ASTVผู้จัดการ – อธิบดีกรมการขนส่งทางบกฟันธงแล้ว Uber Taxi ผิดกฎหมาย ชี้ผิด พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 ฐานใช้รถยนต์ผิดประเภท ไม่ใช้มาตรค่าโดยสารตามที่ราชการกำหนด และผู้ขับขี่ไม่มีใบขับขี่สาธารณะ โทษปรับรวมสูงสุด 4,000 บาท เตือนประชาชนอันตราย เพราะไม่ได้อยู่ในระบบทะเบียนประวัติ ทั้งยังเสี่ยงเรื่องการทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิต
หลังจากที่ Uber taxi เปิดให้บริการได้เพียงไม่นาน แต่กลับได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ให้บริการแท็กซี่ในแบบเก่า กลายเป็นปมปัญหาที่หลายฝ่ายตั้งคำถาม ตั้งแต่ประเด็นถูก - ผิดกฎหมาย กระทั่งถึงปัญหาแท็กซี่ไทยที่นับวันจะไม่เป็นที่ถูกใจของผู้ใช้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด วันนี้ (28 พ.ย.) กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ได้มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาแล้ว
วันนี้ (28 พ.ย.) กรมการขนส่งทางบกได้เผยแพร่ จดหมายข่าวกรมการขนส่งทางบกผ่านเว็บไซต์ www.dlt.go.th เรื่อง “กรมการขนส่งทางบก ระบุ Uber Taxi ผิดกฎหมาย!!! เริ่มออกตรวจจับจริงจัง เตือนประชาชนอย่าใช้บริการ เพราะอาจไม่ปลอดภัย เนื่องจากเป็นรถที่ไม่เข้าสู่ระบบฐานข้อมูลรถโดยสารสาธารณะ” โดยมีเนื้อหาดังนี้
นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏว่ามีผู้ให้บริการรถรับส่งผู้โดยสารในลักษณะรถแท็กซี่ผ่าน Application ด้วยรถยนต์บริการ (ป้ายเขียว) และรถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดา) โดยอัตราค่าโดยสารไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดนั้น ล่าสุด กรมการขนส่งทางบกได้เชิญประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และมณฑลทหารบกที่ 11 เพื่อพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาก่อนจะสร้างความเดือดร้อนเป็นวงกว้างในอนาคต เช่น ปัญหาเรื่องการใช้บัตรเครดิต ปัญหาความไม่ปลอดภัยจากการใช้บริการ โดยในเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า การให้บริการรับส่งผู้โดยสารในลักษณะรถแท็กซี่ผ่าน Application ด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์บริการดังกล่าว ถือว่าเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ฐานใช้รถยนต์ผิดประเภทจากที่จดทะเบียนไว้ นอกจากนี้ ยังมีความผิดฐานไม่ใช้มาตรค่าโดยสารตามที่ทางราชการกาหนด ผู้ขับรถไม่มีใบขับขี่สาธารณะ และไม่เข้าสู่ระบบทะเบียนของศูนย์ประวัติผู้ขับรถสาธารณะ นอกจากนี้ การชำระค่าโดยสารผ่านบัตรเครดิตอาจส่งผลต่อความปลอดภัยด้านธุรกรรมของผู้ใช้บริการในอนาคต
นายธีระพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการประชุมหารือร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าว มีการตกลงร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยมณฑลทหารบกที่ 11 และกรมการขนส่งทางบก ได้บูรณาการในการตรวจสอบการให้บริการที่ผิดกฎหมายดังกล่าวตั้งแต่ 27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา หากตรวจพบกรมการขนส่งทางบกจะเปรียบเทียบปรับสูงสุดทุกราย ได้แก่ ความผิดฐานใช้รถผิดประเภท โทษปรับสูงสุด 2,000 บาท ไม่ใช้มาตรค่าโดยสารตามที่ทางราชการกำหนด โทษปรับสูงสุด 1,000 บาท และไม่มีใบขับขี่รถสาธารณะปรับสูงสุด 1,000 บาท ในส่วนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จะเร่งดาเนินการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่นารถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์รับจ้างมาให้บริการรับส่งผู้โดยสารในลักษณะรถแท็กซี่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะเร่งดาเนินการชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเลือกใช้บริการรถแท็กซี่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการ และอย่าหลงเชื่อการสร้างแรงจูงใจด้วยเหตุผลต่างๆ เนื่องจากหากคำนวณค่าโดยสารแล้วจะพบว่ามีการแฝงค่าใช้จ่ายต่อระยะทางและเวลา รวมทั้งมีการประกันค่าโดยสารขั้นต่ำ ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่มิเตอร์ในปัจจุบันแล้วพบว่า Uber Taxi จะมีราคาที่สูงกว่า และข้อสำคัญผู้โดยสารอาจไม่ได้รับความปลอดภัย เนื่องจากรถดังกล่าวไม่เข้าสู่ระบบฐานข้อมูลในการตรวจสอบรถสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก รวมทั้งต้องใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตซึ่งอาจมีมาตรฐานความปลอดภัยไม่เพียงพอ ประชาชนที่สงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวในท้ายที่สุด
ทั้งนี้ บริการ Uber taxi คือบริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ โดยมีรถหรูเป็นพาหนะให้บริการ และคิดค่าโดยสารที่มีอัตราแพงกว่าแท็กซี่ปกติ ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการเมื่อปลายปีก่อน และได้รับความนิยมกันเป็นอย่างมาก โดยข้อดีของบริการดังกล่าวนั้นมีให้เห็นเป็นรีวิวอยู่ตามเว็บบอร์ดมากมาย ตั้งแต่การไม่ต้องรอโบกแท็กซี่ที่ปัจจุบันนั้น หลายคันหลายครั้งก็ไม่จอดรับผู้โดยสาร หรือมักจะมีข้ออ้างหลายอย่างมาบ่ายเบี่ยง แม้จะมีการออกมาตรการป้องกัน ลงโทษอย่างไรก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ การใช้บริการเรียกแท็กซี่โดยตรงจึงกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เรียกร้องสะดวกสบายมากขึ้น