xs
xsm
sm
md
lg

ท่องมาเลย์ ๑.๓ : อลอร์สตาร์ บ้านมหาเธร์

เผยแพร่:   โดย: ดรงค์ ฤทธิปัญญา

ความเดิมตอนที่แล้ว อ่าน :
ท่องมาเลย์ ๑: ได้เวลาออกเดินทาง!!
ท่องมาเลย์ ๑.๒ : โอ้ ลังกาวี...

ถ้าพูดถึงเมือง “อลอร์สตาร์” หรือ อาลอร์ เซตาร์ ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ ไม่รู้จักแน่ๆ (ผมเองในครั้งแรกก็ไม่รู้จัก) แต่ถ้าไปถามชาวชายแดนใต้ หลายคนคงรู้จักดี เพราะอยู่ไม่ไกลจากกันมาก และยังเป็นเมืองที่พ่อค้าจากปักษ์ใต้ นำสินค้าไปขาย ไม่แพ้ปีนังเลย

และนี่คือ สถานที่ที่ผมกำลังจะไปเยือนครับ

ผมลงเรือจากท่าเรือเจ็ตตี้่ลังกาวี ไปยังท่าเรือ “กัวลา เคดะห์” (Kuala Kedah) ค่าโดยสาย ๒๓๐ บาท เป็นเรือโดยสารชั้นเดียวยี่ห้อ ลาบวน เอ็กซ์เพรส ที่ไม่ค่อยต่างจากเรือที่ขึ้นมาจากสตูลสักเท่าไหร่ ภายในมีทีวีแบบวินเทจ จอนูนย้อนยุคเปิดหนังมาเลย์ให้ชม ไม่รู้ว่าพี่แกอารมณ์ไหนหยิบแผ่นหนังมาเฟียท้องถิ่นเปิดให้ผู้โดยสารดู ... เอิ่ม.. พี่.. ไม่เห็นใจนักท่องเที่ยวอย่างผมหน่อยเหรอครับ
ภาพ บนขวา กัวลา เคดะห์ มาริน่า ,ภาพใหญ่ ป้อมปราการเมืองเคดะห์ ,ล่างซ้าย ท่าเรือกัวลา เคดะห์
ใช้เวลาราวชั่วโมงนึงก็มาถึงท่าเรือ จริงๆ คำว่า กัวลา (Kuala) ตามความเข้าใจของผมน่าจะหมายถึงเมืองท่า ซึ่งตรงนี้ก็อยู่ปากแม่น้ำเคดะห์ ที่เข้าไปในเมืองด้วย พอเรือแล่นค่อยๆ เข้าแผ่นดินจะเห็นสิ่งหนึ่งที่ชัดแจ้งมาก อาคารสีอิฐทรงคล้ายปราสาทแลดูน่าสนใจ ที่นี่คือ "กัวลา เคดะห์ มาริน่า" (kuala kedah marina) ท่าจอดเรือยอชท์ ที่สร้างเสร็จเมื่อปี ๒๕๔๖ แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าอยู่ถัดออกไป นั่นคือ "ป้อมปราการแห่งเมืองเคดะห์" (Kota Kuala Kedah)

ป้อมปราการปากแม่น้ำเคดะห์ ที่มีอีกชื่อว่า ป้อมกัวลาปาหัง (Kuala Bahang) นี้มีประวัติเก่าแก่มาก ถูกสร้างตั้งแต่ในยุคของสุลต่าน สุไลมาน ซาฮ์ (Sulaiman Shah) ช่วงพ.ศ.๒๑๔๕ - ๒๑๖๓ ซึ่งต่อมาได้ถูกทำลายโดยกองทัพของชาวอาเจะห์ และอีก ๑๐๐ กว่าปีต่อมาก็ถูกสร้างขึ้นใหม่ พ.ศ.๒๓๑๔ ในยุคของสุลต่าน มูฮัมหมัด จีว่า เจ้าผู้ครองนครรัฐไทรบุรี เสร็จในปี ๒๓๒๓ ไว้สำหรับป้องกันข้าศึกที่ใช้แม่น้ำล่องเรือเข้าไปตีเมืองหลวง โดยช่างชาวอินเดีย และนำปืนใหญ่มาจากอังกฤษ ,ฮอลันดา

