xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละไอเดีย "เลดี้ แท็กซี่-เลดี้ บัส"..ทำได้จริง หรือแค่สร้างภาพ?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดูเหมือนจะเป็นไอเดียที่ดี สำหรับ "เลดี้ แท็กซี่" ของกรมการขนส่งทางบก ที่ออกมาจุดประกายความหวังโดยจะมีบริการแท็กซี่เฉพาะผู้หญิงด้วยคนขับ "ผู้หญิง" เพื่อความอุ่นใจในเวลากลางคืน ด้านองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ก็ไม่น้อยหน้า เตรียมฟื้นชีพ "เลดี้ บัส" เพื่อเป็นทางเลือกให้บรรดาสุภาพสตรีมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น

แม้ตอนนี้ จะได้รับการกดไลค์ และตอบรับจาก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมว่าเป็นโครงการที่ดี แต่ก็ยังมีคำถาม และข้อสังเกตตามมาจากสังคมด้วยว่า จะทำได้จริงอย่างที่ออกมาปิ๊งไอเดีย หรือแค่สร้างภาพ หาผลประโยชน์มากกว่าจะคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก....

เรื่องเก่า..ทำใหม่

"เลดี้ แท็กซี่" และ "เลดี้ บัส" ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย มีภาคเอกชนได้เอาไปดำเนินการแล้ว โดยเฉพาะเลดี้แท็กซี่ที่ใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางติดต่อระหว่างลูกค้ากับผู้ประกอบการ ให้บริการในเขตกรุงเทพฯ และยังมีบริการเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเป้าหมายหลักคือ สุภาพสตรี กลุ่มบริษัท และนักท่องเที่ยว

ล่าสุด กรมการขนส่งทางบกก็ออกมาจุดประกาย "เลดี้ แท็กซี่" รับเฉพาะผู้หญิง ซึ่งแพงหน่อยแต่ก็ปลอดภัยกว่า

"ถ้าจะทำให้เป็นรูปธรรมจริง ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก ทั้งเรื่องผลดี ผลเสีย ความคุ้มทุน จำนวนรถจะเป็นเท่าไหร่ จะเพียงพอกับความต้องการหรือไม่ ถ้ารอเรียกรถแล้วนานๆ มี 1 คัน คนจะใช้บริการหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งแนวคิดทั้งหมดเหล่านี้ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งนี้หากต้องดำเนินการจริง จะต้องใช้เวลาอีกมากในการศึกษารายละเอียดที่เกี่ยวข้องกว่าจะได้ข้อสรุป โดยยังไม่มีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ เพราะต้องให้ทราบทุกแง่มุมของการดำเนินโครงการอย่างชัดเจน ครอบคลุมในทุกประเด็น" อัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ให้สัมภาษณ์

เช่นเดียวกับ "เลดี้ บัส" ก่อนหน้านี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เคยนำมาใช้แล้วแต่ก็เงียบหายไปแบบไร้สาเหตุ ปัญหาหลัก ๆ มาจากการบริหารจัดการไม่ดี ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ที่ล้มเหลว ทำให้เกิดปัญหาคนขึ้นผิดคัน และต้องตะโกนบอกผู้โดยสารทุกป้าย หรือคู่รักที่กลับบ้านด้วยกัน แต่ก็ขึ้นไม่ได้เพราะมาเป็นคู่ รวมไปถึงปัญหาไม่มีคนขึ้น

กลับมาครั้งนี้ ขสมก. บอกว่า จะใช้เวลาศึกษารายละเอียดเรื่องนี้เพียงแค่ 2 สัปดาห์ ว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด โดยเบื้องต้นอาจจะให้เจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้หญิงดำเนินการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นที่อู่จอดรถ พนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสาร รวมถึงผู้โดยสาร เป็นต้น

ทั้งนี้ในส่วนของเส้นทางบริการจะเน้นเส้นทางที่มีระยะทางไกลเป็นหลัก เช่น รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นต้น เนื่องจากมีผู้โดยสารใช้บริการเป็นจำนวนมาก โดยจะทำรูปแบบของตัวรถให้มีความชัดเจน เพื่อให้ทราบได้ทันทีว่าเป็นรถที่ให้บริการเฉพาะผู้หญิงอย่างแท้จริง

