xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมแอปฯ สู้ “Uber” กรมการขนส่งฯ ฟุ้ง แท็กซี่ในระบบดีกว่าเห็นๆ!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปล่อยให้ “แท็กซี่มิเตอร์ถูกกฎหมาย” ตกเป็นจำเลยสังคมจากการรวมตัวต่อต้าน Uber Taxi “แท็กซี่นอกระบบผิดกฎหมาย” อยู่พักใหญ่ๆ
ล่าสุด อธิบดีกรมการขนส่งทางบกก็ออกมางัดไม้ตาย เตรียมจัดเต็มแอปพลิเคชันให้แท็กซี่กว่า 70,000 คันใช้ พร้อมแก้กฎกระทรวงอนุญาตให้ใช้แอปฯ ออนไลน์ได้อย่างถูกกฎหมาย และเตรียมปรับขึ้นอัตรามิเตอร์ใหม่ เชื่อจะช่วยยกมาตรฐานแท็กซี่ ไม่มีอีกแล้วปัญหา “ส่งรถ เติมแก๊ส ปฏิเสธผู้โดยสาร”!!





ย้ำชัด! แอปฯ ผ่าน แต่รถผิดกฎหมาย
“ต้องบอกอย่างนี้ครับว่า แอปพลิเคชันที่ผู้ให้บริการใช้อยู่ในขณะนี้ ทางกรมฯ ไม่ได้ปฏิเสธ ไม่ได้ขัดข้องอะไร เรากำลังจะแก้ไขระเบียบกฎกระทรวงให้รองรับด้วย เพราะทางกรมฯ เองก็สนับสนุนให้เครือข่ายแท็กซี่ที่มีอยู่ดำเนินการในลักษณะเช่นนี้อยู่เหมือนกัน เราตระหนักดีว่ามันเป็นเรื่องของวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี

แต่สิ่งที่เรามองว่าฝ่าฝืนกฎหมายขณะนี้คือ ประเด็นเรื่อง “การใช้รถผิดประเภท” ของทาง Uber ครับ เราติดตามพฤติกรรมของกลุ่มนี้มาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว เริ่มตั้งแต่การตรวจสอบการให้บริการ ขณะนี้ก็มีการปราบปราม จับกุม เปรียบเทียบปรับและลงโทษผู้กระทำผิดแล้ว โดยได้ตรวจพบว่ามีการนำเอารถยนต์ส่วนตัวมาให้บริการรับจ้างเป็นรถสาธารณะ ต้องยืนยันว่าทางกรมฯ ไม่ได้ขัดข้องเรื่องการให้บริการผ่านแอปพลิเคชันเลย”



(แถลงข่าวอย่างเป็นทางการ เพราะทานกระแสไม่ไหว)

ธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก อธิบายเอาไว้ชัดเจนในงานแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับมาตรการกำกับดูแลการให้บริการด้วยรถโดยสารสาธารณะ จากกรณีที่ Uber Taxi ซึ่งเป็นรถแท็กซี่นอกระบบที่ชี้ชัดแล้วว่าให้บริการผิดกฎหมาย พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 จากพฤติกรรมการใช้ป้ายเขียวและป้ายดำ ให้บริการผู้โดยสาร และเรียกเก็บค่าโดยสารตามอัตราที่กำหนดขึ้นเองผ่านระบบบัตรเครดิตอย่างไม่เคารพกฎหมาย มีความผิดฐานใช้รถผิดประเภท ตามมาตรา 21 และมาตรา 60 มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

“ป้ายเขียว” และ “ป้ายดำ” ที่กล่าวถึงนั้น ไม่ได้แตกต่างจากแท็กซี่มิเตอร์ในระบบที่มี “ป้ายเหลือง” เพียงแค่เรื่องสีของป้ายเท่านั้น แต่ ณันทพงศ์ เชิดชู ผอ.สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ช่วยชี้ให้เห็นผลร้ายของ “การใช้รถผิดประเภท” เอารถส่วนตัวมาสวมรอยใช้แทนรถโดยสารสาธารณะอย่างที่ Uber Taxi ทำอยู่ว่ามันน่าหวาดหวั่นกว่าที่หลายๆ คนคิดไว้นัก


