xs
xsm
sm
md
lg

“ภาษีบาป” เงินสีดำ ที่ถูกทำให้เป็นสีขาว?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ลองถามตัวเองว่าที่เลิกเพราะเหตุใด หรือใคร?
บนโลกที่ไม่มีดำ-ขาว อย่างชัดเจน เราล้วนต่างอยู่ในสังคมที่เป็นสีเทา แน่นอนว่า เหล้า-บุหรี่ เป็นอบายมุข ที่ทำร้ายร่างกาย หากในแง่หนึ่งแล้วเราก็ยอมรับการมีอยู่ของมันในสังคม และกำหนดให้มันเป็นสิ่งเสพติดที่ถูกกฎหมาย ทั้งเรียกเก็บภาษีจากมันในอัตราที่สูง แล้วใช้คำเรียกว่า “ภาษีบาป” (sin tax) โดยภายหลังเกิดกระแสกลุ่มหนุน สสส.-ไทยพีบีเอส จัดเคมเปญล่าชื่อผ่านเว็บ Change.org ต้าน กมธ.ยกร่าง รธน. “ล้มภาษีบาป” จนสำเร็จ กลายเป็นสิ่งที่สังคมตั้งคำถาม กับอีกแง่หนึ่งของการใช้เงินที่ได้จากภาษีบาปนี้ กระทั่งประธานบอร์ด สสส. ยินดีเพิ่มตรวจสอบการใช้งบให้เข้มข้นขึ้น ในวันที่ สสส. มีอายุครบ 13 ปี กับคำถามที่ว่า ทำไมคนสูบบุหรี่-ดื่มเหล้าลดลง แต่รายได้จากภาษีบาปกลับเพิ่มขึ้น?

นักดื่มนักสูบลดลง แต่รายได้จากภาษีบาปเพิ่มขึ้น?
หลังเกิดคำถามจากสังคมถึงประเด็นของเงินภาษีบาป ที่ สสส. ได้รับเงินอุดหนุนจากภาษีเหล้าบุหรี่ปีละ 2% ที่ตกเป็นเงินหลายพันล้านต่อปี ถูกใช้จ่ายอย่างไม่เห็นรูปธรรมนัก ผลการรณรงค์ของ สสส. ที่ผ่านมา ทำให้คนรุ่นใหม่หันออกจากอบายมุขเหล่านี้ได้มากแค่ไหน ล่าสุดหลังได้ข้อสรุปที่จะคงภาษีบาปไว้เพื่อสนับสนุน สสส. ต่อไป ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า สสส. เป็นหน่วยงานที่รัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อรณรงค์ให้คนลด ละ เลิก บุหรี่และสุรา โดยที่ผ่านมา สสส. เปิดเผยว่าได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงนักวิชาการ ทำให้แนวโน้มในช่วงปี 2534-2554การดื่มสุราและยาสูบลดลงจาก 12.26 ล้านคน ในช่วงปี 2534 (ร้อยละ 32 ของประชากร) ลดเหลือ 11.40 ล้านคน ในปี 25554 (ร้อยละ 20.70 ของประชากรทั้งประเทศ) หรือหากนับตั้งแต่ก่อตั้ง สสส. จนถึงปัจจุบัน (2544-2557) อัตราการสูบบุหรี่ลดลงจากเดิมถึงร้อยละ 22 พร้อมระบุว่า แนวโน้มของการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงในช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมา (2550-2557) จาก 1.54 แสนล้านบาท เหลือเพียง 1.39 แสนล้านบาท

