xs
xsm
sm
md
lg

“ฆาตกรเลือดเย็น” หยุดโทษเด็ก ให้โทษผู้ใหญ่!?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อีกแล้ว!! เดี๋ยวพี่ฆ่าพ่อ เดี๋ยวน้องฆ่าแม่ เดี๋ยวฆ่าคนร่วมสายเลือดยกครัว... ไม่น่าเชื่อว่าโศกนาฏกรรม “ลูกฆ่าพ่อแม่พี่น้อง” จะมีให้เห็นในระยะเวลาไล่เลี่ยกันขนาดนี้ ชวนให้คนในสังคมตั้งคำถามด้วยความรู้สึกเจ็บปวดภายในใจว่า เกิดอะไรขึ้นกับคำว่า “ครอบครัว” ในยุคสมัยนี้




สารภาพ เหตุเพราะ “น้อยใจ”
“รับสารภาพว่า ร่วมกับเพื่อนชายคนสนิทวางแผนฆาตกรรมสมาชิกในครอบครัวตัวเอง เนื่องจากเจ็บแค้นที่พ่อแม่รักพี่ชายมากกว่า ประกอบกับอยากครอบครองมรดกมูลค่ามหาศาล ทั้งที่ดินและอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงผู้เดียว และในการก่อเหตุ ได้ให้เพื่อนเป็นผู้จัดหาและจ้างวานมือปืน 2 คนมาทำงานดังกล่าว ซึ่งขณะนี้มือปืนอยู่ระหว่างหลบหนี”

นี่คือผลคดีสะเทือนขวัญครั้งล่าสุดจากปากคำของ “ลูกชายคนเล็ก” วัย 22 สืบเบื้องลึกเบื้องหลังแล้ว มองถึงแรงจูงใจ อาจเพราะความน้อยเนื้อต่ำใจ นอกจากเรื่องมรดก ยังอาจมีเรื่องความน้อยใจที่ไม่สามารถทนเป็นทหารอย่างที่พ่อต้องการได้ ในขณะที่พี่ชายรับราชการตำรวจอยู่ และพ่อเป็นข้าราชการบำนาญทหารบก จึงเกิดการเปรียบเทียบ ทั้งที่เรื่องนี้ พี่ชายและแม่ร่วมกันปิดเป็นความลับ แต่กลัวเรื่องจะแดงถึงพ่อซึ่งเป็นใหญ่ในบ้านจึงได้ลงมือฆ่าโหด

ลองมองย้อนกลับไป ก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือน เพิ่งมีคดีฆ่ายกครัวที่ปทุมธานี วางแผนอำพรางอย่างดี สุดท้ายเป็นพี่ชายคนโตของครอบครัวที่ลงมือสังหาร พ่อแม่และน้องชาย ด้วยน้ำมือของตัวเอง ด้วยข้ออ้างที่ว่า “น้อยใจ เก็บกด ถูกควบคุมจนทนไม่ไหว”

“แม่ชอบดุว่าและควบคุมต่างๆ นานา แม้แต่คอนโดฯที่พักแม่ก็ยังไปติดกล้องเพื่อตามดูพฤติกรรม วันเกิดเหตุกลับมาเที่ยวบ้านเนื่องจากพักอยู่คอนโดฯ ใกล้มหาวิทยาลัยในเมือง หลังซดเบียร์เมาได้ที่จะไปรับแฟนมาเที่ยวบ้านแต่แม่ไม่ให้ไป เกิดอาการเครียดจึงดื่มเบียร์ต่อจนเมา ไปหยิบปืนของพ่อมาจ่อยิงทีละศพ แล้วอำพรางคดี ตำรวจยังสงสัยอาจเกี่ยวโยงกับประเด็นเงินประกันชีวิตที่พ่อทำไว้จำนวนมากด้วย”

ภาพซ้ำย้ำรอยแผลให้สังคมด้วยอาชญากรรมเลือดเย็นเช่นนี้ เป็นเหมือนคลื่นลูกใหญ่ที่ปะทะเข้ามาสาดหน้าคนในสังคมจังๆ ให้ลืมตาตื่นแล้วถามตัวเองกันเสียทีว่า อะไรเป็นต้นเหตุให้ไออุ่นรักในครอบครัวเหลือเพียงคราบเลือดอันน่าสะพรึงกลัวเช่นนี้ ในฐานะนักเขียนสารคดีอิสระและผู้เขียนหนังสือ “อาชญากรเด็ก?” อรสม สุทธิสาคร มีคำอธิบายจากประสบการณ์

