สิ่งพิมพ์กำลังจะตาย ธุรกิจดนตรีกำลังจะล่มสลาย... 2 กระแสลบที่ถูกทำนายเอาไว้กำลังจะถูกท้าทาย! ด้วยลูกฮึดแรงบ้าของ 2 พลังบวก คนจาก 2 ฟากฝั่งธุรกิจ ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการ “ตัวโน้ต” และ “ตัวอักษร” ที่กำลังจะปลุกเสน่ห์แห่งหน้ากระดาษให้กลับมาร่ายรำได้อีกครั้งในนาม “Music X”
ผ่านโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “พ็อกเกตซีน” คล้าย “พ็อกเกตบุ๊ก” แต่เป็นได้มากกว่า “แมกกาซีน” ทั้งยังลงลึกได้ยิ่งกว่าความเป็น “ออนไลน์” บอกเลยว่านี่อาจเป็นทางรอดใหม่ของหนังสือเพลง ท่ามกลางเส้นทางต่อสู้อันแสนโหดร้ายบนธุรกิจสายดนตรีและสิ่งพิมพ์ในยุคนี้!
โมเดลใหม่ทำเอามัน! หันหลังให้ระบบขายแบบเดิมๆ
(นิตยสารเพลงในตำนาน "Music Express" เคยโบกมือลาแผงไปตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว)
“อารมณ์เหมือนเราเลิกคบเพื่อน เลิกกับแฟน ถามว่าเธอจะกลับมาคุยกับฉันไหม ก็ตอบว่ายังไม่รู้หรอก ดูไปก่อน อาจจะไม่มีแล้วก็ได้ หรือวันหนึ่งรู้สึกดีๆ ต่อกัน กลับมาคุยกัน ทำหนังสือกัน สถานการณ์เปลี่ยนไป ผ่อนคลายมากขึ้น รู้สึกดีละ อาจจะมาคุยกัน มาทำอะไรใหม่ๆ หรือกลับมาเหมือนเดิมก็ได้ แต่ถ้าจะทำต่อเร็วๆ นี้ ไม่ใช่ชื่อหัวหนังสือ Music Express แน่นอนครับ”
นี่คือคำให้สัมภาษณ์ของ “ทัช-ปิโยรส หลักคำ” ที่เคยให้ไว้กับเราตั้งแต่เดือน พ.ย.ปีที่แล้ว เมื่อครั้งนิตยสารเพลงในตำนานต้องถึงคราวปิดตัวลงอย่างเป็นทางการ ทำให้ต้องเติมคำว่า “อดีต” เข้าไปนำหน้าตำแหน่ง “บรรณาธิการนิตยสาร Music Express” ตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา
ผ่านไปได้ไม่ถึงปี ทางตันสายเดิมเส้นนี้กลับมีถนนสายใหม่ตัดผ่านเข้ามา เมื่อผู้คร่ำหวอดในโลกสิ่งพิมพ์อย่างทัช มาผนึกกำลังเข้ากับนักสู้แห่งโลกดนตรีอย่าง “ต้า-อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา” นักร้องนักแต่งเพลงประจำวง "Paradox" วงอินดี้ชื่อดัง ทำให้นิตยสาร Music Express ที่เคยหมดหนทางไป สามารถคลอดทายาทออกมาใหม่ได้ในนาม “Music X” ที่รับรองได้ว่าแข็งแกร่งกว่าเวอร์ชันแม่แน่ๆ เพราะครั้งนี้มีต้าเป็นคนลงทุนให้ แถมยังใช้โมเดลใหม่ เปิดสำนักพิมพ์ของตัวเองเพื่อผลักดันหนังสือเล่มนี้อีกต่างหาก!
