xs
xsm
sm
md
lg

“ทำรอบ-นอนน้อย-ซัดยาบ้า” ระบบรถตู้บกพร่อง ไม่แปลกใจทำไมตายยกคัน!!? (มีคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จำเป็นต้องวิ่ง 140 ด้วยเหรอคะ? “คุณไม่มีสิทธิ์มาถามผมครับ ผมว่าคุณมีหน้าที่นั่งดีกว่า ต่อให้คุณเป็นเจ้าหน้าที่จากไหน ผมต้องทำเวลา” แล้วชีวิตคนที่นั่งมากับพี่ล่ะ? “แล้วตายหรือยังล่ะครับ ตอนนี้ตายหรือยัง!!?”
ไม่ใช่แค่บทสนทนาจากคลิปที่ผู้โดยสารรายหนึ่งอัดพฤติกรรมกร่างๆ ของโชเฟอร์รถตู้เอาไว้เท่านั้น ที่ช่วยสะท้อนให้เห็นความปลอดภัยที่บกพร่องของรถโดยสารสาธารณะรูปแบบนี้ แต่ยังมีเรื่องเล่าลับๆ จากปากคนขับเองให้เข้าใจว่าเหตุใดรถตู้จึงตายยกคันอยู่บ่อยๆ เป็นเพราะขับความเร็วเกินอัตรา ยอมอดนอนเพื่อเร่งทำรอบ และหนักข้อถึงขั้นโด๊ปยาบ้าเพื่อความอยู่รอด!!?



โชเฟอร์กร่างย้อนถาม “ขับแบบนี้แล้วตายหรือยัง?”

(รถตู้คู่กรณีที่โชว์กร่าง ถามผู้โดยสาร ขับเร็วแบบนี้ "แล้วตายหรือยัง?")

สดๆ ร้อนๆ!! เหตุการณ์ความกร่างของคนขับรถตู้รายนี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมานี้เอง ผู้โดยสารท่านหนึ่งขึ้นรถตู้สาย กรุงเทพฯ-ชลบุรี ระบุเอาไว้ว่าเป็นวินประจำอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตั้งโต๊ะตัวเกือบริมสุด ฝั่งโรบินสันเก่า-ชลบุรี (ไร่หนึ่ง หน้าเครือสหพัฒน์) โดยได้บรรยายเหตุการณ์เอาไว้ในคลิปซึ่งโพสต์ลงบน Youtube เอาไว้ว่า “พฤติกรรมแย่ ไม่สนใจชีวิตผู้โดยสาร ขับจี้ขับปาด วิ่งขวา วิ่งเร็ว 140 ทำผิดแล้วยังไม่สำนึก พูดจาแย่”

และนี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เป็นบทสนทนาของผู้โดยสารสาวคนหนึ่งซึ่งกำลังต่อล้อต่อเถียงกับโชเฟอร์ผู้ขับขี่อย่างน่าหวาดเสียว จากคลิปที่ตั้งชื่อไว้ว่า “คนขับรถตู้นิสัยแย่ ถามมาได้ ขับแบบนี้แล้วตายหรือยัง”



จำเป็นต้องวิ่ง 140 ด้วยเหรอคะ? “คุณกำหนดผมไม่ได้ รถผมทำเวลาครับ”

พี่มีใบขับขี่มั้ย ใบขับขี่ประเภทรถทั่วไป? “ผมมีถึงประเภท 3 น่ะครับ คุณไม่ต้องมาถามผมหรอก ต่อให้คุณเป็นเจ้าหน้าที่จากไหน ผมต้องทำเวลา ผมมีฝีมือครับ ผมรับประกันได้เลย ผมไม่ได้ซีเรียสเลย”

จะวิ่งขวาตลอดทำไม จี้เขาด้วย อันตรายนะเนี่ย!!? “คุณไม่มีสิทธิมาถามผมครับ ผมรู้ คุณเป็นเจ้าหน้าที่หรือเปล่าครับ เป็นเจ้าหน้าที่มานั่งกับผม ผมยังไม่สนใจเลยครับ ผมต้องทำเวลา ผมเชื่อฝีมือครับเพราะรถผมทำดี ผมไม่ใช่รถบริษัทครับ รถผมนี่รักยิ่งกว่าเมียผมอีกนะครับ ยังไงผมก็มีฝีมือ ผมเป็นเจ้าของรถเองครับ ผมขับอย่างนี้ตลอด

อ๋อ ขับแบบนี้ทุกวันเลย? “เป็นบางวันที่ผมต้องทำเวลา”

แล้วชีวิตคนที่นั่งมากับพี่ล่ะ? “แล้วตายหรือยังล่ะครับ ตอนนี้ตายหรือยัง? เขียนได้เลยครับ อัดเลยครับอัดเลย ผมไม่ได้ซีเรียสเลย ผมวิ่งอยู่ภาคตะวันออกเกือบทุกวิน”

วินไหนบ้าง จะได้ไม่รับ? “ถ้าผมมีลูกค้าอย่างคุณ ผมก็ไม่รับ”

หนูบอกให้พี่วิ่งข้างล่างให้หน่อย! “ผมไม่วิ่งข้างล่าง รถผมทำเวลา คุณไปคุยกับเจ้าของวินเลยดีกว่า ที่ที่คุณขึ้นมาน่ะ คุณไม่ต้องมาคุยกับผมหรอก ผมมีหน้าที่ส่งคุณที่บางบัวแค่นั้นแหละ ผมก็ขึ้นทางด่วนต่อ

ผมรู้จักหมดแหละเฟซบุ๊ก แต่ผมไม่เล่น ลูกค้าผมไม่ใช่น้อยๆ ครับ ไม่ได้มีแต่คุณคนเดียวหรอก แต่ผมต้องทำเวลาครับ



แฉความลับ เหตุที่ต้องตายยกคัน!!

(กระทู้แฉเรื่องลับของคนขับที่น่าหวั่นเกรง)
เท่านั้นยังไม่พอ!! ยังมีผู้ใช้เว็บบอร์ดพันทิปโพสต์เรื่องราวชวนขนหัวลุกเกี่ยวกับรถตู้สาธารณะเอาไว้อีกเรื่องหนึ่งในเวลาไล่เลี่ยกันจนขณะนี้กลายเป็นประเด็นเดือดให้ได้โต้เถียงในวงกว้างเกี่ยวกับระบบรถตู้ที่เป็นอยู่ว่า มีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน แค่ชื่อกระทู้ก็น่าหนักใจแล้ว “ตกใจเมื่อรู้ความลับ "คนขับรถตู้" (ไม่แปลกใจตายยกคันบ่อยๆ)” ลองอ่านเนื้อในดูจะรู้ว่าเหตุใดหลายคนถึงตกอยู่ในภาวะตื่นตระหนกและกังวลกันอยู่ในขณะนี้

วันนี้ได้คุยกับคนที่ขับรถตู้ (ตอนนี้ก็ขับอยู่) เล่าให้ฟังจากคนขับรถตู้ตัวจริง และผมเชื่อว่าหลายๆ คนหรือหลายๆ สายก็เป็นแบบนี้ โดยเฉพาะสายที่ขับไกลๆ แล้วเกิดอุบัติเหตุอย่างอีสาน และตะวันออก แต่พี่คนนี้ขับสายตะวันออก

1.พี่เขาบอกถ้าอยากได้หลายๆ เที่ยวต้องทำเวลาให้เร็วที่สุด 130-140 (กม./ชม.) ก็ต้องใส่
2.ยิ่งทำเวลาเที่ยวๆ นึงก็ได้หลายพัน บางวันได้นอนแค่ 2-3 ชม.หรือไม่ได้นอนเลย ขับถึง 4 ทุ่ม นอนพักนิดหน่อย เที่ยงคืนก็ต้องไปขับต่อ (ไม่แปลกใจเลยข่าวหลับในกันบ่อยๆ)
3.บางคนไม่นอน 2-3 วัน อาศัยกินยาบ้าเอา (ผมอึ้งไปเลย)

มันทำให้ผมต้องคิดดีๆ ก่อนจะนั่งรถตู้ สยองครับ ยิ่งจะใกล้ปีใหม่คนกลับบ้านเยอะมาก อยากฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลคนขับรถตู้วิ่งสายไกลๆ ตรวจสอบให้มากๆ เลยครับ ผมกลัวข่าวแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกเร็วๆ นี้”


