xs
xsm
sm
md
lg

กู้ภัย VS ก่อภัย อาสาสมัครเปื้อนมลทิน!?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อนาถแท้... สังคมไทย หญิงสาวเป็นลมหมดสติ พลเมืองดีเรียก “หน่วยกู้ภัย” มาช่วยเหลือ แต่กลับกลายเป็นการส่งชีวิตบริสุทธิ์ไปสู่มือ “มัจจุราชในคราบคนดี” อย่างไม่มีวันหวนคืน...




ช่วงเวลา เปลี่ยน “เทวดา” เป็น “ซาตาน”
วินาทีนี้ คงไม่มีข่าวไหนสะเทือนใจได้เท่าข่าวนี้อีกแล้ว ใครจะไปคาดคิดว่า “หน่วยกู้ภัย” จะกลายเป็น “หน่วยก่อภัย แทนที่จะช่วยนำหญิงสาวที่เป็นลมหมดสติส่งโรงพยาบาลตามหน้าที่ที่ควรจะเป็น แต่อาชญากรในคราบอาสาสมัครกู้ภัยรายนี้กลับมีจิตคิดอกุศล เนื่องด้วยฤทธิ์ยาบ้าในกระแสเลือด ส่งให้เก็บอาการหื่นกามไว้ไม่ไหว ชั่ววูบที่ขับรถถึงโรงพยาบาลก็เกิดเปลี่ยนใจ เบนสายจากเส้นทางแห่งความดี กลายร่างเป็นไอ้หื่นลวนลามเหยื่อขณะหมดสติ กระทั่งผู้เคราะห์ร้ายรู้สึกตัวจึงต่อสู้ขัดขืน วิ่งหนีลงไปในหนองน้ำ เป็นเหตุให้ถึงแก่ชีวิตในที่สุด

แม้ในขณะนี้ผลการชันสูตรศพจะยังไม่ระบุออกมาแน่ชัดว่าเหยื่อสาวผู้เคราะห์ร้ายถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือไม่ แต่หลักฐานและคำให้การเท่าที่มีอยู่ก็พอจะมัดตัวให้คนร้ายถูกคาดโทษเอาไว้แล้วในข้อหาต่อไปนี้

พยายามข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งไม่ใช่ภรรยาของตน โดยใช้กำลังหรือขู่เข็ญด้วยประการใด, ลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ เพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป, มีเครื่องวิทยุสื่อสารคมนาคมใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต และเสพยา

ยิ่งลงลึกถึงรายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยิ่งทำให้รู้สึกอนาถไปกับจิตใจของอาสาสมัครที่ควรเปี่ยมล้นไปด้วยเมตตาต่อผู้ประสบเหตุ แต่กลับกลายมีจิตใจที่โหดเหี้ยม สนองความหื่นของตนจนยากแก่การให้อภัย และนี่คือเหตุการณ์บางส่วนจากคำให้การและการสันนิษฐานที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งบรรยายเอาไว้ บอกได้เลยว่ายิ่งอ่านยิ่งรู้สึกสลดจนยากจะอธิบาย...

“เมื่อไปรับเหยื่อที่ฟูดแลนด์ไปส่งโรงพยาบาลรามคำแหง เห็นสภาพสะลึมสะลือไม่มีสติและหน้าตาดี ประกอบกับเพิ่งเสพยาบ้ามา จึงเกิดอารมณ์ทางเพศ เปลี่ยนใจไม่นำตัวส่งโรงพยาบาล เนื่องจากว่าถ้านำตัวไปส่งต้องมีการเซ็นชื่อและต้องมอบทรัพย์สินให้แก่ทางโรงพยาบาล จึงตัดสินใจขับรถออกทางประตูด้านหลังของโรงพยาบาลไป

ระหว่างทางก็ได้ล่วงละเมิดทางเพศด้วยการลูบคลำมาตลอดทาง พอถึงบริเวณจุดเกิดเหตุเป็นสถานที่เปลี่ยว จึงคิดจะข่มขืนจึงได้ลงมือถอดเสื้อชั้นในออก แต่ผู้เสียชีวิตมีสติขึ้นมาพยายามต่อสู้ขัดขืนไม่ยอมให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย โดยผู้เสียชีวิตหันไปเห็นมีดที่อยู่ในรถจึงหยิบมาขู่ คนร้ายจึงคว้าไว้และกัดเข้าไปที่แขนเพื่อให้ปล่อยมีด แต่ผู้เสียชีวิตใช้เท้าถีบและเตะ จนสามารถแย่งมีดกลับคืนไปได้และเคาะที่กระจกด้านหน้าคนขับ จนคนร้ายเกิดความกลัว ยอมเปิดล็อกประตูให้วิ่งลงไป ก่อนจะรีบขับรถหนีไป แล้วนำเอาแหวนทองรูปหัวใจมีเพชร 2 วงของเหยื่อ ไปขายในราคาไม่เกิน 5,000 บาท”

ยังมีคำถามคาใจอีกมากมายเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมปริศนาในครั้งนี้ แต่ที่ถกเถียงกันเป็นประเด็นร้อนที่สุดเห็นจะไม่พ้นคำถามที่ว่า “แล้วต่อไป จะให้ไว้ใจหน่วยกู้ภัยได้อย่างไรกัน?”




“กู้ภัย” แฝงตัวมา “ก่อภัย”
“มีการคัดคนมาเป็นอาสาสมัครกู้ภัยบ้างมั้ย?” คือคำถามที่หลายคนสงสัย เพราะหลังจากข่าวอาชญากรรมครั้งนี้แพร่ออกไป ก็มีรายละเอียดบางแห่งปูดออกมาเพิ่มเติมว่า คนร้ายเคยมีประวัติก่อคดีอย่างอื่นมาก่อนด้วย ชวนให้สงสัยว่าแท้จริงแล้วระบบการทำงานของหน่วยกู้ภัยแต่ละมูลนิธิเป็นเช่นไร เข้มงวดแค่ไหนในการคัดคนเข้ามาทำหน้าที่เพื่อสังคมในตำแหน่งนี้

สมภพ เลิศดำรงศักดิ์ อุปนายกสมาคมอาสาสมัครช่วยเหลือเหตุฉุกเฉิน อธิบายว่า ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าหน่วยงานที่ทำงานในลักษณะกู้ชีพกู้ภัยฉุกเฉินนั้นแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรก หน่วยงานกู้ชีพสังกัดหน่วยงานภาครัฐ อย่างเช่น ศูนย์กู้ชีพนเรนทร กระทรวงสาธารณสุข, ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหาคร ฯลฯ ในส่วนนี้จะเป็นเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการรับสมัครคัดเลือกได้รับการฝึกอบรมจากต้นสังกัด

และกลุ่มที่สอง หน่วยงานกู้ชีพสังกัดเอกชน ลักษณะมูลนิธิที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล อย่างเช่น ป่อเต็กตึ๊ง, ร่วมกตัญญู ฯลฯ ซึ่งในกลุ่มนี้เองจะมีลักษณะ “อาสาสมัคร” ที่เข้ามาเป็นอาสากู้ชีพกู้ภัย เข้ามาเป็นคณะทำงานด้วยความสมัครใจ

กลุ่ม “อาสากู้ภัย” ส่วนมากไม่ได้ผ่านการคัดกรองในเรื่องประวัติโดยละเอียด เรียกได้ว่าใครใคร่อยากเป็นอาสากู้ภัยสังกัดไหนก็สามารถขอเข้ามาร่วมได้ไม่ยาก ยิ่งไปกว่านั้นยังมีกรณีสถาปนาตนขึ้นเป็นอาสากู้ภัย โดยทำการซื้อชุดเครื่องแบบมาสวมใส่, ตบแต่งรถยนตร์ติดสติกเกอร์อาสาฯ, ติดไซเรน ฯลฯ เรียกว่าสามารถสวมรอยกันได้ง่ายๆ ผู้เกี่ยวข้องจึงควรช่วยกันสอดส่องดูแลผู้ที่จะเข้ามาเป็นอาสากู้ภัยให้ดี ไม่ควรให้หละหลวมอย่างที่เป็นอยู่

