กระแสรายได้ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเปิดตัวฉายแค่สองวัน หนังทำเงินไป 64 ล้านบาท (229 ล้านเยน) เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดาสำหรับงานของผู้กำกับคนนี้ อย่างไรก็ดี นอกจากเรื่องรายรับที่ถูกจับมาเป็นจุดขายอย่างหนึ่ง ผลงานชิ้นนี้ยังมีต้นทุนและต้นทางที่เชื่อได้ว่าเป็นแรงดึงดูดสำคัญซึ่งทำให้คนจำนวนไม่น้อยตีตั๋วเข้าไปชม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่รักอ่านการ์ตูนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เนื่องจากว่า “อาวร์ ลิตเติ้ล ซิสเตอร์” นั้น สร้างมาจากหนังสือการ์ตูนเรื่อง Umimachi Diary ของ “โยชิตะ อาคิมิ” ซึ่งเขียนและพิมพ์จำหน่ายมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2007 จนถึงปัจจุบัน แน่นอนว่าการที่การ์ตูนเรื่องหนึ่งจะเดินทางมาได้ต่อเนื่องยาวนานเกือบสิบปีเช่นนี้ ย่อมบ่งบอกถึงความดีงามของผลงานและฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่นระดับหนึ่ง เชื่อว่าแฟนๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง น่าจะอยากไปดูหนังที่สร้างมาจากการ์ตูนซึ่งตนติดตามอ่าน
เอาเป็นว่า ในแง่ต้นทุนที่มานั้น มีความน่าสนใจอยู่แล้ว และที่น่าสนใจยิ่งขึ้นคงจะเป็นที่ชื่อของผู้กำกับ “โคเรเอดะ ฮิโรคาสุ” ซึ่งตลอดระยะเวลากว่าสามสิบปีที่ผ่านพ้น ได้สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ในกลุ่มนักวิจารณ์และคนดูหนังเสมอมา แม้ว่ายุคแรกๆ จะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักหรือหวือหวามากในกลุ่มนักคนดูหนังในวงกว้าง แต่สังเกตว่าช่วงหลังๆ หนังของเราเริ่มได้รับการกล่าวขานถึงในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น ถ้านับกันจริงๆ ก็คงตั้งแต่เรื่อง Nobody Knows เป็นต้นมา (ก่อนหน้านั้น หนังที่ดีมากๆ ของเขาและควรหาดูให้ได้ ก็มี After Life) มาจนถึง Hana, Still Walking และที่ค่อนข้างหวือหวาหน่อยก็คือ Airdoll หนังรักที่มี “ตุ๊กตายาง” เป็นตัวหลักเดินเรื่อง ขณะที่เมื่อสองปีก่อน คนไทยเราก็คงได้ซาบซึ้งตรึงใจกันไปแล้วกับหนังครอบครัวเรื่อง Like Father, Like Son (พ่อครับ...รักผมได้ไหม) ทั้งหมดทั้งมวลนั้น บอกได้อย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “โคเรเอดะ ฮิโรคาสุ” ไม่เคยทำให้คนดูผู้ชมผิดหวัง และนักวิจารณ์ฝรั่งบางคนถึงกับส่งเสียงชมว่าเขาคือ “โอสุ แห่งยุคปัจจุบัน”
โอสุ หรือชื่อเต็ม “ยาสึจิโร่ โอสุ” คือตำนานอีกหนึ่งหน้าแห่งวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นซึ่งได้รับการยกย่องด้วยสถานะ “อาจารย์ด้านภาพยนตร์” เชื่อว่า หนึ่งในหลายๆ เหตุผลที่ทำให้มีคนชื่นชมแบบจับชื่อของโคเรเอดะไปเทียบเคียงกับโอสุ อาจเป็นลีลาการดำเนินเรื่องที่เนิบนาบแต่ซาบซึ้งประทับใจ ละเมียดละไมพิถีพิถันในการถ่ายทอดอารมณ์และเนื้อหาเรื่องราว ขณะที่งานด้านภาพก็ดูทาบทับกับเส้นทางที่ปรมาจารย์โอสุเคยสร้างไว้ มุมกล้องที่ถ่ายซึ่งรู้จักกันในคำเรียกว่า “ตาตามิ ช็อต” (Tatami Shot) เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในงานของโคเรเอดะ “ตาตามิ” เป็นคำเรียกเสื่อแบบอาสนะของญี่ปุ่น และเมื่อคำนี้ถูกนำมาใช้เป็นมุมกล้องของหนัง ไม่ว่าจะเรียกว่า “ตาตามิ ช็อต” หรือ “ตาตามิ แองเกิ้ล” (Tatami Angle) ก็ได้ความหมายเดียวกัน คือเป็นมุมกล้องระดับสายตา เหมือนมองคนนั่งสนทนากันบนเสื่อตาติมิ มุมกล้องแบบนี้ให้ความรู้สึกที่เป็นกลางและมองตัวละครในฐานะมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดาทั่วไป ไม่สูงส่ง ไม่ต่ำต้อย มีความเท่าเทียม จะอ่อนไหวหรือเข้มแข็ง จะดีงามหรือไม่ดีงาม ก็มีเหมือนๆ กัน
สำหรับงานชิ้นใหม่ของโคเรเอดะอย่าง Our Little Sister มุมกล้องแทบทั้งหมดก็เป็นมุมแบบตาติมิ ช็อต ที่ดูแล้วเท่ากับระดับสายตาของการมองตามปกติ จึงทำให้ภาพของหนังดูใกล้เคียงกับผลงานของยาสึจิโร่ โอสุ แต่นั่นยังไม่นับรวมความจริงที่ว่า เนื้อหาของ Our Little Sister เป็นหนังเชิงครอบครัว ด้วยเหตุนี้ ในความทรงจำส่วนตัวของผมนั้น ขณะดูหนังเรื่องนี้ก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงหนึ่งในมาสเตอร์พีซของโอสุ อย่างเรื่อง Tokyo Story เพียงแต่นี่อาจไม่ใช่เรื่องราวที่เกิดขึ้นในโตเกียว หากแต่เป็น “คามาคุระ” เมืองหลวงเก่าในยุคของโชกุนโยริโมโตะ มินาโมโตะ ซึ่งเป็นสมัยที่ซามูไรก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่และใช้การปกครองแบบระบบศักดินา ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า “คามาคุระ” คือเมืองซามูไรขนานแท้ แต่เมืองแห่งนี้ก็มีมุมที่สามารถเป็นโลเกชั่นให้กับหนังได้อย่างเหมาะสม ด้วยการมีซีนเนอรี่ที่สวยงาม บ้านเรือนที่พักอาศัย ไปจนถึงธรรมชาติที่มีทั้งป่าเขาลำเนาไพร มีทะเล (ที่นับเป็นอีกฉากหนึ่งสำคัญของหนัง) เรียกว่า “งดงาม” จนน่าเที่ยวชม
อย่างไรก็ตาม ขณะที่วิวทิวทัศน์ของเมืองว่างดงามแล้ว สิ่งที่สวยงามอย่างหนึ่งซึ่งปฏิเสธไม่ได้ของหนังเรื่องนี้ก็คือ ทีมนักแสดงตัวหลักทั้งสี่คน เริ่มตั้งแต่ “ฮารุกะ อายาเสะ” ดาราสาวที่คงไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวถึงความโด่งดังและเป็นที่รักของนักดูหนัง, “มาซามิ นางาซาวะ” นักแสดงผู้แจ้งเกิดอย่างเป็นที่จดจำจากหนังดังเรื่อง Nada Suo Suo (รักแรก รักเดียว รักเธอ), “คาโฮ” นักแสดงหญิงที่ได้รับคำชมว่ามีรอยยิ้มและความน่ารักดูเป็นธรรมชาติ และสุดท้าย คือ “ซึสุ ฮิโรเสะ” สาวน้อยผู้เป็นน้องสาวของดาราดังอย่าง “อลิส ฮิโรเสะ” นี่คืองานแจ้งเกิดของสาวน้อยคนนี้แบบที่จะดังไปอีกนาน ทั้งหมดนั้นมาร่วมงานกันในบทบาทของพี่น้องซึ่งสามคนแรกเป็นลูกจากแม่คนเดียวกัน แต่คนสุดท้องน้องสุดท้าย เกิดจากแม่ใหม่ที่พ่อย้ายไปอยู่ด้วยในอีกเมือง และภายหลังต่อมา เมื่อพ่อเสียชีวิต ลูกสาวสามคนเดินทางไปงานศพและได้พบกับน้องต่างแม่เป็นครั้งแรก ประเด็นคำถามที่หนังตั้งโจทย์ไว้ตั้งแต่ต้นก็คือ จะเป็นอย่างไร เมื่อลูกสาวทั้งสาม ต้องต้อนรับน้องที่เกิดจากหญิงซึ่งมาแย่งชิงพ่อของพวกเธอไป...ถ้างานชิ้นก่อนหน้าของโคเรเอดะ ออกสตาร์ทด้วยคำถามที่ว่า “พ่อครับ...รักผมได้ไหม” (Like Father, Like Son) ผลงานชิ้นใหม่นี้ก็คงจะมีปริศนาให้ค้นหาคำตอบทำนองว่า “พี่สาวคะ รักหนูได้ไหม?
