เป็นเรื่อง! เมื่อจู่ๆ สิงคโปร์ลุกขึ้นมาจัด “สงกรานต์” ครั้งใหญ่ภายใต้ชื่อ “Celebrate Songkran 2014” ตั้งใจให้เป็นกิจกรรมเล่นน้ำเคล้าเสียงเพลงเต็มรูปแบบ มีโชว์มวยไทย แถมยังเลือกวันสาดน้ำชนกับบ้านเราคือ 12-13 เม.ย. ที่จะถึง จึงกลายเป็นดรามา “ศึกสงกรานต์” กระทรวงวัฒนธรรมขู่จะฟ้องร้อง พร้อมตั้งคำถามว่าประเทศไทยมีสิทธิ์ครอบครองประเพณีนี้ในนาม “เจ้าของ” มากน้อยแค่ไหน และทางสิงคโปร์ควรตกเป็นจำเลยในฐานะไหนมากกว่ากัน ระหว่าง “หัวขโมย” หรือ “คนช่วยโปรโมต”
ชาวไทยเดือด ออกโรงประณาม!
“ขี้ขโมย” คนไทยจำนวนไม่น้อยมอบคำนี้ให้แก่ผู้จัดอีเวนต์ชาวสิงคโปร์ไปแล้ว เมื่อเห็นว่าเทศกาล “สงกรานต์” ที่คุ้นเคยมาแต่อ้อนแต่ออก กำลังจะถูกมือดีมาหยิบยืมไปโดยไม่ได้ขออนุญาต
ส่วนผลตอบรับอีกด้านหนึ่งกลับมองต่างอย่างสุดทาง คือมองว่าความเคลื่อนไหวจากทางสิงคโปร์ในครั้งนี้ดีต่อประเทศไทยไม่ใช่น้อย เพราะถือว่าผู้จัด “ช่วยโปรโมต” ให้วัฒนธรรมที่น่าภาคภูมิใจนี้ได้เผยแพร่ออกไปในวงกว้าง และนี่คือความคิดเห็นบางส่วนที่ฝากกันเอาไว้บนโลกออนไลน์
“สมัยนี้ เขาขโมยวัฒนธรรมกันซึ่งๆ หน้าก็ได้ด้วยหรือ ทุกชาติต้องช่วยกันประณาม ไม่งั้น เดี๋ยวมีจัดงานลอยกระทงอีกก็ได้ใครจะรู้”
“จีนก๊อบแบรนด์เนม สิงคโปร์ก๊อบวัฒนธรรม อย่างไหนหน้าด้านหน้าทน น่าเกลียดกว่ากันคะ”
“งานนี้ เรามีแต่ได้กับได้ครับ แสดงว่าของเรามันดี มันเด่นจริง ไทยเองก็จัดงาน ฮัลโลวีน วาเลนไทน์ คริสต์มาส จัดงานฝรั่งเพื่อตอบสนองการท่องเที่ยวเหมือนกันนั่นแหละ สิงคโปร์จะจัดงานใหญ่สงกรานต์ ก็ถือเป็นการยกระดับประเพณีไทยให้มีความเป็นสากลมากขึ้น แถมยังโปรโมตศิลปินไทย วัฒนธรรมไทย ขายของไทยอีก อะไรจะดีปานนั้น แต่คุณก็ยังไม่พอใจอีก กลับมีแนวคิดที่แคบมาก แบบนี้สิประเทศไทยถึงไม่ไปถึงไหน เอาเลยครับ ต่างชาติ ต่างภาษา จะเอาความเป็นไทยอะไรไปใส่ ไปจัด ทำเลยครับ แต่งชุดไทยใส่สไบนอนได้ยิ่งดี เปิดใจกว้างๆ ครับ”
“ถามหน่อย คนที่บอกว่าไทยมีแต่ได้กับได้ ไทยได้ตรงไหน เอาอะไรคิดว่าไทยมีแต่ได้กับได้ สิงคโปร์นี่นะจะทำเพื่อคนอื่น”
“สิ่งดีๆ ของไทย โดนเขาแย่งเอาไปหมดละ เฮ้อ...”