(อุบัติเหตุนับครั้งไม่ถ้วน)



แน่นอนว่าผู้ที่จะตอบได้ดีที่สุดว่าเรื่องลับๆ ที่แชร์กันบนโลกออนไลน์อย่างกว้างขวางในขณะนี้ มีข้อเท็จจริงอยู่มากน้อยเพียงใดก็คือผู้รับผิดชอบดูแลรถตู้ที่วิ่งจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดต่างๆ อย่าง วุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)

“กรณีที่เกิดขึ้น ผมขอสมมติง่ายๆ ให้เข้าใจภาพมากขึ้นแล้วกันนะครับ สมมติว่ามีรถตู้เที่ยวหนึ่งวิ่ง กรุงเทพฯ-ชลบุรี และระบบกำหนดเอาไว้แล้วว่าวันนึงให้มีเที่ยววิ่งเส้นทางนี้ได้ไม่เกิน 100 เที่ยว รถมีทั้งหมด 50 คัน เพราะฉะนั้น รถตู้คันนึงจะวิ่งได้แค่วันละ 2 เที่ยว วิ่งเกินกว่านี้ไม่ได้ ถ้าวิ่งเกินกว่านั้นจะต้องมาขออนุญาตต่างหาก เราจะมีระบุเอาไว้เป็นข้อบังคับเลยครับว่าเที่ยวรถที่จะวิ่งได้ จะต้องวิ่งให้บริการประชาชน ขั้นต่ำอาจจะไม่เกิน 20 เที่ยว และขั้นสูง ไม่เกิน 100 เที่ยวต่อวัน และถ้ารถมี 50 คัน จะวิ่งให้เกิน 100 เที่ยวต่อวันก็ทำไม่ได้หรอกครับ มันมีกำหนดระยะเวลาของมันอยู่



ส่วนเรื่องรถที่ใช้ความเร็วสูงๆ ขณะนี้ทาง บขส.มีระบบ RFID คอยตรวจจับความเร็วอยู่ พวกนี้จะโชว์ขึ้นมาให้ดูเลย ถ้าขับความเร็วเกินกำหนด ครั้งแรกเลย รถตู้คันนั้นก็จะถูกเรียกมาจับปรับเบื้องต้น 5,000 บาท เจอครั้งที่สอง เราก็จะยกเลิกสัญญารถตู้คันนั้นไปเลย ขณะนี้ ผมก็ค่อยๆ เห็นเรื่องอุบัติเหตุตรงนี้ค่อยๆ ลดลง เพราะเรากำกับเรื่องความเร็วตรงนี้เอาไว้อยู่แล้ว

ทางเราไม่เคยปิดข่าวเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เลยครับ ถ้าอยากเข้ามาตรวจสอบการทำงานของเราเมื่อไหร่ เข้ามาได้เลย เรายินดีจะให้ข้อมูลทุกอย่างได้ แต่กรณีนี้ เรื่องราวมันเกิดจากโพสต์ๆ หนึ่งบนโซเชียลมีเดีย บอกว่าคนขับไม่ได้นอนเลย ผมก็อยากจะรู้เหมือนกันว่าที่ไม่ได้นอนและไปขับรถถึงขนาดนั้น มันหมายความว่ายังไง ใครไปบังคับคนขับรถตู้คันนั้นเหรอว่าต้องขับให้ได้วันละ 5 รอบ 10 รอบ ในเมื่อเรามีเที่ยววิ่งกำหนดอยู่ แต่ถ้าเป็นรถตู้เถื่อนก็จะไม่มีการกำกับดูแล ผมตอบแทนไม่ได้จริงๆ ครับ แต่ถ้าเป็นรถตู้ในระบบ บขส. เรามีกรรมวิธีที่จะดูแลตรวจสอบตรงนี้ได้อยู่แล้วครับ”



อธิบดีกรมการขนส่งฯ รับ ระบบบกพร่อง!

ถึงแม้กรณีที่เกิดขึ้น จะเป็นรถตู้ที่วิ่งจาก กรุงเทพฯ ไปจังหวัดอื่นๆ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) แต่ในฐานะที่กรมการขนส่งทางบกมีหน้าที่ดูแลรถโดยสารสาธารณะโดยรวม ทั้งยังดูแลรถตู้ที่วิ่งรับส่งภายในกรุงเทพฯ ด้วย จึงขอให้ ธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ช่วยวิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น

“ต้องบอกอย่างนี้ครับ โครงสร้างการประกอบการรถสาธารณะในไทยมันไม่ค่อยถูกต้องเท่าไหร่ รถตู้เนี่ย คนขับส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่เจ้าของรถ เป็นแค่ผู้เช่ารถเอาไปขับ เพราะฉะนั้น รายได้ของคนขับจะอยู่ที่จำนวนเที่ยว จำนวนรอบที่ขับได้

การประกอบการรถสาธารณะในไทยมันเทียบกับของต่างประเทศไม่ได้ครับ เพราะในต่างประเทศ จะมาเป็นผู้ประกอบการตรงนี้ได้ ต้องเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่ของไทยมันเป็นรายย่อยหรือแม้กระทั่งเป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งทำให้มีปัญหาทั้งเรื่องการกำกับดูแลของกรมการขนส่งทางบก มีปัญหาทั้งเรื่องความปลอดภัยที่ให้กับผู้โดยสาร มีปัญหาทั้งเรื่องการประกันภัย มีปัญหาหมดเลย



เรื่องที่มีการอ้างว่าคนขับรถตู้มีการเสพยาบ้า อันนั้นเป็นประเด็นเรื่องของการกระทำผิดกฎหมายครับ รวมถึงห้ามผู้ขับขี่ดื่มแอลกอฮอล์ด้วย ทางกรมฯ มีการดำเนินการและกำกับดูแลไม่ให้ทำผิดในลักษณะนั้นอยู่แล้ว อีกประเด็นคือเรื่องการประกอบการ ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ก็ต้องให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบมากขึ้นครับ และทางกรมฯ กำลังจะกำหนดให้ทางผู้ประกอบการส่งแผนเรื่องความปลอดภัยเข้ามาให้เราด้วย จากเดิมจะเป็นแผนเรื่องการประกอบการอย่างเดียว อันนี้เราตั้งเป้าเอาไว้เลยว่าจะให้รถสาธารณะทุกชนิดส่งแผนความปลอดภัยเข้ามา

ขณะนี้ เราก็มีการเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ในการกำกับการเดินรถตู้ ทางกรมขนส่งฯ กำลังเร่งดำเนินการนะครับ อีกหน่อยจะมีป้าย LED ติดอยู่เบาะหลังคนขับเพื่อบอกความเร็ว ถ้าเมื่อไหร่ความเร็วเกินกำหนด ประชาชนถ่ายรูปส่งมาที่เราเลยครับ เราจะจัดการให้ ไม่ควรขับเกินกฎหมายกำหนดคือ 90-110 กม./ชม.”

ส่วนหนทางแก้ไขที่กรรมการผู้จัดการใหญ่แห่ง บขส.มองไว้คือ ขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งตระหนกกับกระแสที่เกิดขึ้นและค่อยๆ ช่วยกันตรวจสอบ แล้วทุกอย่างจะดีเอง



“ผมยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างกรณี ผู้โดยสารขึ้นรถแท็กซี่แล้วค่าใช้จ่ายแพงที่คนแชร์ๆ กัน เห็นมั้ยครับว่าหลังจากกระแสนั้นออกมาคืนเดียว เราก็ล็อกตัวคนทำได้แล้ว เพราะมันมีระบบจัดการของมันอยู่ที่สามารถวางใจได้ครับ อาจจะมีที่ลอดหูลอดตาไปบ้าง ก็ให้คนในสังคมบอกมาได้ครับ ตรวจสอบมา

อยากฝากบอกตัวคนขับและผู้ประกอบการ คุณมีหน้าที่รับผิดชอบชีวิตของผู้โดยสารที่นั่งอยู่ในรถ ถ้าคุณทำผิดกฎหมาย คุณก็จะเสียสิทธิในการประกอบสัมมาอาชีพคุณไป ส่วนผู้โดยสารเอง ถ้าเห็นว่ารถตู้คันไหนขับเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด โทร.แจ้ง 1584 ได้เลยครับ ทางราชการจะประสานงานกันเองได้หมด เรามีเครือข่ายการประสานงานร่วมกันอยู่แล้ว หรือถ้าท่านไม่ได้รับความสะดวก ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือแม้กระทั่งคนขับรถขับหวาดเสียว ขับเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด คุณแจ้งได้อยู่แล้ว เพราะรถที่ถูกต้องจะติดหมายเลขทะเบียนและรายละเอียดผู้ขับขี่ไว้หมดแล้วครับ”



เจาะลึกภูมิหลัง! เหตุต้องเร่ง “ทำรอบ”

รถตู้ที่วิ่งๆ กันอยู่ส่วนใหญ่ในตอนนี้ก็มีสภาพไม่ต่างอะไรไปจาก “รถเมล์สาย 8” ที่ขึ้นชื่อว่าถูกร้องเรียนเรื่องการขับขี่มากที่สุดแถมยังครองแชมป์รถเมล์ยอดแย่มาหลายยุคหลายสมัย นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ บอกเลยว่าการเร่งทำรอบเป็นปัญหาเรื้อรังและทับถมกันมาหลายขั้นตอน จนผลกรรมมาลงที่ตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถตู้สาธารณะในที่สุด

ปัจจัยแรกคือ เขาไม่ได้เป็นเจ้าของรถ อาจจะเป็นรถที่ไปเช่ามา ทำให้มีต้นทุนที่ต้องผ่อนส่งรายวันหรือรายเดือน, ปัจจัยที่สองคือ ส่วนใหญ่แล้วผู้โดยสารแต่ละวินจะมีคนเยอะตอนช่วงเช้ากับช่วงเย็น ช่วงกลางวันจะน้อย เพราะฉะนั้น จะทำให้ทุกวินอยู่ในอาการเดียวกันคือ ช่วงเช้ากับเย็นจะขับเร็วเป็นพิเศษเพราะมีผู้โดยสารรออยู่เยอะ เป็นช่วงพีกของการเดินทาง, ปัจจัยที่สามคือ การแข่งขันกันเองระหว่างวินรถตู้ เพราะบางสายมีเปิดให้รถตู้จากหลายเจ้ามาวิ่ง ทำให้ต้องแข่งรับลูกค้ากันเอง

และปัจจัยที่สี่ที่น่าจะเป็นไปได้ที่ทำให้คนขับรถตู้ต้องเร่งทำรอบก็คือ แรงบีบจากฝั่งผู้ประกอบการ เพราะบางรายที่ไม่ได้อยู่ในระบบจะกำหนดเงื่อนไขหรือกติกาการจ่ายเงินที่ต่างออกไป โดยกำหนดเอาไว้เลยว่าจะจ่ายเงินให้ตามจำนวนผู้โดยสาร ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่าง “รถเมล์สาย 8” ซึ่งเป็นรถร่วมฯ (รถเมล์เอกชนร่วมบริการ ขสมก.) ที่เขาต้องมีพฤติกรรมการขับปาดแซงซ้ายแซงขวาแบบนั้น ก็เพราะสาย 8 เขามีการตกลงเอาไว้ว่าจะจ่ายเงินกันตามจำนวนผู้โดยสาร

แถมยังมีรถร่วมฯ ที่เข้ามาให้บริการด้วยกันทั้งหมด 3 บริษัท เพราะฉะนั้น เวลาเขาปล่อยรถจากอู่ ปล่อยรถจากบริษัท A ออกมา แล้วก็ปล่อยรถจากบริษัท B ออกมา พอถึงช่วงกลางๆ ของวัน สองบริษัทก็มาเจอกัน และเนื่องจากคนขับเขาไม่ได้มีเงินเดือนประจำ เงินเดือนเลยขึ้นอยู่กับค่าโดยสารอย่างเดียว ทำให้ต้องแข่งกันแย่งผู้โดยสารจนต้องขับเร็วและเร่งทำรอบ

มันก็คล้ายกับกรณีของรถตู้ในกรณีที่กำลังพูดถึงกันตอนนี้ ถ้าผู้ประกอบการรถตู้ยื่นกติกาไว้ว่า ถ้าใครจะมาวิ่งวินนี้ ค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับหัวผู้โดยสาร ไม่ได้จ้างเป็นเงินเดือน แต่ขึ้นอยู่กับได้ผู้โดยสารกี่คนและวิ่งได้กี่รอบ มันเลยทำให้เขาต้องพยายามทำรอบ




ด้วยสาเหตุทั้งหมดนี้ ทำให้พฤติกรรมการเร่งทำรอบที่เกิดขึ้นกับรถตู้เป็นไปได้ เพราะทุกวันนี้ จากผลการศึกษาออกมาระบุไว้เลยว่า 94 เปอร์เซ็นต์ของรถตู้ทั้งหมดที่วิ่งอยู่เป็นรายย่อย ผู้ประกอบการมีรถแค่คันเดียวหรือ 2 คัน แล้วอาศัยจ้างคนขับมาขับ ผลัดกันขับแล้ววิ่งให้ได้รอบเยอะที่สุด มันจะไม่เหมือนกับผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง “นครชัย” ที่มีรถเยอะและคนขับจำนวนที่เพียงพอให้หมุนเวียนกันได้ ปัญหามันก็เลยเป็นอย่างที่เห็น

มันเป็นวงจรที่เป็นปัญหาอยู่ ถ้ายังไม่เข้าไปแก้ ความน่ากลัวก็จะเกิดขึ้นตามมาอย่างที่กระทู้เขียนเตือนไว้นั่นแหละครับ คือคนขับรถตู้ก็ต้องเร่งขับให้เร็ว พอขับนานๆ ก็จะอ่อนล้า การอ่อนล้าก็เป็นที่มาของการหลับใน จนอาจจะต้องใช้ตัวช่วยอื่นๆ ถ้าจะหาทางแก้ในเรื่องนี้ เราอาจจะต้องถอยกลับมาตั้งหลักก่อน ประการแรก การยื่นจดทะเบียนประกอบการต้องเข้มงวด เอาผู้ประกอบการที่พร้อมจริงๆ มาให้บริการ ต้องมีจำนวนรถมากพอที่จะให้บริการได้ ไม่ใช่มีรถแค่คัน 2 คันก็อนุญาตแล้ว มันทำให้เกิดความเสี่ยง

ประการที่สอง เราต้องใส่เงื่อนไขเรื่องความปลอดภัยเข้าไป ต้องมีการตรวจสอบเที่ยวการขับ ลงเวลาการขับของแต่ละคนไว้ คนขับทุกคนไม่มีสิทธิขับเกินเวลา ถ้าขับเกินจะต้องโดนปรับ ถ้าใส่เงื่อนไขตรงนี้เข้าไปได้ก็จะควบคุมง่ายมากขึ้น และประการที่สาม เราอาจจะต้องหันกลับมามองเรื่องการเอารถบัสกลับมาวิ่งในเส้นทางที่ผู้โดยสารต้องการใช้บริการเยอะ ยังไงซะการเอารถบัสมาวิ่งก็สร้างความปลอดภัยได้มากกว่ารถตู้ แล้วค่อยให้รถตู้ไปรับในเส้นทางที่คนใช้น้อยๆ แทน”


แม้แต่ระบบขนส่งสาธารณะซึ่งเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับ ยังพอกพูนปัญหาเรื้อรังจนเน่าเฟะ หยั่งรากลึกกันจนแก้ยากกันขนาดนี้ อาจเหลือความหวังเพียงน้อยนิดที่จะคิดพัฒนาระบบอื่นๆ ในประเทศให้เจริญขึ้นได้ ไม่รู้ว่าจะต้องมีบุคลากรหัวกะทิของประเทศอีกสักกี่รายที่ต้องจบชีวิตลงด้วยรถตู้-รถโดยสารสาธารณะแบบนี้ ผู้ใหญ่ที่ดูแลเกี่ยวข้องจึงจะเลิกนั่งมองคำว่า “ระบบ” หาเหตุผลและข้ออ้างต่างๆ นานา แล้วหันมาสะทกสะท้านกับคำว่า “ตายยกคัน” เสียบ้าง...

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
 




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น