แนะนำสั้นๆ สำหรับผู้ที่อาจไม่คุ้นเคยกับงานของโคเรเอดะ ฮิโรคาสุ ผมมีความเห็นว่าเขาเป็นคนที่ทำหนังเศร้าได้สวย รุ่มรวยการมองโลกแบบงดงามโดยไม่พยายามเค้นหรือยัดเยียดอารมณ์จนเกินไป งานของเขามีลักษณะการเล่าเรื่องค่อนข้างเป็นธรรมชาติ เหมือนเราดูเราเห็นชีวิตปกติทั่วไป แต่กระนั้นก็แฝงไว้ด้วยสัมผัสแห่งความรู้สึกนึกคิดที่ละเมียดละไมกับชีวิตและความคิดของตัวละคร เราอาจไม่ได้เห็นการฟูมฟายร้องห่มร้องไห้แบบถวายอารมณ์ให้กับความเศร้า แต่เราจะรับรู้และสัมผัสได้ถึงความโศกใจในเบื้องลึกของตัวละคร เช่นเดียวกันกับ Our Little Sister จริงๆ ถ้าจะทำให้ให้โศกาอาดูรแบบดราม่าน้ำตาท่วมจอกันไปเลยก็น่าจะได้ แต่โคเรเอดะกลับรักษาระดับของมันไว้เพียงในกรุ่นอายระหว่างเศร้ากับสุขแบบพอเหมาะพอดี ไม่สุขล้นจนดูลวง ไม่เศร้าสร้อยแต่ซ่อนโศก หรืออาจมองโลกแบบสวยงาม แต่ก็ไม่หลงลืมที่จะติดตามเสาะค้นความรู้สึกเศร้าลึกของตัวละคร พูดกันง่ายๆ ว่า ถ้าจะมีอะไรที่โศกแต่สวย หรือเศร้าแต่ซึ้ง สิ่งนั้นก็ควรจะนำเอาหนังของโคเรเอดะเข้าไปรวมไว้ด้วย
คล้ายๆ กับหนังของปรมาจารย์ยาสึจิโร่ โอสุ ที่พูดถึงสังคมครอบครัวญี่ปุ่น เราจะเห็นถึงความแตกร้าวซึ่งกลายเป็นรูร่องช่องโหว่ของชีวิต อันที่จริง โคเรเอดะสนใจประเด็นนี้มาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วนับตั้งแต่ Nobody Knows แม้กระทั่งหนังที่ดูเหมือนจะออกไปทางความเหงาและใช้ตัวละครคืออุปกรณ์ทางเพศอย่างตุ๊กตายาง เอาเข้าจริง เนื้อหาหลักๆ ก็พักพิงอยู่กับเรื่องการโหยหาสิ่งที่จะเติมความสมบูรณ์ให้กับชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการมีคนรัก มีครอบครัว และมีคนที่เข้าใจ พอมาถึง Like Father, Like Son ประเด็นครอบครัวก็เหมือนจะดูร้าวฉานมากยิ่งขึ้น การต้องรักคนที่เคยเลี้ยงดูมาแต่ทว่าสุดท้ายแล้ววันหนึ่งพบว่าไม่ใช่ลูกที่แท้จริงของตนเอง คำถามก็คือ คุณจะยังรักเด็กคนนั้นเหมือนกับที่เคยรักในคืนวันที่ผ่านมาได้หรือไม่ และสำหรับ Our Little Sister โคเรเอดะก็ยังปักหลักอยู่กับประเด็นความสัมพันธ์ในครอบครัวซึ่งมีปัญหาเรื่องการล่มสลายเป็นแบ็กกราวน์ฉากหลัง และรายละเอียดแวดล้อมต่างๆ ก็หนุนส่งพลังของหนังในแง่มุมนี้ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวของคุณป้าร้านอาหารประจำถิ่น หรือแม้กระทั่งผู้ชายที่คบหากับ “ซาจิ” (ฮารุกะ อายาเสะ) ก็เป็นผู้ชายที่มีครอบครัวแล้ว และนั่นก็นำไปสู่ความรู้สึกขัดแย้งบางประการตามมาสำหรับซาจิ
บทบาทของซาจิซึ่งเป็นพี่สาวคนโต ได้รับการบอกเล่าจากคำสัมภาษณ์ของโคเรเอดะว่าเป็นตัวละครที่เขาให้ความสำคัญเท่าๆ กับ “ชิสึ” น้องสาวคนเล็ก และในหนังจริงๆ เราจะเห็นบทโดดเด่นของตัวละครสองตัวนี้
“ซาจิ” นั้นตามศักดิ์ฐานะ คือพี่สาวคนโต แต่ทว่าด้วยเงื่อนไขครอบครัวที่พ่อก็ไม่อยู่ แม่ก็ไม่อยู่ ทำให้เธอแบกรับอีกบทบาทหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แม่ แต่ก็เหมือนแม่ เพราะต้องดูแลน้องๆ ถึงสองคน รวมทั้ง “ชิสึ” น้องสาวคนเล็กต่างมารดาที่เพิ่มมาอีกหนึ่งคน ในหนึ่งด้าน หนังวางตำแหน่งของซาจิคล้ายกับภาพแทนแห่งบุคลิกภาพแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม เพราะเมื่อจับไปเทียบกับพี่สาวคนรอง เราพบว่ามันแทบจะเป็นภาพแห่งความแตกต่างระหว่างของคนสองเจเนอเรชั่นก็ว่าได้ เพราะในขณะที่ซาจิดูเป็นคนที่ยึดมั่นอยู่ในธรรมเนียมเดิมๆ ขณะที่พี่สาวคนรองดูจะใช้ชีวิตแบบสาวสมัยใหม่เต็มที่ เป็นสาวออฟฟิศและคบกับผู้ชายได้อย่างอิสระแม้ว่าสุดท้ายจะจบความสัมพันธ์กับชายคนนั้นๆ ก็ตาม เมื่อพี่สาวบอกว่าอยากเก็บบ้านไว้ เธอเห็นต่างออกไปอีกด้านว่าการอยู่คอนโดมิเนียมก็ดีไปอย่าง เพราะได้เป็นอิสระ มันคือการปะทะกันระหว่างวิถีใหม่กับวิถีเก่า การที่ซาจิจะรักษาบ้านหลังเดิมไว้ ก็คงไม่ใช่เพียงเพราะผูกพันกับสิ่งที่เป็นวัตถุ หากแต่มันคือสัญลักษณ์และความหมายของการเป็นครอบครัวแบบเก่าที่บ้านคือศูนย์กลางของสมาชิก ส่วนคอนโดมิเนียมก็คือชีวิตแบบสมัยใหม่ที่ดูยังไงก็ไม่เหมือนบ้านหรืออย่างน้อยที่สุด “ขนาด” ของครอบครัวก็จำกัดและเล็กลง ถ้าบ้านคือสัญลักษณ์หนึ่งของวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ซาจิก็คือผู้ที่พยายามจะคงสิ่งนั้นไว้ เช่นเดียวกับการคงความดีงามบางอย่างไว้เมื่อถึงวาระที่ต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญ
เราจะทั้งรักและเห็นใจในสถานะและตัวตนของซาจิเป็นพิเศษ มันมีทั้งความเข้มแข็งและอ่อนไหวในตัวเธอ เราจะพบว่าเธอเหมือนพลัดตกเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ลำบากใจแบบ “ไดเล็มม่า” (Dilemma เหมือนไปขวาก็ไม่ได้ จะไปซ้ายก็ไม่ได้อีกเช่นกัน) อยู่สองสามครั้ง นับตั้งแต่เริ่มเรื่องที่ว่าจะเอาน้องสาวมาอยู่ด้วย (น้องสาวคือลูกของหญิงที่มาแย่งชิงพ่อไป แล้วเธอจะอยู่ดีหรือไม่ แต่อีกใจหนึ่งก็คำนึงเรื่องคุณธรรมและสายเลือดเดียวกัน) ไปจนถึงตอนที่ทะเลาะกับแม่เรื่องขายบ้าน หรือแม้แต่ตอนที่คนซึ่งคบหาจะพาไปอเมริกา ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยทั้งความเข้มแข็งเพื่อผ่านพ้น ดุลพินิจและวุฒิภาวะเพื่อการตัดสินใจ...
ขณะที่ฝ่ายของ “ชิสึ” แม้ดูเหมือนว่าจะไม่ต้องแบกรับอะไรนัก แต่มันมีบางอย่างที่หน่วงหนักอยู่ในความทรงจำและความรู้สึกของเธอ และเธอเป็นเพียงผู้เดียวที่ได้อยู่กับพ่อจนถึงวันที่พ่อเสียชีวิต และการมาสู่บ้านหลังนี้ของชิสึก็มีความหมายต่อพี่ทั้งสามที่เหมือนได้นำพ่อกลับบ้านมาด้วย และในฐานะของคนที่ต้องจากถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อไปอยู่บ้างหลังใหม่ สิ่งที่เหลือไว้ในความนึกคิดของชิสึ ก็ย่อมไม่ใช่สิ่งใดอื่น นอกไปจาก “ความทรงจำ”...
