xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” แหกตาขายข้าวให้จีน “หม่อมอุ๋ย”แฉเจ๊งยับ4แสนล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โกหกพกลมจนกลายเป็นนิสัยถาวรไปแล้ว โดยเฉพาะโครงการรับจำนำและระบายข้าว โดยล่าสุดนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทำตื่นเต้นแถลงข่าวใหญ่โตว่ารัฐบาลจีนตกลงจะซื้อข้าวจากไทยเพิ่มเป็นปีละล้านตัน แต่พอถูกซักไซ้ไล่เรียงก็อ้ำๆ อึ้งๆ โบ้ยไปให้กระทรวงพาณิชย์ กลบเกลื่อนเฉไฉ เพราะเอาเข้าจริงล็อตก่อนหน้าที่คุยโวหนักหนาว่ารัฐบาลจีนจะซื้อ 1.2 ล้านตันใน 5 ปี จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการเซ็นสัญญาแต่อย่างใด

  เมื่อนางสาวยิ่งลักษณ์ จีบปากจีบคอโม้ถึงการเจรจาต้าอวยกันว่าการซื้อข้าวปีละล้านตันของจีนเป็นโครงการต่อเนื่องแบบจีทูจีหรือรัฐบาลต่อรัฐบาล โดยไม่รวมยอดซื้อขายของภาคเอกชนที่ค้าขายกันตามปกติ แล้วโยนมาให้พาณิชย์รับลูกต่อเพราะไม่รู้เรื่องที่ไม่ได้เขียนไว้ให้ท่องในการแถลงข่าว  ทางนายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จึงต้องรับเผือกร้อนมาตอบคำถามแทน

  แต่คำอธิบายของนายยรรยง ก็กลายเป็นเหมือนหนังคนละม้วน เพราะดันบอกว่า ข้อตกลงที่จีนจะซื้อข้าวจากรัฐบาลไทยปีละ 1 ล้านตัน เป็นเวลา 5 ปี ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ารวมข้าวที่ซื้อจากเอกชนด้วยหรือไม่ แต่ไม่ว่าจะซื้อจากรัฐบาลหรือเอกชนไทย ก็ถือว่าเป็นการซื้อข้าวไทย เพราะเอกชนไทยก็ต้องมาซื้อข้าวในสต๊อกของรัฐบาล .... งานนี้เห็นเลือดซิบๆ เพราะนายยรรยง แถจนสีข้างถลอก

อีกทั้งเมื่อมีการตรวจสอบการลงนามเอ็มโอยูระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนแล้ว ไม่เห็นว่าจะมีการซื้อขายข้าวระหว่างรัฐต่อรัฐอย่างที่นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวอ้างแม้แต่สักเมล็ดเดียว แต่เป็นเรื่องของเอกชนเขาเจรจาซื้อขายระหว่างกัน ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล การที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ไปเคลมเอามาเป็นผลงานของรัฐบาลเป็นเรื่องที่น่าอับอาย

  ลูกน้องทำนายกฯหญิงหน้าแหกยังไม่พอ ทางตัวแทนของบริษัท คอฟโก รัฐวิสาหกิจของจีนที่รับผิดชอบในการซื้อข้าวจากต่างประเทศ ซึ่งเดินทางมาประเทศไทยร่วมกับคณะของนายกรัฐมนตรีจีน ก็ช่วยซ้ำเติมอย่างไม่ตั้งใจ เพราะคอฟโก ไม่ทราบว่าไทยมีการขายข้าว 1.2 ล้านตัน ให้กับบริษัท เป่ยต้าหวง กรุ๊ป ซึ่งตั้งอยู่เมืองเฮยหลงเจียง มณฑลฮาร์บิน และตั้งข้อสังเกตว่าปกติเมืองเฮยหลงเจียง ที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน มีการนำเข้าในปริมาณน้อยมากไม่ถึง 1 ล้านตัน และบริโภคข้าวเมล็ดสั้น ไม่ใช่เมล็ดยาว

  มิหนำซ้ำ ที่ผ่านมาจีนไม่เคยนำเข้าข้าวจากไทยเกินปีละ 5 แสนตัน มานานแล้ว ยกเว้นช่วง 10 ปีก่อนที่จีนประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งมีการนำเข้ามากถึง 2 ล้านตัน

