xs
xsm
sm
md
lg

“คนรู” ผู้เป็นต้นแบบ -พีรธร เสนีย์วงศ์- กับ “ร้านศูนย์บาท” ชีวิตใหม่ของคนไร้บ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากลูกหลานพงษ์พันธุ์สกุลดัง สู่ชีวิต “คนรู” เร่ร่อนกินนอนใต้สะพาน ฝากความอยู่รอดไว้กับการหาอยู่หากินไปวันๆ กระทั่งถึงจุดเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ กับการก่อเกิดของ “ร้านค้าศูนย์บาท” ที่ไม่เพียงมอบชีวิตใหม่ให้แก่คนไร้บ้านจำนวนมาก หากยังกลายเป็นกรณีศึกษาที่แม้แต่มหาวิทยาลัยดังๆ รวมทั้งองค์กรทางสังคมทั้งในและต่างประเทศต้องมาศึกษาเรียนรู้ นั่นยังไม่นับรวมรางวัลอีกมากมายที่มอบให้โดยหน่วยงานต่างๆ
.........................................................................................................................................................................

เงิน เงิน เงิน...ไม่ว่าเราจะไปยังแห่งหนตำบลไหน ในโลกปัจจุบัน ย่อมต้องมีมันติดตัวไปด้วยเสมอ “เงิน” คือพระเจ้า เป็นคำกล่าวที่ได้ยินแทบทุกหนแห่ง แต่นั่นอาจจะไม่ใช่สำหรับสถานที่แห่งนี้ “ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่” ที่ใช้เพียง ขวด กระป๋อง เศษถุงพลาสติก และขยะอีกสารพัด ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตั้งแต่เกิดจนตายไปอีกโลก

ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปีจนถึงปัจจุบัน จุดหมายปลายทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จบลงที่ตรงไหน ไม่มีใครรู้ เพราะมันอาจะขึ้นอยู่กับการสานต่อเจตนารมณ์ของคนรุ่นต่อไป แต่ที่แน่ๆ เรารู้ว่า มันคือจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่นำไปสู่เรื่องราวที่น่าเอาเป็นแบบอย่าง
จากเรื่องที่ใครหลายคนมองว่า “บ้า” ในวันนั้น
กลับกลายเป็นเรื่อง “ดีๆ” ในวันนี้
จากชายผู้บุกเบิกแผ้วถาง ต่อสู้จนสำเร็จ
“พีรธร เสนีย์วงศ์”

จากชีวิตคน “รู”
สู่คนมีบ้าน

"เราไม่คุยถึงเรื่องความดีนะ แต่เราจะคุยถึงเรื่องพรุ่งนี้ มะรืนนี้ก่อน ว่าเราจะกินอะไร"
ชายรูปร่างกำยำสันทัด ผิวคล้ำเข้มเพราะแสงแดดจากการกรำชีวิตมายาวนาน กล่าวเริ่มต้นสนทนาถึงจุดหมายทางความคิดที่ก่อกำเนิดให้เกิดเป็น "ศูนย์คัดแยกวัสดุรีไซเคิลกลุ่มอาชีพซาเล้ง" “ร้านศูนย์บาท” "สวนผักคนเมือง" "ธนาคารคนจน" แห่งชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ที่ไม่ต้องใช้เงินใช้สตางค์สักแดงเดียว

"ที่ต้องบอกอย่างนี้ เพราะเราต้องเข้าใจว่า ก่อนที่จะมาเป็นที่นี่ ก่อนที่จะมาเป็นคนรู เป็นคนใต้สะพาน ผมเป็นคนบ้านนอกจนๆ คนหนึ่ง ที่ต่อสู้ชีวิตเพื่อปากท้อง เราโดนสังคมทำร้ายกันเยอะ

"ดังนั้น ถ้าเราคิดถึงว่าต้องทำความดีก่อน มันเป็นเรื่องไกลตัว เราเลยต้องคิดให้มันตอบโจทย์ตัวเราเองให้ได้ก่อน แล้วถ้ามันสามารถไปตอบโจทย์สังคม ก็อีกเรื่องหนึ่ง"

เมื่อ "ความจน" เป็นเหตุผลข้อแรกๆ ที่ทำให้ต้องผลักชีวิตก้าวไปข้างหน้า จากอดีตเด็กบ้านนอกไกลปืนเที่ยง มีที่อยู่ไม่เป็นหลักเป็นแหล่ง ต้องอาศัยตามป่า มีตัวตนยืนยันสถานะคนไทยด้วยบัตรประชาชนตอนอายุเกือบ 20 พ่อแม่แยกทางกัน ราชสกุล ณ อยุธยา ถูกตัดสายสัมพันธ์ด้วยเหตุผลคนรุ่นก่อน ต้องดิ้นรนต่อสู้สารพัดกว่าชีวิตจะมีวันนี้ได้

"เกี่ยวกับนามสกุลผม” ชายวัยกลางคน เว้นวรรคเล็กน้อย
“พ่อผมเป็นคนกรุงเทพฯ นามสกุล “เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา” แล้วตอนหลัง พ่อผมเป็นทหารเรือ สมัยกบฏแมนฮัตตัน พอแพ้แล้วพ่อผมก็หนีไปใต้ ไปเจอกับแม่ผม แล้วเขาบอกว่าตระกูลนี้ เขาบอกว่าพ่อเป็นคนเกเร แล้วเขาไม่ให้ใช้เลย ณ อยุธยา ฝั่งพ่อ ญาติๆ แต่ผมไม่เคยรู้จักคนเหล่านั้นเลยนะ เขาก็ไม่ให้ผมใช้นามสกุลนั้นตั้งแต่เกิดมา ผมก็ใช้เสนีย์วงศ์เฉยๆ เสนีย์วงศ์ ณ คลองแสนแสบ (หัวเราะ)