คืนวันอันเก่าก่อน การสูญเสีย และขาดหาย เสมือนได้กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ครอบหนังทั้งเรื่องไว้ เพราะเมื่อกาลผ่านไป สรรพสิ่งจะทิ้งไว้เพียงความทรงจำและบางสิ่งบางอย่างที่เป็นตัวแทนของวันเก่าคืนก่อน เหมือนกับที่เรามักจะมีอะไรบางอย่างที่เป็นตัวแทนแห่งความทรงจำรำลึกถึงคนบางคนเก็บไว้ อาจจะเป็นสิ่งของหรือแม้แต่การกระทำที่ทำให้เรารู้สึกเปี่ยมสุขทุกครั้งที่คิดถึง หนังจัดวาง “เรื่องราวความทรงจำ” ไว้ในแทบจะทุกอณูของหนัง ไล่ตั้งแต่ฉากต้นๆ เรื่องที่ชิสึพาสามศรีพี่น้องไปดูสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งมองเห็นทะเลกว้างๆ ที่พ่อชอบออกไปตกปลา, เหล้าบ๊วยที่ทำให้ซาจิและแม่นึกถึงยาย, ร้านอาหารของคุณป้าที่ทำให้เรื่องราวเมื่อคราวหลังครั้งยังเยาว์ของสาวๆ ย้อนคืนมาและเป็นคำบอกเล่าที่ชวนหัว, เมนูมื้อนั้นที่อากิ (พี่สาวคนที่สาม) ทำให้ชิสึได้ทาน ก็เป็นเหมือนสมบัติชิ้นสำคัญที่ยายได้เหลือไว้ให้, ปลาชิราสึแกล้มขนมปังปิ้ง ก็เป็นสิ่งที่เกาะเกี่ยวยึดโยงให้ความคำนึงคิดถึงพ่อยังคงอยู่ และเหนืออื่นใดก็คือ “ชิสึ” น้องสาวคนเล็กสุดที่พี่น้องทั้งสามคนต่างเห็นตรงกันว่าเป็นความงดงามที่พ่อได้ทิ้งไว้...ในภาพชีวิตหนึ่งภาพ อาจมีบางส่วนที่แหว่งวิ่นขาดหาย แต่นั่นคงไม่ได้หมายความว่า เราจะสูญเสียศักยภาพการมองเห็นความสวยงามของส่วนอื่นๆ ไปโดยสิ้นเชิง...
รู้สึกว่าคำสั้นๆ คำหนึ่งซึ่งซาจิพูดกับคุณลุงนั้น ฟังผิวเผินเสมือนพูดตามมารยาทว่าภาพถ่ายของคุณป้านั้นงดงามเหลือเกิน แต่นี่ก็คือการกอบเก็บรายละเอียดของหนังอีกครั้งหนึ่งเกี่ยวกับประเด็นความทรงจำ เพราะโดยคุณสมบัติพื้นฐานของภาพถ่ายนั้นคือการเก็บไว้ซึ่งความทรงจำ ผมชอบเรื่องเล่าที่ลุงเล่าเกี่ยวกับที่มาของภาพนั้น มันทำให้ภาพภาพหนึ่งมีชีวิต ความคิดคำนึง และมีความรักอยู่ในนั้น นั่นยังไม่นับรวมถ้อยคำที่น่าประทับใจในลำดับต่อมาของคุณลุงที่ว่าไว้ทำนองว่า ความทรงจำที่งดงามของชีวิตก็คือการที่เรามีโอกาสได้เห็นความงามของสิ่งที่สวยงาม
ในทำนองเดียวกันนั้น เชื่อว่า ความหลังเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นก็คงมีมุมที่อบอุ่นและสวยงามในความทรงจำของโคเรเอดะอยู่บ้าง หลายๆ จังหวะ หนังของเขาส่งผลลัพธ์แบบเดียวกับหนังของโอสุที่ชวนให้นึกสะท้อนถึงขนบประเพณีวิถีชีวิตดั้งเดิมหลายอย่างซึ่งดีงามและรอที่จะก้าวข้ามกาลเวลาด้วยการสานต่อของคนรุ่นต่อๆ ไป
การเสียชีวิตของยาย การจากไปของพ่อ และใครต่อใคร อาจเป็นการสูญเสีย แต่ไม่ใช่การสูญสิ้น เพราะจริงๆ ยังมีสิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นฝากไว้ ทั้งในวิถีชีวิต และในความทรงจำ...
ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม