xs
xsm
sm
md
lg

จับถูกหรือจับผิด! “เลี้ยงลูกบนรถเมล์” สมควรหรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาพอันแสนคุ้นชินของเด็กที่นอนบนเบาะยาว โตมากับพ่อที่เป็นคนขับและแม่เป็นที่กระเป๋ารถ แม้ด้านหนึ่งจะเป็นสิ่งผิดระเบียบที่ไม่ควรเกิดกับขนส่งมวลชนสาธารณะ แต่ปัญหาที่ไร้ทางออกด้วยเงื่อนไขมากมาย ทว่า ราวกับฟ้าผ่ากลางสายฝนเมื่อปัญหาดังกล่าวถูกร้องเรียนมากขึ้น จนนำมาซึ่งมาตรการกวดขันแก้ปัญหา จับผิดระเบียบการทำงานของพนักงานบนรถเมล์

ในชีวิตที่ทางเลือกน้อยนิด พวกเขาจะมีทางออกอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น!

เข้มกวดระเบียบรถเมล์!

การบริการของรถประจำทางหรือรถเมล์นั้นถือว่า มีมาตรฐานการบริการที่ย่ำแย่จนเป็นที่เลื่องลือ ไม่ว่าจะเป็นการขับรถที่หวาดเสียวของพนักงานขับขี่ มารยาทการบริการของพนักงานเก็บค่าโดยสาร จนถึงตอนนี้ก็มีปัญหาการใช้สมาร์ทโฟนระหว่างปฏิบัติหน้าที่ และปัญหาที่เป็นมาอย่างยาวนานปัญหาหนึ่งก็คือ การนำลูกมาเลี้ยงบนรถเมล์

แต่ล่าสุดปัญหาการร้องเรียนเหล่านั้นดูเหมือนจะได้รับการตอบสนองจาก ปราณี ศุกระศร รักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ซึ่งกล่าวถึงปัญหาการให้บริการในลักษณะดังกล่าวที่เกิดกับรถร่วมโดยสาร ขสมก.

“ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาด้านการขับรถอันตรายน่าหวาดเสียว การไม่จอดรับส่งผู้โดยสารตามป้ายขับรถออกนอกเส้นทาง การพูดจากับผู้โดยสารด้วยความไม่สุภาพ นำเด็กมาเลี้ยงและวิ่งเล่นบนรถโดยสาร”

โดยปัญหาดังกล่าวนั้นขสมก.ก็มีการกำชับกับบริษัทผู้ได้รับสัมปทานรถร่วมโดยสารให้ดูแลพนักงานอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ขสมก.จะมีการจัดสายตรวจพิเศษทำการตรวจหากพบจะมีการลงโทษทันที มีมาตรการในเบื้องต้นคือการตักเตือนและห้ามพนักงานที่ฝ่าฝืนทำงานให้บริการผู้โดยสารอีก และหากผู้ให้บริการรถร่วมโดยสารดังกล่าวยังก่อปัญหาซ้ำเดิมก็จะมีการบอกเลิกสัญญาจ้างเดินรถ

ทั้งนี้ ประเด็นตั้งแต่การขับรถ มารยาทในการให้บริการ จนถึงการใช้โทรศัพท์มือถือนั้นถูกจัดรวมในวาระครั้งนี้ด้วย ทว่าอีกประเด็นที่น่ากังวลก็คือ การห้ามเลี้ยงเด็กบนรถเมล์!

ที่ผ่านมาประเด็นการเลี้ยงลูกบนรถเมล์เคยเป็นข่าวมาแล้ว แน่นอนว่าในการปฏิบัติงาน การนำลูกมาเลี้ยงไปด้วยถือเป็นเรื่องที่ผิด และทางผู้ประกอบการสามารถบังคับใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับการทำงานได้โดยไม่ละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ สุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เผยว่า การเลี้ยงลูกบนรถเมล์อาจเป็นการทำลายสุขภาพเด็กอีกด้วย

