"จ่าพิชิต ขจัดพาลชน” เจ้าของเว็บไซต์ drama-addict.com มาเปิดใจกับ ASTV ผู้จัดการ Live เผยข้อกล่าวหาที่ว่าหากินกับเรื่องดรามา ? สนุกกับการยุให้คนตีกัน? แล้วจริงหรือไม่ที่ว่าเขาเป็นเกย์? มีคู่ขาเป็นเจ้าของเพจชื่อดัง? ใครจะรู้บ้างว่า “จ่าพิชิต” ไม่ใช่ทหาร แต่เขาเป็นหมอ
งานนี้จ่าพิชิตมาเคลียร์ทุกคำถาม ทั้งเรื่องดรามา และเรื่องส่วนตัว บอกได้ว่าเบื้องหลังเรื่องดรามา มีแต่ตรรกะวิบัติเพี้ยนๆ ทั้งนั้น !
อยากรู้ที่มาที่ไป ทำไมคุณถึงมาทำเว็บ drama-addict.com ได้
คือทีแรกเริ่มจากการทำงานก่อน ช่วงนั้นผมเป็นหมอประจำอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ช่วงนั้นต้องอยู่เวรคนเดียวหลายเดือนโดย ไม่มีหมอคนอื่นมาช่วย หลังจากนั้นเลยมีเรื่องดรามากับผู้บังคับบัญชา พอมีประเด็นปุ๊บ ผมเลยไปตั้งกระทู้ร้องเรียนบอกว่าขาดหมออยู่คนเดียวมา 6 เดือน กลายเป็นเรื่องดรามาขึ้นมา หลังจากนั้นเขาก็ได้ส่งคนมาช่วยเยอะ ทำให้ผมพอมีเวลา ก็เลยเอาเวลาว่างมาทำเว็บไซต์นี้ ซึ่งเว็บไซต์ดรามาแอดดิคจะเป็นเกี่ยวกับเรื่อง “ตรรกะวิบัติ “ ส่วนหนึ่งเป็นจากกรณีที่ผมถกเถียงผู้บังคับบัญชา แล้วเขาใช้คำว่า “วิบัติ” ผมจึงจำฝังใจ แล้วก็เอาแรงบันดาลใจตรงนั้นมาทำเว็บไซต์
ตอนแรกคอนเซ็ปต์เว็บดรามาฯ คือ เอากระทู้ที่น่าสนใจจากเว็บพันทิปมาวางแปะไว้เฉยๆ เพราะตอนนั้นพันทิปจะมีกระทู้ที่แฉประเด็นต่างๆ น่าสนใจ ผมว่ามันสนุกเหมือนนิยายเลยอยากให้คนมาอ่าน แต่พอทำไปทำมาแล้วรู้สึกว่าบางเรื่องมันซับซ้อนจนต้องเขียนอธิบายว่ามันเป็นมาอย่างไร พอเขียนไปสักพัก คนเริ่มชอบ เลยพัฒนารูปแบบมาเป็นแบบปัจจุบัน คือเราจะเอาเนื้อหาบางส่วนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมาอธิบายเรียบเรียง แล้วอาจจะมีการขยายความเสริม
คือ ตอนแรกเราอยากนำเสนอประเด็นกระทู้น่าสนใจที่แบบมันๆ อย่างเดียว พอทำไปซักพักรู้สึกว่ามันมีประเด็นหลายอย่างที่เราสามารถนำเสนอ หรือสามารถพูดให้สังคมทำความเข้าใจได้ เช่น ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องยา เพราะพวก forward mail มักนำเสนอเรื่องสุขภาพผิดเพี้ยน
คุณเหมือนจะบอกว่าพอเว็บตัวเองเป็นกระแส คุณเลยสามารถนำเสนอประเด็นปัญหาต่างๆ หรือสร้างความเข้าใจให้แก่สังคมได้ใช่ไหม
ใช่ครับ
แต่ถ้ามองอีกด้าน บางอย่างที่คุณนำเสนอ มันก็ดูเหมือนยุให้คนตีกัน
จริงๆ ผมไม่ได้ทำให้คนตีกันนะ เพราะมันตีกันอยู่แล้ว แต่ผมเอาประเด็นที่มันตีกันมาลงว่ามันตีกันเพราะว่าอะไร เกิดจากสาเหตุอะไร ทำไมคนถึงตีกันประมาณนั้นมากกว่า
