xs
xsm
sm
md
lg

แกะปมปัญหา "บ้านครูน้อย" ผิดที่ใจดีจนมีหนี้สิน!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ ณ สถานเลี้ยงเด็ก "บ้านครูน้อย" ยังคงสร้างความยุ่งยากไม่จบไม่สิ้น ทั้งหนี้สินที่สะสมมานานจากเงินกู้นอกระบบ ปัญหางบค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ แม้ในปี 2553 "พล.ต.อ.พงศพัศ" ได้เข้าไปช่วยเคลียร์หนี้ให้นับล้าน ทว่าปัญหาซ้ำซากยังกลับมาอีก ตามด้วยคำถามเดิมๆ ถึงการบริหารจัดการเรื่องเงินที่ยังขาดวินัยในการใช้จ่าย รวมไปถึงความใจดีที่หลายคนกังวลว่า สิ่งที่ครูน้อยทำ เป็นการรักเด็กอย่างถูกทางหรือไม่

เปิดวิบากกรรม "ครูน้อย"

"ครูน้อย" หรือ นวลน้อย ทิมกุล ชื่อนี้หลายคนรู้จักกันดี เพราะเป็นผู้ก่อตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กบ้านครูน้อยขึ้นมาในปี 2523 เพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีฐานะยากจน เด็กที่พ่อแม่ต้องโทษจำคุก และเด็กเร่ร่อน ให้มีโอกาสทางการศึกษา และมีสิทธิที่จะรับการศึกษาภาคบังคับเท่าเทียมกับเด็กอื่นๆ แม้เด็กกลุ่มหนึ่งจะกลับไปพักที่บ้านของตนในเวลากลางคืน แต่ก็ยังมีเด็กอีกจำนวนไม่น้อยพักอาศัยที่บ้านครูน้อย และที่บ้านเช่า ซึ่งครูน้อยรับภาระค่าเช่าบ้าน เพื่อให้เด็กๆ ได้มีที่นอนอย่างปลอดภัย


กระทั่งในปี 2553 ครูน้อยประสบกับภาวะวิกฤตทางการเงินอย่างหนัก หลังจากไปกู้เงินนอกระบบมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูเด็กๆในบ้าน ทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้กว่า 20 ราย เป็นจำนวนเงินกว่า 5 หมื่นบาทต่อวัน ส่งผลให้มีหนี้สินพุ่งสูงถึง 8 ล้านบาท


ด้วยภาระอันหนักอึ้ง พระเอกขี่ม้าขาวอย่าง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในสมัยที่เป็นโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เข้ามาช่วยเจรจากับเจ้าหนี้ของครูน้อย พร้อมกับจัดระดมเงินบริจาคจากประชาชน จนสามารถปลดหนี้ได้สำเร็จ ประกอบกับมี ครูหยุย-วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ผู้ใหญ่ที่ทำงานด้านเด็กเข้ามาช่วยทำความโปร่งใสในเรื่องการรับและใช้จ่ายเงินของครูน้อยให้เป็นระบบ เพื่อประคับประคองให้ครูน้อยและทีมงานทำงานต่อไปได้ รวมไปถึงสร้างความเชื่อมั่นให้สังคมต่อการทำงานขององค์กรต่างๆ ว่ายังมีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อสังคม


ผ่านไป 5 ปี ปัญหาเดิมๆ กลับมาฉายภาพซ้ำอีก คราวนี้ประกาศปิด "บ้านครูน้อย" ที่ตัวเองดูแลเด็กมา 35 ปี เพราะปัญหาหนี้สินทั้งในและนอกระบบ โดยเหตุผลในการกู้หนี้ยืมสิน ครูน้อยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อฉบับหนึ่ง "เพราะไม่มีเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน" บวกกับข่าวที่ถูกมองว่านำเงินบริจาคไปใช้ส่วนตัว ทำให้ยอดเงินบริจาคในแต่ละวันลดจำนวนลง และไม่เพียงพอต่อรายจ่าย


