xs
xsm
sm
md
lg

อวสานนิตยสารเพลงในตำนาน... “จะอยู่รอดไหม? ถ้าอยู่เมืองไทยก็ยากนิดหนึ่ง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จะอยู่รอดไหม? ขึ้นอยู่กับว่า คุณอยู่ที่ไหน? ถ้าอยู่เมืองไทยก็ยากนิดหนึ่ง แต่ถ้าอยู่อเมริกาหรืออังกฤษ ซึ่งเป็นที่ที่รวมดนตรีอินดี้ คนฟังเพลงกันหลากหลายแนวมาก ก็คงรอดครับ”

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในทัศนะอันจัดจ้านของบรรณาธิการนิตยสาร “Music Express” หนังสือที่อยู่คู่วงการดนตรีมาช้านาน ถึงวันนี้ วันที่นิตยสารในตำนานจำต้องปิดตัวลง ทำให้ต้องเติมคำว่า “อดีต” เข้านำหน้าตำแหน่งเดิมของเขา แล้วชวนนักเขียนนักวิจารณ์นายนี้มาสับวงการน้ำหมึกและวงการตัวโน้ตออกเป็นชิ้นๆ ปรุงรสบทสนทนาด้วยมุมมองของผู้มีประสบการณ์ ก่อนเสิร์ฟให้ผู้อ่านได้ชิม “ความจริงอันแสนเจ็บปวด” ผ่านถ้อยคำที่สุดแสนจะตรงประเด็นของ “ทัช-ปิโยรส หลักคำ”




แปลก... ขายดี แต่อยู่ไม่ได้!

“พอใครถามว่าทำไมไม่ลองทำแบบนี้ๆ ดูล่ะ ผมก็จะตอบได้เลยว่า ลองทำแล้วครับแต่มันไม่ได้ ลองทำทุกสิ่งทุกอย่างหมดแล้วเท่าที่ศักยภาพเราจะทำได้... ไม่รู้คนอื่นมองยังไง แต่ผมไม่ได้รู้สึกว่าล้มเหลวนะ รู้สึกว่าเราทำเต็มที่แล้วครับ

อดีตบรรณาธิการนิตยสารเพลงที่อยู่คู่วงการตัวโน้ตมากว่า 25 ปี บอกเล่าความรู้สึกผ่านน้ำเสียงเนิบๆ แนบรอยยิ้มปลงๆ สีหน้าท่าทางของเขาดูคล้ายคนเข้าใจโลกและยอมรับการเปลี่ยนแปลงมากกว่าลักษณะของผู้ก้มหน้ารับชะตากรรม และที่ทำให้เป็นอย่างนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทัชได้ทดลองต่อสู้บนปลายปากกาในเส้นทางนี้มาหลายรูปแบบแล้วนั่นเอง แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด...

“มันก็เป็นเรื่องของยุคสมัยครับ การเสพสื่อที่แตกออกไป เมื่อก่อนเราไม่มีอินเทอร์เน็ต จะหาข้อมูลดนตรี ไปดูร้านเทป บางทีก็ไม่รู้ ก็เลยต้องมีนิตยสารดนตรีเป็นไกด์ไลน์ ดูว่ามีคนรีวิวไว้ว่ายังไง ใครออกชุดใหม่ เขาทำงานกันยังไงบ้าง เมื่อก่อนขนาดว่าหนังสือดนตรีของต่างประเทศก็ยังหายากเลยครับ เพราะฉะนั้น คนที่มีนิตยสารดนตรีในครอบครองจะได้รู้ข้อมูลที่พิเศษกว่าคนอื่น แต่ทุกวันนี้ ข้อมูลอะไรๆ ก็หาได้ง่ายขึ้น คนทำนิตยสารอย่างเราก็พยายามปรับตัวนะครับ ไม่ใช่แค่เขียนข่าวอัปเดตเหมือนแต่ก่อน แต่ต้องทำให้เป็นสกู๊ป-บทวิเคราะห์กันมากขึ้น ให้อ่านได้จากที่นี่เท่านั้น”



(ปรับมาหลายรูปแบบแล้ว จากฉบับกระดาษอาร์ตขนาดพอดี (ขวา) จนมาเป็นกระดาษปรู๊ฟขนาดใหญ่ (ซ้าย))

(เพิ่มคอลัมน์อัปเดตและข่าวในกระแสอื่นๆ แล้ว แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด)
เคยแม้กระทั่งปรับเปลี่ยนรูปเล่มเพื่อดึงดูดคนอ่าน เปลี่ยนจากใช้กระดาษปรู๊ฟเป็นกระดาษอาร์ตทั้งเล่ม ให้หนังสือดูดีมีราคา หวังเพิ่มยอดกำไรต่อเล่ม แต่ก็ไม่ได้ผล จึงต้องพลิกโฉมครั้งใหญ่ ลดต้นทุนทุกอย่างโดยเปลี่ยนจากเย็บเล่มแบบไสกาวเป็นเย็บแม็ก ปรับราคาจากเล่มละ 70 เหลือ 35 รวมทั้งลดหน้ากระดาษให้บางลง ลดคอลัมน์เพื่อทอนค่าใช้จ่ายที่เคยจ้างคอลัมนิสต์ เริ่มหันมาเล่นกับสื่อออนไลน์ ทำเว็บไซต์ควบคู่ไปด้วยทั้งๆ ที่ไม่เคยมีความรู้ด้านไอทีมาก่อน

“แต่รายได้มันก็ไม่ได้เข้ามาทางเว็บ จนมาถึงวันที่ต้องวางแผงเล่มสุดท้ายของนิตยสาร เราก็โปรยเอาไว้ที่หน้าปกเลยครับว่า “ฉบับสุดท้ายก่อนหยุดพักชั่วคราว” (ยิ้มบางๆ) เป็นคำโปรยที่แปลกที่สุดตั้งแต่เคยทำมา แต่ก็ยังรู้สึกดีครับ ถือว่ายังได้บอกกล่าวกันนะ ก่อนจะหยุดพัก


(เล่มสุดท้าย สำหรับการเผยแพร่ศิลปะผ่านสิ่งพิมพ์)

คำว่า “พัก” ในตอนนั้นสำหรับทัช ไม่ได้หมายความว่า “แพ้” เขายังคงคิดหาหนทางสู้ต่ออยู่อย่างเงียบๆ แล้วก็ได้ทางออกใหม่คือ ทดลองวางแผงราย 3 เดือน ทำเป็น “Collector Edition” รวมเล่มเฉพาะกิจเกี่ยวกับแวดวงดนตรี “ตอนนั้น Michael Jackson เสียชีวิตพอดี เราก็เลยทำรวมเล่มเกี่ยวกับเขาออกมา กระแสตอบรับดีมากเลยครับ หนังสือแทบไม่มีตีคืนและโฆษณาก็เข้าเยอะมากๆ เราก็เลยมองว่า เอ้อ...หรือทางนี้จะไปได้แล้วนะ รวมเล่มพิเศษสำหรับคนอยากซื้อเก็บ” กระทั่งค้นพบว่ามันไม่เพียงพอ


(เคยปรับเป็นเล่ม Collector Edition ออกราย 3 เดือนเฉพาะเรื่องราวพิเศษจริงๆ)

“บอกตรงๆ ว่าเรื่องยอดขายไม่ใช่ปัญหาเลย ยอดขายเราโอเคมากครับ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ตัวหนังสือของเรา กำไรต่อเล่มมันจะไม่เยอะ มันจะมีเรื่องของสายส่ง แผงหนังสือ และจะวางขายแพงมากก็ไม่ได้ ก็ต้องขายในราคาพออยู่ได้ เพราะงั้น ขายดีเท่าไหร่มันก็ยังไม่พอ ยังไงก็ต้องมีโฆษณาเข้ามาช่วยเสริมให้อยู่ไปได้ด้วย ที่ผ่านมาเราก็ผลิตหลายหมื่นเล่มนะครับ แต่เราได้กำไรแค่เล่มละ 2 บาท หรือแม้แต่จะเพิ่มกำไรเป็นเล่มละ 5 บาท พิมพ์หมื่นเล่มก็ได้กำไร 50,000 บาท เทียบกับค่าโฆษณา บางทีลงหน้าเดียวก็ได้เงินตรงนั้นแล้ว ถามว่ายอดขายมีส่วนให้อยู่รอดไหม มันมีส่วนนะ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

การที่หนังสือจะอยู่ได้ มันเป็นเรื่องของผู้สนับสนุนด้วยครับ ต้องบอกตรงๆ ว่าหนังสือเพลงที่ทำๆ กันอยู่ ส่วนใหญ่ก็จะแบ่งเป็นแนวไหนแนวนั้นไปเลย เช่น หนังสือเพลงแนวป็อป หนังสือเพลงแนวร็อก มันจะไม่เหมือนออกหนังสือหนังครับ ถ้าเป็นหนังสือหนังจะไม่แบ่งว่าจะเขียนเฉพาะหนังรัก หนังสยองขวัญ ฯลฯ เขาเขียนถึงได้ทุกแนว หนังสือหนังมันกว้างกว่าเยอะครับ แต่ถ้าเราจะทำแบบนั้น ทำหนังสือเพลงที่รวมเพลงทุกแนว มันก็จะกลายเป็นว่าคนไม่ชอบอีก ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าบ้านเราคนไม่ได้เปิดกว้างฟังเพลงกันทุกแนวขนาดนั้น คนที่ชอบร็อกก็อยากจะอ่านแต่ร็อก หรือบางคนไม่ฟังร็อกก็ไม่ฟังเลย




รอวันคนไทย สนใจเสพดนตรี...

“ไม่จำเป็นต้องจับกลุ่มคนในกระแสหลัก (Mass Market) แต่ถ้าสามารถจับกลุ่มคนนอกกระแส (Niche Market) หาตลาดเฉพาะกลุ่มที่มั่นคงได้ ก็จะอยู่รอดได้เหมือนกัน” นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จหลายรายเคยบอกเอาไว้ในทำนองเดียวกันนี้ เมื่อลองเอาโมเดลความคิดดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับนิตยสาร Music Express กลับทำให้แปลกใจ เพราะคอนิตยสารกลุ่มนี้ก็มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ฐานคนอ่านแน่นแฟ้น แต่กลับได้ผลลัพธ์ที่ต่างออกไป บรรณาธิการนิตยสารหัวอินดี้ได้แต่พยักหน้ารับหงึกหงัก แล้วต่อท้ายด้วยคำอธิบายจากความเข้าใจในแก่นแท้

“ตอนแรกผมก็คิดอย่างนั้นครับ เอาแค่คนอ่านก็พอ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะมันต้องอาศัยผู้สนับสนุนด้วย ถ้าเราเป็น Niche Market แล้วมันมีผู้สนับสนุนที่คิดว่า “ถึงจะ Niche แต่ใช่ ฉันก็ชอบ” มันก็จะโอเค แต่ถ้าไม่มีผู้สนับสนุนแบบนั้น หรือมีน้อยเกินไป มันก็อาจจะไม่พอที่จะทำให้ตลาด Niche Market อยู่ได้

ต้องยอมรับว่าคนเรามองกันที่ภาพลักษณ์เสียเป็นส่วนใหญ่ นิตยสารของเราบางฉบับ ไม่ต้องถึงกับเป็นหน้าปกวงร็อกเมทัลก็ได้ครับ บางทีแค่เขียนเกี่ยวกับศิลปินร็อกปกติ คนก็มองว่าแรงแล้ว ทั้งที่จริงๆ แล้ว กลุ่มคนฟังเพลงเมทัลก็ไม่ใช่น้อยๆ นะครับ เวลาจัดคอนเสิร์ตใหญ่ๆ คนมาดูหลักพันหลักหมื่นก็มี กลุ่มคนซื้อมันมีอยู่แล้วครับ แต่ที่ไม่ค่อยเวิร์กเพราะมันติดเรื่องผู้สนับสนุนมากกว่า เขาคิดว่าภาพมันแรงไป ร็อกเกินไป อาจจะไม่ค่อยเข้ากับผลิตภัณฑ์ของเขา ซึ่งเราก็เข้าใจทุกฝ่ายนะ”

แม้จะมีวลีจิกกัดสังคมอยู่ในที แต่ให้มองกันจริงๆ ทัชกลับไม่เคยคิดจะโทษใครเลย ในภาวะที่นิตยสารแห่งความฝันต้องปิดตัวลงเช่นนี้ “เราไม่ได้โทษว่า ทำไมสื่อต่างๆ คุณไม่ช่วยสนับสนุน Music Express หรือไม่ได้โทษว่าอินเทอร์เน็ตมันแย่นะ เทคโนโลยีนี่มันทำลายทุกอย่างเลยนะ (หัวเราะเบาๆ) มันไม่เกี่ยว ถามว่าเรามีทางจะปรับแล้วให้อยู่ต่อได้ไหม มันก็พอมีทาง แต่ถ้าปรับแล้วไม่ใช่แนวเรา ปรับแล้วสูญเสียความเป็นตัวตน สู้ปิดไปเสียดีกว่าแต่ก็อดไม่ได้ที่จะแอบตัดสินในใจเอาไว้หน่อยๆ ว่า จากหลายๆ เหตุผลที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “กลุ่มก้อนคนรักดนตรี” ในประเทศเรายังไม่แข็งแรงเพียงพอ

“ถ้าเทียบกันกับเมืองนอก กลุ่มที่ฟังเพลงร็อกหรือเพลงหลากหลายแนวของเขามีเยอะกว่า หรือถ้าไม่ได้พูดแค่เรื่องหนังสือ พูดถึงเรื่องอีเวนต์ เวลามีคอนเสิร์ตต่างๆ วงเดียวกันไปเล่นที่อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ ฯลฯ คนดู 30,000 คน แต่พอมาเล่นเมืองไทย คนดูไม่ถึง 3,000 คน คอนเสิร์ตเดียวกัน ทัวร์เดียวกัน ทุกอย่างเหมือนกันหมด ตรงนี้มันก็บ่งบอกได้ว่ากลุ่มก้อนคนรักดนตรีเราอาจจะไม่ใหญ่และไม่แข็งแรงพอ

เมืองนอกเขาจะมีอารมณ์แบบ ต้องไปดู ต้องไปเสพ ต้องอ่าน ต้องรู้ ฯลฯ เป็นแบบนี้กันเยอะครับ แต่ของเราอาจจะมีอีกแบบเยอะกว่า เอ้อ...เพลงนี้เพราะดี แต่ไม่ได้อยากรู้หรอก แค่เพราะก็จบ ศิลปินชื่ออะไรบางทียังไม่รู้เลย

จริงๆ แล้ว ผมไม่ได้ซีเรียสนะ คนที่ชอบแบบนั้นก็ชอบไป ผมไม่ได้ว่าอะไร ส่วนใครจะชอบเหมือนที่ผมชอบเพลงก็ดีครับ อย่างผม ผมจะอยากรู้เรื่องราวตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ซื้อเทปมานั่งอ่านนั่งเปิด ใครทำเพลงนี้ เฮ่ย! ชื่อคนนี้อีกละ ทำเยอะนะเนี่ย ผมจะชอบนั่งดูไปเรื่อยๆ เพราะตัวผมเองเป็นคนแบบนั้น แต่คนที่ไม่ได้เป็นแบบเดียวกันก็มีครับ ผมก็แค่อาจจะเสียดายว่าคนที่เป็นอย่างผมอาจจะมีจำนวนไม่เยอะพอ


(ยังยิ้มได้ เพราะสู้มาทุกรูปแบบแล้วจริงๆ)

ที่อยากจะฝาก ก็แค่อยากให้ช่วยกันสนับสนุนวงการกันหน่อยครับ ยอมสละบางอย่างเพื่อมันบ้าง เช่น ถ้าคุณไปกินเหล้าคืนหนึ่ง 2,000-3,000 ได้ แต่พอไปดูคอนเสิร์ต 1,500 โอ้โห! โคตรแพงเลย (ถอนหายใจ) ตรงนี้มันก็มีส่วนนะ หรือบางคนบอก หาบัตรฟรีให้หน่อย มีซีดีออกใหม่ มีเพลงใหม่ ฝากไรต์หน่อย ฝากส่งไฟล์ให้หน่อยสิ อันนี้คือผลโดยรวมของวงการเพลงเลย ไม่ใช่แค่นิตยสาร

สำหรับวงการนิตยสาร ผมไม่ค่อยห่วงครับ เพราะที่มันอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องของยอดขายเสียทีเดียว แต่จะว่าไป เรื่องเพลงมันก็ส่งผลต่อนิตยสารทางอ้อมได้เหมือนกัน พอคนไม่ค่อยซื้อเพลง เขาจะโปรโมตลงหนังสือทำไมล่ะ จริงไหม โปรโมตไปก็ขายไม่ได้ ก็เลยต้องตัดงบโปรโมตตรงนั้นออก ถ้าคิดกันเป็นตัวเลข ลงทุนลงโฆษณาเพลงแล้ว ยอดขายอาจจะขึ้นแค่ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ มันก็ไม่คุ้มกับการลงทุน แล้วเขาจะซื้อโฆษณาตามสื่อ ตามหนังสือต่างๆ ทำไม

