xs
xsm
sm
md
lg

กบฏผ้าเหลืองรักชาติ “หลวงปู่พุทธะอิสระ” พระผู้หาญสู้กับทรราช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การต่อสู้อันยาวนานของประชาธิปไตยในนามของกลุ่ม กปปส. ได้สร้างผู้นำมวลชนหลายคนขึ้นมา 1 ในบุคคลที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้นำกบฏคือ “หลวงปู่พุทธะอิสระ” จากแกนนำบนเวทีปราศรัยถึงแนวหน้าของการชุมนุม วีรกรรมการต่อสู้หลายครั้งหลายคราทำให้ทุกคนต่างจดจำท่านได้ในฐานะพระผู้หาญกล้าสู้กับทรราช!
 

คุณงามในสายทางธรรม

หากยังคงจำกันได้ชื่อของหลวงปู่พุทธะอิสระ หรือ พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากกรณีประกาศขายวัดเพราะทนกลิ่นเหม็นจากโรงงานอาหารสัตว์ที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงไม่ไหว

ต่อมาท่านเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากกรณีธรรมะวาทะกับหลวงพ่อเกษม จิณฺณสีโล แห่งสำนักสงฆ์ป่าสามแยก จ.เพชรบูรณ์ และกรณีแฉพฤติกรรมของ หลวงปู่เณรคำ ฉัตติโก แห่งวัดป่าขันติธรรม

จนตอนนี้กับบทบาทการเคลื่อนไหวทางการเมืองในการต่อต้านระบอบทักษิณอย่างเต็มตัว หลวงปู่พุทธะอิสระถือเป็นกำลังหลักคนหนึ่งในการชุมนุมต่อสู้ครั้งที่ผ่านมา กลายเป็นทางเลือกที่คณะสงฆ์มองว่าไม่เหมาะสมหากแต่ท่านเองก็ไม่ยึดติดกับสถานะพระของตัวเองแต่อย่างใด

“อาตมายินดีสึกจากความเป็นพระ หากสึกแล้วรัฐบาลลาออกไปด้วย ไม่กังวลกับสถานภาพ หากสึกแล้วระบอบทักษิณหายไปก็ยินดีทำ”

ย้อนกลับไป ตลอดเส้นทางธรรมในชีวิตของท่านก็ได้ประกอบคุณงามความดี เริ่มตั้งแต่การบวชเรียนเมื่ออายุ 20 ปี ก่อนสึกไปเกณฑ์ทหารและกลับมาบวชต่ออีกครั้งที่วัดคลองเตยใน กรุงเทพฯ โดยคำเรียกขานที่ทุกคนต่างเรียกท่านว่า “หลวงปู่”นั้นมาจากที่ครั้งหนึ่ง ท่านได้โอกาสแสดงธรรมที่วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี ซึ่งการแสดงธรรมครั้งนั้นจับใจผู้ฟังมาก จนชาวบ้านต่างคิดว่า ท่านน่าจะเป็นพระอาวุโส จึงมีการเรียกท่านว่า "หลวงปู่" ต่อๆ กันมาจนถึงบัดนี้
ท่านบวชอยู่ที่วัดคลองเตยในอยู่ประมาณ 6 ปีก็มาสร้างวัดอ้อน้อยที่จังหวัดนครปฐมสำเร็จแต่หลวงปู่พุทธะอิสระกลับเลือกที่จะออกธุดงค์เพื่อฝึกฝนปฏิบัติธรรมเป็นเวลายาวถึง 5 ปีโดยมอบหมายให้พระลูกศิษย์ดูแลวัด หลังจากนั้นท่านก็กลับมาเป็นเจ้าอาวาสของวัดก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบล ห้วยขวาง แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อใบแต่งตั้งของท่านระบุอายุเกินจริงมา 4 - 5 ปี ทำให้ท่านยื่นหนังสือลาออกจากทุกตำแหน่ง แต่คณะจังหวัดไม่รับอนุมัติ 


