ถ้าเป็นในสมัยก่อนใครหลายคนอาจหวาดกลัวต่อคำว่า “กบฏ” แต่ตอนนี้ คำนี้กลายเป็นว่าขาดความศักดิ์สิทธิ์เมื่อออกมาจากรัฐบาลที่ประชาชนเอือมระอา หลังออกมาชี้ว่าหัวหอกการชุมนุมในตอนนี้ อย่างสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นกบฏที่คิดจะล้มล้างรัฐบาล พาลทำมวลมหาประชาชนคลางแคลงใจ ใครเป็นกบฏกันแน่ ในเมื่อรัฐบาลเองก็ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน กลายเป็นว่าประเทศไทยถึงขั้นวิกฤติ คนชั่วกุมอำนาจชี้ขาดว่าใครไม่เห็นดีด้วยกับตนนั้นถือเป็นกบฏ!!
โปรยว่อน หมายจับ “กบฏ”
โดนอนุมัติหมายจับจากศาลอาญาในข้อหากบฏเป็นที่แน่นอนแล้ว เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (2 ธันวาคม 2556) สำหรับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ ว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้า หรือผู้มีหน้าที่สั่งการ และเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกไปแต่ไม่เลิก โดยข้อหาดังกล่าวมีอายุความ 20 ปี มีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต
นอกจากนั้น ยังมีเหตุการณ์ชวนฉงน เมื่อมีการโปรยใบปลิวและหมายจับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ลงมาในบริเวณพื้นที่การชุมนุม ณ ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ในวันถัดมาหลังศาลอาญาอนุมัติหมายจับ (3 ธันวาคม 2556) โดยข้อความในใบปลิวนั้น ใบแรกจะเป็นหน้าถ่ายเอกสารหมายจับของนายสุเทพ ส่วนอีกหน้าหนึ่งนั้น เป็นข้อความแจ้งเตือนประชาชนไม่ให้เข้าร่วมชุมนุม มีใจความว่า
“ประกาศแจ้งเตือนและขอความร่วมมือ พี่น้องประชาชนที่เคารพรัก ด้วยศาลอาญาได้ออกหมายจับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งต้องหาว่า กระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ เพื่อให้การดำเนินการตามหมายจับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอความร่วมมือมายังพี่น้องประชาชนที่บริสุทธิ์และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในครั้งนี้ ได้หลีกเลี่ยงการชุมนุมที่ไม่มีความชอบธรรม และให้ความร่วมมือในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามกฎหมายต่อไป”
การโปรยหมายจับลงมาจึงไม่ต่างอะไรกับการยั่วยุกลุ่มผู้ชุมนุม แต่อย่างไรก็ตาม ภายในวันเดียวกันนั้นเอง ศาลอาญาได้เรียกผู้กำกับ สน.ทุ่งสองห้องมาไต่สวน กรณีนำหมายจับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไปเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ และสั่งให้ยุติการกระทำดังกล่าว
“เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2556 เวลา 10.00 น. ศาลอาญาเรียนไต่สวนผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง ในฐานะพนักงานสอบสวน กรณีมีการนำหมายจับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไปเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ และนำไปโปรยทางเฮลิคอปเตอร์ให้แก่ผู้ชุมนุมตามสถานที่ต่าง ๆ นั้น
ศาลอาญาไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า การดำเนินการตามหมายจับของศาล เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องต้องกระทำเพียงเพื่อจับกุมบุคคลตามหมายจับโดยเคร่งครัด การนำหมายจับไปเปิดเผยต่อผู้ที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือมิใช่เพื่อจับกุมบุคคลตามหมายจับโดยตรง ย่อมปราศจากอำนาจที่จะกระทำได้ ศาลอาญาจึงออกข้อกำหนด ห้ามมิให้เจ้าพนักงานกระทำการใด ๆ อันเป็นการเผยแพร่หมายจับต่อบุคคลผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจับกุมบุคคลตามหมายจับโดยตรง มิฉะนั้นถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล และแจ้งคำสั่งศาลให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทราบ”
นักวิชาการยัน ม็อบทำถูกต้อง
การถูกตั้งข้อหาว่าเป็นกบฏ หลายฝ่ายอาจกังวลใจ ด้วยการเป็นกบฏในสมัยก่อน ถือเป็นข้อหาที่ร้ายแรง หากไม่จบชีวิตลงก็ต้องหลบลี้หนีภัยไปยังต่างประเทศ ดังเหตุการณ์กบฏกว่าสิบครั้งในประเทศไทย การที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นกบฏในครั้งนี้ ประชาชนหลายคนจึงเกิดความคลางแคลงใจว่ามันสมควรแล้วหรือไม่ คำตอบหนึ่งจากฟากนักวิชาการอย่าง ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า ในทัศนะของตัวเขาเอง มั่นใจว่าการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลครั้งนี้ ไม่ถือว่าเป็นกบฏ
“การดำเนินการครั้งนี้เราดำเนินการภายใต้รัฐธรรมนูญนะครับ โดยอ้างบทบัญญัติมาตราที่ 69 และมาตรา 70 ซึ่งให้อำนาจกับประชาชนไว้ เนื่องจากรัฐบาลนี้ลุแก่อำนาจ ไม่ยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับปฏิเสธรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รัฐบาลนี้จึงขาดความชอบธรรมทางด้านกฎหมาย ประการที่สอง ประชาชนมีความไม่พอใจในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ แล้วก็ออกมาชุมนุมต่อต้าน แต่รัฐบาลไม่ฟัง อันนี้ก็ถือว่าขาดความชอบธรรมทางการเมือง ประการที่สาม ที่เราดำเนินการอยู่คือรัฐบาลนี้ปกครองประชาชนไม่ได้ หน่วยงานรัฐบาลต่างๆ ต้องออกมาช่วยกันต่อสู้เพื่อที่จะให้รัฐบาลชุดนี้ขาดความชอบธรรมทางการปกครอง ทั้งความชอบธรรมทางกฎหมาย ความชอบธรรมทางการเมือง และความชอบธรรมทางการปกครอง ทั้งสามประการนี้ก็จะทำให้รัฐบาลหมดสภาพไป
ทางด้านนี้เราก็ยึดรัฐธรรมนูญอยู่ว่ามีรัฐบาลและรัฐสภาของประชาชน ทีนี้ ต่อคำถามที่ว่า เป็นกบฏหรือไม่? ในความเชื่อของนักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ นักวิชาการอย่างพวกผมก็ปรึกษาหารือกับคุณสุเทพเนี่ย มั่นใจว่าไม่เป็นกบฏ และก็มีสิทธิที่จะให้ประชาชนออกมาปกป้องประเทศ”
นอกจากนั้นแล้ว ชวินทร์ ลีนะบรรจง, สุวินัย ภรณวลัย ยังได้เขียนบทความในเว็บไซต์ Manager Online โดยตั้งชื่อเรื่องเป็นคำถามชวนให้คิดว่า “ใครกันแน่ที่เป็นกบฏ?”
กบฏคือการไม่ยอมรับกฎหมายหรืออำนาจศาลให้มาบังคับตน
ยิ่งลักษณ์กับพวก หรือ สุเทพ ใครคือกบฏ
ขณะนี้ประเทศไทยดูเหมือนจะมี 2 รัฐบาลในเวลาเดียวกัน หนึ่งคือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่อ้างความชอบธรรมว่ามาจากการเลือกตั้งกับอีกหนึ่งคือฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่นำโดยนายสุเทพและคณะ
แม้จะไม่ทำหน้าที่รัฐบาลบริหารประเทศโดยตรง แต่ก็ได้ทำการแข็งข้อจนมีผลทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่สามารถดำเนินการบริหารประเทศได้
แน่นอนว่าแข็งข้อแล้วจะถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ แต่ข้อหากบฏที่จะกล่าวหาต้องพึ่งอำนาจศาลที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ปฏิเสธไม่ยอมรับ? เข้าใจกันหรือยังว่าระหว่าง “เคารพกฎหมาย” กับ “ทำผิดกฎหมาย” ของการเป็นพลเมืองแข็งข้อไม่ว่าจะเป็น คานธี หรือ สุเทพ หมายความว่าอย่างไร
ระหว่างรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมกับพลเมืองผู้แข็งข้อ กบฏคือใครกันแน่?