แต่บางครั้งสิ่งที่คุณโพสต์ ดูเหมือนว่าทำให้กลายเป็นดราม่าซับซ้อนกันไปใหญ่
คือ คนไทยสมัยก่อน ก่อนที่จะมีเว็บดราม่าฯ เขาจะมีทัศนคติว่าเวลาคนทะเลาะกันในอินเทอร์เน็ต จะบอกว่าอย่าทะเลาะกันเลยเราเป็นคนไทยเหมือนกัน หยุดเรื่องไว้แค่นี้ดีกว่า ซึ่งผมว่ามันเป็นอะไรที่ผิด เพราะว่ามันจะไม่ได้บทสรุป เราจะไม่รู้ว่าอะไรทำให้เกิดดราม่านั้น ไม่รู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยทำให้เกิดความขัดแย้ง และไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างไร ซึ่งผมว่าการที่จะให้มันได้บทสรุปถึงขั้นยุติความขัดแย้งได้ เราต้องทำให้เกิดดรามาก่อน คือทำให้ระเบิดเถิดเทิงไปเลย เพื่อให้แต่ละฝ่ายงัดข้อมูล หรืองัดความเห็นส่วนตัวออกมาเพื่อซัดกัน แต่ต้องมีข้อแม้ว่า ต้องมีให้สติ และไม่มีการใช้ความรุนแรง อย่างไอ้พวกการล่าแม่มด หรือการเอาข้อมูลส่วนตัวอีกฝ่ายมาประจาน ถ้ามาถึงขั้นนั้นเมื่อไร ผมจะปิด ไม่ให้มีการเปิดข้อมูลต่อ คือขอให้พูดเฉพาะความเห็น และข้อมูลที่สามารถใช้ได้เท่านั้นก็พอ
ทุกวันนี้พอพูดเรื่องประเด็นการเมืองปุ๊บ บางคนก็เอาไปบิดเบือนใส่ร้ายป้ายสีและประจานกัน อย่างล่าสุดของอาจารย์ของ มธ.คนหนึ่ง ที่มีประเด็นว่าเขาไปบอกนักศึกษาที่กำลังส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวในห้องเรียนบอกว่าอย่าส่งเสียงดัง นั่งให้เป็นที่เป็นทางหน่อย อย่านั่งพื้น ฉันไม่ได้สอนเด็กวัดนะ ปรากฏว่ามีคนเอาประเด็นนี้ไปปลุกปั่น และใส่ร้ายป้ายสีว่า อาจารย์เขาว่าเด็กวัดว่าโง่ จน อะไรพวกนั้น และไล่ล่าอาจารย์ ซึ่งผมมองว่าไม่ถูก
แล้วคิดว่าเรื่องนี้น่าจะให้บทเรียน หรือว่าสอนอะไรได้
เป็นเรื่องการนำเสนอบิดเบือนของสื่อ เพราะว่าตอนแรกที่สื่อมติชนเอาประเด็นนี้ไปนำเสนอ เขานำเสนอแบบไม่ครบรอบด้าน คือเอาไปพาดหัวข่าวว่า อาจารย์บอกว่าฉันจะไม่สอนเด็กวัด ซึ่งมันคนละอย่างกับที่อาจารย์เขาพูด ทำให้คนไปโจมตีอาจารย์ นอกจากนั้นยังเซ็นเซอร์ข้อมูลสำคัญบางอย่าง เช่น กรณีที่นักศึกษาห้องนี้กำลังตะโกนด่าอาจารย์ว่า "ไอ้เหี้ย" ซึ่งเขาก็เซ็นเซอร์ไปเลย เรื่องนี้ผมนำเสนอเรื่องดราม่าไปเมื่อ 2-3 วันก่อน ในแง่ของการบิดเบือนข้อมูลของสื่อ
ไม่กลัวสื่อว่าคุณคืนบ้างเหรอ เพราะเหมือนคุณไปด่าเขา แต่สุดท้ายคุณก็เอาข่าวเขามาเขียน มองอีกด้านก็เหมือนคุณเอาข่าวเขามาหากินเหมือนกัน