กระทั่งปลายปี 2544 ก็ปรากฏใบปลิวโจมตีว่า ท่านโกงพรรษา ทำให้หลวงปู่พุทธะอิสระแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกจากทุกตำแหน่ง เหตุการณ์นั้นถูกเรียกว่า การสึกลดพรรษา เพราะหลังจากท่านขอลาสึกแล้วก็ทำการบวชใหม่ทันที โดยบอกว่า ตนเองยังไม่มีคุณสมบัติ คุณธรรมพอที่จะเป็นพระเถระ จึงทำการสึกแล้วบวชใหม่เพื่อลดอหังการ มนังการ และมานะทิฐิของตนเอง

อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุคราวนั้นหลวงปู่พุทธะอิสระก็กลับมาปกครองดูแลวัดอ้อน้อยจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ตั้งแต่บวชอยู่ที่วัดคลองเตยใน ท่านได้แสดงธรรมให้ญาติโยมที่มาทำบุญจนเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของผู้คน และเมื่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย และเจ้าคณะตำบลห้วยขวาง ท่านริเริ่มจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนมากมาย และบางงานก็ยังสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เช่น โครงการบรรพชาและอุปสมบทพระภิกษุ สามเณร ภาคฤดูร้อน และโครงการแจกมหาทานแก่ครอบครัวผู้ยากไร้ โดยจัดมอบข้าวสาร อาหารแห้ง ยารักษาโรค และเงินจำนวนหนึ่ง เนื่องในโอกาสวันสำคัญทางศาสนาต่างๆ อีกด้วย

เมื่อต้องสู้กับความอยุติธรรม

“อยากวิงวอนพี่น้องคนไทยผู้รักแผ่นดิน ที่อาศัยภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และราชวงศ์จักรี โปรดออกมาช่วยปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ สถาบันที่เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย และหัวใจของคนไทยต้องมาพลีต่อแผ่นดินไทย ด้วยการออกมาแสดงพลัง ออกมารวมตัวกันทำให้รัฐบาลชั่ว นักการเมืองชั่วให้มันระลึกรู้ได้ว่า แผ่นดินนี้ไม่ใช่ของตระกูลใด แต่เป็นของคนไทยทุกคน”

นี่คือบางถ้อยคำจากการปราศรัยครั้งแรกๆ ของหลวงปู่พุทธะอิสระบนเวทีเครือข่ายนักศึกษาปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) เมื่อครั้งคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และนับจากนั้นเป็นต้นมาท่านก็ร่วมต่อสู้กับประชาชน จากเวทีคปท.ถึง กปปส.จากผู้ปราศรัยบนเวทีสู่แนวหน้าของการต่อสู้

“พระสงฆ์ไม่ควรอ้างว่าพระสงฆ์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เนื่องจากหากว่าประเทศนี้ไม่มีแผ่นดินอยู่ พระสงฆ์ก็จะอยู่ไม่ได้ จึงควรต้องสนใจในการช่วยเหลือประเทศชาติ โดยกล่าวขอร้องนักการเมืองด้วยว่า อย่าใช้เวทีของประชาชนนี้เป็นเครื่องมือในการหาเสียง” หลวงปู่พุทธะอิสระได้ให้โอวาทกับผู้ชุมนุม

จากนั้นไม่นาน การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของท่านก็ถูกตั้งคำถามจากกรมการศาสนาถึงการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม แต่ท่านก็มั่นคงในจุดยืน นอกจากจะไม่หวั่นเกรงต่อผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเอง ท่านยังลุกขึ้นเคลื่อนไหวไปกับ กปปส.เวทีแจ้งวัฒนะ ก่อนเดินหน้าปิดกระทรวงการคลังและศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โดยในครั้งนั้นท่านได้ทำการกลอมตำรวจจนสามารถทำให้ตำรวจถอนกำลังออกไปได้

