โศกนาฏกรรมหลายระลอกของวงการจักรยานอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างขึ้นได้ หากมองอย่างมีหวัง หลายสิ่งหลายอย่างอาจดีขึ้น ถนนจะอันตรายน้อยลง ถนนจะปลอดภัยพอให้ทุกชีวิตได้ใช้สัญจรร่วมกัน แต่อุดมคตินั้นไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นง่ายๆ เมื่อล่าสุดทิศทางกลับเป็นการรื้อเอา “ใบขับขี่จักรยาน” พร้อมทั้งมาตรการกวดขันผู้ใช้จักรยานทั้งการขับขี่และอุปกรณ์จักรยาน จนเกิดเป็นคำถาม มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ถนนปลอดภัยได้มากขึ้นจริงหรือ?
กฎของนักปั่น
จักรยานกลายเป็นพาหนะที่หายไปจากท้องถนนของประเทศไทยเป็นช่วงเวลายาวนานจน “ใบขับขี่จักรยาน” กลายเป็นสิ่งสาบสูญหายไปกับยุคเปลี่ยนผ่านที่ถนนกลายเป็นพื้นที่ของรถยนต์และมอเตอร์ไซค์เป็นหลัก แต่กระแสโลกก็ย้อนกลับคืนและส่งผลถึงประเทศไทย กลุ่มผู้ใช้จักรยานที่แฝงตัวอยู่กลับมามีมากขึ้น จับกลุ่มรวมตัวสร้างสังคมที่มีผู้เข้าร่วมากขึ้น จนทุกวันนี้คนปั่นจักรยานตามถนนเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ไม่ยากนักโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ
ทว่าเมื่อมีผู้ใช้จักรยานมากขึ้น อุบัติเหตุที่เกิดกับผู้ใช้จักรยานก็ปรากฏขึ้นตาม และกลายเป็นปัญหาร้ายแรงที่หลายกรณีถึงขั้นเสียชีวิต โศกนาฏกรรมนักปั่นเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมไทย ก่อเกิดเป็นการรวมตัวเพื่อแสดงจุดยืนเรียกร้องโดยมีแคมเปญแรงอย่าง “หยุดฆ่านักปั่น” และ “เมา + ขับ = ฆาตกร” ก่อนรวมตัวยื่นหนังสือวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมาโดยมีเนื้อหาใจความถึงการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกวดขันต่อผู้ที่มีพฤติกรรมเมาแล้วขับ
แต่...ผลกลับเป็นใบขับขี่จักรยานที่จะนำกลับมาบังคับใช้จากที่เคยยกเลิกไปเมื่อปี 2546 และตามติดด้วยมาตรการเข้มงวดต่อผู้ขับขี่รถจักรยานตามลำดับ
ธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า แนวคิดที่จะให้มีการทำใบขับขี่จักรยานนั้นเป็นเรื่องที่ดีซึ่งการกำหนดอายุของผู้ใช้จักรยานบนถนนหรือทางสายหลักจะเป็นการกำหนดในเรื่องความปลอดภัยของผู้ขับขี่ซึ่งสามารถทำได้โดยการใช้พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522มารองรับในการบังคับใช้ ประชาชนที่จะเข้ารับใบอนุญาตจะต้องมีการอบรมในเรื่องกฎจราจรทำแบบทดสอบโดยหลักการจะคล้ายกับการทำใบอนุญาตขับขี่รถยนต์หรือจักรยานยนต์ และอาจมีการอบรมความรู้เพิ่มเติมในการใช้ทางร่วมกับรถทั่วไป
หลังการเคลื่อนไหวของกรมการขนส่งทางบก กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) เป็นอีกหน่วยงานที่มีส่วนต้องรับผิดชอบกับเหตุที่เกิดขึ้น มาตรการกวดขับการใช้รถใช้ถนนเป็นเครื่องมือหนึ่งที่อยู่ในมือซึ่งครั้งนี้ดูจะแตกต่างจากทุกครั้งเมื่อผู้ที่ถูกบังคับใช้กลับเป็นฝ่ายของเหยื่อเคราะห์ร้าย หรือก็คือบรรดาผู้ใช้จักรยานนั่นเอง
โดยทางกองบังคับการตำรวจจราจรได้แจ้งว่า สาเหตุส่วนใหญ่ของอุบัติเหตุมาจากความประมาทของผู้ขับขี่รถยนต์ จึงได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ใช้รถจักรยานในทางรถ ไหล่ทาง หรือทางจักรยานต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อป้องกันความปลอดภัยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 และยังมีมาตรการในควบคุมการขับขี่โดยจจะมีการลงโทษเป็นค่าปรับไม่เกิน 200 - 500 บาท
ยอมรับกฎถ้าถนนปลอดภัยขึ้นจริง!