(2 พลังบวก คนจาก 2 ฟากฝั่งธุรกิจที่กำลังจะปลุกเสน่ห์แห่งหน้ากระดาษให้กลับมาร่ายรำได้อีกครั้งในนาม “Music X”)
“ได้คุยกับต้าอยู่แล้วเรื่อยๆ เขามาพูดให้ฟังว่าอยากทำโปรเจกต์ “Tata Mag” ทำสำนักพิมพ์เล็กๆ ของตัวเอง ส่วนผมก็กำลังมองว่ายังจะทำหนังสือเกี่ยวกับแวดวงดนตรีต่อไปดีไหม เลยคุยแล้วคลิกกันว่าเราจะทำด้วยกันออกมาเป็นหนังสือชื่อว่า “Music X” ทางผมเองเคยทำนิตยสารมา รู้ว่าเรื่องของการจัดส่ง จัดจำหน่าย หรือถ้าพิมพ์ตามระบบทั่วไป ค่าใช้จ่ายจะสูงมาก และต้องมีทุนสำรองเยอะมาก เพราะมันมีเรื่องเวลามาเกี่ยวข้องเยอะ กว่าจะเก็บหนังสือคืนจากแผงมาอีก
คิดว่าถ้าเราทำหนังสือที่มีประเด็นกว้างมากๆ มันยังสามารถเอาหนังสือไปวางขายตามแผงแบบกระจายได้ แต่นี่คือเนื้อหาเฉพาะกลุ่ม เป็นเรื่องดนตรีโดยเฉพาะ แต่ก็ไม่ถึงขนาดเป็นกลุ่มเล็กมาก เพราะเรารู้แน่นอนว่าเขาอยู่ตรงไหนกันบ้าง เลยคิดกันว่าแล้วทำไมเราไม่ทำออกมาแล้วขายตรงให้เขาเลยล่ะ ก็เลยกลายเป็นโมเดลนี้ขึ้นมาครับ” ทัช บรรณาธิการพ็อกเกตบุ๊กดนตรีเล่มที่กำลังพูดถึง เริ่มด้วยการอธิบายที่มาที่ไป ก่อนปล่อยให้ผู้ร่วมก่อตั้งอย่างต้า เอ่ยถึงมิติคนลงทุนในฐานะเจ้าของสำนักพิมพ์บ้าง
“จริงๆ แล้ว แต่ก่อนวงเราเวลาอยากจะสื่อสารกับแฟนๆ คุณสอง มือเบส เขาจะชอบถ่ายเอกสารข่าวคราวของวงและแปะโลโก้ Tata Mag ให้เป็นนิตยสารข่าวคราวของวงเอาไว้อยู่แล้ว แล้วก็ส่งไปตามไปรษณีย์ให้แฟนเพลง หลังจากนั้นก็กลายเป็นเว็บไซต์ เป็นหน้าแฟนเพจ ผมเลยตั้งเป้าเอาไว้ว่าในอนาคตอยากจะออกหนังสือตัวเอง อยากเขียนนิยายครับ เลยตั้งเป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ ของตัวเองซะเลย
พอมาคุยกับพี่ทัช เขามีไอเดียหนังสือเพลงที่ต่อยอดมาจากนิตยสาร ผมก็รู้สึกตื่นเต้นว่าเราจะได้บุกเบิกเล่มแรกด้วยฐานคนอ่านนิตยสารฉบับเดิมที่ค่อนข้างแข็งแรงอยู่แล้ว ส่วนผมก็จะได้ถือโอกาสทดลองโมเดลที่เคยคิดเอาไว้ด้วย ก็เลยตัดสินใจทำ”
“ผมทำเอามัน!” ต้าบอกเอาไว้ชัดเจนในแววตาซุกซน ด้วยความรู้สึกท้าทายอยู่ลึกๆ ว่างานนี้คงจะมันไม่แพ้การผลิตงานบนเส้นทางดนตรีที่ไม่เน้นขายฝั่งตลาด แต่ทำออกมาสนองความต้องการตัวเองและเจาะกลุ่มคนอินดี้โดยเฉพาะ เทียบกันแล้วโมเดลที่กำลังจะเอามาใช้กับหนังสือก็ออกแนวเดียวๆ กัน
“ทำหนังสือมันดูน่าตื่นเต้นนะ มันตื่นเต้นพอๆ กับทำอัลบั้มเพลงเลย และมันก็มีเสน่ห์ในอีกแบบหนึ่งสำหรับนักสะสม อย่างผมจะเป็นพวกชอบบ้าซื้อหนังสืออยู่แล้วครับ ยิ่งความเป็นหนังสือหายาก มันยิ่งมีเสน่ห์ในตัวมันเองอยู่แล้ว การได้ไปตามเสาะหา มันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งของการเล่นสนุกกับหนังสือ แทนที่เราจะไปเดินซื้อตามแผง เราก็ต้องหาซื้อในเพจหรือหาตามงานอีเวนต์แทน ผมว่ามันจะช่วยสร้างสีสันในชีวิตได้อีกแบบหนึ่ง และมันน่าจะเป็นทางออกให้กับวงการหนังสือเล็กๆ ได้อีกทางหนึ่งด้วย
