xs
xsm
sm
md
lg

แฉยับ รถลอยฟ้าเมืองกรุง?? ห่วยเกินทน ยกให้ "แอร์พอร์ตลิงก์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นอีกระลอก หลังอดีตรองผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ สามารถ ราชพลสิทธิ์ ออกมาแจ้งเตือนถึงความปลอดภัยของ “รถไฟฟ้า แอร์พอร์ตเรลลิงก์” ที่เพิ่งเปิดมาได้เพียงไม่กี่ปี แต่พังเสียหายชำรุดทรุดโทรม ตรงนั้นพัง ตรงนี้ซ่อม ตรงโน้นเสี่ยงอันตราย จนถูกนำมาถกเถียงกันอยู่หลายครั้ง ไม่รู้จบ!!

ถึงพังแต่ยังไม่ถึงเวลาซ่อม

เพิ่งจะออกข่าวไปเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงการชี้แจงกรณีวาระการซ่อมบำรุงใหญ่ของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ หลังเหตุการณ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์เกิดกลุ่มควันท่วมขบวนรถเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา สาเหตุมาจากการขัดข้องของระบบขับเคลื่อนของรถไฟทำให้ระบบเบรกฉุกเฉินทำงานขณะวิ่งเข้าถึงชานชาลาสถานีบ้านทับช้าง ส่งผลให้ประชาชนผู้ใช้บริการบางส่วนวิตกกังวลในความปลอดภัย

วาระการชี้แจงจาก พล.อ.อ.คำรบ ลียะวณิช รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เลยต้องเกิดขึ้นมา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นอีกครั้ง โดยระบุว่า ที่ผ่านมาการซ่อมบำรุงเป็นการซ่อมตามสภาพตรวจเช็กตามเวลา ซึ่งขบวนรถทั้ง 9 ขบวนจะครบกำหนดตรวจเช็กเมื่อวิ่งได้ระยะทาง 1.2 ล้านกิโลเมตร และสามารถวิ่งเกินตามคู่มือซ่อมบำรุงรักษารถไฟฟ้าของแอร์พอร์ตลิงก์ได้อีก 10% หรือประมาณ 1.32 ล้านกิโลเมตรจึงจะต้องทำการซ่อมใหญ่ (Overhaul)

ทั้งนี้ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ยังวิ่งไม่เกินตามคู่มือ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ก็ได้มีการลดความเร็วในการวิ่งลงเพื่อความปลอดภัย พร้อมได้ประสานข้อมูลกับการรถไฟแห่งประเทศไทยในการจัดทำ TOR ว่าจะต้องซ่อมอะไรบ้าง พร้อมทั้งชี้แจงด้วยว่า ขบวนรถไฟจะเริ่มซ่อมใหญ่ในเดือนตุลาคม 2558 ภายหลังจากเซ็นสัญญาเนื่องจากต้องรออะไหล่จากทางบริษัทซีเมนส์

อย่างไรก็ดี เรื่องราวซุกใต้พรมยังคงถูกสานต่อจาก สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลังจากโพสต์ข้อมูลในเฟซบุ๊กส่วนตัว "ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์" เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ประเด็น “เปิด “จุดอันตราย” บนแอร์พอร์ตลิงก์” โดยขอยกประเด็นมาบางส่วน ดังนี้

“วันนี้ (16 ส.ค.57) ผมขอแสดงตัวอย่างให้เห็นถึง “จุดอันตราย” บางจุดบนรางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่เกิดขึ้นจากการขาดการซ่อมบำรุงรักษาด้วยรูปภาพดังต่อไปนี้

1. รูปที่ 1 แสดงรูผุที่ผิวรางบริเวณทางแยกหรือทางสับหลีกของสถานีหัวหมาก ซึ่งอยู่ในขั้นวิกฤต เพราะสภาพรางเสียหายมาก จะทำให้รถไฟฟ้าทรงตัวได้ไม่ดี วิ่งไม่เรียบ ล้อไม่เกาะกับราง และขีดความสามารถในการรับน้ำหนักของรางลดน้อยลง

