xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ 3 แกนนำชาวนา “เรามาทวงเงินของเราคืนจากรัฐบาล!”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปมปัญหาจำนำข้าวคือปมร้อนที่รอวันปะทุของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จากนโยบายประชานิยมของชาวนา กลายเป็นนรกของความยากจนที่สร้างความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า เกิดเป็นเหตุการณ์ชุมนุมที่เหล่าชาวนาต้องวางเคียวเกี่ยวข้าวเดินทางเข้าเมืองเพื่อทวงเงินของตัวเองคืนจากลูกหนี้ที่มีชื่อว่า “รัฐบาล”

ตลอดระยะเวลาของการชุมนุมที่ผ่านมา การรวมกลุ่มเครือข่ายชาวนาจากทั่วประเทศที่ต้องทิ้งถิ่นฐานมาตามหาความจริงเบื้องหลังนโยบายที่รัฐบาลไม่ยอมเปิดเผย ความในใจของพี่น้องชาวนาที่ยังไม่ได้เงิน อุดมคติการต่อสู้ของชาวนา ทีมงาน ASTV ผู้จัดการ LIVE ลงพื้นที่พูดคุยกับ 3 แกนนำชาวนาตัวแทนจากกลุ่มก้อนที่แตกต่างกัน ทั้งชาวนาจากภาคอีสาน ชาวนาจากภาคตะวันออก จนถึงแกนนำของภาคกลาง เปิดเผยถึงเรื่องราวในแต่ละมุมของชาวนาที่อยู่เบื้องหลังการต่อสู้ครั้งนี้

ชาวนาอีสาน “แม้แต่ฐานเสียงของคุณ คุณยังทำได้ลงคอ”

600 กิโลเมตรคือระยะทางจากที่นาจังหวัดหนองบัวลำภูของ ไชยชาญ มาตา ตัวแทนชาวนาภาคอีสาน 20 จังหวัด ที่เขาเดินทางมาเพื่อร่วมชุมนุมกับกลุ่มชาวนาที่กระทรวงพาณิชย์เพื่อทวงคืนเงินค่าจำนำข้าวจากรัฐบาล ท่ามกลางกระแสข่าวต่างๆ นานา ทั้งว่า ชาวนาที่มาเป็นชาวนาปลอม ชาวนาที่ออกตัวทวงเงินจำนำข้าวไม่ใช่ชาวนาทั้งหมด เป็นเพียงเศษเสี้ยวส่วนน้อย

“ชาวนาอีสานอยากจะออกมากันหมดแต่ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยทั้งหมดที่มีอยู่ในทุกเขตจังหวัดภาคอีสานได้ให้กลุ่มของคนเสื้อแดงลงไปบล็อกไว้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไปบอกห้ามไม่ให้มา ส่วนที่มาได้คือเขาไม่กลัวตำรวจ ไม่กลัวอำนาจอิทธิพล อย่างผม ผมไม่กลัวอำนาจอิทธิพลของส.ส. พรรคเพื่อไทย ผมมาทวงสิทธิตามกฎหมาย เมื่อรัฐบาลทำให้ผมเดือดร้อนผมก็ต้องออกมา

ไชยชาญเอ่ยด้วยสีหน้าเคร่งเครียดถึงการออกมาร่วมชุมนุมของชาวนาภาคอีสาน โดยกว่า 6 เดือนที่ยังไม่ได้รับเงินจากโครงการเป็นเงินมากกว่า 6 แสนบาท เขาเห็นว่า ต้องประสานงานรวมตัวสมทบกับชาวนาภาคกลางที่ออกมาเคลื่อนไหวกันก่อนแล้ว กับข้อกล่าวหาร้ายแรงอย่างการมองว่า ชาวนาที่ออกมาร้องเรียนไม่ใช่ชาวนาจริงๆ เขาบอกเลยว่า