ทางด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แม้จะออกมาตอบรับว่าเป็นโครงการที่ดี แต่ลึกๆ ก็แสดงความเป็นห่วง โดยฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงไปศึกษาและพิจารณาให้รอบคอบถึงข้อดีข้อเสียเช่น ดูว่าจะสอดคล้องกับความต้องการประชาชนหรือไม่ หากดำเนินการแล้วจะคิดค่าโดยสารเพิ่มขึ้นหรือไม่ การใช้บริการจะเป็นวิธีไหน จะให้โทรเรียกใช้บริการหรืออย่างไร

นอกจากนั้น ยังฝากไปถึงเรื่องการติดกล้องวงจรปิดไว้ในรถแท็กซี่ด้วยว่า ทางกรมการขนส่งทางบกก็ต้องไปคิดให้รอบคอบ และคงต้องใช้เวลาในการศึกษาสักระยะหนึ่งจึงจะได้ข้อสรุปออกมาว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่

ชาวเน็ตติง แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

หันมาดูปฏิกิริยาต่าง ๆ ในโลกออนไลน์กันบ้าง มีการแสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้กันอย่างแพร่หลาย และหลากหลายตามพื้นที่เว็บบอร์ดชื่อดังต่าง ๆ อย่างพันทิป และหน้าเพจอื่นๆ รวมไปถึงหน้าเพจเฟซบุ๊กของ ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ภายหลังเปิดพื้นที่ให้เข้ามาแสดงทัศนะ ส่วนใหญ่มองว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ในขณะที่บางความเห็นบอกว่า เป็นแนวคิดที่ดี แต่จะทำได้จริงหรือไม่ ต้องดูกันอีกที และนี่คือความเห็นส่วนหนึ่งที่ทีมข่าวขออนุญาตหยิบยกมานำเสนอต่อ

"แบ่งแยก? แก้ที่ปลายเหตุ ทำไมไม่ดูแลเรื่องความปลอดภัยบนรถโดยสารที่สำคัญผมว่าโรคจิตบนรถเมล์มีจำนวนน้อยกว่าคนขับเลวๆก ระเป๋าชั่วๆ เยอะนะครับ" jacksu

"สมัยก่อนรถเมล์ไทยก็เคยมีเลดี้ บัส ทำได้ไม่นานก็ยกเลิก เพราะเมืองไทยทำอะไรไม่ค่อยจริงจัง ทำแบบสร้างภาพครับ อิอิ (ประเทศที่เจริญแล้ว เขามีเลดี้บัส หรือรถไฟ แท็กซี่ ก็มีเฉพาะผู้หญิงทั้งนั้นครับ ผมว่าโครงการนี้ดีครับ)" คนไม่ธรรมดา ชอบดาบซามูไร

"มันเคยมีมาครั้งหนึ่งนานมากละ และก็หายไป จำได้ว่าสงสารพนักงานเก็บเงินที่ต้องตะโกนพูดทุกป้ายว่าให้ผู้หญิงขึ้นได้อย่างเดียว ลุงๆก็ไม่ฟังกันหรอก จนขึ้นมาแล้ว ก็ต้องลงหน้าหงิกกันเป็นแถว เพราะกว่าจะมาคันนึงก็นาน มาทีก็ขึ้นไม่ได้ ละก็จะมีคู่รักที่กลับบ้านด้วยกัน แต่ก็ขึ้นไม่ได้เพราะมาเป็นคู่ ขึ้นได้คนเดียว เขาก็ไม่ไปกัน ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยที่จะทำโครงการนี้ แต่ขอให้มั่นใจหน่อยว่า รถเมลล์อีกคันที่ผู้ชายขึ้นได้ มันจะไม่ต้องรอนานเป็นชั่วโมง" Nuwa Za Naknawa

"ขสมก. เอาสมอง มาให้ความสำคัญ กับการเดินรถ คุณภาพรถ คุณภาพพนักงาน จะดีกว่านะคะ" สมาชิกหมายเลข 974669