สิ่งสำคัญคือว่าตามกฎหมาย
ในแง่ของกฎหมาย การเป็นกบฏอาจไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวเท่าไหร่นักในยุคสมัยนี้ หากถูกก็ว่าไปตามถูก หากผิดก็ว่าไปตามผิด ทั้งนี้ นักวิชาการคนเดิมอย่างทวี ระบุว่า เมื่อยืนยันว่าตนเองบริสุทธิ์และออกมาสู้กับคดี เชื่อว่าจะไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ากลัวอะไร แค่ต้องเล่นตามกฎกติกาเท่านั้น อย่างคดีนายสุเทพเอง ก็คาดว่าน่าจะหลุดคดีในที่สุด ซึ่งก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการสอบสวนสืบพยานในชั้นศาลอีกทีหนึ่ง
“ถ้าข้อกล่าวหาทางกฎหมาย หลายๆ ท่านเห็นแล้วก็อาจจะตกใจว่าเป็นคดีที่หนัก ดูเป็นภาวะรุนแรงของกฎหมาย เรียกว่าโดยพฤตินัยของมัน การที่มันมีผลบังคับมันก็เลยดูน่ากลัว ก็เหมือนกับคนที่จะมาฆ่าเรานั่นแหละ เราก็มีสิทธิปกป้องตัวเองเช่น ไม่ให้ใครเข้ามาในบ้าน อย่างคุณสุเทพตอนนี้ก็เรียกว่าอยู่ในบ้านของมวลมหาประชาชน ส่วน 9 แกนนำของพันธมิตรอันนี้ เขายินยอมไปมอบตัวเองนะ ตำรวจก็ไม่ได้ไปจับ ไปลากถูไถอะไรที่ไหน เพราฉะนั้น มันก็เป็นสิ่งที่เราก็ปฏิบัติตามกฎหมาย เราก็ต้องปกป้องคุณสุเทพไว้ แล้วก็ช่วยกันในการประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ลุแก่อำนาจเกินกว่าเหตุ คือคำว่ากบฏเนี่ย มันคือต้องล้มล้างสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว หรือมีการทำลายให้เสียหายอย่างหนัก การที่ตำรวจไปตั้งข้อหาแบบนั้น ผมคิดว่าในที่สุด เดี๋ยวก็จะหลุดคดีและจะได้รับชัยชนะ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกลัวครับ ในลักษณะที่จะเจอข้อหานี้ ก็เหมือนกับการทำผิดกฎหมายจราจรก็คล้ายๆ กัน เราก็มีหน้าที่ทำตามกฎหมายถ้าเราผิดเราก็รับผิด ไปจ่ายปรับให้จบไป ถ้าเราไม่ผิดก็ต้องไปยืนยันความบริสุทธิ์ ไปสู้คดี เพราะคดีๆ นึงมันไม่ได้ง่าย ต้องมีการอ้างพยาน อย่างตัวผมเอง ก็ต้องไปเป็นพยานให้กับอาจารย์ท่านนึง ก็คดีนานหลายปีแล้วก็ยังไม่เสร็จสิ้น ผมต้องเดินทางไปให้ปากคำเรื่อยๆ ถามเจ้าหน้าที่สอบสวนว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ เขาก็ตอบว่าไม่รู้ ก็สอบสวนไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรต้องกลัวครับ ส่วนมากคดีทางการเมืองก็ไม่ได้หนักขนาดคอขาดบาดตาย”
ความรู้ทางด้านกฎหมายในข้อหาการเป็นกบฏ ก็เคยได้มีการเผยแพร่ไปแล้วครั้งหนึ่ง ในช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551 หลังแกนนำทั้ง 9 คนถูกแจ้งจับในข้อหากบฏ ซึ่งสุดท้ายศาลอุทธรณ์ก็ได้ถอนหมายจับข้อหากบฏนี้ไป ทั้งนี้ นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ ได้เคยไขข้อสงสัยผ่านทางเว็บไซต์ www.decha.com ว่า “การแจ้งข้อหากบฏ ทำได้หรือไม่ตามกฎหมาย” ในครั้งนั้น ไว้ว่า
1. การแจ้งข้อหากบฏ พนักงานสอบสวนทำได้หรือไม่ การที่พนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อหาว่าผู้ใดกระทำความผิดทางอาญา จะต้องเริ่มต้นด้วยการรวบรวมพยานหลักฐานตาม ป.วิอาญา มาตรา 131 เพื่อจะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิด คดีนี้พนักงานสอบสวนได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานจนรู้ตัวผู้กระทำความผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดแล้ว
ขั้นตอนต่อไป พนักงานสอบสวนจะต้องไปดู ป.อ.ว่ามีการกำหนดบทลงโทษไว้อย่างไร โดยเฉพาะในความผิดฐาน กบฏ เป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร มาตรา 113 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อ
1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
เมื่อดูองค์ประกอบความผิดจะเห็นว่าการกระทำของกลุ่มพันธมิตร จะเข้ามาตรา 113 (2) พนักงานสอบสวนจึงมีสิทธิที่จะแจ้งข้อหากบฏได้ แต่ส่วนการพิจารณาของศาลจะพิพากษาลงโทษหรือไม่ต้องไปสืบพยานกันในชั้นศาล
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุการณ์กลายเป็นว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นกบฏ ทางออกง่ายๆ ก็ดังที่ ผศ.ทวี แนะมาว่า ถ้าเราผิดเราก็รับผิด ถ้าเราไม่ผิดก็ต้องไปยืนยันความบริสุทธิ์ ไปสู้คดี ส่วนรัฐบาลชุดนี้ ถ้ากฎหมายเล่นงานไม่ได้เสียแล้วจริงๆ ก็คงต้องรอให้กฎแห่งกรรมทำงานของมันเอง
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live