การออกกฎดังกล่าวภายหลังโศกนาฏกรรมด้านหนึ่งถือเป็นการปรามให้ระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ราวกับเป็นเสียงกล่าวโทษจากภาครัฐที่มองว่า การขับขี่อันไม่มีระเบียบของกลุ่มจักรยานอาจเป็นต้นเหตุของสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย
ในมุมของผู้ใช้จักรยานมองว่าแนวคิดดังกล่าวอาจไม่เกิดประโยชน์มากนัก ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ ผู้ประสานงานโครงการจักรยานกลางเมือง มูลนิธิโลกสีเขียว มองว่าแนวคิดผิดหลักการของการมีใบขับขี่ อีกทั้งในส่วนของอันตรายที่เกิดจากผู้ขับขี่ก็มีความเป็นไปได้ต่ำอีกด้วย
“ผมคิดว่าเราต้องมาคิดในเรื่องเจตนาของการมีใบขับขี่ วันก่อนผมเคยคุยกับรุ่นน้องปั่นจักรยานแล้วได้คุยเรื่องกฎหมาย การที่จักรยานยนต์และรถยนต์ต้องมีใบขับขี่เพราะว่าการขับพาหนะที่มีเครื่องยนต์เป็นพาหนะที่มีอันตรายถ้าหากควบคุมมันได้ไม่ดี มันก็จะเป็นอันตราย เกิดความเสียหายทรัพย์สินและชีวิตคนอื่นได้ ภาครัฐจึงต้องมีการทำใบอนุญาตขับขี่ เพื่อการันตีว่าคนที่ครอบครองสามารถใช้งานควบคุมมันได้อย่างถูกต้อง นี่คือเจตนาของการที่มีใบขับขี่ออกมา”
แต่ในช่วงของจักรยานนั้น เขามองว่าเป็นพาหนะที่ไม่มีเครื่องยนต์ ดังนั้น จึงทำอันตรายได้ค่อนข้างน้อยมาก โอกาสที่จะบาดเจ็บถึงตายไม่ได้สูง ทำให้มาตรการดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักการที่ทำให้เกิดใบขับขี่รถยนต์ขึ้น
“ถ้าอยากจะทำมันคงต้องมีเหตุผลอื่น อย่างเช่น ทำเพื่อกระตุ้น สนับสนุนให้คนออกมาสัญจรใช้จักรยานกัน อย่างตอนนี้มีกระแสสังคมออกมาบอกว่าถนนไม่ใช่พื้นที่ของจักรยาน คนบางคนอ้างว่าจักรยานไม่เห็นต้องมีใบขับขี่เลย จักรยานไม่เห็นต้องเสียภาษีเลยบอกว่าถนนไม่ใช่พื้นที่ของจักรยาน ถ้าเกิดเราเอาเรื่องของใบขับขี่จักรยานมาใช้เป็นตัวยืนยันว่า ถนนเป็นพื้นที่ๆ จักรยานขี่ได้จริง ตรงนี้ก็จะช่วยส่งเสริม”
ด้าน สันติ โอภาสปกรณ์กิจ อุปนายกสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย มองว่าในทางสถิติแล้วการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในเมืองไทยนั้น ส่วนมากมาจากการเมาแล้วขับ การแก้ไขปัญหาจึงควรแก้ที่จุดนั้นมากกว่า การทำใบขับขี่จักรยาน รวมถึงมาตรการเข้มงวดของเจ้าหน้าที่เขาไม่แน่ใจว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุได้
“ผมบอกไม่ได้ว่ามันตรงจุดหรือไม่ แต่อุบัติเหตุ...จะเรียกอย่างไรดีล่ะ กรณีที่ผ่านมามันเกิดจากเมาแล้วขับชน แทบจะเป็นฆาตกรรมในมุมมองของนักปั่นจักรยานด้วยซ้ำ ต้นเหตุมันไม่ได้มาจากการขับของนักปั่น การกวดขันตรงนี้ผมจึงไม่แน่ใจว่ามันจะช่วยลดอุบัติเหตุได้หรือเปล่า”
อย่างไรก็ตาม หากมีกฎออกมาบังคับใช้ในมุมของนักปั่นก็ยินดีที่จะปฏิบัติตามเพื่อให้เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัย ซึ่งโดยปกติในกลุ่มปั่นจักรยานต่างๆ ก็มักจะมีกฎระเบียบเพื่อความปลอดภัยของกันและกันอยู่แล้ว กฎที่นำมาควบคุมส่วนใหญ่จึงไมได้สร้างความเดือดร้อนให้ผู้ใช้จักรยานที่ปั่นตามถนนสักเท่าใดนัก เพียงแต่เขาอยากจะทราบถึงรายละเอียดจากฝั่งรัฐบาลเท่านั้นว่าเหตุใดจึงตัดสินใจดำเนินการลักษณะนี้ หากมีเหตุผลเพียงพอ หากปฏิบัติตามแล้วจะช่วยลดอุบัติเหตุได้ คนปั่นจักรยานก็ยินดีทำตามกฎระเบียบอยู่แล้ว
“ผมไม่แน่ใจว่าการเข้มงวดกวดขันกับผู้ขับขี่จักรยานอาจช่วยลดอุบัติเหตุได้ ทางตำรวจอาจจะมีข้อมูลสถิติที่บ่งชี้อย่างนั้น ตัวผมเองก็อยากจะให้ตำรวจออกมาชี้แจ้งสิ่งที่พวกเขาคิดอยู่เหมือนกัน เพราะพวกเรากลุ่มคนขับจักรยานก็ยินดีจะปฏิบัติตามกฎ กฎก็คือกฎ ถ้ามันช่วยได้จริง ช่วยให้ถนนปลอดภัยขึ้นเราก็ยอม”
ในส่วนของพฤติกรรมขับขี่จักรยานของคนไทยนั้น เขามองว่า โดยรวมแล้วพฤติกรรมของการใช้รถใช้ถนนเมืองถือว่าปัญหาแทบทั้งหมดปะปนกันไป ไม่อาจชี้ชัดได้ว่ากลุ่มคนขับจักรยานมีมารยาทในการขับขี่ดีที่สุด
“เราไม่สามารถบอกได้ว่า กลุ่มคนขับจักรยานมีมารยาทดีกว่าคนขับรถประเภทอื่น แน่นอน คนใช้รถใช้ถนนในประเทศไทยต่างมีพฤติกรรมในการขับขี่ที่มีทั้งดีและแย่ในกลุ่มของตนเอง รถที่ขับดีก็มี จักรยานที่ขับแย่ก็มี แต่กลุ่มจักรยานก็พยายามกวดขันกันและกันให้ขับรถกันอย่างปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะจักรยานเป็นกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนนที่อ่อนแอที่สุด เราก็รักตัวกลัวตายเหมือนกัน”
ใครคือปัญหา?
การแก้ไขปัญหาด้วยการออกกฎข้อห้ามถือเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่รัฐบาลสามารถใช้ในการปกครอง ใช้ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ ทว่า ในเรื่องของอุบัติเหตุด้านการคมนาคมที่เกิดขึ้น มันอาจไม่ใช่ทางออกเดียว อีกทั้งยังไม่ใช่ทางออกที่จะแก้ไขปัญหาได้
ในบางครั้งทางออกที่ผิดที่ผิดทางก็อาจสร้างปัญหาได้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะเมื่อมันมาจากทัศนคติที่ผิดเพี้ยน
ผศ.ดร. ปนัดดา ชำนาญสุข ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาระบบงานสอบสวนอุบัติเหตุเพื่อการแก้ไขและป้องกันอย่างบูรณาการ มองเห็นความผิดเพี้ยนทางกระบวนการคิดในการออกมาตรการเหล่านั้นอย่างชัดเจน
“สิ่งนี้สะท้อนวิธีคิดที่ผิดเพี้ยนของผู้รับผิดชอยด้านการคมนาคมของประเทศนี้ทั้งหมด!” เธอเอ่ยถึงแนวคิดดังกล่าวก่อนลงรายละเอียด “ผู้รับผิดชอบควรคิดถึงการคมนาคมที่ดี แต่ภาครัฐกลับผลักภาระให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนต้องดูแลตัวเอง จนเกิดเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่า คนที่ดูแลระบบทำให้ระบบให้เหมาะสมหรือยัง?”