พี่ทัชเขาเป็นฝ่ายผลิตผลงานมา ทางเราก็เป็นคนลงทุนให้ เปรียบเทียบกับงานเพลง ผมก็เหมือนค่ายเพลง ส่วนพี่ทัชก็เป็นศิลปินที่โปรดิวซ์งานเอง แต่ระบบมันจะเปลี่ยนตรงที่ว่า เราทำเอามัน ทุกอย่างทำกันเองหมด ไม่ต้องมีทีมสต๊าฟเป็นสิบๆ คน หรือต้องมีเงินเดือนให้ เราไม่ได้ทำแบบนั้น เราแค่เอางานที่มีอยู่ งานที่อยากจะให้โลกได้รู้ เอามาทำเป็นหนังสือ เสร็จก็เอาตรงนั้นมาปั๊ม ผมลงทุนค่าพิมพ์ให้ ถ้ามันมีกำไรขึ้นมา เราก็มาแบ่งกัน 50/50”
ใช้เวลาคิดหนักอยู่พอสมควรว่าจะทำออกมาในรูปแบบพ็อกเกตบุ๊ก (Pocketbook) หรือนิตยสาร (Magazine) แต่สุดท้ายแล้วทัชก็เลือกจับทั้งสองอย่างมาผสมกัน ให้ออกมาเป็น “พ็อกเกตซีน (Pocketzine)” ซึ่งเขียนอธิบายอย่างเป็นทางการเอาไว้ในเล่มว่าคือ “นิตยสารดนตรีในสไตล์พ็อกเกตบุ๊กเต็มรูปแบบ” ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีรูปแบบนี้ตามแผงหนังสือดนตรีในบ้านเรา
“ปกติแล้ว ถ้าเป็นพ็อกเกตบุ๊กส่วนใหญ่จะนำเสนอเรื่องเดียวแบบยาวๆ แบ่งเป็นบทๆ ไป แต่พอมีกลิ่นอายของแมกกาซีนเข้ามา มันจะแบ่งออกเป็นคอลัมน์ แต่จะเป็นคอลัมน์ที่แตกต่างจากแมกกาซีนแบบเดิมๆ คือจะไม่เน้นข่าวสารอัปเดตแล้ว แต่สามารถเก็บไว้อ่านได้ เนื้อหามันไม่ตาย อีกปีหรืออีก 10 ปีมาอ่าน มันก็ยังอ่านได้เสมอ ก็เลยมองว่ามันอยู่ตรงกลาง อาจจะเน้นไปทางพ็อกเกตบุ๊กหน่อย แต่ยังคงความเป็นแมกกาซีนเอาไว้ด้วย เลยรวมเป็น “พ็อกเกตซีน” เล่มนี้ครับ”
สวนกระแสสู้ออนไลน์! เชื่อ “เสน่ห์แห่งหน้ากระดาษ”
(4 สีทั้งเล่ม ขายตรงถึงมือคอเพลงนักสะสม)
สิ่งพิมพ์กำลังจะตาย ข้อมูลทุกอย่างเสิร์ชได้ในระบบออนไลน์ แล้วใครจะมาควักเงินซื้อหนังสือเพลง-นิตยสารดนตรี? ผู้ดูภาพรวมของ Music X เลือกที่จะใช้ประโยคคำถามตอบกลับข้อสงสัยที่ตั้งไว้ เพื่อสะท้อนอีกมุมมองในเชิงตั้งคำถามกรอบความคิดแบบเดิมๆ ที่ไม่ใช่ทางเลือกของเขาในวันนี้
“ก็ในเมื่อใครๆ ก็ทำออนไลน์ ใครๆ ก็ทำหมด แล้วทำไมไม่มีใครหันมาจับในส่วนของสิ่งพิมพ์บ้าง จริงไหมครับ? ทำไมไม่มีใครมาจับหนังสือบ้างเลย? ต้องเฮโลกันไปในทางเดียวหมดเลยหรือเปล่า? ซึ่งมันก็ไม่ได้เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียนะครับ เพราะกลุ่มออนไลน์เขาก็มีกลุ่มเป้าหมายของเขาซึ่งอาจจะเป็นคนส่วนใหญ่ ส่วนคนที่อ่านหนังสือก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ใช่กลุ่มเล็กๆ เพียงแต่ว่าคนอาจจะมองข้ามไป มองว่าทุกวันนี้ไม่มีใครสนใจหนังสือ คนหนีไปอ่านออนไลน์กันหมดแล้ว แต่เราก็ยังเชื่อว่าทางนี้มันยังไปได้อยู่ ยังมีรูปแบบของเราอยู่
เวลาคนพูดว่าสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย มันก็คล้ายๆ กับเวลาที่คนพูดถึงงานเพลงว่าซีดีกำลังจะตายนั่นแหละครับผมว่า แต่มันก็ยังมีคนซื้อซีดีอยู่ มีคนซื้อไวนิล (แผ่นเสียง) เราก็เลยมองว่ามันไม่ได้ตาย แต่มันจะกลายเป็นของที่อยู่เฉพาะกลุ่มไปแค่นั้นเอง ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าจะใหญ่พอสมควร
นิตยสารเพลง มันก็เหมือนกับเพลง เหมือนกับหนังทุกวันนี้นี่แหละครับ เดี๋ยวนี้ฟังทางออนไลน์ ดูจากเว็บได้หมดแล้ว แต่ถามว่าพอเราเจออัลบั้มที่ดีจริงๆ เราฟังจบแล้ว พอไปซื้อซีดีมาฟัง มันก็เหมือนเดิม แต่เราก็ซื้อเพราะเราซื้อเก็บ ซื้อมาไว้สะสมเพราะเราชอบ หนังก็เหมือนกัน ดูออนไลน์ได้เยอะแยะหรือแม้แต่เข้าไปดูในโรงแล้ว เราก็ยังอยากซื้อแผ่นเก็บ มันก็เหมือนเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ เรารู้แหละว่าวงไหนมีอัลบั้มอะไรบ้าง แต่คนอ่านบางกลุ่มก็อยากจะเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้สะสม
ถ้าเราทำในสิ่งที่ออนไลน์ให้ไม่ได้ อย่างการทำออกมาเป็นรูปเล่ม เป็นหน้ากระดาษ ให้การจับต้องได้ เราก็จะแตกต่าง เพราะในระบบออนไลน์ พอผ่านไปเวลาหนึ่งเรื่องราวมันก็จะตกหล่นหายไป พอเข้าไปดูมันก็เป็นแค่ตัวหนังสือในหน้าจอ แต่นี่มันอยู่ในมือเรา จับต้องได้ และอยู่กับเราไปได้ตลอดถ้าปลวกไม่กินนะ” ทัชยิ้มปิดประโยคด้วยรอยยิ้มสุขุม
(อัดแน่นไปด้วยคอลัมนิสต์จากโลกออนไลน์และออฟไลน์)
ด้วยเหตุนี้เอง บรรณาธิการนิตยสารดนตรีสไตล์พ็อกเกตซีนเล่มนี้ จึงชักชวนนักเขียนจากโลกออนไลน์มาร่วมแชร์พื้นที่ตัวอักษรในโลกออฟไลน์บนหน้ากระดาษด้วยกัน ทำให้มีทั้งรายชื่อคอลัมนิสต์ด้านเพลงคุ้นๆ บรรจุอยู่เต็มเล่ม ไม่ว่าจะเป็น “สอง-จักรพงศ์ สิริริน” ศิลปินและดีเจคลื่น 94.5 Cat Radio, “แพท-สิระ บุญสินสุข” Senior Creative ค่ายสนามหลวงมิวสิก ฯลฯ ไปจนถึงนักเขียนประจำแฟนเพจดนตรียอดนิยมอย่าง “เสพย์สากล”, “อ่าน-เพลง”, “Headbangkok” และ “กายวิพากษ์ดนตรี” เรียกได้ว่ารวมทุกเสน่ห์แห่งตัวอักษรเอาไว้ในที่เดียว อย่างที่ต้า คู่หูผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ต้องการ
“ผมว่าเสน่ห์ของหนังสือ มันคือการทำให้เราได้เจอคนในแบบเดียวกันครับ การมีคนมาดูๆ บนโลกออนไลน์ เราก็มองเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แต่คนที่จะติดตามซื้ออ่านกันจริงๆ มันคือเสน่ห์ของการคัดกรองเลยนะ และตรงนี้แหละที่ทำให้เรารู้สึกสนุก มันเหมือนเราจัดมีตติ้งแล้วได้พบปะกับเขาจริงๆ เราจะเห็นตัวตนกันจริงๆ เลย ไม่เหมือนที่มีคนกดไลค์เป็นล้าน แต่พอให้อุดหนุนจริง อุดหนุนหลักร้อย เราก็จะรู้สึกสนุกที่ว่าเราให้ความสำคัญกับคนจำนวนหลักร้อยนี่แหละครับ
จุดประสงค์ที่ทำก็คือขอให้มันออกมาเป็นหนังสือที่จับต้องได้ เพราะเวลาอ่านข้อมูลในเพจ อ่านในเว็บ ถ้าจะเก็บไว้ก็ต้องเซฟข้อมูลหรือไม่ก็ปรินต์ออกมา แต่นี่เรารวบรวมข้อมูลเอาไว้ให้ แฟนเพลงแฟนหนังสือก็สามารถเก็บไปถือได้ มันเป็นเพราะผมไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือจากคอมพิวเตอร์ด้วย มันจะปวดตา ผมชอบซื้อหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือเบาๆ จะพกอ่านตลอด ไว้ขีดเส้นใต้ได้ โน้ตอ่านได้ หรือว่าเขียนทับได้ หงุดหงิดก็ขยี้ๆ หนังสือได้ มันจับต้องได้ (ต้าพูดไปยิ้มไป ระหว่างนั้นก็จับหนังสือ Music X ด้วยมือเดียวขึ้นมาให้ดูว่าขนาดของมันเหมาะมือขนาดไหน)
(สำนักพิมพ์ “Tata Mag” สานฝันผลักดันคุณค่าตัวอักษร)
อีกอย่าง ผมเป็นคนสนใจหนังสือที่เกี่ยวกับดนตรี จะเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ด้านดนตรีหรืออะไรก็ตาม จะดึงดูดเราไปทางนั้นเลย และมันก็ไม่ได้มีเยอะมากในตลาดบ้านเราด้วย ที่ทำเพราะมาจากความชอบล้วนๆ เลยครับ อย่างเรื่องหนังสือเล่มนี้ก็เหมือนกัน ผมจะขอเอาไว้ 2 อย่างที่ผมชอบมาก คือเรื่องขนาดเล่มกับน้ำหนักของมัน เพราะผมจะติดเรื่องนี้มาก
ผมหลงใหลเสน่ห์ของหนังสือเล่มที่มันเบา เพราะผมเป็นคนเดินทางบ่อย เวลาพกไปขึ้นเครื่อง ขึ้นรถ แบกใส่กระเป๋าจะได้ไม่หนัก ผมชอบเสน่ห์ของกระดาษที่จับมาแล้วตัวหนังสือเบา รู้สึกว่ามันคือของมีค่า ยังไม่ต้องอ่านก็รู้สึกได้แล้ว ยิ่งหนังสือมันเก่า สีต่างๆ มันเปลี่ยนไป มันยิ่งมีคุณค่า เวลาเราเปิดมาแล้วฝุ่นมันกระจาย ผมมองว่ามันเป็นของสะสมได้ มันเป็นเสน่ห์อีกแบบหนึ่งของคนที่ชอบหนังสือครับ”
บุกเส้นทางอินดี้ หนังสือดนตรีทางเลือก
พิมพ์ 4 สีทั้งเล่ม หนาเฉียด 200 หน้า ขายราคา 220 บาท ไม่พึ่งระบบแผงขายปกติ เน้นตลาดขายตรงและขายตามอีเวนต์... ผู้สัมภาษณ์หันหน้าไปถามเจ้าของเงินตรงๆ คาดว่านิตยสารเพลงเล่มนี้จะอยู่รอดในโมเดลนี้ไปได้ถึงขนาดไหน? นักร้องนำวงพาราด็อกซ์จึงตอบจากใจกลับมาว่า
“เอาตามตรงเลย ผมไม่ค่อยสนใจอะไรทั้งสิ้น ผมเน้นแค่ว่าผมอยากจะทำ เมื่อไหร่หนังสือปั๊มเสร็จ ผมประสบความสำเร็จแล้ว เรื่องที่เหลือ มันเป็นเรื่องกำไรทั้งนั้นเลย กำไรชีวิต กำไรอะไรต่างๆ ผมไม่ค่อยแคร์ว่าระบบบนโลกนี้มันเป็นยังไง ผมสนใจแค่ว่าอยากจะทำหนังสือเล่มนี้ แล้วก็ทำ แล้วก็จบงานครับ ผมมองว่าแทนที่จะเอาเงินไปดาวน์รถ ซื้อบ้าน ผมสนุกกับเรื่องแบบนี้มากกว่า ผมแฮบปี้กว่า ก็เลยไม่ค่อยกังวลเท่าไหร่ เรื่องสำนักพิมพ์ผมไม่มีปัญหา เรื่องที่เหลือคงต้องถามพี่ทัชครับ”
คู่สนทนาอีกคนหัวเราะเบาๆ ตอบรับแล้วตอบกลับมาว่า “จริงๆ แล้วผมกังวลแทนต้า จนต้าต้องบอกว่าไม่ต้องซีเรียส ทำไปเลย” แต่ถึงแม้จะใจป้ำแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะลุยเละโดยไม่วางแผน เพราะต้ามองจุดคุ้มทุนเอาไว้คร่าวๆ ว่า “ถ้าผ่าน 1,000 เล่มไปได้ ก็จะกลายเป็นกำไรครับ แต่ก็อยู่ที่ว่าจะมากหรือน้อย” ตอนนี้ได้แต่กำหนดเอาไว้คร่าวๆ ว่าจะออกเป็นนิตยสารราย 3 เดือน
“ถ้าขายดีก็อาจจะออกถี่กว่านั้น หรืออาจจะออกช้ากว่านั้นก็ได้ครับ เพราะคิดว่าจะมีอีเวนต์เพิ่มเติมเพื่อให้แบรนด์ Music X ไม่ได้เป็นแค่แบรนด์หนังสืออย่างเดียว อยากให้คนที่ชอบหนังสือ Music X ได้มาจอยกัน มาคุยกันเรื่องหนังสือ คุยกันเรื่องดนตรีได้ในอนาคต”
(นี่คือนิตยสาร “Music Express” ในตำนาน ซึ่งวันนี้มีทายาทออกมาแล้ว!)