ตอนนี้ ผลกระทบต่อ Music Express อาจจะไม่มีแล้ว เพราะมันจบไปแล้ว เหลือแต่นิตยสารหัวอื่นๆ ยังอยู่ สื่ออื่นๆ ยังมี ศิลปินที่ยอดขายงานไม่ว่าจะเป็นแบบซิงเกิลหรือซีดีที่ยอดขึ้นยากๆ ก็ยังมี เวลาไปแสดงคอนเสิร์ตก็ถือเป็นช่องทางที่ทำให้ศิลปินหารายได้ได้ แต่ผมก็มองว่ามันก็ยังไม่ได้ขนาดนั้น นอกจากวงดังๆ ที่ทัวร์เดือนหนึ่ง 20 งานขึ้นไปอยู่แล้ว แต่กับศิลปินที่ไม่ได้ Mass มาก แต่งานดี อาจจะไม่มีรายได้ตรงนี้เลย ขายงานก็ยาก ทัวร์ก็ไม่มี มันก็ทำให้เขาไม่มีกำลังใจ



(ตามไปหา วง "The1975" ถึงฮ่องกง)
คนที่ถามว่าทำไมเพลงไทยไม่ทำออกมาให้หลากหลาย จริงๆ แล้วเขาทำกันนะครับ แต่ต้องไปฟังกันจริงๆ ไปดูว่าเขาอยู่ตรงไหน และพอมันหลากหลายปุ๊บ เราช่วยกันสนับสนุนจริงไหม ถ้าช่วยกัน เพลงที่หลากหลายเหล่านั้นก็จะขึ้นมา จะมีศิลปินที่เป็นทางเลือกมากขึ้น แต่ตอนนี้หลายๆ วงขึ้นมาไม่ได้ไงครับ เพราะคนไม่เสียเงินโหลด ไม่ซื้อเพลงเขา และเขาก็ไม่มีทัวร์ มีศิลปินอีกเป็นร้อยเลยครับที่ทำเพลงดีๆ แต่ไม่มีที่ยืน มีหลายวงที่ทำเพลงดีมากเลยนะ แต่ฟังปุ๊บเราจะรู้เลยว่าขึ้นมายาก

คือเราไม่ได้โทษคนฟังนะครับ แต่เราแค่อยากให้มีคนที่ไปเพื่อไปดูคอนเสิร์ตจริงๆ บ้าง แต่ตอนนี้ ศิลปินหลายๆ คนกลายเป็นว่าต้องเปลี่ยนแนวเล่น เพราะคนหลายๆ คนอยากจะไปเฮฮากันในปาร์ตี้ ไปดื่มกัน ให้ดนตรีเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ไม่ได้ตั้งใจไปยืนฟังกันจริงๆ ซึ่งที่เมืองนอกเขามีนะ บ้านเราก็พอจะมีพื้นที่แบบนั้นอยู่เหมือนกันครับ แต่น้อย น่าเสียดายครับที่กลุ่มก้อนคนที่จริงจังกับเรื่องดนตรีอาจจะมีน้อยไปหน่อยในบ้านเรา” นักวิจารณ์ผ่านปลายปากกาแนบรอยยิ้มบางๆ ตบท้าย




ยุคขายไอเดีย-ปล่อยซิงเกิล

ในฐานะคอลัมนิสต์ด้านเพลงประจำนิตยสารชื่อดังหลายฉบับ นักฟังเพลง และดีเจเฉพาะกิจในบางคลื่น อยากรู้ว่านิยามคำว่า “เพลงดี-เพลงเพราะ” ของเขาเป็นแบบไหน ทัชกวาดตาคิดอยู่กับตัวเองสักพัก ก่อนให้คำตอบว่าน่าจะเป็นนิยามเดียวกับคำว่า “เพลงคุณภาพ” ที่เคยใช้นำทางทุกเรื่องราวในนิตยสาร Music Express

อาจจะไม่ต้องร็อกก็ได้ อาจจะเป็นแจ๊ซ หรือเป็นป็อปดีๆ แม้กระทั่งบอยแบนด์คุณภาพมันก็มีครับ คุณภาพในมุมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เอาเป็นว่าในมุมของผม ผมหมายถึงศิลปินที่สร้างสรรค์งานของตัวเองได้ สร้างความแปลกใหม่ เช่น คุณทำเพลงป็อป แต่ป็อปคุณไม่เหมือนคนอื่นนะ มันมีอะไรแปลกๆ เจ๋งๆ อยู่ หรือศิลปินที่ Perform ได้ดีทั้งการร้องและการเล่นก็ได้

ผมว่าคนจะเป็นศิลปินได้อย่างมีคุณภาพ คุณต้องเป็น Professional ไปในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ถ้าแต่งเพลงอะไรไม่ได้เลยนะ แต่คุณต้องร้องเพลงเก่งมาก หรือคุณไม่ได้ร้องเพลงเก่งมาก แต่คุณอาจจะเป็น Entertainer ที่เก่งมาก คุณเล่นสดดีมาก หรือแม้แต่คุณร้องเพลงไม่ค่อยได้เรื่องเลย แต่คุณแต่งเพลงดีมาก นำเสนอเนื้อเพลงได้ดีมากๆ อย่างศิลปินบางคนร้องเพลงก็เฉยๆ แต่แต่งเพลงดีมาก ผมว่าต้องมีอะไรสักอย่างที่เป็นจุดเด่นของคนคนนั้น คือถ้านึกถึงคนนี้แล้วจะบอกได้ว่าเขาคือใคร?