  รวมความแล้ว ทั้งนายกฯหญิงและลูกน้อง “ไวท์ไลน์” หรือ “โกหกสีขาว” เพื่อให้รัฐบาลดูดีมีผลงาน ทั้งที่ความจริงยังไม่ได้มีอะไรเป็นรูปธรรมจับต้องได้ว่าไทยจะขายข้าวให้จีนได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้

  ไม่เพียงแค่นั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ยังภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่งัดเอาวิธีค้าขายแบบย้อนยุคโบราณกาลสมัยพ่อขุนรามคำแหงมาใช้ในการลงนามบันทึกความเข้าใจ หรือ เอ็มโอยู ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน “ว่าด้วยโครงการความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการแลกเปลี่ยนกับสินค้าเกษตรกับโครงสร้างและระบบรถไฟ” หรือพูดภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายๆ คือการเอาข้าวเอายางไปแลกรถไฟความเร็วสูงจากจีน ซึ่งเรียกกันว่า การค้าแบบบาร์เตอร์เทรด

  ความจริงแล้ว ระบบการค้าแบบล้าสมัยมากๆ นี้ เป็นการเดินตามรอย “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลทักษิณ ก็เคยนำระบบบาร์เตอร์เทรดมาใช้ทั้งแลกเครื่องบินรบ อาวุธยุทโธปกรณ์ และหัวรถจักรรถไฟจากจีน เปิดช่องเอื้อพวกพ้องหากินข้ามชาติ โดยอาศัยหลักการช่วยระบายสินค้าเกษตรที่ฟังดูดีแต่เมื่อชินวัตรผู้พี่นำมาปฏิบัติแล้วล้มเหลวเสียเป็นส่วนใหญ่

  โดยเฉพาะโครงการที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น อนุมัติให้ใช้ผลผลิตลำไยปี 2546/2547 แลกเปลี่ยนรถจักรดีเซลไฟฟ้าจากจีน ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ต้องการซื้อหัวรถจักรจากจีนมูลค่า 1,800 ล้านบาท โดยกระทรวงพาณิชย์สรุปขายลำไย 56,794 ตัน มูลค่า 1,615 ล้านบาท แต่ต่อมาเพิ่มจำนวนเป็น 7 หมื่นตันสุดท้าย เมื่อมีการส่งลำไยไปจีน 100 ตัน ก็ถูกตีกลับและต้องล้มเลิกไป
 
การค้าแบบบาร์เตอร์เทรดที่รัฐบาลทักษิณ นำมาใช้เพื่อขับเคลื่อนโครงการเมกะโปรเจคและแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างประเทศ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และข้อกังขาว่าเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่มีความโปร่งใส มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก มีค่านายหน้า เกิดการล็อกสเปกเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนรายใดรายหนึ่ง ฯลฯ กระทั่งเมื่อรัฐบาลทักษิณ หมดอำนาจ ระบบบาร์เตอร์เทรดก็ถูกยกเลิกไปในเวลาต่อมา 

  กระทั่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับมาเป็นผู้นำรัฐบาล จึงมีการรื้อฟื้นระบบนี้กลับมาใช้อีกครั้ง แต่เป็นเพราะระบบการค้าแบบบาร์เตอร์เทรดที่เคยนำมาใช้นั้น ถูกข้าราชการ ภาคเอกชน นักวิชาการ ชำแหละเสียจนไม่มีชิ้นดี คราวนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ จึงให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากับกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และกระทรวงพาณิชย์ ไปหารือกันในรายละเอียด และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ออกมาทำเหนียมว่า เอ็มโอยูแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรกับโครงสร้างและระบบรถไฟนั้น เป็นกรอบที่ยังไม่มีข้อผูกมัดใดๆ กับจีน ต้องหารือร่วมกันอีกมากว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหน

  หรือว่าถึงที่สุดแล้ว โครงการข้าวแลกรถไฟความเร็วสูงก็อาจมีเป้าหมายเพียงเพื่อกลบข่าวขายข้าวขาดทุนของรัฐบาล อย่างที่นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Korn Chatikavanij" ตั้งคำถามถึงกรณีที่รัฐบาลเชิญชวนจีนมาลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูงสายหนองคาย-บ้านภาชี (พระนครศรีอยุธยา) โดยไทยจะชำระค่าก่อสร้างบางส่วนเป็นสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ว่า ในยุคนี้ไม่มีความจำเป็นต้องเอาสินค้าแลกกับสินค้า เพราะตลาดรองรับแต่ละประเภทสินค้านั้นมีอยู่แล้ว ถ้าเรามีข้าวอยู่ในมือเราก็ควรเอาข้าวไปขายในตลาดค้าข้าว เราก็จะขายได้ในราคาที่ดีที่สุดจากผู้ที่ต้องการข้าวจริง จากนั้นเราก็เอาเงินที่ได้ ไปเลือกซื้อรถไฟหรืออะไรก็แล้วแต่ตามความต้องการของเรา

  “ที่รัฐบาลต้องการเอาข้าวไปแลกกับสินค้านั้น เพราะรัฐบาลต้องการกลบไม่ให้เรารู้ราคาขายข้าวว่าขาดทุนจริงเท่าไร และเราก็จะไม่รู้ราคาจริงที่เราซื้อรถไฟอีกด้วย แทนที่เราจะได้รถไฟที่ดีที่สุดและราคาเหมาะสมที่สุด เราก็จะได้รถไฟที่ผู้ขายเขายอมรับการชำระด้วยข้าวเท่านั้น ทางเยอรมัน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่นคงไม่รับเงื่อนไขนี้ การแข่งขันเปรียบเทียบก็จะไม่เกิด ความโปร่งใสราคาก็จะไม่มี” นายกรณ์ ระบุ

  ถามว่า ณ เวลานี้ โครงการรับจำนำข้าว ขาดทุนเท่าไหร่ เสียหายมากน้อยแค่ไหน ทำไมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จึงต้องพยายามสร้างเรื่องกลบเกลื่อนนักหนา ล่าสุด ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ยกเลิกวิธีรับจำนำข้าว โดยระบุว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ในปี 2554/2555 และปี 2555/2556 ที่มีการรับจำนำรวมกว่า 48 ล้านตันนั้น ทำให้รัฐบาลขาดทุนอย่างต่ำอยู่ที่ 425,000 ล้านบาท  ขณะที่หากคิดอย่างละเอียดจะขาดทุนกว่า 4.7 แสนล้านบาท
  ในจำนวนนี้ชาวนาได้รับประโยชน์เพียง 2.1 แสนล้านบาท ที่เหลือไปตกอยู่กลุ่มผลประโยชน์ที่มิใช่ชาวนาใช้ช่องโหว่ทำการคอร์รัปชันหาประโยชน์ไปมากกว่า 115,831 ล้านบาท รวมถึงยังไม่ได้มีการรวมรายงานเกี่ยวกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีการรายงานว่า ข้าวหายไปจากสต๊อกอีกกว่า 1,000,000 ตัน ซึ่งที่ผ่านมาระยะเวลาได้พิสูจน์แล้วว่ารัฐบาลไม่สามารถควบคุม และแก้ไขปัญหาการทุจริตได้

  “เพื่อหยุดความเสียหายไปให้มากไปกว่านี้ จึงได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ปรับวิธีช่วยเหลือชาวนา เมื่อท่านนายกฯทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด ถ้าท่านยังเชื่อบุคคลรอบข้าง โดยยอมให้เดินหน้าโครงการต่อ ก็เท่ากับว่า ท่านนายกฯกำลังปล่อยให้มีการบริหารประเทศที่ทำให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณชาติในจำนวนสูง ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะเสียหายและยอมปล่อยให้คนอื่นมาเกาะหลังชาวนา” อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี

  งานนี้ ทำเอา “โต้ง ไวท์ไลน์” มีเคือง ออกมาเตือน “หม่อมอุ๋ย” ให้ระมัดระวังในการให้ข้อมูลการขาดทุนโครงการจำนำข้าว 4.25 แสนล้านบาท และมองว่า 100,000 ล้านบาท ไปตกอยู่กับผู้ที่ไม่ใช่เกษตรกรนั้น อาจเข้าใจผิดเรื่องตัวเลขทางบัญชีและการบริหารจัดการจริง ทั้งๆ ที่ ข้อมูลที่ “หม่อมอุ๋ย” นำมาแฉนั้น มาจากคณะทำงานปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลชุดนี้ตั้งขึ้นมานั่นเอง