พูดได้อย่างเต็มปากว่าโมเดลการขายแบบใหม่นี้ผ่อนคลายที่สุดแล้วตั้งแต่เคยทำมา เทียบกับสมัยที่ Music Express ยังเป็นนิตยสารรายเดือนวางขายตามแผงหนังสืออยู่ ทัชบอกเลยว่าความกดดันมีรอบด้านจนสุดท้ายก็ทานรับต่อไปไม่ไหว
“ช่วงที่ทำนิตยสาร Music Express ปัญหามันไม่ใช่เรื่องจำนวนคนอ่านน้อยเลยนะครับ เพราะยอดคนอ่านอยู่ที่หลักหมื่นเล่ม แต่มันอยู่ที่พอเราทำขายเล่มละ 50 หรือ 80 บาท กำไรต่อเล่มมันเหลือนิดเดียว เพราะเราต้องไปหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ค่าสายส่งด้วย ทำให้นิตยสารที่จะอยู่ได้ มันต้องมาจากเงินโฆษณาที่เยอะมาก เรื่องของยอดขายที่ได้เลยอาจจะไม่มีผลเท่ากับเรื่องโฆษณาที่เข้ามาลง
ส่วนคนลงโฆษณาก็ยังไม่เชื่อว่าความเป็นอินดี้มันจะมีพลังที่ยิ่งใหญ่พอ เพราะเขาไม่เชื่ออย่างที่ผมและต้าเห็นเหมือนกันอยู่ตอนนี้ มันก็เลยทำให้นิตยสารตัวนั้นไปต่อไม่ได้ ไหนจะมีเรื่องของการขายให้คิดหนักว่าเดือนหนึ่งต้องทำให้ได้กี่เล่ม เซลส์เขาก็จะบอกไว้เลยว่าต้องทำให้ได้กี่แสน ถ้าทำไม่ได้คุณจะขาดทุนนะ แต่พอมาเป็นรูปแบบนี้มันไม่ต้องไปคิดอะไรแบบนั้นเลยครับ ผมค่อนข้างเชื่อมั่นในโมเดลนี้ อย่างน้อยๆ ก็เชื่อว่ามันจะไม่ขาดทุน” ทันทีที่จบประโยคด้วยน้ำเสียงเชื่อมั่น เพื่อนผู้ลงทุนอย่างต้าก็ช่วยเสริมทัพทันที
“ถ้าเปรียบเทียบกับเรื่องเพลงก็คล้ายกับว่าเราไม่ได้ถูกค่ายบีบว่าจะต้องทำเพลงขาย แค่ทำสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำเลย และถ้าต่อไปจะมีสปอนเซอร์วิ่งเข้ามาก็ยิ่งดีเลย มันเป็นเรื่องที่มีแต่กำไร ผมไม่ได้คิดว่าเราต้องมาสร้างสำนักพิมพ์เป็นโปรเจกต์ใหญ่ร่วมกันอะไรแบบนั้นเลยครับ เพราะคิดแบบนั้นมันจะทำให้เครียด ผมพยายามฉีกทุกอย่างให้ง่าย ให้เป็นฟรีแลนซ์หมด จบจ็อบนี้ก็ค่อยว่ากัน ผมแค่อยากจะให้มันมีระบบแบบนี้เกิดขึ้นจริง ถ้าในอนาคต ระบบแบบนี้มันเจริญ ธุรกิจเล็กๆ สามารถหมุนไปได้ เราก็พอใจแล้ว”
รอดได้ ถ้าโลกไม่โหดร้ายเกินไปนัก!
(ฐานคนอ่านหนาแน่น ทางรอดอยู่ไม่ไกล)
ไม่ได้ต่อต้านระบบเดิม ทัชยืนยันเอาไว้แบบนั้น “เพียงแต่เรามองว่ามันเป็นอีกรูปแบบหนึ่งมากกว่า คิดดูว่ายุคนี้ถ้าบอกอยากทำหนังสือดนตรี จะไปทำที่ไหน จะไปสมัครงานที่ไหน จะไปขอใครทำ มันยากเหมือนกันนะ แต่ถ้าเป็นรูปแบบนี้ เราสามารถทำให้มันเกิดขึ้นได้จริงโดยใช้เงินทุนไม่เยอะมาก ไม่ต้องไปกังวลว่าต้องมีค่าใช้จ่าย วุ่นวายยุ่งยาก เพราะฉะนั้น คนที่จะทำหนังสือแนวอื่นๆ ไม่ต้องหนังสือดนตรีก็ได้ ก็สามารถทำได้ แล้วจะรู้ว่าทุกอย่างมันคือความสนุก ทุกอย่างคือกำไร กำไรชีวิตที่เราได้ทำและมันก็ไม่ได้ไปเดือดร้อนใครด้วยครับ”
ถ้าจะมีใครเดือดร้อนจากโมเดลนี้ ก็น่าจะมีเพียงผู้ร่วมก่อตั้งทั้งสองคนนี้นี่เอง อย่างที่พูดๆ กันว่า สิ่งพิมพ์กำลังจะตาย ธุรกิจดนตรีกำลังจะล่มสลาย แต่ทั้งทัชและต้ากลับท้าทายกราฟที่กำลังดิ่งลงเรื่อยๆ ของทั้งสองวงการ โดยการนำมาผสานรวมเป็นธุรกิจเดียว
“ใครๆ ก็พูดว่าตอนนี้ธุรกิจที่ย่ำแย่คือ “ธุรกิจสิ่งพิมพ์” กับ “ธุรกิจดนตรี” คนไม่ซื้อเพลงกันแล้ว และเราก็ทำ “หนังสือ” แถมยังทำ “หนังสือเพลง” ด้วย” ทัชหัวเราะเบาๆ ให้แก่เส้นทางชีวิตที่เลือกเดินด้วยตัวเอง ก่อนปล่อยให้ต้าพูดเสริมด้วยน้ำเสียงร่าเริงว่า “เอามารวมกันไว้ที่เราที่เดียวเลย สองอย่างที่กำลังย่ำแย่ ก็กลายเป็นสิ่งดีๆ ได้” บรรณาธิการนิตยสารสุดแนวยิ้มรับมุกเพื่อนบางๆ ก่อนช่วยขยายความตามมุมมองของเขา
(ทัช-ปิโยรส บรรณาธิการผู้คร่ำหวอดด้านเพลง ยิ้มสู้พร้อมลุย!)
“มันกลายเป็นว่า ทุกคนเดินหนีจากสิ่งพิมพ์ ทุกคนเดินหนีจากดนตรีหมด เราก็คิดว่า เอ๊า! ในเมื่อไม่มีใครอยู่ แต่ยังมีคนยืนรออยู่ในห้องๆ นั้น เราก็เข้าไปแทนหรือเข้าไปทำอะไรที่เขาอยากจะได้ และมองในแง่ลบหรือแง่ผลเสีย ให้เป็นผลดีแทน ทั้งเรื่องที่บอกว่าไม่มีใครทำหนังสือ งั้นเราก็ทำสิ! หรือเรื่องที่บอกว่าขายลำบาก เดี๋ยวนี้จะไปวางแผงมันยาก เอ้อ! งั้นก็ขายส่งทางออนไลน์ซะเลยสิ! ทำทุกอย่างที่เป็นจุดแย่ เป็นจุดด้อย ให้กลายเป็นจุดแข็งซะเลย”
ให้พูดถึงจุดอ่อนที่หลายๆ คนมองว่าข่าวสารอัปเดตต่างๆ เกี่ยวกับวงการเพลงอาจรวดเร็วสู้ระบบออนไลน์ไม่ได้นั้น ทางทีมงานบอกเลยว่าไม่ใช่ปัญหา เนื่องจากปกติแล้วจะใช้แฟนเพจบนเฟซบุ๊ก (www.facebook.com/musicxthailand) สื่อสารกับกลุ่มคนอ่านอยู่แล้ว “ที่อัปเดตอยู่ทุกวัน คอนเทนต์ก็ไม่ได้เหมือนที่อยู่ในหนังสือนะครับ จะอัปเดตข่าวคราวทั้งวงการเพลงไทยและสากล ไม่ใช่เพราะคิดว่ามันเป็นหน้าที่อย่างเดียว แต่ที่ทำเพราะว่าเราสนุก”
ส่วนจะสนุกไปได้แบบนี้อีกสักกี่ปีนั้น เจ้าของทุนอย่างต้ายังคงเชื่อมั่นใน “คุณค่าของตัวอักษร” ว่ามันจะยังคงเลี้ยงตัวเองไปได้เรื่อยๆ และยังไม่กังวลว่ามันจะคืนทุนเมื่อไหร่ แค่ปล่อยให้ตัวหนังสือทำงานของมันไปตามธรรมชาติและกาลเวลา
(ไม่หวั่นล่ม! ต้า-พาราด็อกซ์ เจ้าของสำนักพิมพ์ ศิลปินเจ้าของทุนผู้คร่ำหวอดในวงการเพลง)
