เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ สื่อจีนรายงาน (23 ก.พ.) ปัญหาความไม่สมดุลของจำนวนประชากรชายหญิง รวมกับปัญหาความยากจน ทำให้ปัญหา “ชายโสด” ในเขตชนบททวีความรุนแรง ค่าสินสอดพุ่งทะยานจนเจ้าบ่าวจนปัญญาจะหามาจ่าย
นายจาง หู ชาวนาในมณฑลกานซู หนึ่งในพื้นที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของจีน เพิ่งควักเงิน 170,000 หยวน หรือราว 850,000 บาท ไปใช้ในการจัดพิธีแต่งงานของลูกชาย หลังจากที่ได้จ่ายค่าสินสอดไปราว 130,000 หยวน หรือราว 650,000 บาท ทั้งที่ครอบครัวเขามีรายได้เพียง 60,000 หยวน หรือราว 350,000 บาทต่อปีเท่านั้น ทำให้เขาต้องกู้ยืมเงินมามากถึง 150,000 หยวน หรือราว 750,000 บาท
จางระบุว่า หมู่บ้านแถวนี้ยากจนมาก จนไม่มีสาวใดอยากจะแต่งงานกับชายหนุ่มที่นี่ และเมื่อยิ่งยากจนเท่าไร ค่าสินสอดก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
เมื่อจีนได้ก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก ค่าใช้จ่ายในการสมรสก็ขยับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในเขตชนบท ซึ่งมีการเรียกค่าสินสอดแพงหูฉี่ จนทำให้เจ้าบ่าวบางคนจนปัญญาจะหามาจ่าย
รายงานระบุว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อัตราค่าสินสอดได้ทวีตัวสูงขึ้นแซงหน้าการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนไปแล้ว เช่นในมณฑลกานซู เคยมีการเรียกค่าสินสอดเฉลี่ยไม่เกิน 10,000 หยวน หรือราว 50,000 บาท ก็กระโดดพุ่งเป็น 150,000 หยวน หรือราว 750,000 บาท นอกจากนี้ บางหมู่บ้านในมณฑลซันตง ยังมีการเรียกค่าสินสอดเป็นธนบัตรมูลค่าหน้่าบัตร 100 หยวน หรือราว 500 บาท กองโตที่มีน้ำหนักรวม 1.6 กิโลกรัม ซึ่งคิดเป็นเงินราว 100,000 หยวน หรือราว 500,000 บาท
ค่าใช้จ่ายในการแต่งงานของนายจาง สะท้อนปัญหาการหาคู่แต่งงานในพื้นที่ชนบท โดยรายงานระบุว่า ปัญหาความไม่สมดุลของจำนวนประชากรชายหญิง ทำให้ผู้ชายหาคู่แต่งงานได้ยากขึ้น กอปรด้วยความยากจน ก็ยิ่งทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก
รายงานการสำรวจประชากรในปี 2553 ชี้ว่า ทั่วทั้งประเทศมีอัตราการเกิดใหม่ของเด็กชายอยู่ที่ 117.9 คน ต่อเด็กหญิง 100 คน ในขณะที่ สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics of China) เผยว่า ในปี 2557 จีนมีประชากรชายมากถึง 700.79 ล้านคน เทียบกับประชากรหญิงจำนวนเพียง 667.03 คน
ศาสตราจารย์เฉิน เวยหมิน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและการพัฒนา ประจำมหาวิทยาลัยหนันไค ในนครเทียนจินชี้ว่า ค่าใช้จ่ายในการแต่งงานที่สูงขึ้นในพื้นที่ชนบท เป็นปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจแบบหนึ่ง โดยการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบท และพฤติกรรมการใช้จ่ายของเกษตรกรที่เปลี่ยนไป เป็นตัวผลักดันค่าใช้จ่ายในการแต่งงานให้สูงขึ้น โดยในอดีต ชาวบ้านมักจัดงานเลี้ยงแต่งงานที่บ้าน แต่ในปัจจุบันนิยมจัดงานเลี้ยงฯในโรงแรม และจัดขบวนแห่คู่บ่าวสาวโดยใช้รถยนต์หรูหรา นอกจากนี้ ห้องพักในเมืองยังกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการแต่งงานอีกด้วย
นอกจากนี้ความแร้นแค้นทำให้ผู้หญิงหลายคน ตัดสินใจเปลี่ยนชะตาชีวิตตนเอง หันไปแสวงหาชีวิตคู่ในเมืองที่เจริญกว่า ทำให้หมู่บ้านหลายแห่งขาดแคลนประชากรหญิง ถึงขั้นต้องซื้อ “เจ้าสาวข้ามชาติ” มาจากประเทศเวียดนาม