ยกตัวอย่าง “แสตมป์ (อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข)” ถามว่าเขาเป็นนักร้องที่มีพลังเสียงสุดยอดไหม ก็ไม่นะ แต่ถ้าให้นึกถึง นึกถึงอะไร เราก็จะนึกถึงรอยยิ้ม ความเป็น Entertainer เป็นคนอารมณ์ดี เฮฮา ได้เจอเขา ได้ดูเขา แล้วรู้สึกสนุก ที่สำคัญ ความสามารถในการแต่งเพลงของเขาเจ๋งอยู่แล้ว ถ้ามองให้ลึกเข้าไปก็จะเห็นอีกจุดหนึ่ง มันต้องมีตรงนี้ครับที่ชัดว่า นึกถึงคนนี้ นึกถึงอะไร?”

แต่ทั้งหมดทั้งมวล ก็ไม่ได้หมายความว่า “เพลงดี” และ “ศิลปินคุณภาพ” จะโด่งดังคับฟ้าเสมอไป เพราะยุคสมัยแห่งการแชร์ คนอ่านข่าวสารต่างๆ จากหน้า News Feed และฟังเพลงกันบน Youtube แบบนี้ ไม่มีกฎตายตัว บอกเลย! อะไรก็เกิดขึ้นได้ “มันอยู่ที่จังหวะครับ” ทัชวิเคราะห์สั้นๆ เอาไว้ ก่อนเริ่มอธิบายสิ่งที่อยู่ในหัวของเขาออกมา

“บางทีเพลงดังอาจจะไม่ได้ดีก็ได้ หรือเพลงดีอาจจะไม่ดังก็ได้ บางทีเพลงดีๆ เนื้อร้องดีมาก ดนตรีดีมาก อัดเสียงอย่างดี ไปแพ้เพลงที่บ่นๆ อะไรก็ไม่รู้ ร้องก็เพี้ยนแต่ดันดังก็มี (ยิ้ม) มันไม่มีมาตรฐานอะไรเลย และทั่วโลกเป็นอย่างนี้หมด แต่ถ้าเมืองนอก ที่ยืนของเพลงที่ทำมาดีทำมาเนี้ยบอาจจะมีเยอะกว่า แต่ของไทย อะไรก็ได้ครับ แค่ให้มันเด่นขึ้นมา แล้วคุณจะเป็นที่รู้จัก

ยกตัวอย่างง่ายๆ ไม่ต้องเกี่ยวกับเรื่องเพลงก็ได้ครับ อย่างสติกเกอร์ในไลน์ที่มีคนทำกันเต็มไปหมดเลย แต่ที่ดังที่สุดกลับเป็นตัวที่วาดมั่วๆ ลายเส้นอะไรก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น อะไรที่ดังไม่จำเป็นต้องดี ถามว่าคนวาด วาดห่วยไหม ผมว่ามันอาจจะไม่ได้ห่วยจริง แต่คนทำอาจจะจงใจให้เป็นอย่างนั้น บางศิลปินอาจจะแกล้งร้องห่วยๆ ให้คนมาฟังว่ามันห่วยขนาดนั้นเลยเหรอ ไหนฟังซิ จนกลายเป็นยอดวิวหลายล้านคน แต่จริงๆ เขาอาจจะจงใจร้องให้ห่วยๆ เป็นจุดขาย มันอยู่ที่หยิบตรงไหนมาได้ สมัยนี้ต้องขายกันที่ไอเดียครับ



เป็นเพราะคนสมัยนี้ไม่ได้ “เสพเพลง” กันที่ตัวเพลงจริงๆ หรือเปล่า? ผู้สัมภาษณ์ตั้งข้อสงสัยเอาไว้ถึงสาเหตุที่ทำให้ศิลปะแท้ๆ ในศาสตร์นี้ขายไม่ค่อยออก “มันก็ไม่เชิงครับว่าจริงๆ แล้วคนเสพอะไร” ทัชตอบกลับแบบไม่ตัดสิน ก่อนให้เหตุผลในแบบของเขา