คือต้องเข้าใจว่าทุกฝ่ายมีสิทธิ์วิจารณ์ได้อยู่แล้ว ถ้าหากคนนำเสนอข่าวข้อมูลผิดเพียน เราก็ต้องวิจารณ์ แต่คุณสามารถวิจารณ์ผมได้ ถ้าผมเอาข้อมูลไปวิจารณ์ต่อแบบข้อมูลบกพร่อง เขาสามารถวิจารณ์ต่อได้เป็นทอดๆ คือ สังคมเสรีมันก็เป็นอย่างนั้น
ชอบว่าสื่อแบบนี้ กลัวสื่อเกลียดบ้างไหม
ผมไม่สนใจ เพราะไม่เกี่ยวอะไรกับวิชาชีพผม ผมก็นั่งอ่านนั่งเขียนของผมไป ใครจะเขียนว่าก็ช่างแม่ง แต่ความจริง ผมก็กัดทุกเจ้า เอเอสทีวีผมยังด่าเป็นระยะเลย (หัวเราะ)
มีเรื่องไหนที่คุณไม่เข้าใจเอเอสทีวีบ้าง
ผมก็จำไม่ได้ มันนานแล้ว คงต้องคุ้ยในเว็บดรามาฯ ที่ผมโพสต์
คุณบอกว่าบางครั้งสื่อเอาข่าวมาลงโดยข้อมูลไม่ครบถ้วน แล้วกลัวตัวเองจะเป็นอย่างนั้นบ้างไหม เพราะว่าคุณเองก็มักเอาข่าวจากสื่อต่างๆ มาแชร์ในเว็บ บางครั้งอาจกลายเป็นว่าเรานำเสนอประเด็นข่าวบิดเบือนตาม
ใช่ครับ ทุกวันนี้มีอะไรถึงต้องตรวจสอบให้ดี บางทีนำเสนอข้อมูลไป ขนาดนำมาจากสื่อเองแท้ๆ บางทียังบิดเบือนได้เลย
แต่ถ้าสมมติมันบิดเบือนมาตั้งแต่ต้นขั้ว ความรับผิดชอบอยู่ที่สื่อมากกว่าว่านำเสนอผิดเพี้ยน ล่าสุดผมก็เพิ่งแชร์ข่าวแบบนี้ไป แต่จำไม่ได้ว่าข่าวอะไร มันเยอะ บางทีความจำไม่ค่อยดี
กล้าพูดไหมว่ามีสื่อไหนที่คุณแอนตี้ แล้วคิดว่าจะไม่เอาข่าวเขามาเขียนหรือแชร์บ้าง
ไม่มีนะ ทุกวันนี้ก็แชร์หมดทุกเจ้า เช่น แนวหน้า มติชน วอยซ์ทีวี หรือของเอเอสทีวี คือ ผมนำเสนอหมด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม ถ้าเขานำเสนอข่าวที่น่าสนใจ ผมก็เอามาแชร์หมดเลย ไม่มีเลือกข้างหรอก แต่ทุกวันนี้รู้สึกว่าผมสังเกตเห็นอะไรแปลกๆ จากสื่อนะ ตั้งแต่อยู่ในกฎอัยการศึกของ คสช. จึงไม่ค่อยเห็นการนำเสนอข่าวโจมตีอีกฝ่ายแบบแรงๆ แต่ผมจะเห็นแต่ละฝ่ายพยายามนำเสนอคอนเซ็ปต์แนวคิดของตัวเอง ดูได้จากข่าวที่เขานำเสนอ
ช่วยขยายความให้ฟังหน่อย คุณคิดว่าแต่ละสื่อมีคอนเซ็ปต์แนวคิดอย่างไร
เช่นของเอเอสทีวี จะออกแนวไปแนวคอนเซอร์เวทีฟ อย่างประเด็นล่าสุด ที่มีนักศึกษาไปด่าอาจารย์มธ. เอเอสทีวีจะนำเสนอข่าวไปทางเห็นใจอาจารย์ที่เจอศิษย์ไม่มีมารยาท ศิษย์ล้างครูอะไรพวกนั้น แต่ถ้าเป็นทางวอยซ์ทีวี หรือทางมติชนเขาจะนำเสนอแนวๆ ว่า เด็กออกมาประท้วงเพื่อสิทธิเสรีภาพ คือข่าวเดียวกัน แต่มีประเด็นให้มองหลายแบบ
มีสื่อไหนที่คุณชอบมากที่สุด
