ครม.ไฟเขียวโครงการก่อสร้างสถานที่กำจัดขยะ จ.พระนครศรีอยุธยา สู่ “ต้นแบบ” ประสิทธิภาพจัดการขยะครบวงจร สำรวจพบ 24 จังหวัดพื้นที่ศักยภาพ สร้างศูนย์แปรรูปขยะเป็นพลังงาน ไร้ผลกระทบต่อประชาชน แต่ช่วยจัดการขยะล้นเมือง รัฐบาลตั้งเป้าผลักดัน 15 โรงไฟฟ้าพลังงานขยะภายในปี 2558
วันที่ 13 พ.ค. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยการดำเนินการก่อสร้างแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ 1. การก่อสร้างบ่อฝังกลบขยะ โดยใช้พื้นที่ของที่ราชพัสดุจำนวน 372 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา ที่ตำบลมหาพราหมณ์ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการสำรวจออกแบบ ก่อสร้างสถานที่ฝังกลบ และจัดจ้างบริษัทเอกชนมาก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมีการขนย้ายขยะมูลฝอยจากสถานที่ฝังกลบตำบลบ้านป้อม จำนวน 200,000 ตัน มาฝังกลบที่ตำบลมหาพราหมณ์ พร้อมทั้งจัดภูมิทัศน์สถานที่ฝังกลบบ้านป้อมให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2558 นี้ ด้วยกรอบวงเงินดำเนินการ 369 ล้านบาท
2. การก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะเทศบาลพระนครศรีอยุธยา โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้จ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีศึกษาออกแบบ และจ้างบริษัทเอกชนก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า 2 ลักษณะ โดยงบประมาณของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย การก่อสร้างระบบกำจัดขยะด้วยเทคโนโลยีขยะเชื้อเพลิง คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนมกราคม 2559 วงเงินดำเนินการ 380 ล้านบาท และการก่อสร้างระบบผลิตไฟฟ้าจากการกำจัดขยะด้วยเทคโนโลยีการเผา เพื่อผลิตไฟฟ้าขนาด 3,800 กิโลวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2560 วงเงินดำเนินการ 635 ล้านบาท
“เนื่องจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาถือเป็นจังหวัดที่มีปัญหาขยะขั้นวิกฤต ดั้งนั้นการดำเนินการโครงการก่อสร้างสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยนี้ จะถือเป็นต้นแบบที่ดีในการจัดการขยะอย่างครบวงจร มีประสิทธิภาพ และการกำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพทั่วประเทศ ที่สามารถจัดทำเป็นสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย เป็นศูนย์กลางในการแปรรูปขยะเป็นพลังงานได้”
พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อไปว่า กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำการสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมในการก่อสร้างโรงกำจัดขยะมูลฝอย โดยพิจารณาจากปริมาณขยะที่เกิดขึ้นต่อวัน ขนาดพื้นที่ในการจัดการขยะ ระยะห่างจากเสาไฟฟ้าแรงสูง และผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ พบว่ามีจำนวน 24 จังหวัด ที่มีพื้นที่ศักยภาพเพียงพอสำหรับใช้เป็นศูนย์ในการแปรรูปขยะเป็นพลังงาน ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี อุดรธานี บุรีรัมย์ สงขลา ภูเก็ต กระบี่ นครราชสีมา ขอนแก่น สุรินทร์ มหาสารคาม เลย ชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ยะลา เชียงใหม่ นครพนม และพัทลุง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่เปิดดำเนินการแล้ว 2 แห่ง คือ จังหวัดภูเก็ต และสงขลา อยู่ในระหว่างก่อสร้าง 3 แห่ง คือ กรุงเทพฯ ขอนแก่น และพัทลุง ลงนามข้อตกลงก่อสร้างแล้ว 3 แห่ง คือ พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก และระยอง และอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้อีก 1 แห่ง คือ ที่ลำพูน โดยรัฐบาลมีเป้าหมายที่ผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะให้ได้ไม่ต่ำกว่า 15 โรงภายในปี 2558 เป็นไปตามโรดแมปของการจัดการขยะมูลฝอยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)