เอเจนซีส์ - เครื่องบินโดยสารของสายการบินแอร์เอเชีย เที่ยวบิน QZ8501 ที่สูญหายไปพร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 162 ชีวิต อาจจะจมอยู่ก้นทะเลแล้วหลังจากตกในบริเวณนอกชายฝั่งแดนอิเหนา เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียสันนิษฐานในวันจันทร์ (29 ธ.ค.) ขณะที่การค้นหาในวันที่สองนี้ยุติลงชั่วคราวเมื่อฟ้ามืดโดยยังไม่ค่อยมีความคืบหน้าอะไรนัก ทั้งนี้ทีมค้นหาจากนานาชาติพบวัตถุต้องสงสัยในทะเลรวมทั้งคราบน้ำมัน ทว่ารองประธานาธิบดีอินโดนีเซียแถลงว่า วัตถุดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับเที่ยวบินที่หายไป ส่วนคราบน้ำมันนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบให้ชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป
เฮนรี่ บัมบัง โซลิสต์โย ผู้อำนวยการสำนักงานค้นหาและช่วยชีวิตแห่งชาติของอินโดนีเซีย แถลงในวันจันทร์ (29) ว่า สมมติฐานในขณะนี้คือเครื่องบินของแอร์เอเชีย เที่ยวบิน QZ8501 จมอยู่ก้นทะเล
“จากการคำนวณระยะพิกัดของเรา เราคาดหมายว่ามันคงตกลงไปในทะเล ดังนั้นสำหรับในตอนนี้ เราจึงคิดว่ามันคงอยู่ที่ก้นทะเล” เขากล่าว
ทั้งนี้ เครื่องบินแอร์บัส เอ320-200 ลำนี้สูญหายไปในกลุ่มเมฆฝนหนาทึบ ระหว่างออกจากสนามบินนานาชาติของเมืองสุราบายา เมืองใหญ่อันดับสองในอินโดนีเซีย มุ่งหน้าสู่สิงคโปร์ช่วงเช้าตรู่วันอาทิตย์ (28) โดยมีผู้โดยสารและลูกเรือทั้งสิ้น 162 คน ประกอบด้วยชาวอินโดนีเซีย 155 คน, เกาหลีใต้ 3 คน และสิงคโปร์ มาเลเซีย อังกฤษ และฝรั่งเศสชาติละ 1 คน โดยชาวฝรั่งเศสนั้นคือผู้ช่วยนักบิน
ทางด้าน ดวี ปุตรานโต ผู้บัญชาการฐานทัพอากาศในจาการ์ตาเผยว่า เครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเลของออสเตรเลียที่มาช่วยเหลือค้นหาตั้งแต่วันจันทร์ ได้ตรวจพบ “วัตถุต้องสงสัย” ใกล้เกาะนังกา นอกชายฝั่งกะลิมันตันราว 160 กิโลเมตร หรือประมาณ 1,120 กิโลเมตรจากจุดที่เครื่องบินขาดการติดต่อ แต่ยังอยู่ในบริเวณค้นหา ซึ่งเป็นทะเลที่มีความลึกเพียง 40-50 เมตร และทีมค้นหากำลังมุ่งหน้าไปในบริเวณที่พบวัตถุต้องสงสัยท่ามกลางสภาพอากาศที่มืดมัว
ทว่า หลังจากนั้นไม่นาน รองประธานาธิบดียูซูฟ คัลลา ของอินโดนีเซียแถลงว่า วัตถุต้องสงสัยที่เครื่องบินออสเตรเลียพบไม่ใช่ชิ้นส่วนของเครื่องบินของแอร์เอเชีย
ขณะเดียวกัน ฮาดิ ทีจาห์นันโต โฆษกกองทัพอากาศให้สัมภาษณ์เมโทรทีวีว่า เฮลิคอปเตอร์ของอินโดนีเซียลำหนึ่งพบคราบน้ำมัน 2 จุดในทะเลชวา ทางตะวันออกของเกาะเบลิตัง ใกล้กับบริเวณที่เครื่องบินขาดการติดต่อมากกว่าจุดที่เครื่องบินออสเตรเลียพบวัตถุต้องสงสัย โดยขณะนี้ได้เก็บตัวอย่างน้ำมันที่พบเพื่อนำไปวิเคราะห์ว่า เป็นน้ำมันจากเครื่องบินที่หายไปหรือไม่
นอกจากอินโดนีเซียแล้ว ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และมาเลเซียได้ส่งเครื่องบินและเรือมาช่วยค้นหา ซิจิต เซเตียยานา ผู้บัญชาการศูนย์การบินกองทัพเรือ กล่าวว่า การค้นหาครั้งนี้ประกอบด้วยเรือ 12 ลำ, เครื่องบิน 5 ลำ, เฮลิคอปเตอร์ 3 ลำ และเรือรบจำนวนหนึ่ง