ส่วนมากเป็นพวกสื่อไอทีนะ เช่น “Blognone” เพราะรูปแบบการนำเสนอค่อนข้างน่าสนใจ เพราะว่าเขามีการกรองข้อมูลด้วยตัวเอง ไม่ใช่การนำเสนอข่าวแบบที่ว่าสื่อรายงาน แต่เขาจะนำเสนอแบบ Community ของเขาคือ มีคนไปเอาข่าวน่าสนใจมานำเสนอ จากนั้นคนใน Community ของเขาก็จะตรวจสอบข่าวที่เขานำเสนอว่าถูกต้องหรือเปล่า เสนอข่าวบิดเบือนหรือเปล่า แล้วมีการนำเอาข้อมูลมาเสริม มีการถกเถียงดีเบตกัน ผมมองว่าเป็นรูปแบบการนำเสนอข่าวที่ครบวงจรมาก และมันทำให้ระบบสามารถนำเสนอข่าวไปได้เรื่อยๆ
ถ้าเป็นข่าววิทยาศาสตร์ ผมชอบอ่านข่าวแผนวิทยาศาสตร์ของเอเอสทีวีนะ รู้สึกว่าเนื้อหาน่าเชื่อถือและน่าสนใจดี อย่างปลายปี 55 มีข่าวนักฟิสิกส์ปลอมชาวรัสเซียมาหลอกขอทุนวิจัยจากวช. 4 ล้านบาท เอเอสทีวีก็เป็นเจ้าแรกที่นำเสนอข่าวนี้ (คลิกอ่านข่าวนี้ไดัที่นี่)
ส่วนสื่อการเมือง ไม่ชอบอันไหนเป็นพิเศษ ผมว่าแต่ละฝ่ายก็นำเสนอพอกัน ทุกวันนี้เวลาอ่านข่าวการเมือง ผมจะยั้งไว้ก่อน คือ ไม่เชื่อ ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตาม เพราะที่ผ่านมา ตอนเกิดภาวะวิกฤตการเมือง ผมได้บทเรียนมาก บางข่าวที่เรานำเสนอจากสื่อหรือแชร์ปุ๊ป สักพักนี่เงิบแล้ว กลายเป็นข้อมูลเท็จ คือแบบคนละเรื่องเลย ดังนั้น เรื่องการเมือง ผมจะไม่เชื่อเจ้าไหนแม้แต่เจ้าเดียว คือเราดูแค่ข้อมูลดิบ เอาข่าวของแต่ละเจ้ามาแชร์ พยายามตัดที่เป็นความเห็นส่วนตัวของนักข่าวออกไปให้หมด อาจจะบอกว่าเกิดอะไรขึ้น มีอะไร เกิดที่ไหน เมื่อไร อะไร อย่างไร แค่นั้นก็พอ
มีครั้งไหนที่คุณโพสต์แล้วรู้สึกเสียใจบ้างไหม เช่น รู้สึกว่าไม่ควรจะโพสต์เลย หรือโพสต์ไปแล้วรู้สึกทำให้สังคมมีปัญหาหรือขัดแย้งเพิ่มขึ้น
จำไม่ค่อยได้นะ แต่ผมยังไม่เห็นว่าอะไรจะเลวร้ายลง เพราะส่วนมากที่โพสต์ไปแต่ละอย่าง คนจะโวยว่าอาจทำให้ดราม่ารุนแรงมากขึ้น แต่ผมก็ไม่เห็นว่าจะรุนแรงมากขึ้น มีแต่ว่าคนบอกว่าพอโพสต์ลงไป เขาจะดูว่าดรามามันเกิดจากอะไร อย่างที่ผมบอกว่าการนำเสนอของผม มันจะมีทั้ง 2 ด้าน ทั้งแบบนำเสนอเกี่ยวกับประเด็นที่ตีกัน และผมนำเสนอสาเหตุที่เขาตีกันด้วย ส่วนมากผมจะโฟกัสไปที่อย่างหลังมากกว่า
แล้วประเด็นที่ถูกมองว่าหากินกับเรื่องดรามาล่ะ รู้สึกอย่างไร
เวลาจะพิสูจน์เองว่าผมนำเสนอเพื่ออะไร ไอ้คนที่บอกว่าหากินกับดรามา หรือหากินกับความขัดแย้งของสังคม อยากให้ดูกันว่าที่ผมนำเสนอ มันจะนำไปสู่อะไร
อยากรู้ว่าตอนนี้เว็บดรามาฯ หรือแฟนเพจของคุณ (แฟนเพจชื่อ “จ่าพิชิต ขจัดพาลชน”) มีแอดมินกี่คน มีคนช่วยหรือเปล่า
ตอนนี้มีแอดมิน 2 คน แต่เขาไม่ได้เป็นคนมาโพสต์ข้อความเหมือนผม เขาจะทำเกี่ยวกับพวกติดต่องานโฆษณา หรือเวลามีใครแจ้งเบาะแสมา หรือร้องเรียนข้อมูลอะไรมา เขาก็เป็นคนอ่านแล้วก็กรองให้ผมอีกที