    อย่างไรก็ตาม นายกิตติรัตน์ ปฏิเสธที่จะชี้แจงว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล 2 ปีที่ผ่านมา ที่ใช้เงินไปถึง 6.7 แสนล้านบาท มีผลขาดทุนที่แท้จริงเท่าไร “ผมไม่ต้องการตอบโต้ ผมรู้ว่านักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้เรียนบัญชีมา จึงต้องการให้มีการติดตามตัวเลขเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด” นายกิตติรัตน์ กล่าว

  ไม่ใช่แค่ “หม่อมอุ๋ย” เท่านั้น ที่ระบุว่าโครงการรับจำนำข้าวขาดทุนมหาศาล นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ก็ยืนยันเช่นกันว่า หากดูการใช้เงินของรัฐบาลในโครงการรับจำนำข้าว 3 ฤดูกาลที่ผ่านมา มีตัวเลขการขาดทุนทางบัญชีมากถึง 4 แสนล้านบาท โดยเป็นการประเมินว่า รัฐบาลขายข้าวหมดภายใน 5 ปี แต่หากไม่สามารถระบายข้าวใน 5 ปี หรือ 8 ปี อย่างช้า จะทำให้รัฐบาลขาดทุนสะสมทางบัญชีกว่า 4 - 8 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ ในรายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการ“ยุทธศาสตร์ข้าวไทย การวิจัยพัฒนาข้าวไทยและการมองไปข้างหน้า” โดย ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าโครงการนี้ทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อฐานะทางการคลังและการค้าข้าวของไทย ยังได้สรุปการรั่วไหลและความสูญเสียอันเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าว ดังนี้

หนึ่ง เงินรั่วไหลก้อนแรก คือเงินที่ซื้อข้าวจากชาวนาบางส่วนรั่วไหลไปยังโรงสีและชาวนาในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีโรงสีบางแห่งลักลอบนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์การจำนำ  ไม่มีใครทราบว่ามีข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ์เป็นจำนวนเท่าไร แต่นักวิชาการในกัมพูชาคาดว่าอาจมีข้าวหลายแสนตันเข้ามาในประเทศไทย

สอง การรั่วไหลที่สำคัญเกิดจากการทุจริตของผู้เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวในทุกขั้นตอนการรับจำนำ เริ่มจากเกษตรกรบางรายร่วมกับเจ้าหน้าที่จดทะเบียนพื้นที่เพาะปลูกสูงกว่าความจริง โรงสีบางแห่งซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรงในราคาตลาด แล้วนำมาสวมสิทธิ์ หรือลักลอบนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ โดยใช้ชื่อของเกษตรกรบางคน โรงสีหักค่าความชื้นและสิ่งเจือปนในข้าวของชาวนาเกินความจริง โรงสีบางแห่งร่วมมือกับเจ้าของโกดัง เซอร์เวเยอร์ และเจ้าหน้าที่รัฐ ในการจัดส่งข้าวต่ำกว่าจำนวนที่ต้องส่ง และ/หรือส่งข้าวคุณภาพต่ำเข้าโกดังของรัฐบาล หรือมีข่าวว่ามีนายหน้านักการเมืองวิ่งเต้นนำข้าวของรัฐบาลไปขายให้ผู้ส่งออกบางคนและโรงสีบางแห่ง รวมทั้งโรงสีบางแห่งต้องจ่ายเงินค่าวิ่งเต้นเพื่อขออนุญาตข้ามเขตไปซื้อข้าวในจังหวัดอื่น โครงการรับจำนำจึงก่อให้เกิดการทุจริตที่เป็นระบบอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่เพียงแค่การทุจริตเล็กๆ น้อยๆ เพียงบางจุด

สาม โครงการรับจำนำก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคม การรั่วไหลที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นการถ่ายโอนเงินภาษีจากมือของประชาชนผู้เสียภาษีไปสู่ชาวนา โรงสี และนักธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งเป็นการถ่ายโอนเงินจากชาวนาและโรงสีที่สุจริตไปสู่มือของผู้ทุจริต และยังมีความเสียหายอีก 4 ประเด็น

