xs
xsm
sm
md
lg

อยู่หรือไม่? “โรฮีนจา” บนเส้นแบ่งของ “ความมั่นคง” กับ “มนุษยธรรม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ไร้มนุษยธรรม” คือคำกล่าวประณามจากทั่วโลก หากแต่มนุษยธรรมก็มิอาจแก้ไขปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นได้

ใช่แล้ว มีปัญหามากมายบนโลกที่ไม่อาจควาญหาคำตอบถูกต้องชัดเจนออกมาได้ ด้วยเงื่อนไขที่สลับซับซ้อน รากของปัญหาที่ฝังรากอีกทั้งข้อจำกัดมากมายก่อเกิดเป็นภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก

หนึ่งในนั้นคือปัญหาเหล่าก็คือปัญหาของ “ชาวโรฮีนจา”

ระหว่าง “มนุษยธรรม” กับ “ความมั่นคง” เป็นตัวเลือกที่ยากจะตัดสินใจเมื่อคิดถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา ล่าสุดประเด็นนี้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง จากท่าทีของประเทศต่างๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของประเทศไทย กระทั่งการรายงานข่าวในลักษณะที่มีดรามา พลันนั้นก็เกิดกระแสขับไล่ชาวโรฮีนจาให้ออกไปจากประเทศไทยขึ้น

กระแสดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร? ด้านหนึ่งอาจถูกมองว่าไร้มนุษยธรรมแต่ปัญหาดังกล่าวก็ไม่อาจแก้ได้ด้วยหลักมนุษยธรรมแต่เพียงอย่างเดียว แล้วทางออกใดคือสิ่งที่เหมาะสมที่สุดกับพวกเขาเหล่านี้?

ดรามาซับซ้อนของโรฮีนจา

ท่ามกลางวาทะกล่าวประณามจากหลากองค์กรระหว่างประเทศตั้งแต่สหประชาชาติ(ยูเอ็น) จนถึงด้านองค์กรสิทธิมนุษยชนต่อการจัดการปัญหาชาวโรฮีนจา จากต้นต่อปัญหาที่ฝังรากมายาวนานในประวัติศาสตร์ที่ต้องย้อนกลับไปไกลถึงยุคล่าอาณานิคม จนปัจจุบันชาวโรฮีนจาถูกผลักดันให้อยู่ระหว่างพรหมแดนทะเลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปมปัญหาดังกล่าวจึงเป็นปมที่ไม่อาจแก้ได้โดยง่าย กระทั่งเกิดดรามารุนแรงและกระแสตีกลับที่ชาวเน็ตต่างมองว่า ควรผลักดันให้ชาวโรฮีนจาออกไปจากประเทศไทย

จากต้นตอทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเสมือนรอยด่างพร้อยจากผลพวงของยุคล่าอาณานิคมอังกฤษ ประเพณีวิถีชีวิตที่แตกต่างและทรัพยากรที่มีจำกัดทำให้ชนชาวโรฮีนจาถูกขับไล่ และด้วยเงื่อนไขคล้ายกันพวกเขาได้ช่วยเหลือสลับกับถูกผลักดันไปจากผืนดินของแต่ละประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ กระบวนการค้ามนุษย์ก็เข้ามามีส่วนแทรกซึมและซ้ำเติมปมปัญหาให้ยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

หากตัดเรื่องทางออกที่ยังคงหาคำตอบที่ลงตัวไม่ได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นในมุมมองของชาวโรฮีนจาที่ไม่มีแม้แผ่นดินจะอยู่ก็ถือเป็นเรื่องชวนหดหู่ และแน่นอนว่า หากมองในเชิงสาระกรณีนี้สร้างข้อถกเถียงทางศีลธรรมได้เป็นอย่างดี แต่หากมองในทางการนำเสนอข่าว ดรามาเชิงอารมณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นสิ่งปลุกเร้าให้ประชาชนสนใจได้มากเช่นกัน
ไม่แปลกที่จะมีการนำเสนอข่าวในมุมดรามา เพียงแต่ว่าครั้งนี้กระแสสังคมกลับสวนทางวิพากษ์การทำงานในลักษณะดังกล่าวอย่างรุนแรง