ทุกวันนี้เว็บดรามาฯ ถือว่าเป็นจุดได้กำไรจากโฆษณาหรือยัง
ไม่นะ จริงๆ โฆษณานี่รายได้น้อยนะครับ เพราะว่าผมคิดค่าโฆษณาไม่กี่พันเอง แล้วเอากำไรตรงนี้ไปหมุนเป็นค่าเซิร์ฟเวอร์ ส่วนมากไม่ค่อยได้กำไร แต่ก็ถือว่าโอเค เพราะผมมีงานประจำ จึงไม่ได้ขัดสนอะไร
คุณทำงานประจำเป็นหมอ ดูเหมือนงานจะยุ่ง แล้วเอาเวลาตอนไหนมาทำเว็บนี้
ตอนผมเข้าเวร คือ เวลามีคนไข้ ผมก็จะเดินไปดูคนไข้ พอดูเสร็จก็กลับมาที่ห้อง มาพิมพ์เรื่องดรามาขึ้นเว็บ
แล้วคุณเป็นหมอด้านไหน
ผมเป็นหมอทั่วไป รักษาโรคทั่วไป
ตัวตนจริงๆ ของคุณเป็นอย่างไรกันแน่ ปากจัดเหมือนที่ชอบโพสต์ในเว็บไหม
ตัวตนชีวิตจริงกับในเพจ ก็ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ส่วนมากคนจะบอกว่าตัวจริงดูไม่ปากจัด ดูไม่หยาบคายเหมือนในเฟซบุ๊ก เพราะอยู่ในเฟซบุ๊กผมใส่เต็มที่ แต่ว่าชีวิตจริงก็ไม่ขนาดนั้น (ยิ้ม)
จำได้ไหมว่า มีครั้งไหนที่คุณโดนโจมตีเยอะที่สุด
คงเรื่องลิขสิทธิ์การ์ตูน ความจริงผมซื้อการ์ตูนลิขสิทธิ์ตลอดนะ แต่ว่าบางเรื่องผมก็ไปอ่านพวกสแกนออนไลน์ก่อน เพราะว่าผมอยู่ต่างจังหวัด มันไม่มีร้านซื้อไง แต่อ่านเสร็จ ผมก็ไปซื้ออ่านตลอดทุกเล่ม แต่คนเขาหยิบตรงนี้มาโจมตีกันใหญ่โตเลยบอกว่า คุณทำอย่างนี้มันผิด ไม่มีสิทธิที่จะมาลงเรื่องลิขสิทธิ์อะไรพวกนั้น ซึ่งผมก็ลงเฟซบุ๊กบ้าง ผมว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่คนไม่รู้จะเล่นผมประเด็นไหน เลยหยิบประเด็นนี้มาโจมตี
แล้วคิดว่าเรื่องนี้ตัวเองผิดไหม
ก็ผิดนะ แต่หลังจากนั้นผมก็พยายามที่จะเลี่ยงไม่ดูพวกนั้นแล้ว
ดูจากหน้าตาคุณแล้ว น่าจะมีเชื้อจีน คุณเป็นจีนเชื้อสายอะไร
ผมเป็นจีนแต้จิ๋ว
รู้สึกอย่างไรที่มีคนทักว่าหน้าตาคล้ายคุณสนธิ ลิ้มทองกุล
ก็ขำดีครับ คิดว่าบางทีผมอาจเป็นลูกชายที่พลัดพรากของคุณสนธิก็ได้ (หัวเราะ)
หลายคนอยากรู้เรื่องส่วนตัวของคุณ อยากรู้ว่าตอนนี้มีแฟนหรือยัง
ยังครับ ตอนนี้ยังหาอยู่
บางคนสงสัยเรื่องรสนิยมทางเพศของคุณ บ้างก็ว่าคุณเป็นเกย์ จริงหรือเปล่า
ไอ้เรื่องนี้มันเป็นข่าวลือ ผมไม่รู้มันมาจาก มีคนลือว่าผมเป็นเกย์ เป็นกิ๊กกับ “สมรัก พรรคเพื่อเก้ง” (เจ้าของเพจชื่อดัง) ผมไม่รู้ว่า ใครเป็นต้นตอข่าวลือ เรื่องนี้ไม่จริงชัวร์ๆ ผมเป็นชายแท้ๆ
แล้วความจริงความสัมพันธ์ของคุณกับ “สมรัก พรรคเพื่อเก้ง” เป็นอย่างไร