ประเด็นแรก คือการที่รัฐบาลเก็บข้าวไว้ในโกดังกลางเป็นเวลามากกว่าหนึ่งปี (เพราะรัฐขายข้าวไม่ได้) ทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพ  งานวิจัยพบว่าการเก็บข้าวไว้ในโกดังแบบปกติ (คือไม่มีห้องเย็นหรือระบบ airtight) จะทำให้ข้าวเหลืองและมีมอด เช่น ใน 3 เดือนแรก ดัชนีความขาวจะลดลงจากร้อยละ 51.5 เหลือ 49.5 แมลงจะเพิ่มขึ้น 23.2 ตัวต่อกิโลกรัม  ถ้าเก็บไว้ 6 เดือน ความขาวจะลดลงเหลือร้อยละ 49 และแมลงจะเพิ่มขึ้นเป็น 90 ตัวต่อกิโลกรัม  หากสมมติว่าปัญหาดังกล่าวทำให้มูลค่าข้าวลดลงร้อยละ 5 ต่อปี ก็แปลว่ามูลค่าข้าวในโกดังจะหายไปปีละกว่า 5,266 ล้านบาท

ประเด็นที่สอง คือการสูญเสียตลาดส่งออกข้าวของไทยให้คู่แข่งเพราะข้าวไทยมีราคาแพงกว่าคู่แข่งมาก และรัฐไม่มีความสามารถในการขายข้าวเหมือนพ่อค้าส่งออก  การที่รัฐไม่ยอมส่งออกข้าวในราคาตลาด (เพราะเชื่อว่าจะขายข้าวได้ในราคาแพงในภายหลัง) รัฐบาลจึงปล่อยให้ประเทศอื่นขายข้าวก่อน ผลก็คือ ระหว่างเดือนตุลาคม 2554 ถึงกันยายน 2555 ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยลดลงเหลือ 6.7 ล้านตัน เทียบกับการส่งออก 12.1 ล้านตันในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (ตุลาคม 2553 ถึงกันยายน 2554) ทำให้รายได้จากการส่งออกของประเทศลดลงจาก 1.99 แสนล้านบาทในช่วงเดือนตุลาคม 2553 ถึงกันยายน 2554 เหลือเพียง 1.43 แสนล้านบาทในช่วงเดือนตุลาคม 2554 ถึงกันยายน 2555  การส่งออกข้าวที่ลดลงนี้เป็นตัวฉุดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นผลที่ตรงข้ามกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับรายได้ของชาวนาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

ประเด็นที่สาม คือการสูญเสียรายได้จากการส่งออกข้าว ซึ่งเกิดจากการสูญเสียตลาดส่งออกข้าวคุณภาพ 2 ชนิดที่ไทยเคยขายได้ในราคาสูง เพราะมีอำนาจกำหนดราคา  ตลาดแรกคือการส่งออกข้าวหอมมะลิที่ภาคเอกชนและกระทรวงพาณิชย์เพียรพยายามสร้างตลาดส่งออกมาเป็นเวลากว่า 20 ปี  การเก็บข้าวหอมไว้ในโกดังเป็นเวลาหลายเดือน ทำให้ข้าวหอมหมดความหอม และกลายเป็นข้าวแข็ง  ข้าวหอมที่เคยส่งออกได้ในราคาสูงกว่าตันละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐจะหมดราคา กลายเป็นข้าวหอมคุณภาพต่ำ ราคาอาจลดลงเหลือ 600-800 ดอลลาร์สหรัฐ

การสูญเสียตลาดข้าวราคาสูงอีกประเภทหนึ่ง คือการสูญเสียตลาดส่งออกข้าวนึ่งที่ไทยครองตลาดเป็นอันดับหนึ่ง  ผู้ประกอบการไทยใช้เวลากว่า 40 ปีในการพัฒนาตลาดข้าวนึ่งแข่งกับอินเดีย โดยสามารถนำข้าวเปลือกธรรมดามานึ่ง ก่อนจะสีแปรรูปเพื่อส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกาบางประเทศ  ในช่วงปี 2552-2554 ไทยขายข้าวนึ่งในราคาเฉลี่ยตันละ 567 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าข้าวขาว 5% ตันละ 35 ดอลลาร์สหรัฐ

