xs
xsm
sm
md
lg

AAV ร่วงรับข่าวเครื่องแอร์เอเชียสูญหาย คาดกระทบแค่ทางอ้อม แนะเก็งปี 58 กำไรโต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หุ้นไทยแอร์เอเชียร่วง คาดรับข่าวเครื่องแอร์เอเชียสูญหาย โบรกฯ ประเมิน AAV ได้รับผลกระทบแค่ทางอ้อมจากความเชื่อมั่นลูกค้าที่ลดลง เนื่องจากใช้แบรนด์เดียวกัน ช่วงสั้นจึงแนะนำให้ “เลี่ยงลงทุน” ไปก่อน และให้กลับมาหาจังหวะทยอย “ซื้อ” สะสม เมื่อราคาหุ้นปรับตัวลดลง พร้อมแนะเก็งกำไรปี 58 กำไรโต 1.4 พันล้าน

รายงานข่าวแจ้งว่า ราคาหุ้นของบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV เช้าวันนี้ร่วงลงรับข่าวการเกิดเหตุเครื่องบินแอร์บัส 320-200 สูญหายไป และยังไม่สามารถติดต่อได้ โดยเมื่อเวลา 10.31 น. ราคาหุ้นปรับไปที่ 4.28 บาท ลดลง 0.14 บาท หรือเปลี่ยนแปลง -3.17% โดยเช้าวันนี้ หุ้น AAV เปิดตลาดที่ราคา 4.28 บาท

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ (29 ธ.ค.) แนะนำ “ซื้อ” AAV ราคาเป้าหมาย 6.00 บาท/หุ้น ยังถือเป็นระดับที่มี Upside น่าสนใจลงทุน โดยคาด AAV รับ Sentiment เชิงลบจากผลกระทบทางอ้อมอินโดนีเซีย แอร์เอเชีย เกิดอุบัติเหตุ

อย่างไรก็ตาม ในด้านประมาณการกำไรปี 2558 ซึ่งคาดไว้ที่ 1.4 พันล้านบาท ฝ่ายวิจัยเชื่อว่ายังเป็นไปได้ เพราะได้กำหนดสมมติฐานที่คำนวณรายได้อย่างอนุรักษนิยม คือ ให้ Load Factor (สัดส่วนผู้เดินทางต่อกำลังให้บริการ) ทั้งปี 2558 ที่ 81% (VS ปีนี้ซึ่งได้รับปัจจัยลบปัญหาการเมืองที่กำหนด 80.5%)

นอกจากนี้ AAV ยังมีโอกาสได้รับผลชดเชยจากต้นทุนเชื้อเพลิง (44% ของต้นทุนบริการรวม) จากประเด็นบวกราคาน้ำมันดิบโลกแกว่งตัวระดับ 55-60 เหรียญต่อบาร์เรล เทียบเท่าราคาน้ำมันเครื่องบิน 80-85 เหรียญฯ ซึ่งต่ำกว่าสมมติฐานฝ่ายวิจัยที่ 100 เหรียญฯ (เท่ากับน้ำมันดิบ 75 เหรียญฯ)

โดยช่วงสั้นจึงแนะนำให้ “เลี่ยงลงทุน” ไปก่อน และให้กลับมาหาจังหวะทยอย “ซื้อ” สะสม เมื่อราคาหุ้นปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ ช่วงเช้าวานนี้ (28 ธ.ค.) ได้เกิดเหตุเครื่องบินแอร์บัส 320-200 เที่ยวบิน QZ8501 สายการบินอินโดเนเซีย แอร์เอเชีย บินจากเมืองสุราบายา โดยมีปลายทางที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างทางเที่ยวบินได้ฝ่าพายุบริเวณเหนือน่านฟ้าอินโดเนเซีย ส่งผลให้กัปตันมีการขอเพิ่มเพดานบิน แต่หลังจากนั้นกลับขาดการติดต่อไปจนกระทั่งปัจจุบันยังค้นหาเครื่องบินไม่พบ และยังไม่ทราบชะตากรรมผู้โดยสาร และลูกเรือ

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับสายการบินอินโดเนเซีย แอร์เอเชีย ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับ AAV กล่าวคือ อินโดเนเซีย แอร์เอเชีย ถือหุ้นโดย Air Asia Berhad 51% (ส่วนที่เหลือ 49% ถือหุ้นโดยนักลงทุนท้องถิ่น) ส่วน AAV ถือหุ้นหลักโดยกลุ่มผู้บริหาร 46% (ส่วนที่เหลือเป็นนักลงทุนทั่วไป) ซึ่งเป็น Holding Company ถือหุ้นบริษัทเดียว คือ สายการบินไทยแอร์เอเชีย ด้วยสัดส่วนราว 55% ส่วนที่เหลือ 45% ถือหุ้นโดย Air Asia Berhad ส่งผลให้ Air Asia Berhad น่าจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สายการบินไทยแอร์เอเชีย (บริษัทย่อย AAV) เนื่องจากเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ คือ ใช้แบรนด์ Air Asia ร่วมกันกับอินโดเนเซีย แอร์เอเชีย ดังนั้น ผลกระทบที่ AAV ได้รับคาดอยู่ในลักษณะทางอ้อมจากความเชื่อมั่นลูกค้าที่ลดลง ซึ่งฝ่ายวิจัยจะติดตามข้อมูลตัวเลขสถิติการบินอย่างใกล้ชิดก่อนนำเสนออีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น