ก็คุยกัน ผมเป็นที่ปรึกษาเขาตั้งแต่เริ่มทำเพจใหม่ๆ คือเขาทำเพจแล้วมาปรึกษาว่าควรจะปรับปรุงรูปแบบการนำเสนออย่างไร ผมก็ให้คำแนะนำไปเป็นระยะ แต่ก็มีแต่คุยกันทางโทรศัพท์ บางทีมีประเด็นที่เขาถูกบังยี วรวีร์ มะกูดี ขู่จะฟ้องร้อง เขาเลยโทรมาปรึกษาผมว่าควรจะแก้ไขอย่างไร ควรจะรับมือเรื่องกฎหมายยังไง ผมก็ให้คำแนะนำไป บางครั้งก็คุยเกี่ยวกับเรื่องการทำหนังสือ เพราะว่าเขาอยากทำหนังสือ ผมก็คำแนะนำไปว่าให้มาปรึกษาสำนักพิมพ์ แล้วคิดรูปแบบเนื้อหาที่จะเขียน
มีใครหลงเชื่อข่าวลือว่าคุณเป็นเกย์ แล้วมาจีบคุณบ้างไหม
ไม่มีๆ ถ้าเพจอื่นบางทีก็มีนะ แต่เพจผมไม่มีเลย หลังไมค์มีแต่บอกว่า ช่วยกระจายข่าวความเดือดร้อนของเขาหน่อย มีแต่คนบอกว่าอยากให้เปิดประเด็นอะไรพวกนั้น แต่เรื่องส่วนตัวไม่มีคนหลังไมค์มาแม้แต่ฉบับเดียวจริงๆ คือมันเป็นคนละคอนเซ็ปต์ไง บรรยากาศเพจผมมันคล้ายๆ เพจแนวร้องทุกข์ เลยมันไม่มีคนส่งอะไรมาในเรื่องส่วนตัวอยู่แล้ว
งั้นคุณชอบสเป็กแบบไหน
อย่างไรก็ได้ หน้าตาไม่สำคัญ แต่ว่าขอให้คบกันแล้วช่วยทำมาหากินได้ประมาณนั้น คือผมชอบผู้หญิงฉลาด ขยันทำมาหากิน
นอกจากทำมาหากิน ไม่แคร์เรื่องหน้าตาแล้ว ต้องเป็นคนอย่างไร เช่น ต้องแต่งตัวเปรี้ยวๆ หรือเรียบร้อย
ผมชอบแบบหมวยๆ หน้าจีนๆ ไม่จำเป็นต้องเซ็กซี่
เป็นหมอน่าจะหาแฟนได้ง่ายๆ หรือว่ายุ่งจนไม่มีเวลาหาแฟน
มันก็ไม่เชิงนะ ผมก็มีเวลาออกกำลังกาย มีเวลาอ่านหนังสือ แต่ยังหาถูกใจไม่ได้
แอบมีเดตหรือเปล่า
มีบ้าง
เข้าข่ายเลือกได้ว่างั้นเถอะ
ไม่ใช่ๆ ไม่ใช่ว่าเลือกได้ ผมไม่ได้เดตสุ่มสี่สุ่มห้านะ เดตอยู่คนเดียว
บอกว่าเดตอยู่คนเดียว แสดงว่ายอมรับมีคนที่ดูๆ อยู่
ก็มีดูๆ อยู่บ้าง
แต่เขายังไม่ใช่ตัวจริงเหรอ
ประมาณนั้น เอ๊ย ไม่ใช่ (รีบตอบแก้ตัว) คือ เขาแค่ยังไม่ได้ยอมรับเรา
เพื่อนที่ทำเพจถูกขู่จะโดนฟ้องไปแล้ว แล้วคุณเองกลัวไหมว่าอาจจะมีคนลุกมาฟ้องคุณบ้าง
ไม่นะ ผมก็มีที่ปรึกษากฎหมายอยู่ คือเป็นทนายความที่รู้จักกัน อัยการที่รู้จักกัน มีอะไรก็ปรึกษาเขาเป็นระยะ ผมก็เอาเคสไปให้เขาฟังว่า เคสนี้เป็นอย่างนี้นะ จะมีปัญหาเรื่องกฎหมายอะไรบ้างไหม เขาก็ให้คำแนะนำ ส่วนมากเลยไม่ค่อยมีปัญหาอะไร
แสดงว่ามีแบ็กดี เลยไม่กลัว
ไม่เชิงว่าแบ็กดี คือเขาเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย แต่เราก็ศึกษาเพิ่มเติมไปด้วย ดูกฎหมายอื่นๆ ทางคอมพิวเตอร์มาอ่านว่าอะไรที่มันเข้าข่ายบ้าง อะไรที่เราสามารถวิจารณ์ได้
เห็นคุณเพิ่งออกพ็อกเกตบุ๊กใหม่กับสำนักพิมพ์ Springbooks เรื่อง “ดราม่าเอยจงซับซ้อนยิ่งขึ้น” บอกว่าอ่านเรื่องนี้จบแล้วจะเป็นจุดจบของดรามา อยากรู้ว่าเพราะอะไร
เพราะว่าดรามาที่เกิดขึ้นในเมืองไทย เกิดจาก “ตรรกะวิบัติ” คือแต่ละฝ่ายนำเสนอตรรกะวิบัติมาใช้ เพื่อให้เหตุผลของตนเป็นฝ่ายชนะอีกฝ่าย เช่น สมมุติว่าเราเถียงกันในประเด็นหนึ่ง แทนที่จะพูดเพื่อเหตุผลอันนั้น คนกลับหยิบความน่าเชื่อถือของตัวบุคคลมาโจมตีบอกว่าไอ้คนนี้ไม่น่าเชื่อถือ เพราะประวัติเก่ามันทำอย่างนี้มาก่อน ทำเรื่องไม่ดีอะไรมา เหมือนอย่างเรื่องหมอพรทิพย์ วันก่อนแกออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการชันสูตรศพ ซึ่งก็ถูกต้อง แต่ก็มีคนไม่เห็นด้วย ยกประเด็น GT200 ซึ่งเคยเป็นข้อพิพาทของแกในอดีตมาโจมตี อันนี้ก็เป็นตรรกะวิบัติชนิดหนึ่ง
ดังนั้น ดรามาในเมืองไทยที่เกิดขึ้นร้อยทั้งร้อยเกิดจากความเห็น เช่น การตัดข้อมูลบางส่วนมาบิดเบือน แล้วนำเสนอแบบมุมที่ตัวเองต้องการประมาณนั้น หนังสือเรื่องนี้จะให้คนเข้าใจว่าดรามาเกิดอย่างไร และสามารถแก้รูปแบบการถกเถียงไม่ให้เป็นดรามาได้อย่างไร
จากที่อ่านหนังสือของคุณ เห็นคุณนำเสนอหลายตรรกะวิบัติที่คนไทยชอบใช้ อยากรู้ว่าตรรกะวิบัติอะไรที่คุณเพลียใจที่สุด
คือ การตัดเนื้อหาบางส่วนมาแบบเข้าข้างตัวเอง หรือยกแค่บางประโยคที่ตัวเองต้องการขึ้นมา แล้วก็บิดเบือนเนื้อหาทั้งใจความนั้น เพื่อเอาเนื้อหาที่ตัวเองบิดเบือนมาใช้ประโยชน์ในการอภิปราย ซึ่งอันนี้เป็นรูปแบบที่สื่อปัจจุบันใช้เยอะมาก อย่างที่ผมเล่ากรณีเรื่องอาจารย์มธ. อันนั้นชัดเจนว่าเขาเอาคำมาบิดพลิ้ว แค่คำเดียว แค่ประโยคเดียวเอง แต่ทำให้เนื้อหามันไปคนละทิศคนละทางเลย
แล้วตรรกะวิบัติไหนที่คุณชอบมากที่สุด
ถ้าเอาแบบที่ผมชอบจริงๆ นะ มันจะเป็นตรรกะวิบัติแบบเหมารวม ยกตัวอย่างเช่น ตรรกะที่เกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมศีลธรรมของคนไทยแบบเหมารวม เช่นว่า เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ มีจริยธรรม ศีลธรรมอันดีงาม
อย่างดรามาล่าสุด มีประเด็นเรื่องดาราหนังโป๊ของญี่ปุ่นที่ทำกิจกรรมการกุศลทุกปี โดยให้ผู้ชายมาจับนมเขาแล้วบริจาคเงินการกุศล เพื่อต่อต้านการระบาดของเชื้อเอชไอวีในประเทศเขา คนก็มาถกเถียงกัน มาดีเบตกัน คนไทยวิจารณ์ว่าการกระทำแบบนี้เป็นการกระทำที่บัดสีบัดเถลิง ผิดจริยธรรม ศีลธรรมอันดีงามของสังคมไทย เพราะอย่างนี้ไงมันถึงมีเอดส์อะไรประมาณนั้น แต่ถ้าพอมาดูข้อเท็จจริงปรากฏว่าคนญี่ปุ่นที่ติดเชื้อเอชไอวีจริงๆ แค่หมื่นนิดๆ ในขณะที่เมืองไทยปาเข้าไป 5-6 แสนเลย มากกว่ากัน 100 เท่าได้ประมาณนั้น