("รถป้ายเขียว" Uber)
“ตอนนี้ยังไม่มีใครมองภาพลบหรอกครับ คิดว่าเราไปจับกุมเขาทำไม แต่ลองให้เกิดเหตุการณ์ร้ายๆ ดูสิแล้วจะรู้ว่า เราไปใช้เขาทำไม แท็กซี่นอกระบบแบบนี้ ผมเลยอยากจะบอกว่าพยายามอย่ามองมุมเดียวครับ อยากให้มองในมุมที่ประชาชนอาจไม่ได้รับความปลอดภัยจากระบบของ Uber Taxi บ้าง

ถ้าเป็นรถที่เอามาให้บริการแบบผิดกฎหมายแบบนี้ จะมีทั้ง “แท็กซี่ป้ายแดง” คือรถที่ยังไม่ได้จดทะเบียน “แท็กซี่ป้ายดำ” คือจดทะเบียนแล้วแต่เป็นรถส่วนบุคคล และ “แท็กซี่ป้ายเขียว” คือรถลักษณะให้บริการเฉพาะกิจ ซึ่งทั้ง 3 แบบเป็นการให้บริการในลักษณะที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะแบบป้ายดำกับป้ายแดงนะครับ จะไม่มีประกันภัยด้วย ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ถามว่าผู้บริหารศูนย์ Uber จะรับผิดชอบมั้ย เขาไม่รับผิดชอบนะครับ เขาจะปล่อยให้เป็นภาระของคนขับ และถ้าคนขับเป็นวัยรุ่น ใบขับขี่ไม่มี ใบขับขี่สาธารณะก็ไม่มี


(Uber Taxi ผู้ประกอบการผิดกฎหมาย เพราะใช้รถผิดประเภท)

ที่สำคัญ แท็กซี่นอกระบบ ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายแบบนี้ประกันภัยก็ไม่มี ชนมาคนขับต้องรับผิดชอบเอง แล้วถ้าเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ ชนกันแรงๆ เข้า ผู้โดยสารที่นั่งมาในรถเกิดตาย สมมติเป็นหมอหรือวิศวกร ค่าชดเชยต้องสูง คิดจากฐานเงินเดือนคูณกับจำนวนปีที่จะมีชีวิตอยู่ในราชการ คนขับคิดแล้วว่าต้องจ่ายเองหลายล้าน ไม่ไหวแน่ๆ บริษัทประกันไม่มี คนขับก็หนีไปได้เลยโดยที่ไม่มีใครตรวจสอบได้ว่าใครคือคนขับ เพราะทั้งรถและคนขับไม่มีข้อมูลอยู่ในระบบ เกิดอะไรขึ้นมาแบบนี้ไม่มีใครรับผิดชอบนะครับ

อธิบดีกรมการขนส่งทางบกย้ำชัดว่ามองเห็นข้อดีและจุดแข็งในเรื่องการเอาแอปพลิเคชันเข้ามาใช้กับแท็กซี่อย่างที่ Uber Taxi, Grab Taxi และ Easy Taxi นำมาใช้และได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากผู้โดยสาร จึงตั้งใจจะพัฒนาแอปฯ ในรูปแบบคล้ายๆ กันนี้มาใช้กับแท็กซี่ในระบบบ้าง เพียงแต่ต้องรอให้แก้ไขร่างกฎกระทรวงผ่านการพิจารณาจากกระทรวงคมนาคมเสียก่อน ระบบการเพิ่มเทคโนโลยีเข้าไปอำนวยความสะดวกในแท็กซี่จึงจะทำได้อย่างถูกต้องไร้มลทิน



“เดิมทีกฎกระทรวงที่ออกไปฉบับแรกเรื่องเครื่องมือสื่อสาร เราอนุญาตให้แท็กซี่ที่จดทะเบียนใช้วิทยุสื่อสารเป็นเครื่องมือได้แค่ชนิดเดียวครับ มีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเอาไว้เรียบร้อย แต่ปัจจุบันมีวิวัฒนาการเพิ่มมากขึ้น คงต้องออกกฎกระทรวงเพิ่มเติมเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ขณะนี้สำนักกฎหมายอยู่ระหว่างนำเสนอกระทรวงครับ เพราะตอนนี้ยังไม่มีกฎกระทรวงรองรับการสื่อสารประเภทอื่นนอกจากกฎกระทรวงรองรับเลย แต่คงต้องรีบประกาศออกมาเร็วๆ นี้เพราะแอปพลิเคชันที่ใช้กันตอนนี้ก็เป็นที่แพร่หลาย ต้องรีบเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดครับ” เชิดชัย สนั่นศรีสาคร ผอ.สำนักขนส่งผู้โดยสาร ช่วยเสริมรายละเอียด