ตั้งแต่กระทู้ในเว็บบอร์ดชื่อดังถูกตั้งประเด็นในหัวข้อ “เลิกเจาะประเด็นโรฮีนจาเถอะค่ะ นำปัญหาเข้าประเทศชัดๆ” พร้อมเนื้อความในกระทู้แสดงความเห็นถึงการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อดังกล่าวอย่างรุนแรง

“เห็นนำเสนอเรียกดรามาตลอดเลย เขาน่าเห็นใจ น่าสงสารอย่างโง้นอย่างงี้ คืออนาคตต้องมีเรื่องปวดหัวตามมาแน่นอน เลิกยุ่งเถอะ อย่าพยายามสร้างสตอรี่ให้มาก นำเสนอข่าวเด็กไทยไร้โอกาส หรือปัญหาชายแดนใต้ดีกว่าเนอะ อยู่ห่าง ๆ จากคนเหล่านี้ไว้ ไทยใช่จะรวย ในประเทศก็เรื่องเยอะอยู่แล้ว ฝากบอกนักข่าวท่านนั้นด้วยนะ ยุ่งจริง”

มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันอีกมากมายโดยมีความเห็นไปถึงขั้นวิพากษ์วิจารณ์ลักษณะการทำงานด้วยการนำเสนอข่าวแนวดรามาซึ่งไม่เหมาะสม

“จะดรามาไปไหนคะ เรื่องชาวโรฮีนจา ฉันไม่ซึ้ง ไม่เศร้าด้วยหรอกค่ะ แต่เบื่อมากกว่า นำเสนอปานละคร ใช่เรื่องมั้ยคะ ไม่เข้าใจจุดประสงค์รายการข่าวนี้ด้วยว่าจะมาทำดราม่าเรื่องโรฮีนจาทำไม โน่นค่ะที่ควรเจาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ค่ะ ตอนนี้ยะลาระเบิดลง ผู้คนเสียขวัญกันมากนะคะ ไปค่ะ ไปเจาะค่ะ”

“เห็นใจโรฮิงยาในฐานะเพื่อนร่วมโลก แต่สำหรับประเทศไทย น่าจะพอแล้วสำหรับเรื่องนี้ครับ สื่อเองก็ควรคิดได้ และมีจิตสำนึกในการเสนอข่าวด้วย ทำแต่พอดีเถอะครับ เราได้ให้การช่วยเหลือตามกำลังที่เราพอทำได้ไม่เดือดร้อนแล้ว ที่เหลือปล่อยให้เป็นหน้าที่ของประเทศที่มีความพร้อมดีกว่า”

แน่นอนว่า ความเห็นลักษณะดังกล่าวมีส่วนที่ไร้มนุษยธรรมซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อนอย่างมาก ด้าน Drama-addict เพจชื่อดังก็ได้แสดงความเห็นกับกรณีกระแสการวิจารณ์การนำเสนอข่าวดังกล่าวว่า

“เห็นนักข่าวท่านดังกล่าวโดนด่าเยอะก็น่าเห็นใจนะ แต่ประเด็นนี้มันเป็น Dilemma ระหว่าง ความมั่นคงกับมนุษยธรรม ไม่มีผิดถูก ชัดเจนหรอก ที่นักข่าวท่านนั้นเห็นใจชาวโรฮีนจาจนบอกว่าอยากให้อยู่ต่อก็ไม่ผิดนะ ในแง่มนุษยธรรม แต่อย่างที่บอกว่ามันต้องดูเรื่องของความมั่นคงด้วย

“ไม่ว่าประเทศจะเลือกช๊อยส์ไหนก็มีปัญหาสืบเนื่องตามมาทั้งนั้น เลือกให้โรฮีนจาอยู่ต่อก็มีแววจะเกิดปัญหาตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคลื่นมนุษย์จากตะเข็บชายแดนพม่าบังกลาเทศที่เห็นว่าคนไทยดูแลดีนี่หว่า ก็เลยเฮโลกันมาบ้านเรามั่ง ประเทศเราก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร เลี้ยงทุกคนไม่ไหวหรอกนะครับ หรือปัญหาเรื่องชาวโรฮีนจากลายเป็นสินค้าของธุรกิจค้ามนุษย์ในอุษาคเนย์ หรือถูกแปรสภาพเป็นผู้ก่อการร้ายกลับมาก่อสถานการณ์ในบ้านเราในภายหลัง ถ้าเราไม่รับไว้แล้วส่งออกนอกน่านน้ำ ก็จะถูกพวกฮิวแมนไรท์เอย อเมริกาเอย อียูเอย รุมประณามว่าไร้มนุษยธรรม แล้วหาเรื่องลดระดับความสัมพันธ์หรือตั้งกำแพงกีดกันการค้ากับเรา ปัญหามันซับซ้อน จะแก้ให้ได้คงต้องคิดกันให้ดีๆ ว่าจะแก้ปัญหานี้ยังไง คงต้องหาทางเลือกที่ดีที่สุด ที่ทำให้ประเทศเราได้รับผลน้อยที่สุดในระยะยาวนั่นแหละ”

นอกจากนี้ ยังมีเพจ “ไม่เอา “โรฮีนจา” เข้าประเทศ” อีกด้วย ถึงตอนนี้ก็มีผู้เข้ามากดไลค์กว่า 7200 คนแล้ว


ทางออกมีมากกว่า 2 ทางหรือเปล่า?

ท่ามกระแสร้อนแรงของการแสดงความเห็นที่ถาโถมไปทางฝั่งผลักดันให้โรฮีนจาออกไปจากประเทศ จากการนำเสนอเชิงดรามา รวมกับข่าวชาวโรฮีนจาประท้วงเพื่อขอเพิ่มคุณภาพอาหารซึ่งเป็นข่าวที่ออกมาจากปากคำของล่ามชาวพม่าประจำสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยระบุว่า ชาวโรฮีนจาบางส่วนร้องเรียนว่าอาหารที่จัดให้วันละ 75 บาทต่อหัวต่อคน ไม่เพียงพอกับความต้องการในการบริโภคต่อมื้อ แน่นอนว่า ยิ่งสุมไฟความรู้สึกที่อยากจะผลักดันกลุ่มคนเหล่านี้ออกนอกประเทศให้เร็วที่สุด

กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช หัวหน้าภาควิชาสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์มองกระแสดังกล่าวว่ามาจากที่สังคมไทยในยุคหลังมีลักษณะการต่อสู้ทางความคิดแบบสุดโต่ง จำกัดตัวเลือกในการแก้ไขปัญหาอยู่เพียงสองทางเลือกเท่านั้น

“ด้านหนึ่ง คือถ้าจะมีตัวเลือกก็คือแค่รับและไม่รับชาวโรฮีนจาเข้ามาในประเทศไทยทั้ง ๆ ที่ในสถานการณ์นี้ เราอาจจะสร้างตัวเลือกที่สาม สี่ ห้า และตัวเลือกแบบมีเงื่อนไขได้มากมาย นอกจากนี้ กระแสต่อต้านขับไล่ชาวโรฮีนจายังมีลักษณะคล้ายวิกฤตการเมืองไทย กล่าวคือ เน้นการนำเสนอข้อมูลของฝ่ายตัวเองเพียงด้านเดียว และมุ่งโจมตีฝ่ายตรงข้ามด้วยประเด็นที่ฝ่ายตรงข้ามเป็นรองกว่า พูดง่ายๆ คือ ไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้ลึกซึ้งเลย”

โดยกรณีการนำเสนอข่าวของนักข่าวช่องชื่อดัง เขามองว่ามีการเสนอประเด็นที่สุ่มเสี่ยงมาหลายครั้งโดยมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งมีส่วนเป็นการเตรียมที่จะทำให้เกิดดรามาในกรณีของชาวโรฮีนจาตั้งท่ารอไว้ก่อนแล้ว