“ณ วันนี้มันอาจจะยังไม่ขาย แต่ในอนาคต ตัวหนังสือมันจะทำงานด้วยตัวมันเองแน่นอนครับ และคาดหวังว่ามันจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนที่ชอบหนังสือหันมาสนใจดนตรีมากขึ้น คนที่ชอบดนตรีก็จะได้ลองมาอ่านมากขึ้น เอามาช่วยเกื้อหนุนกัน มันเหมือนตั้งแต่สมัยผมเขียนหนังสือ “บันทึกลึกลับพาราด็อกซ์เอ็กซ์” นั่นแหละครับ จากก่อนหน้านี้มันเงียบๆ แต่ทุกวันนี้กลับมาขายได้ พิมพ์ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ครั้งที่ 4 แล้ว ถึงตอนนั้นยังทำในนามสำนักพิมพ์อื่นอยู่ แต่มันก็แสดงให้เห็นแล้วว่า พอถึงเวลา ตัวงานมันจะทำงานของมันเอง อาจจะไม่ใช่เวลานี้ แต่พอถึงเวลาหนึ่ง มันจะทำงานของมันเอง”
ไม่ว่าจะวัดยอดขาย “นิตยสารดนตรี” จากฟากฝั่งไทยหรืออินเตอร์ ก็จะพบลักษณะเหมือนกันคือเส้นกราฟดิ่งลงเรื่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่แท็บลอยด์ชื่อดังสัญชาติอังกฤษ “NME” ที่เพิ่งประกาศตัวเป็นนิตยสารแจกฟรีไป รวมถึงสื่ออีกหลายๆ สำนักที่เคยโด่งดังขายได้ระดับแสนยูนิต กลับเหลือยอดคนอุดหนุนแค่หลักหมื่น เพราะผู้คนหนีไปเสพข้อมูลบนโลกออนไลน์แทบจะทั้งหมดแล้ว การทำธุรกิจบนเส้นทางนี้จึงไม่ต่างจากการวิ่งฝ่าทางวิบาก ที่ต้องยอมรับว่า “โหดร้าย” มากๆ เลยทีเดียว แต่สำหรับต้า เขายังคงมองว่าเป็นความโหดร้ายที่น่าลิ้มลอง
“ยิ่งโลกอันโหดร้ายของวงการเพลง ผมจะยิ่งสนุกมาก (ยิ้มอย่างสะใจ) และยิ่งสนุกเข้าไปอีกตรงที่ว่าเราได้เอา 2 อย่างที่มันยากมารวมกัน รู้สึกว่า เฮ้ย! มันท้าทายดีนะ เพราะมันไม่มีอะไรจะเสียอยู่แล้ว มีแต่ศูนย์ ถ้าเกิดมีอะไรงอกขึ้นมาจากศูนย์มันก็จะเป็นบวกทันที
คือต้องยอมรับว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นศูนย์ อาจจะถึงขั้นติดลบ (ยิ้ม) แต่ว่าเรามั่นใจอยู่แล้วว่าที่เป็นศูนย์นี่ ยังไงก็มีแต่จะบวกขึ้นมาแน่นอน เพราะในเส้นทางที่รถไม่ติดเลย พอเรามองโลกนี้ที่เขาไปแออัดกันอยู่ในสายที่มันเป็นธุรกิจมากๆ เราก็มองเห็นแล้วว่าอีกเลนหนึ่งมันโล่งมากเลย เราก็มากระโดดอยู่ในเลนนั้นดีกว่า โฟกัสไปว่าไม่ต้องเอาแฟนคลับเยอะแยะหรอก เอาประมาณหนึ่งให้พอเหมาะกับเงินที่ลงทุนไป ให้เหมาะกับจำนวนพิมพ์ แค่นั้นเองครับ
ก็ต้องดูกันต่อไปว่าผลจะออกมาเป็นยังไง ถ้าปรากฏว่ามีคนสนับสนุนน้อยมาก มันก็อาจจะดูโหดร้ายเกินไปหน่อย เพราะเราก็ไม่ได้ผลิตเยอะนะครับ ก็เลยคิดว่าไม่น่าจะขาดทุน แต่ถ้าทำออกมาแล้วไม่มีใครอุดหนุนเลย ทั้งฐานแฟนของ Music X ด้วย ก็ต้องพิจารณาดูแล้วล่ะ แสดงว่าโลกนี้มันก็โหดร้ายมากเหมือนกัน” คู่หูผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือ “Music X” พร้อมใจกันหัวเราะเบาๆ ตบท้าย ก่อนเว้นวรรคอนาคต ให้กาลเวลาเป็นผู้หาคำตอบ...
(ผสานลูกบ้าท้าทายธุรกิจดนตรีและสิ่งพิมพ์!)
สัมภาษณ์โดย ASTV ผู้จัดการ Lite
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
ข้อมูลเพิ่มเติม: แฟนเพจ “MusicXThailand” , “Tata Studio Thailand”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- อวสานนิตยสารเพลงในตำนาน... “จะอยู่รอดไหม? ถ้าอยู่เมืองไทยก็ยากนิดหนึ่ง”
มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...
Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754