"แทนที่จะแก้ให้มันปลอดภัย สะอาด สุภาพ แล้วก็กวดขันไอ้พวกโจร เด็กตีกัน สร้างความปลอดภัยให้ชีวิตและทรัพย์สินให้แก่คนส่วนรวม เพราะก็ประชาชนตาดำๆ หาเช้ากินค่ำก็รักตัวเองเหมือนกันทั้งนั้น ดั๊นนนน มาจำกัดแบบนี้ เกิดจูงหลานผู้ชายไป หรือพาพ่อไป อดขึ้นสิเนี่ย คิดได้เนอะ" สมาชิกหมายเลข 914348

"อย่าทำเลยโครงการฯ นี้น่ะ ทำมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง มันไม่สำเร็จหรอก ตราบใดที่คนเราขาดสามัญสำนึก ไม่มีระเบียบวินัย...เอาเวลาไปปรับปรุงองค์กร และรถร่วมบริการดีกว่า" คลองอ้อม

"ปัญญามีกันแค่นี้ แต่วาสนาสูงส่งจริงๆ ได้ไปทำหน้าที่ใหญ่โต แต่สมองเท่าถั่ว ที่ควรทำไม่ทำ เช่น กวดขันวินัยการขับเช็กประวัติคนขับ รักษาความสะอาดทั้งภายในภายนอก ทำพวกนี้ไม่เสียตังค์ไง ไม่ได้คอมมิชชันแต่คนทำโครงการใหม่ๆ ได้ใช้เงินได้คอมมิชชัน ต่ำๆ เลย 3% ถ้าไม่สร้างสรรค์ ขอร้องอย่าได้ผลาญงบไปมากกว่านี้" สมาชิกหมายเลข 978226

"ทำไมอ่ะ เราว่าดีออก เหมาะกับผู้หญิงที่เดินทางคนเดียว พวกมีแฟนก็ไปกับแฟน ให้แฟนปกป้องสิ ไม่เห็นใจคนตัวคนเดียวบ้าง ถ้ามี lady bus จริง จะดีมากๆ เลย เราสนับสนุน"

นอกจากนี้ ยังมีบางความเห็นที่มองในเรื่องความปลอดภัยของคนขับ แม้จะปลอดภัย และสร้างความอุ่นใจให้แก่สุภาพสตรี แต่ก็เสี่ยงต่อการเป็นเป้าหมายของโจร โดยเฉพาะการสร้างความแตกต่างของรถที่สังเกตง่าย และเป็นเอกลักษณ์ด้วยสีชมพู

"ถ้าคนขับแท็กซี่เป็นผู้หญิงแล้วต้องไปส่งผู้โดยสารในจุดที่เสี่ยงอันตราย คนที่จะไม่ปลอดภัยก็คือคนขับแท็กซี่เองนั่นแหละ" ศักดิ์นรินทร์ พองพลา

"คนขับเลดี้จะไม่ปลอดภัยแทนรึเปล่า? (ถึงคนขับเป็นผู้หญิงก็กลัวอยู่ดี)" Tara Mixing

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีหลายความเห็นมองลึกลงไปอีกว่า แม้จะมีข่าวออกมาให้เห็นว่าคนขับผู้ชายมีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจเท่าคนขับผู้หญิง แต่เลดี้ก็อาจตามมาด้วยคำว่า "โจร" ก็เป็นได้

"ภัยจะเกิดมันไม่ได้เลือกเพศนะ ความเป็นโจรมันอยู่ในสันดาน ไม่ใช่อยู่ที่เพศค่ะ ทางที่ดีเริ่มต้นป้องกันที่ตัวเองจะดีกว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตนค่ะ" Apple Pongpanpats

"ถ้าจะทำให้ปลอดภัย มันไม่ควรจะแบ่งเพศหรอก เพราะไม่ว่าเพศไหนก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน" Talaykwang Kokimon

"ผู้หญิงเป็นโจรก็มี เป็นนกต่อก็ได้" Mung Ming

"ผู้หญิงหรือผู้ชายขับ ผู้โดยสารหญิงหรือผู้โดยสารชาย ถ้ามันเป็นโจรก็คือโจร ทุกวันนี้เราต้องดูแลระวังตัวเอง แต่โดยส่วนตัวถ้ามีเลดี้แท็กซี่คิดว่าจะใช้บริการ" Wannee Nid Nid

"ดูไปเรื่อยๆ สมัยนี้ นักล้วง หัวขโมย เป็นผู้หญิงก็มี จะมามองผู้ชายในแง่ร้าย ถึงเวลาคุณผู้หญิงก็เอาตัวให้รอดก็แล้วกัน" Ta Vesak