"แล้วก็เชื่อไหมครับ พ่อหนีไปตลอดหนีๆ เข้าป่าตลอด กับแม่ จนสุดท้ายผมกับพี่น้องผม 9 คน ไม่มีใครทำบัตรประชาชนเลย ผมไปอ้อนวอนพ่อ แต่บอกเท่าไหร่พ่อก็ไม่ยอมไปแจ้งให้ จนสุดท้ายพ่อทนรบเร้าไม่ไหว ยอมมา พวกเราทั้ง 9 คน ก็เลยมีบัตรประชาชน มีทะเบียนบ้านครบหมดเลย ตอนหลังผมถามพ่อทำไมไม่ไปหาเขาล่ะ พ่อบอก “กูไปหามัน อายมัน"”

"ทำไมต้องอาย เราก็ถาม... เขาก็บอกว่าทั้งรุ่นได้ดีกันหมด มีพ่อคนเดียว เป็นศักดิ์ศรีไง" หนุ่มใหญ่ลากเสียงเน้นย้ำคำลงท้าย ซึ่งทำให้รู้ว่า “เขา” ไม่มีนิยามคำจำกัดความนั้นแบกไว้บนบ่า

"ผมไม่รู้จักมัน ผมไม่รู้นะ ผมรู้สึกว่าศักดิ์ศรีมันกินไม่ได้ มันไม่ใช่ผม นอกจากกินไม่ได้ ศักดิ์ศรีมันมีเหมือนกัน ทำให้คนเย่อหยิ่ง จองหอง แต่เมื่อไหร่ที่คุณไม่มีศักดิ์ศรีผมว่าดีนะ ดีมากเลย ศักดิ์ศรี ศักดินา แบ่งชนชั้น เยอะไปหมดเลย ผมว่ามันต้องสิทธิเท่าเทียมกัน แล้วถ้าคนเราอยู่ด้วยการไม่มีศักดิ์ศรี อยู่โดยอาศัยเกื้อกูลกัน มันยิ่งกว่าศักดิ์ศรีที่มีอยู่ด้วยซ้ำ คือไปๆ มาๆ มันจะมีค่ามากกว่า แต่ว่าถ้าคนเหล่านี้ยังไปยึด ก็ปล่อยเขาไป"

"ผมมาเจอพ่อตอนอายุเกือบ 20 ปีด้วยซ้ำ พอได้ทำบัตรประชาชนแล้วต่างคนก็ต่างอยู่ พ่อก็ส่วนพ่อ ผมก็อยู่ส่วนผม พอพ่อแยกทางกัน ผมกับพี่ชายก็ไปอยู่กับแม่ คือตั้งแต่จำความได้ แม่ก็พาผมไปเรื่อย จนมีพ่อใหม่ อยู่จังหวัดระนองบ้าง อยู่ชุมพรบ้าง ผมเองก็ดิ้นรนไปเรื่อย เก็บตะปูบ้าง หาถุง เก็บขยะบ้าง ตอนเด็กๆ

"แล้วโตขึ้นหน่อยก็ออกเรือ ไปทะเล เป็นจับกัง สารพัดอย่าง เรียนที่นั่น 2 เดือน ที่นั่น 3 เดือน ชีวิตแบบสุดๆ คือได้เห็นรูปแบบตัวเองลำบากที่สุด เป็นกรรมกรก็เป็น จนสุดท้าย ก็ไปทหารเกณฑ์ พอเป็นเสร็จแล้วเราไม่อยากกลับบ้าน"

ไม่ใช่เพราะความเกเร หรือเพราะหลงติดแสงสีของเมืองหลวง แต่ด้วยความที่มองย้อนกลับไปยังเส้นทางกลับบ้าน อนาคตช่างเลือนรางแสงสว่าง จึงเลือกแสวงหวังความสำเร็จอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยการเป็น รปภ.เฝ้ารักษาความปลอดภัย เพราะเหตุผลที่ว่า เรื่องที่อยู่อาศัยมีให้เสร็จเรียบร้อย

"กลับบ้านไป ก็เป็นอย่างนั้น ตอนแรกกะว่าจะสมัครทหารต่อหลังจากปลด แต่ด้วยความรู้เราไม่มี เขาก็คงไม่เอา ก็เลยไปเป็นยาม เป็นยามเสร็จแล้วผมมาเจอกับแฟน พอมีแฟนก็เช่าบ้านเขาอยู่ เพราะถ้ามีครอบครัว เขาไม่มีที่พักให้ เราต้องเช่าบ้านอยู่ ตอนนั้นค่าเช่าเดือนละเป็นพัน

"ทีนี้แฟนเราก็ไม่มีรายได้ ก็มีเพื่อนคนหนึ่งชวนไปอยู่ใต้สะพาน ก็เลยไปอยู่ใต้สะพาน บ้านก็ไม่ต้องเช่า ซื้อแต่ข้าว จ่ายค่าน้ำค่าไฟ เท่านั้นเอง ก็ดีนิ ผมก็เลยไปอยู่มักกะสัน สะพานข้ามมักกะสัน ผมก็อยู่ใต้สะพานนั้นได้ 10 ปี ก่อนที่เขาจะมาไล่เรา"