“ทุกคนที่มานี่ชาวนาจริงหมด ร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมมีใบประทวน ที่มาไม่มีชาวนาปลอม เป็นชาวนาแท้เลย แต่บางคนไม่มีใบประทวนเพราะเจ้าหน้าที่เรียกเก็บคืนทำให้ไม่มีหลักฐาน แต่ยังไงพวกผมก็เป็นชาวนาจริงๆ ผมจะมาปลอมเพื่อประโยชน์อะไร รัฐบาลต่างหากที่เป็นรัฐบาลปลอมอยู่ตอนนี้

เขายังระบายความอัดอั้นตันใจออกมาอีกว่า ข้อกล่าวหาเหล่านั้นเป็นสิ่งที่คนเจตนาไม่ดีที่จะใส่ร้ายป้ายสีชาวนา

“รัฐบาลชุดนี้เป็นคนที่ขาดความรับผิดชอบ ขาดจรรยาบรรณ ขาดจิตสำนึก ทำได้แม้กระทั่งคนที่เป็นฐานคะแนนให้กับตัวเอง ชาวนาทุกคนเขาเลือกคุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ เขาเลือกส.ส.เพื่อไทยทั้งนั้น วันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็ยังเลือกเพื่อไทยอยู่เพราะคุณยิ่งลักษณ์กับส.ส.ไปบอกว่า ถ้าอยากได้เงินไวก็ให้เลือกพรรคเพื่อไทย เขาไปพูดอย่างนี้เลย”

หากย้อนกลับไปช่วงที่เริ่มไม่มีการเบิกจ่ายเงินโดยอ้างว่าเงินจะออกเป็นรอบๆ แทน ภาวะความไม่มั่นใจเริ่มเกิดขึ้นในหมู่ชาวนาแล้ว กระทั่งเมื่อชาวนาบางคนสืบข่าวได้จากเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่ารัฐบาลไม่มีเงินจ่าย คาดว่าเกิดจากการทุจริตภายในโครงการ ทุกๆ อย่างก็เริ่มคลี่คลาย ไม่ใช่เพียงชาวนาอีสานเท่านั้นที่ยังไม่ได้เงิน! อย่างไรก็ตาม เขายอมรับในฐานะชาวนาว่า เห็นดีเห็นงามกับนโยบายนี้ในช่วงแรก เพราะทำให้บางคนได้เงินและมีฐานะที่ดีขึ้น แต่พอไม่ได้เงินก็เริ่มรู้แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมา

“ผมอยากฝากถึงนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีที่มีส่วนรับผิดชอบอยู่ ไม่ว่าจะรัฐมนตรีการคลังหรือกระทรวงพาณิชย์ ขอให้คืนเงินให้ชาวนา ผมไม่ได้มาไล่รัฐบาล ไม่ได้มาไล่นายกฯ แล้วก็ไม่ได้มาช่วยท่านสุเทพหรือ กปปส. พวกผมต้องการมาทวงเงินค่าข้าวเท่านั้นเอง เมื่อรัฐบาลจ่ายเงินพวกผมก็กลับ ขอให้สงสารชาวนาเถอะครับ อย่าทำกับชาวนาแบบนี้เลย

นายกสมาคมชาวนา “เห็นความเดือดร้อนของพวกเราบ้าง”

หลังจากการรวมตัวของชาวนามีความชัดเจนในการเคลื่อนไหวมากขึ้น ประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทยถือเป็นแกนนำคนสำคัญคนหนึ่งที่ผูกพันกับประเด็นข้าวไทยมาโดยตลอด ตั้งแต่การต่อสู้ในประเด็นจำนำข้าว จนถึงความเดือดร้อนระลอกล่าสุดที่เกิดขึ้นกับพี่น้องชาวนา