นอกจากนี้ เธอแจกแจงให้ฟังว่า ปัจจุบันมีเงินช่วยเหลืออยู่ที่ 70,000-80,000 บาทต่อเดือน แต่รายจ่ายสูงถึง 200,000 บาทต่อเดือน มีทั้งค่าขนมให้เด็กไปโรงเรียนวันละ 3,500 บาท เบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ 8 คนวันละ 2,000 บาท ค่ากับข้าว 3 มื้อ 1,000 บาท ยังไม่รวมค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าแก๊ส และค่าจิปาถะอื่นๆ ปัจจุบันมีหนี้สินเกือบล้านบาท มีบ้านที่ติดจำนองธนาคาร เนื้อที่ 177 ตารางวา กว่า 2 ล้านบาท แถมยังมีหลายโรครุมเร้า


การช่วยเหลือครั้งสุดท้าย


เสียงร้องของครูน้อย และเด็กๆ ดังไปถึง พล.ต.อ.พงศพัศ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและคณะอีกครั้ง ด้วยความที่ไม่อยากให้บ้านครูน้อยต้องปิดตัวลง รอง ผบ.ตร. จึงประกาศช่วยปลดหนี้และสานต่อเจตนารมณ์ในการอุปการะเด็กยากไร้


ด้านแนวทางความช่วยเหลือ รอง ผบ.ตร.บอกว่า จะให้ครูน้อยเรียกเจ้าหนี้ที่เคยกู้ยืมกันเข้ามาพูดคุย โดยจะสอบถามว่าจ่ายคืนไปแล้วอย่างไรบ้าง จากนั้นจะปรึกษากับ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.เพื่อระดมทุนทรัพย์จากผู้มีจิตศรัทธาและพรรคพวกเพื่อนฝูงเข้ามาจัดการให้ ส่วนทางครูน้อยจะต้องให้คำมั่นสัญญาว่า หลังจากนี้จะรับเลี้ยงเด็กๆ อย่างมีเหตุผล เอาเท่าที่พอรับผิดชอบได้ จากที่เคยจ่ายให้เท่าไรอาจต้องลดจำนวนเงินลงเพื่อความอยู่รอดของตัวครูเอง


นอกจากนี้ จะเรียกผู้ปกครองของเด็กๆ ในความรับผิดชอบเข้ามาพูดคุยด้วย ครอบครัวไหนพอจะดูแลกันเองได้ก็ให้ช่วยกันก่อน ไม่ใช่จะมาให้ครูน้อยช่วยเพียงอย่างเดียว ซึ่งครูน้อยก็รับปากกับตนแล้วว่าจะไม่ไปหากู้เงินนอกระบบมาเลี้ยงเด็กๆ อีก


ด้าน "ครูน้อย" หากปลดหนี้ได้หมด เธอรับปากว่าจะไม่กู้หนี้สินนอกระบบมาอีก ทั้งที่จริงแล้วก็เกรงใจเจ้าหนี้ เนื่องจากแต่ละรายทราบปัญหาดีและส่วนใหญ่ก็ทนไม่ได้ ต้องให้ความช่วยเหลือมาเพราะตนติดต่อไปขอร้องหยิบยืมเงินมาเลี้ยงเด็กๆ ซึ่งที่ผ่านมา ต้องโกหกลูกๆ ว่า ไม่มีปัญหาอะไร แต่ลูกๆ ก็รับรู้มาตลอดว่าแม่ต้องกู้หนี้ยืมสินมาทำแบบนี้ โดยเขียนจดหมายมาขอร้องให้หยุด แต่มันหยุดไม่ได้ หากสิ้นเดือนนี้สถานรับเลี้ยงเด็กยากจนบ้านครูน้อยไม่ปิดตัวลงก็คิดไว้แล้วว่าจะรับอุปการะเด็กๆ ได้อีกไม่เกิน 3 ปี เพราะร่างกายเริ่มไม่ไหวแล้ว


