xs
xsm
sm
md
lg

เปรียบเทียบโศกนาฏกรรม MH370 เที่ยวบินแอร์เอเชียอยู่ในภาวะที่ดีกว่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - การหายสาบสูญของเที่ยวบิน QZ8501 ของแอร์เอเชีย หลังทะยานขึ้นจากสนามบินเมืองสุราบายาเกือบ 1 ชั่วโมง เมื่อวันอาทิตย์ (28 ธ.ค.) ที่ผ่านมา กระตุ้นความทรงจำเกี่ยวกับเที่ยวบิน MH370 ของมาเลเซียแอร์ไลนส์ ที่ยังคงหายไปไร้ร่องรอยแม้ล่วงเลยมาถึง 9 เดือนแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ดี แม้ยังไม่รู้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับเที่ยวบิน QZ8501 แต่ดูเหมือนยังไม่มีเหตุผลที่จะตั้งสมมติฐานอย่าง อื่นนอกเหนือจากเป็นภัยพิบัติทางการบินปกติ โดยที่เราจะรู้สาเหตุชัดเจนกว่านี้ ต่อเมื่อค้นพบซากเครื่องบินและเครื่องบันทึกข้อมูลการบินเท่านั้น

แต่ก่อนจะถึงตอนนั้น อาจมีการเปรียบเทียบสถานการณ์แวดล้อมที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมสองเหตุการณ์นี้ การรับมือของทางการและสายการบิน รวมทั้งธรรมชาติและความท้าทายในการค้นหา

ต่อไปนี้คือความแตกต่างระหว่างสองเหตุการณ์ดังกล่าว โดยกรณีของ QZ8501 นั้นอิงกับข้อมูลที่เจ้าหน้าที่เปิดเผยออกมาแล้ว หลังจากที่เครื่องบินของแอร์เอเชียลำนี้ขาดการติดต่อกับศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินในอินโดนีเซียในช่วงเช้าตรู่วันอาทิตย์ (28) ภายหลังทะยานขึ้นจากสนามบินสุราบายาเพียง 42 นาที พร้อมกับผู้โดยสารและลูกเรือ 162 คน ขณะมุ่งสู่จุดหมายปลายทางที่สิงคโปร์

ความไม่ชอบมาพากล

เจ้าหน้าที่สงสัยว่า เที่ยวบิน 370 ถูกเปลี่ยนเส้นทางอย่างจงใจโดยใครบางคนบนเครื่อง แต่สำหรับกรณีแอร์เอเชียนั้นไม่มีส่งบ่งชี้ใดๆ นอกจากอุบัติเหตุ หมายความว่า เครื่องอาจตกไม่ไกลจากจุดที่หายไปจากเรดาร์ กระทรวงคมนาคมอินโดนีเซียแถลงว่า นักบินขออนุญาตเปลี่ยนเส้นทางบินโดยเลี้ยวไปทางซ้ายและเพิ่มระดับการบินเพื่อหลีกเลี่ยงกลุ่มเมฆหนาทึบก่อนที่เครื่องจะหายไปเพียง 3 นาที ซึ่งตอกย้ำการคาดการณ์แต่แรกว่า สภาพอากาศหรือการตอบสนองของนักบินคือสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินตก

จุดตก

จากสัญญาณ “Ping” ของเที่ยวบิน 370 เจ้าหน้าที่เชื่อว่า เครื่องบินตกทางใต้ของมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นบริเวณที่ทั้งกว้างขวาง น้ำลึก และห่างไกลจากตำแหน่งที่รับรู้สุดท้ายของเครื่องบิน ขณะที่เครื่องของแอร์เอเชียมีเชื้อเพลิงเพียงพอบินต่ออีก 4 ชั่วโมง และสันนิษฐานว่า เครื่องตกทันทีที่หายไปจากจอเรดาร์ ดังนั้น การค้นหาจึงน่าจะง่ายกว่า นอกจากนี้ ทะเลชวา ซึ่งเป็นบริเวณที่เชื่อว่าเครื่องบินตก ยังลึกเพียง 25-50 เมตร และมีเรือและเครื่องบินสัญจรไปมาตลอดเวลา

ทั้งนี้ ในสถานการณ์ปกตินั้น แม้เครื่องบินตกในสภาพที่เกือบสมบูรณ์ก็ต้องมีชิ้นส่วนหลุดออกจากตัวเครื่องบ้าง แต่อาจต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะค้นพบ ดังกรณีเครื่องบินพาณิชย์ของอินโดนีเซียลำหนึ่งที่สูญหายไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2007 พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 102 คนในเส้นทางบินภายในประเทศระหว่างสุราบายากับมานาโดนั้น ปรากฏว่าต้องใช้เวลาค้นหาทั้งทางบกและทะเลถึง 11 วัน ก่อนที่ชาวประมงผู้หนึ่งจะพบแพนหางขวาของเครื่องบิน

การสื่อสาร

มาเลเซียแอร์ไลนส์ถูกวิจารณ์อย่างหนักหลังโศกนาฏกรรม จากการให้ข้อมูลที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งกันเองและกำกวมคลุมเครือ แต่ปัญหาดังกล่าวไม่เกิดขึ้นในโศกนาฏกรรมล่าสุด เนื่องจากโทนี่ เฟอร์นันเดซ นายใหญ่แอร์เอเชีย ทวิตเกี่ยวกับอุบัติเหตุและสิ่งที่บริษัทกำลังดำเนินการอย่างรวดเร็ว ทำให้ได้รับเสียงชื่นชมแทนที่จะเป็นตำหนิ

อย่างไรก็ดี การจัดการด้านการสื่อสารเกี่ยวกับการสูญหายของเครื่องบินจะท้าทายมากขึ้น หากไม่สามารถค้นพบซากเครื่องบินได้ในเวลาอันรวดเร็ว

นอกจากนั้น การที่ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นชาวอินโดนีเซีย และสายการบินคือ อินโดนีเซีย แอร์เอเชียเป็นบริษัทจดทะเบียนของอินโดนีเซีย จึงมีความกดดันน้อยกว่า เปรียบเทียบกับเที่ยวบิน 370 ที่ผู้โดยสาร 2 ใน 3 เป็นคนจีน และที่เหลือมาจากทั่วโลก ซึ่งทำให้การรับมือสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ยากลำบากยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น