โดยทั่วไปการคมนาคมในกระแสโลกนั้นมุ่งไปที่การลดใช้พลังงาน เธอเผยว่า มี 2 หนทางด้วยกันที่จะทำแบบนั้น 1 คือพัฒนาขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 2 คือส่งเสริมให้คนใช้จักรยานหรือเดินกันให้มากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่คสรทำจึงเป็นการสร้างการคมนาคมที่รองรับ มีถนนที่ปลอดภัย มีเลนจักรยานที่ต้องกลับมาพัฒนาอย่างจริงจัง แนวคิดการกลับมาใช้ใบขับขี่รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย เธอมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่อยู่ในกรอบคิดเก่ง
“การกลับไปใช้ใบขับขี่จักรยานและบังคับใช้กฎหมายเป็นความคิดที่โบราณมาก ติดอยู่กับกรอบความคิดเก่าที่ให้บังคับปัจเจกให้เปลี่ยนแปลงรับผิดชอบตามที่รัฐต้องการ ซึ่งอีกด้านมันก็เป็นภาพสะท้อนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่รถใหญ่ เร็ว แรง ไม่ถูกจัดการ คนเล็กคนน้อยที่ใช้พลังงานน้อยกลับถูกเบียดขับให้ออกไปจากท้องถนน”
สิ่งที่ควรเกิดขึ้นไม่ใช่การออกกฎควบคุมสั่งการราวกับประชาชนไม่รู้เรื่อง ไม่มีความรับผิดชอบ แต่กลับกัน ผู้จัดการระบบควรมีการให้ใช้ถนนร่วมกันได้
ในส่วนของการสร้างระบบที่ดีนั้น เธอมองว่า ต้องทำให้เกิดความปลอดภัย โดยยกตัวอย่างการจัดการจักรยานที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งมีการปรับถนนให้รองรับจักรยานก่อน มีการออกแบบระบบไปคู่กับการเทรนให้คนรู้จักกฎระเบียบ สร้างวัฒนธรรมการขับขี่ และความรู้ในเรื่องสัญลักษณ์ต่างๆ จนถึงอุปกรณ์จักรยานที่ทำให้มีราคาย่อมเยาว์ลงด้วย
“ถ้าอยากให้เป็นเมืองจักรยานจริงๆ อยากให้เป็นเมืองที่มีการใช้พลังงานน้อยจริงๆ รัฐบาลก็ต้องพัฒนาคมนาคมให้ดีก่อน ทำเลนจักรยานที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้คนมาใช้จักรยานมากขึ้น และควบคุมราคาอุปกรณ์ต่างๆ ตัวอย่างเช่น หมวกกันน๊อกมันควรมีการควบคุมให้หมวกกันน๊อกที่ใช้ได้ตามมาตรฐานมีราคาถูก มันควรเป็นสวัสดิการสังคมอย่างหนึ่งด้วยซ้ำเพราะมันคือความปลอดภัย ดังนั้นจักรยานพวกนี้ควรมีราคาที่ถูกเพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่ายเป็นส่งเสริมให้หันมาใช้จักรยาน เมื่อองค์ประกอบทุกอย่างมันครบแล้ว มาตรการในการใช้กฎหมายควบคุมจึงจะตามมา แต่ทำแบบนี้ไม่มีประโยชน์”
…
ในคำป่าวประกาศอันใหญ่โตของเจตจำนงชวนฝันแห่งการเป็นเมืองจักรยาน ทว่าประเทศไทยกลับลงเอยด้วยการเป็นประเทศแห่งโศกนาฏกรรมจักรยานที่เกิดเหตุขึ้นไม่เว้นเดือน ท้ายที่สุดลงเอยด้วย “ใบขับขี่จักรยาน” ปัญหาที่ฝังรากลึก การเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่มาถึง บทลงเอยที่เกิดขึ้นต่อจากนี้ หากผู้รับผิดชอบยังมองปัญหาไม่ตรงจุด คิดและมองอย่างที่อุบัติเหตุคือเรื่องที่รอวันเกิด มิใช่เรื่องที่ต้องป้องกัน โศกนาฏกรรมก็คงเป็นบทลงเอยอีกบทที่จะกลายเป็นกระแสอีกครั้งแล้วครั้งเล่า
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754