หากกับคำถามที่สังคมสงสัยว่า หากอัตราการสูบบุหรี่และการดื่มสุรานั้นลดน้อยลง รายได้ของ สสส. จากภาษีบาปนั้นก็ควรจะลดลงด้วยมิใช่หรือ? เพราะจากข้อมูลนั้นระบุว่า สสส. ในปีนี้ได้งบอุดหนุนเยอะกว่าบางกรม คือกว่า 4,000 ล้านบาท ทั้งงบประชาสัมพันธ์ก็ใช้ไปมากถึง 250 ล้านบาท ทั้งตลอด 13 ปีที่ผ่านมา มีเพียง 2 ปีเท่านั้น ที่เงินอุดหนุนที่ สสส. ได้รับจาก “ภาษีบาป” (2544-2557) น้อยกว่าปีก่อนหน้านั้น โดยในปี 2557 สสส. เปิดเผยว่ามีเงินบำรุงกองทุนจากภาษีบาป 4,064 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากแรกก่อตั้ง ในปี 2544 ที่ได้เงินจากภาษีบาป 1,526 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นกว่า 266% ! รวมระหว่างปี 2545-2557 สสส. ได้รับเงินอุดหนุนจากภาษีบาปรวมกัน 35,484 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามใน 2 ปีดังกล่าว คือในปี 2549 ซึ่งปีนั้นมีการปรับเพิ่มอัตราภาษียาสูบเป็น 79% และในปี 2552 ที่มีการขึ้นภาษีเบียร์จาก 55% เป็น 60% ทำให้การบริโภคเบียร์ลดลง จนเก็บภาษีเบียร์ได้น้อยกว่าปีก่อนถึงกว่า 4 พันล้านบาท หากในปีที่เหลือแล้ว สสส. ล้วนได้รับเงินบำรุงกองทุนจากภาษีเหล่านี้มากขึ้นในทุกปี?
6 บริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ของโลก มีกำไรรวมกันกว่า  35 พันล้านยูเอสดอลลาร์ (USD) หรือใกล้เคียงกับกำไรของบริษัท Coca-Cola, Microsoft และ McDonald’s รวมกัน
เกี่ยวกับประเด็นนี้ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการกองทุน สสส. ได้ออกมาชี้แจงว่า “เกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว จะขอตอบเป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรก ก่อนจัดตั้ง สสส. กราฟการเพิ่มขึ้นของการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ มันชันและชัดเจนมาก โดยตั้งแต่ปี 2502-2544 มีตัวเลขเพิ่มขึ้น 33 เท่า ใน 43 ปี แต่ภายหลังที่ สสส. เกิดขึ้น ยกตัวอย่างตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ข้อมูลหลายด้านแสดงว่าการบริโภคบุหรี่ สุรา ลดลง ในรายงานของเราก็สะท้อนข้อมูลนี้อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีที่จัดเก็บก็มีความแตกต่างสูง เช่น ไวน์ต่างประเทศ เบียร์ เหล้าขาว เงินภาษีที่เก็บได้ ไม่สะท้อนว่าคุณบริโภคสูงขึ้นจากอะไรชัดเจน เช่น ใน 10 ปีที่ผ่านมา การบริโภคเหล้าขาวของคนไทยลดลงประมาณ 1.7% ทุกปี ขณะที่ดื่มเบียร์ วิสกี้ เพิ่มขึ้น สมัยนี้ในตู้เย็นมีเบียร์เป็นปกติมาก กลุ่มเบียร์ วิสกี้ อัตราภาษีสูงกว่าภาษีสุราทั้งหมด บอกไม่ได้ว่ามาจากประเภทไหนบ้าง บางทีโดยเฉพาะแนวโน้มที่ผมว่า ถึงจะดื่มเท่าเดิม แต่เปลี่ยนประเภทดื่ม ภาษีที่เก็บได้ก็สูงขึ้นกว่าเดิมอยู่แล้ว รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทย เพราะแน่นอนว่านักท่องเที่ยวจะไม่ใช่ชีวิตตามปกติ จะหาความบันเทิง ยิ่งมาจากวัฒนธรรมการดื่มสูง การบริโภคกลุ่มนี้ไม่น้อย เม็ดเงินภาษีรวมกลุ่มนี้ด้วย ดังนั้น ไม่มีประเทศไหนใช้เม็ดเงินภาษีมาบอกว่าการบริโภคเหล้า บุหรี่สูงหรือต่ำ

นอกจากนี้แล้ว ดร.สุปรีดา ยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า เหตุที่ทั้งโลกไม่ใช่เม็ดเงินภาษีเป็นตัวสะท้อนการบริโภคทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม ในระยะสั้นๆ อัตราภาษีไม่ค่อยเปลี่ยนบ่อย แต่จะมีการปรับภาษีขึ้นตามทิศทางที่องค์การอนามัยโลกแนะนำประเทศส่วนใหญ่ให้ปรับอัตราภาษีขึ้น หากมองยาวอัตราภาษีกระทบแน่ เช่น บุหรี่ ภาษีขึ้นจากประมาณ 55% ในปี 2534 ปัจจุบัน 87% ต่างกันเกือบๆ เท่าตัว”
 
