เอเอฟพี – คณะผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นเตรียมเดินทางไปยังราชอาณาจักรภูฏาน ดินแดนเล็กๆ กลางขุนเขาหิมาลัย เพื่อช่วยพัฒนาหลักเกณฑ์ในการวัดดัชนีความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness – GNH) ให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นเผยวันนี้(19)
ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มองว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product – GDP) คือดัชนีชี้วัดความก้าวหน้า แต่ภูฏานกลับให้ความสำคัญยิ่งกว่าต่อสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” และพยายามประเมินว่ากลไกที่สร้างขึ้นนี้สามารถสะท้อนระดับความสุขของพลเมืองได้มากน้อยเพียงใด
หัวใจสำคัญของดัชนีจีเอ็นเอชอยู่ที่การปกป้องสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวภูฏาน ตลอดจนส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้การพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทิมพูเกรงว่าขั้นตอนการสำรวจประชากรเพื่อวัดค่า จีเอ็นเอช อาจล้าสมัย จึงร้องขอให้ญี่ปุ่นส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยประเมินและปรับปรุงเกณฑ์ให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น
องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ซึ่งดูแลด้านการให้ความช่วยเหลือต่อต่างชาติ จะส่งนักวิจัย 3 คนซึ่งเชี่ยวชาญด้านการชี้วัดทางสังคมไปยังภูฏานในปีนี้
“นักวิจัยของเราจะสุ่มสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ภูฏานว่าจะปรับปรุงเทคนิคการทำสำรวจได้อย่างไรบ้าง” เจ้าหน้าที่ JICA ระบุ
วิสัยทัศน์ที่แตกต่างในการสร้างสมดุลระหว่างความร่ำรวยทางวัตถุและจิตใจซึ่งถูกสะท้อนผ่านดัชนีจีเอ็นเอช นอกจากจะทำให้ภูฏานได้รับเสียงชื่นชมจากทั่วโลกแล้ว ยังทำให้ดินแดนแห่งนี้กลายเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเสวนาว่าด้วยความสุข ซึ่งมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาวะจำนวนมากเดินทางไปศึกษาดูงาน
เป็นเวลาหลายร้อยปีที่ภูฏานสามารถรักษาความเป็นเอกราชและแยกตัวโดดเดี่ยวจากโลกภายนอก พลเมืองส่วนใหญ่ยังคงใช้วิธีแลกเปลี่ยนผลผลิต ขณะที่รัฐบาลมีนโยบายจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม และรักษาอัตลักษณ์ของชาวภูฏานให้คงอยู่ยั่งยืน