xs
xsm
sm
md
lg

พ.ร.บ.อุดมศึกษา ส่อแววล่ม!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส่อแววล่ม! พ.ร.บ.การอุดมศึกษา “กฤษณพงศ์” ชี้ออกกฎหมายอะไรต้องมองประเทศได้ประโยชน์อะไร เบื้องต้นแนะหยิบของดีใส่ร่างจัดตั้งกระทรวงอุดมฯ แทน
กฤษณพงศ์ กีรติกร ขอบคุณภาพจากเว็บ สสค.
วันนี้ (3 ธ.ค.) นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศึกษาธิการ) เปิดเผยความคืบหน้า การดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ว่า ตนยังไม่ได้หารือเรื่องดังกล่าวกับทางคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) อย่างเป็นทางการ แต่โดยหลักการจะออกกฎหมายอะไร ต้องชี้ให้เห็นชัดเจน ว่า ประเทศชาติบ้านเมืองจะได้ประโยชน์อย่างไร โดยขณะนี้กำลังมีการพิจารณาจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา หรือ อาจจะเป็นทบวงการอุดมศึกษา ดังนั้น จึงคิดว่า หากเป็นไปได้ก็อาจจะพิจารณาหยิบข้อดีบางส่วนจาก พ.ร.บ. ดังกล่าวที่เป็นประโยชน์ในภาพรวมมาใส่ไว้ในร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาด้วย

ทั้งนี้ การผลักดันร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยนั้น ผู้เกี่ยวข้องจะต้องมาหารือร่วมกัน เพราะต้องมองในหลายๆ มุม ทั้งมุมมหาวิทยาลัยที่ไม่อยากให้มีการผลักดัน พ.ร.บ. ดังกล่าว เพราะจะทำให้มหาวิทยาลัยขาดความคล่องตัวในการบริการงาน ขณะที่มุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งคือรัฐบาลที่เป็นตัวแทน ในการนำภาษีอากรจากประชาชนมาใช้ในการพัฒนาด้านต่างๆ ก็คงยากจะรู้ว่าเงินที่ลงไปเกิดประโยชน์คุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน

ในแต่ละปีรัฐบาลต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่าปีละ 100,000 ล้านบาท ให้มหาวิทยาลัยนำไปใช้ในการพัฒนาส่วนต่างๆ ดังนั้น ความรับผิดชอบในการใช้งบประมาณแผ่นดินตรงนี้ควรต้องมีคนรับผิดชอบ ยังไม่รวมเงินที่ผู้ปกครองลงไปผ่านทางค่าเล่าเรียน ซึ่งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมีอิสระ แต่ต่อไปความมีอิสระความจะมาพร้อมกับความรับผิด รับชอบ มหาวิทยาลัยที่ทำดี ไม่น่าจะขัดข้อง แต่ก็ยอมรับว่ายังมีมหาวิทยาลัยที่ไม่ดี ดังนั้น จึงต้องมีกลไกที่จะเข้ามาช่วยจัดการมหาวิทยาลัยเหล่านี้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะออก พ.ร.บ.การอุดมศึกษาเท่านั้น เพราะการออก พ.ร.บ. ดังกล่าวอาจจะทำให้คนเกิดความไม่เชื่อมั่นในระบบมหาวิทยาลัย ซึ่งผมเห็นว่าระบบส่วนรวมยังดีอยู่ แต่คนมักจะหยิบของไม่ดีขึ้นมาพูด ดังนั้นจึงต้องมาหรือ โดยอาจจะหยิบข้อดีบางประเด็นในร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว มาใส่ไว้ในร่างพ.ร.บ.การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา เพื่อแก้ปัญหาไปในคราวเดียวที่สำคัญต้องทำให้ประชาชนเห็นว่าถ้ามีการแยกกระทรวง แล้วประชาชนได้อะไร นอกเหนือจากมหาวิทยาลัยได้อิสระและความคล่องตัวในการบริหารงาน แต่สุดท้ายทุกฝ่ายคงต้องมาหารือให้ได้ข้อสรุป ” นายกฤษณพงศ์ กล่าว

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ประเด็นหนึ่งที่ตนอยากเห็น คือ อยากให้มหาวิทยาลัยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน และข้อมูลการมีงานทำของบัณฑิต ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดมีอำนาจหน้าที่จะไปขอข้อมูลดังกล่าวจากมหาวิทยาลัย ดังนั้น หากมีการจัดตั้งทบวง หรือกระทรวงการอุดมศึกษาขึ้น ก็น่าจะสามารถจัดทำข้อมูลตรงนี้ เพื่อเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนรับรู้ ประการแรก เงินที่ใส่ไปสามารถผลิตบุคคลกรได้คุ้มค่ามากแค่ไหน ซึ่งสามารถดูได้จากตัวเลขการมีงานทำของบัณฑิต รวมถึงข้อมูลดังกล่าวจะสามารถนำไปสู่การกำหนดภาพรวมการผลิตและพัฒนากำลังคนได้ ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัย และรัฐบาล โดยที่ผ่านมามีการกระจายอำนาจลงไปให้สภามหาวิทยาลัยสามารถอนุมัติหลักสูตรได้ ทำให้ไม่เห็นผ่านรวมว่า บางสาขาผลิตบัณฑิตเกินความจำเป็นหรือไม่ ทำให้เกิดปัญหาบัณฑิตตกลง กระทรวง หรือ ทบวงอุดมศึกษาใหม่ต้องสามารถที่จะวางเป้าหมายในการผลิตกำลังคนได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น