แต่ทว่าในวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๖๔ ก็ถูกโจมตีจาก “กองทัพเรือสยาม” ที่นำโดยเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) พระราชโอรสสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ต่อมาสามารถยึดเมืองไทรบุรีมาเป็นของสยามได้สำเร็จ จนสุลต่านถึงกับต้องหนีไปอยู่ที่ปีนัง หรือเกาะหมาก และก็ยังคงมีสงครามต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดสนธิสัญญากรุงเทพใน พ.ศ.๒๔๕๒ อังกฤษได้เข้ามาครอบครอง และมีการสร้างสำนักงานราชการ ในบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งประภาคาร และทางเข้าออกใหม่ จนกระทั่งญี่ปุ่นได้เข้ามายึดครองรัฐมาลายู ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ และก็ใช้เป็นฐานบัญชาการกองกำลังทหารจนถึงกาลพ่ายแพ้สงครามเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘

ปัจจุบันป้อมปราการนี้ ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมหลักฐานที่ยังหลงเหลือทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งปืนใหญ่ และซากกำแพงที่คงสภาพได้ดี แต่ที่เล่ามานี่ ผมไม่ได้เข้าไปนะ มันอยู่ค่อนข้างไกลเลยได้แต่ถ่ายภาพขณะที่เรือแล่นจอดเทียบท่าเท่านั้น...

แถวท่าเรือนี้มีเรือประมงจอดอยู่มากมาย ผมต้องเดินออกจากที่นี่ไปยังท่ารถเมล์ ตามแผนที่ในกูเกิลแม็ปมันอยู่ข้างๆ แต่พอออกมาจากอาคารปั๊บ กลับเจอแต่ลานแท็กซี่จอด ... เอาล่ะสิ งานเข้าแล้ว ... จึงเดินลัดเลาะตามรั้วไปเรื่อยๆ พลางมองเข้าไปในจุดที่แผนที่มันชี้ว่าเป็นท่ารถโดยสาร ยิ่งมองยิ่งไม่ใช่ เฮ้ย เอาแล้วไง เดินไปจนถึงสี่แยก เจอรถขนเหล็กจอดติดไฟแดงเลยถามเขาว่า ป้ายรถเมล์ที่จะรอรถเข้าเมืองไปทางไหน เขาก็ตอบกลับมาด้วยภาษาอังกฤษที่คล่องแคล้ว ทำผมนี่อึ้งไปเลย