“เวลาเกิดกรณีแบบนี้ ด้วยความที่เราเป็นนักเขียนสารคดี เราจะเชื่อว่าชีวิตมันมีที่มาที่ไปเสมอ ถ้าอาชญากรรมนั้นไม่ได้เกิดจากการบันดาลโทสะน่ะนะคะ เพราะในบรรดาอาชญากรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการที่คนที่อยู่ในครอบครัวเดียวกันจะทำร้ายกัน ลูกจะฆ่าพ่อฆ่าแม่ มันต้องมีที่มาที่ไป เป็นจุดที่สังคมต้องเรียนรู้และรับฟังให้มาก

และสื่อเองก็ควรที่จะให้ความรู้กับคนด้วย ทุกวันนี้ สิ่งที่สื่อทำคือการห้อยโหนไปตามกระแส แล้วก็พิพากษาว่าชั่วว่าเลว มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่สื่อควรที่จะให้ความรู้กับคนว่าเรื่องราวเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาได้ยังไง เพื่อจะนำไปสู่การสะท้อน “รากของปัญหา” เพื่อนำไปสู่ทางแก้ไข ให้รู้ว่ามันมีที่มาที่ไปยังไง

อย่างในกรณีล่าสุด ส่วนตัวเชื่อว่าในสภาวะปกติที่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ที่อบอุ่น มีความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ไม่มีเด็กคนไหนหรอกนะที่จะทำแบบนี้ อย่าเพิ่งไปมองว่าเขาเลวหรือเป็นลูกทรพี ลูกอกตัญญูได้มั้ย แต่อยากให้มองเข้าไปในใจของเด็กคนนึง
คือเราไม่ได้สนับสนุนให้เด็กคนไหนทำแบบนี้นะคะ เข้าใจนะ แต่แค่อยากให้ลองมองเข้าไปในใจของเขา แล้วก็คลี่สิ่งที่อยู่ในใจเขาออกมา พี่เชื่อว่าตลอดระยะเวลาตั้งแต่เด็กมีชีวิตอยู่ในครอบครัว เด็กต้องมีความกดดันไม่น้อย ต้องมีความขมขื่น ความคับแค้นอะไรในใจ เขามีความทุกข์น่ะค่ะ สิ่งเหล่านี้เหมือนระเบิดเวลาที่อยู่ในใจเขามาตลอด จากการเลี้ยงดูที่อาจจะไม่เหมาะสม




ปืนลั่นเพราะ “บ้านร้อน”
“รักลูกไม่ถูกทาง” คือรากของปัญหาที่นักเขียนสารคดีอาชีพรายนี้วิเคราะห์เอาไว้เกี่ยวกับกรณีการ “ฆ่ายกครัว” ด้วยฝีมือคนในสายเลือดเอง เพราะบรรยากาศในบ้านเต็มไปด้วยความ “อึดอัด” แทนที่จะ “อบอุ่น” บ้านที่ควรจะ “เย็น” จึง “ร้อน” จนจุดชนวนให้เกิดอาชญากรจำเป็น “ลั่นไก” สังหารคนในบ้านยกครัว

“ส่วนตัวคิดว่าจุดนี้เป็นภาพสะท้อนของครอบครัวไทยบางอย่างนะ โดยเฉพาะครอบครัวชนชั้นกลาง เราไม่ได้ “รักลูกอย่างที่เขาเป็น” แต่ “รักลูกอย่างที่อยากให้เขาเป็น” คือเราขีดเส้นให้ลูก วางกรอบให้ลูกว่าต้องเป็นอย่างที่พ่อแม่อยากให้เป็น ซึ่งจริงๆ แล้ว ความรักของพ่อแม่ที่ถูกต้องต้องรักแบบไม่มีเงื่อนไข เป็นความรักโดยเมตตา รักแบบเข้าใจเขา สอนให้เด็กได้เรียนรู้โดยความเป็นจริง ไม่ว่าเขาจะดี-ไม่ดี ความรักของพ่อแม่ก็ไม่ควรจะมีข้อแม้

เราไม่ได้ลงไปพูดคุยกับตัวเด็กที่กระทำผิด แต่ฟังจากข้อมูลก็รับรู้ว่าพ่อของน้องเข้มงวดมาก พอมีอะไรในบ้าน แม่กับพี่ชายจะค่อนข้างปิดเงียบ ไม่บอกให้พ่อรู้ คุณพ่อของน้องเขาเข้มงวดมาก เป็นทหาร ซึ่งเด็กเขาไม่ได้อยากเป็น มันทุกข์มากนะ ให้เขาเป็นในสิ่งที่เขาไม่อยากเป็น และลึกๆ แล้ว เราก็ไม่รู้ว่าความสัมพันธ์ภายในบ้านนี้เป็นยังไง

ถ้าปกติแล้ว คุณพ่อเป็นคนเข้มงวดมาก บรรยากาศในบ้านมันคงไม่น่าจะทำให้เด็กรู้สึกสบายใจ ทั้งๆ ที่พื้นที่ของบ้านควรจะทำให้เด็กรู้สึกสบายที่สุด ในบ้านคือพื้นที่ที่คนเราควรจะเป็นตัวของตัวเองที่สุดแล้ว ถ้าเทียบกับพื้นที่ทั่วๆ ไปนะ ในบ้านควรจะเป็นพื้นที่ของคนที่พร้อมจะเข้าใจเขาจริงๆ คนที่เข้าใจเขาที่สุด อยู่แล้วรู้สึกสบาย อบอุ่น มีความสุข

เขาคงจะแบกสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่เกิดจนอายุ 20 กว่าปี แบกสิ่งเหล่านี้ ต้องอยู่ในกฎ อยู่ในระเบียบ เขาไม่เป็นตัวของตัวเอง บางทีคำพูด ท่าที หรือแม้แต่เรื่องของความสัมพันธ์ภายในครอบครัว มันจะอยู่ในลักษณะ “เย็นชา” หรือเปล่า หรือมีคำพูดที่ “รุนแรง” หรือเปล่า ทุกอย่างก็ส่งผลต่อเด็ก หรือบางทีไม่พูด แต่อาจจะมองด้วยสายตาที่ให้ความรู้สึกว่ามันไม่อุ่นน่ะค่ะ นี่เป็นภาพสะท้อนที่มองเห็นค่ะ

พี่ไม่รู้หรอกว่าเด็กๆ ในครอบครัวเขาอาจจะเกิดความรู้สึกเปรียบเทียบกันหรือเปล่า ถึงเด็กจะออกมาสารภาพว่าพ่อแม่รักพี่ชายมากกว่า ถ้าเป็นกรณีที่เด็กคิดไปเอง น้อยเนื้อต่ำใจเอง พ่อแม่ที่ใกล้ชิดลูกที่สุดและเข้าใจลูกที่สุด ถ้าเขาเปิดใจแล้วก็ฟัง พร้อมที่จะเป็นเพื่อนลูก ปัญหาแบบนี้ก็จะไม่เกิด แต่บางที พ่อแม่อาจจะไม่ทันได้คิด ซึ่งพี่คิดว่าถ้าเป็นแบบนี้ มันทำให้เด็กคิดเยอะนะ รู้สึกโดดเดี่ยว

เพราะฉะนั้น การเลี้ยงลูกแบบที่พ่อแม่ลูกสามารถเป็นเพื่อนกันได้ มีอะไรก็พูดคุยกัน สัมผัสใจกันได้ เท่าที่พี่ประเมิน บรรยากาศในบ้านนี้ คงไม่ใช่บรรยากาศของการยิ้มแย้มแจ่มใส หรือบรรยากาศของความสนุกสนาน แต่พี่คิดว่ามันน่าจะเป็นบรรยากาศของบ้านที่เครียด มันไม่สบาย





ต้องสังเกตชนวน อย่ารอให้ระเบิด!
ตรงกับความคิดเห็นของ รศ.ดร.สุณีย์ กัลยะจิตร ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยาการบริหารงานยุติธรรมและสังคม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้วิพากษ์เกี่ยวกับเรื่องการฆ่ายกครัวเอาไว้ว่ารากเหง้าของปัญหาน่าจะอยู่ที่การเลี้ยงดู

“สิ่งที่เราพบว่าเป็นปัญหามากในครอบครัวปัจจุบันคือ คือ พ่อแม่อาจตั้งความหวังกับลูกมากไป ปกติหลักการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ไม่ว่าชาติไหนก็ตาม จะมีการเลี้ยงดูอยู่ 3 ประเภท คือ 1.เลี้ยงลูกแบบปล่อยปละละเลย 2.เลี้ยงลูกแบบประชาธิปไตย และ 3.เลี้ยงลูกแบบเข้มงวดกวดขัน ซึ่งเป็นระบบการขัดเกลาทางสังคม ถ้ากวดขันมากๆ เขาก็จะแสดงพฤติกรรมรุนแรงออกมา เพราะอาจรู้สึกทับถมอยู่ในใจมาก่อนแล้ว ซึ่งถ้าเขาสะสมมากๆ ก็เหมือนระเบิดเวลารอบึ้ม”

ต้องขอเน้นย้ำว่า “บรรยากาศในบ้าน” เป็นสิ่งที่สำคัญมาก อรสม นักสารคดีบอกเอาไว้ “คนเราทุกวันนี้ไม่ค่อยมีความสุขกันนะ มันเป็นสังคมที่แก่งแย่งแข่งขันกันโดยเฉพาะในเรื่องของวัตถุหรือหน้าตาหรือเปลือก เราให้ความหมายกับชื่อเสียงเกียรติยศหรือเงินทอง แล้วเราก็เอาความสุขของเราไปผูกไว้กับสิ่งเหล่านี้ มันก็เลยเกิดการแข่งขันในความสำเร็จแบบนี้ เพราะเราให้ค่าของสิ่งที่มันเป็นเปลือกมากกว่าค่าของจิตใจ

แต่ถ้าเราเป็นครอบครัวที่ธรรมดาๆ มีความสุขแบบง่ายๆ มีความสมถะ มีความพอเพียง ให้เวลากัน มองเข้าไปในใจกัน สัมผัสใจกันได้และเข้าใจกัน มันเป็นครอบครัวที่มันยิ้มได้ หัวเราะได้นะ แล้วก็รักลูกอย่างที่เขาเป็น สบายๆ ยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น รักโดยไม่มีข้อแม้ มันก็จะไม่เกิดโศกนาฏกรรมที่น่าเศร้า เวลาเกิดอะไรตรงนี้ พี่รู้สึกว่าผู้ใหญ่ควรหันมามองตัวเองก่อน ก่อนที่จะหันมามองเด็ก เพราะเด็กแต่ละคนเป็นผลิตผลของพ่อแม่-ครอบครัวนะ เด็กจะเป็นยังไง เด็กจะมีความสุขแจ่มใสมั้ย ก็มาจากผลจากการเลี้ยงดูทั้งนั้น

ยกตัวอย่าง กรณีล่าสุดที่คุณพ่อเป็นนายทหารเก่าซึ่งเข้มงวดมากจนไม่มีสมาชิกในบ้านรายไหนกล้าขัดขืน “มันก็อาจจะเป็นไปได้ที่ทุกคนในครอบครัวอยู่ใต้อำนาจของพ่อ คนในครอบครัวอาจจะไม่สามารถหืออืออะไรได้เลย ต้องเชื่อฟังทุกอย่าง คุณแม่ก็อาจจะไม่มีสิทธิไม่มีเสียง พอแม่ไม่แข็งแรงพอ ก็อาจจะอยู่ในสภาวะทุกข์ตรม ไม่สดใส เด็กก็จะซึมซับความทุกข์ของแม่มา ทำให้เด็กมีชีวิตอยู่มาตลอดด้วยความอึดอัด คับแค้น คับข้องใจ และเขาไม่สามารถหนีไปให้พ้นจากสภาพตรงนี้ได้

จากที่เคยศึกษาตั้งแต่เคสต์ของเด็กเล็กๆ อายุ 10 ขวบ-15 ปี ที่กลายเป็น “อาชญากรเด็ก” พบว่าลึกๆ ลงไปก็ไม่ต่างกัน เด็กเหล่านี้มีความทุกข์มาก อาจจะไม่ใช้ถึงคำว่า “ป่วย” แต่มีแรงกดดันอะไรอยู่ข้างในใจ คนอื่นๆ อาจจะมองว่าเด็กที่จะทำแบบนี้ได้ต้องเป็นเด็กที่ก้าวร้าวเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วบางทีก็ไม่ใช่ แต่เด็กที่ทำอะไรแบบนี้ได้ กลับเป็นคนละเอียดอ่อนมากเกินเด็กทั่วไปด้วยซ้ำ