พีรธร เปรยความรู้สึกในช่วงนั้นว่า “มืดแปดด้าน” ทั้งงานหลัก รปภ.และงานเสริมด้วยการขับวินมอเตอร์ไซค์ เลี้ยงปากท้องครอบครัว ค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัยยิ่งไม่ต้องพูดถึง วินาทีที่โดนไล่เขาจึงทำได้เพียงอย่างเดียวคือ ย้ายไปอีกสะพาน อีกสะพาน...จนไม่มีที่ไปในที่สุด

"จริงๆ ในใจเราก็อยากจะถามนะ ทำไมประเทศที่มึงมาไม่มีคนจนหรือไงวะ อารมณ์นั้นล่ะนะ แต่ก็ไม่กล้าถาม" เขาว่า
"คือช่วงปี 2536-37 รัฐบาลไล่ เพราะว่าช่วงนั้นเขามีประชุมระดับชาติ ใหญ่โต แล้วต้องวิ่งรถผ่าน เขาก็ไม่อยากให้เห็นไง พอไม่อยากให้เห็น สุดท้ายเป็นอย่างไร เขาก็มาปิด เขาก็มาไล่ผมจากสะพาน ไล่ทั่วกรุงเทพฯ คนใต้สะพานทั้งหมด 3 พันกว่าครอบครัว ตอนนั้นผมอยู่ใต้สะพานมักกะสัน ผมโดนไล่จากสะพานนี้ ผมก็ไปอยู่อีกสะพานหนึ่ง แล้วก็ไปอีกสะพาน"

"ผมไม่รู้จะทำอย่างไร ถามว่าช่วงนั้นใครจนที่สุดในประเทศไทย พวกใต้สะพานจนที่สุดแล้วนะ คนที่อยู่ใต้สะพาน สะพานที่รถวิ่ง ก็เลยย้ายไปอยู่อีกสะพานไง ไล่สะพานนี้ไปอยู่อีกสะพานหนึ่ง" แม้ใบหน้าประธานหนุ่มใหญ่ดูจะติดรอยยิ้มที่มุมปาก แต่เมื่อนึกย้อนถึงวันเวลาที่ถูกไล่ นอกจากจะเสียศูนย์ และเต็มไปความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจของภาครัฐ เมื่อมีผู้อาสาเข้ามาช่วยเหลือ ก็ยิ่งทำให้เกิดความหวาดระแวง

"ตอนนั้นพอมีปัญหา พี่สุวิทย์ วัดหนู มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยเขามาหา มาหา ไม่ใช่ว่ามาแล้วเจอ (หัวเราะ) ผมก็ไม่ค่อยกล้านะ แรกๆ ก็คิด เขาเป็นภาครัฐหรือเปล่า มาล่าเราหรือเปล่า เขาก็บอกมาคุยกันก่อน แต่เราไม่ไว้ใจใครแล้วตอนนั้น เราบอกไม่ไว้ใจใคร"

"แต่พอได้คุยกัน แกมาสอนวิธีการคิด มาให้ความรู้ พูดคุย นั่นจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงจับกลุ่ม จากมดเล็กๆ กลุ่มคนใต้สะพานหนึ่งสะพานบ้าง ใต้สะพานสอง สะพานสามบ้าง ร่วมกับพี่น้องสมัชชาคนจน เรียกร้องที่อยู่อาศัย เพราะเราก็เป็นกรณีที่มีปัญหา"

แต่ทว่า แม้จะรวมกลุ่มเรียกร้อง แต่ก็ไม่ใช่กลุ่มใหญ่หรือมีความสำคัญเพียงพอที่ภาครัฐจะรับฟังดำเนินการแก้ปัญหาในทันที พีรธรวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ได้รับในสิ่งที่เรียกร้องว่า

"มันเหมือนเก้าอี้สองตัว ต่างคนต่างนั่งเข้าหากัน ผมเจรจากับเขา สมมติผมเรียกร้อง 10 ข้อ ผมก็ต้องลองนั่งในตำแหน่งเขา ในมุมมองของเขา คือเราต้องพยายามเป็นตัวเขาบ้าง เป็นตัวเราบ้าง สุดท้ายเราจะได้คำตอบ ไม่ใช่เจราจา 10 ข้อ เราจะได้หมด ไม่ใช่ แล้วอีกอย่างทุกคนไม่ว่าใคร จะไปยืนด่าหน่วยงานภาครัฐ เราเป็นเขา เราก็ไม่ชอบเหมือนกัน มายืนด่าเราโครมๆ เราต้องมีเหตุมีผลและข้อมูล สามสิ่งนี้ต้องมีให้ได้ คุณจะชนะคนอื่นต้องสามสิ่งนี้ ไม่ใช่การยืนด่าแล้วจะแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่"

"เราก็สู้ด้วยเหตุด้วยผลว่าเราก็พร้อมที่จะไม่อยู่นะ ผมก็ไม่อยากอยู่ใต้สะพานหรอก โดยหลัก เราเองก็อยากจะไปอยู่ที่ดีๆ มีที่ไปเราก็พร้อมที่จะไป จนสุดท้ายคือรัฐบาลยอม จัดสรรงบประมาณมาให้ 160 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาคนใต้สะพานทั่วกรุงเทพมหานคร"