“พอหลังจากการนำเสนอของช่องซึ่งเป็นฉากเรียกน้ำตามากกว่าที่จะร่วมหาทางออกหรือให้ข้อมูลที่รอบด้านแก่สังคม ดรามามันเลยเกิดขึ้นง่าย”

แต่จากดรามาเรียกร้องความเห็นใจกลับกลายเป็นกระแสเห็นแย้งพร้อมแสดงจุดยืนให้ผลักดันชาวโรฮีนจาออกนอกประเทศ เขาเผยว่า มีส่วนมาจากยุคปัจจุบันที่คนค้นหาข้อมูลข่าวสารกันได้ง่ายขึ้น แต่ก็อาจจะไม่ค่อยได้ไตร่ตรองให้น้ำหนักกับเหตุผลในการพิจารณาประกอบการตัดสินใจ

“พอมีคนหนึ่งขุดคุ้ยพบว่า ชาวโรฮีนจามีประวัติศาสตร์ที่ไม่ดี หรือชอบเรียกร้องอะไรมากเกินไป ก็ไม่ได้ใช้วิจารณญาณกันเลยว่า ถึงแม้เรื่องนั้นอาจจะจริง แต่หลายๆ คนก็ไม่ได้ฉุกคิดว่า เด็กชาวโรฮีนจาวัยแบเบาะที่อายุตั้งแต่ทารกจนถึงวัยไม่รู้เดียงสาอยู่บนเรือเหล่านั้น น่าจะได้รับการช่วยเหลือมากกว่าการให้น้ำและอาหารที่ทานได้สองวันแล้วเชิญออกทะเลไปหรือไม่ สถานการณ์กระแสตีกลับตอนนี้เป็นลักษณะหาเหตุผลมาสนับสนุนความเชื่อของตัวเอง ให้รู้สึกว่าสบายใจ ตนเองนั้นไม่ได้กระทำผิดศีลธรรมใดๆ”

ในส่วนของทิศทางการรายงานข่าวในปัจจุบันนั้น เขามองว่า ควรมีการรายงานข่าวให้ครบทุกด้านเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาทั้งหมดได้ในท้ายที่สุด

“สื่อต้องเป็นตะเกียงที่จะช่วยส่องนำสังคม ร่วมกันหาทางออก ไม่ใช่ใครออกมาพูดก็โดนเหตุผลไร้สาระโต้กลับว่า “พวกโลกสวย รับชาวโรฮีนจา ไปเลี้ยงสักคนไหม” ถ้าสื่อที่รายงานข่าวเป็นอาจจะร่วมกันทำให้ทุกคนฉุกคิดว่า ทำไมตอนเนปาลเกิดแผ่นดินไหวเรายังร่วมแรงร่วมใจไปช่วยชาวเนปาลได้ แล้วกรณีชาวโรฮีนจาเราเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ถึงแม้จะต่างชาติพันธ์ ต่างศาสนา และธุระไม่ใช่ เราพอจะมีอะไรช่วยเหลือเขาได้มากกว่านี้หรือไม่”

ทางออกที่ยังไปไม่ถึง

สิ่งหนึ่งที่ทำให้การช่วยเหลือชาวโรฮีนจาเป็นไปได้อย่างยากลำบากและเพิ่มเงื่อนไขในการช่วยเหลือให้ซับซ้อนยิ่งขึ้นก็คือ ผลกระทบที่จะเกิดตามมา หากไม่ช่วยเหลือก็อาจถูกลดระดับความสัมพันธ์ ถูกประณามจากองค์กรระหว่างประเทศ แต่ถ้าหากช่วย การเพิ่มจำนวนมากขึ้นของผู้ลักลอบเข้ามาในเมืองไทยอาจผิดกฎก็เป็นผลพวงที่จะตามมา ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการจัดการดูแลที่จะก่อผลเสียในระยะยาวต่อไปอย่างทบทวีอีกด้วย

โดยท่าทีของรัฐบาลนั้น พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รู้สึกเป็นห่วงต่อกระแสในสื่อโซเชียลมีเดียขณะนี้ที่แสดงความเห็นในทำนองไม่ต้องการให้รัฐบาลยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือผู้เคลื่อนย้ายอย่างไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ทางรัฐบาลจะปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรมเป็นหลัก

“ขอยืนยันอีกครั้งว่าประเทศไทยไม่มีนโยบายตั้งศูนย์อพยพหรือค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทย เป็นเพียงการจัดหาพื้นที่ควบคุมเป็นการชั่วคราวให้ระหว่างรอเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เนื่องจากพื้นที่ของ ตม.มีความแออัด และประเทศไทยเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาที่สมเหตุสมผล ควรแก้ที่ต้นทางของปัญหา องค์กรนานาชาติที่มีหน้าที่ควรเข้าไปให้การช่วยเหลือพัฒนาสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตของผู้เคลื่อนย้ายเหล่านี้ตั้งแต่ประเทศต้นทาง เพื่อไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้ายออกมายังประเทศอื่น”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่านั้น จนถึงปัจจุบันมี 9 ศูนย์ กระจายอยู่ใน 4 จังหวัด คือ ตาก แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี และราชบุรี เปิดมาแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี บางแห่งเกือบ 30 ปี โดยช่วงแรกต่างชาติสนับสนุน และใช้ชื่อว่า "พื้นที่พักพิงชั่วคราว" แต่พอเปิดขึ้นจริงๆ กลับกลายเป็นพื้นที่พักพิงถาวร จนถึงปัจจุบันยังมีผู้หนีภัยจากการสู้รบอาศัยอยู่นับแสน ได้แก่ 1.พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก จำนวน 30,673 คน 2.พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านอุ้มเปี้ยม อ.พบพระ จ.ตาก จำนวน 12,692 คน 3.พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านนุโพ อ.อุ้มผาง จ.ตาก จำนวน 15,923 คน 4.พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านใหม่ในสอย อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 13,548 คน 5.พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่ลามาหลวง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 14,425 คน 6.พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่ละอูน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 15,694 คน 7.พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่สุริน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 2,248 คน 8.พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านต้นยาง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี จำนวน 3,104 คน 9.พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านถ้ำหิน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี จำนวน 4,397 คน รวม 9 แห่ง 112,704 คน เป็นชาย 54,463 คน หญิง 58,241 คน!

ถึงตอนนี้ปัญญาโรฮีนจามีผู้ออกมาแสดงความเห็นในส่วนของทางออกอยู่บ้าง นักวิชาการท่านหนึ่งมองว่าควร “รับชั่วคราวเฉพาะหน้ามากๆ อย่างมีเงื่อนไข” โดยมีการตั้งศูนย์ชั่วคราวและเจรจากับประเทศต่างๆ โดยการผลักดันออกนอกประเทศก็ถือว่ามีเหตุผล ซึ่งอาจต้องให้มาตรการ “รับบ้าง ผลักบ้าง” เพื่อป้องกันการเข้ามามากเกินไป แต่ก็ยังเป็นทางออกที่ไม่ดีนัก



ปัญหาที่ยากจะแก้ไขของชาวโรฮีนจาด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องไกลตัวและเกินกว่ามนุษยธรรมของประเทศไทยจะร่วมแก้ไขปัญหานี้ได้ทั้งหมด แต่การปฏิเสธปัญหาทั้งหมดอย่าง ไร้มนุษยธรรม ก็อาจจะเป็นไม้แข็งเกินไปที่ส่งผลเสียในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระยะยาวได้ กระแสสังคมถาโถมไปทางฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากเกินไปอาจต้องเบาเสียง เพื่อร่วมกันหาตรงกลางของปัญหาเพื่อให้เจอทางออกที่อย่างน้อยเยี่ยวยาปัญหาให้เบาบางลงได้บ้าง

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754








กำลังโหลดความคิดเห็น