“เราทำตรงนี้มานานแล้ว เราช่วยเรื่องชาวบ้าน เรื่องชาวนาด้วย ทำมาตลอด งานนี้ก็ทำเพื่อเป็นการรณรงค์ด้วย เพราะชาวนาไม่ได้ตังค์ แล้วจะทำยังไงให้ชาวนาได้ตังค์ เราก็ต้องรวมเอามวลชนมา เพราะรัฐบาลมันดื้ออยู่แล้ว เราก็ต้องเอามวลชนเข้ามาเพื่อเป็นพลังอย่างหนึ่งที่จะเรียกร้องเอาเงินคืน”

ข้อครหาต่อกลุ่มการเคลื่อนไหวของชาวนามีตั้งแต่ชาวนาเป็นกลุ่มเดียวกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล จนถึงว่าชาวนาเหล่านั้นเป็นเพียงชาวนาปล่อยเช่าที่ดิน ไม่ใช่ชาวนาจริงๆ

“มองอย่างนั้นคือพวกฝ่ายรัฐบาลซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่เห็นคนเขาออกมากันจริงๆ มันเพราะเขาเดือดร้อน เขาไม่ได้เงินจากโครงการรับจำนำข้าว ก็ต้องออกมาต่อสู้เรียกร้อง พวกเราที่ออกมาก็ไม่อยากจะบอกว่า เสื้อคนละสี เพราะชาวนาเราได้ทุกสี แต่คนที่ออกมาบอกว่ามันคือเกมการเมือง หาว่าเราถูกจ้างมาหรือพูดยังไงก็ได้ เพื่อมาปลุกกระแส บิดเบือนเสีย เพื่อจะทำให้เข้าใจผิดกัน พวกเขาจงใจทำให้พวกเราแตกกันเท่านั้น

“ประเด็นคือเมื่อปัญหามันเกิดขึ้น ต้องเฉพาะคนที่ทำนาเท่านั้นเหรอที่ต้องมาช่วยแก้ มันไม่ใช่นะ ไม่ต้องทำนาก็ได้ แต่ต้องเป็นคนที่รู้ปัญหา มองเห็นและมีความจริงใจอยากจะช่วยแก้ ไม่ใช่มาคิดว่า ไม่ใช่ชาวนานี่ มาเกี่ยวอะไร นั่นเป็นการมองปัญหาแบบคนเห็นแก่ตัว เป็นคนที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคมที่เกิดขึ้น”

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงกลุ่มคนที่สนับสนุนชาวนาไม่ว่าจะเป็นกลุ่มการเมืองที่ชุมนุมอยู่ตอนนี้ หรือกลุ่มที่บริจาคเงินให้แก่ชาวนาก็ตาม

“คนเหล่านั้นเขาเห็นถึงความเดือดร้อน ความทุกข์ยาก ความลำบากของพี่น้องชาวนา คือถ้าทุกคนได้เห็นความเดือดร้อนแล้วเห็นใจชาวนา ก็อยากให้ออกมาช่วยกัน ออกมาร่วมกัน เพื่อที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อนพวกเราชาวนา

รวมตัวเครือข่ายชาวนาไทย “ชาวนาต้องเป็นอาชีพที่มีเกียรติ”

การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเรื่องเงินจำนำข้าวครั้งแรกๆ นั้น มาจากการปิดถนนที่แยกวังมะนาวจากการรวมตัวของกลุ่มชาวนาภาคตะวันออก 1 ในผู้นำการเคลื่อนไหวครั้งนั้นคือ ระวี รุ่งเรือง ประธานศูนย์ข้าวชุมนุมภาคตะวันออกที่ตอนนี้ควบตำแหน่งรักษาการประธานเครือข่ายชาวนาไทยที่จัดตั้งขึ้นสดๆ ร้อนๆ เพื่อรวมกลุ่มชาวนาทั้งหมดเคลื่อนไหวแก้ไขปัญหาเงินจำนำข้าวที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะ

โดยเส้นทางการเรียกร้องจากแยกวังมะนาวสู่กระทรวงพาณิชย์เกิดจากความไม่สนใจไยดีต่อปัญหาที่เกิดขึ้นของรัฐบาลที่ไม่มีการส่งใครที่มีอำนาจตัดสินใจได้ลงไปพูดคุยกับชาวนาเลย

หลังจากไปที่นั่นคำตอบก็เหมือนเขาวงกต ยังวนอยู่ในอ่าง ซึ่งเราเข้าใจได้ว่า ตอบได้แค่นี้ที่ไม่กล้ามาบอกก็เพราะกลัวเราจะไล่จนพูดกันไม่รู้เรื่องก็ไม่กล้ามา พอเราไปก็มีภาวะจำยอมที่จะมาพบเรา ตามที่ข่าวออกไปแล้ว เราก็ไม่ได้อะไร ไม่มีความหวังอะไรว่าเราจะได้”

ก่อนหน้าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ เขาเป็นชาวนาอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี จากพื้นเพครอบครัวที่ยึดอาชีพชาวนามาก่อน เคยรับราชการก่อนมาเป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่บ้านเกิดและประกอบธุรกิจส่วนตัว กระทั่งท้ายที่สุดก็กลับมาประกอบอาชีพชาวนา

ผมอยากทำให้อาชีพชาวนาเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ประเด็นที่สำคัญคือเราต้องมาคิดเรื่องการพัฒนาข้าว ทำให้การเป็นชาวนาเลี้ยงตัวเองได้ เลี้ยงครอบครัวได้ มิฉะนั้นคนรุ่นใหม่จะไม่เข้าสู่ภาคเกษตร พวกเขาหนีมาอยู่ในเมือง ทำงานอาชีพอื่นหมด ปัจจุบันคนแก่ปลูกข้าวเลี้ยงคนหนุ่มทั่วประเทศและทั่วโลก ดังนั้นตัวผมเองก็พยายามจะมาแก้วิกฤตตรงนี้ แต่โครงการจำนำข้าวก็ทำลายระบบนี้โดยสิ้นเชิงซึ่งเราต้องต่อสู้กันต่อไป”

โดยที่ผ่านมาระหว่างที่นโยบายจำนำข้าวดำเนินการต้องยอมรับว่า ชาวนาส่วนมากเข้าร่วม เขามองนโยบายนี้เหมือนกับนโยบายรถคันแรกที่ท้ายที่สุดแม้จะดีในช่วงแรก แต่บั้นปลายกลับไม่ยั่งยืนและได้ทำลายคุณภาพข้าวไทยที่สั่งสมจากวัฒนธรรมข้าวที่มีอยู่ไปจนหมดสิ้น

ปัจจุบันนี้ที่โครงการรับจำนำข้าวเกิดขึ้น เรียกว่า จำนำทุกเม็ด ข้าวคุณภาพต่ำคุณภาพดีเท่ากันหมด ฉะนั้นวัฒนธรรมข้าวที่ส่งเสริมกันมามันก็สูญสลายหมด นี่คือโครงการรับจำนำข้าวที่ส่งผลกระทบทั้งระยะสั้นที่ชาวนาไม่ได้รับเงิน และระยะยาวก็ยังมี”

โดยการรวมตัวของชาวนานั้น ที่ไม่สามารถออกมาทั้งหมดได้ เขาชี้ว่า มาจากโครงสร้างอำนาจรัฐยังกำกับดูแลแบบรวมศูนย์ ไม่ยอมกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น แม้จะมีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม การปกครองจากศูนย์กลางที่สั่งตรงจากกระทรวงมหาดไทยไปสู่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทำให้ชาวบ้านไม่สามารถออกมาเรียกร้องอะไรได้

