คำกล่าวไว้อาลัยแด่การจากไปของอาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ ผู้ให้กำเนิดแบบเรียนภาษาไทย “มานี มานะ” ไม่ทันสิ้นเสียง ก็เกิดเรื่องดราม่าขึ้นอีกแล้ว เมื่อมีผู้นำแบบเรียนมาดัดแปลงล้อเลียนเหตุการณ์ขยายภาพการ์ตูน จนทำให้เนื้อหาผิดไปจากต้นฉบับราวฟ้ากับเหว ทำให้เกิดเป็นสงครามดีเบตอันระอุเดือดผ่านโลกออนไลน์ แตกเป็น 2 ฝั่งว่า สร้างสรรค์ หรือทำลายกันแน่?
โดยสงครามคีย์บอร์ดครั้งนี้เริ่มต้นกันด้วยฝ่ายอนุรักษ์แบบเรียนมานีฉบับเดิม ที่มีเพจ “Gifmedraw” เป็นกระบอกเสียง ออกมาแชร์ภาพวาดการ์ตูนมานี พร้อมสอดแทรกเนื้อหาประณามไปยังเพจต่างๆ ที่นำบทเรียนฉบับนี้มาปรับแต่ง
“บางทีผมก็คิดเอาเองว่า การเคารพผลงานครูบาอาจารย์ ก็ไม่ควรเอาผลงานของเขามาทำลายให้เสียหายไปเรื่อยๆ แบบนี้ ถ้าคิดจะทำแบบนี้ ควรออกแบบเรื่องราว และตัวละครใหม่ให้เป็นสไตล์ของตัวเองจะดีกว่าครับ ป.ล. ถ้าผิดพลาดยังไง ก็ขออภัยด้วยครับ”
ดูเหมือนว่าบคคลที่เพจนี้พาดพิง น่าจะหมายถึงเพจ “มานีมีนม” ซึ่งมีเนื้อหา การแต่งภาพไปในแนวอนาจารลามก โดยใช้ภาพวาดหญิงสาวนุ่งนิดห่มหน่อย มาโพสต์พร้อมแนบข้อความเลียนแบบ อย่างเช่น “บทเรียน90 ที่มีชื่อว่า นมหนูไม่รู้เป็นอะไร”
ทว่า เพจที่ทำให้เกิดเรื่องถกเถียงกันหลักๆ คงไม่พ้น “มานีมีแชร์” ที่ปรับเรื่องมานีล้อเลียนการเมือง ยกตัวอย่างเช่น บทเรียนที่ 83 เป็นภาพของสุนัขชื่อเจ้าโต สวมโบลายธงชาติ ถูกมานีใช้เท้าเหยียบบนรถไฟ พร้อมโปรยข้อความในภาพว่า “แล้ว รถ ไฟ ความ เร็ว สูง กูหล่ะ” ฯลฯ จนทำสมาชิกเฟซบุ๊กมากมายร่ำลือกันหนาหู ว่าเพจนี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดง
ชาวเน็ตไม่น้อยก็ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการดึงเรื่องการเมืองมาทำให้แบบเรียนแปดเปื้อนเช่นนี้ “เราก็คิดแบบนี้เหมือนกัน เพราะไปๆ มาๆ คาแร็กเตอร์ตัวละครของอาจารย์ จากเด็กวัยใสมันกำลังเปื้อนไปด้วยความคิดสกปรกของคนอยากสร้างสงคราม” Alice Bon Bon
ด้านฝ่ายที่เห็นด้วยกับเพจ “มานีมีแชร์” หรือสนับสนุนให้มีการนำการ์ตูนมานี มาปรับแต่งล้อเลียนได้ก็ออกมาสวนว่า“ถ้าไม่มีเพจมานี มานีก็ตายคนเขียนไปเท่านั้นเอง แล้วก่อนหน้ามีเพจมานีจะมีสักกี่คนนึกถึงมานี ผมยังลืมไปแล้วเลย ไม่ว่าเขาจะสื่อออกมาแบบไหน อันนั้นแล้วแต่ผู้สร้าง แต่อย่างน้อยเขาก็ไม่ทำให้มานีตายไปพร้อมคนเขียน” Breeze'z Yuranan
และอีกหลายๆ ความคิดเห็นที่แลกหมัดเด็ดกันเอาไว้ “ก็คุณลืมเองหนิ ต่อให้ไม่มีเพจมานีมีแชร์ ผมก็ไม่เคยลืม แล้วที่ผ่านมา ผมก็หาในเน็ต ปริ้นท์ เข้าเล่มทำให้กับลูกพี่สาวของผมสองคนได้อ่านให้ผมฟังอยู่เรื่อยๆ ทุกวันนี้อ่านหนังสือได้มากกว่ารุ่นเดียวกันแล้วหล่ะครับ” Skelington Jack
“ถ้าเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงจะทำให้สิ่งนั้นเสื่อมทรามลงก็ดี ก็ไม่ต้องเปลี่ยน ปล่อยให้มันเก่าคร่ำครึ่จนหยากไย่ขึ้น รอวันทุบทิ้งเป็นซากปรักหักพังอย่างเดียวก็พอ” Thaina Yu