เรื่องการสกรีนคนนั้น จริงๆ แล้วควรจะทำเหมือนการรับสมัครงานของบริษัทคือส่งเรื่องไปดูเรื่องประวัติ แล้วถึงจะผ่านการรับรองให้เป็นสมาชิก แต่ ณ ปัจจุบัน มันเหมือนจะยุ่งยาก ก็เลยให้หัวหน้าชุมชนนั้นรับเข้ามาเป็นสมาชิกในจุดนั้นๆ ควรที่จะเข้มงวด อาสาถ้าเกิดสกรีนไม่เข้มมันก็จะเป็นเหมือนอย่างที่เป็นข่าวอยู่”

บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมพิเศษ อาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเอาไว้ในฐานะคนที่คลุกคลีทำงานตรงนี้มาร่วม 25 ปี ยอมรับว่าเรื่องการคัดคนเป็นอะไรที่ยากมาก

“ผมเป็นดารา เขาก็อาจจะไม่ได้จะตรวจสอบอะไรมากมาย และผมก็เต็มที่กับทุกงานที่ไป และพยายามหาวิธีหาตังค์ให้มูลนิธิ ไม่คิดจะมาเอาตังค์เข้ากระเป๋าจากมูลนิธิ ส่วนเรื่องการคัดคนส่วนกลาง มีคนมาติดต่อผ่านมาทางผมเยอะมากเหมือนกันนะครับที่ผ่านมา ผมก็จะถามเลยว่า 1.เคยฝึกอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นมามั้ย 2.มีใบไปรษณียบัตรเกี่ยวกับการช่วยชาติ เคยเป็นทหารหรือตำรวจหรือเปล่า

แต่โดยมากแล้ว ที่ทางมูลนิธิพิจารณาเป็นหลักก็จะดู 1.การศึกษา อย่างน้อยก็ต้องจบ ม.3 หรือ ม.6 2.อาชีพ ส่วนนี้เราไม่ได้สนใจเท่าไหร่ว่าเขาจะประกอบอาชีพอะไร เรารับทุกอาชีพอยู่แล้ว หรือแม้แต่คนที่ไม่มีอาชีพ ก่อนรับเราก็ต้องดูก่อนว่า บ้านเลขที่ของคุณอยู่ที่ไหน ตรวจบัตรประชาชน กรอกใบสมัครเรียบร้อย ไม่ใช่เดินมาสมัครลอยๆ แล้วก็รับ

ส่วนเรื่องการตรวจประวัติ เราต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายรับผิดชอบของแต่ละเขต ทางเหนือ-ทางใต้ แต่ละจุด ซึ่งเขาก็คงอาจจะไม่ได้ถึงขั้นขอข้อมูลจากสถานีตำรวจเพื่อดูประวัติอาชญากรรมของคนที่มาสมัครขนาดนั้น มันไม่เหมือนทำงานราชการที่จะตรวจแบบนั้นครับ เพราะส่วนใหญ่จะรับเข้ามาทำงานจากคำแนะนำของคนรู้จักกัน ดูพฤติกรรมการทำงานแล้วเป็นคนตั้งใจ”

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นยอมรับว่าทำให้ภาพลักษณ์ของหน่วยกู้ภัยเสียหาย โดยเฉพาะมูลนิธิร่วมกตัญญูซึ่งเป็นเครือเดียวกับที่คนร้ายผู้ก่อเหตุสังกัดอยู่ พูดคุยกันระหว่างผู้ใหญ่แล้ว บอกเลยว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน

“ผมว่ามันต้องมีมาตรการเกี่ยวกับเรื่องการตรวจสอบที่ดีกว่านี้ ให้คนเขาสามารถไว้วางใจกู้ภัยได้ เช่น อาจจะคุมเข้มเน้นเรื่องการแต่งตัวให้มากขึ้น จากเดิมอนุญาตให้ใส่ชุดไปรเวทได้ บางทีเป็นเสื้อปักชื่อมูลนิธิกับกางเกงยีนส์ ถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากจะให้เปลี่ยนให้มีชื่อและรหัสตัวใหญ่ๆ ปักอยู่ที่หน้าอก ให้มองเห็นเลยว่าชื่ออะไร อยู่หน่วยไหน คนไข้ พยาน หรือญาติ จะได้จำเอาไว้ว่าคนที่มาส่งตัวคือใคร เหมือนกับรถแท็กซี่ไงครับ พอขึ้นแท็กซี่ปุ๊บ เราก็จะรู้เลยว่าคนขับชื่ออะไร ป้ายทะเบียนอะไร แต่ถึงขนาดทำละเอียดขนาดนั้น ก็ยังมีข่าวผู้โดยสารมีปัญหากับแท็กซี่อยู่เหมือนกัน”




ภาพลบๆ ที่ลบไม่ออก
“รูดทรัพย์ ขับซิ่ง ยิงกันแย่งเหยื่อ” คือภาพลักษณ์ที่ผ่านมาที่คนให้ความจำกัดความสั้นๆ เอาไว้สำหรับภารกิจของกู้ภัย ซึ่งเรียกได้ว่าทำให้คนดีๆ ที่ตั้งใจทำงานเพื่อส่วนรวมจริงๆ ถึงกับท้อใจไปหลายครั้งเหมือนกัน บิณฑ์ ดาราหนุ่มใจกุศลเปิดใจเล่าให้ฟัง

“ที่ผ่านมา อาจจะมีข่าวว่าคนร้ายเอารถมูลนิธิไปค้ายาเสพติดบ้าง เอาไปทำสิ่งไม่ดีหลายๆ ทางที่เคยเกิดขึ้นบ้าง แต่พวกเราก็พยายามย้ำให้คนเห็นว่า อย่ามาเหมาองค์กรโดยรวมได้มั้ย อย่าคิดว่ากู้ภัยทุกคนเป็นอย่างนั้น ก็เหมือนตำรวจที่มีทั้งตำรวจดีและไม่ดี ทุกอาชีพก็มีทั้งคนดีและไม่ดี แต่พอเรื่องเหล่านี้เกิดกับมูลนิธิเพื่อสังคม มันเลยยิ่งทำให้คนมองว่าแย่ลงไปกว่าเดิมอีก 2-3 เท่า เพราะถ้าเป็นคนปกติไปทำไม่ดี ก็อาจจะไม่ร้ายแรงเท่านี้ แต่นี่คุณมีหน้าที่ไปช่วยเหลือผู้คนให้รู้สึกว่าพึ่งเราได้ แต่กลับมาทำแบบนี้ ผมทำงานมา 25 ปี เพิ่งเกิดกรณีนี้เป็นครั้งแรก แต่เรื่องการทะเลาะกันระหว่างกู้ภัย ก็มีอยู่ประปราย ปีละครั้ง 2 ครั้ง หรืออย่างเรื่องของของผู้ประสบเหตุหาย ก็ยอมรับว่ามันก็มีบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ว่ามีตลอด

แต่กรณีที่เกิดขึ้นนี้ ผมว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่า คนที่มาทำงานมูลนิธิร่วมกตัญญู อันดับแรกเลยต้องมีจิตอาสาอยู่แล้วล่ะ เพียงแต่ว่าเมื่อสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น จะหักห้ามใจได้มั้ย เขาเรียกว่ามีจิตสำนึกกับสิ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน เงินทอง หรือร่างกายของผู้ที่ไปช่วยเหลือมา และผมไม่เข้าใจจริงๆ ว่ากรณีนี้ คนร้ายไปรับคนเจ็บ ไปได้ยังไงคนเดียว ตามหลักแล้วมันไปรับไม่ได้นะ เพราะต้องมีการขนย้ายคนเจ็บ มีคนดูแลตอนอยู่บนรถ มีคนขับรถ ทำได้ยังไงไปคนเดียว มันลำบากมาก ทำให้กรณีนี้ต้องอาศัยคนในร้านช่วยกันพยุงน้องผู้หญิงขึ้นรถ แล้วก็ให้มานั่งหน้ารถ นี่ยิ่งผิดเข้าไปใหญ่ เอาคนป่วย-คนเจ็บไว้หน้ารถได้ยังไง คุณต้องเอาไว้หลังรถสิ ให้เขานอนอย่างดี ล็อกตัวเขาไว้ไม่ให้ดิ้นหล่นระหว่างทางขับ