“เมื่อ กปปส.เคลื่อนไหวมันก็เข้าทางเราเช่นกัน เพราะมันก่อผลสะเทือนเรื่องการปฏิรูปประเทศขึ้นมา มันโดนใจสิ่งที่เราเรียกร้องเพราะการที่จะปรับโครงสร้างประเทศเป็นเรื่องที่ยากมาก ทุกรัฐบาลไม่กล้ากระจายอำนาจตัวเอง มันก็โยงมาถึงระบบการสั่งการก็ยังอยู่ข้างบน ถามว่านี่คือระบบประชาธิปไตยแบบไหนกัน”

อย่างไรก็ตาม เขายังคงไม่อยากให้กลุ่มชาวนารวมตัวกับกลุ่มการเมืองอื่นๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงนี้ เพราะจุดยืนเดียวของกลุ่มชาวนาคือการทวงเงินจำนำข้าว แม้ว่าหลายคนจะเหมารวมว่า ชาวนาที่ออกมาเรียกร้องครั้งนี้คือ กปปส.แล้วก็ตาม

“เราเข้าใจได้สำหรับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่อยากให้ออกมากดดันรัฐบาล เราต้องเข้าใจว่า ในพื้นที่ชนบทมันมีฝ่ายที่นิยม กปปส.และนิยมรัฐบาลหรือ นปช. ด้วย ส่วนที่นิยม กปปส.เขาเคยมาเคลื่อนไหวกับ กปปส.ในกทม. เวลาเขามาในส่วนของชาวนาเขาอาจจะมีเครื่องหมายส่วนของ กปปส.ติดมาด้วย ซึ่งเราพยายามบอกว่า อย่าใช้ เพราะว่ามันจะเป็นประเด็นทางการเมือง การเคลื่อนไหวจะได้ยินเสียงนกหวีดน้อยมาก เราคุยกันแล้วว่า จุดยืนของเรามีอย่างเดียว คือทวงเงินรัฐบาล

ทางออกที่เขาอยากให้เกิดขึ้นนั้นมีอยู่ 2 ทางด้วย ทางแรกคือให้รัฐบาลขายข้าวออกไปให้เร็วที่สุด ส่วนอีกทางคือให้รัฐบาลลาออกและหารือว่าจะจัดตั้งรัฐบาลอย่างไรเพื่อให้มีอำนาจตัดสินใจแก้ไขปัญหาชาวนาให้ได้เร็วที่สุด แต่ในส่วนของนโยบายเกี่ยวกับข้าวในระยะยาวนั้น เขาอยากเห็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ผมอยากให้มีการพัฒนาคุณภาพข้าวอย่างยั่งยืน มีระบบประกันความเสี่ยงของชาวนาไม่ว่าในกรณีจัดตั้งกองทุน หรือจะชดเชยค่าปัจจัยการผลิตเท่าไหร่ก็มาคุยกัน แต่ต้องไม่ใช่จำนำข้าว นี่มันไม่ใช่จำนำ ผมถามว่า ผมเอารถไปจำนำ ต้องไถ่มั้ย? ก็ต้องไถ่ เพราะมันคือการจำนำ แต่นี่จำนำแล้วชาวนาไม่ได้คิดมาไถ่ถอน เพราะว่ามันสูงกว่าราคาตลาด จริงๆ เราเข้าใจได้ว่า รัฐบาลเลี่ยงคำว่า ขายเป็นจำนำ เหตุผลเพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า รัฐจะต้องไม่ทำธุรกิจแข่งกับเอกชนจะถูกฟ้องทันที ฉะนั้นการซื้อขายถือว่ารัฐทำธุรกิจแข่งขันกับพ่อค้าข้าว ก็เลยเลี่ยงคำไม่ได้ขาย จำนำ เล่นคำเท่านั้น มันก็ขายนั่นแหละ รัฐบาลมาเป็นพ่อค้าแข่งกับพ่อค้าเอกชน”

เรื่องโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE



ประสิทธิ์ บุญเฉย
ระวี รุ่งเรือง
 ไชยชาญ มาตา
กำลังโหลดความคิดเห็น