xs
xsm
sm
md
lg

จัดหนัก! “แบล็กลิสต์แท็กซี่” ป้ายประหารที่สังคมต้องการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ถูกจัดหนักไปเรียบร้อย! สำหรับแท็กซี่ผู้มีรายชื่อติดแบล็กลิสต์เอาไว้หน้าห้างฯ “สยามพารากอน” ทั้งหมด 54 ราย ระบุเลขทะเบียนรถและสังกัดเอาไว้ชัดจนดิ้นไม่หลุด กรมการขนส่งฯ ไม่ปล่อยผ่าน สังคมเห็นดีเห็นงาม เรียกร้องขอจุดจัดการแท็กซี่ที่สร้างสรรค์แบบนี้ให้ทั่วกรุง!




ได้ใจขาชอป! ป้ายประจานจาก “พารากอน”
เพราะภาพถ่ายของผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อ "Pippin Pippinz" โพสต์ภาพป้ายประกาศหน้าห้างสรรพสินค้าชื่อดังอย่าง “สยามพารากอน” ซึ่งเขียนรายละเอียดตัวโตๆ เอาไว้ว่า “ทะเบียนรถแท็กซี่ ปฏิเสธผู้โดยสาร เดือนมีนาคม 2558” ตามมาด้วยป้ายทะเบียนรถของโชเฟอร์ผู้กระทำผิดอีก 54 ราย ทำเอาภาพดังกล่าวกลายเป็นที่ถูกอกถูกใจสังคมออนไลน์ แชร์กันให้สนั่นหวั่นไหว หลายต่อหลายคนเข้ามาชื่นชมความเอาใจใส่ของห้างฯ ดังที่กล้าออกตัวแรง จัดการปัญหาเรื้อรังด้วยวิธีสร้างสรรค์ จนถูกมองว่าอาจเป็นโมเดลตัวอย่างให้แก่จุดบริการแท็กซี่ตามห้างฯ และสถานประกอบการอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

(ต้นฉบับภาพแชร์สนั่น ป้ายประจาน แท็กซี่ผู้ปฏิเสธผู้โดยสาร)
"เพิ่งเห็นป้ายนี้เป็นครั้งแรก" คือคำบรรยายที่เจ้าของภาพถ่ายโพสต์เอาไว้บนโลกออนไลน์จนกลายเป็นกระแส ถือเป็นวิธีการจัดการปัญหาแท็กซี่ที่แปลกใหม่และน่าสนใจ แต่ความจริงแล้ว นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ผู้บริหารห้างฯ สยามพารากอน เจ้าของความคิดป้ายประจานแท็กซี่ไร้สำนึกเหล่านี้ บอกว่าเริ่มใช้มาหลายเดือนแล้ว เพราะเหนื่อยใจกับแท็กซี่หลายรายที่ปฏิเสธผู้โดยสาร ซึ่งนอกจากจะถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายแล้ว ยังสร้างความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าที่เฝ้าโบกคันแล้วคันเล่าแต่ไม่มีใครไป จนส่งผลกระทบมายังภาพลักษณ์ของทางห้างฯ จึงตัดสินใจออกมาจัดการปัญหาให้เห็นเป็นรูปธรรม จดรายชื่อแท็กซี่เหล่านั้นและส่งให้กรมการขนส่งทางบกเอาผิดเป็นประจำทุกเดือน

ผลการจัดการครั้งล่าสุด จากรายชื่อแท็กซี่ในแบล็กลิสต์ทั้งหมด 54 ราย ปรากฏว่าทางกรมการขนส่งทางบกเรียกให้เข้ามารายงานตัวทุกรายแล้ว โดยได้เปรียบเทียบปรับไป 31 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เอง พบว่ามีผู้กระทำความผิดซ้ำ 2 ราย จึงได้สั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถเป็นเวลา 7 วันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังมีการส่งตัวผู้กระทำผิดทุกรายเข้ารับการอบรมเพื่อสร้างจิตสำนึกการให้บริการที่ดีด้วย ส่วนอีก 23 รายที่เหลือ ยังอยู่ในระหว่างติดตามตัวให้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหาและตรวจสอบข้อเท็จจริง


ธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ให้รายละเอียดเกี่ยวกับกรณีนี้เอาไว้ว่า ป้ายประกาศของห้างฯ สยามพารากอนนั้น ถือเป็นหนึ่งในกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับผู้ประกอบการภาคเอกชน คือเมื่อทางห้างฯ ตรวจสอบการให้บริการและพบการกระทำความผิด ก็จะบันทึกพฤติกรรม รายละเอียด และนำข้อมูลส่งมาให้กรมการขนส่งทางบกจัดการตามกฎหมายต่อไป

ส่วนความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับการจัดระเบียบการให้บริการรถแท็กซี่นั้น ทางกรมการขนส่งทางบกกำลังจัดระเบียบห้างสรรพสินค้าทั้ง 4 แห่งในย่านราชประสงค์ ได้แก่ ห้างฯ มาบุญครองเซ็นเตอร์, ห้างฯ สยามพารากอน, ห้างฯ เซ็นทรัลเวิลด์ และห้างฯ แพลทินัม แฟชั่นมอลล์ เพื่อแก้ปัญหาการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน พร้อมทั้งตรวจสอบแท็กซี่ที่กระทำผิด ปฏิเสธผู้โดยสาร, ไม่ใช้มิเตอร์, ทิ้งผู้โดยสาร ปัญหาการแต่งกาย ฯลฯ ทั้งยังขอความร่วมมือกับห้างฯ ใหญ่ทั้ง 4 แห่งเรื่องติดตั้งกล้อง CCTV ที่จุดจอดรถแท็กซี่และติดป้ายเตือนให้โชเฟอร์ปฏิบัติตามกฎหมายด้วย




ภาพลักษณ์ดีๆ ที่ควรคว้าไว้!
นานๆ ทีจะได้รับคำชมแบบนี้ โดยเฉพาะเรื่องการจัดการรถแท็กซี่ บอกเลยว่าคงไม่มีเข้ามาหาทางกรมการขนส่งทางบกได้บ่อยๆ ถ้าวัดจากสถิติที่เคยเกิดขึ้นตลอดทางที่ผ่านมา นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จึงมองว่าครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีมากๆ ที่ทางกรมจะหยิบเอาโมเดลที่ได้ผลและโดนใจคนในสังคมแบบนี้มาขยายผลต่อให้เกิดประสิทธิภาพ

“การมีจุดจัดการที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องแท็กซี่ให้ผู้โดยสารแบบนี้ ผมว่าเป็นโมเดลที่ดีมากนะครับ ถือเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยทำให้พลังของผู้บริโภคได้รับการตอบสนองอย่างที่ควรจะเป็นได้ดีขึ้น เราสามารถจะหยิบมาขยายผลต่อไปได้ ถ้าไม่มองแค่จุดจัดการแท็กซี่ที่มีอยู่ตามห้างฯ แต่ยังมีจุดอื่นๆ อีก เช่น โรงแรม, โรงพยาบาลใหญ่, สถานีขนส่งอย่างหมอชิต ฯลฯ สถานที่เหล่านี้ก็ประสบปัญหาไม่ต่างจากผู้มารับบริการที่ห้างพารากอน เพียงแต่เราจะทำยังไงให้เจ้าของห้างฯ อื่นๆ หรือผู้ประกอบการรายอื่นๆ อยากเข้ามาทำบทบาทตรงนี้เหมือนที่ทางห้างฯ พารากอนทำ

อาจจะต้องมีแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ พอมีฟีดแบ็กจากสังคมกลับมาในลักษณะชื่นชมแบบนี้ก็ถือเป็นแรงจูงใจที่ดีอย่างหนึ่งเหมือนกัน มันก็สร้างความ Loyalty ลูกค้าอยากจะมาใช้บริการห้างฯ นี้อีก ถือว่าเป็นห้างฯ ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ไม่ใช่แค่เรื่องการบริการด้านซื้อขายสินค้า แต่รวมไปถึงอำนวยความสะดวกในจุดจัดการแท็กซี่ด้วย จากก่อนหน้านี้ที่คนอาจจะเลือกห้างฯ ติดรถไฟฟ้าเป็นทางออกเอาไว้ก่อน แต่บางครั้งชีวิตจริงตอนชอปปิ้งมันไม่ง่ายในการขนของขึ้นรถไฟฟ้า สุดท้ายก็ต้องพึ่งแท็กซี่อยู่ดี เพราะฉะนั้น จากฟีดแบ็กดีๆ ที่เกิดขึ้นกับการจัดการของทางพารากอน เราจะทำยังไงให้กระแสตรงนี้ขยายผลไปมากขึ้น ผมอยากเห็นห้างฯ อื่นๆ เข้ามาจัดการจุดจอดรถแท็กซี่แบบนี้ครับ

ผมคิดว่าทางฝั่งกรมการขนส่งฯ ควรมองเรื่องนี้เป็นโอกาสไปเลย อาจจะทำเอกสารบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU: Memorandum of Understanding) ขึ้นมาเลยระหว่างทางห้างฯ กับกรมการขนส่งฯ เพราะทุกวันนี้ห้างฯ ใหญ่ๆ ที่มีอยู่ก็มีไม่กี่เจ้า เช่น เครือเซ็นทรัล, เดอะมอลล์, กลุ่มบิ๊กซี ฯลฯ แค่สร้างความร่วมมือไม่กี่เจ้าก็ทำให้ครอบคลุมไปได้ในระดับหนึ่งแล้ว พอกลายเป็นความร่วมมือกันแบบนี้ ข้อมูลรายชื่อแท็กซี่ที่ถูกแบล็กลิสต์ก็จะถูกส่งไปให้ทางหน่วยงานได้ตามที่ตกลงกัน ถือเป็นความร่วมมือกันในเชิงสังคมที่ทุกฝ่ายช่วยกันสอดส่องเพราะไม่อยากเห็นรถแท็กซี่ที่ใช้ช่องเล็กช่องน้อยเอาเปรียบผู้โดยสารอย่างที่มีอยู่”


ระบบการร้องเรียนผ่านศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ “1584” และแอปพลิเคชัน “DLT Check in” ก็ทำหน้าที่ของมันอยู่แล้ว ทำไมจะต้องเพิ่มจุดจัดการแท็กซี่เข้ามาอีกให้? ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนตอบได้เลยว่าเพื่อเป็นการเสริมช่องทางให้เสียงร้องเรียนของประชาชนมีพลังมากยิ่งขึ้น

“ถ้าจะมองว่ามีหนทางร้องเรียนสร้างเอาไว้ให้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องหาจุดจัดการใหม่ๆ เพิ่มก็ได้ อันนี้ก็ต้องกลับไปสู่คำถามที่ว่า ทำไมคนถึงไม่เลือกที่จะร้องเรียนผ่านระบบที่ทางกรมการขนส่งตั้งเอาไว้ให้ เป็นเพราะร้องเรียนแล้วเรื่องหายไปเลยหรือเปล่า แต่ทุกวันนี้ช่องทางการร้องเรียนก็ถือว่าพัฒนาขึ้นมากแล้วครับ เพราะนอกจากจะมีให้โทร.ไปร้องเรียน มีให้ร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ แล้วยังเปิดเป็นแอปพลิเคชันให้ร้องเรียนได้ด้วย


และยิ่งถ้ามีจุดจัดการแท็กซี่อย่างที่เกิดขึ้นกับที่พารากอนแบบนี้ ยิ่งจะทำให้ได้ผลกว่าเดิมอีก เพราะแท็กซี่บางคันที่เดินรถเส้นนั้นประจำ ทำมาหากิน รับลูกค้าตรงนั้นตลอด ถ้าโดนแบล็กลิสต์ มันจะกระทบโดยตรงกับแท็กซี่ได้มากกว่าแจ้ง 1584 อีกบางที แต่การร้องเรียนไปที่ระบบ 1584 ก็ยังมีผลต่อเรื่องการจับปรับอยู่ดีครับ เพราะฉะนั้น เราไม่จำเป็นต้องเลือกว่าจะมีวิธีจัดการ-ร้องเรียนแท็กซี่แบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น เราสามารถใช้ทั้งสองรูปแบบเสริมกันไปได้ ผู้โดยสารจะได้มีช่องทางในการร้องเรียนที่สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทางกรมการขนส่งฯ เองอาจจะต้องเข้ามาเอาข้อมูลแบล็กลิสต์ตรงนี้ไปเข้าระบบ เพื่อเอารายชื่อแท็กซี่ที่ปฏิเสธผู้โดยสารไปตรวจสอบว่าทำผิดซ้ำหรือเปล่า ถ้าทำผิดซ้ำ ปฏิเสธซ้ำๆ บทลงโทษก็จะแรงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ไปในที่สุด


ผมยกตัวอย่าง วินรถตู้ที่ไปอยู่ตามจุดต่างๆ วินตรงนั้นก็จะค่อนข้างใส่ใจกับการจัดการวินของกลุ่มเป้าหมายของเขา โดยเฉพาะวินรถตู้ใน ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จะเห็นว่ามหาวิทยาลัยเขาลงมาจัดการเองเลยนะครับ คือตกลงกับวินเลยว่าถ้าจะมาตั้งวิน ใช้พื้นที่ของทางมหาวิทยาลัยรับ-ส่งนักศึกษาเขาไป-กลับ มหาวิทยาลัย-อนุสาวรีย์ เขากำหนดเงื่อนไขเอาไว้เลยว่า จะตั้งวินได้ รถตู้ต้องให้นักศึกษาคาดเข็มขัดนิรภัย ไม่ขับรถเร็วเกินกำหนด ห้ามทำรอบ กำหนดไว้เลยว่าวันหนึ่งเข้าได้ไม่เกินกี่กะ และเขาก็ทำได้ตามนั้น นี่คือตัวอย่างที่ดีในการเข้ามาจัดการบริการรถสาธารณะครับ แต่สำหรับแท็กซี่ ผมว่าเอาแค่วางเงื่อนไขไม่ปฏิเสธผู้โดยสารและร่วมมือกันทำให้ได้ก่อนจะดีกว่า

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพบางส่วน: แฟนเพจ “PR.DLT.” เพจอย่างเป็นทางการของกรมการขนส่งทางบก




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น