แนวคิดดี แต่ยังมากด้วยปัญหา

กระนั้น แม้มีกระแสชื่นชมอยู่บ้างกับแนวคิด "เลดี้ แท็กซี่-เลดี้ บัส" แต่ถ้าคิดไม่รอบคอบ สิ่งที่ตามมาก็คือ "ปัญหา"

เรื่องนี้คอลัมนิสต์อย่าง ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง เธอขยายความให้เห็นภาพผ่านบทความ บริหารจัดการแท็กซี่สำคัญกว่าเลดี้ แท็กซี่บนเว็บไซต์ www.bangkokbiznews.com ว่า เป็นแนวคิดที่ดี แต่จะทำได้จริง และสร้างความปลอดภัยได้มากแค่ไหน ควรจะย้อนกลับไปดูที่การบริหารจัดการแท็กซี่ ซึ่งเป็นแนวทางที่ควรจะเป็นมากกว่า

โดยเธอ ตั้งคำถามไว้อย่างน่าสนใจว่า เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ความไว้วางใจที่มีให้โชเฟอร์สาวมากกว่านั้นจะไม่แปลงร่างเป็นมิจฉาชีพเสียเอง ขณะที่วิจารณญาณ การตัดสินใจ ในการขับรถ หรือกรณีฉุกเฉิน ต้องยอมรับว่า "ผู้ชาย" อาจทำหน้าที่ได้ดีกว่า ส่วนประเด็นสีรถเป็นที่สังเกตง่าย ยิ่งง่าย! ต่อก๊วนแก๊งว่าเป้าหมาย คือ ผู้หญิง มิจฉาชีพเล็งรถสีชมพูอย่างเดียวก็จบ

อย่างไรก็ดี เธอย้อนถามกรมการขนส่งทางบก ต่อแนวทางบริหารจัดการ การควบคุม เข้มงวดแท็กซี่ มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน คนขับมีใบอนุญาตถูกต้องทุกคนหรือไม่ เลขทะเบียนรถภายนอกภายในตรงกันหรือไม่ มีจำนวนไม่น้อยถูกขูดขีด ด้วยเหตุผลกลใด? หลักเกณฑ์การต่อใบอนุญาตเข้มงวดแค่ไหน โดยเฉพาะ "ผู้กระทำผิด" มีมาตรการลงโทษจริงจังเพื่อให้เกิดการหลาบจำ ไม่ทำผิดซ้ำซากได้แค่ไหน

อย่าลืมว่าทุกวันนี้แค่ปัญหาโบกแท็กซี่ไม่รับ ไม่ไป ทิ้งผู้โดยสารกลางทาง ฯลฯ ยังไม่สามารถจัดการได้ ข้อเสนอยกระดับคนขับแท็กซี่เป็นอาชีพพิเศษที่ต้องควบคุมตั้งแต่มาตรการสอบ การต่ออายุ การยึดใบอนุญาตกรณีกระทำผิด น่าจะเป็น "วาระเร่งด่วน" เพื่อบูรณาการบริการ "รถแท็กซี่" ที่ต้องยอมรับว่าเวลานี้ภาพลักษณ์ติดลบในสายตาชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อย

ดังนั้น แท็กซี่ เลดี้ ก็เป็นเพียงอีกหนึ่งโครงการแก้ที่ปลายเหตุ

ส่วนมุมมองต่อ "เลดี้ แท็กซี่-เลดี้ บัส" ของ นพ.ธนพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน (ศวปถ.) เขาให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจเช่นกัน

"ส่วนตัวมองว่า เป็นไอเดียที่น่าสนใจนะครับ แต่ต้องวิเคราะห์ปัญหาให้ชัดเจนก่อน รวมไปถึงการออกแบบระบบการจัดการออกมาให้ดี เพราะผมไม่แน่ใจว่าที่มาของแนวคิดนี้ เกิดจากทุกวันนี้ คดีที่เกิดจากแท็กซี่มันมีมากขึ้นไหม แต่เวลาทำโครงการแบบนี้ ส่วนตัวไม่อยากให้ต้องทำทุกเส้นทาง หรือทั่วประเทศ แค่ทดลองก่อนดีกว่า เช่น เริ่มจากแท็กซี่สนามบินก่อนไหม โดยสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่เป็นสุภาพสตรี อีกอย่าง ถ้าจะสร้างความปลอดภัย ควรทำเหมือนต่างประเทศ คือ มีตัวกั้นระหว่างผู้โดยสาร กับคนขับ ซึ่งตรงนี้แม้จะเป็นผู้หญิงขับหรือผู้ชายขับก็ปลอดภัยได้"