แม้จะเป็นไปตามข้อเรียกร้อง แต่ท้ายที่สุด การเริ่มต้นในเส้นทางนี้ก็ไม่สวยหรูอย่างที่ตั้งใจ เพราะเมื่อภาครัฐจัดสรรงบประมาณซื้อที่ดินทั้งหมดให้กับ 3,000 กว่าครอบครัวในพื้นที่เดียว โดยไม่คาดถึงปัญหาความพร้อมของการโยกย้ายเปลี่ยนแหล่งที่อยู่ ความสมัครใจ ชีวิตพื้นถิ่นของคนเคยนอนหมอนมุ้งใต้สะพานอันคุ้นชิน นี่ยังไม่นับว่าห่างไกลจากแหล่งทำมาหากิน

"คือรัฐเขาไม่ได้คิดถึงตรงนี้ เมื่อมีงบประมาณปุ๊บ เขาก็ไปซื้อที่ให้เรา มันเป็นแบบนี้สูตรสำเร็จของเขา แต่มันไม่ได้แก้ปัญหาให้หมด

"จริงๆ แล้วเราคิดไกลกว่านั้น เราบอกว่าคุณมาซื้อที่เดียวตั้ง 3,000 กว่าครอบครัว มันไม่ใช่ มันจะไปอยู่กันอย่างไร สุดท้ายไปอยู่แล้วก็ต้องกลับมาบุกรุกต่อ มันก็เป็นภาระให้รัฐบาล ภาระภาษีของทุกคน ถ้าอย่างนั้นขอเป็นกรณีแรกได้ไหม ปลูกบ้านตามใจผู้อยู่"

โดย “โซน 1” คนรูหรือคนใต้สะพานฝั่งธนถูกจัดอยู่ที่ประชาอุทิศ 76 “โซน 2-3” มักกะสัน นานาเหนือ รามคำแหง 1 และ 2 อยู่ที่อ่อนนุช 14 ไร่ “โซน 4” เส้นรังสิตทั้งหมดอยู่ที่เขตสายไหม

"เขาก็โอเคนะ เขาก็รับ" พีรธรสรุปสั้นๆ
และการโยกย้ายในครั้งนั้น ไม่ใช่แค่เพียงหลังคาหรือข้างฝาบ้าน แต่มันนำมาซึ่งความคิดจากชีวิตที่ไม่เคยคิดอะไรเป็นเป้าหมาย จุดเริ่มต้นใหม่ก็เกิดขึ้น...

คิดต่างไม่ใช่ว่า “บ้า”
“ขยะ” ไม่ได้มีค่าแค่ใช้แล้วทิ้ง

แม้แนวความคิดจะเริ่มค่อยๆ ปรากฏฉายชีวิตเป็นรูปเป็นร่างและยังทอดยาวไปสู่การเริ่มต้นใหม่ที่ดี แต่กระนั้นก็ไม่ได้ราบเรียบ สำหรับการที่จะรวมกันอยู่กว่าเกือบสองร้อยหลังคาเรือน

"พอเสร็จเรื่อง ย้ายมาอยู่ที่นี่กัน ต้องเข้าใจว่า ร้อยพ่อพันแม่ เราไม่ได้รู้จักกันทั้งหมด 1,000 กว่าคน 160 กว่าหลังคาเรือนที่มาอยู่ ทีนี้ปัญหาที่ตามมาคือ 3 ปีแรก อย่างกับรัฐเทกซัสในหนังคาวบอย"

"ทะเลาะเบาะแว้ง ตีกัน ฆ่ากันตาย แล้วยาเสพติดยั้วเยี้ยไปหมด" ประธานหนุ่มเล่าขยายความ "คือไม่ต้องไปคิดพัฒนาเลย 3 ปีแรก ไม่ต้องไปสนใจเลย ผมก็ยังไม่ได้คิดพัฒนาเลย ขนาดหน่วยงานยังไม่กล้าเข้าไป ชุมชนใกล้เคียง ไม่อยากผ่านทั้งนั้น"

พื้นที่ว่างเปล่าอันเป็นที่ตั้งของทั้งร้านค้า “ศูนย์บาท” “สวนผักคนเมือง” และ “ธนาคารคนจน” ปัจจุบันนี้ อาจจะยังคงถูกสุมกองด้วยขยะ ถ้ากลุ่มคนใต้สะพานที่ประกอบอาชีพซาเล้งไม่เข้ามาในพื้นที่

"พอกลุ่มซาเล้งเข้ามา กรมพัฒนาที่ดินความมั่นคงของมนุษย์บ้านมิตรไมตรีก็เข้ามาให้ทุนเรา 2,000 บาท ตัวแทนละครอบครัวไปดูงานที่วงษ์พาณิชย์ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อไปเรียนรู้เรื่องขยะ ตอนนั้นเราไม่ได้สนใจอะไรหรอก เราอยู่กับตรงนี้มา คือถามว่าวงษ์พาณิชย์กับซาเล้งใครเก่งกว่ากัน ซาเล้งเก่งกว่านะ เพราะซาเล้งชั่งของเก่า 20 กิโลกรัม ให้กลายเป็น 5-10 กิโลกรัมได้ แต่ที่เราไป เพราะเราอยากได้เงิน แถมได้เที่ยวด้วย คือเราอยากได้เงินเขา"

ประธานชุมชนกล่าวอย่างซื่อสัตย์ความคิดในตอนนั้น แต่ในระหว่างที่ดีใจ ก็หารู้ไม่ว่าอีก 2-3 เดือนต่อมาเงินจำนวนเท่ากันอีกก้อน ที่ส่งจากองค์กรเดียวกันนั้น จะก่อให้เกิดประกายความคิดที่เปลี่ยนแปลงชีวิต

"ก็ครั้งแรกเงิน 2,000 บาท นี่หายจ้อยเลย ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลย (หัวเราะ) จนสุดท้ายวันดีคืนดี ถัดไปอีกสัก 2-3 เดือน เขาก็มาช่วยเหลืออีก 2,000 บาท แต่ครั้งนี้ไม่ต้องไปไหน พอให้เงินเสร็จ วันนั้นพอดีดูโทรทัศน์ก็ไม่ได้ตั้งใจดู บังเอิญไปเจอรายการขยะแลกไข่ เราก็อยากทำ ทุนมาพอดี มันก็เกิดจุดเปลี่ยนที่นี่เลย

"ก็เริ่มต้นด้วยการไปชักชวนคนในชุมชน คุยกันว่าเอาไหม ไอ้เงินที่ได้มา 2,000 บาทตอนหลัง เอามารวมกันไหม ทำขยะแลกไข่กัน พรรคพวกต้องเห็นด้วย แต่แล้วก็ต้องล้มเลิกไปเพราะไม่ตอบโจทย์ระยะยาว

"คือผมมีความรู้สึกว่าพี่น้องซาเล้งเนี่ย เวลาเขาหาขยะใช่ไหม เขาไปขายโดนกดราคา จากกิโลกรัมละ 10 บาท เหลือ 5 บาท อย่างนี้ แถมพอโดนกดราคา ได้เงินมาก็ต้องไปซื้อสินค้าอยู่ดี แต่เพื่อนๆ เขาก็บอกว่าอย่าเอาเลย คือถ้าเราทำขยะแลกไข่ แล้ววันไหนมันไม่ให้ไข่เราจะทำอย่างไร เราก็เออ นึกขึ้นได้ ความคิดยังดีไม่พอ มันไม่สามารถเดินหน้าได้ตลอด สุดท้ายคิดไม่ตก ก็อย่าทำดีกว่า อย่าทำเลย เพราะทำแล้วมันไม่ตอบโจทย์ในอนาคตข้างหน้าแน่นอนชัวร์ เราก็เลิก ไม่ได้สนใจมัน"

หลังจากครั้งแรก ความคิดเรื่องนี้ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในหัว ดังนั้นเพียงไม่นานเขาก็เกิดไอเดียใหม่

"ก็ไปกันอีก ชวนอีก (หัวเราะ) คือหลังจากวันนั้น ผมไปตลาดนัด เชื่อไหมว่าผมนั่งดูตลาดนัดมันมีทุกอย่างนะ ที่เราก็อยากได้ ที่ทุกคนก็อยากได้หมด แต่เรามีคำถามในใจว่าถ้าเราไม่มีเงิน เราจะแก้ปัญหาอย่างไร ถ้าเราไม่มีเงิน เราจะทำอย่างไรกับชีวิตเรา เพราะเวลาเราไปตลาดนัด ตลาดนัดไม่มีเงินก็เดินอย่างเดียว

“เมื่อมันมีคำถามในใจ ถ้าเราไม่มีเงิน แต่เราอยากได้ เราจะทำอย่างไร จนสุดท้ายผมนึกได้ว่า ซาเล้งเขาหาขยะเสร็จแล้ว เขาก็เอาไปขายมาแลกเป็นสินค้า แล้วทำไมกูไม่ทำซะเองให้หมดล่ะ กลับมา ผมก็ไปชวนเพื่อนมาอีก กูจะทำนี่ เพื่อนมันว่ามึงจะทำอะไรอีก (หัวเราะ)

"ก็มากัน 4-5 ครอบครัว เราก็เล่าเรื่องที่คิดไว้ ก็มียอมกัน 3 คน 3 ครอบครัว ได้เงิน 6,000 บาท ผมเอาเงินนั้นไปซื้อของ ก็เอาขยะแลกไข่ของคลองเตยมาเป็นไอเดีย แต่เราเปลี่ยน เราไม่ทำเหมือนเขา ตัดปัญหาครั้งแรกที่คิดไม่ตก ก็เลยไปแม็คโครเลย เพราะตอนนั้นแม็คโครของถูกสุด ซื้อผงซักฟอก ยาสระผม สบู่ ของใช้ชีวิตประจำวัน ข้าวสงข้าวสาร ซื้อมาหมดเลย 6,000 บาท

"แต่ผมก็ยังไม่ทำในชุมชนผม ยังไม่ได้เกิดร้านศูนย์บาทที่ตั้ง ยังเร่อยู่ เพราะผมคิดว่ายังไม่ไหว เขาหาว่าผมบ้า แต่ผมไม่ได้บ้า ก็เลยไปทำข้างนอกก่อน โดยไปติดต่อประธานชุมชนอื่นๆ ฝากข่าวชาวบ้าน แล้วเอาสินค้าไปตั้งโต๊ะ ผมไม่ได้สนใจเขาหรอก ขอแค่มันตอบโจทย์ในครอบครัวเราก็ใช้ได้แล้ว ครอบครัวพี่น้องเราพอ ถ้าไปคิดแคร์คนอื่นเขา เราก็ไม่ต้องทำอะไรเลยซิ วันนี้ถามว่าเราปลูกผัก เรากลัวเพื่อนเขามากิน เราก็ไม่ต้องปลูก อยู่บ้านเฉยๆ ก็ไม่ต้องทำ ถูกไหม ไม่ต้องทะเลาะกับคนอื่นด้วย"

