“BANGKOK, FREE UberX FOR XMAS!” แคมเปญเดียวจาก Uber Taxi ช่วงคริสต์มาสทำเอาอึ้ง! กันไปทั้งประเทศ ประชาชนงงว่าสรุปแล้วได้รับอนุญาตให้วิ่งรถได้ถูกกฎหมายตั้งแต่เมื่อไหร่? หรือนี่คือการท้าทายกรมการขนส่งครั้งใหญ่? อธิบดีได้แต่เงียบ บอกเลยงานนี้ทำได้แค่ “ตั้งรับ” อย่างเดียว
กรมการขนส่งฯ เฝ้าดู “ซานตาคลอสแท็กซี่นอกระบบ”
“เดินทางฟรีกับ uberX ฟรีได้ 2 ครั้ง (ไม่เกิน 700 บาทต่อครั้ง) หลังเวลา 1:00 น. ของวันที่ 24 ธันวาคม 2014 และก่อน 1:00 น. ของวันที่ 25 ธันวาคม 2014 ในกรุงเทพฯ โดยไม่ต้องใช้โค้ดโปรโมชัน
ไม่ว่าจะนั่งไปทำงานตอนเช้า ทำธุระจิปาถะ ดื่มมากไปนิดที่งานปาร์ตี้คริสต์มาส หรืออยากนั่งรถติดเล่นๆ คุณแค่ต้องกดเรียก UberX แล้วซานตาคลอสของเราจะพาคุณไปส่งตามที่คุณต้องการในกรุงเทพฯ ถ้าคุณยังไม่เคยลงทะเบียนกับ Uber ก็อย่ารอช้า สามารถลงทะเบียนได้เลย”
ทั้งหมดนี้คือแคมเปญล่าสุดที่ทาง Uber Taxi ออกมาฉลองช่วงเทศกาลคริสมาสต์ โดยระบุรายละเอียดการให้บริการเอาไว้อย่างชัดเจนทั้งในเว็บไซต์ blog.uber.com/freeuberxmasbkk และแฟนเพจ “Uber” (www.facebook.com/uberthai) อย่างชัดเจน ได้รับการแชร์จนกลายเป็น Talk of the town ทำเอาประชาชนผู้ใช้บริการงงกันไปเป็นแถบว่าสรุปแล้ว Uber ได้รับอนุญาตให้วิ่งอย่างถูกกฎหมายตั้งแต่เมื่อไหร่ เหตุใดจึงมีแคมเปญประกาศออกมาโจ่งแจ้งได้ขนาดนี้ เมื่อต่อสายตรง ถามทางอธิบดีกรมการขนส่งทางบก จึงให้คำตอบเพียงสั้นๆ ว่า “ถ้าเจอผมก็จับเท่านั้นเองครับ ไม่มีอะไร”
รู้สึกอย่างไรกับแคมเปญดังกล่าว คิดว่าเป็นการจงใจท้าทายจาก Uber Taxi หรือไม่? ธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ก็ให้คำตอบว่า “ไม่ได้มีอะไร ไม่ได้มองว่าท้าทายอะไรครับ ถ้าทำผิดกฎหมาย หน่วยงานของรัฐก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายครับ” ให้รายละเอียดไว้เพียงเท่านั้น จากนั้นจึงขอตัวไปประชุมบอร์ด
ลองมองจากอีกมุมดูบ้าง นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแคมเปญพิเศษของ Uber ครั้งนี้เอาไว้ว่า
“อาจจะมองในเชิงกลยุทธ์การตลาดมากกว่าครับ เป็นเชิงธุรกิจของทาง Uber แคมเปญล่าสุดที่ออกมาช่วงคริสต์มาสนี้ เขาน่าจะคิดแล้วว่าที่ให้นั่งฟรีช่วงเทศกาล ไม่มีเงื่อนไขการจ่ายเงินเข้ามา ในแง่กฎหมายแล้ว ถ้าไม่มีการซื้อการขาย ไม่มีการใช้บริการ ก็เหมือนมีคนเสนอให้คุณเดินทางฟรี จะเอาผิดทางกฎหมายก็คงไม่ได้เพราะไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไข พ.ร.บ.การขนส่ง และไม่ได้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.รถยนต์ ด้วยซ้ำ จะแจ้งข้อกล่าวหาอะไรได้ในแคมเปญนี้ผมก็ยังนึกไม่ออกเหมือนกัน
ถ้าถามผม ผมเดาไม่ถูกว่าทาง Uber เขากำลังท้าทายหรือเปล่า หรือออกแนวประชด หรือว่าแค่ต้องการใช้เทศกาลมาทำการตลาด แต่ผมว่าเขาน่าจะทำได้แค่วันเดียวแหละครับ เป็นการคืนกำไรให้ลูกค้าและโปรโมตไปด้วย คงไม่ได้ทำบ่อยๆ เพราะมันฟรี”
ระบบ “สีเทา” ไม่ได้มีแค่ Uber!