“เวลามองภาษี ต้องไม่ลืมว่าประชากรค่อยๆ เพิ่มปีละเกือบล้านคน ดังนั้น เม็ดเงินภาษีที่เอามาชี้วัดคนสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ย่อมไม่เที่ยงตรง ส่วนที่มีความเป็นห่วงกันว่า เมื่อมีการจัดสรรเงินภาษีให้แก่หน่วยงานพิเศษที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการงบประมาณแล้ว จะขาดระบบตรวจสอบและมีการใช้เงินงบประมาณไปในทางที่ไม่เหมาะสมนั้น ในความเป็นจริงแล้วทุกองค์กรมีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวดไม่ต่างจากหน่วยราชการทั่วไป หรือบางครั้งอาจจะดูว่ามีความเข้มงวดมากกว่าหน่วยราชการด้วยซ้ำไป เพียงแต่กระบวนการอนุมัติและใช้จ่ายงบประมาณมีความคล่องตัวกว่าหน่วยราชการมากนัก จึงทำให้มีความคล่องตัวในการทำงานมากกว่า”
ในประเทศเสรีอย่างอเมริกา ไม่มีข้อห้ามในการผลิตสุราและเบียร์ในครัวเรือน เพราะมองว่าจะกระตุ้นให้คนจำนวนมากหันมาต้มสุราเถื่อนขาย
"ภาษีบาป" ในมุมมองคนเคยบาป
สิ่งหนึ่งที่สังคมตั้งคำถามว่า สสส. รับเงินจากภาษีบาป แต่กับรณรงค์เรื่องเหล้า บุหรี่ นั้นมีความย้อนแยงในตัวเองหรือไม่ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ได้ตอบและยกตัวอย่างถึงกลุ่มคนที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ไว้อย่างน่าสนใจ “มันเป็นบทบาทหน้าที่ของเราที่จะต้องทำ โดยไม่เกี่ยวกับว่าแหล่งเงินสนับสนุนนั้นจะมาจากไหน จะบอกว่าเรากลัวรายได้ลด เราจึงทำงานไม่เต็มที่หรือเปล่า คงไม่เกี่ยวกัน” และเมื่อฟังเสียงสะท้อนจากผู้คนหลากฝ่ายหลายกลุ่มที่ออกมาแสดงความคิดเห็นภายหลังจากประเด็น “ภาษีบาป” ถูกหยิบยกขึ้นมาเราก็อาจเห็นอีกมุมหนึ่งในด้านดี โดยนายอัครพงษ์ บุญมี อดีตเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก ได้เล่าถึงทัศนะผ่านประสบการณ์ของตนเองว่า

“เงินจากภาษีบาปที่เรียกกันนี้ สสส.สามารถนำมาช่วยเปิดพื้นที่พัฒนาเด็กที่ก้าวพลาดและเยาวชนกลุ่มต่างๆในทางสร้างสรรค์ ยื่นมือเข้ามาช่วยทำให้คนกลุ่มนี้ได้คืนกลับสู่สังคมอย่างภาคภูมิใจ อย่างตนเป็นคนหนึ่งที่ได้รับโอกาสจากบ้านกาญฯ และ สสส.ที่สนับสนุนให้เราได้ทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ พัฒนาศักยภาพตัวเอง จนทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น สุดท้ายก็กลับมาตอบแทนสังคม ชักชวนเยาวชนมาร่วมกันทำงานรณรงค์ลดละเลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งในประเทศไทยมีหน่วยงานน้อยมากที่ทำงานในลักษณะนี้ เนื่องจากงบประมาณจำกัดและเป็นระบบราชการ”

ส่วนนายสุทิน กรีโรจนี คนขับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ย่านพระประแดง จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส.มีโครงการดีๆ เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานมากมาย เช่น โครงการลดละเลิกเหล้าในโรงงาน สร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง และตนเป็นหนึ่งคนที่ผ่านจุดเลวร้ายที่สุดนั้นมาได้ เคยตกเป็นทาสสุรามาก่อน ชีวิตช่วงนั้นย่ำแย่ตกงานมีปัญหาสุขภาพ เงินไม่เหลือเก็บหนี้สินล้นพ้น ครอบครัวล้มสลาย แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการทำให้ชีวิตดีขึ้น สุขภาพกลับมาแข็งแรง และได้หันมาทำงานตอบแทนสังคมด้วยการเป็นบุคคลต้นแบบเลิกเหล้า หากเป็นไปได้ก็อยากให้สสส.ต่อยอดโครงการและทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เพราะยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ต้องการการเข้าถึงโครงการดีๆแบบนี้ และฝากถึงรัฐบาลว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานยังต้องการโอกาส ต้องการการยอมรับจากสังคม อย่างไรก็ตาม เรายังไม่เห็นกองทุนไหนอยู่ใกล้ชิดกับชาวบ้านได้เท่ากองทุน สสส. เลย

