิรันดร