จากกรณีการออกใบสั่งให้กับรถกู้ภัยกลายเป็นกระแสถกเถียงร้อนแรงในสังคม...ที่วางตัวเองอยู่บนทางเลือกระหว่าง “ความจำเป็นของกฎระเบียบ” และ “การช่วยเหลือชีวิตคน”
หน้าที่อันยิ่งใหญ่มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง การได้รับสิทธิพิเศษบนท้องถนนเพื่อภารกิจช่วยเหลือชีวิตในเสี้ยววินาทีของความเป็นและความตาย ด้านหนึ่งของอาสาสมัครกู้ภัยพวกเขาคือฮีโร่ในภาวะวิกฤต แต่อีกด้านหนึ่งก็เลี่ยงไม่ได้ที่หลายคนจะตั้งคำถามกับคุณงามความดีเหล่านั้น
ข้อครหาตั้งแต่ รีบขับมาแย่งผู้ประสบเหตุ เปิดไซเรนโดยมิชอบ จนถึงขับรถเร็วจนน่ากลัว!
เมื่อการจัดระเบียบของหน่วยกู้ภัยตั้งอยู่บนรากฐานของงานอาสาสมัคร การทำด้วยใจรัก การรวมตัวโดยไม่มีรายได้ใดๆ การควบคุมจึงวางตัวเองอยู่บนความไว้ใจส่วนบุคคล ท้ายที่สุดการวางกฎระเบียบให้สอดคล้องกับระบบที่เป็นอยู่นั้นควรวางตัวเองอยู่ที่สมดุลใดกันแน่?
กฎระเบียบหรือชีวิตคน!
จากกรณีที่เกิดขึ้นของใบสั่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกให้กับรถกู้ภัยเมื่อไม่นานนี้และกลายเป็นข้อถกเถียง ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีจากความผิด 2 ข้ออันได้แก่ 1.ดัดแปลงสภาพรถที่ผิดกฎหมาย 2.การติดไฟฉุกเฉินโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นกรณีที่อาจพบได้บ่อยกับรถที่ใช้ในงานของหน่วยกู้ภัยที่สังกัดตามมูลนิธิต่างๆ
โดยการทำงานตามปกติของเหล่ารถฉุกเฉินจากหน่วยกู้ภัยก็คือ เมื่อได้รับแจ้งอุบัติเหตุจะมีการใช้วิทยุสื่อสารไปหาสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อขออนุญาตใช้สัญญาณไฟฉุกเฉิน เมื่อได้รับอนุญาตจึงมีสิทธิ์ใช้ โดยไฟฉุกเฉินจะทำให้รถของหน่วยกู้ภัยได้รับสิทธิในการฝ่าฝืนกฎจราจรโดยเป็นไปเพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ประสบเหตุ
และด้วยความเป็นเหตุฉุกเฉินการแข่งกับเวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญทำให้รถจากหน่วยกู้ต้องรีบรุดไปให้ถึงที่หมาย และนำตัวผู้ประสบภัยไปส่งยังที่หมายโดยเร็วที่สุด
การที่รถของหน่วยกู้ภัยสามารถฝ่าฝืนกฎจราจรได้ประกอบกับการขับรถที่ต้องเร่งรีบรวดเร็ว ทำให้หลายคนมองว่า สิ่งนี้เป็นช่องว่างทำให้เกิดการใช้ไฟฉุกเฉินเพื่อความสะดวกส่วนตัว และการต้องไปถึงที่หมายอย่างรวดเร็วก็เป็นข้ออ้างให้ดัดแปลงรถโดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย
ในส่วนของไฟฉุกเฉินนั้นมีการระบุถึงสิทธิของรถฉุกเฉินไว้ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ว่า
“มาตรา 75 ในขณะที่ผู้ขับขี่ขับรถฉุกเฉินไปปฏิบัติหน้าที่ ผู้ขับขี่มีสิทธิดังนี้ (1) ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ ใช้เสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่อธิบดีกำหนดไว้ (2) หยุดรถหรือจอดรถ ณ ที่ห้ามจอด (3) ขับรถเกินอัตราความเร็วที่กำหนดไว้ (4) ขับรถผ่านสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรใดๆ ที่ให้รถหยุด แต่ต้องลดความเร็วของรถให้ช้าลงตามสมควร (5) ไม่ต้องปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือข้อบังคับการจราจรเกี่ยวกับช่องเดินรถ ทิศทางของการขับรถหรือการเลี้ยวรถที่กำหนดไว้ในการปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณี
“มาตรา 76 เมื่อคนเดินเท้า ผู้ขับขี่ หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์เห็นรถฉุกเฉินในขณะปฏิบัติหน้าที่ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือได้ยินเสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่อธิบดีกำหนดไว้ คนเดินเท้า ผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ต้องให้รถฉุกเฉินผ่านไปก่อนโดยปฏิบัติดังต่อไปนี้(1) สำหรับคนเดินเท้าต้องหยุดและหลบให้ชิดขอบทาง หรือขึ้นไปบนทางเขตปลอดภัย หรือไหล่ทางที่ใกล้ที่สุด (2) สำหรับผู้ขับขี่ต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดขอบทางด้านซ้ายหรือในกรณีที่มีช่องเดินรถประจำทางอยู่ทางด้านซ้ายสุดของทางเดินรถต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดช่องเดินรถประจำทาง แต่ห้ามหยุดรถหรือจอดรถในทางร่วมทางแยก(3) สำหรับผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ต้องบังคับสัตว์ให้หยุดชิดทาง แต่ห้ามหยุดในทางร่วมทางแยกในการปฏิบัติตาม (2) และ (3) ผู้ขับขี่และผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ต้องรีบกระทำโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้และต้องใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณี”
ทว่าสิทธิเหล่านี้สำหรับรถฉุกเฉินของหน่วยกู้ภัย จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียก่อน ในส่วนของการแต่งรถนั้นจะขึ้นอยู่กับกรมการขนส่งทางบกโดยมีรายละเอียดอยู่ในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ซึ่งมีการระบุรายละเอียดไว้อย่างชัดเจน ตั้งแต่การแต่งไฟรถ การโหลดต่ำ จนถึงการแต่งสีที่ต้องแจ้งกับกรมการขนส่งทางบกหากจะมีการดัดแปลง
ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยกู้ภัยก็อยู่ในสถานะที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน กู้ภัยต้องการทำงานซึ่งต้องประสานงานกับตำรวจ ขณะที่ตำรวจก็ต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ภัย ทำให้ในปัจจุบันการละเมิดอาจมีอยู่บ้างในลักษณะของการประนีประนอมต่อกัน
ความคาดหวังสูง
ข้อครหาต่อหน่วยงานกู้ภัยที่โดยมากแล้วเป็นมูลนิธิที่คนทำงานเป็นอาสาสมัคร สมศักดิ์ นัคลาจารย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียว อธิบายถึงโครงสร้างการทำงานของหน่วยกู้ภัยว่า ประกอบไปด้วยส่วนกลางเป็นที่มูลนิธิที่จะคอยดูแลประสานงานการแจ้งเหตุเตือนภัย ตลอดจนการฝึกอบรมเพื่อให้คนทำงานกู้ภัยมีความรู้ในด้านการแพทย์เบื้องต้น
แต่ลักษณะของโครงสร้างนั้น แต่ละจุดทำงานจะแบ่งเป็นโซนพื้นที่ซึ่งจะรับผิดชอบกันเองที่เรียกว่า “จุดเครือข่ายหรือฮับ(Hub)” โดยมีหัวหน้าจุดทำงานคอยดูแลและรับนโยบายจากส่วนกลางอีกทอดหนึ่ง ดังนั้นผู้ที่มาเป็นอาสาสมัครก็จะรวมตัวกับกลุ่มทำงานตามแต่ละจุดในพื้นที่เอง โดยมีหน้าที่รับผิดชอบทั้งการทำงาน ตลอดจนการคัดเลือกอาสาสมัครเข้ามาร่วมทีม
“การรับคนขึ้นอยู่กับในส่วนของฮับหรือจุดเครือข่ายตรงนั้นเลย เขาจะพิจารณากลั่นกรองของเขาเอง แต่ก็ต้องมีคุณสมบัติอย่างมีการงานทำเป็นหลักแหล่ง ซึ่งโดยปกติเขายังไม่ให้เข้าทำงานเลย จะให้มาสังเกตการณ์ก่อน ทำได้หรือเปล่า? ประธานกลุ่มจะยอมให้คนนี้เข้าในกลุ่มก็จะประเมิน เข้ามาไม่เสียหายต่อระบบ มีการทดสอบ บางทีเขาต้องดูคนพอสมควร ไม่งั้นเขาจะคุมได้ไง เพราะเขาไม่มีเงินเดือนให้ ต้องเอาคนจริงใจมีความรักเคารพในการเป็นตัวแทนของมูลนิธิ”
โดยการทำผิดกฎจราจรในกรณีเปิดไฟฉุกเฉินนั้น เขาเห็นว่าเป้าหมายสำคัญคือภารกิจช่วยเหลือฉุกเฉิน ซึ่งหากทำผิดหรือไม่มีเหตุจำเป็น เมื่อมีการสุ่มตรวจเจอก็ต้องมีการลงโทษเป็นเรื่องปกติ
“แม้แต่การใช้ไฟฉุกเฉินก็มีรายละเอียดจะสวนจะแซงผ่าน มันเป็นไปในลักษณะขออนุญาตไม่ใช่ฝ่าฝืน เห็นไฟแดงปุบลุยเลยก็ไม่ใช่ ต้องเปิดสัญญาณรอก่อน เปิดหวอให้ได้ยินชัดเจนและก็ไม่ได้ออกไปเลยนะ รอให้คนอื่นเขาหยุดก่อน ถ้ามีจราจรอยู่ตรงนั้นเขาจะยืนโบกให้เลย สัญญาณก็เป็นในลักษณะอนุญาตหากติดอยู่ที่สัญญาณไฟแดงก็มีการโบกใอำนวยความสะดวก”
โดยการขออนุญาตมีการคัดกรองจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่แล้วซึ่งจะมีให้เป็นรายรถรายบุคคล กล่าวคือไม่ใช่ใครจะขับรถคันที่มีไฟแล้วเปิดสัญญาณฉุกเฉินได้ ต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตซึ่งก็มีเกณฑ์ในการอนุญาตที่พิจารณาแล้วว่าคนผู้นั้นมีดุลยพินิจในการตัดสินใจ และคุณสมบัติที่ผ่านหลักเกณฑ์ ทั้งนี้หากพบว่ามีการกระทำผิดเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีสิทธิ์ที่จะเพิกถอนที่จะไม่ให้ใช้สัญญาณนี้
