xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยอาถรรพ์ “เที่ยวบินมรณะ” โศกนาฏกรรมที่คนทั้งโลกต้องผวา!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ที่ผ่านมาคนทั้งโลกต้องร่ำไห้ให้กับเหตุการณ์อันน่าสลดจากโศกนาฏกรรม “เครื่องบินตก” และยังคงทิ้งไว้เพียงแค่รอยปริศนาที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ ถือเป็นโศกนาฏกรรมส่งท้ายปีที่ชวนสงสัยว่าเหตุการณ์ครั้งนี้อาจจะเป็นอาถรรพ์หรือฝีมือธรรมชาติกันแน่ ซึ่งก็ได้แต่หวังว่านี่คงจะเป็นเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งสุดท้ายที่จะเกิดขึ้น



 
 
แกะรอย เที่ยวบินมรณะ

 
จากกรณีเครื่องบินสายการบินแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ QZ8501สูญหายโดยขาดการติดต่อ ระหว่างออกเดินทางจากอินโดนีเซีย ไปยังสิงคโปร์ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 28 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีการเปิดเผยว่า ก่อนที่อากาศยานลำดังกล่าวจะสูญหายไปเพียงไม่นานนั้น นักบินได้ขอออกนอกเส้นทางบินเพราะเนื่องจากปัญหาด้านสภาพอากาศเพื่อหลีกเลี่ยงเมฆหนา
ล่าสุด หน่วยNational Search and Rescue (Basarnas)ของอินโดนีเซีย ได้แจ้งว่าพบเครื่องบินแอร์เอเชีย QZ8501แล้ว โดยเครื่องบินลำดังกล่าวตกลงในมหาสมุทรที่พิกัด 03.22.46 S,108.50.07 E ห่างจากเกาะเบลิตุงประมาณ145กม. เหตุมาจากประสบกับสภาพอากาศที่เลวร้ายจากพายุฝนฟ้าคะนอง
ทีมกู้ภัยจึงได้ทำการค้นหาในทะเลที่ระดับความลึก 40-50 เมตร โดยอยู่ในบริเวณรอบเกาะบังกาและเบลิตุง ในทะเลชวา ฝั่งตรงข้ามกับจังหวัดกาลิมันตันบนเกาะบอร์เนียว ซึ่งในขณะนี้ยังไม่สามารถหาเครื่องบินลำดังกล่าวได้พบ และเหตุการณ์นี้นับเป็นอีกหนึ่งปริศนาที่ให้คนทั้งโลกต้องระทึกอีกครั้ง




 
อย่างไรก็ตาม นอกจากกรณีการหายไปของเครื่องบินแอร์เอเชียนี้แล้ว ยังมีอีกหลายเหตุการณ์อันน่าสะเทือนใจที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วและที่ยังไม่สามารถคลี่คลายและไม่มีใครทราบแน่ชัดถึงสาเหตุของโศกนาฏกรรมแห่งความสูญเสียนี้ได้

 
ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2557 สายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส เที่ยวบิน MH370 ซึ่งเดินทางจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มุ่งหน้าไปยังกรุงปักกิ่งของประเทศจีน พร้อมด้วยลูกเรือและผู้โดยสาร 239 ชีวิต ได้ขาดการติดต่อและหายไปจากจอเรดาร์หลังจากทะยานขึ้นสู่ฟ้าได้ไม่กี่ชั่วโมง
เหตุการณ์ดังกล่าว เป็นเหตุการณ์ที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนทั่วโลก โดยทันทีที่เครื่องบินหายไป ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกตั้งทีมสืบสวนโดยเฉพาะเพื่อตามหา แต่ก็ยังไม่อาจพบร่องรอยใดๆ ของเที่ยวบินนี้ และไม่มีใครรู้ชะตากรรมของเที่ยวบิน MH370 อีกเลย
หรือจะเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 สายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส เที่ยวบิน MH17 เดินทางจากกรุงอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ มายังกรุงกัวลาลัมเปอร์ ถูกขีปนาวุธยิงตกเหนือน่านฟ้าประเทศยูเครน บริเวณที่มีความขัดแย้งเรื่องการแบ่งแยกดินแดน ทำให้เที่ยวบินนั้นเสียชีวิตยกลำจำนวน 298 ศพ
เหตุการณ์นี้ อยู่ในระหว่างการสืบสวน และยังไม่สามารถจับมือใครดมได้ว่า ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุยิงเครื่องบินเที่ยวบิน MH17 นี้ แต่ที่เห็นอย่างแน่ชัดโศกนาฏกรรมครั้งนี้ ได้กลายเป็นอีกหนึ่งในโศกนาฏกรรมเครื่องบินครั้งใหญ่ที่สุดในโลก