นอกจากนั้น อินโดนีเซียจะขอหยิบยืมอุปกรณ์บางอย่างที่จำเป็นต้องใช้ในการค้นหาจากประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือ ซึ่งได้แก่ อังกฤษ อเมริกา จีน และฝรั่งเศส
ขณะเดียวกัน ชาวประมงจากเกาะเบลิตังยังเข้าร่วมการค้นหาด้วย และเรือทุกลำในบริเวณดังกล่าวได้รับการแจ้งให้ช่วยค้นหาสิ่งใดก็ตามที่อาจเชื่อมโยงกับเครื่องบินที่หายไป
เที่ยวบิน QZ8501 ติดต่อกับศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศครั้งสุดท้ายเพื่อขอเพิ่มระดับการบินจาก 32,000 ฟุต (9,754 เมตร) เป็น 38,000 ฟุต (11,582 เมตร) เนื่องจากสภาพอากาศเลวร้าย ทว่า ศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศไม่สามารถอนุญาตได้ทันที เนื่องจากมีเครื่องบินอีกลำอยู่ในบริเวณดังกล่าว
บัมบัง ทีจาห์โจโน ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมการบินซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของอินโดนีเซีย เสริมว่า สี่นาทีต่อมาเมื่อน่านฟ้าบริเวณนั้นว่างแล้ว 8501 ก็หายไปแล้วโดยไม่ได้ส่งสัญญาณความช่วยเหลือใดๆ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ Flightradar24.com ที่ติดตามเที่ยวบินพาณิชย์แบบตามเวลาจริง ระบุว่า ในขณะเกิดเหตุ บริเวณนั้นมีเครื่องบินหลายลำบินที่ระดับ 34,000-36,000 ฟุต ซึ่งถือเป็นระดับการบินปกติ ขณะที่นักบินและผู้เชี่ยวชาญการบินเสริมว่า พายุฟ้าคะนองและการขอเพิ่มระดับการบินก็ถือเป็นเรื่องปกติในน่านฟ้าบริเวณดังกล่าว
นักบินคนหนึ่งของแควนตัส แอร์เวย์สระบุว่า ประสิทธิภาพของเครื่องบินจะเชื่อมโยงโดยตรงกับอุณหภูมินอกตัวเครื่อง และการเพิ่มระดับการบินอาจทำให้เรดาร์แบบสแตติกเย็นจัด ส่งผลให้นักบินอ่านข้อมูลเรดาร์ผิดพลาด ที่อันตรายคือนักบินควบคุมเครื่องบินผิดวิธี ซึ่งในกรณีฉุกเฉิน นักบินอาจพยายามควบคุมเครื่องบินจึงไม่มีเวลาส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ
การหายไปของเที่ยวบิน 8501 ถือเป็นการปิดฉากปีแห่งโศกนาฏกรรมสำหรับการเดินทางทางอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะมาเลเซีย เริ่มจากเที่ยวบิน MH370 ของมาเลเซีย แอร์ไลนส์ ที่หายไปไร้ร่องรอยนับจากวันที่ 8 มีนาคมจนถึงวันนี้ และเที่ยวบิน MH17 ของสายการบินเดียวกัน ที่ถูกยิงตกในเดือนกรกฎาคมในยูเครน
“จนถึงวันนี้ เรายังไม่ถือว่ามีผู้ใดเสียชีวิต” โทนี่ เฟอร์นันเดซ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) แอร์เอเชียให้สัมภาษณ์ในสนามบินจาการ์ตา และสำทับว่า ไม่คิดว่าซีอีโอสายการบินคนใดสามารถรับประกันได้ว่า สายการบินของตนปลอดภัย 100%
อย่างไรก็ดี เขาปฏิเสธที่จะกล่าวถึงประเด็นเงินชดเชยหรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ กับสายการบินอันสืบเนื่องมาจากอุบัติเหตุครั้งนี้ โดยย้ำความเชื่อมั่นในความสามารถและยืนหยัดให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำต่อไป
จากการสูญหายของเที่ยวบิน QZ8501 ในขณะที่แอร์เอเชียไม่เคยมีเครื่องบินตกมาก่อนเลย ได้ส่งผลทำให้ราคาหุ้นของสายการบินโลว์คอสต์ชื่อดังแห่งนี้หล่นฮวบ 12% ในตอนเปิดตลาดที่กัวลาลัมเปอร์วันจันทร์ แต่ก็สามารถดีดกลับขึ้นได้บ้างโดยตอนปิดลดต่ำลงจากวันก่อน 8.50%