xs
xsm
sm
md
lg

Q&A : 6 คำถามว่าด้วย “แอร์เอเชีย” ที่หายไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอพี - หน่วยกู้ภัยกำลังดำเนินปฏิบัติการค้นหาในน่านน้ำอินโดนีเซีย ภายหลังที่เที่ยวบิน QZ8501 ของสายการบิน “แอร์เอเชีย” สูญหายไปพร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 162 คน ระหว่างออกเดินทางจากสุราบายา ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่อับดับสองของอินโดนีเซีย เพื่อมุ่งหน้าสู่สิงคโปร์ โดยอากาศยานลำนี้ออกบินไปได้เพียงเกือบครึ่งทางเท่านั้น ก่อนที่จะอันตรธานหายวับไปจากจอเรดาร์เมื่อช่วงเช้าวานนี้ (28 ธ.ค.)

คำถาม: เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากสาเหตุใดได้บ้าง?

คำตอบ: ยังเร็วเกินไปที่จะฟันธงได้ว่าเครื่องบินลำนี้สูญหายไปได้อย่างไร แต่ต่อไปนี้เป็นสมมติฐานบางประการที่อาจเกิดขึ้นได้ หากอากาศยานโดยสารลำนี้บินอยู่ในจุดซึ่งนับว่าปลอดภัยที่สุดของเส้นทางบิน ก็อาจเข้ากรณีเหตุเครื่องบินตกเมื่อช่วงปี 2004 ถึง 2013 ซึ่งพบว่า อุบัติเหตุร้อยละ 10 เกิดขึ้นขณะอากาศยานไต่เพดานบิน รายงานความปลอดภัย ซึ่งกิจการผู้ผลิตอากาศยานอเมริกัน “โบอิ้ง” ตีพิมพ์เมื่อเดือนสิงหาคมระบุ

การเผชิญสภาพอากาศเลวร้าย เช่น พายุฟ้าคะนอง ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน แม้ว่าเครื่อง “แอร์บัส” จะมีระบบมีคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อนแยบยลมากจนสามารถปรับตัวให้เข้ากับวินด์เชียร์ (การเปลี่ยนแปลงความเร็ว และ/หรือ ทิศทางของลมในระยะเวลาสั้นๆ) หรือสภาพอากาศแปรปรวนรูปแบบอื่นๆ ได้โดยอัตโนมัติก็ตาม แต่หากอากาศยานลำนี้บินผ่านสภาพอากาศเลวร้าย และนักบินยังตัดสินใจผิดพลาดด้วย ก็อาจนำไปสู่ภัยพิบัติทางอากาศ ขณะไต่เพดานบิน ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต กับเที่ยวบิน 447 ของสายการบิน “แอร์ฟรานซ์” ที่ตกลงในมหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อปี 2009

นอกจากนี้ เครื่องบินอาจประสบสภาวะความล้าของโลหะ (Metal fatigue) ซึ่งเกิดจากแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นและลดลงวนเวียนเป็นวัฏจักร โดยมีส่วนมาจากการนำเครื่องขึ้น หรือร่อนลงจอดซ้ำไปซ้ำมา และเครื่อง A320 ลำที่หายไปนี้ก็มีประวัติเทคออฟ และแลนดิงมาแล้วอย่างละ 13,600 ครั้ง โดยมากแล้ว กรณีเช่นนี้มักเกิดขึ้นในสภาพอากาศชื้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่เร่งให้โลหะสึกกร่อน กระนั้น เที่ยวบิน QZ8501 ก็ยังไม่น่าประสบปัญหาในเรื่องความล้าของโลหะ เนื่องจาก เครื่องบินลำนี้ผ่านการใช้งานมาเพียง 6 ปีเท่านั้น

ความเป็นไปได้อย่างสุดท้ายคือเกิดการก่อการร้ายหรือ นักบินวางแผนสังหารหมู่ ถึงแม้ว่ายังไม่พบหลักฐานที่ชี้ว่า อาจเกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้น แต่ก็ยังไม่ควรตัดประเด็นที่นี้ทิ้งไปเลยทีเดียว

คำถาม : ก่อนเครื่องบินขาดการติดต่อ นักบินพยายามบอกอะไรกับเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ?

คำตอบ: นักบินกับได้สื่อสารกับเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อ 06:13 น. ตามเวลาท้องถิ่น เมื่อกัปตัน ขอเบนออกนอกเส้นทางด้วยการเลี้ยวซ้าย และไต่เพดานบิน 6,000 ฟุต ขึ้นสู่ความสูง 38,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล เพื่อเลี่ยงมวลกลุ่มเมฆที่จับตัวหนา จากนั้น 3 นาทีให้หลังก็สามารถตรวจจับสัญญาณเรดาร์ได้เป็นสุดท้าย โดยที่ไม่มีการแจ้งเหตุร้าย อย่างไรก็ตามนักบินได้รับการฝึกฝนให้จัดการปัญหาเฉพาะหน้า และสื่อสารกลับไปก็ต่อเมื่อเห็นว่าจำเป็น

คำถาม: เที่ยวบิน QZ 8501 เป็นเครื่องบินมาเลย์ลำที่ 3 ที่เผชิญโศกนาฏกรรมในปีนี้หรือไม่?

