xs
xsm
sm
md
lg

เสียงเรียกร้องระบบตามรอยแบบเรียลไทม์เริ่มหนาหู หลังเครื่องบินแอร์เอเชียสูญหาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ก่อนหน้านี้ ตอนที่เที่ยวบิน MH370 หายสาปสูญไปในช่วงเดือนมีนาคม เคยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อุตสาหกรรมการบินอย่างหนัก ที่มัวแต่ลังเลเรื่องติดตั้งระบบตามรอยเครื่องบินแบบเรียลไทม์ จนมาถึงตอนนี้เมื่อมีเครื่องบินโดยสารสูญหายไปอีกลำ ทำให้กระแสเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องนี้มีมากขึ้นกว่าเดิม

การตามรอบเครื่องบินด้วยดาวเทียมและการสตรีมมิ่งข้อมูลจากกล่องดำแบบเรียลไทม์ ได้ถูกกล่าวถึงเป็นอันดับต้นๆ โดยบรรดาคนวงในของอุตสาหกรรมการบิน หลังจากที่มีการหายไปของเที่ยวบิน MH370 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ ที่มีคนอยู่บนเครื่อง 239 ชีวิต และยังคงไม่ทราบชะตากรรมของพวกเขาเหล่านั้นมาจนถึงทุกวันนี้ แม้จะมีการค้นหากันอย่างเต็มที่ในทะเลฝั่งตะวันตกของออสเตรเลีย

สมาชิกขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) เห็นด้วยที่จะให้มีการใช้ระบบตามรอยแบบเรียลไทม์ แต่พวกเขาไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่จะให้ใช้งานระบบนี้ ส่วนบรรดาสายการบินต่างๆ ก็พากันกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย

แต่ในตอนนี้ เมื่อมีการสูญหายไปของเที่ยวบิน QZ8501 ของสายการบิน แอร์ เอเชีย เมื่อวันอาทิตย์ (28 ธ.ค.) ในเขตพื้นที่ของประเทศอินโดนีเซีย ทำให้เสียงเรียกร้องที่จะให้เปลี่ยนมาใช้ระบบตามรอยดังกล่าว เริ่มดังขึ้นมาอีกครั้ง

เครื่องบินแอร์บัส เอ320-200 ที่มีผู้คน 162 ชีวิตอยู่ในนั้น ได้ขาดการติดต่อขณะอยู่บนเส้นทางจาก สุราบายา เมืองใหญ่อันดับสองของอินโดนีเซีย มุ่งหน้าสู่สิงคโปร์ โดยในการค้นหาล่าสุดนั้นมีการพบซากชิ้นส่วนลอยอยู่ในทะเลชวา

บรรดาผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แม้เทคโนโลยีตามรอยแบบเรียลไทม์ จะไม่สามารถช่วยชีวิตผู้คนบนเครื่องบินเอาไว้ได้ แต่มันก็ช่วยให้การตามหาทำได้คล่องตัวขึ้น

"ระบบการตามรอยแบบเรียลไทม์อาจจะไม่ช่วยรักษาชีวิตผู้คน แต่สามารถช่วยในการกู้ซากเครื่องบินและกล่องดำได้ทันเวลา ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย ที่จะช่วยรักษาชีวิตผู้คนได้ในอนาคต" สก็อต แฮมิลตัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีแฮม ผู้ให้คำปรึกษาด้านการบินและอวกาศในสหรัฐฯ กล่าว

แฮมิลตัน ยังได้บอกด้วยว่า ไอซีเอโอ มัวแต่ลังเลเรื่องการอนุมัติใช้งานระบบตามรอยแบบเรียลไทม์ ตั้งแต่ตอนเกิดเหตุร้ายกับเที่ยวบิน MH370

"พวกผู้ตรวจสอบดูแลด้านการบิน ล้วนมีชื่อเสียงแย่ๆ ในเรื่องการตัดสินใจ พวกเขาไม่ยอมเปลี่ยนแปลงมาตรฐานด้านความปลอดภัย จนกระทั่งมีคนตาย" แฮมิลตัน ระบุ

แม้จะมีคนในอุตสาหกรรมการบินบางราย บ่นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่สูงในการนำเทคโนโลยีดาวเทียมมาปรับใช้ในการตามรอยเครื่องบิน แต่เสียงวิจารณ์จากคนอย่างแฮมิลตัน ก็ได้แย้งให้เห็นว่า หากสายการบินมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย แล้วเหตุใดจึงมีการลงทุนหลายล้านเพื่อนำเสนอบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบรนด์ผ่านดาวเทียมให้แก่ผู้โดยสารได้

โรเบิร์ต มันน์ ที่ปรึกษาด้านการบิน ระบุว่า บรรดาสายการบินต่างๆ ล้วนกำลังพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ระบบตามรอยแบบเรียลไทม์ผ่านดาวเทียมในตอนนี้ เนื่องจากหวังว่าเทคโนโลยีนี้น่าจะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลงในช่วงปลายทศวรรษ 2020

ไอซีเอโอ ระบุว่า ระบบตามรอยแบบเรียลไทม์ ชนิดที่มีการจำหน่ายอยู่ในตอนนี้ มีค่าใช้จ่ายประมาณ 100,000 ดอลลาร์ต่อเครื่องบินหนึ่งลำ ขณะที่บริษัท อินมาร์แซท ผู้ให้บริการดาวเทียมสัญชาติอังกฤษ เสนอที่จะให้บริการตามรอยขั้นพื้นฐานแก่เครื่องบินโดยสารของสายการบินทั่วโลกไปแบบฟรีๆ

อย่างไรก็ตาม เหล่าคนวงในของอุตสาหกรรมการบินก็ยังบอกว่า ไม่ควรจะมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีการตามรอยแต่เพียงอย่างเดียว

เช่นเดียวกับกรณีของเที่ยวบิน MH370 ในครั้งก่อน บรรดาเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการค้นหาเที่ยวบิน QZ8501 ในครั้งนี้ ไม่ได้ตอบสนองต่อสัญญาณแสดงตำแหน่งฉุกเฉินของเครื่องบินอย่างทันท่วงที ทั้งที่เป็นเรื่องที่กำหนดไว้ว่าให้เร่งดำเนินการตอบสนองในยามที่มีเครื่องบินสูญหาย

ถึงกระนั้น ผู้สังเกตการณ์บางรายก็ยังบอกว่า การวิพากษ์วิจารณ์อุตสาหกรรมการบิน กรณีไม่ใช้ระบบตามรอยแบบเรียลไทม์ ควรจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงด้วย

"แม้จะมีการเห็นพ้องอย่างเป็นเอกฉันท์เรื่องระบบตามรอยแบบเรียลไทม์ หลังเกิดเหตุร้ายกับเที่ยวบิน MH370 แต่มันก็ต้องใช้เวลาที่ค่อนข้างนานในการที่จะเปลี่ยนแปลง มันไม่สำเร็จได้ภายในปีเดียวแน่นอน" เทอเรนซ์ ฟาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน มหาวิทยาลัยการจัดการแห่งสิงคโปร์ บอกกับเอเอฟพี

แอนดรู เฮิร์ดแมน ผู้อำนวยการทั่วไปของสมาคมสายการบินภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ระบุว่า ความพยายามของ ไอซีเอโอ ในการที่จะให้สายการบินต่างๆ ใช้ระบตามรอยแบบเรียลไทม์ยังคงเดินหน้าอยู่

"การดำเนินงานในระยะสั้นไปจนถึงระยะกลางนั้นยังคงเดินหน้าอยู่ ซึ่งนี่จะรวมถึงระบบการสตรีมมิ่งข้อมูลของกล่องดำด้วย" เขากล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น