xs
xsm
sm
md
lg

แท็กซี่กับปัญหาชาวกรุง

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

จะพูดต่อเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่กัน ก็ปรากฏว่าการประชุมของ สปช.ที่สิ้นสุดลงเมื่อวานยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ ออกมาชัดเจน เหลือเถียงกันมากในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ที่ยังถกกันหนักว่าจะให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงดีหรือไม่แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปอะไร

เลยขอคั่นเวลาด้วยเรื่องแนวๆ “ทุกข์ของชาวบ้าน” ก่อน ว่าด้วยเรื่องแท็กซี่

เมื่อสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมา มีเรื่องปัญหาเกี่ยวกับแท็กซี่เป็นประเด็นขึ้นมาสองเรื่อง

เรื่องแรก คือการที่กรมการขนส่งทางบก ออกมาประกาศว่า รถรับจ้างบริการรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “อูเบอร์แท็กซี่” (UBER TAXI) นั้นเป็นบริการ “ผิดกฎหมาย” และจะดำเนินคดีจนถึงที่สุด

กับอีกเรื่อง คือ การที่กระทรวงคมนาคมไฟเขียวให้ขึ้นค่าแท็กซี่ได้ โดยมีประกาศกระทรวงคมนาคมปรับราคาค่าแท็กซี่เป็นอัตราใหม่ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม ที่ผ่านมา

อัตราค่าแท็กซี่ใหม่นั้น สรุปคร่าวๆ คือยังคงเริ่มต้นที่ 35 บาทอยู่ แต่มิเตอร์จะหมุนเร็วขึ้น คือ กิโลที่สองถึงที่ 10 กิโลเมตรละ 5.50 บาท 10 ถึง 20 กิโลเมตร คิดกิโลเมตรละ 6.50 บาท20 ถึง 40 กิโล คิดกิโลเมตรละ 7.50 บาท 40 - 60 กิโลเมตร กิโลละ 8.00 บาท 60 - 80 กิโลละ 9.00 บาท และระยะทางเกินกว่า 80 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลละ 10.50 บาท

ส่วนอัตราตอนรถติด คิดนาทีละ 2 บาท

ราคานี้น่าจะสมประโยชน์กับที่บรรดาแท็กซี่มาเรียกร้องว่า ขณะนี้ค่าแท็กซี่ไม่สอดคล้องกับต้นทุนจริง ซึ่งการที่ค่าแท็กซี่ไม่คุ้มนั้น ก็ทำให้บรรดาแท็กซี่มีอาการเกี่ยงงอน เลือกผู้โดยสาร ใกล้ไม่ไป ไกลก็ไม่ไป มีข้ออ้างมากมายไปส่งรถบ้าง รถติดบ้าง แก๊สหมดต้องไปเติมบ้าง ฯลฯ

แต่บรรดาผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการนั้นก็ออกมาโห่ว่า ปัญหาที่แท็กซี่ทั้งหลายโอดครวญมานั้น มันไม่เกี่ยวกับพฤติกรรมแย่ๆ ที่ผู้คนที่โดยสารแท็กซี่ต่างมีประสบการณ์กันทุกคน ซึ่งหลายเรื่องก็ไม่ได้เกี่ยวกับต้นทุนอะไรเลย

เช่นการขับรถเร็ว ขับรถประมาท เฉี่ยวซ้ายแซงขวา แทรก ปาด มุดแบบไม่เกรงใจใคร ไม่ยอมต่อคิวหวังแซงคอสะพาน บางทีพอแซงไม่ได้เขาไม่ให้เข้าจริงๆ ก็ออกอาการอันธพาลไปปาดหน้าท้าทายบ้าง ทำเอาผู้โดยสารใจหายใจคว่ำ

อันนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องค่าโดยสารจะถูกหรือน้ำมันจะแพงเลย เป็นปัญหาเรื่องสันดานการขับรถล้วนๆ

หรือการเลือกที่จะรับแต่ฝรั่งตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่น แถวสีลม หน้าห้าง CTW มาบุญครอง หรือซอยนานา ที่แท็กซี่ล้วนส่ายหน้าให้คนไทย หรือถึงต้องรับคนไทยขึ้นไปเพราะเป็นคิวรถของห้าง แต่ก็ไปปล่อยลงกลางทางอยู่ดี เพราะฟันค่าโดยสารหรือหลอกเกลี้ยกล่อมให้ไปเที่ยวกลางคืน หรือไปซื้ออัญมณีที่แท็กซี่พวกนี้ได้หัวคิวอยู่ไม่ได้

ไม่นับพวกแท็กซี่บ้าการเมือง ที่ชวนผู้โดยสารคุยเรื่องการเมืองในรถให้อึดอัดผิดใจกัน

ล่าสุดก็มีเรื่องขำไม่ออก ที่นักร้องวัยรุ่นบอยแบนด์จากเกาหลี ก็เรียกแท็กซี่แถวหน้าห้างใหญ่ให้ไปส่งโรงแรมไม่ได้

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อกรมการขนส่งทางบกจะมาเอาเรื่องกับบริการอูเบอร์แท็กซี่ ซึ่งเป็นแท็กซี่รูปแบบใหม่มาจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีให้บริการแล้วในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก เรียกรถผ่านแอพลิเคชั่นมือถือ มีรถให้บริการตั้งแต่รถบ้านไปจนถึงลีมูซีนชั้นดี จ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตเท่านั้น ไม่มีการเกี่ยงงอนหรือปฏิเสธเส้นทาง การขับรถก็มีมาตรฐาน คนขับบริการดี สุภาพเรียบร้อย ขับรถนิ่มนวล ทั้งยังมีระบบประเมินทั้งคนขับและผู้โดยสาร แฟร์กับทุกฝ่าย

แม้ประชาชนผู้โดยสารที่เป็นลูกค้าอูเบอร์จะพอใจ แต่กรมการขนส่งทางบกก็ถือว่าการให้บริการในรูปแบบดังกล่าวผิดกฎหมาย เพราะขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายของไทยรับรองบริการประเภทนี้ ประชาชนผู้หนีจากแท็กซี่ไปมีทางรอดเอากับรถอูเบอร์ ต่างก็ไม่พอใจกรมการขนส่งทางบกเป็นอย่างยิ่งเพราะอารมณ์คล้ายๆ กับหน้าที่ของตัวเองก็ยังไม่ทำให้ดีๆ ดันไปเปิดแนวรบเพิ่ม แถมยังเป็นการลิดรอนสิทธิ ตัดทางเลือกของประชาชนเสียอีกต่างหาก

เมื่อมาต่อด้วยการไฟเขียวขึ้นราคาแท็กซี่ (ที่ให้บริการอย่างไม่ค่อยน่าประทับใจสักเท่าไรนัก) ก็เลยยิ่งทำให้เสียงสวดของประชาชนดังระงม

อันที่จริง หากมองด้วยใจเป็นกลาง การที่กรมการขนส่งทางบกจะบอกว่า รถแท็กซี่อูเบอร์นั้นผิดกฎหมาย ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำ เพราะหากพิจารณาตามเนื้อผ้ากันตามจริงแล้ว บริการดังกล่าวไม่ผิดจากแท็กซี่ “ป้ายดำ” ที่เคยเป็นปัญหากันมากในช่วงสิบยี่สิบปีก่อน โดยเฉพาะในเรื่องความปลอดภัย ที่แท็กซี่ซึ่งไม่ได้เข้าระบบที่ทางราชกรตรวจสอบได้นี้ ผู้ขับขี่เป็นใครก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ ใบขับขี่ที่มีก็เป็นประเภทใบขับขี่บุคคลธรรมดาไม่ใช่ใบขับขี่สาธารณะ ยิ่งรถประเภท UBER X ที่เป็นบริการสำหรับกลุ่มราคาย่อมเยาว์นั้น รถที่มาใช้ขับรับผู้โดยสารจะเป็นรถบ้านขนาดเล็ก เช่น ใช้รถเครื่องยนต์ขนาดไม่เกิน 1.5 ลิตรหรือซิตี้คาร์ด้วยซ้ำ นอกจากนี้การใช้รถที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นรถรับจ้างนำมาใช้รับจ้าง ก็จะมีปัญหาว่าประกันไม่ครอบคลุมหากเกิดอุบัติเหตุ และไม่มีหลักประกันด้วยว่า บริษัทอูเบอร์ของไทยนั้นจะรับผิดชอบได้แค่ไหน

แต่กระนั้น ปัญหาเรื้อรังของแท็กซี่ก็เป็นเรื่องที่กรมการขนส่งทางบกเองก็จะนิ่งนอนใจปล่อยไว้ไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่ออนุญาตให้ปรับค่าโดยสารขึ้นไปอีกแล้ว ก็ควรจะมีมาตรการที่เข้มแข็งเด็ดขาด เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารด้วย ไม่ใช่เป็นเสือกระดาษที่แท็กซี่เองก็ไม่ได้เกรงกลัวอะไร และทำผิดกฎหมาย เช่น การเลือกเส้นทาง ไม่รับผู้โดยสาร หรือขับรถเร็วเกินไป ขับรถไม่สุภาพ ฯลฯ แบบไม่สนใจใคร คนขับบางคนท้าทายให้ผู้โดยสารไปฟ้องกรมการขนส่งด้วยซ้ำ หรืออย่างบางที แม้แต่ขนาดให้ตำรวจโบกให้ ก็ยังไม่ยอมไปส่งก็มี

หมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1584 ที่ให้คนโทร.ไปรายงาน ก็ไม่ค่อยได้ผลจริง หรือถึงมีการเอาเรื่องถึงที่สุด ก็ปรับแค่ประมาณ 500 บาท ซึ่งแทบไม่สะดุ้งสะเทือนอะไร

เช่นนี้ กรมการขนส่งทางบกจึงมีการบ้านอยู่สองเรื่องใหญ่ๆ คือการ “กวาดบ้าน” ทำความสะอาดแท็กซี่ระบบเดิมๆ ให้อยู่ในร่องในรอยตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะไหนๆ ก็ได้อัตราค่าโดยสารเพิ่มแล้ว ก็ควรจะทำหน้าที่ให้ถูกต้องด้วย เช่นนี้กรมการขนส่งจะต้องให้มีระบบการตรวจสอบแท็กซี่ที่ชัดเจนเชื่อถือได้มากกว่านี้ ทั้งปัญหาเรื่องการไม่รับผู้โดยสาร และการขับรถโดยประมาทหรือมารยาทไม่ดี ประกอบกับบทลงโทษที่เพียงพอต่อการบังคับใช้กฎหมาย ให้บรรดาแท็กซี่เกรงใจไม่กล้า “กร่าง” เป็นเจ้าถนนหรือให้ผู้โดยสารต้องง้องอนราวกับเป็นเจ้าเป็นนายก็มิปาน

รวมถึงอาจจะต้องพิจารณาถึงการเปิดช่องทางให้รถแท็กซี่ในรูปแบบอื่น ซึ่งจะรวมถึงอูเบอร์แท็กซี่ด้วย สามารถดำเนินการไปได้ โดยมีกฎหมายรับรู้รับรอง มีกระบวนการตรวจสอบที่ภาครัฐเข้าไปรู้เห็น ประชาชนตรวจสอบได้ มีการคุ้มครองผู้โดยสารตามกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และสร้างตัวเลือกให้ประชาชน และในที่สุด ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ต้องโดยสารรถรับจ้างสาธารณะต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น