ลองให้วิเคราะห์ถึงเบื้องลึกของระบบเละๆ ในไทย ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนบอกเลยว่าจริงๆ แล้วไม่ได้มีแค่ Uber ที่ผิดกฎหมาย “ความเป็นจริงบ้านเราก็มีระบบการบริการที่ใกล้เคียงกับ Uber แบบนี้เหมือนกัน ผมเรียกว่าเป็นบริการสีเทา” จากนั้นจึงชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมให้ฟัง
“ยกตัวอย่างรถตู้ ทุกวันนี้ถ้าจะเที่ยวเช่ารถตู้ คนทั่วไปแทบจะไม่มองหารถตู้ป้ายเหลืองในระบบเลย แต่จะเลือกจ้างรถตู้ส่วนบุคคลหรือรถตู้ป้ายดำมากกว่า ซึ่งจริงๆ แล้วแบบนี้มันผิดกฎหมาย ก็เหมือนกับระบบแท็กซี่ ตัวแท็กซี่ป้ายเหลืองคือแท็กซี่ถูกกฎหมาย แต่ที่คนส่วนหนึ่งเริ่มไม่เลือกใช้เพราะปัญหาเรื่องจิตใจการบริการไม่มี การปฏิเสธผู้โดยสาร และอีกหลายๆ เรื่อง พอๆ กับรถตู้ป้ายเหลืองที่คนไม่เลือกเหมาจ้าง เป็นเพราะภาพลักษณ์ที่ไม่สุภาพและการขับที่รุนแรง ประชาชนก็เลยต้องเลือกทางเลือกอื่นเพราะคิดว่าทางเลือกนอกระบบมันตอบโจทย์เขามากกว่า
หรืออย่างเรื่องรถรับส่งนักเรียน ตัวกฎหมายทุกอย่างระบุไว้เข้มมากเลย แต่พอลองดูๆ ตามโรงเรียนที่มีรถพวกนี้ให้บริการรับส่งอยู่ จะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นรถส่วนบุคคลด้วยซ้ำแต่แค่มาติดป้ายว่าเป็น “รถรับส่งนักเรียน” ทั้งหมดที่พูดมานี้สะท้อนให้เห็นว่าในสังคมของเรายังมีเรื่องเทาๆ อีกเยอะที่ทางหน่วยงานไม่สามารถมาลุยเข้มในทุกเรื่องได้ เพราะถ้าเข้ามากวดขันทุกเรื่องทั้งหมดว่าห้ามให้มีเลย ระบบที่ทางภาครัฐสร้างขึ้นเองก็ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนอยู่ดี หรือถึงมีก็ไม่ตอบโจทย์
แต่ที่ต้องมาเคร่งครัดกันในประเด็นแท็กซี่ Uber ทุกวันนี้ เป็นเพราะทางกรมการขนส่งฯ อาจจะมองว่าแท็กซี่ในระบบพอจะสามารถตอบโจทย์ประชาชนได้เองอยู่แล้ว ยิ่งตอนนี้ เงื่อนไขสำคัญที่เพิ่มให้เรื่องขึ้นราคาแท็กซี่มิเตอร์ ทางกรมยิ่งน่าจะมั่นใจว่าแท็กซี่จะปฏิเสธผู้โดยสารน้อยลง ซึ่งตรงนี้น่าจะมีการติดตามผลว่ามันได้ผลจริงมากน้อยแค่ไหน”
พยายามมองให้ครบทุกมุมปัญหาเรื่องแท็กซี่ในและนอกระบบนี้แล้ว นพ.ธนะพงศ์ค่อนข้างจะเข้าใจภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของทางกรมการขนส่งทางบกอยู่เหมือนกัน
“ถ้าปล่อยให้ทาง Uber ให้บริการไปโดยที่ไม่ทำอะไร ทางกรมก็จะถือว่าทำผิดในฐานะผู้ถือกฎหมายแล้วไม่ปฏิบัติ แต่ถ้าไปเข้มกับ Uber มากประชาชนก็ติติงกลับมาอีกว่า ที่ต้องมี Uber ก็เป็นเพราะแท็กซี่ที่คุณดูแลอยู่มันไม่ตอบโจทย์ผู้โดยสาร ขึ้นราคาแล้วยังปฏิเสธลูกค้าอยู่เลย เหมือนกับยังควบคุมแท็กซี่ที่ดูแลไม่ได้เลย ยังมาบีบแท็กซี่ที่ประชาชนพอใจให้ออกไปอีก ตรงนี้ก็เป็นแรงกดดันที่กรมการขนส่งฯ ต้องแบกรับ
แต่ถ้าจะปล่อยให้มี Uber ไปก็ทำผิดกฎหมายอีก จะเป็นไปได้มั้ยถ้าให้มีการมาเจอกันและทำแผนร่วม แต่ที่ผ่านมาก็เห็นว่ามีการเข้ามาหารือกัน แต่ผมคิดว่าคงยังไม่ได้คำตอบที่น่าพอใจออกมาเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะทาง Uber เขาทำธุรกิจที่มีโมเดลกำหนดเอาไว้ชัดเจนว่าจะต้องแตกต่าง จุดขายอยู่ตรงนั้น คนที่มาทำได้จะต้องมีรถ มีการตรวจสอบผ่านระบบของเขา และมีจิตใจในการบริการอย่างสูง ถ้าบอกให้เขาไปเข้าระบบ เขาคงกลัวว่าจุดขายของเขาจะหายไป
ถ้าเทียบกับต่างประเทศ Uber ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศก็มีคนเข้ามากำกับตรวจสอบทาง Uber แล้ว ล่าสุดก็เกิดขึ้นกับฝรั่งเศส นั่นก็แปลว่าไม่ว่า Uber จะไปทำธุรกิจในประเทศไหน รัฐบาลของประเทศนั้นก็ต้องมาพิจารณาดูว่า โมเดลธุรกิจแบบนี้ขัดแย้งกับข้อกฎหมายของประเทศนั้นๆ มากน้อยแค่ไหน
ผมคิดว่าทางกรมการขนส่งฯ ก็ควรจะยึดตามกฎหมาย และหาทางออกให้ Uber ได้ทำได้ตามกฎหมาย ปลดล็อกเงื่อนไขบางอย่าง ไม่ควรให้เขาไปอยู่นอกกฎหมายแล้วใช้กฎหมายเล่นงานเขา ควรดึงเขาเข้ามาแบบที่โมเดลทางธุรกิจของเขาจะไม่เสียไป ก็ต้องฝากกรมการขนส่งฯ ว่าคุณจะปรับตัวเรื่องนี้ยังไง ฝั่งแท็กซี่ในระบบก็ได้รับการสนับสนุนให้ปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารแล้ว ก็คงต้องมามองว่า คุณต้องปรับปรุงเรื่องอะไรบ้าง จะทำให้ได้เหมือนอย่างที่ Uber ทำได้และประชาชนคาดหวังแบบนั้นบ้างมั้ย และจริงๆ แล้วมันไม่ยากเลยสำหรับแท็กซี่ที่จะทำ คุณก็แค่ไม่ปฏิเสธลูกค้า คุยกับเขาดีๆ และรับส่งช่วยเหลือ ทั้งหมดนี้มันไม่เห็นจะยากเลยสำหรับแท็กซี่ปกติถ้าจะทำ และถ้าทำตัวเองให้ดี มันไม่มีหรอก Uber”
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ “Uber”
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754
ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- เตรียมแอปฯ สู้ “Uber” กรมการขนส่งฯ ฟุ้ง แท็กซี่ในระบบดีกว่าเห็นๆ!!
- “Uber Taxi” ถูกใจแต่ผิดกฎหมาย ดีกว่าถูกกฎหมายแต่ไม่ได้ดั่งใจ!!?
- เจาะประเด็น 'Uber Taxi' ตอกหน้ารัฐฯ ปราบพยศแท็กซี่ห่วย!
- ภัยร้ายหรือคู่แข่ง! “UBER TAXI” ที่แท็กซี่ไทยต่างหวาดกลัว
- อธิบดีขนส่งฯ ฟันแล้ว Uber Taxi ผิดกฎหมาย ชี้ปรับสูงสุด 4 พันบาท
- รู้จัก Uber แท็กซี่ไฮโซ....ตอบไลฟ์สไตล์คนเมือง
- เอาใจสาว กทม.เรียกแท็กซี่ผ่านแอปฯ Grab Taxi รับส่วนลด 100 บาท ในวันสตรีสากล