แต่ยุคนี้ มันต้องมาให้ครบหมด ทั้งภาพและเสียง สมมติว่า Official MV อาจจะยังไม่มา ภาพยังไม่พร้อม แต่เพลงพร้อมแล้ว ถ้าอยากจะปล่อยให้คนฟัง อย่างน้อยก็ต้องมี Lyrics Video เป็น MV แบบมีเนื้อร้องให้อ่านออกมาก่อน ซึ่งบางอันทำดีกว่า MV จริงๆ ก็มีนะ ถึงจะมีแค่ภาพกับเนื้อเพลง แต่มันก็ทำให้มีลูกเล่นน่าดูได้ อยู่ที่จะจัดวางยังไงให้น่าสนใจ สมัยนี้ มันต้องมาให้ครบหมดแล้วครับ ถ้าภาพจริงๆ ยังไม่พร้อม คุณต้องเอาภาพอื่นมาแทนก่อน ภาพ, เพลง, เล่นสด ต้องมีให้ครบทั้งหมด ถึงจะไปได้

ด้วยพฤติกรรมการเสพเพลงที่เปลี่ยนไปแบบนี้เอง จึงทำให้ระบบปล่อยเพลงเป็น “อัลบั้ม” ถูกแทนที่ด้วย “ซิงเกิล” แทบจะเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ไม่ว่าศิลปินและคนในวงการตัวโน้ตจะชอบหรือไม่ แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คล้ายอยู่ในภาวะจำยอม

“ถ้าเป็นเมื่อก่อน อัลบั้มออกมาอัลบั้มหนึ่ง คนก็ซื้อ มันยังไม่มีสื่ออินเทอร์เน็ต ไม่มี Youtube พอซื้อมาเลยค่อยๆ ฟังกันไป แต่ตอนนี้อัลบั้มออกปุ๊บวันแรก เพลงขึ้นบน Youtube เลย แค่ 2-3 เพลงแรก แต่อีก 8 เพลงที่เหลือกลายเป็นไม่ได้ใช้งานอะไร มันก็เลยทำให้ทางค่ายออกแบบ EP มี 5-6 เพลง ออกมาเยอะๆ ช่วงหนึ่ง เพราะออกมาทีเดียวเป็นอัลบั้ม ทำมา 10 เพลง โปรโมตแค่ 2 เพลง ที่เหลือก็เงียบไปเลย เพราะคนไม่ได้ซื้อทั้งอัลบั้ม ไม่ได้ซื้อซีดีซื้อเทปเหมือนเมื่อก่อน

เพราะฉะนั้น ค่ายเลยอาจจะมองว่าค่าใช้จ่ายที่ทำไป 8 เพลง มันหายไปเฉยๆ มันไม่คุ้ม ระบบปล่อยเพลงเป็นซิงเกิลเลยน่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำมากกว่า อาจจะปล่อยซิงเกิลออกมา 5 ซิงเกิล แล้วก็ออกอัลบั้มที่มี 8 เพลง รวมซิงเกิลฮิตที่ผ่านมาของศิลปินคนนี้ทั้งปี แล้วก็เพิ่มอีก 3 เพลงใหม่เข้าไป โมเดลใหม่ที่เป็นไปได้ก็จะเป็นประมาณนี้ครับ

นอกเสียจากศิลปินที่ดังจริงๆ คนตามจริงๆ ถึงจะออกเป็นอัลบั้มในสมัยนี้ได้ ประมาณว่าถึงไม่ได้ตามฟังแต่ก็ต้องซื้อฟัง อะไรประมาณนี้ แต่ให้ลองนึกชื่อดู นึกไม่ค่อยออกแล้วนะครับ (ยิ้ม) ระบบซิงเกิลเลยกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ พูดง่ายๆ คือให้เพลงทำงานน่ะครับ

ผมว่าศิลปินทุกวันนี้หวังเรื่องยอดขายน้อยนะ ไม่ได้หวังหรอกว่าคนต้องโหลดได้เท่าไหร่ กี่แสนโหลด แต่หวังว่าออกมาปุ๊บ คนรู้จักเพลง พอรู้จักเพลง คนเอาไปเล่นคอนเสิร์ต พอคนคุ้นหู อ๋อ...เพลงนี้ของคนนี้ดังนี่ งั้นจ้าง งั้นทาบทามเป็น Presenter คือเพลงที่ออกมา ถ้าฮิตแล้วทำให้คนเอาไปทำอะไรต่อได้บ้าง ขอเอาไปเป็นเพลงโฆษณาได้ไหม เพลงมันจะเป็นเครื่องมือหนึ่งมากกว่า ผมว่าระบบซิงเกิลมันเป็นอะไรที่ต้องทำแบบไม่มีทางเลือก”