ในส่วนของการแต่งรถนั้น ตามนโยบายโดยปกติของมูลนิธิที่ทำงานกู้ภัยนั้นจะไม่มีการให้แต่งรถเป็นพิเศษ เพราะความเร็วของรถเหล่านี้โดยปกติก็สามารถทำเร็วได้สูงพอที่จะนำตัวผู้บาดเจ็บไปส่งได้ในอัตราที่มีทั้งความเร็วและความปลอดภัยอยู่แล้ว
“รถของมูลนิธิจะเป็นมาตรฐานไม่ได้ดัดแปลงอะไร แต่ถ้าเป็นอาสาสมัครในกลุ่มเครือข่ายมันก็เป็นเรื่องในกลุ่มคนที่รับผิดชอบตัวเอง ปกติเขาก็ต้องแจ้งกรมการขนส่งทางบกอยู่แล้วหากมีการปรับแต่งรถ ซึ่งรถสแตนดาร์ดก็เหยียบกันเร็วอยู่แล้ว”
โดยการแต่งรถกู้ภัยซิ่งนั้น เขามองว่าอาจมีส่วนของการทำงานที่ต้องการความเร็ว แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นแฟชั่นด้วย
“การแต่งรถเป็นความผิดส่วนบุคคล ตำรวจก็มีสิทธิ์จับได้ จริงๆ รถไม่ต้องปรับแต่งก็ได้ แต่มันเป็นแฟชั่น รถฉันต้องเสียงดัง ต้องเร็วเพื่ออะไรไม่รู้ อาสามันก็มีคนหลากหลาย”
ในส่วนของการควบคุมนั้น เขาเผยว่า มูลนิธิจะรับนโยบายมาจากส่วนราชการและส่งข่าวต่อไปยังจุดเครือข่ายให้ควบคุมกันต่อไป
“จุดสำคัญคือมูลนิธิต้องช่วยกันดูแลสมาชิกให้ทำงานรวดเร็วเข้มแข็งแต่สุภาพ รวดเร็วเข้มแข็งคือทำงานเต็มที่ แต่สุภาพในการใช้ถนน สุภาพในการใช้ไซเรนเมื่อจำเป็นเท่านั้น”
ทั้งนี้ ด้วยความเป็นหน่วยกู้ภัยซึ่งมีภาพของความเป็นฮีโร่ เขาบอกเลยว่า สังคมมีความคาดหวังต่อคนเหล่านี้สูง ที่ผ่านมาข้อครหาถึงผลประโยชน์ที่มีให้ได้ยิน ซึ่งเขาบอกว่า มีอยู่จริง
“คนทำงานอาสาก็มีหลายประเภท ต้องบอกก่อนว่า เจตนาของพวกเขาตั้งอยู่บนความดีงาม ต้องการให้ผู้ประสบภัยรอดชีวิต แต่การส่งตามโรงพยาบาลที่ให้ค่าหัวแล้วมีการพบว่า หน่วยกู้ภัยแย่งกันผู้ประสบเหตุมันก็มีอยู่ในหลายพื้นที่ แต่มันก็มีในลักษณะของใครมาก่อนก็ได้ไป ส่วนคนที่ตามมาก็มาช่วยเหลือ ประเด็นสำคัญคืออย่างน้อยมันทำให้ผู้ประสบภัยรอดชีวิต”
ต่อประเด็นการขับรถของหน่วยกู้ภัยนั้น เขามองว่า ต้องเอาเรื่องความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง และเอาความเท่ไว้ทีหลัง
“มันเหมือนเท่ที่มีสิทธิพิเศษได้ขับแบบที่คนอื่นทำไม่ได้ ความเร็วขนาดนี้ พอติดไฟปุบทุกคนก็ต้องเอื้อให้ แต่ที่ทุกคนเอื้อก็เพราะต้องการเห็นความช่วยเหลือที่รวดเร็ว ช่วยชีวิตให้เร็วที่สุด ถ้าเปิดไฟฉุกเฉินเพราะต้องการจะไปกินก๋วยเตี๋ยวให้เร็ว มันก็ต้องถูกจับได้ ตรวจสอบได้ ถามว่ามีเกิดขึ้นมั้ย? ผมบอกได้ว่าต้องมี คึกคะนองบ้าง”
ท้ายที่สุดเขาเผยว่า การทำงานของแต่ละมูลนิธินั้นมีการดูแลที่ต่างกัน ทว่าการทำให้ถูกต้องก็ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญอยู่
“แต่ละมูลนิธิมีการดูแลต่างกันตามนโยบายของแต่ละองค์กร สิ่งสำคัญคือมีเป้าหมายที่ถูกต้อง วิธีการทำงานก็ต้องถูกต้องด้วย”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE