xs
xsm
sm
md
lg

เสียภาษี “กวดวิชา” ผู้ปกครองเตรียมตัวซวย!!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรงเรียนกวดวิชาลงทุนน้อยแต่กำไรสูง รัฐบาลจึงเตรียมเรียกเก็บภาษี อ้างเพื่อประสิทธิภาพการจัดระบบการศึกษา เกิดเป็นคำถามว่า มาตรการนี้จะช่วยจัดระเบียบโรงเรียนกวดวิชาอย่างได้ผลจริงหรือ? หรือจะเป็นเพียงมาตรการสร้างภาระให้แก่ผู้ปกครองของเด็ก ที่สำคัญใครคือผู้ที่ได้ประโยชน์และใครคือผู้ที่ต้องแบกภาระสูงสุด?

เก็บภาษี = โยนภาระให้ผู้ปกครอง
 
ติวเตอร์โรงเรียนกวดวิชาถึงกับต้องหนาวไปตามๆ กัน หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้มีการเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา หลังพบต้นทุนน้อยแต่กำไรสูง เพื่อแยกระหว่างโรงเรียนที่สอนไม่หวังผลกำไร กับที่เปิดเป็นธุรกิจออกจากกัน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอมา
 
ตามนโยบายรัฐบาลดังกล่าว ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยินดีทำตาม แต่หากรับค่าใช้จ่ายไม่ไหวอาจจะต้องเพิ่มราคาค่าเรียนในแต่ละวิชาเพิ่ม ทำให้เหล่านักเรียน ผู้ปกครอง เป็นกังวลเกี่ยวกับกระแสดังกล่าวเป็นอย่างมาก ทางทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live จึงได้สอบถามไปยัง “อนุสรณ์ ศิวะกุล” นายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา และผู้บริหารและเจ้าของ โรงเรียนกวดวิชาวรรณสรณ์ (เคมี อาจารย์อุ๊) โดยมีความเห็นว่า
 
“ตอนนี้เรายังประมาณการผลกระทบได้ไม่ชัดเจนนะครับ แล้วถ้าอ่านมติ ครม. ดีๆ บอกว่ากระทรวงศึกษาธิการ กรมสรรพากร กระทรวงการครัง ต้องมานั่งคุยกัน ว่าจะเก็บภาษีในลักษณะใด และเก็บภาษีในวิชากลุ่มใดบ้าง เพราะฉะนั้น จะมีผลกระทบบางส่วนหรือเปล่าหรือว่ากระทบในภาพรวม รวมถึงเกณฑ์ที่ใช้ถ้าไม่ใช่เกณฑ์ปกติ ก็ต้องกำหนดรูปแบบใหม่ซึ่งอาจจะเก็บแค่บางส่วน”
 
ส่วนผลกระทบของค่าเล่าเรียนนั้น ทางโรงเรียนกวดวิชาไม่สามารถเรียกเก็บได้เองตามอำเภอใจได้ ต้องขึ้นอยู่กับเกณฑ์ในการคำนวณของกระทรวงศึกษาธิการ
 
“เวลาเราคำนวณค่าเรียนกระทรวงศึกษาธิการจะมีเกณฑ์ในการคำนวณ เราไม่สามารถจะเรียกเก็บค่าเรียนเองได้ตามอัธยาศัย ส่วนหลักในการคำนวนค่าเรียนของเรา คือต้องไปแจกแจงรายละเอียดของต้นทุนในรอบปีว่าลงทุนไปทั้งหมดเท่าไหร่ เฉลี่ยเป็นรายปีออกมา โดยหลักการมูลค่าเพิ่มแล้วรายจ่ายแต่ละเดือนเบ็ดเสร็จแล้วปีหนึ่งจ่ายเป็นต้นทุนเท่าไหร่
 
กระทรวงศึกษาธิการจะให้ลงกำไรได้แค่ 20 เปอร์เซ็นต์ เช่น สมมติว่าคุณลงทุนไป 1 ล้านบาท คุณก็จะมีกำไรได้แค่ 200,000 บาท เพราะฉะนั้น ในเงิน 1,200,000 บาท ใน 1 ปี คุณจะรับเด็กพิเศษได้กี่คน ก็เอาหัวเด็กมาเป็นตัวหาร ก็เป็นค่าเฉลี่ยต่อรายวิชา บางคอร์สเราก็เก็บสูงกว่าค่าเฉลี่ย บางคอร์สก็เก็บต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เบ็ดเสร็จรวมแล้วก็ต้องไม่เกิน 1,200,000 บาท เพื่อคุมกำไรให้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ อาจจะมีบวกลบบ้างเล็กน้อย เพราะบางอย่างมันเป็นเรื่องของการประมาณการ”
 
เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะเป็นตัวการันตีว่าค่าใช้จ่ายของโรงเรียนกวดวิชามันไม่เคยเกิดขึ้นเลย เห็นจะเป็นไปไม่ได้ เพราะนอกจากเรื่องค่าใช้จ่ายภาษีแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อยู่มาก เช่น ภาษีป้าย หรือเงินเดือนพนักงานเอง ผู้บริหารรับไปก็ต้องไปจ่ายภาษีเหมือนกัน
 
“บางคนพูดว่าโรงเรียนกวดวิชาไม่ได้เสียภาษีเลย ไม่ใช่แบบนั้นนะครับ โดยขบวนการการทำธุรกิจมันก็เสียไปตามขั้นตอนของมัน ยกเว้นสุดท้ายภาษีธุรกิจที่ต้องเสีย ซึ่งตอนนี้ค่าทำภาษีธุรกิจในเรื่องของระบบเป็นบริษัทก็จะเสียภาษีนิติบุคคล 20 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่ตามมาอีก คือระบบมีรายได้เกินปีละ 1,200,000 บาท ไหม ถ้ามีรายได้เกินก็ต้องไปจดระบบใหม่ และต้องจ่ายค่าภาษี
 
ประชาชนทั่วไปต้องจ่ายภาษี 7 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลกำลังจะปรับขึ้นเป็น 8 เปอร์เซ็นต์เวลาเขาคิดภาษี ก็โยนไปให้ผู้บริโภค เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราคาดการณ์กัน สมมติเขาบอกว่าเราไม่ต้องเข้าระบบฐานภาษีคือประชาชนไม่ต้องรับภาระแล้ว และสิ้นปียังมีกำไรอีก กำไรต้องไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ เสียภาษีอีก 20 เปอร์เซ็นต์ 20 ของ 20 เปอร์เซ็นต์ คือ 10 เปอร์เซ็นต์
 
จะเห็นได้ชัดๆ เลยว่าค่าใช้จ่ายส่วนที่เกิดขึ้นจากภาษียังไม่เกี่ยวกับการดำเนินการ 12 เปอร์เซ็นต์ แล้ว โรงเรียนนอกระบบทั้งหมดเป็นโรงเรียนกวดวิชา โดยส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ทำระบบบัญชีเป็นมาตรฐาน เขาจะทำเป็นบัญชีรับจ่าย เพื่อให้รู้ว่ามีรายรับเท่าไหร่ รายจ่ายเท่าไหร่ กำไรเท่าไหร่
 
ถ้าเป็นบัญชีเพื่อการตรวจสอบ ก็ต้องทำเป็นระบบบัญชี ต้องใช้คนที่มีความรู้ในการทำบัญชี ต้นทุนในส่วนนี้ก็จะเกิดขึ้นอีก มันก็จะมีเปอร์เซ็นต์ที่ปูดออกมาอีก สมมติปูดมาเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ กับมีกำไร 20 เปอร์เซ็นต์ ก็เหลือแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ แล้วเกิดคำถามตามมาว่า โรงเรียนเขาจะอยู่ได้มั้ย ยิ่งโรงเรียนเล็กเขาก็มีปัญหาเพราะเขาอยู่ไม่ได้หรอก”
 



นอกจากจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชาแล้วนั้น ผู้ปกครองบางส่วนยังเป็นกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกด้วย เพราะนโยบายดังกล่าวถูกผลักภาระไปให้ผู้ปกครองบางส่วนแล้ว
 
“ผู้ปกครองมีทั้งมุมมองที่ต่างกัน ส่วนหนึ่งบอกว่า ถ้ามันเพิ่มได้มากและเป็นภาษีที่รัฐได้เพื่อช่วยเหลือประเทศชาติคนจน เขายินดีจะจ่ายเพิ่มในส่วนนั้น ถ้าเราเจอประชาชนแบบนี้และเข้าใจแบบนี้ฝ่ายบริหารประเทศก็คงจะสบายใจ
 
แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้ปกครองบางคนมองว่า เขาต้องควักเงินในกระเป๋าจ่ายเองอีกแล้วเหรอ การเรียนพิเศษซึ่งมันก็แพง สาเหตุที่ต้องมาเรียน คือ ปัจจัยพื้นฐานในระบบของโรงเรียนมันมีปัญหา มันไม่สามารถสร้างพื้นฐานให้ลูกเขามีความสามารถในการแข่งขันได้ เขาก็ต้องสร้างพื้นฐานให้ลูกเขา เขาจึงยอมจ่ายเพิ่มขึ้น ยอมเสียเวลามาเรียนเพิ่มเติมด้วย
 