และเพียงวันแรกก็ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เพียงแค่คนอาชีพเดียวกัน แต่รวมไปถึงแม้บ้านแม่เรือน กระทั่งเด็กๆ เล็กแดง ต่างก็หิ้วขยะมาแลกเปลี่ยนสินค้าอย่างคึกคัก โดยหลักการของการแลกเปลี่ยนคือ เมื่อนำขยะมาชั่งตีเป็นเงิน ก็นำไปแลกสินค้าตามที่ต้องการ ใครขาด ใครเหลือ ก็จ่ายทอนเพิ่มเป็นตัวเงิน เพียงแค่ไม่ต้องใช้เงินเท่านั้นเอง

"คือพอมาถึงช่างกิโล พอช่างเสร็จแล้วจะได้บิลมาหนึ่งใบ บิลก็เปรียบเสมือนเป็นเงิน อย่างสมมติวันนี้เอาขยะมาแลกได้ 100 บาท ภายใน 100 บาท ก็แลกสิ้นค้าในร้าน โดยไม่ต้องใช้เงินสักบาท แถมซื้อเหลือเราทอนเป็นเงินคืนให้ด้วย เท่ากับประหยัดไปอีก 20 บาท นั่นคือแนวคิดของร้านศูนย์บาท คือไม่ต้องพึ่งเงิน"

"ทีนี้พอทำไปสักพักหนึ่ง เราเห็นว่ามันดูแลเราได้ ก็เริ่มเปลี่ยนแล้ว เราก็เอากำไรส่วนหนึ่งมา มาตั้งร้านเปิดร้านเล็กๆ ครั้งแรกเรายังไม่ใช้ชื่อว่า ร้านศูนย์บาท เราใช้ว่า “สหกร” ไม่มี “ณ์” เพราะต้องการสื่อความหมายถึงพวกเรา คือ “กร” เกิดจากน้ำมือของเรา

"ทำสักพักมันทำได้นะ เราก็มีการระดมหุ้นบ้าง ระดมเงินของพี่น้อง หุ้นละ 100 บาท แต่ทุกคนไม่ต้องเอาเงินมานะ ทุกคนเอาขยะมา เอาขยะมาลงหุ้น ทุกคนถามว่าถ้าลงหุ้นแล้วฉันได้อะไร ประเด็นหลักๆ เลย หนึ่งคือ 15 เปอร์เซ็นต์แรก เราปันผลคืนให้กับสมาชิก ประเด็นที่สองอีก 15 เปอร์เซ็นต์หลัง เราก็จะชวนให้ทุกคนเอาขยะมาแลกที่ร้านศูนย์บาทเพื่อเงินปันผล และอีก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นค่าเจ้าหน้าที่ดูแลที่สหกรณ์ สุดท้ายและส่วนที่เหลืออีก 50 เปอร์เซ็นต์ มันเกิดการไปสู่การพัฒนาโดยไม่ขอเงินภาครัฐสักบาทเดียว"

อดีตชายหนุ่มผู้ถูกปรามาสว่าบ้า กล่าวด้วยรอยยิ้ม ก่อนจะเว้นวรรคมองไปเบื้องหน้าร้านค้าที่ก่อร่างสร้างมากับมือ ซึ่งใครจะเชื่อว่า หลังจากใช้ขยะเป็นตัวเชื่อมแทนเงิน ชุมชนรัฐเทกซัส ที่เขาเปรียบเปรยก่อนหน้าถึงความเถื่อน จำนวนความรุนแรงและอาชญากรรม รวมไปถึงยาเสพติดลดลงอย่างเห็นได้ชัด

"สิ่งสำคัญที่เห็นเด่นชัดที่สุดที่ร้านศูนย์บาทให้เรากลับคืน เพราะมันเกิดความผูกพันเชื่อมต่อ เกิดเป็นเครือข่าย ไอ้นี้เรื่องนี้โยงไปเรื่องนี้ สะท้อนมาตรงนี้ ทุกอย่างเราใช้ขยะแทน ตั้งแต่ครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอนใช้ขยะหมดเลย อย่างเมื่อก่อนลูกขอเงินพ่อแม่ 5-10 บาท กูไม่ให้ ไม่มีให้มึงหรอก พ่อแม่จะพูดอย่างนี้ตลอด แต่พอมีร้านค้าศูนย์บาท เด็กๆ ก็ไปหาขยะมาแลกเอาไปได้เลย ไม่ต้องไปนั่งขายก่อนแล้วค่อยมาซื้อ คือพอเราไม่ใช้เงิน ก็ไม่มีปัญหาเรื่องเงิน ปัญหาเรื่องอื่นก็ไม่ตามมา คนเราทุกวันนี้ที่มีปัญหาก็เพราะเรื่องเงิน"

ทั้งกองทุนสวัสดิการ สุขภาวะ ป่วยไข้ อุบัติเหตุ พักฟื้นโรงพยาบาลจ่ายให้คืนละ 200 บาท ไม่เกินครั้งละ 7 คืน ค่าคลอดบุตร 500 บาทต่อปี ค่ารักษาพยาบาลยานอกบัญชี 50 เปอร์เซ็นต์ สนับสนุนทุนการศึกษา 500 บาทต่อปี ต่อบุตร 1 คน ที่มีเกรดเฉลย 2.5 ขึ้นไป รวมไปถึงการฌาปนกิจ สนับสนุน 2,00-3,000 บาท สนับสนุนโลงศพหนึ่งใบพร้อมกับเป็นเจ้าภาพ 1 คืน และก่อนเสียชีวิตสนับสนุนอาหารมื้อสุดท้ายไม่เกิน 200 บาท คือแนวคิดประกันชีวิตด้วยขยะ ของธนาคารคนจนสำหรับคนในชุมชุนแห่งนี้