ยืนรอที่ป้ายซึ่งดูไม่ได้ต่างจากบ้านเราในต่างจังหวัดมากนัก ทั้งฝุ่น ทั้งความสะอาดที่มีไม่มาก สักพักรถ ปอ.สีเทาที่เขียนป้ายว่า ไป เปกัน ราบู (Pekan Rabu) ก็มา ผมรีบขึ้นไปก่อนที่จะนึกออกว่า ไอ้ชื่อป้ายนี่มันคือที่ไหนวะ เลยถามเขาว่า คันนี้เข้าอลอร์ สตาร์ มั้ย คนขับเขาบอกว่า ใช่ .. โอ้ รอดตายแล้ว .. รถเมล์ที่นี่มีกระเป๋ารถเมล์ด้วย เดินเก็บค่าโดยสารพร้อมถือตั๋วจำหน่ายเรียงรายอยู่ในแถบเหล็กที่ดูคล้ายกระบอกเก็บเงินบ้านเรา ราคาก็มีตั้งแต่ใบละ ๑.๕ ริงกิต (๑๕ บาท) - ๘๐ เซน (๘ บาท) แต่อย่างขึ้นจากที่นี่เข้าไปสู่สถานีขนส่ง ซาฮับ เปอร์ดาน่า (Terminal Bas Shahab Perdana) จะคิดราคา ๒๔ บาท
ภาพ บนซ้าย เมืองกัวลา เคดะห์ ,บนซ้าย ตั๋วรถเมล์ ,กลาง สถานีขนส่งซาฮับ เปอร์ดาน่า
รถค่อยๆ ผ่านไปแต่ละสถานที่ซึ่งดูตื่นตาตื่นใจเล็กๆ ความรู้สึกเหมือนไปต่างจังหวัดในบ้านเรา เมืองนี้ดูไม่เจริญมากเท่าไหร่ ผมเจอใครที่พอจะคุยกันได้ก็ลองถามโน่นนี่นั่นไปเรื่อยๆ จนรถมาถึงขนส่ง ซึ่งที่นี่จะแบ่งเป็น ๒ โซน เป็นสถานีรถในเมือง ๑ และสถานีรถไปต่างเมืองอีก ๑ และนี่คือปัญหาที่กำลังจะเกิดกับผม ... ในแผนที่ระบุว่า ขนส่งห่างจากที่พักพอสมควร แต่หมุดที่พักในแผนที่มันกลับมี ๒ จุด คือบริเวณก่อนถึงหอคอยกับหลังหอคอย คำถามคือ อันไหนของจริงและปลอมหว่า?

แต่เริ่มแรกคือผมต้องออกจากขนส่งก่อน …

ผมเดินไปเรื่อยๆ ตามแผนที่แล้วต้องชะงักอีกรอบ เมื่อผมดันถ่ายรูปแผนที่ขนาดเล็กเกินไป ทางมันจึงมองเห็นไม่ชัด อันนี้เป็นข้อผิดพลาดของผมที่ไม่น่าให้อภัย ผมเลยต้องเดินถามชาวบ้านไปเรื่อยๆ ว่าผมจะไป เมน่าร่า หอคอยประจำเมืองมันอยู่ตรงไหนหว่า จนกระทั่งเจอน้าตี๋อ้วน ลักษณะคล้ายเฮียสรยุทธ์ ช่อง ๓ ที่มาซื้อของในร้านอะไหล่รถยนต์ แกอาสาพาไปส่งถึงโรงแรม ไอ้เราแทนที่จะกลัว กลับยอมมากับเขาเฉย ตอนนั้นไม่คิดอะไรแล้ว รู้สึกว่า โอ้ชีวิตกูรอดตายแล้วววววว เฮียแกก็ถามโน้นนี่ไปเรื่อย จนแกถามขึ้นว่า เป็นคนชาติไหน ผมบอกเป็น “คนไทย” แกดูชะงักและถอดสีหน้า นั่งนิ่งเลย ผมตกใจ เฮ้ย ทำไมวะ คนไทยไปทำอะไรให้แก แต่ก็พยายามถามเรื่องอื่น และคุยถึงจุดประสงค์ว่า ผมจะมาเที่ยว กำลังจะไปที่ไหนบ้าง เขาเลยดูคลายความเครียดลง