นอกจากนี้ ผู้จัดการ ศวปถ. ยังมองต่อไปว่า ควรนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาสนับสนุนด้วย เช่น ติดกล้องวงจรปิด หรือระบบติดตามออนไลน์ ก็น่าจะช่วยให้ผู้โดยสารเกิดความเชื่อมั่นในการเดินทาง โดยเฉพาะเวลากลางคืน

เมื่อถามต่อไปว่าไอเดียดังกล่าว เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกทางแล้วหรือไม่ เขามองว่า การแก้ปัญหาทั้งระบบ ต้องใช้เวลา และความจริงจังในการเข้าไปบริหารจัดการ

"ผมว่า เขาคงอยากแก้ทั้งระบบ เพียงแต่การแก้ทั้งระบบมันต้องใช้เวลาครับ ซึ่งตามหลักที่ควรจะเป็นแล้ว ต้องลงไปดูตั้งแต่ต้นทางเลยว่าทุกวันนี้ระบบแท็กซี่ที่มีอยู่เราจะวางระบบอย่างไรให้แท็กซี่เป็นมืออาชีพ และเป็นอาชีพที่ความเชี่ยวชาญเฉพาะเหมือนต่างประเทศ เช่น การสอบใบอนุญาต การเตรียมตัว มีการอบรม ความเข้มงวดเรื่องใบอนุญาต และที่สำคัญก็คือ มีระบบกำกับ เหมือนถ้าเป็นแท็กซี่ที่ญี่ปุ่นต้องผ่านการสอบที่เข้มงวด และเอาจริงเรื่องการยึดใบอนุญาต" ผู้จัดการ ศวปถ.เผย

ไม่แปลกที่การขับแท็กซี่ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นจะติดอันดับ 3 รถแท็กซี่ที่ดีที่สุดในโลกรองจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และนี่คือเบื้องหลังความปลอดภัยของแท็กซี่บนท้องถนนในกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งจาก รายการดูให้รู้ ที่ออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอสไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม โดยสามารถสรุปออกมาได้ดังนี้

- ต้องมีใบอนุญาตรถส่วนบุคคล 3 ปี จึงจะมีสิทธิสอบใบอนุญาตขับขี่แท็กซี่

- ต้องมีการสอบเส้นทางเดินรถทุกปี

- ตรวจแอลกอฮอลก่อนและหลังการขับขี่

- ปวดหนัก ปวดเบา หิว ห้ามทิ้งรถ โดนปรับเงินและตัดแต้ม

- เริ่มต้นขับจะมี 12 แ้ต้ม หากภายใน 1 ปีทำผิดกฎจราจรและถูกหัก 6 แต้ม จะต้องหยุดขับไปเลย และถ้าถูกหักครบ 12 แต้ม ก็จะถูกยึดใบอนุญาตทันที ซึ่งการสอบใบอนุญาตขับขี่แท็กซี่ของประเทศญี่ปุ่นถือว่ายากและเข้มงวดมาก

- ส่วนค่าปรับทำผิดกฎจราจรเริ่มต้นที่ 7,000 - 15,000 เยน รวมๆ แล้วเป็นค่าแรงทั้งวัน หรือสองวันเลยทีเดียว ซึ่งถือว่าเยอะมาก

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อาจกล่าวได้ว่า ไอเดีย "เลดี้ แท็กซี่" และ "เลดี้ บัส" ถือว่าเป็นแนวคิดที่ดี ส่วนจะทำได้จริงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ปัญหา และการระดมความคิดเห็นของทุกๆ ฝ่ายเพื่อความรอบคอบและประโยชน์สูงสุดต่อหญิงไทยในสังคมที่ "อยู่ยาก" มากขึ้น

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE




กำลังโหลดความคิดเห็น