xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : เรื่องของ “สมาธิ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อาการที่ตั้งสติคุมจิตให้เพ่งพินิจอยู่ในกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้รวมอยู่ในจุดเดียวกัน จนจิตแน่วแน่แน่นแฟ้น โดยมีสติรู้อยู่ว่า นี่สติ นี่สมาธิ นี่อารมณ์เหลืออยู่หมดไป มีไตรลักษณญาณควบคุมอยู่ตลอดเวลา นี่คือลักษณะของสมาธิ ซึ่งผิดแผกจากฌาน สมาธิมี ๓ อย่าง คือ

๑. ขณิกสมาธิ อาการที่จิตเข้ารวมอยู่ในจุดเดียว แต่รวมเป็นครู่เป็นขณะ มีลักษณะวับๆแวบๆ แล้วก็หายไป จนจับอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้

๒. อุปจารสมาธิ อาการที่จิตจวนจะรวมเข้าสู่อัปปนา ซึ่งจะรวมแหล่มิรวมแหล่ แต่ไม่ฟุ้งซ่านสอดส่ายออกไปภายนอก ยึดเอาอารมณ์เป็นอุปาทานเครื่องถือมั่น จะละก็ไม่ใช่ จะเอาก็ไม่เชิง มีความลังเลเป็นสมุฏฐาน

๓. อัปปนาสมาธิ อาการที่จิตถอนสละออกจากอุปาทานทั้งปวง แล้วเข้ารวมกำลังสติ สมาธิ และปัญญา ให้มีกำลังสมบูรณ์เต็มที่ เกือบจะกล่าวได้ว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะนี้ แม้จะเป็นโลกอยู่ในโลกตามสมมตินิยมก็ดี แต่ใจในขณะนั้นไม่มีโลกติดอยู่เลย จะเรียกว่าโลกก็มิใช่ จะเรียกว่าธรรมก็ไม่เชิง เพราะอัปปนาไม่มีสมมติในที่นั้น

ขณะนั้นสิ่งอันสังเกตได้ง่ายก็คือ ลมหายใจไม่มี หากจะมีปัญหาสอดเข้ามาว่า เมื่อลมหายใจไม่มี ไฉนจึงไม่ตาย เพราะคนเราอยู่ได้ด้วยลมหายใจมิใช่หรือ

พึงเฉลยว่า ลมหายใจไม่ระบายเข้าออกได้เฉพาะแต่ทางจมูกอย่างเดียว ย่อมระบายเข้าออกได้ทั่วไป แม้ชั้นแต่ขุมขนทุกขุมขนก็ระบายเข้าออกได้ พึงเห็นท่านผู้อบรมใจให้ละเอียดจนปล่อยวางอุปาทานในรูปได้แล้ว ท่านผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธเป็นตัวอย่าง ซึ่งสัญญาและเวทนาได้ดับหมด แม้ลมหายใจก็ไม่มีตั้ง ๗ วันก็อยู่ได้ เรายังทำไม่ถึงตรงนั้น ไม่ควรจะเอามติของเราไปวัด

อำนาจการละกิเลสของสมาธิ
สมาธิเป็นมรรคละกิเลสที่เป็นของปุถุชน ทำคนให้เป็นพระอริยเจ้าได้ตามภูมิของมรรคนั้นๆ มรรคมี ๔ คือ

๑. ปฐมมรรค ละกิเลสได้ ๓ คือ
- สักกายทิฏฐิ ความเห็นเป็นเหตุถือตน โดยถือรั้นในกายก้อนนี้ว่าเป็นสาระจริงจัง มิได้ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นด้วยไตรลักษณญาณ
- วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในคุณพระรัตนตรัย อันเป็นเหตุให้ถือพระศาสนาไม่สนิท ถือด้วยศรัทธาคลอนแคลน
- สีลัพพตปรามาส ลูบคลำการรักษาศีลและข้อวัตร คือ รักษาศีลและประพฤติวัตรด้วยอาศัยเหตุอย่างอื่น ไม่เป็นอริยกันตศีล อริยกันตวัตร

๒. มรรคที่สอง ละกิเลสได้ ๓ เหมือนปฐมมรรค และทำ ราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม โทสะ ความที่จิตคิดประทุษร้าย และโมหะ ความหลงงมงายปราศจากเหตุผล ให้เบาบางลง

๓. มรรคที่สาม ละกิเลสที่เป็นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ได้ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาศ กามราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม และ ปฏิฆะ ความหงุดหงิดด้วยอำนาจโทสะ

๔. มรรคที่สี่ ละกิเลสที่เป็นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ นั้น และละกิเลสที่เป็นสังโยชน์เบื้องสูง ๕ ได้เด็ดขาด ซึ่งสังโยชน์เบื้องสูงนั้น คือ รูปราคะ ความติดใจในรูปธรรม อรูปราคะ ความติดใจในอรูปธรรม มานะ ความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ อุทธัจจะ ความคิดฟุ้งซ่านไปในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ อวิชชา ความหลงเป็นเหตุให้ไม่รู้จริงในอริยสัจ ๔

ฌานและสมาธิมีที่สุดต่างกัน
ฌานมีภวังค์เป็นที่สุด สมาธิมีสมาธิเป็นที่สุด ภวังค์มี ๓ คือ ภวังคบาต ภวังคจลนะ และ ภวังคุปัจเฉทะ

อาการที่จิตตกเข้าสู่ภวังค์ มีลักษณะวูบวาบหรือแวบเดียวแล้วถอนออกมาเรียก ภวังคบาต

อาการที่จิตไหวตัวตกเข้าสู่ภวังค์แล้วไม่ยอมออกมารับอารมณ์ภายนอก แต่เสวยอารมณ์อยู่ภายในใจเอง ซึ่งมีอาการคล้ายๆกับอารมณ์ภายนอก ต่างแต่มีรสชาติพิเศษกว่า หรือที่จิตกำลังจะปล่อยวางอารมณ์รวมเข้าเป็นภวังคุปัจเฉทะ แต่ยังไม่สนิทพอที่จะวางได้ ก็เรียกว่า ภวังคจลนะ

อาการที่จิตตัดอารมณ์ทั้งภายในและภายนอกขาดหมด รวมเข้าเป็นก้อนเดียว ไม่มีอาการแตกแยกแม้แต่นิดเดียว เรียกว่า ภวังคุปัจเฉทะ

ภวังค์เป็นชื่อภพของจิต เมื่อจิตมาถือปฏิสนธิในกายนี้ และกายนี้ยังมีอยู่ จิตที่ถูกอบรมให้ละถอนอุปาทานได้แล้ว ก็จะเข้าไปรวมเป็นภวังค์ตั้งอยู่ในภูมิของตนโดยเฉพาะ ถ้ากายนี้แตกดับ อาศัยไม่ได้แล้ว จิตดวงนั้นก็จะเป็นภพของตนเอง ไม่ต้องรับสัมผัสที่เกี่ยวเนื่องด้วยกายประสาท เมื่อจิตเดินอยู่ในภวังค์ทั้งสามนี้ เรียกว่า จิตเดินในสายของตน

ส่วนอรูปฌาน ๔ จิตได้เข้าถึงภวังคุปัจเฉทะแล้วโดยประการทั้งปวง ยึดเอาอรูปธรรมเป็นอารมณ์ สำหรับภูมิของฌานนี้ ไม่มีปัญญาพอจะยกไตรลักษณะขึ้นพิจารณาให้เห็นชัดแจ้งในอริยสัจ ๔ ได้ จึงไม่เป็นทางที่จะให้สิ้นภพสิ้นชาติได้

สมาธิมี ๓ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ

อาการที่ทำสมาธิจิตมีสติรวมเข้าไปตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว แต่รวมชั่วครู่ชั่วขณะวับๆแวบๆ แล้วหายไป จนจับอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ เรียก ขณิกสมาธิ

อาการที่จิตจวนจะรวมเข้าสู่อัปปนา ซึ่งรวมเข้าไปถึงกับตัดอารมณ์ขาดทีเดียว จะรวมแหล่มิรวมแหล่ แต่ไม่ฟุ้งซ่านออกไปภายนอก ยึดเอาอารมณ์มาเป็นอุปาทานเครื่องถือมั่น เรียกว่า อุปจารสมาธิ

อาการที่จิตรวมเข้าสนิทสนม ตัดอารมณ์ทั้งปวงขาดสิ้น และถอนสละออกจากอุปาทาน แล้วเข้ารวมกำลังสติ สมาธิและปัญญาให้มีกำลังสมบูรณ์ผ่องใส สว่างแจ่มจ้าอยู่โดยลำพังดวงเดียว ไม่เกาะเกี่ยวด้วยอุปาทานใดๆ เรียกว่า อัปปนาสมาธิ

จิตที่ถอนออกมาจากอัปปนาแล้วมาเพ่งพิจารณาธรรมอยู่ ไม่ถึงกับถอนออกไปเป็นขณิกะหรือฟุ้งซ่าน ก็เรียกว่า อุปจารสมาธิ เหมือนที่เรียกว่าอุปจาระถอนออกมาจากอัปปนา เบื้องต้นเรียกว่าอุปจาระเข้าถึงอัปปนา

ฌานและสมาธิเป็นปัจจัยแก่กันและกัน
ฌานกับสมาธิต่างเป็นปัจจัยสนับสนุนให้กำลังแก่กันและกันไปในตัว บางครั้งจิตเข้าฌาน (คือภวังค์) ขาดจากอารมณ์ภายนอกที่หยาบๆ เพ่งอยู่เฉพาะแต่ในอารมณ์ของฌานพอประมาณ แล้วออกมามีสติพิจารณาอารมณ์ของฌานหรืออารมณ์อื่นๆ ทำให้สติกล้าพิจารณาไตรลักษณะชัดเจนขึ้นกว่าเดิม จิตจะเข้าสมาธิได้รวดเร็วและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น บางครั้งจิตเข้าถึงสมาธิ มีสติ มีปัญญาผ่องใส เบิกบาน ดำเนินอยู่ในไตรลักษณญาณตามวิถี

ถ้าสติอ่อน ปัญญาก็ซบเซาลง สมาธิก็ซึม แล้วจิตจะเข้าฌาน (ภวังค์) เงียบไป หรือไม่ก็น้อมไปหาความสุขของฌาน (คือเอกัคคตารมณ์) แล้วเสวยสุขอยู่

สรุปแล้ว ฌานและสมาธิของผู้ฝึกหัดยังไม่ชำนาญย่อมผลัดเปลี่ยนกันเกิดขึ้นในอารมณ์กรรมฐานอันเดียวกันหรือต่างกันก็ได้ จะห้ามมิให้เกิดเป็นเช่นนั้นหาได้ไม่ แม้ผู้ได้ฝึกหัดให้ชำนาญแล้ว ก็จำจะอยู่ด้วยวิหารธรรมอันนั้น หรือนำมาใช้ในบางกรณี เว้นแต่ผู้ที่ติดอยู่ในฌานโดยส่วนเดียว จึงจะไม่ยอมออกและเปลี่ยนไปรับเสวยอารมณ์อื่น

(ส่วนหนึ่งจากหนังสือ “โมกขุบายวิธี”)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 175 กรกฎาคม 2558 โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (เทสก์ เทสรังสี) วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย)

กำลังโหลดความคิดเห็น