แล้วรัฐมาเก็บภาษีเพิ่มมันก็หนีไม่พ้นที่เขาต้องแบกภาระเพิ่มแน่นอน ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นมาอีก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าถามว่าเข้าจะส่งลูกเขาเรียนมั้ย คำตอบคือเขาก็ต้องส่งลูกเรียนเพื่ออนาคตที่ดีของลูก ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่ามีมุมมองทั้ง 2 ทาง ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ผู้ปกครองเกิดความไม่สบายใจ แล้วมันจะส่งผลกระทบต่อยอดการเรียน”
 
เช่นเดียวกับ “ธเนศ เอื้ออภิธร” ผู้อำนวยการ-ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนกวดวิชา Enconcept ร่วมกับ “ครูพี่แนน-อริสรา ธนาปกิจ” มีความเห็นที่คล้ายคลึงกัน โดยกล่าวไว้ว่า
 
“เรายังไม่รู้รูปแบบภาษีว่าจะเป็นยังไง จะเป็นในเรื่องของภาษีธุรกิจหรือภาษี VAT จริงๆ มันเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ โรงเรียนกวดวิชาโดยทั่วไปจะไม่มีฝ่ายบัญชีเหมือนกับธุรกิจทั่วไป ตอนนี้คิดว่าทุกโรงเรียนทั่วประเทศไม่มีการทำบัญชีเป็นระบบเลยนะครับ เป็นผลกระทบในแง่ของการบริหารจัดการ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงคงต้องมีเวลาในการเตรียมการ ก็คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาก็คงทำตามนโยบายได้ครับ
 
ส่วนในเรื่องของการขึ้นค่าเล่าเรียนต้องดูตามความเหมาะสม ทุกวันนี้เกณฑ์ในการตั้งราคาแต่ละโรงเรียนที่เปิดสอนภายใต้ของกระทรวงศึกษาธิการจะตั้งราคาต่อชั่วโมง ว่าอัตราการเก็บค่าเรียนต่อชั่วโมงไม่เกินกี่บาท ซึ่งตอนนี้ที่โรงเรียน Enconcept ทำ 1 ชั่วโมง 100 บาท
ถ้ามีโครงสร้างเรื่องภาษีออกมาจะส่งผลกระทบของการดำเนินการของโรงเรียนหรือโครงสร้างต้นทุน เราอาจจะต้องขอทางกระทรวงหรือทางรัฐบาลให้พิจารณาตรงส่วนนี้ ว่าในแง่ของการปรับราคาปรับโครงสร้างต้นทุนของเราด้วย เพราะแต่ละโรงเรียนก็มีโครงสร้างของการลงทุนที่ไม่เหมือนกัน อย่างโรงเรียนของเราจะมีการลงทุนในด้านสื่อการสอนค่อนข้างเยอะ”



 
เด็กวิ่งหากวดวิชา เพราะมาตรฐาน ร.ร. ต่ำ?
 
ปัจจุบันอนาคตการศึกษานักเรียนไทยถูกแขวนไว้กับโรงเรียนกวดวิชามากกว่าในโรงเรียนเสียอีก และปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กไทยบางส่วนจะยึดติดไปกับระบบกวดวิชาจนลืมความสำคัญของการเรียนในห้องเรียนและหนังสือเรียน
 
ผู้บริหาร “เคมีอ.อุ๊” แสดงความเห็นว่า เด็กที่เรียนกวดวิชามี 12 เปอร์เซ็นต์-15เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น และถือว่าน้อยมาก แต่ที่เห็นเด็กเรียนกันเป็นจำนวนมากนั้น เพราะโรงเรียนอยู่ในเขตเมือง จึงให้ความรู้สึกว่ามีอยู่เกลื่อนกลาดไปหมด
 
“ความเป็นจริงมีเด็กกระจายอยู่ทั่วประเทศ อย่างเด็กชนบทที่อยู่ในเขตนอกเทศบาล เด็กพวกนั้นไม่มีกำลังซื้อ เลยต้องศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง อาจจะกลายเป็นว่าเขาไม่มีโอกาสการแข่งขันได้เท่ากับเด็กที่อยู่ในเขตเมืองและเด็กที่ใกล้แหล่งการเรียนรู้
 
ต้องยอมรับว่านี่คือกลไกของวัฏจักร เพราะฉะนั้น เด็กไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ ที่เรียนกวดวิชาอยู่จริงๆ มีประมาณ 300,000 กว่าคน โดยเฉลี่ยถามว่าทำไมเด็กพวกนี้ถึงต้องมาเรียน ปัจจัยพื้นฐานการศึกษาที่เป็นหลักๆ ถ้ามันอยู่ในเกณฑ์ที่ได้มาตรฐานแล้วทุกคนพึงพอใจ ไม่มีนักเรียนหรือผู้ปกครองคนไหนที่อยากให้ลูกตัวเองเหนื่อย และต้องควักเงินของตัวเองไปเสริมศักยภาพของลูกตัวเอง
 
ถ้าทุกอย่างมันพอเพียงอยู่แล้ว ทุกคนคงไม่ต้องกระเสือกกระสน เพื่อให้ลูกเหนื่อยแล้วต้องเสียเงินมากขึ้นทำไม มันตอบด้วยข้อเท็จจริงที่เห็นประจักษ์ชัดเจนอยู่แล้วว่ามันคือปัญหาในส่วนระบบของโรงเรียน ยังตอบสนองความต้องการนักเรียนหรือผู้ปกครองในส่วนที่เขาต้องการไม่ได้เท่าที่ควร
 
เขาจึงต้องแสวงหาสิ่งที่มีคุณภาพ นั่นคือหมายถึงโรงเรียนที่ดีที่มันมีอยู่ไม่มาก ก็ต้องแย่งกันเข้า มหาวิทยาลัยที่ดี คณะที่ดีก็มีความต้องการสูงก็ต้องแย่งกันเข้า รัฐบาลเป็นปัจจัยพื้นฐานทำคุณภาพมาตรฐานของโรงเรียนให้มันใกล้เคียงกัน ไม่ให้แตกต่างกันมาก การแข่งขันลดลง มาตรฐานการศึกษามันได้ มันก็จะลดโรงเรียนกวดวิชาไปได้เอง ไปเพิ่มคุณภาพการศึกษาในมหาวิทยาลัย ให้มีมาตรฐานมากขึ้น มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับมากขึ้น จะได้ไม่ต้องแห่ไปเข้าคณะดังๆ มหาวิทยาลัยดังๆ”
 
ทางด้าน ผู้อำนวยการ “Enconcept” กล่าวเสริมว่า เด็กนักเรียนและผู้ปกครองต่างเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเอง การเลือกเรียนโรงเรียนกวดวิชานั้น ไม่ได้หมายความว่า การเรียนในโรงเรียนจะไม่ดี เพียงแค่ว่าเขาอยากแสวงหาทางเลือกในการเรียนเท่านั้นเอง
 
“จริงๆ ประเด็นเรื่องของการเรียนกวดวิชาก็มาจากเหตุผลเดียวเลยนะครับว่า เด็กๆ กับผู้ปกครองต้องมองในแง่การศึกษาว่าเป็นเรื่องของโอกาส เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องอยากได้สิ่งที่ดีที่สุด ไม่ได้เปลว่าโรงเรียนจะสอนไม่ดี บางโรงเรียนก็อาจจะมีครูที่สอนเก่งๆ แต่ว่าเด็กๆ เขาก็แสวงหาทางเลือกในการเรียนที่เพิ่มเติม
 
เด็กบางคนเรียนที่โรงเรียนเก่งคณิตศาสตร์อยู่แล้วนะครับ แต่เขาอยากจะมองหาอาจารย์ที่สอนดีๆ เพื่อเป็นทางเลือกเพื่อที่จะเติมสิ่งที่เขาชอบสิ่งที่เขาเก่งอยู่แล้ว หรืออย่างเด็กบางคนเรียนที่โรงเรียนเขาไม่เก่ง เรียนแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เรียนแล้วไม่เข้าใจ เขาก็มาหาเรียนเพิ่มเติมข้างนอก เพราะฉะนั้นจึงอยากให้มองว่าโรงเรียนกวดวิชาก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเติมเต็มช่องว่างตรงนี้ให้กับเด็กและผู้ปกครองครับ”
 
ต่อข้อซักถามที่ว่า เด็กไทยสมัยนี้เรียนที่โรงเรียนเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่เหตุไฉนจึงต้องมาเรียนโรงเรียนกวดวิชาเพิ่มอีก สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้ปกครองยัดเยียดเด็กเกินไปหรือเปล่า? อาจารย์จึงให้คำตอบว่า
 
“ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัยคือเด็กบางคนเขาก็ชัดเจนว่าเขาไม่ได้มีความต้องการที่จะเรียนกวดวิชาเลย เพราะเขาเรียนที่โรงเรียนเข้าใจแล้ว หรือว่าแนวทางของเขาสมัยนี้สามารถซื้อหนังสือมาอ่านเอง ซื้อสื่อการสอน CD,DVD เรียนออนไลน์ได้ เขาก็ไม่ต้องมาเรียนที่โรงเรียนกวดวิชา ก็มีครับประเภทเด็กนักเรียนที่ต้องพึ่งพาอาจารย์ข้างนอกในการติว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมมองว่ามันเป็นค่านิยมแล้วแต่เด็กกับผู้ปกครองแต่ละกลุ่มแล้วนะครับ
 
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754
 
กำลังโหลดความคิดเห็น