xs
xsm
sm
md
lg

ไทยแลนด์ โอนลี่ แท็กซี่เหมาจ่าย โบกให้ตาย ไม่ไป-ส่งรถ!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“แม้แต่พี่แทคยอน ยังโดนพี่แท็กซี่ปฏิเสธ โถ่! พ่อคุณ!! คุณได้มาถึงเมืองไทยอย่างแท้จริงแล้วค่ะ” แค่เพียงภาพและคลิปที่โพสต์ขำๆ จากบรรดาติ่งเกาหลีก็เพียงพอแล้วที่จะสะท้อนปัญหาการให้บริการแบบ “เล่นนอกกติกา” ของแท็กซี่ไทยในวันนี้ ถึงแม้จะมีมาตรการ จับ-ปรับ ออกมากี่รูปแบบ ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ช่วยให้กระเตื้องขึ้นสักเท่าไหร่
ไหนจะพฤติกรรมหลอกผู้โดยสารชาวต่างชาติให้ใช้บริการแบบเหมาจ่าย ฟันกำไรโดยไม่กดมิเตอร์ที่ทำกันบ่อยๆ ราคามิเตอร์ก็ปรับขึ้นแล้ว แต่ที่ยังไม่เคยปรับให้ดีขึ้นเลยก็คือ “จิตสำนึก” ของพนักงานรับจ้างหลังพวงมาลัยนี่เอง!!





ศิลปินเกาหลีเงิบ! คันแล้วคันเล่า ไม่ไป-ส่งรถ

(โบกกี่คันๆ ก็ไมไ่ป)

(เดินหาแท็กซี่หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ต่อไปอีก)
กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที เมื่อ “แทคยอน” หนึ่งในสมาชิกวง “2PM” ถูกโพสต์ภาพระหว่างที่กำลังเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ที่หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ แต่ดันไม่มีคันไหนยอมไปส่งที่หมายสักคัน งานนี้ บรรดาแฟนคลับที่เดินไปสมทบเป็นฝูงถึงกับต้องช่วยโบก แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะพี่แท็กซี่ไทยเราใจแข็งดุจหินผา ยังคงมาตรฐานเดิมอย่างที่เคยเป็นมา “ส่ายหน้า-เติมแก๊ส-ส่งรถ” แล้วแต่จะปฏิเสธได้ จึงกลายเป็นดรามาขำๆ ในหมู่ติ่งเกาหลีและกลุ่มผู้ใช้บริการรถแท็กซี่ เรียกได้ว่าช่างเป็นความจริงที่แสนเจ็บปวดเสียจริงๆ

“แม้แต่พี่แทคยอน ยังโดนพี่แท็กซี่ปฏิเสธ โถ่! พ่อคุณ!! คุณได้มาถึงเมืองไทยอย่างแท้จริงแล้วค่ะ ><” หนึ่งในบรรดาแฟนคลับอันมากล้นของศิลปินหนุ่มนายนี้ โพสต์เอาไว้ในเฟซบุ๊ก “TofuPopRadio”



“เมื่อบ่ายๆ เย็นๆ วันนี้ พี่แทคไปเดิน Central World จ้า!!! เดินเสร็จก็ข้ามสะพานลอยไปเรียกแท็กซี่กลับโรงแรมเองด้วย!! แฟนแทคเล่าว่า เรียกหลายคันแต่ก็ไม่มีคันไหนยอมไป จนฮอตเทสต้องช่วยโบกด้วย >///< มายไอดอล!!! สุดยอดจริงๆ ^^” อีกหนึ่งเสียงจากคอเพลงบ้านใกล้เรือนเคียงที่โพสต์เอาไว้ผ่านเฟซบุ๊ก “Taec Thaifangirl”



ที่น่าตลกคือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นช่างขัดแย้งกับคำประกาศกร้าวของ “ธีระพงษ์ รอดประเสริฐ” อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ที่เคยบอกเอาไว้ราวฟ้ากับเหวเกี่ยวกับกรณีการจัดการกับปัญหาแท็กซี่ตั้งแต่เมื่อคราวเกิดเหตุ Uber Taxi ให้สังคมได้ถกเถียงกันไปพักใหญ่ๆ โดยยืนยันชัดเจนว่า

เมื่อมีการขึ้นราคาค่าโดยสารแล้ว การปฏิเสธผู้โดยสารจะต้องไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นน้อยที่สุด อันนี้เป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งเลย ทางกรมฯ ก็พยายามปรับปรุงอัตราค่าโดยสารให้ มั่นใจว่าเมื่อคุณภาพชีวิตของคนที่มีอาชีพขับรถแท็กซี่ดีขึ้น มาตรฐานคุณภาพบริการก็จะตามมา นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะก้าวไปข้างหน้า ส่วนอัตราราคาที่จะประกาศขึ้นก็ใช้อัตราที่บอกไว้แล้วครับ”



(บรรดาแฟนคลับตามมาส่ง และตามมาช่วยโบกแท็กซี่)

และถึงตอนนี้ อัตราค่าโดยสารแท็กซี่มิเตอร์ใหม่มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้ขึ้นราคาแท็กซี่เฉลี่ยอยู่ที่ 13 เปอร์เซ็นต์ คือปรับขึ้นมิเตอร์ช่วงรถติด จากกิโลเมตรละ 1.50 บาท เป็น 2 บาท และปรับลดช่วงระยะทางในการนำมาคำนวณอัตราค่าโดยสาร จากเดิมจะคิดจากทุกๆ 12 กิโลเมตร เปลี่ยนให้คิดเงินถี่ขึ้นเป็น ทุกๆ 10 กิโลเมตร ส่วนอัตราค่าโดยสารระยะเริ่มต้นระหว่าง 0-2 กิโลเมตร ให้คงไว้ที่ 35 บาทซึ่งเป็นอัตราเดิม เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น บรรทัดต่อจากนี้คือรายละเอียดการปรับอัตราค่าโดยสารโดยละเอียด

ระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก คิดราคา 35 บาท
ระยะทางเกินกว่า 1 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 10 คิดราคากิโลเมตรละ 5.50 บาท
ระยะทางเกินกว่า 10 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 20 คิดราคากิโลเมตรละ 6.50 บาท
ระยะทางเกินกว่า 20 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 40 คิดราคากิโลเมตรละ 7.50 บาท
ระยะทางเกินกว่า 40 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 60 คิดราคากิโลเมตรละ 8 บาท
ระยะทางเกินกว่า 60 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 80 คิดราคากิโลเมตรละ 9 บาท
ระยะทางเกินกว่า 80 กิโลเมตรขึ้นไป คิดราคากิโลเมตรละ 10.50 บาท
และกรณีที่รถไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้เกินกว่า 7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คิดราคาอัตรานาทีละ 2 บาท




ยัดเยียด “เหมารถ” กลโกง ณ สุวรรณภูมิ

ไม่ได้มีเพียงพฤติกรรมการ “ปฏิเสธผู้โดยสาร” เท่านั้นที่สร้างความอัดอัดให้แก่ผู้ใช้ แต่นิสัยเอารัดเอาเปรียบซึ่งหน้าด้วยวิธีแกมบังคับให้ “เหมาจ่ายโดยไม่กดมิเตอร์” ก็ยังคงมีอยู่ดาษดื่นในเมืองหลวงแห่งนี้ โดยเฉพาะจุดเรียกแท็กซี่ประจำสนามบินสุวรรณภูมิที่มีผู้ถูกเอาเปรียบมาแล้ว คิดดูว่าขนาดคนไทยยังถูกบีบให้ต้องคิดราคาเหมาจ่าย แล้วชาวต่างชาติจะไปเหลืออะไร!!?

ณัฐชา วิวัฒน์ศิริกุล ฟรีแลนซ์วัย 28 ผู้ใช้บริการแท็กซี่ที่สนามบินสุวรรณภูมิบ่อยครั้งเล่าให้ฟังจากประสบการณ์ตรงที่เพิ่งถูกเอาเปรียบมาสดๆ ร้อนๆ หลังลงมาจากเครื่องสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยเดินทางมาจากเที่ยวบิน “เชียงราย-กรุงเทพฯ” เดินทางมาคนเดียวจึงต้องพึ่งแท็กซี่และมายืนรอเข้าคิวเพื่อใช้บริการในช่วงเวลาประมาณ 17.00 น.


(ตู้ KIOSK จัดคิวรถแท็กซี่ประจำสุวรรณภูมิ)
สังเกตเห็นว่า จากก่อนหน้านี้ที่เคยใช้บริการแท็กซี่ประจำท่าอากาศยานบริเวณเดียวกันนี้ ตู้บัตรคิวที่ให้บริการจะใช้ได้ทุกตู้ และผู้โดยสารสามารถเป็นผู้เลือกกดเองได้ว่ามีผู้ใช้รถจำนวนกี่คน แต่ครั้งนี้แปลกไป เนื่องจากตู้เสียเหลือเพียงตู้เดียว จากเดิมใช้ได้ 4 ตู้ จึงมีพนักงานกดตู้ให้ และแจ้งว่า “รถเล็กเครื่องเสีย เหลือแต่รถใหญ่” เมื่อถามว่าจุดหมายปลายทางคือที่ไหน “ลาดพร้าว 40 ค่ะ” การยัดเยียดรถแท็กซี่คันใหญ่ในราคาเหมาจึงเกิดขึ้น

ที่สำคัญคือ ที่ตู้ไม่ได้เขียนระบุรายละเอียดเอาไว้ว่า มีการแบ่งตามระยะทางว่าใกล้หรือไกลต้องไปรถแบบไหน แต่กลับกลายเป็นว่า พอบอกจุดหมายปลายทางปุ๊บ พนักงานพิจารณาแล้วว่าระยะทางไกลก็จัดแท็กซี่แวนให้และบังคับให้จ่ายในราคาเหมาแบบเสร็จสรรพ ทั้งที่ที่ตู้เขียนรายละเอียดเอาไว้เพียงว่า แบ่งให้บริการเป็น “แท็กซี่ธรรมดา” กับ “รถแวน” โดยจำแนกจากจำนวนผู้โดยสาร ถ้าเป็นรถเล็ก-แท็กซี่ธรรมดา รับได้แค่ 3-4 ที่นั่ง แต่ถ้าจำนวนผู้โดยสารมากกว่านั้น ต้องใช้รถแวน 7 ที่นั่ง

เมื่อมีทีท่าว่าจะถูกเอารัดเอาเปรียบทางอ้อม เธอจึงไม่ยอมนิ่งเฉย เริ่มจับสังเกตบุคคลและเหตุการณ์รอบข้าง พบว่าหลังจากพนักงานกดใบรับรถให้เธอแล้ว เขาก็ได้มอบใบรับรถแบบเดียวกันนี้อีกหลายใบไปให้ลูกค้าอีกหลายคน และในจำนวนนั้นมีฝรั่งอยู่ด้วย ซึ่งถ้าเป็นแท็กซี่ในแบบบังคับเหมาเหมือนกัน นั่นแสดงว่าเป็นการกระทำผิดฝ่าฝืนกฎหมายของการให้บริการแท็กซี่มิเตอร์เสียแล้ว

“พอเห็นแบบนั้นเลยหันไปถามคนข้างหลังเลยค่ะ เป็นฝรั่ง เขาได้รับบัตรเหมือนกัน แล้วคงไม่รู้เรื่อง รับกระดาษมาแล้วก็เดินไปขึ้นรถ เราก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะโดนราคาเหมาเหมือนกันหรือเปล่า แต่ถ้าพิจารณาจากเจตนาของพนักงานกดตั๋วคนนั้นแล้ว ถามเราว่าจะไปไหนแล้วกดเลือกรถแบบเหมามาให้ แทนที่จะถามว่ามากันกี่คน

แล้วพอไปนั่งที่รถ เราก็บอกโชเฟอร์อีกทีว่าจะไปลาดพร้าว 40 ก็เลยรู้ว่าเขาจะคิดแบบราคาเหมา พอเราไม่ยอม บอกว่าไม่ได้นะ เราไม่ตกลงมาแบบนั้น คนขับก็บอกว่า “ปกติรถแวนจะเป็นรถเหมานะ แบบนี้ผมก็ตายสิ” แล้วก็อธิบายข้อมูลต่างๆ ให้เรา เราก็เลยคิดได้ว่า ทั้งพนักงานที่กดตู้ตรงนั้นกับคนขับรถ คงรู้กันเป็นปกติอยู่แล้ว เรื่องบังคับให้ผู้โดยสารจ่ายแบบคิดราคาเหมาเป็นประจำ


ที่อยากจะบอกก็คือ ก่อนหน้านี้ระบบคิวรถแท็กซี่ที่มีตู้เข้ามาใช้ มันดีมากนะคะ เป็นระบบและรวดเร็ว แต่พอมาโดนแบบนี้ รู้สึกเลยว่าระบบดี แต่คนใช้แย่ เจตนาไม่บริสุทธิ์ ตั้งใจจะโกงซึ่งซึ่งหน้าด้วยการบังคับให้เราจ่ายแบบราคาเหมารถ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าไม่ยุติธรรมเลย เพราะแค่คิดราคาบวกเพิ่มเข้าไป 50 บาท จากการมารับผู้โดยสารที่สนามบินก็น่าจะเพียงพอแล้ว เลยกลายเป็นว่าเทียบกับก่อนหน้านี้แล้วยังดีกว่า ก่อนหน้าที่ยังไม่มีระบบตู้ จะให้ผู้โดยสารเข้าคิว แยกตามช่อง พอถึงคิวก็บอกปลายทาง พนักงานจดรายละเอียดแล้วก็ยื่นกระดาษให้แท็กซี่ แล้วก็คิดราคาตามมิเตอร์ ไม่ต้องมาเจออะไรแบบนี้

และที่น่าหงุดหงิดอีกเรื่องคือ ตู้เสียหมดและพนักงานตรงนั้นก็ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหายังไง ยืนเอ๋อๆ ชักกระดาษเข้าๆ ออกๆ กันอยู่แบบนั้นนานมาก แทนที่จะเรียกคนมีความรู้มาช่วยซ่อมและแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนเรื่องตู้ ถือว่ามีข้อดีตรงที่แต่ละช่องจะขึ้นสัญลักษณ์ให้เห็นชัดเจนว่าช่องนี้ว่างพร้อมให้บริการ


(จากปากคำผู้ประสบเหตุ เหลือเพียงตู้เดียวที่ใช้ได้จึงเกิดเหตุการณ์ป่วนปั่นขึ้น)
แต่ที่คิดว่าทำให้ระบบยุ่งยากเกินความจำเป็นคือหน้าจอ Touch Screen ถ้าตู้ให้คิวตรงนั้นต้องทำหน้าที่แค่ผลิตกระดาษที่บอกว่าเป็น รถแท็กซี่ธรรมดาหรือรถแวน ไม่จำเป็นต้องใช้จอแบบ Touch Screen แล้วกดยากๆ จอเสื่อมๆ แบบที่เป็นอยู่ก็ได้ มันเสียเวลาค่ะ กดแล้วก็ไม่ค่อยโดน แค่ทำเป็นตู้ปุ่มกดธรรมดาๆ แล้วให้เครื่องผลิตกระดาษออกมาก็พอแล้ว ไม่ต้องหรูแต่ใช้งานได้และไม่เสียเวลา อาจจะดีกว่า ที่สำคัญคือถึงจะระบบจะดีแค่ไหน แต่ถ้าคนใช้ระบบไร้จิตสำนึกมันก็เท่านั้นแหละค่ะ




“แท็กซี่อาสาฯ” ทางหลุดพ้นจากแท็กซี่นรก!!?

“ต่ำกว่ามาตรฐาน” คือคำนิยามที่ “วิฑูรย์ แนวพาณิชย์” ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ ให้ไว้เกี่ยวกับแท็กซี่มิเตอร์บ้านเราทุกวันนี้ ยิ่งได้ยินได้ฟังทั้ง 2 เหตุการณ์ที่บอกเล่ามา ยอมรับเลยว่าการปฏิเสธผู้โดยสารเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดจากคนขับมีรายได้ต่ำ ทำให้บางเที่ยววิ่ง วิ่งแล้วขาดทุน ทั้งที่คนขับก็ไม่มีทุนที่จะให้ขาด จึงต้องเลือกวิ่งบางเที่ยวที่มีกำไร จนส่งผลให้ภาพรวมแท็กซี่ทุกวันนี้เละเทะแทบไม่เหลือชิ้นดี

“ล่าสุด ทางขนส่งหรือคมนาคมก็เลยประกาศขึ้นค่าโดยสารให้แล้ว แต่การขึ้นค่าโดยสารครั้งนี้ มันไม่ได้หมายความว่าประกาศเมื่อวานนี้ แล้ววันนี้จะขึ้นค่าโดยสารได้นะครับ วันนี้ ยังไม่มีแม้แต่แท็กซี่คันเดียวที่ได้ปรับขึ้นมิเตอร์เลยนะครับ เพราะต้องรอกระบวนการเหล่านี้อีก 2-3 เดือนกว่าจะได้ขึ้นค่าโดยสาร

ส่วนที่ร่ำลือกันว่าแท็กซี่ย่านเซ็นทรัลเวิลด์เป็นจุดที่โบกยากที่สุดนั้น บอกเลยว่าเป็นความจริง ซ้ำยังเพิ่มเติมข้อมูลให้อีกว่ายังมีซอยสุขุมวิทซอยต้นๆ อีกที่ที่เป็นเช่นเดียวกัน ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็นอย่างนั้นก็เพราะ “ในกรุงเทพฯ ชั้นใน ไม่มีปั๊มแก๊ส NGV อยู่เลย ซึ่งเป็นแก๊สที่ใช้กับแท็กซี่ พอแท็กซี่ไม่มีที่เติมแก๊สก็เลยทำให้เข้าไปในย่านนั้นน้อย แต่ผู้โดยสารใช้รถแท็กซี่ในย่านนั้นมาก ทำให้มีรถที่วิ่งเข้าไปน้อย แต่รถที่ต้องการผู้โดยสารมีมาก

และอู่ในกรุงเทพฯ ชั้นในในย่านนั้นก็ไม่มีอู่อยู่เลย เพราะเป็นพื้นที่ที่แพงมาก เลยทำให้แม้แต่การสร้างปั๊มแก๊สหรือสร้างอู่ขึ้นมาก็ทำได้ยาก จึงทำให้เกิดอุปสรรคเรื่องนี้มาโดยตลอดโดยเฉพาะระยะเวลาเร่งด่วน ส่วนทางเครือข่ายสหกรณ์ฯ ของเราก็กำลังแก้ปัญหาเรื่องการปฏิเสธผู้โดยสารด้วยวิธีใหม่อยู่ครับ กำลังสร้าง “แท็กซี่อาสาสมัคร” ขึ้นมา เป็นแท็กซี่ที่จะวิ่งทุกเที่ยววิ่ง หาแท็กซี่อาสาสมัครวิ่งรถเปล่าเข้าไปในย่านกรุงเทพฯ ชั้นในให้ได้ ติดป้ายแสดงสัญลักษณ์ว่าเป็น “แท็กซี่อาสาฯ-ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร” ซึ่งคงต้องมีมาตรการที่ร่วมกับทางกรมการขนส่งฯ อีกที



ตรงนี้ เราก็พยายามทำความเข้าใจกับทางแท็กซี่อาสาฯ ที่จะเข้ามาทำว่า ถ้าขืนเราไม่ปรับปรุงตัวเอง นอกจากจะทำให้ผู้โดยสารไม่มีรถใช้แล้ว เราเองจะโดนรถแท็กซี่รูปแบบใหม่ๆ เข้ามาแย่งผู้โดยสารด้วย เพราะฉะนั้น เพื่ออนาคตของอาชีพเรา ยังไงก็ต้องปรับปรุงตัวเอง ต้องนึกถึงผู้โดยสารว่าเขาขาดแคลนในแท็กซี่ชั้นใน เราก็ต้องพยายามวิ่งไปให้บริการเขาให้ได้ อย่างน้อยตั้งเป้าไว้ว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของแท็กซี่ต้องทำให้ได้ แต่ช่วงแรกๆ ให้ได้ 5 เปอร์เซ็นต์ก่อนก็ยังดีครับ จากทั้งหมดที่เครือข่ายสหกรณ์ฯ คุมอยู่มีทั้งหมด 40 สหกรณ์ ซึ่งมีรถจำนวนกว่า 50,000 คัน

ส่วนกรณีปัญหาที่ผู้โดยสารพบเจอการบังคับเหมารถ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ บอกตรงๆ ว่าทางเครือข่ายฯ ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรมากได้ เพราะเป็นพื้นที่พิเศษที่เขากำหนดและจัดระเบียบกันเอง

“เรื่องบังคับให้เหมารถไปนั้น ผมสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นช่วงที่แท็กซี่คันเล็กขาดแคลนหรือเกิดเหตุบางอย่างทำให้ต้องให้ผู้โดยสารตัวคนเดียวใช้แท็กซี่คันใหญ่และคิดราคาเหมาแบบนั้น แต่ถ้าให้พูดกันเรื่องความถูกต้อง พูดตามกฎหมาย ไม่ว่าจะยังไง แท็กซี่จะคันเล็กหรือใหญ่ก็ไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการกับผู้โดยสารโดยคิดเป็นราคาเหมา นอกจากจะเหมาวิ่งออกต่างจังหวัด แต่ถ้าวิ่งในกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล ต้องวิ่งตามอัตรามิเตอร์อย่างเดียวครับ และที่คิดเป็นพิเศษก็จะมีแค่ค่าบริการเพิ่ม 50 บาทเป็นค่าเรียกแท็กซี่จากสนามบินเท่านั้นเอง


ผมคิดว่าระบบตรงนั้นยังเป็นระบบใหม่ที่เข้ามาทดลองใช้กัน และถ้าไม่ได้ผล เขาคงมีการแก้ไข แต่ทางการท่าฯ เองคงไม่ได้รู้จักบกพร่องทั้งหมด เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ผู้ที่ประสบเหตุพยายามร้องไปที่กรมการท่าฯ และกรมการขนส่งทางบก “1584” ให้เขาได้รับรู้ถึงปัญหานี้ ทุกคำร้องมีความหมายหมด รถคันนั้นจะถูกเปรียบเทียบปรับ แต่ทุกวันนี้ รถที่ปฏิเสธผู้โดยสารวันหนึ่งมีเป็นแสนๆ คัน แต่ผู้ร้องเรียนมีแค่วันละไม่กี่ร้อยแค่นั้นเอง ก็เลยอยากให้ทุกคนได้ใช้สิทธิ์ร้องเรียนของตัวเองด้วยครับ อย่าเพิ่งเบื่อที่จะร้องเรียนเลยครับ ต้องบอกว่ารถที่ถูกร้องเข้ามา ต้องเสียค่าปรับทุกคันจริงๆ ครับ คันที่ร้องไป ถ้าคนขับไม่ไปรายงานตัวภายใน 15 วัน สิ้งปีมาต้องเสีย 1,000 บาทแน่นอน ทุกคันเลย ไม่มีการยกเว้น

ในฐานะที่ผมอยู่ในอาชีพนี้ บอกเลยว่าไม่สบายใจเลยครับที่แท็กซี่ส่วนใหญ่ถูกมองภาพไปในทางลบๆ แบบนั้น และเราก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่ด้วยคำว่า “แท็กซี่เสรี” เราไม่มีกลไกหรือไม่มีอำนาจในการจะไปบังคับคนขับได้ นอกจากทางรัฐจะประกาศใช้ ซึ่งก่อนหน้านี้ การตรวจสอบของภาครัฐ เขาจะให้ความสำคัญกับ “ตัวรถ” เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “ตัวคน” ทำให้การบริการขาดคุณภาพไป


ในเรื่องของตัวรถ ถ้าเทียบกับประเทศใกล้เคียงกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ฮ่องกง, สิงคโปร์, มาเลย์เซีย ฯลฯ ถ้าเอาคุณภาพตัวรถมาเทียบเคียงกับราคาแล้ว ผมคิดว่าแท็กซี่ไทยเราก็ไม่แพ้ใคร แต่ถ้าพูดถึงด้านการบริการ ต้องยอมรับว่าเรายังด้อยอยู่ เป็นเพราะเราเปิดให้บริการแท็กซี่แบบเสรี มีการจดทะเบียนแท็กซี่ได้ง่าย แต่การที่จะหาคนมาขับรถที่จดทะเบียนแล้วนี่สิ มันไม่ง่าย เพราะจำนวนรถมันมากกว่าจำนวนคน ยังไงซะ ผู้ประกอบการจดทะเบียนไปแล้ว ลงทุนไปแล้วก็ต้องถอนทุน และการถอนทุนคือต้องได้ค่าเช่า เมื่อคนที่มาสมัครไม่ได้คุณภาพตามนั้น แต่ต้นทุนของผู้ประกอบการเกิดขึ้นแล้ว ก็เลยทำให้ระบบการตรวจสอบคนที่จะมาขับไร้ประสิทธิภาพ

ส่วนเรื่องลงโทษปรับโชเฟอร์ที่ปฏิเสธผู้โดยสาร 1,000 บาท มันก็ดีนะครับ แต่ในทางปฏิบัติค่อนข้างที่จะทำได้ยาก เพราะที่ผ่านมา ทางคนขับที่ปฏิเสธผู้โดยสารมักจะไม่ได้ถูกลงโทษ แต่คนที่ถูกลงโทษให้ปรับกลับกลายเป็นตัวเจ้าของรถ เพราะว่าคนขับปฏิเสธแล้ว กว่าที่ผู้ร้องจะร้องไป กว่าที่ทางราชการจะทำหนังสือมาถึงผู้ประกอบการ คนขับก็ย้ายอู่ย้ายรถไปหมดแล้ว แต่ว่าความผิดมันยังติดอยู่ที่ตัวรถ เวลารถไปตรวจสภาพประจำปีก็จะไปลงโทษที่เจ้าของรถ ไปปรับที่เจ้าของรถ พอเจ้าของรถโดนปรับไปก็จะกลายเป็นต้นทุน แล้วก็ไปคิดบวกในค่าเช่า มันจึงแก้ปัญหายังไม่ตรงจุดเท่าที่ควร


แท็กซี่มิเตอร์ 22 ปีที่ผ่านมาก็ได้คุณภาพเท่าที่เห็นนี่แหละครับ คือตัวรถได้แต่ตัวคนยังด้อยประสิทธิภาพอยู่ เพราะทางการเขามีอำนาจ แต่ไม่เคยสัมผัสกับผู้ประกอบอาชีพจริงๆ ไม่รู้ปัญหาที่แท้จริงทั้งด้านผู้นั่งและผู้ขับ ก็เลยอาจจะทำให้เขาแก้ได้ไม่ตรงจุด แต่ในระยะหลังก็มีการเปิดให้พูดคุยกันมากขึ้นแล้ว ซึ่งผมเชื่อว่าทางการก็คงได้รับฟังเพื่อไปพัฒนามากขึ้น”

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754




ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- แฟนคลับว่าไง? “แทคยอน” วง “2PM” ถูกแท็กซี่ไทยปฏิเสธนับสิบ (ชมคลิป)
- ขึ้นค่า 'แท็กซี่' เพิ่มภาระประชาชน บริการเฮงซวย ที่รัฐแก้ไม่ตก!?
- เตรียมแอปฯ สู้ “Uber” กรมการขนส่งฯ ฟุ้ง แท็กซี่ในระบบดีกว่าเห็นๆ!!
กำลังโหลดความคิดเห็น