2. รูปที่ 2 สปริงเหล็กยึดรางบริเวณใกล้ช่วงโค้งของสถานีลาดกระบังไปสู่สถานีสุวรรณภูมิแตกหักหลายตัว ซึ่งจะทำให้รางเลื่อนหรือขยับตัวได้ทั้งแนวราบและแนวดิ่ง

ทั้งสองตัวอย่างของความเสียหายนี้อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและพนักงาน อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอาจจะร้ายแรงถึงขั้นรถไฟฟ้าตกรางได้ ซึ่งเราทุกคนไม่ต้องการให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงเช่นนี้ขึ้น ลองนึกภาพดูสิครับว่า ถ้ารถไฟฟ้าตกลงมาจากทางยกระดับสูงประมาณ 22 เมตร อะไรจะเกิดขึ้น

โดยสรุป ผมขอเสนอให้เร่งซ่อมบำรุงใหญ่โดยการเปิดประมูลให้มีการแข่งขันเพื่อคัดเลือกบริษัทที่มีประสบการณ์ด้วยราคาที่เหมาะสม หากเห็นว่าวิธีการนี้จะทำให้ล่าช้าก็ใช้วิธีพิเศษ แต่ต้องเชิญบริษัทที่มีประสบการณ์มากกว่า 1 ราย มายื่นซอง เพราะจะทำให้เกิดการแข่งขันทั้งด้านเนื้องานและราคา

คุณคิดว่าบอร์ด ร.ฟ.ท. จะมีความเห็นอย่างไรครับ”

แก้ปัญหาวัวหายล้อมคอก

อย่างไรก็ตาม ในวันถัดมา (17 สิงหาคม) ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ PR.Airport Rail Link ได้ออกมาตอบทุกข้อคำถาม ตามที่ถูกออกโรงเตือนถึงความปลอดภัย

“ตามที่เฟซบุ๊กของดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ได้กล่าวถึงกรณี เปิดจุดอันตราย บนแอร์พอร์ต ลิงก์ โดยเผยภาพจำนวน2ภาพ คือ 1) รอยสึกชำรุดที่ผิวหัวราง(ด้านข้าง)บนทาง ก่อนถึงประแจสับหลีกที่สถานีหัวหมาก และ 2) สปริงคลิปเหล็กที่หักไป(ของเครื่องยึดเหนี่ยวราง) ที่ใกล้ช่วงทางโค้งสถานีลาดกระบัง

แผนกมวลชนสัมพันธ์ได้ตรวจสอบไปยังแผนกบำรุงรักษาที่เกี่ยวข้อง และได้ข้อเท็จจริงว่า รูปภาพทั้งสองดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นจริงแต่นานมากแล้ว โดยได้สั่งการลดความเร็วรถ ช่วงก่อนเข้าประแจตัวนี้ให้เหลือ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มาตั้งแต่เริ่มตรวจพบเหตุ(ตามรูปที่ 1) จนถึงปัจจุบัน และทำการเฝ้าระวังตรวจสอบอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด (ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญโดยตรงในสาขานี้) ปรากฏว่า ตั้งแต่มีปรับลดความเร็วก่อนเข้าประแจทางหลีกนั้น ยังไม่พบการขยายตัวของรอยชำรุดเพิ่มขึ้นจากเดิม นอกจากนี้ จะมีการนำเครื่องมือซ่อมบำรุงรางจากบีทีเอส มาตรวจสอบและวินิจฉัยโดยละเอียดอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อพิจารณาวิธีการซ่อมให้เหมาะสมตามหลักวิชา