คำตอบ: ไม่เชิง เที่ยวบิน MH370 อันตรธานหายไปพร้อมลูกเรือและผู้โดยสาร 239 คน เพียงไม่นานภายหลังทะยานขึ้นจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อมุ่งหน้าสู่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ส่วนคำถามที่ว่า เครื่องบินลำนี้อยู่ที่ไหน และเกิดอะไรขึ้นก่อนจะสูญหายไปนั้นยังคงเป็นหนึ่งในปริศนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ของแวดวงการบินพาณิชย์ ส่วนเครื่องบินโบอิ้ง 777 อีกลำของมาเลเซียแอร์ไลน์ส ถูกยิงตกลงในภาคตะวันออกของยูเครน ที่ถูกกบฏยึดครอง ขณะมุ่งหน้าออกจากกรุงอัมเตอร์ดัมส์ ไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม เป็นผลให้ลูกเรือและผู้โดยสารทั้งหมด 298 คนเสียชีวิตยกลำ กระนั้น ถึงแม้สายการบินแอร์เอเชีย จะมีสำนักงานใหญ่ในมาเลเซีย แต่เที่ยวบิน QZ8501 อยู่ภายใต้การบริหารของ “แอร์เอเชียอินโดนีเซีย” ซึ่งเป็นกิจการในเครือ ซึ่งบริษัทแม่ในแดนเสือเหลืองเป็นเจ้าของ 49 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นโดยหลักการแล้ว แอร์เอเชียอินโดนีเซีย ยังเป็นกิจการของแดนอิเหนา แต่แอร์เอเชียนั้นก็เป็นแบรนด์ที่มีความผูกพันกับชาวมาเลย์เป็นอย่างยิ่ง

คำถาม: เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินโดยสารทั้งสามลำมีความเชื่อมโยงกันหรือไม่?

คำตอบ: ทั้งสามกรณีไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เหตุการณ์เหล่านี้พียงแต่อุบัติขึ้นในปีที่เลวร้ายของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้กระนั้น เราก็ไม่สามารถหยุดยั้งไม่ให้คนตั้งทฤษฎีสมคบขึ้นมาได้ แนวคิดที่ว่า เกิดอะไรขึ้นกับเที่ยวบิน MH370 ทั้งที่ฟังดูมีเหตุมีผลและน่าพิศวง ยังคงปรากฏออกมาเรื่อยๆ การที่ปริศนาเก่ายังไม่ทันคลี่คลายก็เกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กันขึ้นมาใหม่ได้สะกดให้ผู้คนพากันจับจ้องการหายไปของเที่ยวบิน QZ8501 และตั้งสมมติฐานใหม่ๆ ขึ้นมาอีกมากมาย

คำถาม: ประวัติการบินของอินโดนีเซียเป็นอย่างไรบ้าง?

คำตอบ: ประเทศนี้มีประวัติการบินที่ไม่ราบรื่น เมื่อปี 2007 อัตราอุบัติเหตุเครื่องบินตก และมาตรฐานความปลอดภัยของประเทศนี้เลวร้ายมาก จนสหภาพยุโรป (อียู) ตัดสินใจสั่งแบนสายการบินทุกเจ้าของแดนอิเหนาไม่ให้บินเข้าชาติสมาชิกอียู ก่อนที่จะมีการยกเลิกข้อห้ามดังกล่าวไปเมื่อปี 2009 แต่ยังคงห้ามไม่ให้สายการบินเจ้าใหญ่และเติบโตเร็วของอินโดนีเซียอย่าง “ไลออนแอร์” บินเข้าประเทศสมาชิกเหมือนเดิม

คำถาม: เครื่องแอร์บัส A320 สามารถทำการบินได้อย่างปลอดภัยในระดับความสูงสุดเท่าไร และจะเกิดอะไรขึ้นถ้าอากาศยานลำนี้ไต่เพดานบินเกินขีดจำกัด?

คำตอบ: A320 ได้รับการรับรองว่าสามารถบินได้สูงถึง 39,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล แต่เครื่องบินลำนี้ไม่สามารถบินสูงเกิน 42,000 ฟุตเป็นอันขาด แม้กระนั้นเครื่อง A320 อาจประสบปัญหาตั้งแต่ความสูง 37,000 ฟุต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ น้ำหนัก ซึ่งหมายรวมทั้ง น้ำหนักเชื้อเพลิง ของบรรทุก และผู้โดยสาร โดยระบบคอมพิวเตอร์บนเครื่องควรคำนวณระดับความสูงสุดที่อากาศยานสามารถบินได้อย่างปลอดภัย จากน้ำหนักและอุณหภูมิ ณ ปัจจุบัน ในทางกลับกันอากาศยานที่ไต่เพดานบินสูงเกินขีดจำกัด อาจสูญเสียแรงยก จนมีอาการร่วงหล่น (Stall) หรือเกิดการแตกร้าวเพราะได้รับแรงกดดัน จนเครื่องบินเสียหาย


ยุติค้นหาวันที่ 2 ยังไม่เจอ “แอร์เอเชีย” พบรอยคราบน้ำมัน - คาดจมใต้ทะเล
ยุติค้นหาวันที่ 2 ยังไม่เจอ “แอร์เอเชีย” พบรอยคราบน้ำมัน - คาดจมใต้ทะเล
เครื่องบินโดยสารของสายการบินแอร์เอเชีย เที่ยวบิน QZ8501 ที่สูญหายไปพร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 162 ชีวิต อาจจะจมอยู่ก้นทะเลแล้วหลังจากตกในบริเวณนอกชายฝั่งแดนอิเหนา เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียสันนิษฐานในวันจันทร์ (29 ธ.ค.) ขณะที่การค้นหาในวันที่สองนี้ยุติลงชั่วคราวเมื่อฟ้ามืดโดยยังไม่ค่อยมีความคืบหน้าอะไรนัก ทั้งนี้ทีมค้นหาจากนานาชาติพบวัตถุต้องสงสัยในทะเลรวมทั้งคราบน้ำมัน ทว่ารองประธานาธิบดีอินโดนีเซียแถลงว่า วัตถุดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับเที่ยวบินที่หายไป ส่วนคราบน้ำมันนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบให้ชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น