“การห้ามมิให้นำลูกไปเลี้ยงบนรถเมล์มันก็เป็นเรื่องของระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งการที่จะนำเด็กขึ้นไปเลี้ยงบนรถในระหว่างเวลาทำงานเนี่ย มันก็คงต้องเป็นเรื่องขัดต่อระเบียบแน่ เพราะมันเป็นเรื่องของงานสาธารณะซึ่งหากเอาเด็กขึ้นไปเลี้ยงนอกจากจะเป็นการทำลายสุขภาพเด็กแล้ว ก็เป็นการไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเด็ก อาจจะเกิดอันตรายต่อเด็กได้”

สังคมเห็นใจ

นอกจากในมุมของกฎระเบียบอันเข้มงวด หากมองในส่วนของเงื่อนไขในการใช้ชีวิตทั้งรายได้จากการทำงาน และสวัสดิการต่างๆ ที่พนักงานให้บริการบนรถโดยสารเหล่านี้ได้รับ การเลี้ยงลูกบนรถเมล์จึงอาจไม่ใช่ทางเลือก หากแต่เป็นทางออกที่จำเป็น

ที่ผ่านมาเคยมีข่าวที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียแชร์ภาพ พนักงานที่ต้องเลี้ยงลูกบนรถเมล์สาย 8 โดยเป็นภาพเด็กกำลังนอนอยู่บนเบาะยาว มีการระบุวันที่โพสต์ภาพไว้ว่าเป็นช่วงวันที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมา

ภายหลังภาพดังกล่าวถูกแชร์ในโซเชียลมีเดียต่อไปอีกเป็นจำนวนมาก โดยหลายคนเข้ามาแสดงความเห็นต่อว่าผู้ถ่ายภาพเป็นอย่างมาก หลายคนมองว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เด็กนักเรียนปิดเทอมซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่ที่หาเช้ากินค่ำไม่มีทางเลือกต้องเอาลูกไปที่ทำงานด้วย

“คนจนเขาต้องหาเช้ากินค่ำ ผมก็เป็นแบบนี้ในตอนเด็กเพราะแม่ผมเป็นกระเป๋ารถเมล์ ขสมก. คือไม่มีคนเลี้ยงจะให้อยู่บ้านตามลำพังก็น่าเป็นห่วงมากกว่า เห็นใจเถอะนะ คนจนไม่ค่อยมีทางเลือกหรอก ถ้ามีทางเลือกที่ดีกว่านี้คงไม่ต้องให้ลูกมานอนร้อน นอนดมกลิ่นควันรถหรอก” นี่คือตัวอย่างความเห็นหนึ่งในโลกออนไลน์ที่มีต่อผู้โพสต์ภาพดังกล่าว

ยังมีความเห็นอีกมากมายต่อข่าวครั้งนี้ว่าในทำนองว่า การห้ามเลี้ยงลูกบนรถเมล์นั้นเป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น แต่สิ่งที่เป็นอยู่นั้นทำให้เกิดเงื่อนไขมากมายที่ท้ายที่สุดแล้วก็บีบให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

“ในมุมหนึ่ง...ถ้าเราต้องการมาตรฐานในการขับรถสาธารณะที่ดี ก็ต้องไม่เป็นไปตามภาพครับ แต่ในอีกมุมหนึ่ง...ขณะที่สังคมเรา ต้องลดค่าใช้จ่าย ครอบครัวต้องออกมาทำงานทั้งบ้านและไว้ใจใครไม่ได้นอกจากเราเอง ก็น่าเห็นใจเหมือนกัน บางครั้งพอเราคิดไปลึกๆ ขณะที่พวกเขาต้องออกมาทำงาน...แต่ก็มีข่าว เจ้าของบริษัทขนส่งที่ร่ำรวยหรือแม้แต่หน่วยงานของรัฐบาลที่ซื้อรถ ซื้อล้อรถ ล้อละหลายแสนหลายหมื่น ทำไมเขามีเงิน ขณะที่คนที่ทำงานให้เขาต้องมาทำตามรูปถ่ายนี้แสดงว่า....มีการจัดสรรอะไรบางอย่าง ที่ไม่เป็นปกติใช่ไหม?” Seangpetch Umnauychaiwiwat