 
 
 
โอกาสตายเพราะ “เครื่องบิน” มีน้อย

 
ทว่า หากมองจากสถิติแล้วการเดินทางโดยเครื่องบินนั้น เป็นวิธีเดินทางที่ปลอดภัยมากที่สุดในปัจจุบัน แต่เพราะด้วยข่าวคราวที่น่ากลัว จึงทำให้คนส่วนใหญ่มองว่าการขึ้นเครื่องบินเป็นการเดินทางที่อันตราย "อ.ดร.มนต์ชัย สุระรัตน์ชัย" อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมการบิน และอวกาศยาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน มีความเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ว่า

 
“การบินถือว่ามีระดับความปลอดภัยที่สูง มากกว่าการขนส่งทางรูปแบบอื่นอยู่แล้ว จริงๆ เหตุผลที่มันเป็นข่าว เพราะการบินมันเป็นอะไรที่ยังดึงดูดความสนใจของคนมากอยู่
แต่ถ้าเราดูสถิติของการเกิดอุบัติเหตุแล้ว อุบัติเหตุทางเครื่องบินจะน้อยกว่าทางอื่นๆ เช่นทางรถ ทางเรือ แต่เพียงว่าการเกิดอุบัติเหตุทางเครื่องบิน 1 ครั้ง มันมีความรุนแรงมาก เพราะถ้าเราเปรียบเทียบกับอุบัติเหตุทางบก มันมีแทบทุกวันนะที่เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์”
“เครื่องบินตกเราจะต้องดูจากหลักฐานข้อมูลเพราะในเรื่องของเทคนิคหรือสภาพอากาศ มันเป็นไปได้หมดเลยนะครับ ไม่สามารถไปตัดสินอะไรได้ อากาศเลวร้าย หรือเกิดข้อผิดพลาดทางเทคนิคอะไรบางอย่างหรือเปล่าเราไม่รู้ แต่สุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญคือ เราต้องว่าไปตามหลักฐานข้อเท็จจริง คือทำไมเราจะต้องหากล่องดำให้ได้เพราะกล่องดำมันบันทึกข้อมูลอยู่ ทั้งในเรื่องเสียงของนักบิน ข้อมูลทางการบินทั้งหมด ซึ่งตรงนี้มันจะเป็นสิ่งที่จะบอกได้ว่าเป็นเพราะอะไร ถ้ายังไม่มีข้อมูล ไม่มีหลักฐาน มันก็จะเกิดความเป็นไปได้ ได้ทุกอย่างครับ”

 
เขาอธิบายถึงความเป็นไปได้ที่ส่งผลให้เกิด โศกนาฏกรรมบนน่านฟ้า

 “ถ้าพูดกันในเชิงทฤษฎีแล้ว ในทางการบินเราก็จะมีแฟกเตอร์หลักๆ คือ ในเรื่องสภาพอากาศ คนแล้วก็เครื่องจักร ถ้าเราพูดถึงโมเดลความผิดพลาดของมนุษย์ ก็มีความผิดพลาดของมนุษย์ได้หลายอย่างเช่น การตัดสินใจที่ผิดพลาด พูดง่ายๆ เขาเรียกว่าอาจจะมีแฟกเตอร์ร่วมด้วยในเรื่องของการตัดสินใจ แต่ทั้งหมดมันจะต้องดูจากข้อเท็จจริงอย่างเดียวไม่สามารถที่จะสรุปได้ทันทีครับ”
 
 
สุดท้ายแล้วก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่า สาเหตุที่เครื่องบินตกนี้มาจากสาเหตุใด เพราะต้องดูจากข้อมูลหลักฐานในเชิงของทางการบิน เพราะหากย้อนกลับไปดูเหตุการณ์เก่าๆ ก็จะเห็นได้ว่า อุบัติเหตุที่ผ่านมานั้นมีปัจจัยมากกว่าหนึ่งเสมอ
 
