xs
xsm
sm
md
lg

อวสานช่องเพลงไทย! ไม่สังกัดค่ายก็ต้องตายอย่างทรมาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลายเป็นโพสต์บนเฟซบุ๊กที่ถูกแชร์กันอย่างมากในวงการเพลงถึงการลาจากของช่องเพลง you2Play TV ซึ่งเป็นช่องเพลงที่ไม่สังกัดค่ายเพลง โดยสาเหตุนั้นมาจากโฆษณาที่ไม่ตอบรับ อย่างไรก็ตาม ช่วงหลายปีที่ผ่านมาช่องเพลงมากมายก็ทยอยปิดตัวลงสะท้อนให้เห็นถึงภาวะปัญหาบางอย่างในวงการเพลงที่ค่ายใหญ่เพียง 2 ค่าย ครองเมืองอยู่ขณะนี้

ค่ายใหญ่เพลงเห็นแต่ขาย

หลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ออกไป ผู้ที่เขียนโพสต์คือ อานนท์ ลีลาประเสริฐ อดีต Business Development director You2PlayTV ทำงานอยู่ในวงการบันเทิงในฐานะเบื้องหลังมาหลายปี กรณีการปิดตัวของช่องyou2Play TV เขาเผยว่าในช่วงแรกช่องเพลงดังกล่าวเป็นการรวมตัวของค่ายเพลงอินดี้ที่ต้องการพื้นที่รวมตัว และเริ่มต้นด้วยเว็บไซต์

“จากนั้นก็มาเปิดเป็นช่องทีวีดาวเทียมซึ่งแกรมมี่ก็เป็นค่ายใหญ่ที่ส่งเพลงมาให้เราเป็นตัวกลาง เขามองว่าเป็นการโปรโมต แต่อย่างอาร์เอสเขาจะมองว่าเพลงเป็นคอนเทนต์ของเขา ถ้าคนจะดูก็ต้องไปดูในช่องของเขา”

ทว่าจุดหนึ่งที่เขามองว่า ค่ายเพลงดูจะเน้นการขายมากเกินไปคือ การที่เอ็มวีต่างๆ เริ่มมีการโฆษณา Tie - in มีการใส่รายละเอียดของการดาวน์โหลดเพลงไว้ ทั้งที่ในระบบของต่างประเทศตามช่องเพลงจะได้รับเอ็มวีที่เป็นเวอร์ชัน clean ซึ่งหากมีรายละเอียดการดาวน์โหลดอาจใส่ไว้หลังเพลงจบ

“แต่อาร์เอสกับแกรมมี่ก็มองว่าเรื่องขายมากเกินไป เช่น ใส่ตัวดาวน์โหลดตัวใหญ่ๆ แถบ Tie - in สินค้า แล้วก็เกิดขัดแย้งที่ว่าช่องกลางเหมือนเป็นการโปรโมตเขาจนเกินไป ซึ่งปกติระบบเมืองนอกเขาต้องทำเป็นคลีนเวอร์ชัน หมายถึงดาวน์โหลดอะไรไม่มี”

การมีช่องเพลงที่สังกัดค่ายของตัวเองนั้น เขามองว่า เป็นประโยชน์กับค่ายใหญ่ที่จะใช้ในการโปรโมตเพลง แต่กลับเป็นการปิดกั้นที่ทำให้ค่ายเล็กค่ายน้อยไม่มีพื้นที่ อีกทั้งช่องเพลงที่สังกัดก็กลายเป็นเพลงที่ถูกยัดเยียดให้เท่านั้น

“สื่อของค่ายเพลง มันได้รายได้จากทางอื่นแล้วมาช่วยช่อง ถ้าไปล้วงไส้กันมาจริงๆ เจ๊งแน่นอน แล้วเขาขายรวมแพก อย่างซีรีส์ฮอร์โมนฯ ดังก็รวมกับอันอื่นแต่เราไม่ว่ากันนะ เพราะช่องเขาก็อยากอยู่รอด แต่ผมเชื่อว่า ถ้าสาวไส้ดูเจ๊งแน่นอน”

ช่วยเหลือกันบ้าง!

การจากไปของพื้นที่วงการเพลงอินดี้นั้น ทั้งในคลื่นวิทยุ ช่องเพลงไร้สังกัดอีก โดยกรณีที่เกิดขึ้นกับ You2Play TVปัญหาใหญ่หนึ่งคือการสำรวจ as Nelsen ที่วัดเรตติ้งทีวีดาวเทียม เขามองว่า อาจมีการสำรวจที่ไม่ยุติธรรมนัก

“ในฐานะคนทำก็คิดว่า มันน่าจะมีเรตติ้งที่มากกว่านี้น่ะครับ คิดว่ามันมีความผิดพลาดที่ไหนหรือเปล่า ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจประชากรพวกนี้ แต่การสุ่มตัวอย่างโดยใช้บ็อกเพียง 1600 บ็อกมาสุ่มคนทั้งประเทศ 60 ล้านคน ผมว่ามันอาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้ง่าย”

แต่อีกประเด็นที่เขามองคือ การเป็นสื่อกลางของวงการเพลงที่หลากหลาย มีทั้งเพลงกระแส นอกกระแส หลายครั้งที่วงการเพลงต้องการสิ่งใหม่ที่เป็นมากกว่า การชี้นำจากค่ายยักษ์ที่กุมบังเหียนของทั้งประเทศไว้

“เรามีรายการเปิดตัวหน้าใหม่ ดรีมทิกเก็ต นำศิลปินอินดี้ที่ยังไม่มีสังกัดมาออก บางคนก็มีค่ายใหญ่มาทาบทามต่อ การให้พื้นที่กับศิลปินเหล่านี้มันเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาวงการเพลง”

แต่แน่นอนรัฐบาลคงไม่สนใจสนับสนุนวงการเพลง เขาเผยว่า ในต่างประเทศนั้นหลายบริษัทยังมีการลงทุนโฆษณากับช่องทีวีที่ไม่มีเรตติ้งแต่เป็นช่องทางเลือกเพื่อให้เกิดความหลากหลายในสังคมที่ต้องขับเคลื่อนไปด้วยสิ่งที่แตกต่าง

ช่องทีวีเพื่อสังคม ช่องทีวีเพื่อเด็ก ช่องทีวีสำหรับครอบครัว กระทั่งช่องทีวีความรู้ หรือช่องสำหรับดนตรี เหล่านี้คือความหลากหลายที่ควรดำรงอยู่เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับสังคม แต่ท้ายที่สุดความจริงอันน่าเศร้าก็คือ ทีมเอเยนซีที่คุมงบประมาณในการซื้อโฆษณากลับเทเม็ดเงินไปตามเรตติ้งและจ่ายให้กับช่องเล็กช่องน้อยในราคาที่ต่ำเกินกว่าจะอยู่ได้

“เราตั้งราคาเพื่อให้เราอยู่ได้ไว้ที่ 3000 บาท เขามาขอซื้อในราคา 600 ถ้าเราไม่รับก็ไม่มีรายได้ แต่รับไปเราก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน คือผมว่าเราต้องมีทางเลือกที่ทางไว้บ้าง ไม่ใช่เหลือแต่เพียง 2 ค่ายที่ยัดเยียดเพลงให้คนฟัง”

ข่าวโดยASTV ผู้จัดการ LIVE



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754


กำลังโหลดความคิดเห็น