“เจ้าของบริษัท แต่ละที่อ้างแต่ขาดทุน ทั้งที่จริงคือเงินเข้ากระเป๋าน้อยลงหรือไม่ตามเป้า ในไทยรวยทุกบริษัท พนักงานทำแทบตายกำไรบริษัทหน่วยงานเจ้าของรวยคนเดียว ถ้าไม่เห็นแก่กำไรเข้ากระเป๋ามาก น่าจะแบ่งส่วนที่เหลืออันน้อยนิดให้พวกเขาบ้าง” Mass Mas

ปัญหาไม่มีทางออก

หลังจากปมปัญหาดังกล่าวถูกรื้อสางขึ้นมาแก้ไข ด้วยมาตรการจับผิด - ลงโทษ ทีมงาน ASTV ผู้จัดการ LIVE ลงพื้นที่พูดคุยกับพนักงานให้บริการที่ท่ารถเมล์ร่วมบริการสายหนึ่งย่านสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า หลังจากทราบมาตรการดังกล่าว หลายคนถึงกับหัวเสียพร้อมบอกทันทีว่า หากให้หยุดงานก็ไม่มีกินแน่นอน

“มาเลี้ยงบนรถก็มาระวังกันเอาเอง ถ้าช่วงที่เด็กไม่นอนก็ให้นั่งบนเบาะ ส่วนมากที่มาเลี้ยงก็เป็นเด็กโตแล้วไม่ใช่แบเบาะขวบสองขวบ เขาก็จะช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว บางทีก็เอามาเลี้ยงชั่วคราว คงไม่ถึงขั้นผูกเป มีก็มีไม่กี่คนมาเลี้ยง แต่ช่วงเสาร์ - อาทิตย์หรือปิดเทอมก็จะมีมานั่งรถเที่ยวกับพ่อแม่บ้าง” พนักงานขับรถประจำทางเอกชนร่วมบริการท่านหนึ่งให้ความเห็น “ส่วนมากก็เรียนประถมกันแล้วเหมือนมานั่งรถเล่น บางทีก็มียายมาดูด้วย มีผู้สูงอายุมาดูด้วยมาช่วยเลี้ยง”

แต่เมื่อเอ่ยถามถึงบทลงโทษในการให้พักการทำงาน เขากลับส่ายหนึ่งพร้อมบอกว่า ไม่มีกินแน่นอน

“โห! แค่ทำงานอยู่นี่ก็ยังไม่มีจะกินอยู่แล้ว มันยิ่งจะไม่มีกินไปกันใหญ่ คือเรารถร่วมไม่เหมือนของขสมก. พักงานยิ่งไม่มีกิน เพราะขสมก.ยังมีเงินเดือน มีสวัสดิการบ้าง แต่รถร่วมไม่มีเลย มีแต่แบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ เบี้ยเลี้ยงก็ 300 บาทต่อวัน วิ่งไม่ได้ตามเป้าก็ไม่ให้เปอร์เซ็นต์ ไม่วิ่งก็ไม่ได้เงินก็ไม่มีกิน พักงานยิ่งไปกันใหญ่ครับ คนเขาเอาลูกมาเลี้ยงเพราะเขาไม่มีเงินไปจ้างใครเลี้ยง มันไม่มีใครเลี้ยงให้”

อย่างไรก็ตาม เขาก็เข้าใจการออกกฎดังกล่าวว่า มีขึ้นเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุกับเด็ก ซึ่งโดยปกติแล้วก็ไม่ควรจะทำ

“ผมก็อยากให้เถ้าแก่จ้างคนมา เหมือนเป็นสวัสดิการให้อู่จัดหาคนมาเลี้ยงเด็ก เท่าไหร่ก็ว่าไป ปัจจุบันนี่สวัสดิการมันไม่มีอะไรเลย แม้แต่เสื้อผ้ายังซื้อเอง ประกันสังคมก็จ่ายให้ 3 เดือนครั้ง”

ทางด้าน พนักงานเก็บค่าโดยสารรถประจำทางร่วมให้บริการหญิงท่านหนึ่งเผยว่า ตนเองก็เคยนำลูกมาเลี้ยงบนรถเมล์ แต่ด้วยความที่มีการย้ายสายรถเมล์ที่ตนเองทำงานบ่อยทำให้มีความเสี่ยงในการดูแลเด็กมากขึ้น จึงต้องนำไปฝากให้ญาติๆ ช่วยเลี้ยงดูอีกที

“ก่อนนี้ก็เอาลูกมาเลี้ยงอยู่พักหนึ่งแต่เราย้ายบ่อยสุดท้ายก็เอาให้ไปอยู่กับแม่เพราะเพราะเราย้ายไปเลื่อยๆ เวลารถวิ่งแต่ละที่มันไม่เหมือนกัน ขับเร็วบ้าง แข่งกันบ้าง โอกาสพลาดมันมีสูง”

เธอมองว่าเงื่อนไขของการเป็นทำงานกับบริษัทรถร่วมให้บริการยิ่งมีมากกว่าพนักงานขสมก. ด้วยเพราะไม่มีเงินเดือน การจ้างคนมาเลี้ยงก็ยิ่งทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านก็มีการตักเตือนกันเองในหมู่พนักงานแล้ว

“ไม่นานมานี้ก็มีการเตือนกันเพราะบางคนนำเด็กอายุน้อยเกินไปมาเลี้ยงบนรถเมล์ เด็กยังดูแลตัวเองไม่ได้มันก็เสี่ยงเกิน มันอันตรายทั้งจากสภาพแวดล้อม ความร้อน ฝุ่นควัน มันไม่ดีต่อเด็กด้วย”

ในมุมของเงื่อนไขที่ต้องนำเด็กมาเลี้ยงนั้น เธอเผยว่า ในช่วงที่เด็กยังเล็กมาก ส่วนใหญ่จะจ้างให้คนเลี้ยงก่อนที่พอเด็กโตขึ้นเข้าโรงเรียนแล้ว ค่าเทอมของเด็กกลายเป็นส่วนที่พ่อกับแม่เด็กต้องประหยัด จึงไม่สามารถจ้างให้ใครเลี้ยงดูแทนได้ ดังนั้นหากไม่มีเรียนหลายครั้งพ่อแม่เด็กจึงนำเด็กมาเลี้ยงบนรถไปด้วย

“และพนักงานรถร่วมทำงานกันกะเดียว ตี 4 - 3 ทุ่ม เกิน 6 ชั่วโมงด้วยซ้ำ เราทำวันเดียวได้ 300 บาท กับเปอร์เซ็นต์ซึ่งเราก็ต้องทำยอดให้ได้มากกว่า 3,500ด้วยถึงจะได้เปอร์เซ็นต์ คือมันไม่พอ อาชีพแบบนี้แทบจะทำไปวันต่อวันเท่านั้น”

ดังนั้น หากจะให้คนใดคนหนึ่งอยู่เลี้ยงลูกที่บ้านก็เป็นไปไม่ได้ด้วยรายได้ที่น้อยลง และค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่สูงขึ้น โดยที่ผ่านมาเท่าที่รู้กันยังไม่เคยมีอุบัติเหตุเกิดต่อตัวเด็กที่ถูกเลี้ยงบนรถเมล์

“มันอาจจะเพราะพ่อกับแม่ก็เอาลูกมาไว้บนรถเมล์ การขับขี่ก็ต้องระวังกันมากขึ้น เท่าที่เรารู้ก็คือยังไม่มีเกิดขึ้นนะ แต่มันก็มีบางคนบางคันที่มีลูกอยู่แต่ก็ยังขับฟัดขับแข่งกับคนอื่น ก็มีเหมือนกัน”

-

ปัญหาเดิมอาจเกิดขึ้นอีก หากการแก้ปัญหาทำโดยไม่ถูกจุด และถูกที่ต้องแบกรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเป็นผู้ที่ไม่อาจแบกภาระเหล่านั้นไว้ได้ ท้ายที่สุดปัญหาการเลี้ยงลูกคนรถเมล์จะจบลงที่จับผิด บีบให้จ้างสถานรับเลี้ยงเด็กราคาถูก หรือจะถูกจัดการอย่างเป็นระบบด้วยสวัสดิการที่ดีพอ คงเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามกันต่อไป

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754




กำลังโหลดความคิดเห็น