xs
xsm
sm
md
lg

“วันแรงงานแห่งชาติ” ชายฉกรรจ์กว่า 100 คนยังยืนเสนอตัวขายแรงงานเกลื่อนเชียงใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - รองผู้ว่าฯ เป็นประธานเปิดงาน “วันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2558” โดยกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ยื่น 11 ข้อเรียกร้องโดยเฉพาะเน้นในเรื่องขอเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและค่ารักษาพยาบาลของประกันสังคมที่สามารถรักษาได้ทุกโรงพยาบาล ด้านกลุ่มชายฉกรรจ์กว่า 100 คนยังคงยืนรอนายจ้างอยู่เต็มถนนอัษฎาธรเพื่อขายแรงงานตามปกติ

วันนี้ (1 พ.ค.) ที่โรงยิมเนเซียม 2 สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี จ.เชียงใหม่ นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวในวันแรงงานแห่งชาติจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี 2558 ว่า จังหวัดเชียงใหม่ตระหนักดีว่าพี่น้องแรงงานทุกท่านเป็นทรัพยากรอันมีค่า มีบทบาทที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคมของจังหวัดเชียงใหม่ และส่งผลต่อภาพรวมในการพัฒนาประเทศ

จังหวัดเชียงใหม่มีความมุ่งมั่นในการดูแลให้การคุ้มครองแรงงาน การประกันสังคม การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ทั้งด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน และฟื้นฟูสมรรถภาพแรงงาน โดยมีหน่วยงานของกระทรวงแรงงานในจังหวัดเชียงใหม่เป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อให้พี่น้องแรงงานได้มีชีวิตที่มีคุณภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป

สำหรับกิจกรรมของผู้ใช้แรงงานในวันนี้ได้มีการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด และสวมหมวกนิรภัยในการขับขี่รถจักรยานยนต์ และมีกิจกรรมทั้งการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน การแข่งขันส้มตำ พร้อมยื่นข้อเรียกร้องจำนวน 11 ข้อ โดยเรื่องเร่งด่วน 3 ข้อ เช่น ขอให้รัฐบาลเร่งปรับค่าแรงขั้นต่ำ แก้กฎหมายประกันสังคมรักษาได้ทุกโรงพยาบาล และให้รับรองอนุสัญญาไอแอลโอ เรื่องสิทธิในการเจรจาต่อรองพร้อมข้อเรียกร้องทั่วไปอีก 11 ข้อ ลูกจ้างได้ค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานขั้นต่ำเป็นปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวันนี้จะเป็นวันแรงงานแห่งชาติ แต่กลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์นับ 100 คนยังคงมายืนใต้ต้นไม้รอขายแรงงาน บริเวณริมถนนอัษฎาธร ในตัวเมืองเชียงใหม่ เป็นปกติเหมือนทุกวันที่ผ่านมาเพื่อปากท้องและความอยู่รอด โดยแรงงานเหล่านี้มารอนายจ้างหรือผู้รับเหมาจ้างไปทำงาน ขายแรงงาน เมื่อมีรถยนต์มาจอดก็จะพากันวิ่งกรูกันไปสอบถาม ซึ่งก็มีทั้งสมหวัง และผิดหวัง ที่จะได้ไปทำงาน

นายสุรชัย จิรสกุลดี อายุ 24 ปี ชาวจังหวัดเชียงราย ที่มาขายแรงงานบอกว่า ชาวบ้านที่มายืนรอขายแรงงานส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา และบุคคลบนพื้นที่สูง หากอยู่บ้านก็ไม่มีรายได้ จึงออกมายืนรอนายจ้างทุกวัน ไม่มีวันหยุด แม้จะเป็นวันแรงงาน แต่ยังคงคิดค่าแรงเหมือนเดิม ไม่มีการบวกค่าแรงตามวันแรงงาน โดยมาเช่าบ้านอาศัยอยู่ใกล้กับจุดที่รวมตัวขายแรงงาน แต่ละเดือนมีรายได้มากกว่า 1 หมื่นบาท หรือรับจ้างครั้งละ 400 บาท

ขณะที่นายสมชาย จะคือ อายุ 22 ปี ขายแรงงานมานานนับ 10 ปี รับจ้างทำทุกอย่างตั้งแต่ขุดหลุม งานก่อสร้างบ้าน ยกของ ตัดหญ้า ค่าแรงวันละ 300 บาท หรือรับเหมาตัดหญ้าขึ้นอยู่กับพื้นที่ โดยจะรวมตัวกันไปทำงานแล้วนำเงินมาแบ่งกัน ซึ่งแต่ละเดือนก็มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท แต่บางวันก็มายืนรอเสียเที่ยว จนถึงเที่ยงวันไม่ได้งานก็มี

นายอนุสรณ์ จุลศิลป์ อายุ 60 ปี บอกว่า การจ้างงานไม่ได้มีทุกวัน อย่าง 1 อาทิตย์จะได้แค่ 1 หรือ 2 วันเท่านั้น ซึ่งทำให้ไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต เพราะแค่ค่ากินต่อวันเฉลี่ยวันละ 120 บาท อันนี้คือใช้แบบประหยัดที่สุดแล้ว ส่วนเรื่องที่พักก็อยู่ที่เดือนละ 900 บาท แต่ยังไม่รวมค่าน้ำค่าไฟ เฉลี่ยค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ที่เดือนละ 1,500-2,000 บาท

“หากเกิดอุบัติเหตุในการทำงานก็จะเป็นหน้าที่ของผู้จ้างที่ต้องพาไปทำแผล แต่โดยส่วนมากก็จะให้เงินมารักษาเองครั้งละ 1,000-2,000 บาทเท่านั้น ซึ่งตนก็ต้องรักษาตนเองจนกว่าจะหาย แต่ก็ยังคงต้องรับงานต่อเพราะหากไม่มีงานก็ไม่มีอะไรกินในวันต่อไป”

ส่วนนายไพรวัลย์ ไม่มีนามกุล ชาวเขาเผ่ามูเซอ อายุ 20 ปี เล่าว่า เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ซึ่งพอลงมาจากดอยก็ได้ไปลงทะเบียนที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ ก็มีนายจ้างมาพาไปทำงานด้วย โดยทำงานเป็นช่างเชื่อมอยู่ประมาณ 1 ปี ก็ลาออกมาเพราะอยากหางานอื่นๆ ทำที่ได้เงินดีกว่านี้

แต่เมื่อลองไปสมัครงานที่อื่นๆ ดู พอยื่นใบสมัครเมื่อเขาเห็นเป็นต่างด้าวเขาก็ไม่รับ ก็เลยมาทำงานรับจ้างอยู่ที่นี่ ก็ได้งานบ้างในแต่ละอาทิตย์ แต่ก็ยังดีที่เจ้านายเก่าก็ยังคงชักชวนไปทำงานที่เก่าเป็นบางครั้งก็จะได้รายได้จากส่วนนั้นมาส่วนหนึ่ง และอีกส่วนก็ได้มาจากงานรับจ้างทั่วไปแบบนี้

“ตอนนี้ก็มีภาระที่ต้องจ่าย ก็จะเป็นค่ามอเตอร์ไซค์เดือนละ 2,000 บาท และค่าที่พักเดือนละ 2,000 บาทเหมือนกัน ซึ่งถามว่าอยู่ได้ไหมก็พออยู่ได้ แต่ก็ต้องทนๆ ไปเพราะตนเป็นชาวเขาไม่ได้มีสิทธิเหมือนคนไทยทั่วไป เจ็บไข้ได้ป่วยมาก็ต้องรักษาตนเอง เคยไปรักษาที่โรงพยาบาลแต่คนรอบข้างมองเหมือนจะรังเกียจ ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่อยากจะเข้าไปรักษาอีกเลย”

อนึ่ง บริเวณถนนอัษฎาธรจะมีแรงงานที่เป็นผู้ชายซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขามายืนขายแรงงานจำนวนมาก เมื่อมีนายจ้างนำรถยนต์มาจอดก็จะพากันวิ่งกรูเข้าไปสอบถามเพื่อตกลงค่าจ้าง เมื่อพอใจก็จะขึ้นหลังรถยนต์กระบะ จนเป็นภาพที่ชินตาของประชาชนที่ผ่านไปมา










กำลังโหลดความคิดเห็น