ด้าน นายสุรนาถ แป้นประเสริฐ แกนนำเครือข่ายเกสรชุมชน บางกอกน้อย กรุงเทพฯ ได้ให้ความเห็นว่า “ในนามเยาวชนที่ทำงานรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในชุมชน มองว่าเงินจากภาษีบาป หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับ สสส.เกรงว่าจะกระทบกับการทำงาน เพราะกิจกรรมรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงในชุมชนจำเป็นต้องใช้งบประมาณ และทำอย่างต่อเนื่อง เพราะชุมชนสามารถเข้าถึงงบประมาณตรงนี้ได้ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ กิจกรรมที่ทำอยู่คือการพัฒนาศักยภาพเยาวชนจากที่เคยเป็นกลุ่มเสี่ยงให้กลับคืนสู่สังคมได้ เช่นเดียวกับตนเองที่จากแต่ก่อนเคยยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเสพย์ติด สุรา บุหรี่ แต่ตอนนี้สามารถเลิกได้อย่างเด็ดขาดและหันมาทำงานเพื่อสังคม เป็นแกนนำรณรงค์ต่อต้านอบายมุขในชุมชนได้อย่างภาคภูมิใจ

“สสส.มีแนวคิดหนักแน่นชัดเจน เป็นกองทุนที่เข้าถึงได้ง่ายและมีประโยชน์กับชุมชน ทำให้ชุมชนตื่นตัว ตระหนัก ห่างไกลจากอบายมุข เด็กๆ ได้รับการเสริมสร้างสุขภาพมีภูมิคุ้นกันมากขึ้น สามารถต่อยอดสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนอย่างเห็นได้ชัด จึงขอฝากความหวังกับผู้ที่เกี่ยวข้อง วอนขอโอกาสให้คนที่อยากทำงานได้เข้าถึงกองทุนนี้อย่างต่อเนื่องด้วย ส่วนคนที่อยู่เบื้องหลังที่พยายามจะยกเลิกภาษีบาป ควรหยุดพฤติกรรมดังกล่าว ที่ทำลายความเข้มแข็งของประชาชน แต่สมประโยชน์กับนายทุนสินค้าที่ทำลายสุขภาพ รัฐบาลต้องไม่หลงทิศหลงทาง หลังจากนี้หากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่มีความชัดเจน เยาวชนจำเป็นต้องแสดงจุดยืนทวงถามความคืบหน้า เพื่อต่อสู้และคืนผลประโยชน์ให้กับชาวชุมชนต่อไป” นายสุรนาถ กล่าว

ภาษีบาป-ภาษีบุญ ใครกำหนด?
หากมองประเด็นที่ว่าภาษีบาป คือภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้าประเภทที่ทำร้ายสุขภาพ แล้วกับคำถามที่ว่ามีเพียงเหล้าบุหรี่เท่านั้นหรือ? แน่นอนว่ามีรายงานทางการแพทย์ที่ยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่า การดื่มสุราหรือสูบบุหรี่จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากมาย แต่ทั้งนี้ย่อมไม่ได้ความว่าคนที่เป็นโรคดังกล่าวทั้งหมดจะต้องสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้า เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย

เช่นเดียวกับในต่างประเทศ ตัวอย่างเช่นในฝรั่งเศส จะมีการใช้ภาษีอีกตัวที่เรียกว่า Taxe soda ซึ่งเป็นภาษีที่เก็บจากเครื่องดื่มผสมน้ำตาล เช่น น้ำอัดลม หรือน้ำผลไม้บางประเภท และทำให้ราคาเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นถึง 35% ! เพื่อลดอัตราการดื่ม กับมุมมองที่ว่าเครื่องดื่มดังกล่าวมีส่วนทำให้ประชาชนในประเทศเกิดโรคอ้วน (โรคอ้วนมีแนวโน้มสูงขึ้นในฝรั่งเศส) โดยคาดกันว่าประชากร 20% จะเป็นโรคอ้วนในปี 2020 และค่าใช้จ่ายต่อปีที่เกี่ยวกับโรคอ้วนนั้นจะสูงถึง 2.59พันล้านยูโร
การมองว่าสิ่งใดควรจัดเป็นภาษีบาป จึงอาจเริ่มจากการกำหนดว่าสินค้าไหนส่งผลเสียต่อสังคม ซึ่งการกำหนดนั้นต้องผ่านกระบวนการเห็นชอบทางสังคมและควรมีหลักฐานและความเกี่ยวข้องเพื่อยืนยันว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อสังคมจริงๆ และสินค้าที่จะเก็บภาษีบาปจึงไม่ควรจำกัดแค่บุหรี่หรือเหล้าเท่านั้น

ปัจจุบันภาษีสุราและบุหรี่ของไทยนั้นเก็บอยู่ที่เกือบเต็มเพดานหรือกว่า 87 % จนไม่สามารถจัดเก็บได้อีก อย่างไรก็ตาม หากเรามองความจริงอีกด้านว่าอุตสาหกรรมบุหรี่นั้นเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีผลต่อเศรษฐกิจ โดยจากข้อมูลพบว่ารายได้ของ 6 บริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมบุหรี่โลก รวมกันเท่ากับ 346.2 พันล้านยูเอสดอลลาร์ (USD ) คิดเป็นกำไร 35.1 พันล้านยูเอสดอลลาร์ (USD) หรือใกล้เคียงกับกำไรของบริษัท Coca-Cola, Microsoft และ McDonald’s รวมกัน!
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของแรงงาน ใบยาสูบที่ได้จากการปลูกไร่ใบยาสูบก่อให้เกิดการจ้างงานมหาศาล ซึ่งไร่เหล่านี้ต้องอาศัยคนดูแลจำนวนมาก เช่น ในสหรัฐอเมริกาอุตสาหกรรมบุหรี่เป็นผู้จ้างงานถึง 662,400 อัตรา และคาดการณ์ว่าทั่วโลกอุตสาหกรรมบุหรี่มีการจ้างงานไม่น้อยกว่า 100 ล้านตำแหน่ง ส่งผลให้การล้มอุตสาหกรรมเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับสุรา ด้วยความง่ายในการผลิต และสามารถทำได้ในครัวเรือน ในประเทศเสรีอย่างอเมริกา จึงไม่มีข้อห้ามในการผลิตและจำหน่าย เพราะจะกระตุ้นให้คนจำนวนมากหันมาต้มสุราเถื่อนขาย เพื่อตอบสนองความต้องการของนักดื่ม ทั้งการห้ามกลับจะทำให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นและมีการผลิตสุราเถื่อนมากขึ้น เพราะมีความคุ้มค่าต่อความเสี่ยงที่จะฝ่าฝืน อย่างไรก็ตามสิ่งที่หลายฝ่ายมองคือการกำหนดอัตราภาษีให้พอเหมาะ เพราะจากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่าการเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำนั้นส่งผลต่อการลดปริมาณการซื้อได้ไม่มาก เช่นเดียวกับการกำหนดภาษีในอัตราที่สูงก็เป็นการกีดกันผู้มีรายได้น้อยออกจากตลาด ที่ส่งผลให้เกิดการซื้อขายในตลาดมืด ทั้งกับสิ่งที่ผู้คนในประเทศตะวันตกตั้งคำถามว่า คนรวยเท่านั้นหรือที่มีสิทธิคลายเครียดด้วยการสูบบุหรี่หรือกินเหล้ามีราคาตามผับบาร์ได้ แล้วคนจนล่ะ ไม่มีสิทธินี้หรือก็อาจสวนทางกับสิ่งที่ สสส. และสังคมคิด

“เราประกาศบ่อยๆ ว่า ถ้าเราทำงานได้ผล จนต้องปิดกองทุน สสส. เราจะฉลองความสำเร็จ และ สสส. ก็คงไม่มีคนเดือดร้อนมาก เพราะมีพนักงานอยู่ทั้งหมดแค่ 100 กว่าคน เป็นหน่วยงานเล็กๆ อยู่แล้ว” ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ กล่าวทิ้งท้าย

หากเรามองว่าเหล้าบุหรี่เป็น "ภาษีบาป" ในทางกลับกัน “ภาษีบุญ” จากวัดต่างๆ ที่มีมากมาย ทั้งบางวัดที่ขายบุญสำเร็จรูปจนรวยล้นไม่ต่างจากการทำธุรกิจ ก็เป็นสิ่งที่น่าคิดว่าเราควรจัดเก็บหรือไม่ เพราะในโลกที่ไม่มีขาวดำชัดเจนนั้น ใช่หรือไม่ว่า สิ่งที่เราเรียกว่า “บุญ” นั้น บางทีก็อาจมีที่มาจากเงินที่เราเรียกว่าบาปได้เช่นกัน?

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live




รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น