ส่วนกรณีสปริงคลิปเหล็กที่หักไป (ตามรูปที่ 2) ได้ทำการเปลี่ยนคลิปเหล็กเป็นตัวใหม่เรียบร้อยนานแล้ว จึงพร้อมใช้งานได้ตามปกติ.... ซึ่งกรณีเช่นนี้จะเปลี่ยนใหม่ทุกครั้งทันทีเมื่อมีตรวจพบตามขั้นตอนปฏิบัติ visual check ประจำวัน”

แต่นอกไปจากการแสดงความคิดเห็นเตือนภัยจากชาวโซเชียลแล้ว การโพสต์เฟซบุ๊กของ สามารถ ราชพลสิทธิ์ ก็ถูกคนบางกลุ่มออกมาตั้งป้อมโจมตีว่าเป็นการใส่ร้าย จนเจ้าตัวต้องกลับมาโพสต์เฟซบุ๊กโต้กลับอีกครั้ง พร้อมโชว์ชัดๆ อีก 3 จุดอันตราย บนแอร์พอร์ตลิงก์

“หลังจากผมโชว์ “จุดอันตราย” 2 จุด บนแอร์พอร์ตลิงก์ ด้วยรูปภาพเมื่อวันเสาร์ที่ 16 ส.ค.57 ก็มีเสียงสะท้อนมาจากผู้สนใจบางคนว่า (1) เป็นรูปจริงหรือรูปตกแต่ง (2) ขึ้นไปถ่ายรูปได้อย่างไร และ (3) เป็นรูปเก่าที่ถ่ายไว้นานแล้วหรือไม่ ผมขอตอบสั้นๆ ว่า ไม่มีเหตุผลอะไรที่ผมจะสร้างหลักฐานเท็จ เพราะผมทำเรื่องนี้ด้วยความห่วงใยในความปลอดภัยของผู้โดยสารและพนักงานของแอร์พอร์ตลิงก์ อีกทั้ง ผมต้องการให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการให้บริการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ได้รับการพัฒนาให้มีความก้าวหน้าและทันสมัย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานสำคัญของระบบราง

วันนี้ (18 ส.ค.57) ผมขอโชว์ “จุดอันตราย” อีก 3 จุด เพื่อให้ ร.ฟ.ท. เร่งแก้ไขโดยด่วน ดังนี้

1. จุดที่ 1 (ดูรูปที่ 1) รอยสึกที่หัวราง (ส่วนที่สัมผัสกับล้อ) ที่ทางสับหลีกของสถานีหัวหมาก รอยสึกเหล่านี้ถูกละเลย ไม่ทำการเจียตั้งแต่แรก ทำให้รอยสึกเพิ่มขึ้น จนอาจถึงขั้นแตกหักได้ในเวลาไม่นาน
2. จุดที่ 2 (ดูรูปที่ 2) รอยแตกแนวขวางใกล้ช่วงโค้งของสถานีลาดกระบังไปสู่สถานีสุวรรณภูมิ
3. จุดที่ 3 (ดูรูปที่ 3) แผ่นยางรองเหล็กประกับรางหลุด บริเวณสถานีลาดกระบัง เมื่อรถไฟฟ้าวิ่งผ่านที่จุดนี้ รางจะรับแรงมากกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้แตกหักได้ง่ายกว่าจุดที่แผ่นยางรองเหล็กประกับรางไม่หลุด ได้อ่านรายละเอียดเช่นนี้แล้ว ผมเข้าใจว่าเราทุกคนอยากให้ ร.ฟ.ท. เร่งทำการแก้ไขใช่ไหมครับ”

ผ่านมา 4 ปีก็ยังไร้การพัฒนา

ถึงแม้จะไม่มีประเด็นครั้งนี้เกิดขึ้น แต่ก็เชื่อว่าผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ต่างก็พอรู้ปัญหาในการใช้บริการทั้งในแง่ของอุปกรณ์ และสถานที่ ที่บางครั้งจุดบอดสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และบางปัญหาก็คาราคาซังมาตั้งแต่ครั้งเปิดใมช้บริการ ทั้งนี้ ในปี 2554 ชัยรัตน์ สงวนซื่อ ประธานบอร์ดบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ (ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น) เคยได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเกี่ยวกับปัญหาของรถไฟลอยฟ้าสายนี้ โดยสรุปออกมาเป็นปัญหา 6 ด้านดังนี้
1. ความไม่สะดวกสบายในการให้บริการ
2.ตัวรถไฟฟ้า และสถานีสกปรก
3. ไม่มีบันไดเลื่อนขึ้นสู่สถานี
4. ไม่มีเก้าอี้ให้นั่งพัก
5. ไม่มีทางเชื่อมทำให้ผู้โดยสารต้องลากกระเป๋าเดินทางข้ามทางรถไฟเพื่อขึ้นสู่สถานี
6. ระบบอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ

สอดคล้องกับความคิดของ ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องการขาดทุนของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ว่าเป็นโครงการขี่ช้างจับตั๊กแตน "รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์" เป็นโครงการระดับหมื่นล้าน ที่สูญเสียเงินงบประมาณ ตั้งแต่เปิดให้บริการปี 2553 จนถึงบัดนี้ ยังไม่มีแม้แต่วันเดียวที่มีรายได้คุ้มค่า ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานดอกเบี้ยค่าบำรุงรักษาการก่อสร้างเพิ่มเติมทางเดิน ทางเชื่อม ทางลอยฟ้า ที่ทำให้ต้องเติมเงินเข้าไปไม่จบไม่สิ้น แต่ก็ยังไม่มีคนมาใช้บริการอยู่ดี”

ทั้งนี้ ทีมงาน ASTV ผู้จัดการ Live ได้สอบถามไปยังผู้ใช้บริการท่านหนึ่งซึ่งต้องเดินทางไปยังสถานีลาดกระบังเพื่อทำงานในทุกๆ เช้า เธออธิบายให้ฟังถึงปัญหาว่า ยังคงมีปัญหาขณะใช้บริการอยู่บ้าง

“ใช้บริการมาก็ประมาณสองปีแล้วค่ะ อย่างปัญหาที่ไม่ค่อยโอเค คือบางวันรถไฟมันมาเลต เราก็ไปไม่ทันทำงาน ถ้าวันนั้นคนเยอะนี่จบเลยนะ ไม่สามารถเข้าไปเบียดกับคนอื่นได้เลย เพราะขบวนรถไฟมันก็น้อยด้วย บางเวลาคนเยอะๆ มันรับรองคนใช้ไม่เพียงพอ ส่วนอื่นก็มีประตูที่มันเปิดปิดเสียงดัง อันนี้ก็น่ากลัวอยู่เหมือนกันค่ะ ส่วนปัญหาอื่นๆ ก็ได้ยินมาบ้างแต่เราไม่ค่อยเดือดร้อนคือพวกทางเชื่อมหรือบันไดเลื่อนอันนี้มันไม่มี มันขาดการอำนวยความสะดวกหากคนที่เค้าอยากเดินทางไปสนามบิน”

น่าเสียดายตรงที่ว่า รถไฟฟ้าที่จะควรจะอำนวยความสะดวกในการเดินทางสำหรับคนที่ต้องใช้สนามบิน รวมถึงเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ กลับบริหารแบบไม่เป็นระบบ เละเทะ สูญเงินสิ้นเปลืองไปโดยใช่เหตุ ส่วนบางจุดเป็นจุดเสี่ยงอันตราย ขาดการดูแลซ่อมบำรุง จนต้องถูกเอามาแชร์เตือนภัยกันอยู่บ่อยๆ บนโลกอินเทอร์เน็ต ดังนั้น คงต้องฝากผู้เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพในเร็ววัน

เรื่องโดย ทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.srtet.co.th



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754


กำลังโหลดความคิดเห็น