งัดแอปฯ สู้! เตรียมเพิ่มราคา ยกระดับแท็กซี่
“แอปฯ ยังไม่มีชื่อ” คือโปรเจกต์ใหม่ที่ทางอธิบดีกรมการขนส่งทางบกขออวดล่วงหน้าด้วยรอยยิ้ม พร้อมให้รายละเอียดว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ แต่รับรองว่าได้ใช้แน่ๆ เพราะตกลงกับสมาคมแท็กซี่และคิดโมเดลต่างๆ เอาไว้เรียบร้อยแล้ว

“ผู้โดยสารเข้าไปในแท็กซี่ ทำลักษณะคล้ายๆ เช็กอินครับ เราจะมี QR Code ติดไว้ที่หลังเบาะแท็กซี่ พอสมาร์ทโฟนไปยิงที่ QR Code ตัวนั้น ข้อมูลของผู้ใช้สมาร์ทโฟนคนนั้นจะไปผูกกับข้อมูลของรถแท็กซี่คันนั้น และส่งข้อมูลนั้นตรงเข้ามาที่กรมฯ แล้วที่ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคก็จะมีข้อมูลว่า ท่านขึ้นรถแท็กซี่คันนี้ ชื่อนี้ ในเวลานี้ ข้อมูลจะถูกส่งเข้ามาเก็บไว้เผื่อในกรณีที่มีปัญหา เกิดอุบัติหรือกระทำความผิด ทางกรมฯ ก็สามารถตรวจสอบได้เลยครับ คล้ายๆ ระบบเช็คอิน ทางเรากำลังดำเนินการอยู่ครับ



พอขึ้นราคามิเตอร์รอบแรกแล้ว หลังจากนั้นเราจะให้พี่น้องประชาชนประเมินผลการให้บริการของแท็กซี่ครับ ส่วนเรื่องแอปพลิเคชันก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่พี่น้องประชาชนสามารถประเมินผลการให้บริการของแท็กซี่ได้โดยง่าย โดยการยิง QR Code ที่ติดอยู่ที่หลังเบาะแท็กซี่ ก็จะมีระดับคะแนนให้ท่านได้ช่วยกันประเมินว่าจะ “ไลค์” หรือ “ไม่ไลค์” ขณะนี้ได้มีการพูดคุย ตกลงกับกลุ่มผู้ให้บริการแท็กซี่แล้วว่า เมื่อมีการขึ้นราคาค่าโดยสารแล้ว การปฏิเสธผู้โดยสารจะต้องไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นน้อยที่สุด อันนี้เป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งเลย เพราะปัญหาเรื่องปฏิเสธผู้โดยสารทุกวันนี้ที่เกิดขึ้น มีปัจจัยหลายๆ อย่างนะครับที่ทำให้แท็กซี่ต้องทำอย่างนั้น

เรื่องที่สอง คือเรื่องความสะอาด จะต้องมีความครบสมบูรณ์จาก Check List ของทางกรมฯ ที่ระบุไว้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องกลิ่น ความเย็นของแอร์ ความสะอาดของตัวรถภายใน เบาะ ที่นั่ง เข็มขัดนิรภัย ทั้งหมดนี้ต้องพร้อม ป้ายแสดงชื่อต้องชัดเจน ฯลฯ ทางเราได้พูดคุยเก่าทางแท็กซี่แล้ว เขาก็อยากพัฒนาเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ที่จะทำได้แน่ๆ หลังจากขึ้นราคาก็คือ การแก้ปัญหาเรื่องการปฏิเสธผู้โดยสารและคุณภาพของผู้ขับรถแท็กซี่จะต้องดีขึ้นครับ