แล้วพี่ท่านก็พามาจนถึงหน้าโรงแรม บี การ์เด้น โมเตล ผมขอบคุณหลายๆ ครั้ง คือมันตื้นตันมาก ถ้าไม่ได้แกนี่ผมคงเดินระห่ำแล้ว เพราะระยะทางแม่งไกลมากๆ ราวๆ ๕ กิโลได้ แกก็ดูแอบดีใจ (หรืออาจจะโล่งใจที่ไอ้บ้านี่ลงไปแล้ว ฮ่าๆๆๆ) ก่อนจะออกรถไป ... แต่ผมน่ะโคตรสงสัย ทำไมพอบอกว่าเราเป็นคนไทย แกถึงชะงัก (จริงๆ ไม่ใช่ไม่กล้าถามนะ แต่เรียบเรียงประโยคคุยกับเขาไม่ถูก ฮ่าๆๆๆ)
หอคอยเมืองอลอร์สตาร์
พอเก็บสัมภาระ ก็ออกจากโรงแรมมาเที่ยวต่อ เริ่มจากจุดมุ่งหมายในวันนี้ คือบ้านเกิดอดีตนายกฯ มาเลเซียคนสำคัญ ซึ่งอยู่ไม่ไกลมากราวๆ เกือบ ๒ กิโลได้ สิ่งที่เห็นเมื่อเดินออกมาถึงถนนใหญ่ คือเมนาร่า หอคอยบรรหาร แจ่มใส เอ๊ย “หอคอยอลอร์สตาร์” (Menara Alor Setar) จุดเด่นที่สุดของเมือง ที่มีความสูงกว่า ๑๖๕.๕ เมตร สูงเป็นอันดับ ๒ ของประเทศ ที่นอกจากจะเป็นจุดชมวิวของนักท่องเที่ยวแล้ว ยังถูกใช้เป็นเสาสัญญาณโทรคมนาคมอีกด้วย เปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการเมื่อ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๐ ด้วยงบประมาณกว่า ๔๐๐ ล้านบาท มีลิฟท์แก้ว ๒ ตัวเลื่อนไปถึงชั้นบนสุดให้ชมทิวทัศน์รอบเมือง มีร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ส่วนค่าเข้าชมนั้นก็ ๑๒๐ บาท ... มีหรือคุณดรงค์ มันจะยอมจ่าย ขอดูอยู่ไกลๆ ก็แล้วกัน

ระยะทางจากแผนที่ที่ว่าไกล กลับดูเฉยๆ เมื่อได้ลองเดินเล่นไปเรื่อยๆ ชมทิวทัศน์บนถนนทางหลวง ดารุล อามัน (Lebuhraya Darul Aman) ที่มีโบราณสถาน มัสยิด และบ้านเรือนสไตล์ชิโน โปรตุกีส แบบภูเก็ต ไปเรื่อยๆ จนข้ามสะพานคลองเคดะห์ ระหว่างทางก็พลางหาร้านข้าวไปด้วย (ยังไม่ได้กินอะไรมาเลยนอกจากกาแฟ) เจอซุ้มร้านขายอาหารตามสั่งข้างทาง .. อย่าเพิ่งงง ตอนแรกผมก็งง มาเลย์มีอาหารตามสั่งด้วย ลักษณะก็เหมือนร้านบ้านเรา มีเมนูให้เลือกสั่งพวกนาสิก โกเร็ง (ข้าวผัด) ใส่ไก่ เนื้อ และเมนูไทยๆ อย่าง ต้มยำกุ้ง กระเพรา
ภาพ บนขวา ผัดกะเพราแบบลูกครึ่งไทย-มาเลย์ ,ล่างขวา ร้านอาหารตามสั่ง
ผมเริ่มเอะใจ เฮ้ย มีอาหารบ้านเราด้วย น้าคนขายแกก็ตะโกนถามเป็นภาษาอังกฤษ ผมไม่ตอบ เพราะยืนคิดอยู่ว่าจะกินอะไรดี จนกระทั่งป้าแกตะโกนมาว่า เอาอะไรล่ะไอ้หนู ผมผงะไปชั่วขณะ .. แล้วถามกลับว่า ป้าเป็นคนไทยเหรอครับ .... (ช่วงเวลาซาบซึ้งบังเกิด นี่กูห่างบ้านมาแค่ ๒ วันเองนะ ฮ่าๆๆ) พี่คนขายก็ชวนเข้าไปนั่งคุย พร้อมเชิญให้ร่วมทานมะกอก กับกะปิ แล้วก็แนะนำอาหาร ผมสั่งกระเพราไก่ไข่ดาวไป ... เดี๋ยวนะ ไปมาเลย์ แต่กินอาหารไทย? คือมันไม่เหมือนกันครับ สิ่งที่ได้คือข้าว ๑ จาน กับกระเพราไก่สับใส่ถั่วฝักยาว หอมแดง พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า และใบกระเพราจิ๋ว รสคล้ายบ้านเรา แต่ความหอมฉุนของใบกระเพรา จะด้อยกว่า พี่เขาบอกว่า ดินไม่ค่อยดี ปลูกได้ไม่เหมือนกับบ้านเรา

พี่เขาเสิร์ฟข้าวพร้อมกับชานมอุ่นๆ ให้ได้ทาน เขาว่าเลิศรส ผมก็อืมกลิ่นชาแรงดี ถามชื่อแกแกบอกชื่อ ทักษิณ ผมก็ลืมถามนามสกุลมา (แต่ดูหน้าแล้วไม่ใช่ชินวัตร ฮ่าๆๆ) เป็นคนเชียงใหม่ ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ จำได้ว่าแกมามีเมียอยู่ที่นี่ พี่แกบอกว่า คนไทยมาอยู่ที่นี่ก็เยอะ ส่วนใหญ่เป็นชาวใต้ เข้ามาค้าขายพูดง่ายๆ คือเมืองนี้เป็นแหล่งกระจายสินค้าจากปักษ์ใต้ที่ใหญ่เลยล่ะ คนท้องถิ่นจะกินอาหารอิสลาม อินเดีย ไทย แต่ไม่ค่อยเข้าร้านอาหารจีน เพราะกลัวมีหมู แต่คนจีนมักกินมันทุกชาติ ช่วงเช้าเขาจะทานโรตี ข้าวห่อ กัน แต่ที่สำคัญร้านส่วนใหญ่ค่อนข้างแพง

นั่งคุยไป พลางทานมื้อบ่ายเสร็จก็จากลา ถามทางไปจุดหมายบอกไม่ไกลนัก เดินดุ่มๆ สักพักก็เจอแล้วครับ “บ้านเกิด มหาเธร์” (Rumah Kelahiran Mahathir) เป็นบ้านไม้ ๒ ชั้น มีใต้ถุนโล่ง แบบที่เราเคยเห็นในชนบทบ้านเรา เข้ามาด้านในเจอลานรับแขก มีโต๊ะทานข้าว พร้อมด้วยสิ่งของสมัยก่อน ทั้งวิทยุ ตู้ โต๊ะ รูปภาพ แบบบ้านจำลอง และสูติบัตรของอดีตนายกฯ คนนี้ ถัดมาเป็นเตียง ห้องนอน ห้องนอนของแขก ห้องที่มหาเธร์ ใช้ในชีวิตคู่ และด้านหลังสุดเป็นเรือนทำกับข้าว ที่มีอุปกรณ์ทั้งกระต่ายขูดมะพร้าว จาน ชาม ดูคล้ายกับอยู่บนบ้านปู่ ที่อยุธยา เลยทีเดียว
บ้านเกิด นพ.มหาเธร์ มูฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีคนที่ ๔ ของมาเลเซีย
ถ้าพูดถึงเจ้าของบ้าน ผมว่าหลายคนคงรู้จักแน่นอน นพ.มหาเธร์ มูฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ ๔ ของประเทศมาเลเซีย ซึ่งเกิดที่นี่เมื่อ ๑๐ ก.ค.๒๔๖๘ มีมารดาเป็นชาวไทรบุรี มีพี่น้อง ๒ คน และลูกพี่ลูกน้องอีก ๖ คน ในวัยเด็กมหาเธร์ เรียนอย่างหนัก มีความเชี่ยวชาญในภาษาอังกฤษ จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่พักการเรียนชั่วคราว ก็เลยใช้เวลาทำกาแฟขายคู่กับขายกล้วยทอด และขนมขบเคี้ยวอื่นๆ จนจบสงครามก็กลับมาเรียนใหม่ จนได้ไปเรียนแพทยศาสตร์ต่อที่วิทยาลัยแพทย์คิงส์ เอ็ดเวิร์ด ที่ ๗ ที่สิงคโปร์ (the King Edward VII College of Medicine) ก่อนจะกลับมาเป็นหมอที่บ้านเกิดเมื่อจบการศึกษา และสมรสกับ ศิธิ หัสมาห์ โมฮัมหมัด อาลี (Siti Hasmah Mohamad Ali)