“งานคริสต์มาส วาเลนไทน์ อะไรนั่นมันเป็นสากลค่ะ แต่งานสงกรานต์มันเป็นงานของประเทศไทย แต่เพียงแห่งเดียวในโลกที่เรียกว่าสงกรานต์”
“สงกรานต์เป็นวัฒนธรรมร่วมของภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ ไม่ใช่ของไทยผู้เดียวครับ เขาจะจัดก็เรื่องของเขา เราก็ยังจัดต่อได้ ไม่ใช่ปัญหา”
“สิงคโปร์ น้ำแพง กฎหมายแรง ห้ามเมาแล้วขับ ห้ามพกอาวุธ ห้ามอนาจารในที่สาธารณะ ยังไงก็สู้ไทยไม่ได้หรอกครับ”
“สิงคโปร์ต้องซื้อน้ำเล่นขันละ 18 บาทค่ะ ถ้าเปรียบเทียบกับไทยแล้วสู้ไม่ได้ค่ะ ยังไงเมืองไทยก็ขึ้นชื่อ วันสงกรานต์ เมืองไทยน่ารัก เฟรนด์ลี่ ไม่หยิ่ง ใจดี โดดเด่น อย่าไปแคร์นะพวกพี่ๆ น้องๆ ปล่อยเขาทำไป พวกไม่มีความคิด”
“ให้สิงคโปร์จัดไปเถอะ เขาจัดได้ดีกว่าไทยแน่ เพราะไม่มีพวกเปลือยนม เต้นโคโยตี้โชว์บนหลังคารถหลังจากดื่มเหล้าเข้าไปเต็มที่ ประเทศสิงคโปร์เขามีระเบียบวินัย กฎหมายเป็นกฎหมาย ไม่มีพวกเมาแล้วซ่าเหมือนประเทศต้นกำเนิด เพี้ยนไปจากประเพณีเดิมหมดแล้ว กลายเป็นงานเต้นจ้ำบ๊ะโชว์กลางงานสาดน้ำ”
“ธรรมดาของนักบริหาร เขามองเห็นโอกาสที่บ้านเราไม่สงบ เลยดึงกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวที่จะมาสงกรานต์ในไทยซะเลย งานนี้ธุรกิจท่องเที่ยวเจ็บยาว”
“ดีแล้ว คนไทยจะได้ตายน้อยลงช่วงสงกรานต์”
“เงิน จัดได้ ทุกอย่าง แต่ก็ได้แค่เปลือก แก่นแท้ของสงกรานต์จริงๆ แม้แต่คนไทยเอง หลายๆ คนยังเข้าไม่ถึงเลย โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่เห็นวัฒนธรรมเป็นแค่เรื่องท่องเที่ยว-สนุกสนาน แม้แต่เชียงใหม่วันนี้ก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว... น่าเสียดาย”
อย่างนี้ มันต้องฟ้อง!?!
ใช่แล้ว... อ่านไม่ผิด ผอ.สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์ไว้กับทางหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ว่า มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะจัดการขั้นเด็ดขาดกับผู้จัดโดยการ “ฟ้องร้อง” เสียเลย ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้มีสิทธิขาดในประเพณีสงกรานต์ ไม่มีการจดลิขสิทธิ์ใดๆ ในฐานะเจ้าของ
และถึงแม้ว่าประเพณีสงกรานต์จะเป็นวัฒนธรรมร่วมของชาวอุษาคเนย์ เช่น พม่า ลาว เวียดนาม เขมร และไทย แต่การจัดกิจกรรมของทางสิงคโปร์ในครั้งนี้อาจเข้าข่ายนำประเพณีไปบิดเบือน เพราะสงกรานต์ดั้งเดิมไม่ใช่แค่สาดน้ำ แต่เป็นการใช้น้ำเพื่อเชื่อมสัมพันธ์และแสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ
"ทางสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมกำลังดำเนินการหาช่องทางตรวจสอบทั้งข้อกฎหมายระหว่างประเทศ และรูปแบบการจัดงานในวันจริง เพื่อรวบรวมข้อมูลดำเนินการฟ้องร้องในฐานะประเทศที่มีวัฒนธรรมสงกรานต์นี้ร่วมอยู่ด้วยกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ซึ่งต้องฟ้องกับบริษัทผู้จัดงาน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถือเป็นการทำลายคุณค่าอันดีงามและย่ำยีวัฒนธรรมร่วมของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศไทยที่ผู้คนผูกพันกับประเพณีนี้มากเป็นพิเศษ" ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ผอ.สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมกล่าว
ก่อนที่เรื่องราวจะยิ่งบานปลายไปกันใหญ่ถึงขั้นขัดแย้งจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยากให้ฝ่ายที่จ้องจะฟ้องร้องประเทศเพื่อนบ้านใจเย็นๆ แล้วมองภาพให้กว้างๆ
“ตอนนี้ คนเดียวที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศสั่นคลอนได้คือประเทศไทยนะ ถ้าเราจะงอแง-หาเรื่อง ซึ่งจริงๆ แล้วเราควรจะเปิดใจกว้าง ทำงานร่วมกันไปในทางที่สร้างสรรค์ดีกว่า แทนที่จะมานั่งคิดว่า “เฮ้ย! แย่จัง มาขโมยวัฒนธรรมของเราไป” แต่เปลี่ยนเป็น “เอ้อ! ดีแล้ว ถ้ามีเรื่องอะไรไม่เข้าใจก็มาปรึกษาเรา” น่าจะเป็นมุมนี้ดีกว่า เราไม่ได้เป็นประเทศเดียวในโลกน่ะค่ะ เราอยู่ในสังคมแห่งวัฒนธรรม เรารับเอาวัฒนธรรมอื่นๆ มาตั้งเยอะ เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้เขาไปบ้าง มันน่าจะเป็นเรื่องดีมากกว่า เป็นสิ่งที่ดีที่ชาติอื่นจะหยิบไปทำต่อ
ส่วนเรื่องฟ้องร้อง คิดว่าไม่น่าจะมีเหตุผลอะไรที่จะไปฟ้องเขาได้นะคะ ถึงฟ้องได้ ก็คิดว่าไม่ใช่หน้าที่เราที่ต้องไฟฟ้องเขานะ ลองกลับมามองดู วันนี้ เราจัดงานคริสต์มาส ทำตามวัฒนธรรมเขา ทำไมฝรั่งเขาไม่เห็นมาฟ้องเราเลย ที่เราทำนั่นก็เพราะเราชอบในวัฒนธรรมนั้น เราถึงได้เอามาเติมในสังคมนั้น
มันก็เหมือนกับครั้งนี้ที่สิงคโปร์เขาจะหยิบเอาประเพณีสงกรานต์ของเรามาจัดนี่แหละค่ะ เพราะเขาชอบในวัฒนธรรมของเรา ที่จริงการเคลื่อนไหวของสิงคโปร์ในครั้งนี้น่าจะทำให้เราภาคภูมิใจนะ แต่ถ้าเขาอ้างว่าบ้านเขาจัดสงกรานต์มาแล้วเป็นเวลายาวนานกว่า 500 ปี อันนั้นสิถึงเป็นปัญหา”
สงกรานต์ต่างแดน แค่เรื่องธรรมดา
ไม่ว่าจะมองมุมไหน ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเคยทำโปรเจกต์ระหว่างประเทศเกี่ยวกับการปรับวัฒนธรรมให้เข้ากับโลกยุคปัจจุบัน (Modernization Culture) อย่างอาจารย์การดี ก็ยังมองไม่เห็นด้านลบจากกรณีที่สิงคโปร์จะจัดงานสงกรานต์ครั้งใหญ่ในบ้านของตัวเอง เพราะมองอย่างเข้าใจว่าคือการสร้างวัฒนธรรมเพื่อขาย สำหรับประเทศที่ยังสับสนในวัฒนธรรมของตัวเอง
“ประเทศสิงคโปร์เองเป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นศูนย์รวมนักท่องเที่ยวอยู่แล้วนะ แต่ในยุคประมาณปี 2 ปีให้หลังนี้ เขาเน้นการเป็นเมืองแห่งนวัตกรรมและเป็นเมืองวัฒนธรรมไปพร้อมๆ กัน เป็นเพราะเขาเป็น Cultural Country อยู่แล้ว คือมีคนหลากหลายเชื้อชาติ-ภาษา-วัฒนธรรมมากๆ ก็เลยอาจจะทำให้หาวัฒนธรรมที่แท้จริงของตัวเองไม่เจอ อย่างอาหารประจำชาติสิงคโปร์ เราอาจจะนึกไม่ออก การหยิบวัฒนธรรมของอีกชาติขึ้นมาชูเลยอาจจะเป็นทางออกหนึ่ง ถือเป็น Story Telling ของเขาอีกรูปแบบหนึ่ง
จะเห็นว่าสิงคโปร์เขาไม่มีวัฒนธรรมอะไรเป็นของตัวเองมาก เพราะฉะนั้น เขาเลยต้องสร้างขึ้นมาใหม่ และประเพณีสงกรานต์มันเป็นวัฒนธรรมของอาเซียนตอนเหนือ มันก็เป็นไปได้ที่เขาอยากจะทำให้บ้านเขาเป็น Home of Asian ส่วนตัวก็ไม่ได้รู้สึกแย่หรือคิดว่ามันเป็นการขโมยวัฒนธรรมนะคะ วัฒนธรรมมันคือสิ่งที่สามารถสร้างขึ้นได้ และถึงจะมีคนดึงวัฒนธรรมตัวนี้ไปใช้ ถ้าเราเป็นต้นแบบ มันก็เป็นของเราอยู่แล้ว อยู่ที่เราจะทำยังไงให้มี “คุณค่า” และ “ดึงดูด” คนให้เข้ามาสนใจวัฒนธรรมประเพณีเราตรงนี้ได้มากน้อยแค่ไหน
คนไทยจะติดภาพว่า “วัฒนธรรม” เป็นสิ่งที่ต้องสงวนเอาไว้ จะมีอะไรมาแตะไม่ได้ แตะนิดแตะหน่อยก็ผิดไปหมด แต่ถ้าคนที่ดูแลเรื่องวัฒนธรรมในบ้านเราจะมองใหม่ จะเห็นว่ามันคือ Modernization Culture คือการปรับวัฒนธรรมของเราให้เข้ากับวิถีชีวิตปัจจุบัน อันนี้เป็นโจทย์ที่เราจะต้องเปิดใจมองเลยค่ะ”
ผู้จัดงานอีเวนต์เทศกาลสงกรานต์ในบ้านเราเองก็ไม่ได้มองว่าความเคลื่อนไหวของสิงคโปร์ในครั้งนี้จะกระทบอะไรประเทศไทยมากมาย วิไลวรรณ ทวิชศรี รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พูดแทนได้เลยว่า ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเอามานั่งเครียด
“เท่าที่เห็น บรรดาผู้จัดงานก็ไม่ได้กังวลอะไรเท่าไหร่นะคะ แต่ข่าวที่ออกมาแล้วกลายเป็นประเด็น น่าจะเป็นกระแสในโซเชียลมีเดียและความรู้สึกของคนไทยบางส่วนมากกว่า ที่อาจจะรู้สึกว่าทำไมสิงคโปร์ออกมาทำอย่างนี้ แต่ถ้ามองกันในแง่คนจัดงานแล้ว ไม่กระทบหรอกค่ะ ปกติก่อนหน้านี้ ในต่างประเทศก็จัดสงกรานต์กันเหมือนกัน ทางสถานทูตก็จัด ชุมชนคนไทยในต่างประเทศก็มีจัดของเขาเอง ในยุโรป, อเมริกา, ออสเตรเลีย ฯลฯ มีหมดเลยค่ะ ซึ่งคนจัดงานอาจจะเป็นชาวต่างชาติมาช่วยจัดก็ได้ แต่คนอาจจะไม่รู้
เพราะฉะนั้น การจัดประเพณีไทยในต่างประเทศเลยไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย แต่เผอิญว่างวดนี้มันกลายเป็น Organizer สิงคโปร์เป็นคนจัดออกมาเพื่อผลทางด้านการค้า ทำเพื่อความบันเทิง มันก็เลยดูแปลกและกลายเป็นประเด็นขึ้นมาค่ะ
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การที่เขาจัดงานแล้วเขาจะมาเชิญชวนคนไทยให้ไปเที่ยวบ้านเขา เพราะไม่ว่าจะยังไง ประเพณีสงกรานต์ก็เป็นเรื่องวัฒนธรรม ช่วงเช้าเรายังทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ แล้วค่อยมาเล่นสงกรานต์สาดน้ำกันสนุกสนานช่วงบ่าย เพราะฉะนั้น ไม่น่าจะมีคนไทยคนไทยหรอกค่ะที่เดินทางไปเล่นน้ำที่นั่น เพราะสงกรานต์เป็นประเพณีที่เราจะกลับบ้านไปหาญาติพี่น้อง แต่เรื่องเขาวางแผนจะดึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากเราไปฝั่งสิงคโปร์หรือเปล่า อันนี้มองว่า ถ้าเราเป็นนักท่องเที่ยว เราคงอยากไปเล่นในประเทศต้นแบบมากกว่าค่ะ
และถ้ามองกันแบบแฟร์ๆ ประเพณี “ลอยกระทง” ที่มองว่าเป็นประเพณีของเรา ก็มีจัดในต่างประเทศเหมือนกัน และที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นมีชาติไหนในแถบเอเชียออกมาเคลมนะ สรุปแล้ว เกิดเหตุการณ์แบบนี้ก็ดีค่ะ จะได้ทำให้คนไทยเราตื่นตัว แต่เราไม่มองว่าเขาเป็นคู่แข่งอะไรนะคะ เราก็ยังยึดมั่นที่จะชูประเพณีสงกรานต์เพื่อเสนอขายทั้งตลอดในประเทศและต่างประเทศ และที่ทำให้ประเพณีนี้ของเราแข็งแกร่งได้ เพราะมันมีเรื่องของวัฒนธรรม เรื่องของความสนุกสนาน และมีช่วงเวลาที่แน่นอน เพราะฉะนั้น สงกรานต์ในบ้านเรายังขายได้แน่นอน”
มองดูรายละเอียดภายในงานที่กำลังจะจัดขึ้นในสิงคโปร์ในนาม “Celebrate Songkran 2014” ถ้าไม่เคยมีพื้นความรู้มาก่อนว่า “สงกรานต์” คืออะไร ก็คงเดาไม่ออกว่าประเทศไหนคือแรงบันดาลใจให้เกิดงานนี้ขึ้น เพราะชื่องานไม่มีคำว่า “Thai” ระบุเอาไว้อย่างที่ทางผู้ใหญ่ในบ้านเราเข้าใจ
ส่วนไฮไลต์ภายในงานก็แบ่งออกเป็นโซนดนตรี, ตลาดขายของแฮนด์เมด, ซุ้มเล่นเกมสำหรับเด็กและผู้ใหญ่, โซนเล่นน้ำ แถมยังมีการจัดเวทีชกมวยไทยกลางแจ้ง โดยสมาคมมวยไทยสมัครเล่นชาวสิงคโปร์ ที่พอให้เห็นถึง “ความเป็นไทย” ฝากเอาไว้อยู่บ้าง ก็คงมีแค่ชื่อเวทีผ้าใบที่บอกเอาไว้ว่าเป็น “Muaythai Exhibition Tournament” และรายนามศิลปินจากบ้านเราที่ได้รับเชิญให้ไปโชว์พลังเสียง-สเต็ปแดนซ์กันที่นั่น
คงต้องตามดูกันต่อไปว่า ระหว่าง “ประเทศผู้คุ้นชินประเพณีสงกรานต์” กับ “ประเทศมือใหม่หัดสาดน้ำ” งานนี้ จะมีใครได้-ใครเสีย...
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพและข้อมูล: แฟนเพจ Celebrate Songkran, celebratesongkran.com
ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
โลกออนไลน์ระอุ มองต่างมุม “สิงคโปร์จัดงานสงกรานต์”
“ไม่มีก็จัดได้ สิงคโปร์จัดใหญ่ “สงกรานต์ 2014”