อันนี้อาจจะมีวัตถุประสงค์ไม่ดีตั้งแต่แรก เอาน้องผู้หญิงมานั่งหน้ารถ หรืออีกแง่นึง ตอนนั้นอาจจะไม่ได้คิดอะไร คิดว่าแค่สลบไป เอามานั่งหน้ารถจะได้ช่วยดูแลได้ แต่น้องผู้หญิงเขาหน้าตาดีแล้วสลบ มันก็เกิดเหตุขึ้นได้ ผมว่ามันควรจะมีมาตรการออกมาว่า ถ้าคนเจ็บไม่มีญาติพี่น้อง มาคนเดียว ต้องหาใครคนหนึ่งเป็นพลเมืองดีนั่งรถไปด้วยกับเขา หรือคนที่ขับรถมูลนิธิ ต่อไปนี้ถ้าคุณไม่มีคู่สาย ไม่มีใครไปเป็นเพื่อน คุณห้ามไปรับคนเจ็บคนเดียว ผมเชื่อว่าเดี๋ยวต้องมีมาตรการตรงนี้ออกมา เพราะปกติแล้ว การทำงานของมูลนิธิจะมีคนขับรถ 1 คน กับคู่สายอีก 1 คน แต่รถพยาบาลจะมีกันเยอะ รถอาสาสมัครก็อาจจะเยอะหน่อย

ส่วนเรื่องที่มีคนพูดถึงอยู่บ่อยๆ เมื่อก่อนคือกู้ภัยขโมยของของศพ รูดทรัพย์ไป เราก็พยายามที่จะสกรีนคนอยู่แล้วในมูลนิธิร่วมกตัญญู พยายามดูก่อนว่าพื้นฐานของเขาเป็นยังไง จบการศึกษาระดับไหน และมาอบรมเบื้องต้น 24 ชั่วโมง ใช้เวลา 3 วัน เรียนรู้ทุกอย่าง ผมเคยบอกกับเจ้าหน้าที่ทุกคนเลยว่าคุณต้องหาพยาน ก่อนนำตัวเขาขึ้นรถ ต้องหาพยานหรือถ่ายรูปไว้เลยว่า ดูนะว่าคนเจ็บมีแหวน มีนาฬิกา มีสร้อย ฯลฯ หรืออย่างเวลาผมทำงาน ไปถึงที่เกิดเหตุ ถ้าใครจะแตะทรัพย์สิน ผมบอกว่าอย่าเพิ่ง เรียกตำรวจมาก่อน ให้ตำรวจมาเป็นพยานในที่เกิดเหตุ ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานแล้วก็เก็บของไว้ให้ญาติคนป่วย เราจะทำอย่างนี้ตลอด ให้คนเห็นว่าเราโปร่งใสจริงๆ

กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พวกเราโกรธมากนะครับ ทุกคนที่ทำงานที่นี่โกรธแค้นกับคนคนนี้มาก ทำให้ชื่อเสียงมูลนิธิเสียหายมาก พูดถึงตัวผู้ต้องหา ผมมีโอกาสได้คุยกับผู้จัดการของน้องคนนี้ เขาก็บอกว่าน้องก็เป็นเด็กที่ขยันทำงาน เป็นกำลังช่วยสนับสนุนที่ดีของเขตเหนือ เวลามูลนิธิแจ้งว่ามีเหตุเกิดปุ๊บ คนนี้จะรีบวิ่งรถออกไปช่วยก่อนเลย ไม่เคยมีเหตุอะไรเกิดขึ้นเลยด้วย รู้สึกว่าเขาจะเข้ามาอยู่ได้ปี 2 ปีแล้ว ภาพในตอนแรกๆ เขาก็ดูเป็นคนดีในสายตาหลายๆ คน

พอมาเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น เรายังงงเลยว่า เฮ้ย! มันทำได้ยังไงวะ เฮ้ย! คนนี้เหรอ คนที่รู้จักเขายังตกใจ กลายเป็นว่าคนมองไปแล้วว่า อ้าว! มูลนิธิยังไว้ใจไม่ได้ ต่อไปจะไว้ใจให้ใครมาช่วยเหลือได้ ต่อไปนี้คนเจ็บจะเรียกรถกู้ภัย อาจจะบอกว่า เฮ้ย! ร่วมกตัญญูไม่เอานะเว้ย ถ้าเป็นแบบนี้มันก็ทำให้เราทำงานกันลำบากมากขึ้น มันทำให้เราเสียความรู้สึก รู้สึกว่าไม่น่าเกิดขึ้นเลย มันกระทบมาถึงคนดีๆ ที่ทำงานอยู่ตรงนี้มาทั้งชีวิต มาเจอคนคนนึงมาทำแบบนี้ มันทำให้ภาพลักษณ์ทุกอย่างมันเสียหมด




สำคัญ ที่ “สำนึก”
เมื่อเกิดเหตุการณ์สะเทือนใจเช่นนี้ขึ้น หลายคนอาจจะแนะนำให้เข้มงวดต่อการคุมเข้มคนเข้ามาเป็นอาสาสมัครกู้ภัยให้มากขึ้น แต่ สมศักดิ์ นัคลาจารย์ ที่ปรึกษาระบบข้อมูลการจัดการข้อมูลเว็บไซต์ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียว กลับมองเห็นว่า “อุดมการณ์” ต่างหากที่ควรปลูกฝังให้เข้มงวดมากขึ้น

“แต่ละมูลนิธิมีอุดมการณ์แตกต่างกันออกไป ผมไม่พูดถึงมูลนิธิอื่น แต่ของป่อเต็กตึ๊ง เรามีผู้ปฏิบัติมาเป็นพันกว่าปีแล้ว ทุกคน ทุกคนซึ้งในอุดมคติของหลวงปู่ไต้ฮง ทุกสิ่งที่อย่างที่ทำไป นอกจากความรู้ที่นำมาใช้ในเรื่องการกู้ภัยแล้ว บวกจิตสำนึกของหลวงปู่ไต้ฮงที่สอนเอาไว้เสมอเลย ถ้าเราทำไม่ดี เราก็จะลำบาก เกิดปัญหาในหลายๆ ส่วนจากบาปกรรมของเราเอง คนที่บริจาคมาให้มูลนิธิเพราะเขาต้องการสนับสนุนคนที่ทำความดี ซึ่งถ้าคิดได้แบบนี้มันก็จะเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในใจที่จะมีคุณค่ามากกว่ากฎเกณฑ์การคัดเลือกคน มากกว่าระเบียบที่รู้ๆ กันอยู่ เพราะระเบียบการปฏิบัติงานของอาสากู้ชีพ-กู้ภัยก็ทำงานกันอย่างเต็มที่อยู่แล้ว

เรื่องของจิตใจของอาสาสมัคร บอกเลยว่าถ้าไม่พร้อมก็อย่าเข้ามา ผมว่าทุกคนที่เคยมีประสบการณ์ช่วยคนมา จะรับรู้ได้เป็นอย่างดีว่าความรู้สึกมันเป็นยังไงจากการได้ช่วยเหลือผู้คน ดังนั้น ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมันก็เป็นเรื่องพูดยาก พูดไม่ถูกว่าคนที่ลงมือทำเขารู้สึกยังไง เห็นคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เป็นอะไร เราไปทำอย่างนั้นมันมีความหมายอย่างไร เป็นผลเสียหายแค่ไหน ถ้าเป็นคนในกลุ่มมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เราจะรู้แก่ใจดีว่า ถ้าทำอย่างนั้น หลวงปู่เห็นอยู่นะ ครอบครัวของตัวคุณจะมีความวิบัติเกิดขึ้นในชีวิต

อันนี้ไม่ใช่แค่อ้างเรื่องความเชื่อแล้วบังคับให้คนทำ แต่มันคือความคิดอุดมคติที่แฝงให้คนมีอุดมการณ์อยากช่วย และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนยับยั้งชั่งใจได้ว่า นี่คือสิ่งที่เราต้องทำ ไม่ใช่เข้ามาเพื่อต้องการหวังกอบโกยผลประโยชน์ หลวงปู่ท่านต้องการให้เราทำความดี เมื่อทำดี ความดีก็จะกลับไปสู่สังคม สังคมดี เราก็อยู่ดีมีสุข

งานอาสาสมัคร ไม่มีใครมาบังคับให้เราทำ เพราะฉะนั้น ถ้าคิดว่าไม่พร้อมก็ขอให้ถอยออกมาซะ ถ้าคิดว่ายับยั้งชั่งใจไม่ได้ จะประพฤติผิดกฎเกณฑ์-กฎหมาย ก็อย่ามาทำ อย่ามาสมัคร เพราะถ้าผิดพลาดเกิดขึ้น ยิ่งทำให้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย ทั้งชื่อเสียงขององค์กรด้วย

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมเชื่อว่าคนทั้งประเทศแยกออกว่าคนมีทั้งดีและชั่ว ส่วนประชาชนก็คงต้องดูกันต่อไปว่าเจ้าหน้าที่ทำงานกันยังไง ส่วนจุดต่างๆ ที่รับอาสาสมัครของประจำมูลนิธิ ก็ต้องเพิ่มความเข้มงวด ความเข้มงวดที่พูดถึงไม่ใช่แค่เรื่องการดูคุณสมบัติหรือกฎเกณฑ์อะไรนะครับ แต่ผมหมายถึงเข้มงวดในเรื่องการสร้างความรู้สึกดี สร้างอุดมการณ์อย่างต่อเนื่องอย่าให้ขาด เพราะอุดมการณ์สำคัญมากกว่ากฎระเบียบ ให้เขาเห็นอย่างชัดเจนว่าเราจะต้องทำดีนะ ความดีมันจะกลับมาหาเรา แม้เราตายแล้ว ความดีเหล่านั้นก็จะยังคงอยู่ แต่ถ้าทำชั่วครั้งเดียว ความดีทั้งหมดที่เคยทำมาก็จะหายไปหมด

ขณะเดียวกัน มูลนิธิที่สังกัดเครือข่ายส่วนกลางก็ต้องเข้มงวด ให้ความรู้ในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติช่วยเหลือ เข้มงวดในการส่งเสริมคนทำความดีอย่างต่อเนื่อง ถ้าเห็นว่าไม่ชอบมาพากลก็ต้องรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ทราบ หรือแจ้งให้ต้นมูลนิธิทราบ เพราะอย่าลืมว่ารถที่ใช้ในการทำงานจะขึ้นทะเบียนกับทางมูลนิธิอยู่แล้ว ถ้าแจ้งหมายเลขทะเบียนก็จะทราบทันทีว่าใครออกปฏิบัติงานอยู่ เช็กได้ว่ากู้ภัยจริงหรือปลอมเข้ามา ต้องช่วยกันดูต่อไป เพื่อไม่ให้คนดีท้อแท้ในการให้ความช่วยเหลือ

สำหรับคนที่ทำงานเพื่อสังคม ทำงานกู้ภัยอยู่ตรงนี้ จะเป็นพนักงานประจำหรืออาสาสมัครก็ตาม ก็ต้องพึงระลึกไว้เลยว่า ความสุขแค่แป๊บเดียว ไปล่วงละเมิดทางเพศเขาเนี่ย มันแค่ความสุขชั่วคราว แต่เทียบกับความสุขที่เราได้รับมา เวลาเขาฟื้น ยกมือไหว้ ส่งสายตาขอบคุณอย่างสุดซึ้งมาให้เรา มันรับรู้ได้ มันยิ่งใหญ่และยาวนานกว่าความสุขชั่ววูบแบบเทียบกันไม่ได้เลย

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE



ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
ซิ่งแหลกแหกกฎ! “กู้ภัย” ใครถึงก่อนเป็นผู้ชนะ?
คนร้ายในคราบคนดี
ขอบคุณภาพจาก เดลินิวส์


กำลังโหลดความคิดเห็น