xs
xsm
sm
md
lg

วาระแห่งชาติ! ท่อระบายน้ำเละ ขยะล้นเมืองกรุง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“200 ตันต่อวัน” คือปริมาณขยะที่ดักเก็บได้จากประตูระบายน้ำทั่วกรุง เหตุจากทิ้งขยะไม่เป็นที่และระบบจัดการขยะที่บกพร่อง ผู้เชี่ยวชาญชี้ ถึงเวลากำหนดให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ!


 

เตรียมตั้งรับ “น้ำท่วมขัง” ฉลองปัญหาขยะในคูคลอง
สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร (กทม.) ถึงกับต้องขอบ่น เมื่อพบปริมาณขยะถึง 200 ตันต่อวันไหลมารวมอยู่บริเวณประตูระบายน้ำ โดยเฉพาะขยะประเภทเศษอาหารซึ่งทิ้งคราบไขมันอุดตันในแนวท่อ จึงเร่งกวดขันผู้ค้าไม่ให้ทิ้งเศษขยะลงในคูคลองและท่อระบายเด็ดขาด ทั้งยังเตรียมประสานไปยังพื้นที่ต่างๆ ให้ช่วยรณรงค์และประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้เป็นการด่วน

เมื่อสอบถามจากปากผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะ ผศ.ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการขยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งติดตามประเมินผลปัญหาด้านนี้มาโดยตลอดบอกเลยว่า ปริมาณขยะ 200 ตันต่อวันในท่อระบายน้ำนั้น ถือเป็นอัตราที่น่าเป็นห่วงมิใช่น้อย ถือเป็นซีรีส์เรื่องยาวที่ต้องวิเคราะห์กันออกมาอย่างจริงจังเป็นฉากๆ จึงจะเอาอยู่


ขยะพวกนี้จริงๆ แล้วมีที่มาจาก 3 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนที่หนึ่งคือ “พวกหาบเร่แผงลอย” ที่สร้างเศษขยะต่างๆ เอาไว้ริมทางเท้า-ริมคลอง โดยเฉพาะตลาดใหญ่ๆ ที่ไม่ได้ทิ้งแค่เศษอาหารลงตามท่อ แต่ยังมีเศษกล่องหรือเศษวัสดุที่เหลือจากการตัดใช้งานต่างๆ ลงไปด้วย ส่วนที่สองคือ “ตึกแถว” ขอเน้นเป็นตึกแถวรุ่นโบราณที่ยังไม่มีที่ทางที่สามารถไปทิ้งขยะได้ง่ายๆ และส่วนที่สามคือ “ไซต์งานก่อสร้าง” กลุ่มนี้ถือเป็นซีรีส์ขยะเรื่องยาว เพราะขยะประเภทเศษหินเศษปูนมันใหญ่นะครับ เวลาทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ แล้วมันจะไม่ค่อยไปไหน

เท่าที่ผมทำเรื่องรถขยะมา ผมเห็นเลยว่าคนปกติส่วนใหญ่ ถ้าเขามีที่ให้ทิ้ง เขาจะไม่ไปโยนทิ้งลงท่ออยู่แล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำคือการจัดหาพื้นที่ให้เขาทิ้ง จัดหาถังขยะมาเตรียมไว้ให้อย่างเพียงพอ อยากจะแก้ปัญหาจุดนี้ต้องรณรงค์เรื่องการทิ้งขยะ ทั้งตัวเจ้าหน้าที่เองและประชาชนทั่วๆ ไปที่ทิ้งขยะครับ เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เรื่องการปลุกจิตสำนึกเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง

ด้วยนิสัยคนไทยส่วนใหญ่จะชอบทำอะไรแบบเร็วๆ ผมก็เหมือนกัน ถ้าเกิดไม่มีภาชนะรองรับเตรียมเอาไว้ให้ทิ้งเลย มันคงเป็นไปได้ยากที่เราจะเดินถือกล่องข้าวมันไก่กินแล้วไปอีก 200 เมตรเพื่อจะไปทิ้งในถังขยะ แต่ถ้ามีการปลุกจิตสำนึกให้รู้ว่าทิ้งไปตามคูคลองมันส่งผลกระทบเวลาฝนตก ท่อน้ำไม่ระบายแล้วทุกคนจะเดือดร้อนกันหมด คนก็จะคิดมากขึ้นจากการจูงใจตรงนี้ เพราะฉะนั้น สำนักงานเขตต้องลงมาเป็นแม่งานในการรณรงค์สิ่งเหล่านี้อย่างจริงจังก่อนที่จะมีฝนตกครั้งใหญ่ๆ เกิดขึ้น


นอกจากนี้ สิ่งที่เจ้าหน้าที่จะช่วยจัดการเรื่องนี้ได้คือการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งต้องจริงจังกันนิดหนึ่ง เพราะตอนนี้ทั้งเจ้าหน้าที่และคนทิ้งไม่ได้เห็นความสำคัญกันเท่าไหร่ว่าทำไมถึงต้องทำ แต่อย่างในต่างประเทศ ไม่ค่อยมีใครทิ้งขยะกันในคลองแบบนี้หรอกครับเพราะเขาปลูกฝังเรื่องจิตสำนึกสาธารณะกันมาอย่างจริงจัง แต่บ้านเรายังขาดเรื่องนี้อยู่มาก แม้แต่ชาวต่างชาติที่ผมเคยพบเจอเขายังบอกเลยว่าประเทศเรายังต้องปลูกฝังเรื่องการรักษาความสะอาดส่วนรวม-รักสิ่งแวดล้อมอีกเยอะเลย

และต้องยอมรับว่ากรุงเทพฯ มีชุมชนแออัดอยู่เยอะเหมือนกันนะครับ และจุดที่อุดตันตรงนี้ส่วนใหญ่จะเกิดจากชุมชนแออัดและบริเวณหาบเร่แผงลอยมาอยู่รวมๆ กัน เลยทำให้สำนักระบายน้ำบ่นตลอดว่าไม่รู้ขยะมาจากไหนเยอะแยะ หลักๆ เลยเป็นเพราะมีชุมชนแออัดอยู่ในกรุงเทพฯ เยอะนั่นเองครับ

ผมอยากจะฝากถึงทาง กทม.ว่า ถ้าเกิดจะอยากจัดการเก็บขยะในท่อระบายน้ำก็ควรจะทำเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลย และพอเก็บขยะเก่าแล้ว ขยะใหม่ก็ต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้ลงไปอีก รณรงค์กับประชาชนว่าอย่าทิ้งลงคูคลอง ช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ดีที่ควรลงมือทำอย่างจริงจังเลยครับ ก่อนที่จะเข้าหน้าฝน น้ำท่วมขังแล้วจะเดือดร้อนกันหนักกว่านี้อีก ส่วนเรื่องถังขยะก็ต้องจัดหาเอาไว้ให้คนทิ้งได้อย่างพอเพียง ให้เทศกิจช่วยออกตรวจตรา”


 
กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยขยะของประเทศ!

ลองพิจารณาในภาพรวมแล้ว จะพบว่าบ้านเมืองเรามีปัญหาเรื้อรังเรื่องการจัดการขยะมาช้านาน เนื่องจากไม่มีระบบที่สามารถแก้ไขจุดบอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่เห็นคุณค่าของขยะและรู้จักใช้ประโยชน์จากมันอย่างเหมาะสม หัวหน้าห้องปฏิบัติการขยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ให้บทวิเคราะห์เพิ่มเติม

เวลาเราจะพิจารณาเรื่องการจัดการขยะ เราจะดูจาก 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ แหล่งเกิด, การเก็บ และการกำจัด ในประเด็นเรื่องของ “แหล่งเกิด” ขยะนั้น ประชาชนส่วนใหญ่จะคัดแยกอยู่แล้ว ถ้าเป็นขยะที่มีมูลค่าอย่างขยะพลาสติกและโลหะ ตรงนี้เอาไปขายได้ แต่ขยะประเภทที่แยกแล้วไม่รู้จะเอาไปทำอะไรต่อได้อย่างขยะเศษอาหาร มันก็จัดการยาก ทำให้หลายๆ บ้านยังคงไม่แยกขยะประเภทนี้ต่อไป มีแม่บ้านหลายท่านบอกกับผมว่าไม่รู้จะแยกไปทำไม เสียเวลาแยกไปเท่าไหร่ พอรถขยะ กทม.มาเก็บ เขาก็เก็บไปรวมกันไว้ที่เดียวกันอยู่ดี

เพราะฉะนั้น มันจะมาสู่ประเด็นเรื่อง “การเก็บ” ตรงนี้ทาง กทม.ต้องทำให้เป็นเรื่องเป็นราว เกี่ยวกับเรื่องนี้ผมได้ร่างข้อเสนอเสนอต่อสภาปฏิรูปฯ ไปแล้วนะครับว่า ต้องใช้มาตรการการแยกขยะแบบครบวงจร คือเริ่มจากคนที่บ้านต้องคัดแยกก่อน สำนักงานเขตเองก็ต้องจัดรถพวกนี้ไปเก็บตามประเภทของขยะ เช่น วันจันทร์ไปเก็บเฉพาะกระดาษ วันอังคารเก็บเฉพาะประเภทแก้ว ทำเหมือนที่ญี่ปุ่นเขาทำกันเลยครับ ที่ญี่ปุ่นเขาทำแบบนี้เพราะบ้านเขาส่วนใหญ่ต้องซื้อของมาใช้ ไม่ได้ผลิตเอง แต่บ้านเรา หลายๆ อย่างเราผลิตได้เอง และกรุงเทพฯ เราก็เป็นเมืองใหญ่อยู่เหมือนกัน ถ้าจัดการขยะได้แบบเขามันก็จะลดปัญหาลงไปได้อีกหลายๆ เรื่องเลยครับ


มาถึงประเด็นสุดท้าย “การกำจัด” โดยพระราชบัญญัติสาธารณสุขแล้ว กำหนดให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบส่วนนี้ ถ้าพูดถึงใจขอบเขตของกรุงเทพฯ ก็หมายความว่า กทม.ต้องเป็นคนทำ

องค์ประกอบทั้งหมดทั้ง 3 ข้อนี้ต้องไปด้วยกันหมดเลย คือเริ่มจากไปที่จุดเกิดขยะ แล้วจัดการคัดแยก โดยเป็นการแยกเก็บที่ตรงกับการกำจัด ถ้าแยกทันที ณ จุดเกิดขยะตรงนั้น เราจะสามารถนำขยะเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ใหม่ได้อีก”

ความเน่าเฟะที่เห็นตามท่อระบายน้ำบวกกับปัญหาขยะล้นเมืองอยู่ทุกวันนี้ คือผลสะท้อนจากความไม่จริงจังในบทบาทการจัดการขยะของรัฐบาลไทย ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ควรกำหนดเป็นวาระแห่งชาติอย่างในหลายๆ ประเทศเสียด้วยซ้ำ

ในต่างประเทศบางประเทศ เขาถึงกับหยิบเอาเรื่องขยะมาเป็นโมเดลต้นแบบที่ทำให้เกิดความสามัคคีในชุมชนเลยนะครับ ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแยกขยะ ช่วยกันเอาไปทำปุ๋ย เอาปุ๋ยแบ่งไปปลูกต้นไม้ ฯลฯ แม้แต่ในบางประเทศในทวีปแอฟริกาเขาก็มีการแยกขยะที่จริงจัง จนช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเขาดีขึ้นได้เลยก็ยังมี เพราะฉะนั้น อย่าไปคิดว่าขยะเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะขยะคือพัสดุ ถ้าแยกพลาสติกก็เอาไปรีไซเคิลใหม่ได้ คนเอาไปขายก็ได้เงิน ถ้าเศรษฐกิจในบ้านเรายังไม่ดีขึ้น ลองหันมาดูเรื่องพวกนี้ดูสิครับ มันยังทำอะไรได้อีกเยอะเลย

ผมกำลังพยายามเสนอประเด็นการฝังหลักสูตรเรื่อง “ขยะ” เข้าไปในโรงเรียนอยู่เลยครับ ผมกำลังเสนอทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กับทางรัฐบาลพร้อมๆ กันเลยว่าเราต้องลุกขึ้นมาทำอย่างจริงจังแล้ว เพราะถ้าให้มาสอนเรื่องนี้ที่มหาวิทยาลัยอาจจะช้าไปแล้ว ผมว่าต้องให้เด็กๆ ศึกษากันตั้งแต่ระดับประถมต้นเลย อย่างที่ญี่ปุ่นหรือเกาหลีเขาก็ทำแล้ว ถ้าเราอยากจะเป็นมหาอำนาจ เราต้องทำแบบเขาครับ หรืออีกทางเลือกหนึ่ง ผมกำลังคิดว่าจะเอาหลักสูตรตรงนี้ไปทำร่วมกับมหาวิทยาลัยสงฆ์ครับ เพราะพระท่านชอบเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว พอพระเณรท่านทำแล้ว อีกหน่อยมีโรงเรียนสอนพระธรรม เราก็เอาหลักสูตรไปผูกไว้ตรงนี้ได้เลย

ผมว่าปัญหาเรื่องการแยกขยะมาจาก 2 ประเด็น คือถ้าคนเห็นเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ส่งผลกระทบอะไร เขาจะไม่ทำ หรือถ้ามองว่ามันลำบากเกินไป เขาจะไม่ทำ เพราะฉะนั้น เราต้องทำให้เขาตระหนักครับว่าการทิ้งขยะลงไปในคูคลองมันเข้าไปอุดตัน และส่งผลให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ง่ายๆ เวลาฝนตกหนักๆ หรือการไม่แยกขยะมันทำให้บ่อขยะหลายๆ ที่เกิดไฟไหม้ได้ เพราะพวกขยะพลาสติกหรือโฟมมันติดไฟง่าย พอเริ่มไหม้จากขยะบางประเภทแล้วเจอเชื้อไฟดีๆ เข้า มันก็จะไหม้ลุกลามไปกันใหญ่


ส่วนปัญหาเศษขยะล้นทางระบายน้ำนั้น พอจะเข้าใจได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะขยะประเภทนี้ตามเก็บได้ยาก เนื่องจากท่อระบายน้ำมีปัจจัยเรื่องความลึกเป็นอุปสรรคสำคัญ ส่วนเรื่องขยะเศษอาหารก็ค่อนข้างควบคุมยาก เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีระบบรองรับที่เกี่ยวกับการเอาขยะจำพวกนี้ไปหมักเป็นปุ๋ย

“มันต่างจากการแยกขยะอย่างขวดพลาสติกไปขาย เพราะมันมีมูลค่า แต่ขยะที่เป็นเศษอาหารยังทำแบบนั้นไม่ได้ คงจะดีถ้าทาง กทม.มีการรณรงค์ให้เอาขยะตรงนี้ไปทำปุ๋ยหมัก-น้ำหมักชีวภาพ หรือมีระบบตรงนี้มารองรับมันก็น่าจะเป็นประโยชน์

ผมคิดว่าทาง กทม.อาจจะต้องมาดูแลเรื่องการแบ่งแยกหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ดูให้ดีๆ เพราะ กทม.มีหน่วยงานอย่างน้อย 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตรงนี้ คือสำนักการระบายน้ำ, สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขต ผมว่าทาง กทม.ต้องประชุมแล้วล่ะครับและทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นหลักขึ้นมาว่าจะร่วมมือกันยังไง เพราะถ้าทำงานร่วมกันทั้ง 3 หน่วยงานนี้ ผมว่าทรัพยากรทางด้านเงินและด้านบุคคลที่มีอยู่น่าจะเพียงพอนะครับ

และจริงๆ แล้ว ทางกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมดูแลทาง กทม.อีกที เขาน่าจะมาทำสถิติตัวชี้วัดเสียหน่อยว่าเทศบาลไหนมีขยะล้นเกินมาตรฐาน ถ้าเทศบาลไหนได้ผลออกมาไม่ดี ปีหน้างบประมาณเรื่องการจัดการขยะก็อย่าเอาไปเลยแล้วกัน

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram


มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!  และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.comหรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754
กำลังโหลดความคิดเห็น