การส่งออกข้าวนึ่งสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับประเทศ โดยในปี 2553 ไทยส่งออกข้าวนึ่ง 3.2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 53,866 ล้านบาท แต่การรับจำนำข้าวที่กำหนดให้โรงสีในโครงการต้องแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารภายใน 7 วัน ทำให้โรงสีและผู้ส่งออกไม่สามารถหาซื้อข้าวเปลือกมาทำข้าวนึ่งส่งออกได้

ประเด็นที่สี่ การสูญเสียตลาดส่งออกข้าวมีผลกระทบต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมข้าว กล่าวคือ เมื่อการส่งออกข้าวของไทยลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ พ่อค้าข้าวส่งออก นายหน้าผู้จัดหาข้าวให้ผู้ส่งออก พนักงาน และลูกจ้างในธุรกิจการส่งออกและธุรกิจโลจิสติกส์จำนวนหลายหมื่นคนต้องตกงาน เพราะไม่มีข้าวให้ซื้อขาย  ทางเลือกของนักธุรกิจข้าว พ่อค้าส่งออกข้าว และแรงงานเหล่านี้มี 3 ทางคือ หนึ่ง เข้าร่วมโครงการรับจำนำ รวมทั้งเข้าร่วมกระบวนการทุจริต  สอง โยกย้ายไปทำธุรกิจนอกประเทศ  และสาม เลิกประกอบธุรกิจข้าว แล้วหันไปทำอาชีพอื่น

สี่ ความสูญเสียอีกรายการหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมของชาวนา โรงสี และโกดัง ที่ต้องการหากำไรส่วนเกินจากโครงการ ชาวนาจะขยายพื้นที่และเพิ่มรอบการเพาะปลูกข้าวเพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนมากที่สุดมาขายให้รัฐบาล ทำให้ต้นทุนการปลูกข้าวถีบตัวขึ้นจนกว่าจะสูงเท่ากับราคารับจำนำ 15,000 บาท  นอกจากการสิ้นเปลืองน้ำและปัจจัยการผลิตต่างๆ แล้ว ชาวนาจะลดพื้นที่เพาะปลูกสินค้าเกษตรอื่นๆ ทำให้ผลผลิตอาหารประเภทอื่นลดลง

โรงสีเองก็กู้เงินมาขยายกำลังการผลิต ทำให้ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีกำลังการผลิตในการสีข้าวถึง 90 ล้านตันต่อปี ขณะที่มีผลผลิตข้าวให้สีเพียงปีละ 35 ล้านตัน  กำลังการผลิตส่วนเกินของโรงสีนับว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีค่าโดยเปล่าประโยชน์ พฤติกรรมนี้กำลังเกิดขึ้นกับนักธุรกิจและโรงสีในต่างจังหวัดที่ต่างพากันลงทุนสร้างโกดังให้รัฐบาลเช่าเก็บพืชผลที่รัฐบาลรับจำนำ เพราะสามารถคืนทุนในเวลาเพียงปีเดียว  แม้เอกชนจะได้ผลประโยชน์คุ้มค่า แต่สังคมสูญเสียทรัพยากรที่มีค่า เพราะโกดังมิได้ทำให้ผลผลิตข้าวมากขึ้น

ห้า ความเสียหายที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้และกำลังทวีความรุนแรงขึ้น คือเมื่อระบบการค้าข้าวแบบแข่งขันของภาคเอกชนถูกทำลาย และทดแทนด้วยระบบการค้าข้าวของรัฐที่ต้องอาศัยเส้นสายทางการเมือง ประเทศไทยจะเปลี่ยนจากผู้ผลิตและค้าข้าวคุณภาพสูงที่สุดในโลกเป็นข้าวคุณภาพต่ำ เพราะรัฐบาลไม่ได้ซื้อข้าวตามคุณภาพเหมือนกับพ่อค้าเอกชน

รัฐบาลรับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาเท่ากันโดยไม่สนใจคุณภาพของข้าว ราคาข้าวในโครงการรับจำนำจะต่างกันตามชนิดข้าว (เช่น ข้าวเปลือกเจ้าราคาจำนำตันละ 15,000 บาท ข้าวหอมมะลิราคาตันละ 20,000 บาท) และต่างกันตามร้อยละของความชื้นและสิ่งเจือปน (กล่าวคือ ข้าวเปลือกเจ้าที่จะขายได้ราคา 15,000 บาท ต้องมีความชื้นไม่เกิน 15% หากมีความชื้นมากกว่านั้นจะถูกตัดราคา 200 บาทต่อความชื้นที่เพิ่มขึ้น 1%)

ดังนั้น ชาวนาจึงไม่ต้องเอาใจใส่เรื่องคุณภาพของข้าวเหมือนกับการขายข้าวให้โรงสีและพ่อค้า รายรับของชาวนาขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิต ยิ่งปลูกมากก็ยิ่งมีรายรับมากขึ้น ดังนั้นชาวนาจึงเร่งใส่ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง  นอกจากนั้น ชาวนาจำนวนหนึ่งยังหันมาปลูกข้าวอายุสั้น (ที่มีเมล็ดสั้นและมีคุณภาพต่ำ) เพื่อเพิ่มรอบการผลิตเป็นปีละ 3 ครั้ง หรืออย่างน้อย 5 ครั้งต่อ 2 ปี

ขณะที่โรงสีซึ่งอยู่ในโครงการรับจำนำก็ไม่จำเป็นต้องซื้อข้าวตามคุณภาพ เพราะรัฐมิได้กำหนดเกณฑ์การรับซื้อข้าวตามคุณภาพ  การตรวจรับมอบข้าวเข้าเก็บในโกดังกลางก็มิได้กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องคุณภาพของข้าวเหมือนในตลาดเอกชน ซึ่งผู้ซื้อข้าวจะตรวจสอบคุณภาพของข้าวที่ผู้ขายส่งมอบอย่างละเอียด (เช่น การนับจำนวนข้าวหักของข้าวแต่ละเกรด เป็นต้น) ข้าวที่เข้าโกดังกลางของโครงการรับจำนำจึงเป็นข้าวคุณภาพต่ำ

ยิ่งไปกว่านั้น การเก็บข้าวไว้ในโกดังกลางเป็นเวลานานยังทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพ ทั้งนี้เพราะรัฐขาดความสามารถในการส่งออกข้าว และราคาข้าวที่รัฐต้องการขายให้ตลาดต่างประเทศเป็นราคาที่สูงกว่าคู่แข่งมาก ผลก็คือ เมื่อไทยขายข้าวไม่ได้ ข้าวส่วนใหญ่จึงถูกเก็บไว้ในโกดังจนเสื่อมคุณภาพ ดังนั้น นโยบายการรับจำนำจึงไม่เพียงทำลายเศรษฐกิจข้าวส่งออกของไทย แต่กำลังทำลายเศรษฐกิจข้าวไทยทั้งระบบ
ขณะที่ตัวแทนชาวนา นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย ก็ย้ำชัดถึงภาวะถังแตกของรัฐบาลว่า โครงการรับจำนำ จะดำเนินการไปไม่ถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าอย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลไม่มีงบประมาณในการดำเนินการในรอบใหม่ อีกทั้ง ยังมีเงินคงค้างที่ต้องจ่ายให้กับชาวนาที่นำข้าวมาเข้าโครงการในรอบก่อนหน้านี้ด้วย

  ทั้งที่หลักฐานชัดแจ้ง รู้อยู่แก่ใจว่าเสียหายมหาศาลขนาดไหน แต่อาการดันทุรัง ไม่ฟังใคร ทำให้สังคมมองรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นอื่นไม่ได้ นอกเสียจากว่า พี่น้องชินวัตรต้องการทำลายรากฐาน ทำลายรากเหง้าของประเทศ ด้วยการทำลายระบบการผลิต การค้าข้าวให้พังพินาศ ปล่อยให้กลุ่มที่ไม่ใช่ชาวนากอบโกยผลประโยชน์นับแสนล้านโดยไม่มีทีท่าว่าจะหยุดทบทวนแก้ไขแต่อย่างใด?  ใช่หรือไม่? 
กำลังโหลดความคิดเห็น