xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.ชงบอร์ด ศธ.ขอเพิ่มงบอุดหนุนรายหัว รวม 4.9 หมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจาก www.legendnews.net
สพฐ.ชงบอร์ด ศธ.ขอเพิ่มงบอุดหนุนรายหัว รวม 4.9 หมื่นล้านบาท หลังเงินรายหัวไม่ได้ปรับมานาน 5 ปีและภาวะเศรษฐกิจที่ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น คาดแนวโน้มทำ 2 ลักษณะ คือค่าใช้จ่ายประจำและรายหัว ซึ่งบอร์ด มอบ สพฐ.ไปตั้งคณะทำงานศึกษา ขณะที่ ศธ.เล็งเลิกเก็บค่าบำรุงการศึกษาเด็กยากจน

วันนี้ (12 มิ.ย.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มีพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ว่า ในการประชุมสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เสนอขอให้พิจารณาปรับเพิ่มเงินอุดหนุนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องจากเงินอุดหนุนรายหัวและค่าใช้จ่ายที่ได้รับเวลานี้ไม่เพียงพอและไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ขณะที่เงินอุดหนุนรายหัวไม่ได้รับการปรับมานานถึง 5 ปี ดังนั้น สพฐ.จึงขอปรับเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10% ของทุกรายการ ได้แก่ เงินอุดหนุนรายหัว เงินอุดหนุนเรียนฟรี เงินอุดหนุนสำหรับเด็กยากจน เงินอุดหนุนสำหรับเด็กเรียนพักนอน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง และเห็นว่าหากจะมีการปรับเงินอุดหนุนรายหัวแล้ว ก็ควรจะปรับทั้งระบบไม่ใช่เฉพาะระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น ประกอบกับรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้รัฐจัดการศึกษาภาคบังคับให้ประชาชนโดยไม่มีการเก็บ ค่าใช้จ่าย และจะมีการใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะมีขึ้น

ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา โดยมีสพฐ.เป็นประธาน พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สกอ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ผู้ตรวจราชการศธ. มาเป็นผู้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเงินอุดหนุนรายหัว และงบประมาณที่ใช้ในการจัดการศึกษา ขณะเดียวกันยังเห็นว่าน่าจะถึงเวลาที่ต้องปรับปรุงระบบการเงินการคลังในการ จัดการศึกษาไปในคราวเดียวกัน ซึ่งทราบว่าในสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ก็มีการหารือในเรื่องนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม แนวคิดเบื้องต้นอาจจะต้องมีการปรับ เงินอุดหนุน ออกเป็น 2 ลักษณะคือ ค่าใช้จ่ายประจำ กับค่าใช้จ่ายรายหัว มากกว่าที่จะเป็นเฉพาะค่าใช้จ่ายรายหัวเพียงอย่างเดียว เพราะบางเรื่องมีค่าใช้จ่ายประจำ ซึ่งต้องอุดหนุนเพิ่มให้โรงเรียนอยู่ได้ด้วย ไม่อย่างนั้นโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลางที่มีนักเรียนน้อย ได้งบประมาณน้อยก็ไม่สามารถพัฒนาได้

“มีข้อเสนอให้ทบทวนการเก็บค่าบำรุงการศึกษาพิเศษ อาทิ ค่าเรียนว่ายนำ เรียนภาษาต่างประเทศ ดนตรี เป็นต้น ที่ออกตามระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการเก็บเงินบำรุงการศึกษา พ.ศ.2534 ในส่วนที่เป็นการเก็บพิเศษนอกเหนือจากการจัดหลักสูตรตามปกติ อาทิ ว่ายน้ำ ดนตรี ภาษา ซึ่งที่ผ่านมามีข้อโต้แย้งในสังคมพอสมควรว่าไม่น่าจะเก็บได้ โดยเฉพาะผู้ยากไร้ที่ไม่ควรต้องเสียค่าบำรุงเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความเสมอภาค โดยที่ต่อไปอาจจะเก็บเฉพาะคนที่มีฐานะดี ส่วนคนที่มีฐานะยากจน ก็ควรจะถูกยกเว้นการเก็บค่าบำรุงเหล่านั้น ทั้งนี้ ในส่วนของนโยบายรัฐบาลที่เข้ามาอุดหนุนการจัดการศึกษาจะเหมือนกันหมด คือมีค่าใช้จ่ายรายหัว ค่าอาหารกลางวัน และถ้าเป็นเด็กยากจนจะมีค่ารายหัวพิเศษอยู่แล้ว ตรงนี้เป็นข้อเสนอที่คณะทำงานจะต้องไปศึกษาวิเคราะห์หาแนวทางความเป็นไปได้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในอัก 2-3 เดือนข้างหน้า ก่อนไปรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยเชิญสำนักงานประมาณ และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้ามาร่วมประชุมด้วยเพื่อจะปรับอัตราดังกล่าวให้เพียงพอต่อการจัดการศึกษา ที่มีคุณภาพในอนาคต ขณะเดียวกันตนยังได้เสนอที่ ประชุมด้วยว่าถ้ามีการเพิ่มงบประมาณตรงส่วนนี้ ก็ควรปรับลดงบประมาณตรงส่วนอื่น เพราะศธ.ได้รับงบสูงมากอยู่แล้ว”รศ.นพ.กำจร กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับงบอุดหนุนที่ สพฐ. เสนอขอปรับเพิ่มนั้น จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มอีกประมาณ 9,316 บ้านบาทต่อปี สำหรับทุกรายการ รวมใช้เงินอุดหนุนต่อปีประมาณ 49,625 ล้านบาท
 
 
 
ติดตาม  Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


 
กำลังโหลดความคิดเห็น