“จริงๆ แล้วโดยปกติเครื่องบินสมัยนี้มันออกแบบให้รองรับสภาพอากาศที่เลวร้ายได้ค่อนข้างดีครับ ผมก็ไม่แน่ใจนะครับว่าสภาพอากาศที่เลวร้ายมันจะสามารถทำให้เครื่องบินตกได้เลย หรือว่าอาจจะต้องมีอะไรที่ร้ายแรงเป็นพิเศษครับ เราอย่าไปบอกเลยว่าเครื่องบินตก เป็นเพราะคนผิดพลาด มันก็อาจจะมีปัจจัยอย่างอื่นร่วมด้วย
คือจริงๆ ถ้าเราไปดูเคสเก่าๆ ก็จะมีในเรื่องของปัจจัยร่วม โดยปกติเราพูดถึงแฟกเตอร์โดดๆ บางครั้งการเกิดอุบัติเหตุครั้งนึงมันมีปัจจัยมากกว่า 1 ตัว อาจจะเป็นทั้งในเรื่องของคนร่วมกับสภาพอากาศ หรือ การทำงานของเครื่องบินคือ อาจตัดสินใจผิดพลาด ด้วยสภาพอากาศหรือนักบินแย่”

 
ดังนั้น ก่อนที่เครื่องบินจะทะยานขึ้นสู่ฟ้า ทุกอย่างต้องมีการตรวจเช็กทั้งหมด เพราะนั่นคือเงื่อนไขก่อนทำการบิน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ความสะเพร่าแน่นอน และมั่นใจได้ว่าทุกเที่ยวบินจะปลอดภัย

 
ก่อนที่เครื่องจะทำการขึ้นบิน กัปตันเขาจะต้องมั่นใจอยู่แล้วครับว่ามันมีความปลอดภัยอยู่ในระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ คือมันไม่มีอะไรที่มันปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ นักบินต้องดูสภาพเครื่อง ความพร้อม สภาพอากาศด้วยว่าบินได้ และไม่น่าจะเกิดอะไรขึ้น หรือตรวจในเรื่องของสภาพนักบิน ทั้งในเรื่องของกายภาพ สภาพจิตทุกอย่าง
เพราะฉะนั้น ถามว่าจะเกิดจากความประมาทหรือเปล่า ผมคิดว่ามันไม่ใช่ ก่อนทำการบินมันก็มีเงื่อนไข การตรวจสภาพอากาศ การตรวจสภาพตัวนักบินเอง การตรวจสถาพของเครื่องบิน ว่าเงื่อนไขมันเหมาะสมสำหรับทำการบินอย่างปลอดภัย ทุกอย่างต้องมีการตรวจเช็กทั้งหมด เพราะฉะนั้น นี่คือเงื่อนไขของการก่อนทำการบินอยู่แล้ว”

 
อ.ดร.มนต์ชัย บอกต่อไปว่าการตรวจเช็คในเบื้องต้นทุกครั้งที่ขึ้นบิน จะช่วยทำให้เราได้ทราบอาการ หรือข้อบกพร่องก่อน เพราะฉะนั้น ความปลอดภัยถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับคนที่ประกอบการบิน

“ตรวจเช็กเครื่องมันก็มีไปตามข้อบังคับ คือแผนการซ่อมบำรุงที่ออกโดยบริษัทผู้ผลิตอยู่แล้ว ซึ่งคนที่ประกอบกิจการเขาจะต้องการซ่อมบำรุงตามแผน ซึ่งมันก็จะมีในลักษณะที่ทำการซ่อมบำรุงทุกวัน ก่อนจะทำการขึ้นบินเขาก็จะมีการเดินรอบเครื่อง ทุก 2 สัปดาห์ก็จะต้องตรวจรายละเอียดมากขึ้น
หรือว่าอาจจะทุกประมาณ 500 ชั่วโมงบิน ก็จะมีการรีเช็ก เขาเรียกว่ามีแผนการซ่อมบำรุงที่ชัดเจนแล้วก็มีระบุเลยว่าจะต้องซ่อมบำรุงอะไรบ้างในแต่ละช่วง อย่างเช่น ต้องรีเช็ก ตรวจโครงสร้าง ตรวจตำแหน่งเรดาร์ เพราะฉะนั้น เครื่องบินที่ทำการบินทุกเครื่องมันจะมีแผนการซ่อมบำรุงที่ออกมาโดยบริษัทผู้ผลิตที่เขาจะต้องทำตามอยู่แล้ว”



 
 
ฝีมือธรรมชาติ หรือ อาถรรพ์ กันแน่!

 
อย่างไรก็ตาม หลายต่อหลายท่านอาจเกิดข้อสงสัย ว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงนี้ขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรืออาจเป็นเพราะมีอาถรรพ์อะไรบางอย่างหรือเปล่า ทางทีมข่าวจึงสอบถามไปยัง "ภิญโญ พงษ์เจริญ" นายกสมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ

 
“มันก็เป็นได้เหมือนกัน แต่เราไม่ได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องบินหรือคนขับเครื่องบิน แต่ถ้าดูตามตำแหน่งของดาวบนท้องฟ้าก็จะเห็นดาวพระเคราะห์ใหญ่ๆทำมุมโยกถึงกันหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งดาวอุบัติเหตุอุบัติภัยนะครับ ดาวการก่อการร้ายด้วย ก็คือเห็นว่ามีดาวพฤหัสบดีกรกฎ แล้วก็ราหูอยู่ราศีกันย์ พระเสาร์อยู่ราศีพิจิก อังคารอยู่ราศีมังกร
โดยดาวพวกนี้จะอยู่หนึ่งราศีเว้นหนึ่งราศีในทางโหราศาสตร์ถือว่า ทำมุมโยกกันและดาวอังคาร เสาร์ มฤตยูเนี่ยถือเป็นดาวพระเคราะห์เป็นดาวที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งราหูเนี่ยเป็นพระเคราะห์ธาตุลม มฤตยูก็เป็นอากาศธาตุ ฉะนั้นเรื่องท่าอากาศยานมันก็จะมีปัญหา มีอุบัติเหตุ มีเหตุเภทภัยต่างๆ
เกิดขึ้นแล้วมันก็ไม่ใช่เกิดเฉพาะลำนี้ลำเดียว มันก็มีลำอื่นที่อาจจะเกิดขึ้นช่วงนี้ ดาวพระเคราะห์มันก็ทำมุมโยกกันอยู่ไง โยกคือโยกหน้าโยกหลัง ทำมุมถึงกัน อุบัติเหตุ อุบัติภัย ความรุนแรง การก่อการร้าย ดวงดาวกำลังทำมุมถึงกัน แล้วมันก็ยังจะถึงกันอีกหลายวัน”

 
โดยการทำมุมของดาวนั้น ไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่ นายกสมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ บอกเพียงว่าในช่วงส่งท้ายปี ต้อนรับปีใหม่ ทุกคนควรระมัดระวังและใช้ชีวิตอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติภัยที่ร้ายแรง
 
 
“ก็อีกนานนะครับ พูดถึงดาวใหญ่ก็เหลือดาวอังคาร ให้ดาวอังคารออกจากราศีมังกร แล้วก็อังคารจะออกจากราศีนี้ก็ใช้เวลาอีกหลายวัน ดาวอังคารย้ายวันที่ 3 มกราคม เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะตอนดาวอังคารย้าย วันนี้ไปอีกถึงวันที่ 3 มกราคม อยากให้ระมัดระวังให้มากในช่วง 6 - 7 วันนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ดาวอังคารก็จะไปอยู่ตรงราศีพฤษก อังคารมันก็จะทำมุมดอกพิกุล แต่ดอกพิกุลที่เรากำลังพูดถึงเป็นดาวพระเคราะห์เป็นดอกพิกุลที่ค่อนข้างจะรุนแรงไง อันนี้ดอกพิกุลบางประเภทก็ให้โทษถึงแม้ดอกพิกุลส่วนใหญ่จะให้คุณก็ในกรณีนพเคราะห์ทำมุมเป็นดอกพิกุลกัน แต่อันนี้เป็นการทำมุมดอกพิกุลชนิดพระเคราะห์เป็นส่วนใหญ่ไง
เพราะฉะนั้น โดยสรุปว่าระมัดระวังช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ระมัดระวังจนถึงวันที่ 3-4 มกราคม ดวงพระเคราะห์มันโยกถึงกันเกือบทุกดวงไง อย่างราหูดาวเสาร์ ดาวอังคาร และมฤตยูถึงกันหมดเลย แล้วเดี๋ยวมีอาทิตย์มาถึงด้วยมันก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุอุบัติภัย หรือการก่อวินาศกรรม เตือนๆหน่อยก็แล้วกัน ประชาชนจะได้ระมัดระวังรอบคอบนะ” นายกสมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวโดยASTV ผู้จัดการ Live
ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น