(ทั้ง 3 แอปฯ แท็กซี่ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย)
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แอปพลิเคชันเป็นแค่เครื่องมือในการช่วยเรียกรถแท็กซี่เท่านั้นครับ ส่วนคุณภาพของตัวรถ คนขับรถ การให้บริการ จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทางกรมฯ ดูแลอยู่แล้วและกำลังเร่งพัฒนาต่อไปอีกครับ แอปฯ ตัวนี้น่าจะได้ทดลองและเริ่มใช้จริงประมาณต้นปีหน้า
ขณะนี้ สหกรณ์เครือข่ายผู้ให้บริการแท็กซี่ในระบบ เขาก็เร่งที่จะมีแอปพลิเคชันนี้ออกมาอยู่แล้ว ทางกรมฯ ก็แค่จะเป็นแหล่งรวมแอปพลิเคชันนั้นให้เองครับ ขณะนี้รถแท็กซี่ที่เป็นนิติบุคคลประมาณ 70,000 คัน ซึ่งเป็นจำนวนที่จะได้ใช้แอปฯ ตัวนี้ ส่วนผู้ประกอบการรายอื่นๆ ก็ถือเป็นกลุ่มบุคคลธรรมดาซึ่งทางกรมฯ กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะให้บริการแบบไหน


(อีกหนึ่งแอปฯ ที่ยังไม่ได้รับอนุญาต)


หลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่า เหตุใดภาครัฐจึงต่อต้าน Uber Taxi หนึ่งในผู้ประกอบการผู้นำร่องการเอาแอปพลิเคชันมาใช้กับแท็กซี่ แต่สุดท้ายก็หันมาใช้ประโยชน์จากแอปฯ สร้างใหม่ในรูปแบบคล้ายกันนี้เสียเอง เกี่ยวกับเรื่องนี้ อธิบดีกรมการขนส่งทางบกยืนยันว่าไม่ได้จับจ้องหรือจับผิดผู้ประกอบการรายใดเป็นพิเศษ เพียงแค่ต้องทำหน้าที่สร้างมาตรฐานเดียวกันในสังคม ซึ่งรวมถึงการกำกับดูแล Grab Taxi และ Easy Taxi ด้วยเดียวกัน

“การกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผู้ให้บริการรายนี้ เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายในการใช้รถผิดประเภท ทางกรมฯ ในฐานะผู้รับผิดชอบพระราชบัญญัตินี้ ก็ต้องทำหน้าที่กำกับดูแลและควบคุม เมื่อตรวจพบ เราก็ดำเนินการตามกฎหมายเท่านั้นเองครับ ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นแบบนี้ทุกรายนะครับ ถ้ามีการให้บริการในลักษณะเช่นนี้ออกมา ถ้าพบเห็นว่ามีการใช้รถผิดประเภท เราดำเนินการปราบปรามจับกุมอยู่แล้วครับ ก่อนหน้านี้ รถตู้ที่ใช้รถผิดประเภท เราก็ปราบปราม จับกุม เปรียบเทียบปรับแบบนี้เหมือนกัน



(Easy Taxi ก็ถูกเรียกเข้าพบ 9 ธ.ค.นี้เช่นกัน)

ส่วนทาง Grab Taxi กับ Easy Taxi เราก็ตรวจสอบเหมือนกันครับ ผลคือเขาเป็นการให้บริการบนแอปพลิเคชัน แต่เป็นการเรียกใช้รถแท็กซี่ในระบบครับ เป็นการเรียก “แท็กซี่ป้ายเหลือง” มาให้ผู้โดยสาร เพราะฉะนั้น ทางกรมฯ เลยไม่ได้ดำเนินการหรือรู้สึกขัดข้องอะไร เพียงแค่จะเร่งดำเนินการเรื่องกฎกระทรวงให้รองรับเรื่องแอปพลิเคชันในลักษณะนี้

ส่วนการดำเนินการของ Uber Taxi เป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมายในลักษณะการใช้รถผิดประเภท ทางกรมฯ จึงต้องเข้ามารักษากติกาตรงนี้ไว้ครับ เพราะไม่เช่นนั้น ความไม่เป็นธรรมในการให้บริการ ในการประกอบการในลักษณะเช่นนี้ จะเกิดขึ้นในสังคมเรา และจะทำให้มี 2 มาตรฐาน ซึ่งจะสร้างปัญหาในอนาคตให้กับสังคม ทางกรมฯ ก็เลยต้องดำเนินการ




แท็กซี่ที่ดี = แท็กซี่ในระบบ
“แท็กซี่ที่มีความปลอดภัยต่อพี่น้องประชาชนที่ใช้บริการ แล้วก็ต้องมีคุณภาพที่ดีในการให้บริการ” คือคำจำกัดความของคำว่า “แท็กซี่ที่ดี” จาก ธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก แต่เมื่อติดตามจากข่าวคราวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับแท็กซี่ตลอดช่วงที่ผ่านมา กลับมีแต่แท็กซี่มิเตอร์ถูกกฎหมายซึ่งอยู่ในความควบคุมของกรมฯ เท่านั้นที่ก่อปัญหา ยังไม่เคยเห็นว่าอาชญากรรมหรือเหตุร้ายเกิดขึ้นจากแท็กซี่นอกระบบที่กำลังถูกสังคมรุมประณามอยู่ตอนนี้เลยแม้เพียงครั้งเดียว เกี่ยวกับเรื่องนี้อธิบดีจึงขออธิบายเอาไว้ว่า


“ไม่ใช่ทั้งหมดนะครับที่มีคุณภาพแย่แบบนั้น แท็กซี่ที่อยู่ในระบบส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามมาตรฐานการให้บริการ กิริยามารยาทก็ผ่านนะครับ มีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เป็นตามที่ถูกกล่าวหา ซึ่งเราก็มีการปราบปราม จับกุม เปรียบเทียบปรับไป จนถึงพักใช้ใบอนุญาตก็มี หรือยึดใบอนุญาตการขับขี่รถสาธารณะเลยก็มี ที่สำคัญ เรารับรองเรื่องความปลอดภัยได้มากกว่า เพราะก่อนที่ทางกรมฯ จะออกใบอนุญาตขับขี่สาธารณะให้ เราจะต้องตรวจประวัติอาชญากรรมก่อนอยู่แล้วครับ

ส่วนเรื่องที่มีกระแสสังคมต่อต้านการปรับขึ้นมิเตอร์ที่เคยมีช่วงก่อนหน้านี้ เพราะผู้โดยสารส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าราคาที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้บริการดีขึ้นจริงอย่างที่ฝันไว้นั้น ผู้ดูแลเรื่องนี้อย่างอธิบดีกรมการขนส่งทางบกอยากขอโอกาสให้ได้ลองทำก่อน แล้วผลออกมาอย่างไรค่อยมาประเมินกัน

“อยากให้มองว่าเป็นเจตนารมณ์ร่วมกันนะครับ เรื่องที่หนึ่ง เราต้องการพัฒนาคุณภาพของคนขับและคุณภาพของแท็กซี่ ขณะนี้คุณภาพของคนขับรถแท็กซี่ค่อนข้างไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทางกรมฯ ก็พยายามปรับปรุงอัตราค่าโดยสารให้ มั่นใจว่าเมื่อคุณภาพชีวิตของคนที่มีอาชีพขับรถแท็กซี่ดีขึ้น มาตรฐานคุณภาพบริการก็จะตามมา ต้องค่อยๆ ทำครับ นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะก้าวไปข้างหน้า ส่วนอัตราราคาที่จะประกาศขึ้นก็ใช้อัตราที่บอกไว้แล้วครับ

แม้ขณะนี้ทางกระทรวงคมนาคมจะขอสั่งเบรกการปรับขึ้นราคาเอาไว้ก่อน เนื่องจากรถแท็กซี่ที่ผ่านเงื่อนไขการปรับปรุงคุณภาพ ความปลอดภัยตัวรถ และมาตรฐานการบริการ ตามข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบก ยังมีสัดส่วนที่ต่ำกว่าเป้าหมายถึง 85 เปอร์เซ็นต์ แต่ทางอธิบดีกรมการขนส่งทางบกยืนยันว่าจะมีการปรับขึ้นราคาอย่างแน่นอน



ส่วนอัตราที่ว่านั้นคือ กำหนดให้ขึ้นราคาแท็กซี่เฉลี่ยอยู่ที่ 13 เปอร์เซ็นต์ โดยปรับขึ้นมิเตอร์ช่วงรถติด จากกิโลเมตรละ 1.50 บาท เป็น 2 บาท และปรับลดช่วงระยะทางในการนำมาคำนวณอัตราค่าโดยสาร จากเดิมจะคิดจากทุกๆ 12 กิโลเมิตร เปลี่ยนให้คิดเงินถี่ขึ้นเป็น ทุกๆ 10 กิโลเมตร ส่วนอัตราค่าโดยสารระยะเริ่มต้นระหว่าง 0-2 กิโลเมตร ให้คงไว้ที่ 35 บาทซึ่งเป็นอัตราเดิม นอกจากความเปลี่ยนแปลงเรื่องราคาที่จะเกิดขึ้นแล้ว ทางกรมการขนส่งทางบกยังรับรองอีกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องความปลอดภัยเพิ่มขึ้นด้วย

“ขณะนี้ทางกรมฯ เองได้ตั้งศูนย์ประวัติผู้ขับรถสาธารณะเอาไว้นะครับ ข้อมูลของคนขับแท็กซี่ทุกคนจะถูกส่งเข้ามาที่ศูนย์ประวัติฯ เพื่อใช้ในการตรวจสอบ อันนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เราทำ เรากำลังพยายามนำเอาระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับแท็กซี่ในระบบ เช่น ระบบเช็คอินในรถแท็กซี่ ถ้าผู้โดยสารเข้าไปนั่งในรถแท็กซี่ก็สามารถใช้สมาร์ทโฟนที่มีอยู่เชื่อมโยงข้อมูลของท่านกับข้อมูลของรถและคนขับมาไว้ที่กรมฯ เพื่อการตรวจสอบ เพราะฉะนั้น จะมีหน่วยงานหนึ่ง มีฐานข้อมูลชุดหนึ่งที่จะเก็บข้อมูลการเดินทางตรงนี้ไว้เป็นระบบออนไลน์ตลอดเวลา

อีกวิธีคือ Call Center “1584” ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะที่กรมฯ มีอยู่ในขณะนี้ ทางท่าน ผอ.ที่ดูแลตรงนี้กำหนดเกณฑ์เอาไว้เลยว่า จะดำเนินการเรื่องร้องเรียนที่เข้ามาให้แล้วเสร็จในทุกกรณีภายใน 12 ชั่วโมงหลังแจ้ง เราทำจริง ทำทันทีครับ จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ ต้องขอเรียนพี่น้องประชาชนนะครับว่า ทางกรมฯ ถือว่าเรื่องความปลอดภัยในการใช้รถถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด หากเกิดเหตุไม่ว่ากรณีใด ทางกรมฯ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ



ส่วนทาง Uber นั้นก็คงต้องให้เข้ามาหารือกันครับ แต่หลักๆ คือเรื่องการใช้แอปพลิเคชันของเขา ทางกรมฯ ไม่ได้ขัดข้องครับ จะเร่งปรับกฎกระทรวงให้ ส่วนเรื่องการใช้รถ ก็ต้องมามองว่าทำอย่างไรให้รถที่ทาง Uber จะใช้บริการ จะสามารถเข้ามาอยู่ในระบบที่กรมฯ ควบคุมและตรวจสอบได้โดยไม่ฝ่าฝืนกฎหมายที่มีอยู่ โดยทางกรมฯ ได้เรียกทั้งทาง Uber Taxi, Grab Taxi และ Easy Taxi ให้เข้ามาชี้แจงรายละเอียดภายในวันที่ 9 ธ.ค.นี้ครับ

เมื่อให้ช่วยเปรียบเทียบจุดแข็งและจุดอ่อนระหว่างแท็กซี่นอกระบบและในระบบให้เห็นกันชัดๆ อีกครั้งหนึ่ง ผอ.สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 จึงช่วยไขข้อข้องใจให้กระจ่างว่า ที่คนส่วนใหญ่ในตอนนี้เห็นๆ กันอยู่ว่าการให้บริการของ Uber ดูดีมีมาตรฐาน แท้จริงแล้วกลับตาลปัตรหากมองให้ลึกถึงระบบกันจริงๆ

“ทางแอปฯ ของ Uber ไม่มีมาตรฐานนะครับ เพราะรถที่มาเข้าร่วม เขาไม่ได้เรียกร้องมาตรฐานอะไรมากมาย เขาเน้นแค่เรื่องความสะอาดกับรถที่ค่อนข้างใหม่เท่านั้น แต่การดูแลระยะยาว เขาดูมั้ย เขาไม่ดูนะ เพราะเขาไม่มีการตรวจสภาพ แต่รถในระบบของเรามีการตรวจสภาพทุกรอบ 6 เดือนเป็นอย่างน้อย รถบางคันอายุการใช้งานเกิน 7 ปีขึ้นไปจะกำหนดรอบการตรวจสภาพไว้เลยว่าทุก 4 เดือน แสดงว่ารถแท็กซี่ในระบบของเรามีการติดตามดูแลเรื่องสภาพรถอย่างต่อเนื่อง แต่ทาง Uber อาจจะดูแค่เป็นรถอะไรที่ลงทะเบียนกับเขาไว้ จากนั้นมอบไอแพดให้เครื่องหนึ่ง บอกวิธีการสื่อสาร ตกลงเรื่องเงินเรื่องทองแล้วเขาปล่อยเลยนะ ให้คุณไปบริหารธุรกิจกันเอาเอง แล้วก็ให้ผลประโยชน์คนขับ 80 เปอร์เซ็นต์

แต่ที่คนนิยมกัน อาจจะเป็นเพราะจุดแข็งของเขาเรื่องความสะอาด เพราะเขารู้ว่าจุดอ่อนของแท็กซี่ไทยคือเรื่องความสะอาด อย่างที่จะมีการพูดกันว่า “ทำให้สะอาดเหมือนรถแท็กซี่ญี่ปุ่น” รถใหม่มันสะอาดอยู่แล้วไงครับ ดูแลอีกนิดเดียวก็ดูดีแล้ว บวกกับเรื่องความสะดวกสบายของคน Gen-Y คนรุ่นใหม่สมัยนี้เขาจะไม่ไปยืนโบกรถ จะเรียกผ่านมือถือของเขา ซึ่งเป็นจุดแข็งของระบบ เพราะฉะนั้น จุดแข็งของ Uber จึงไม่ได้อยู่ที่ตัวรถ แต่อยู่ที่ความสะดวกสบาย มันสอดคล้องกันตรงที่ ผู้ใช้บริการจะไม่สนใจว่าคุณเอาป้ายอะไรมารับ สนใจแค่ว่าจะเดินทางโดยรถสาธารณะ เรียกได้สะดวก ดูผ่านแอปฯ ได้เลยว่ารถอยู่บริเวณไหนแล้ว และจะมาถึงภายในกี่นาที


ส่วนจุดแข็งของแท็กซี่มิเตอร์ในระบบของเราคือ เรามีระบบคุ้มครองผู้โดยสารที่ดี เรามีมาตรฐานเรื่องการออกใบขับขี่สาธารณะให้ คนที่จะขับขี่ตรงนี้ได้ นอกจากจะต้องผ่านการทดสอบจากกรมการขนส่งทางบกแล้ว ยังต้องผ่านการตรวจสอบประวัติอย่างถี่ถ้วนว่าคุณไม่มีประวัติอาชญากรรม ไม่ได้เพิ่งพ้นโทษออกมาหมาดๆ แต่ถ้าเป็นแท็กซี่นอกระบบ เขาจะตรวจสอบยังไง ทำไม่ได้หรอกครับ ที่สำคัญคือถ้าเป็นแท็กซี่ในระบบทำผิด จะถูกบันทึกประวัติเอาไว้ ใครกระทำผิดซ้ำซาก บทลงโทษก็จะแรงขึ้นๆ มันมีมาตรการของมันอยู่ พอทำผิดหนักข้อเข้าก็ให้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่สาธารณะ นี่คือวิธีคุ้มครองที่ทางหน่วยงานราชการดูแลรถในระบบได้

แต่ถ้าเป็นรถแท็กซี่นอกระบบ ไม่ว่าคนขับจะทำผิดกี่ครั้งก็ไม่มีประวัติ แล้วถามว่าสังคมจะปลอดภัยมั้ยถ้านั่งไปกับคนขับแท็กซี่แบบนั้น"

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live

ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- “Uber Taxi” ถูกใจแต่ผิดกฎหมาย ดีกว่าถูกกฎหมายแต่ไม่ได้ดั่งใจ!!?
- เจาะประเด็น 'Uber Taxi' ตอกหน้ารัฐฯ ปราบพยศแท็กซี่ห่วย!
- ภัยร้ายหรือคู่แข่ง! “UBER TAXI” ที่แท็กซี่ไทยต่างหวาดกลัว
- อธิบดีขนส่งฯ ฟันแล้ว Uber Taxi ผิดกฎหมาย ชี้ปรับสูงสุด 4 พันบาท
- รู้จัก Uber แท็กซี่ไฮโซ....ตอบไลฟ์สไตล์คนเมือง
- เอาใจสาว กทม.เรียกแท็กซี่ผ่านแอปฯ Grab Taxi รับส่วนลด 100 บาท ในวันสตรีสากล




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น