ส่วนเส้นทางการเมือง มหาเธร์ สนใจมาตั้งแต่เป็นนักเรียนเมื่อหลังสงครามโลกยุติลง เข้าสังกัดพรรคอัมโน (United Malays National Organisation) แต่มีปัญหางัดข้อกับ อับดุล ราห์มัน (Tunku Abdul Rahman) นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นมาโดยตลอด สามารถคว้าเก้าอี้ ส.ส.ได้ในพ.ศ.๒๕๐๗ แต่อีก ๕ ปีต่อมากลับต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งต่อพรรคปาส (Pan-Malaysian Islamic Party) แถมยังถูกขับออกจากพรรคในเวลาต่อมา แต่ว่าพ.ศ.๒๕๑๓ ก็ได้กลับเข้ามาสู่พรรคอีกครั้งเมื่อ อับดุล ราซัก ฮุสเซน (Abdul Razak Hussein) เป็นนายกฯ (พ่อ นาจิบ ราซัก นายกฯ มาเลย์ คนปัจจุบัน) ซึ่งเป็นจุดเริ่มในเส้นทางการเมืองแบบก้าวกระโดดของเขา จนได้นั่งเก้าอี้ผู้นำสูงสุดในวันที่ ๑๖ ก.ค.๒๕๒๔ และพ้นจากตำแหน่งเมื่อ ๓๑ ต.ค.๒๕๔๖ รวม ๒๒ ปี จนได้ชื่อว่า เป็นบิดาแห่งยุคสมัยใหม่ ด้วยการสร้างประเทศให้เจริญก้าวหน้าในทุกด้านอย่างรวดเร็ว

จริงๆ ในพื้นที่นี้นอกจากจะมีบ้านแล้ว ยังมีจุดที่เป็นพิพิธภัณฑ์ของมหาเธร์ อีก ด้วย ทั้งโซนที่จำลองชีวิตวัยเด็ก จนถึงโต เครื่องมือแพทย์ เครื่องแต่งกาย ชุดลำลอง ไปจนถึงขนมที่ชอบ ซึ่งที่แห่งนี้ถูกรื้อฟื้นภายใต้โครงการของคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์ แห่งรัฐเคดะห์ หลังมีการประกาศให้บ้านหลังนี้เป็นอาคารประวัติศาสตร์และได้รับการบูรณะโดยหอจดหมายเหตุแห่งชาติใน พ.ศ.๒๕๓๕ ผมเห็น ๒ สาว หน้าหมวยมาเดินชมก็นึกว่าเป็นต่างชาติจะเข้าไปคุยในฐานะต่างด้าวด้วยกัน พอถามปรากฏว่าเป็นมาเลย์ต่างถิ่นซะงั้น ...
ภายในตัวบ้าน และพิพิธภัณฑ์ นพ.มหาเธร์
เหลือบดูเวลา ๔ โมงกว่าๆ นี่มันเวลาปิดของพิพิธภัณฑ์แล้ว ต้องจรลีกลับมายังที่พัก เพื่อชาร์ตแบตกล้องถ่ายรูป พร้อมนั่งกางปฏิทินแล้วคิดต่อไปว่า เราจะไปที่ไหนกันดีนะ?

อ่านต่อฉบับหน้า...
กำลังโหลดความคิดเห็น