ปัจจุบัน มีผู้มาเรียนรู้แนวคิดนี้แล้วกลับไปใช้มากมาย อาทิ มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, ไร่เชิญตะวัน วัดป่าวิมุตยาลัย, อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล กระทั่งต่างประเทศก็มาศึกษาดูงานแนวความคิดของผู้นำชุมชนนี้เป็นกรณีศึกษา

"คือคนเราต้องมองกลับไปง่ายๆ ถ้าเราเสียชีวิต ทุกคนก็ต้องใส่ซอง ใส่ซองไป แล้วทำไมตอนมีชีวิตอยู่เราไม่ช่วยกัน ไปช่วยทำไมตอนตาย เรามองมุมกลับกันแบบนี้ นี่คือสิ่งที่เราไปตอบโจทย์คนในชุมชน เกิดการช่วยเหลือในชุมชน คนในชุมชนทุกคนยืนได้ด้วยตัวเอง เพราะจริงๆ แล้ว สำหรับขยะนั้น ถ้าเราทำให้เขามีคุณค่า คือเมื่อไหร่ที่มันไม่มีคุณค่าในตัว เขาก็ทิ้ง เขาทิ้งแน่นอน ชีวิตก็เหมือนกัน

"การรวมหมู่ รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย แต่ถ้ารวมกันแล้วไม่ทำอะไร แยกไปตายเถอะ ไม่ดี คือผมอยากให้คนยากคนจนอยู่ได้ ไม่ใช่แค่ผม ทุกคนสามารถทำและพูดแทนผมได้ นี่เป็นอะไรที่สุดยอดมาก สังคมเราจะอยู่ได้อย่างไรให้ดูแลตัวเองได้มากที่สุด คือสิ่งที่ผมต้องการ"

เพราะเข้าใจชีวิต
จึง “รู้” และ “อยู่” เป็น

หลังจากลัดเลาะเส้นทางชีวิตและแนวความคิดที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เชื่อว่ายังมีคำถามที่ค้างคาใจนั้นคือความดีที่เขาว่าค้างไว้เมื่อข้างต้น เพราะจากชีวิต “คนรู” สู่ชีวิตสังคม “แออัด” อะไรที่ทำให้เขาตั้งมั่นถือมั่น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ถึงเพียงนี้ โดยที่ไม่ถูกกลืนหายไปกับความคิดที่นึกถึงแต่ตัวเองอันเป็นธงเริ่มต้น

"ผมเองก็ไม่รู้นะ คงจากชีวิตเราอยู่กับมันล่ะมั้ง เข้าใจวิถี เข้าใจความคิด แล้วสุดท้ายมันไปตอบโจทย์สังคม คือผมก็ยังคิดเสมอว่า เราก็ยังนับหนึ่งอยู่ตลอด เพราะชีวิตคิดแต่เริ่มต้นอย่างเดียว ความสำเร็จไม่มีหรอก ผมไม่เคยสนใจเรื่องความสำเร็จ ถามว่าเราขยับได้ไหม ขยับได้ แต่ให้คนที่มาดูงาน เขาขยับไปดีกว่า"

"ผมว่าสิ่งที่ให้เรามาจุดถึงวันนี้ ผมภูมิใจพ่อแม่ผมที่เกิดมาจน" ประธานหนุ่มกล่าวด้วยรอยยิ้มแซมหัวเราะ อาจจะฟังเป็นประโยคที่ไม่น่าเชื่อ แต่เชื่อเถอะว่าเขาคิดและรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ

"คือถ้าเกิดมารวยคงไม่เป็นแบบนี้ เพราะความจนมันสอนอะไรเราหลายอย่าง สอนให้เราเจอความลำบาก รู้ว่าอนาคตต้องสู้ พอสุดท้ายมาอยู่ที่นี่ ปัจจุบันนี้ เราก็เลยรู้ว่าเราเอง อย่างที่ผมบอก นับหนึ่งตลอด ไม่เคยนับสิบ และแม้จะตายไปก็ไม่เคยคิดว่านับสิบ เพราะว่าที่นี่ เราพยายามทำให้เห็นว่าทุกอย่างมันสามารถดูแลเราได้ มากกว่าเงินกว่าทอง มันก็เหมือนที่ผมบอก ถ้าเราไม่มีเงิน เราจะแก้ปัญหาตัวเราอย่างไร

"ก็เลยไม่ท้อไง คือถ้าเราท้อแล้ว ครอบครัวเราจะมีกินเหรอ พี่น้องเราจะมีกินเหรอ คนอื่นเขาจะมีกินเหรอ ถูกไหม และจริงๆ ต้องเข้าใจว่าสังคมเรามันเป็นอย่างนั้น แล้วไม่ไปโกรธด้วย เพราะการอดทนเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ใครอดทนได้นาน คนนั้นคือผู้ชนะ คนที่ทนได้มากที่สุดคือผู้ที่ชนะ

"ถ้าไม่มีใครด่านี่ มันเรื่องแปลก (หัวเราะ) ใครด่า ผมยิ่งชอบนะ เพราะมันกระตุ้นให้เรามีมานะ การด่าแสดงให้รู้ว่าเขาก็สนใจเรา ถ้าเขาไม่สนใจงานเรา เขาไม่ด่าแน่นอน คนนี้เขาต้องติดตามเราตลอด มันยังสะท้อนกลับมาให้เราเห็นข้อบกพร่องของตัวเอง เราจะได้แก้ไขถูก"

"มันจะได้เตือนสติเราไง ว่าอย่าได้ไปหลงระเริงกับความสำเร็จ มันไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรอก" พีรธรว่าย้ำ ซึ่งทุกๆ รางวัลที่มอบให้กับประธานชุมชุนแห่งนี้ไม่ได้มอบให้เขาในชื่อ “พีรธร เสนีย์วงศ์” แต่จะต้องมีชื่อของเครือค่ายหรือชื่อชุมชนเสมอ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เขาบอกว่าจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีทุกคน

"ก็มันเป็นทั้งกลุ่ม ทั้งชุมชน ไม่ใช่แค่ผมคนเดียว ถ้าเป็นของผมคนเดียวผมไม่เอาเลย ผมเคยบอกคนที่เขาจะให้รางวัล ไม่ต้องเอามาให้หรอก เอาไว้ตรงนั้นแหละ เขาก็งงว่าทำไม นั่นก็เพราะว่าผมมาตัวเปล่าไปตัวเปล่า ตายไปก็เอาไปไม่ได้เลย ทิ้งไว้ตรงนั้นดีกว่า ไม่เป็นภาระด้วย ผมไม่ได้อยากดัง เพราะดังก็ตายหรือไม่ดังก็ตาย ค่าเท่ากัน

"แต่ถ้าสิ่งนั้นมันตอบโจทย์คนในชุมชน หรือถ้าคุณเขียนระบุเครือข่ายร้านศูนย์บาท นายพีรธร เสนีย์วงศ์ ใช้เครือข่ายมันยิ่งใหญ่ เราดีทั้งกลุ่ม ทั้งชุมชน เราภูมิใจไหมล่ะ"

“มีความคิดอย่างนี้อยู่แล้ว” เราถามย้ำให้หายคาใจเรื่องปมที่อาจเกิดขึ้นเพราะความน้อยใจในการดิ้นรนของตัวเองที่ไม่ได้ถูกเล็งเห็นความสำคัญ ถูกหาว่าบ้าตั้งแต่เริ่มต้น

"คิดอย่างนี้มาก่อนแล้ว อย่างเรื่องเงินช่วย เงินค่าพิธีกร ผมก็ไม่รับเป็นเงิน รับเป็นขยะ คือคุณเห็นไหม เวลาเราไปจังหวัดกาญจนบุรี ช้างมันเห็นคนไปหามันดีใจ เพราะมันจะได้กินไง แต่เมื่อไหร่ที่คนไม่ไปล่ะ ถามว่าช้างหากินเองเป็นไหม ไม่เป็น ก็ตาย เพราะคนเกิดการให้ไง แต่ทีนี้ เราไม่ต้องการ เราไม่ต้องการเงิน เพราะบางทีมันเป็นการทำร้าย เราหวังดีก็จริง แต่กลายเป็นเราหากินไม่เป็น"

"แนวคิดพวกนี้ก็ได้ตอนที่พวกพี่ๆ เขาเข้ามาให้ความรู้ มาสอน ก็ซึมซับเอาแนวความคิดเขามา คือผมคิดว่าแนวคิดนี้มันเป็นแนวคิดหนึ่งที่สร้างประโยชน์ให้ชุมชนได้ อาจจะมากจะน้อยก็เรื่องหนึ่ง ผมก็ภูมิใจที่อย่างน้อยเรายังสามารถทำได้"

"แม้ตอนแรกๆ ภรรยาก็ไม่ยอมรับความคิด สุดๆ เลยนะ ไม่เห็นด้วยกับตรงนั้นเลย บอกกับผมว่ามึงทำแต่เรื่องของคนอื่นเขา ทำแต่กับคนอื่นเขา มึงไปอยู่กับคนอื่นแล้วกัน (หัวเราะ) แต่ผมก็บอกว่าถ้าเราไม่รวมกันแล้วเราจะได้ที่ดินตรงนี้เหรอ

"สุดท้ายก็คุยกันด้วยเหตุด้วยผล ถ้าเราไม่รวมกัน เราก็จะไม่มีบ้านอยู่ เท่ากับว่าเราก็ไม่ต่างจากบุกรุกตรงนี้แล้วไปอยู่อีกที่หนึ่ง เหมือนคนรู คนใต้สะพานแบบเดิม ปัญหามันก็ไม่สิ้นสุด ถามว่ารุ่นลูกรุ่นหลานเราจะอยู่อย่างไร ถ้าพ่อแม่ไม่ทำ มิหนำซ้ำเรายังเช่าบ้านอยู่ ลูกก็ต้องเช่าบ้านอยู่ไหม ก็เข้าใจ

"พอมาอยู่ที่นี่ เชื่อไหม พี่น้องผมรีบมากันเลย กลับมากันตรึม (ยิ้ม) มาพร้อมกับครอบครัวพี่น้องก็มีความสุขอีกครั้ง ป้าคนแก่ๆ ที่อยู่คนเดียวใต้สะพาน พอย้ายมาอยู่ที่ใหม่ ลูกหลานรู้ก็กลับมาอยู่ด้วยกัน"

"คือเราอยู่กับมัน คิดเห็นกับมัน ถ้าเราไม่อยู่กับมันเราไม่รู้หรอก"
ประธานชุมชนหนุ่มใหญ่กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มเต็มดวงหน้า









เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร

กำลังโหลดความคิดเห็น