(ตั้งหนังสือแห่งความทรงจำในบ้าน ไว้รำลึกประสบการณ์ดีๆ)
เช่นเดียวกับที่นิตยสารในตำนานอย่าง Music Express ไม่มีทางเลือกจนต้องปิดตัวลง หลังจากฝ่าฟันมาหลายระลอกแล้ว ด้วยความผูกพันในช่วงเวลากว่า 15 ปีที่ปลุกปั้นมากับมือ ทัชบอกจากใจเลยว่า “เสียดาย” แต่ไม่ “เสียใจ”

“ถ้าให้ย้อนกลับไปเลือกใหม่ ผมก็ยังเลือกทำ Music Express อยู่ดี โอกาสแบบนี้ไม่มีทางหาได้ง่ายๆ ได้เจอศิลปินต่างประเทศเยอะแยะมากมายที่เราชอบ ถ้าไม่ได้ทำตรงนี้อาจจะไม่ได้ฟังเพลงอะไรหลากหลายขนาดนี้ ไม่ได้เปิดโลกกว้างขนาดนี้ ไม่ได้ไปต่างประเทศ ไม่ได้ทำนู่นทำนี่ ถ้าเลือกได้อีกที ก็ยังเลือกตรงนี้อยู่ดีครับ


(ได้สัมภาษณ์วง "Imagine Dragons" ถึงญี่ปุ่น ประสบการณ์ที่หาไม่ได้ ถ้าไม่ได้ทำ Music Express)


(กับ "Jonathan Davis" วง Korn ศิลปินระดับโลก)


(คุ้มแล้ว! ได้ขึ้นโชว์ในคอนเสิร์ตของ Music Express ด้วย)

หลังจากประกาศปิดหัวหนังสืออย่างเป็นทางการผ่านแฟนเพจ “MusicExpress Mag” ก็มีคอเพลงจำนวนมากออกมาแสดงความเสียดาย บางรายถึงกับเสนอตัวขอร่วมหุ้นให้กลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง แต่คำตอบที่ได้จากทัชคือ “ถ้าจะทำต่อเร็วๆ นี้ ไม่ใช่ชื่อหัวหนังสือ Music Express แน่นอนครับ” นอกเหนือไปจากนั้น เส้นทางข้างหน้ายังดูเบลอๆ อยู่เลย

“อารมณ์เหมือนเราเลิกคบกับเพื่อน เลิกกับแฟน ถามว่าเธอจะกลับมาคุยกับฉันไหม ก็ตอบว่ายังไม่รู้หรอก ดูไปก่อน อาจจะไม่มีแล้วก็ได้ หรือวันหนึ่งรู้สึกดีๆ ต่อกัน กลับมาคุยกัน ทำหนังสือกัน สถานการณ์เปลี่ยนไป ผ่อนคลายมากขึ้น รู้สึกดีละ มาคุยกัน มาทำอะไรใหม่ๆ หรือกลับมาเหมือนเดิม แต่ตอนนี้ไม่รู้อะไรเลย รู้แค่ว่าคงไม่ใช่เร็วๆ นี้ครับ”

และสำหรับอดีตบรรณาธิการนิตยสาร Music Express แล้ว คงไม่มีคำพูดส่งท้ายอะไรที่จะเหมาะไปกว่า “ขอให้มีความสุขกับการฟังเพลงทุกคนนะครับ” เพราะเป็นประโยคที่เขาชอบเขียนทิ้งท้ายเอาไว้ในบท บก.แถลง “ส่วนจะสุขแบบไหน ถ้าสุขที่ดีก็ควรจะสุขแบบไม่อยู่บนความทุกข์ของคนอื่น สุขด้วยการไปแอบฟังเพลงเขาฟรีๆ ทั้งที่ควรจะจ่าย แบบนี้ก็ไม่ค่อยดี ผมว่าสุขไปด้วยกันดีกว่าครับ”

เอาล่ะ... ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการฟังเพลง



(ตำนานแห่งนิตยสารเพลงได้สิ้นสุดลงแล้วเล่มหนึ่ง แฟนๆ รอวันกลับมา...)

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Lite
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: ปัญญพัฒน์ เข็มราช
ขอบคุณแฟนเพจ: MusicExpress Mag 



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754


กำลังโหลดความคิดเห็น