คุณคิดว่าโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กมีส่วนทำให้เรื่องดราม่าเกิดขึ้นได้ง่ายๆ หรือเปล่า
คือ โซเชียลเน็ตเวิรืกทำให้คนไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจ คิดว่าจะพูดอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบ ถ้าเป็นเมื่อก่อนคนที่เล่นอินเทอร์เน็ต เขาจะมีแนวคิดอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือ อินเทอร์เน็ตเป็นอีกโลกเสมือน ซึ่งเขาสามารถทำอะไรก็ได้ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริง กับอีกคอนเซ็ปต์หนึ่งคือ อินเทอร์เน็ตก็คือชีวิตของเขา ซึ่งทำอะไรแล้วต้องมีผลตามมา ต้องรับผิดชอบผลตามกฎหมาย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ คนส่วนมากจะคิดว่าไปอีกโลกหนึ่งแล้ว เลยไม่มีอะไรต้องกังวล เรื่องนี้แก้ได้โดยบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์มากขึ้น แต่ทุกวันนี้ยังไม่ค่อยเป็นอย่างนั้นเท่าไหร่ เลยกลายเป็นปัญหาขึ้นมา
เห็นนำเสนอแต่เรื่องดราม่า เรื่องประเด็นแรงๆ ห่วงไหมว่าจะมีคนไม่ชอบ แล้วมาทำร้ายคุณ
ผมอยู่ที่ไกลอยู่แล้ว อยู่ชนบทในภาคใต้ ห่างไกลจากสังคมมาก เลยไม่ค่อยกังวลเรื่องนี้เท่าไหร่
นอกจากเว็บไซต์ แฟนเพจ และพ็อกเก็ตบุ๊คส์แล้ว วางแผนจะทำอะไรใหม่ๆ อีกหรือเปล่า เช่น รายการทีวี หรืองานอื่นๆ
ทีวีคงไม่ เพราะผมไม่มีเวลา ก็คงนำเสนอแบบนี้ไปเรื่อยๆ แล้วคงจะเขียนหนังสือต่อมาอีกหลายเล่ม เพราะผมทำกับหลายสำนักพิมพ์ อีกเล่มหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของผม เกี่ยวกับชีวิตแพทย์
สุดท้ายนี้ มีอะไรอยากบอกสังคมไทยบ้าง
ถ้าใครอ่านหนังสือเล่มนี้ (ดราม่าเอยจงซับซ้อนยิ่งขึ้น) อยากให้อ่านแยกแยะประเด็นว่าดรามาเกิดจากอะไรเป็นหลัก เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดดรามานั้นขึ้นมาอีก
ไม่ต้องห่วงว่าผมจะเสียรายได้หรอก ทุกวันนี้ตังค์พอมีใช้อยู่แล้ว ไม่มีดรามาเขียน ก็ไม่อดตายครับ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้อยากให้ดรามากันน้อยๆ แหละดีแล้ว อย่าดรามากันให้เยอะนักเลย เพราะบางเรื่องผมเขียนไปแล้วก็ไม่รู้สึกสนุกหรอก มันอนาถใจด้วยซ้ำ คือเขียนแล้วมันหดหู่ว่า ทำไมเพื่อนร่วมชาติมีตรรกะวิบัติระเบิดระเบ้อได้ขนาดนี้
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
สัมภาษณ์โดย สุพรรษา แก้วแสงธรรม
ภาพโดย ปวริศร์ แพงราช
คลิปโดย ปิยะนันท์ ขุนทอง
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754