xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : แยก “ฌาน” และ “สมาธิ” ให้ต่างกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลักษณะที่จิตเข้าสงบจดจ่ออยู่ในจุดใดจุดหนึ่งในกาย เป็นเอกัคคตารมณ์อยู่ในเฉพาะจุดเดียว เรียกว่า “สมถะ”

อันจิตของคนเรานี้ย่อมมีอารมณ์มาก เที่ยวไปตามอารมณ์ต่างๆ ไม่อยู่คงที่ จิตของผู้ไม่ได้อบรมสมถะจะไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่รู้รสของความสุขที่เกิดแต่ความสงบ

สมถะนี้ไม่เกิดเฉพาะแก่ผู้ฝึกหัดสมถะเท่านั้น แต่เกิดแก่คนทั่วไปก็ได้ในบางกรณี พึงเห็นเช่นเมื่อเราได้ประสบอารมณ์อะไรเข้า ซึ่งพอจะกระตุ้นเตือนใจที่กำลังฟุ้งซ่าน ให้หดตัวเข้ามาจดจ่ออยู่ในอารมณ์เดียว มีได้เห็นคนตายเป็นตัวอย่าง ซึ่งถ้าไม่มีความกลัวแล้ว จิตในขณะนั้นจะเลิกถอนจากอารมณ์ต่างๆ ที่กำลังคิดสอดส่ายอยู่นั้น เข้ามารวมอยู่ในเรื่องตายอันเดียวด้วยความงงงัน แล้วจะน้อมเข้ามาหาตน ปลงธรรมสังเวชสงบอยู่ นี่คือสมถะที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ

ส่วนสมถะที่เกิดขึ้นด้วยการฝึกหัด หมายถึงการปรารภกรรมฐานบทใดบทหนึ่งเป็นอารมณ์ จนจิตได้เข้าประสบกับอารมณ์ของกรรมฐานนั้นๆ และนำให้จิตรู้สึกนึกคิดพิศวงงงงันอยู่ในอารมณ์อันเดียว มีอุปมาเหมือนคนเดินทาง ขณะเมื่อสะดุดก้อนหินหรือท่อนไม้ ถึงกับแตกเจ็บปวดเป็นกำลัง จิตก็จะถอนจากความเพลิน และสอดส่ายไปในอารมณ์อื่น กลับเข้ามารวมจดจ่ออยู่ที่ความเจ็บปวดเท่านั้น

รวมความว่า ลักษณะที่จิตถอนจากอารมณ์ภายนอก เข้ามารวมเป็นเอกัคคตาอยู่ภายในจุดเดียว จะโดยบังเอิญก็ดี โดยฝึกหัดให้เกิดขึ้นก็ดี เรียกว่า “สมถะ”

แยก ฌาน และ สมาธิ ให้ต่างกัน
สมถะเป็นได้ทั้งฌานและสมาธิ อารมณ์ของฌานและสมาธิเหมือนกัน การฝึกเบื้องต้นก็เหมือนกัน แต่การละต่างกัน การเข้าถึงภูมิของตนก็ผิดกัน แต่ขณะเดียวกัน ต่างสนับสนุนเป็นทุนให้กำลังแก่กันและกันไปในตัว เรื่องนี้ผู้เข้าถึงแล้วจะรู้แจ้งได้ด้วยตนเอง

จะขอนำท่านผู้สนใจ เข้าไปพิสูจน์ตามมติและหลักฐานเป็นเครื่องอ้าง เพื่อท่านจะได้พิจารณาเลือกถือเป็นหลักปฏิบัติต่อไป

“ฌาน” ได้แก่ การเพ่ง และเพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว จะเป็นกสิณหรืออะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่ข้อสำคัญจะต้องให้จิตจับจ้องอยู่ในเฉพาะอารมณ์อันนั้นเป็นใช้ได้

เบื้องต้นจะต้องตั้งสติควบคุมจิต ให้แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างแน่นแฟ้น เมื่อจิตถอนออกจากอารมณ์อื่นมารวมอยู่ในอารมณ์อันเดียว เรียกว่า “เอกัคคตารมณ์” เสวยความสุขอันไม่เคยได้รับมาแต่ก่อน จิตก็จะยินดีและน้อมเข้าไปสู่เอกัคคตารมณ์อย่างยิ่ง เรียกว่าเพ่งเอาความสุขอันเกิดจากเอกัคคตารมณ์ เป็นอารมณ์ของฌานต่อไป จนเป็นเหตุให้เผลอตัวลืมสติ ไปยึดมั่นเอาเอกัคคตา ว่าเป็นของบริสุทธิ์และดีเลิศ จิตตอนนี้จะรวมวูบเข้าภวังค์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆกับเผลอสติ หรือลืมสติไปเสียเลยอยู่พักหนึ่ง แล้วจึงรู้สึกตัวขึ้นมา

แต่ผู้ที่เคยเป็นบ่อยและชำนาญแล้ว จะมีลักษณะเช่นนั้นเหมือนกันแต่เป็นไม่แรง และนิมิตหรือความรู้อะไรจะเกิดก็มักเกิดในระยะนี้

เมื่อนิมิตและความรู้เกิดขึ้นแล้ว จิตที่อยู่ในเอกัคคตานั้น จะวิ่งตามไปอย่างง่ายดาย เพราะจิตที่อยู่ในเอกัคคตารมณ์เป็นของเบาและไวต่ออารมณ์มาก ที่เรียกว่าจิตส่งในเป็นภัยต่อผู้เจริญฌานอย่างยิ่ง บางทีอาจทำให้เสียผู้เสียคนไปก็มี

ฌานมีเอกัคคตารมณ์เป็นเครื่องวัดในที่สุด แต่ไม่มีปัญญาจะพิจารณาสังขาร ให้เห็นเป็นพระไตรลักษณญาณได้ กิเลสของผู้ได้ฌานก็คือ มานะแข็งกระด้าง ทิฐิถือรั้นเอาความเห็นของตัวว่าเป็นถูกทั้งหมด คนอื่นสู้ไม่ได้ เรื่องนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความแน่วแน่ของฌานหรือทิฐินิสัยเดิมของแต่ละบุคคลอีกด้วย ผู้ที่ผ่านเรื่องนั้นมาด้วยกันแล้วหรือมีจิตใจสูงกว่าเท่านั้น จึงจะแก้และแสดงให้เขาเห็นจริงตามได้ ถ้าแก้ไม่ตกก็เสียคนไปเลย

ปฐมฌาน มีองค์ ๕ คือ “วิตก” ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ หรือกำหนดยึดเอาอารมณ์มาไว้กับจิต หรือเอาจิตไปตั้งไว้กับอารมณ์ของกรรมฐานที่ตนเจริญอยู่นั้น จนแนบสนิทติดเป็นอันเดียวกัน “วิจาร” ค้นคว้าตริตรองอยู่ในอารมณ์นั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นวิจารอยู่ในอสุภเป็นต้น “ปีติ” เมื่อจิตเห็นชัดในอารมณ์นั้นแล้วก็เกิดปีติ “สุข” เมื่อเกิดปีติแล้วก็เกิดสุข และ “เอกัคคตา” เมื่อจิตมีสุขแล้วก็แช่มชื่น มีอารมณ์เป็นเอกัคคตาแน่วแน่อยู่ในสุขนั้น

ทุติยฌาน มีองค์ ๓ ด้วยอาศัยปฐมฌานเป็นรากฐานหนักแน่นอยู่แล้ว กิจอันจะต้องใช้วิตก วิจาร ไม่มี จึงยังเหลืออยู่แต่ ปีติ สุข เอกัคคตา (พึงเข้าใจว่า ถ้าไม่ได้ปฐมฌานเป็นรากก่อนแล้ว จะก้าวขึ้นสู่ทุติยฌานไม่ได้เด็ดขาด)

ตติยฌาน มีองค์ ๒ เพราะอาศัยฌานทั้งสองเบื้องต้น ขัดเกลาฟอกจิตให้ค่อยละเอียดโดยลำดับ จนปีติหมดไป ไม่ต้องการใช้ จึงยังคงเหลืออยู่แต่สุขกับเอกัคคตา

จตุตถฌาน มีองค์ ๒ จิตในตอนนี้ละเอียดมาก การเพ่งในรูปกรรมฐานยึดรูปเป็นอารมณ์ ซึ่งรูปนั้นเกือบจะไม่ปรากฏ ถึงจะเพ่งรูปเป็นอารมณ์จนจิตเป็นเอกัคคตาอยู่ในรูปนั้นแล้วก็ตาม แต่ด้วยอำนาจความละเอียดของรูปกรรมฐาน จิตก็ยังปล่อยวางไม่ได้ ต้องเข้าไปตั้งอุเบกขาอยู่ในรูปกรรมฐานนั้นอีกอาการหนึ่ง ซึ่งจัดว่าเป็นความยึดถืออันละเอียดในรูป จตุตถฌานจึงยังเหลือองค์ ๑ คือ เอกัคคตา และเพิ่มอุเบกขาซึ่งเป็นองค์พิเศษเข้าอีก ๑ จึงมีองค์ ๒ เมื่อรวมแล้วรูปฌาน ๔ นี้ มีองค์ ๖ ส่วนอรูปฌานจะไม่กล่าวในที่นี้ เพราะรูปฌานก็เป็นบาทให้เดินมรรคเข้าถึงโลกุตตระได้แล้ว

อำนาจการละของฌาน
ฌานละกิเลสที่เป็นวิสัยของกามาพจรได้ ๕ คือ
กามฉันทะ ความพอใจในกามคุณ ๕
พยาบาท ความปองร้ายคนอื่น
ถีนมิทธะ ความง่วงงุนซบเซาหาวนอน อันเกิดแต่จิตใจไม่ปลอดโปร่ง ไม่มีเครื่องอยู่
อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านของใจที่สอดส่ายไปในอารมณ์ภายนอกจนเป็นเหตุให้รำคาญ
วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจในคุณของพระรัตนตรัย

เมื่อพูดให้ตรงตามความเป็นจริงแล้วไม่น่าเรียกว่าละได้ ควรเรียกว่าสงบอยู่ได้ด้วยอำนาจแห่งฌาน ท่านอุปมาเหมือนศิลาทับหญ้า เพราะเมื่อฌานเสื่อมแล้ว กิเลสทั้ง ๕ ก็จะเข้ามาประจำที่เช่นเคย และองค์ฌานทั้งหมดนี้ก็อยู่ในภูมิแห่งโลกิยะด้วย

ตัวฌานแท้คือภวังค์
ภวังค์ เกิดขึ้นในขณะที่จิตเข้าถึงฌาน มีอยู่ ๓ คือ
ภวังคบาต จิตรวมเข้าสู่ภวังค์ขณะแวบเดียว แล้วถอนออกมาเสีย
ภวังคจลนะ จิตที่ไหวตัวเข้าไปรวมเป็นภวังค์ แล้วไม่ยอมออกมารับอารมณ์ภายนอก เสวยอารมณ์อยู่ภายในใจเอง ซึ่งมีอาการคล้ายๆกับอารมณ์ภายนอก ต่างแต่มีรสชาติที่พิเศษกว่า หรือจิตที่กำลังจะปล่อยวางรวมเข้าเป็นภวังคุปัจเฉทะ แต่ยังไม่สนิทพอจะวางได้ ก็เรียกว่าภวังคจลนะเหมือนกัน

ภวังคุปัจเฉทะ จิตที่รวมเข้าเป็นก้อนเดียวไม่มีอาการแตกแยกแม้แต่นิดเดียว ถ้าจะพูดอีกนัยหนึ่งว่า ในขณะที่จิตยังอาศัยกายอยู่ แต่แยกภพออกจากกาย ไปตั้งอิสระอยู่ตามลำพังผู้เดียว แล้วเสวยอารมณ์ตามลำพังของตนเองอยู่ต่างหาก

(ส่วนหนึ่งจากหนังสือ “โมกขุบายวิธี”)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 174 มิถุนายน 2558 โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (เทสก์ เทสรังสี) วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย)

กำลังโหลดความคิดเห็น