ส่วนกระแสข่าวที่ว่า "ครูน้อย" นำเงินไปใช้เพื่อการส่วนตัวนั้น เจ้าตัวยืนยันว่า ไม่เป็นจริง เช่นเดียวกับข่าวลือเรื่องไปซื้อที่ดิน เธอยินดีให้ไปตรวจสอบที่ดินเพื่อความสบายใจแก่ทุกฝ่าย


ใจดีไม่ผิด ผิดที่ใจดีจนเป็นหนี้


"...ยอมรับว่าเป็นคนใจอ่อน ใครเดือดร้อนมาก็ช่วยทุกคนทั้งค่ากินค่าอยู่ ค่ารักษาพยาบาล บางครอบครัวพ่อแม่เจ็บป่วย ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน ครูก็ช่วยหมด" ครูน้อยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อฉบับหนึ่ง สะท้อนให้เห็นถึงอุปนิสัยที่เป็นคนใจอ่อน ขี้สงสาร



แม้ก่อนหน้านี้ ทางด้าน ครูหยุย-วัลลภ ตังคณานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เข้าไปช่วยจัดระบบบัญชีรายรับรายจ่ายให้ และทางครูน้อยก็ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำทุกอย่าง แต่ก็ยังไม่สามารถตัดใจช่วยเหลือคนทุกข์ยากนอกบัญชีได้ ตอนนั้นจึงคิดจะนำคบเพลิงที่ระลึกจากการวิ่งโอลิมปิกปี 2008 ไปขายให้ร้านค้าของเก่า ติดต่อกันแล้วว่าอยากได้เงินเกิน 100,000 บาทขึ้นไป เพื่อนำไว้ใช้ช่วยเหลือคนทุกข์ยากตามที่ใจต้องการ


ด้วยอุปนิสัยเหล่านี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดหนี้สินจำนวนมาก เพราะเกิดจากความผิดพลาดในเรื่องของการบริหารจัดการ รวมถึงการตามใจเด็กที่หลายๆ คนมองว่า สิ่งที่ครูน้อยทำ เป็นการรักเด็กอย่างถูกทางหรือไม่ หรือกรณีเด็กที่โตแล้ว ทำไมไม่ช่วยแบ่งเบาภาระ หรือเพราะต้องการสบายไม่อยากทำงาน หรือเพราะต้องการแบ่งเบาภาระทางบ้านโดยการมาเป็นภาระให้กับครูน้อยหรือไม่


ด้าน "ครูหยุย" ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็กเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้วยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ฝากด้วยความเป็นห่วง หลังมีคนเข้าไปช่วยเคลียร์หนี้เพื่อให้เปิดบ้านต่อไปว่า การทำสถานสงเคราะห์ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดๆ ก็ตาม ควรจะต้องมีระบบบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการเงินจะต้องมีวินัยในการใช้จ่าย ยกตัวอย่างมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กที่ตนดูแลอยู่ การเบิกจ่ายจะต้องมีผู้ได้รับมอบอำนาจ โดยเฉพาะการรับบริจาคเงินจะต้องออกใบเสร็จทุกครั้ง มีการตรวจสอบบัญชีงบดุลทุกปีอย่างเป็นระบบ


สุดท้ายนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธพื้นฐานการเป็นคนดี อยากช่วยเด็กๆ ของครูน้อย แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักก็คือ ความใจดีทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ไหวจนต้องไปกู้หนี้ยืมสิน นอกจากจะเป็นทุกข์แก่ตัวเองแล้ว ยังเป็นทุกข์แก่คนในครอบครัว โดยเฉพาะลูกๆ ที่คงไม่มีลูกคนไหนอยากเห็นแม่ตัวเองต้องมาแบกรับภาระอันหนักหน่วงของชีวิตแบบนี้...


ข่าวโดยASTV ผู้จัดการLive




รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น