ต่อมาเมื่อกระแสข่าวการออกหมายจับแกนนำ กปปส.ที่มีหลวงปู่พุทธะอิสระรวมอยู่ด้วย เมื่อรวมถึงกระแสข่าวที่หน่วยงานด้านศาสนาจะลงโทษท่านในด้านของพระวินัย ไม่นานท่านก็ได้โพสต์ข้อความเรื่อง “ความอ่อนแอของศาสนจักรไทย” ผ่านหน้าเฟซบุ๊คของท่านเอง - facebook.com/buddha.isara โดยมีการแฉถึงความเหลวแหลกในวงการผ้าเหลืองที่เกิดขึ้น และฝังรากเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน อันเกิดจากกลุ่มทุนการเมืองที่เข้ามาในรูปของเงินบริจาคโดยมองว่าพระเป็นหัวคะแนน

“ทั้งหมดคือเงินที่ทักษิณหว่านเข้าไปในวงการศาสนาปีหนึ่ง 400-500 ล้านบาท ทั้งวัดในเมืองชนบท ทีนี้เขาก็คอนโทรลวัดได้ โยมต้องการอะไรบอกมาเป็นพระติดเหยื่อ เลือกตั้งแต่ละครั้งพระก็ทำหน้าที่เป็นหัวคะแนน เป็นลิ่วล้อบริการนักการเมือง กระบวนการเลื่อนชั้นของสงฆ์ตามคุณธรรมแต่เดิมก็โดนทำลาย ได้ระบบอุปถัมภ์เข้ามาแทรก กลายเป็นพวกใคร ภาคไหน เป็นความอ่อนแอของศาสนจักร เป็นก๊กเป็นเหล่าสังกัดพรรคการเมือง”

พระสงฆ์กับการเมือง

ในประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมาพระสงฆ์มีบทบาทต่อการเคลื่อนไปของสังคมไม่ใช่น้อย หากมองย้อนดูตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรฯ หลังจากศึกยุทธหัตถีที่แม่ทัพนายกองทำผิดพลาดต้องถูกลงโทษตามกฏมณเฑียรบาล ก็มีพระสังฆราชในยุคนั้นขอชีวิตแม่ทัพนายกองเหล่านั้นไว้ ในสมัยอยุธยาก็มีพระอาจารย์ธรรมโชติแห่งหมู่บ้านบางระจันที่เป็นผู้นำขวัญและกำลังใจมาสู่ชาวบ้านสู้รบกับทัพพม่าจนสามารถต้านทัพไว้ได้ถึง 7 ครั้งด้วยกัน

นอกจากนี้ ในยุคต่อๆ มาอย่าง ยุคเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ที่พระพิมลธรรมผู้มีตำแหน่งเป็นถึงรองสังฆราชในยุคนั้นได้เทศนาให้ข้อคิดในการปราบปรามคอมมิวนิสต์แต่ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์จนถูกจับสึกและต้องเข้าคุก ยังมีพระเทพกิตติปัญญาคุณ เจ้าของคำกล่าวที่ว่า ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา

ผศ.ดร.ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองในแง่ของนักรัฐศาสตร์ด้วยมุมมองที่เห็นว่า พระสงฆ์เคยมีบทบาทอย่างมากในการเมืองไทย ดังนั้นจึงเชื่อว่าเป็นสิ่งสามารถทำได้

“พระสงฆ์จะมี 3 สถานะอยู่ในตัวเอง 1.คือเป็นพระสงฆ์ที่ต้องบวชเรียนอยู่ในพระธรรมวินัย ต้องเคร่งครัดในระเบียบวินัยสงฆ์ 2. เป็นผู้นำทางสังคม เพราะพระสงฆ์มีบทบาททางการเมืองในระดับชุมนุมและหมู่บ้าน สะท้อนผ่าน พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยที่กำหนดบทบาทของพระสงฆ์ในการช่วยส่งเสริมพัฒนาชุมชน กระทั่งพ.ร.บ.องค์กรชุมชน 2550 ก็จัดให้พระสงฆ์เป็นผู้นำกลุ่มหนึ่งของสังคม มีบทบาทช่วยหล่อหลอมให้ประชาชนมีจริยธรรมซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการปกครอง สุดท้ายสถานะที่ 3. คือเป็นประชาชนคนหนึ่ง ฉะนั้นท่านก็มีส่วนร่วมทางการเมืองได้”

ทั้งนี้ ช่วงปี 2552 - 2553 การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงก็มีพระหลายรูปออกมามีบทบาทสนับสนุนการขับเคลื่อนครั้งนั้น นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์คนนี้จึงมองว่า บทบาททางการเมืองนี้อาจมาจากสถาวะอย่างใดอย่างหนึ่งของพระสงฆ์ ที่อาจจะเป็นผู้นำทางสังคม หรือเป็นประชาชนคนหนึ่งก็ได้

“บอกได้ว่า ท่านอาจจะมองตัวเองในฐานะที่ท่านเป็นผู้นำสังคม หรือไม่ก็ในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทย อาจจะมีความรู้สึกว่าบ้านเมืองมีความไม่ถูกต้องดีงามอยู่จึงออกมามีส่วนร่วมทางการเมือง”

เมื่อมองออกไปในระดับนานาชาติ เขาเผยว่า ในประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างพม่า พระก็มีบทบาทอย่างมาก ทั้งยังไม่ผิดวินัยอีกด้วย กระทั่งในฟิลิปปินส์ก็มีศาสนาคริสต์ที่บาทหลวงนำการต่อต้านประธานาธิบดี มาร์กอสจนประสบชัยชนะ แอฟริกากลุ่มคนที่ต่อสู้สนับสนุนเนลสัน แมนเดลาก็มีพระในศาสนาที่ไม่อยากให้คนขาวรังแกคนผิวสีอยู่ด้วย ที่เวียดนามก็มีพระสงฆ์ประท้วงเผาตัวตาย เกิดเป็นภาพสะเทือนใจที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

“ยังมีวัดธรรมกายก็เป็นวัดการเมืองนะ เป็นเรื่องของการเร้าระดมสังคม แม้จะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยตรง แต่ก็มีกลุ่มทุนมีการฟอกเงินอะไรต่างๆ ซึ่งเราต้องสืบสวนดูอีกทีหนึ่ง”

อย่างไรก็ตาม กับกรณีการออกมาเคลื่อนไหวของหลวงปู่พุทธอิสระนั้น ตัวเขายังเห็นว่า ไม่มีความผิด เพราะเป็นการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ

“ไม่ผิดนะครับ ใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ และเราก็เชื่อว่าท่านบริสุทธิ์ใจในเรื่องนี้ พอดีถ้าจะผิดก็ผิดพระธรรมวินัย พอดีกฎหมายสงฆ์ไทยก็เป็นกฎที่สุดโต่งไปทางหนึ่ง แต่โดยสิทธิของท่านแล้ว แม้ว่าท่านจะไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ลงสมัครแต่การแสดงออกทางการเมือง ความไม่พอใจ หรือสนับสนุนก็เป็นสิทธิ์ของท่านด้วย ถือว่าศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์นั้นเท่าเทียมกันด้วย อันนี้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย”

….

ความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมของการเคลื่อนไหวทางการเมือง หลายครั้งก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่สังคมมองเห็นและอยากให้เป็นไป การออกมาแสดงความเห็นด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทำหน้าที่อยู่ข้างฝ่ายธรรมะ หากจะผิดกฎวินัยของความเป็นพระสงฆ์ แต่ก็คงไม่เกินขอบเขตของประชาชนคนหนึ่ง

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE




กำลังโหลดความคิดเห็น