“บางทีก่อนเด็กจะลงมือทำอะไร มันมีเสียงร่ำไห้ มันมีเสียงร้องขอความช่วยเหลืออยู่ข้างใน มันมีความกดดันที่จะระเบิดเปรี้ยง มันมีอารมณ์อะไรเหล่านี้อยู่ แต่ว่าไม่มีใครตระหนักและมองเห็นมัน พี่ก็อยากจะบอกว่าถ้าเราเป็นพ่อแม่ เป็นญาติพี่น้อง เป็นครู ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดเด็ก เป็นญาติผู้ใหญ่ เป็นพี่ป้าน้าอา ถ้าเรามีความใส่ใจและเด็กมีที่พึ่งทางใจที่เขาสามารถพูดคุยหรือระบายได้ คล้ายๆ กับว่าให้ข้อคิด เด็กมีที่อุ่นๆ ที่เขาจะไปหาได้ พูดคุยและระบายได้ เข้าใจเขา พี่ว่าหลายๆ กรณีมันจะไม่เกิดหรอก อาชญากรรมที่ร้ายแรงแบบนี้

ทุกวันนี้เราเป็นผู้ใหญ่ เราทำหน้าที่ของเราต่อลูกหลาน เป็นผู้ใหญ่ที่ตระหนักถึงความทุกข์ของเด็กที่อยู่รอบๆ ตัวเราแล้วหรือยัง ไม่ว่าเราจะอยู่ในฐานะครูหรือญาติผู้ใหญ่ พี่คิดว่ามือของเรา ใจของเรา ที่จะเอื้อมไป พร้อมที่จะให้ความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ พี่เชื่อว่าถ้าเขามีผู้ใหญ่แบบนี้อยู่ใกล้ๆ ตัว มันอาจจะไม่เกิดกรณีเช่นนี้นะ ก็อยากให้เป็นอุทาหรณ์ของผู้ใหญ่นะ อย่าไปโทษเด็กมากเลย ผู้ใหญ่ต้องหันมามองตัวเองแล้วล่ะ เด็กเขาทุกข์ เขาต้องการที่พึ่ง ต้องการที่อุ่น ต้องการที่ร่มเย็น เขาต้องการความอบอุ่นและความเข้าใจมาก แต่บางทีเขาหามันไม่พบ

แต่ถ้าเด็กหรือเยาวชนจำต้องอยู่ในสภาวะถูกบีบบังคับโดยไม่สามารถหลีกหนีไปไหนได้ ทางออกอีกทางหนึ่งที่จะไม่ทำให้โศกนาฏกรรมแบบนี้คือ การออกไปทำกิจกรรมดีๆ และแวดล้อมด้วยเพื่อนที่ไม่ชักนำสู่วังวนนรก

“มันอาจจะไม่ง่ายหรอกที่จะจัดการกับตัวเองเพราะเขาต้องเติบโตมากับความเปราะบางและสิ่งที่เป็นบาดแผล แต่เขาต้องพยายามพาตัวเองออกมาจากจุดนั้นให้ได้ เด็กที่มีปัญหากับตัวเอง เขาคงต้องพยายามหาความสุขเล็กๆ ของเขาให้พบ บางทีเขาอาจจะยากที่จะแข็งขืนกับอะไรในบ้าน แต่เขาก็ต้องหาสิ่งที่เป็นความสุขเล็กๆ เช่น อาจจะมีกิจกรรมที่เขาชอบซักอย่างที่จะนำเขาไปสู่ความสุขได้ อย่างน้อยใน 1 ชั่วโมงที่เขาจะไม่เครียด แต่พี่ไม่คิดว่าการเล่นกีฬามันจะเป็นคำตอบได้ทั้งหมดนะ เพราะเด็กบางคนไม่ได้ชอบเล่นกีฬา ก็อาจจะเป็นการอ่านหนังสือ การเขียนระบายอารมณ์ มันก็ช่วยได้เหมือนกันนะ พูดคุยกับคนที่เขาอาจจะวางใจได้

ที่สำคัญ ตอนที่เด็กตัดสินใจทำ พี่เชื่อว่ามันต้องมีเหตุการณ์หรืออะไรสักอย่างที่ทำให้ความอดทนเขาถึงจุดระเบิด ปกติแล้ว เด็กที่เขาทำอาชญากรรมมันต้องมีจุดก่อนระเบิด จุดนั้นแหละที่คนรอบข้างต้องช่วยกันสังเกต ก่อนที่ชนวนในใจเขาจะระเบิด!

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live



ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
ลูกชายคนเล็กเปิดปากรับสารภาพ จ้างฆ่าพ่อแม่และพี่ชายตัวเอง
ปิตุฆาต-มาตุฆาต! ปัญหาเด็กที่สังคมต้องเยียวยา
คดีสะเทือนขวัญยกครัว รายล่าสุด
น้องชายผู้สังหารโหด
อีกคดี พี่ชายคนโต ผู้สังหาร



กำลังโหลดความคิดเห็น