“เพจมานีมีแชร์ มันเอาตำรามานะมานีที่เป็นตำนานของเมืองไทย มาทำให้เสียหาย โดยยัดเยียดทัศนคติทางการเมืองของมันลงไปแบบไม่เห็นหัวอาจารย์เจ้าของผลงานตัวจริงเลยนะเว้ย การกระทำอันเลวทรามของมัน เป็นการทำให้คุณค่าของตำรามานีเสื่อมทรามลงชัดๆ” Wipon Sap-ammnuayporn
ไม่เพียงเท่านั้น ประเด็นนี้ยังเริ่มลามไหลไปถึงความเชื่อของคนไทยในเรื่องอื่นๆ อีกด้วย
“ก็เป็นซะอย่างนี้ อะไรที่เก่าแก่หน่อยก็มองว่ามันสูงส่งศักดิ์สิทธิ์ ห้ามแตะต้อง ห้ามแก้ไข ปล่อยให้มันคงอยู่อย่างนั้น ไม่ปรับให้เขากับยุคสมัย จนผู้คนหลงลืมไปว่าเราเคยมีสิ่งนั้นอยู่ ยกตัวอย่าง เช่น ประเทศญี่ปุ่น เขาปรับปรุงเครื่องแต่งกายประจำชาติอย่าง กิโมโน ให้สามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน ลองย้อนหันกลับมาดูเมืองไทย ทุกวันนี้มีคนใส่ชุดไทยในชีวิตประจำวันสักกี่คนกันเชียววะ” Thaina Yu
“ไม่ใช่แค่ชุดไทยเท่านั้น กระทั่งศิลปะนาฏศิลป์ของไทยทุกวันนี้ก็ตกที่นั่งเดียวกัน มันกำลังจะถูกลืมเลือนจากสังคมไทยอยู่รอมร่อแล้ว เพราะเราเอามันไปวางไว้บนหิ้ง ไม่ยอมเอามาปรับปรุงแก้ไข ดัดแปลง ล้อเลียน ทำซ้ำ ให้มันมีชีวิตอยู่ในโลกยุคปัจจุบัน” Kittipat tangittinunt
“ทุกวันนี้คนไทยยกวัฒนธรรม และประเพณีขึ้นหิ้งครับ ห้ามแตะต้อง ห้ามแก้ไขดัดแปลง ให้มันคงอยู่อย่างนั้น ฝุ่นจับ แล้วคนก็ลืมกันไปเอง ผมเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่นให้เห้นที่ชุดกิโมโน สามารถสร้างลวดลายต่างๆ เพื่อให้เป็นแฟชั่น แต่ชุดไทยปัจจุบัน จะมีสักกี่คนที่ใส่ออกไปเดินตามถนน” Thai Raider
อย่างไรก็ตาม กระแสวิพากษ์วิจารณ์นี้ยังคงไม่ได้บทสรุปว่าฝ่ายไหน ถูก-ผิด แต่เชื่อว่าหลายคนคงเห็นด้วยกับการนำแบบเรียนวิชาภาษาไทย มาทำเป็นเรื่องราวสร้างสรรค์สังคม เหมือนอย่างทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการนิตยสาร ADAY ที่ได้นำเรื่องราวของมานี มานะ มาถ่ายทอดเป็นบทความเรื่อง“กว่าจะเป็นมานี มานะ”
ผ่านเฟซบุ๊ก Zcongklod Bangyikhan ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวความรู้สึกของเขาที่มีแต่หนังสือเรื่อง “ทางช้างเผือก” และการพบกันครั้งวันวาน ระหว่างเขากับอาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ ตั้งแต่วินาทีแรกพบ ไปจนถึงการร่วมงานกัน ตลอดจนการต่อสู้อย่างมุ่งมั่น เพื่อให้แบบเรียนมานี มานะ กลายเป็นแบบเรียนวิชาภาษาไทย
ในฐานะคนที่เคยเติบโตมากับ “มานี มานะ” เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากอยากเห็นความทรงจำดีๆ ต้องถูกทำลาย ยิ่งท่ามกลางยุคแห่งความหลากหลายของข้อมูลข่าวสารแบบทุกวันนี้ด้วยแล้ว ก็คงต้องเลือกเอาเองว่า อยากเห็นแบบเรียนนี้ในแบบไหนมากกว่ากัน
“สร้างสรรค์ หรือทำลาย”
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากเพจ Drama-Addict
ติดตามอ่านบทความ โดย ทรงกลด บางยี่ขัน กันได้ที่เพจ Zcongklod Bangyikhan
และทางทีมข่าวขอไว้อาลัยอีกครั้งกับการจากไปของแม่พิมพ์ของเยาวชนไทย อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ
และทางทีมข่าวขอไว้อาลัยอีกครั้งกับการจากไปของแม่พิมพ์ของเยาวชนไทย อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