เชลล์เผยผลสำรวจพบไทยจะขาดแคลนพลังงานร้อยละ 91 ตามด้วยเกาหลีใต้ ร้อยละ 70 ขณะที่อินเดียราคาพลังงานสูงขึ้นร้อยละ 91 ส่วนในเวียดนามน้ำจะขาดแคลนร้อยละ 89 และในอินโดนีเซียจะเจอปัญหาการขาดแคลนอาหาร ร้อยละ 86
ผลสำรวจโดยเชลล์ เผยประเทศไทย ฟิลิปปินส์และอินเดีย เป็น 3 ประเทศอันดับแรกของ 9 ประเทศในอาเซียน ที่แสดงความกังวลต่อปัญหาความต้องการใช้พลังงานในอนาคต ท่ามกลางความต้องการใช้พลังงาน น้ำและอาหารที่เพิ่มมากขึ้นให้เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจประชากรจำนวน 8,446 คน จาก 31 เมือง ใน 9 ภูมิภาค โดยหน่วยงานด้านพลังงานแห่งอนาคตของเชลล์ ร้อยละ 80 ของผู้ตอบแบบสำรวจพบว่าทุกวันนี้ความต้องการพลังงานระยะยาวในอนาคตมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องระบบการศึกษาของรัฐและค่าครองชีพเลยทีเดียว
ความกังวลเหล่านี้เพิ่มขึ้นตามความกดดันเรื่องพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ภายในปี 2030 มีการคาดการณ์ว่าความต้องการพลังงาน น้ำและอาหารบนโลกจะเพิ่มขึ้นราว ร้อยละ 40-50 พร้อมกับความต้องการและจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อแหล่งพลังงานที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตที่ใช้ในการจัดการและบำบัดน้ำเสีย น้ำใช้ในการผลิตพลังงาน ทั้งพลังงานและน้ำล้วนเป็นปัจจัยในการผลิตอาหารทั้งสิ้น
“ถึงเวลาแล้วที่คนเอเชียจะต้องตระหนักถึงปัญหาความต้องการพลังงานในอนาคต เห็นได้จากจำนวนประชากรและความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นมากในภูมิภาคนี้” นายเจเรมี่ เบ็นท์แฮ่ม รองประธานกรรมการฝ่ายสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจทั่วโลก บริษัท เชลล์ กล่าว “ภาคอุตสาหกรรม รัฐ และเอกชนควรรับผิดชอบร่วมกันมากขึ้นในการจัดหาพลังงานในอนาคตและจะต้องร่วมมือและประสานกันเพื่อตอบสนองความท้าทายดังกล่าวที่จะมีขึ้นในเร็ววันนี้”
ผู้ตอบแบบสำรวจคาดการณ์ว่าการขาดแคลนพลังงานและราคาพลังงานที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศของตน โดยเฉพาะประเด็นดังต่อไปนี้ ปัญหาการขาดแคลนพลังงานในประเทศไทย (ร้อยละ 91) และเกาหลีใต้ (ร้อยละ 70) ราคาพลังงานที่สูงขึ้นในอินเดีย (ร้อยละ 91) และสิงคโปร์ (ร้อยละ 79) ปัญหาการขาดแคลนน้ำในเวียดนาม (ร้อยละ 89) และปัญหาการขาดแคลนอาหารในอินโดนีเซีย (ร้อยละ 86)
จากการสำรวจพบว่าคนเอเชียนิยมใช้แหล่งพลังงานในอนาคตแบบผสมผสานซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์และก๊าซธรรมชาตินั้นเป็นที่นิยมใช้ในหลายประเทศ พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานในอนาคตที่แทบทุกประเทศต้องการมากที่สุด รวมทั้งสิงคโปร์ (ร้อยละ 86) ไทย (ร้อยละ 83) และอินเดีย (ร้อยละ 77) ในขณะที่ก๊าซธรรมชาตินั้นเป็นที่ต้องการมากในบรูไน (ร้อยละ 87) และเป็นที่ต้องการมากเป็นอันดับสองในสิงคโปร์ (ร้อยละ 52) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 43) และอินเดีย (ร้อยละ 43)
ผู้ตอบแบบสำรวจยอมรับว่าความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงนวัตกรรมและแรงจูงใจในการใช้พลังงานที่เผาไหม้ได้สะอาดกว่าคือปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาความต้องการพลังงานในอนาคต บทบาทของภาครัฐถูกมองว่ามีสำคัญอย่างยิ่งในหลายประเทศ ขณะที่มองว่าบทบาทของภาคเอกชนกลับมีความสำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทย